ปกิณณกธรรม ตอนที่ 955


    ตอนที่ ๙๕๕

    สนทนาธรรม ที่ สวนปาล์มฟาร์มนก จ.ฉะเชิงเทรา

    วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธาตุ หรือธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปถามใคร ว่าเข้าใจเท่าไหร่ ก็สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้แหละ ไม่ใช่เราเลยสักอย่าง แต่ก็เข้าใจเท่าไหร่ เห็นก็ไม่เข้าใจใช่มั้ยคะ แล้วชีวิตก็แล้วแต่ ไปคิดถึงเจตสิกบ้าง ไปคิดถึงนู่นบ้าง นี่บ้างก็เป็นธรรมดา แต่ว่าไม่ใช่การขัดเกลา เพราะเหตุว่านะคะ สมถภาวนา การอบรมเจริญความสงบ เพราะเห็นโทษของกิเลส มีตั้งแต่ครั้งก่อนพุทธกาล จนกระทั่งสามารถสงบระงับได้จริงๆ ค่ะ ไม่เหมือนคนยุคนี้เลย ไม่รู้อะไรเลย สมาธิก็ไปนั่งทำ ทำอะไรก็คิดว่านิ่งละสงบละ เห็นโน่นเห็นนี่ แต่กิเลสทั้งนั้นก็ไม่รู้ แต่คนในครั้งโน้นนะคะ มีการสะสมปัญญาระดับขั้นที่ สามารถที่จะถึงความสงบ ซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญาทุกขั้น จนกระทั่งสามารถที่จะถึงที่สุดของความสงบ คืออรูปฌานขั้นเนวสัญญานาสัญญายตน นี่เป็นแต่เพียงชื่อความสงบของจิตนี่ค่ะ มีหลายระดับ ระดับนั้น ก็คือว่าสูงสุดกว่านั้นไม่มีแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบอกว่านั่นเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นไหมคะ เทียบกันไม่ได้เลย ต่อให้จะไปสงบยังไง ถึงขนาดที่ว่ามีอรูปไม่ใช่รูปเป็นอารมณ์นะคะ ทำอิทธิปาฏิหารย์อะไรๆ ได้ทุกอย่าง แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเป็นทั้งหมดนี่ค่ะ เป็นมิจฉาปฏิปทาเพราะเหตุว่าไม่ใช่หนทาง ที่จะนำออกจากสังสารวัฏฏ์ อยู่ไปอย่างงี้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึก เป็นคนชาตินี้ ชาติหน้าเป็นอะไรไม่รู้ ชาติก่อนเป็นอะไรไม่รู้ เดี๋ยวก็เป็นคนอีก เดี๋ยวก็เกิดบนสวรรค์อีก เดี๋ยวก็เกิดที่โน่นที่นี่อีก ออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญานะคะ ไม่เห็นโทษของการเกิด มีท่านผู้หนึ่งนะคะ ท่านฟังธรรมค่ะ แล้วท่านก็เห็นนะคะ ว่าสังสารวัฏฏ์เนี่ยก็ย้ำอยู่นี่แหละ อยู่ตรงนี้แหละ ตรงขณะที่เห็นนี่แหละ เดี๋ยวก็ได้ยินนี่แหละ ทุกอย่างแค่ ๑ ขณะสั้นๆ ท่านก็ตั้งความหวัง ปรารถนา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ขอให้เป็นชาติที่สบายๆ เห็นไหมคะ ความหวังหมดมั้ย แทนที่จะบอกว่าจะลำบากยากเข็ญยังไงก็ตาม ชาติไหนก็ตาม ขอได้รู้แจ้งในสัจธรรม เพราะฉะนั้นเห็นโลภะ เห็นกำลังของโลภะค่ะ ไม่สิ้นสุดเลย หนทางเดียวก็คือว่า การรู้ความจริงนะคะ เมื่อนั้น โลภะก็จะปรากฏให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่เป็นโทษ เพราะติดข้องนี่ค่ะ ติดข้องจะนำมาซึ่งความสุขได้ยังไง พอสูญเสียก็เป็นทุกข์กันละ ไม่ได้อย่างใจก็เป็นทุกข์กันละ แล้วมีเหรอคะที่ใครจะไม่ตาย เกิดมาแล้วตายทุกคน แต่ถ้ามีปัญญาจริงๆ นะคะ เดี๋ยวนี้ก็ตายได้ เมื่อไหร่ก็ตายได้ ตายแล้วก็เกิด ถ้าคนที่ยังไม่เห็นโทษจริงๆ นะคะ ก็ยังคิดว่าอ้าวแล้วเราก็ได้เกิดอีก เกิดอีกเป็นยังไงก็แล้วแต่ แต่ก็ปราถนาหรือหวังว่าผลของบุญเนี่ยจะทำให้เกิดในที่ที่ดี นั่นก็คือความติดข้อง เพราะฉะนั้นความติดข้องเนี่ยยากมากเลยค่ะ ถึงพระอนาคามี ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์นะ ก็ยังติดข้องในความเป็น ซึ่งไม่เป็นไปด้วยโทสะ ไม่เป็นไปด้วยความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ก็ยังติดข้องในความเป็น เห็นไหมคะกำลังของกิเลส ซึ่งเกิดเพราะไม่รู้ ด้วยเหตุนี้พอได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ในความที่เป็นผู้ที่ประเสริฐสุดนะคะ ใครที่มีโอกาสได้ฟัง เราก็ยินดีด้วย เพราะยากแสนยาก และฟังแล้วต้องเป็นผู้ที่ละเอียดอย่างยิ่งค่ะ เพราะเหตุว่าถ้าฟังผิด ไม่ตรงนิดเดียวนะคะ ต่อให้เข้าใจปริยัติ ศึกษาเรื่องจิตเจตสิกมีเท่าไหร่ มีโรงเรียนมีอะไรๆ ก็ตามแต่ เป็นครูเป็นอาจารย์ก็ตาม แต่ ในเถระสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีความเห็นผิดได้ ถ้าไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นทุกอย่าง ต้องสอดคล้องกันหมดค่ะ และก็ต้องละเอียดอย่างยิ่ง ไม่ต้องเร่งขวนขวายว่าจะไม่อยากเกิด ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้นค่ะ เพราะขณะนั้นคิดอย่างนั้นก็เกิดแล้ว ต้องทั้งหมดเลย ไม่เหลือเลย เป็นธรรมทั้งหมด นี่เป็นขั้นฟัง กว่าจะเป็นผู้ที่มีสัจจญานมั่นคงว่าเป็นอย่างงี้ แล้วแต่ ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรได้ เมื่อไหร่ที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แค่ตรงลักษณะนี่ค่ะ อย่างเวลานี้มีแข็ง ใครรู้ตรงแข็งบ้างเวลานี้มีเสียง ใครรู้ตรงเสียงบ้าง แค่รู้ตรงนั้นนะคะ ผู้นั้นก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่า ไม่ได้มีการที่เราจะไปทำให้เกิดขึ้น แต่ความเป็นเรานี้ จะตามไปชนิดซึ่งปัญญาต้องเกิดขึ้น สามารถที่จะเห็นว่า แม้ขณะนั้นก็ยังเป็นเรา กว่าจะละได้ทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นเรื่องเข้าใจทั้งหมดเลย และก็เป็นปกติ เริ่มเห็นความยากยิ่ง ยิ่งยากนี่ขั้นฟังนะคะ และก็จะยากสักแค่ไหน กว่าที่จะรู้จักตัวธรรม ทีละหนึ่งทีละหนึ่ง ด้วยความเป็นปกติ ที่ไม่ใช่เราทำ เพราะฉะนั้นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔๕ พรรษานี่ค่ะ ทำให้เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เรื่องตัวตน ไม่ใช่เรื่องใครจะไปทำอะไรได้ทั้งสิ้น จะมีสำนักปฏิบัติจะศึกษาธรรม จิตเท่าไร เจตสิกเท่าไหร่ ก็ไม่ใช่เพื่อที่จะไปสอบ หรือว่าไปมีประกาศนียบัตร หรืออะไร แต่เป็นเรื่องละ ด้วยความเข้าใจค่ะ ถ้าไม่มีความเข้าใจ ละไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงฟังจึงเข้าใจขึ้น เพื่อที่จะละ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ขา การศึกษาธรรมให้เข้าใจธรรมทีละคำ จะส่องให้เห็นถึงความไม่เป็นเรา ยกตัวอย่างเช่นเสียงนี่ค่ะ เพราะยังไงเบนก็ยังคิดว่านี่เสียงของเบน เสียงท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นธรรม เป็นเรื่องไตร่ตรองนะคะ เป็นเรื่องค่อยๆ เข้าใจคุณเบนพูดถึงเสียง

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียงไม่เกิด มีเสียงมั้ย

    ผู้ฟัง ไม่มีแน่นอนค่ะ

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ยังไม่เห็นเหรอคะ ว่าใครก็ไปทำให้เสียงเกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่อย่างเงี้ยอย่างหนูจะให้เสียงกับคำพูด

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้มีเสียงเลยได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ให้มีเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้มีเลย

    ผู้ฟัง ข้างนอกหนูคงบังคับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ไม่ให้มีเลย

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ อันนั้น ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า เข้าใจธรรมมั้ย ทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพียงแค่เสียงเนี่ย ก็ส่องไปถึงข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎก เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เห็นไหมคะ การที่ศึกษาธรรมทีละคำทั้งหมดเนี่ย ค่อยๆ ตามไปถึงสิ่งที่มีขณะนี้ ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ต้องเป็นอย่างนี้ด้วย จะให้เสียงเป็นหวานไม่ได้ จะให้เสียงเป็นแข็งไม่ได้ จะให้เสียงเป็นเย็นไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นเสียงใครบังคับได้ ไม่ให้มีเสียงได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้มีแข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้มีเย็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือธรรม สิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ กว่าจะถึงความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ นะคะ ก็ต้องอาศัยการฟังอย่างมั่นคงด้วย

    ผู้ฟัง กราบเท้าอาจารย์นะครับ เรื่องสมาธิที่ผมมีความสนใจมาก คือว่าการที่เราจะไปนั่งสมาธิเนี่ยผมได้ฟังอาจารย์ท่านพูดว่า เราจะต้องปริยัติก่อน อยากเรียนถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ แต่ทั้งหมดที่ฟัง เพื่อเข้าใจอะไรคะ เวลาฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย เพื่อเข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง ให้บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ บรรลุธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง บรรลุธรรมคือสิ่งที่ความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ความเป็นจริงคืออะไร เดี๋ยวนี้ก็มีทุกอย่างปรากฏ

    ผู้ฟัง ทุกอย่างที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มีจริงๆ ใช่ไหมค่ะ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วเรารู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงหรือยัง

    ผู้ฟัง ก็รู้ไม่หมด

    ท่านอาจารย์ รู้จากใคร ที่ว่ารู้ไม่หมด

    ผู้ฟัง ของพระพุทธเจ้าที่สอนมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเห็นความต่าง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่เหมือนใครเลยทั้งสิ้น ต่อให้เราจะไปนั่งสมาธิ แล้วคิดเอง คือว่ามีคนบอกให้เรานั่งสมาธิแล้วคิด ก็ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องรู้เลยว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย ต้องไม่ใช่คำของใครทั้งสิ้นที่ไม่รู้นะคะ และพระองค์ตรัสรู้ความจริงของสิ่งซึ่งมีจริงๆ แต่คนอื่นไม่รู้ใช่มั้ย

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง และคนอื่นไม่รู้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เนี่ยลึกซึ้งมั้ย

    ผู้ฟัง ลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ รู้ง่ายมั้ย

    ผู้ฟัง ไม่ง่ายครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาฟังแล้วต้องไตร่ตรอง จะเป็นความเข้าใจแต่ละคำรึเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องแต่ละคำ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละคำ จะไม่รู้เลยว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า เช่นภาษาบาลีนะคะ ไม่มีคำว่าสิ่งที่มีจริง แต่มีอีกภาษาหนึ่ง หมายความอย่างเดียวกัน แต่พูดคนละภาษา เพราะฉะนั้นเรากำลังจะฟังให้เข้าใจ ความจริงของสิ่งที่มีจริง นี้คือภาษาไทยภาษาบาลีก็คือ ศึกษาภาษาบาลีใช้คำว่า สิกขา ศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมก็คือศึกษานะคะ พิจารณาไตร่ตรอง ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี นี่คือหลักที่สำคัญ เพราะฉะนั้นใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตามแต่ พูดเรื่องสมาธิเดี๋ยวนี้ มีสมาธิมั้ย

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ มีรู้ได้ยังไง

    ผู้ฟัง เพราะเราก็ตั้งใจฟัง

    ท่านอาจารย์ เนี่ยฮ่ะเราเอง ยังไม่ได้รู้ว่าธรรมที่เป็นสมาธินะคะ แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งเนี่ยไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นผู้ที่จะศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องตั้งต้นด้วยคำว่าสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ใช่เรา จะพูดถึงสมาธิ จะพูดถึงเห็น จะพูดถึงคนโน้น คนนี้สอนทั้งหมดคือไม่ใช่เรา เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร ถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คิดเอง แต่ถ้าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวเนี่ย แต่ละหนึ่ง ปะปนกันไม่ได้ เห็นไหมคะ เริ่มเข้ามาหาความจริง ของสิ่งที่มีจริง ธรรมดาธรรมดา เห็นมีจริงไหมคะ ได้ยินมั้ยมีจริงมั้ยคะ คิดมีจริงไหมคะ เป็นธรรมหรือเป็นเรา เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นต้องมั่นคง ว่าสิ่งที่มีจริงไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นถ้าตอบว่าเป็นธรรมก็คือไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นสมาธิคืออะไร คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกคำ ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงนะคะ แต่ก่อนนี่อะไรก็ไม่รู้ ทำตามๆ กัน แต่พอฟังพระธรรมเนี่ย รู้ทุกคำว่าคืออะไรก่อน ตั้งต้นด้วยคืออะไร เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ เห็นมีจริงใช่ไหมค่ะ แล้วเห็นเป็นอะไร เนี่ยถึงเริ่มต้นฟังคำของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นคำคนอื่นเขาไม่บอกหรอก ว่าเห็นคืออะไร เขาให้ไปทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ ให้ทำสมาธิ ทำวิปัสสนา แต่ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้นตั้งต้นด้วยคำว่าคืออะไรทุกคำ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีเห็นจริงๆ เห็นคืออะไร เห็นคือเห็น นี่เป็นคำของพระพุทธเจ้าแน่นอน เห็นไม่ใช่คน เห็นไม่ใช่สัตว์ เห็นไม่ใช่ของใคร เห็นไม่มีใครทำให้เกิดเห็น เห็นเกิดเป็นเห็นเท่านั้น ไม่เป็นอื่น กว่าจะรู้ว่าที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา ทุกอย่างที่มีจริงทั้งหมดนะคะ เป็นแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นฟังธรรม ก็คือฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีว่าไม่ใช่เรา ถึงจะเป็นธรรม แต่ถ้าฟังแล้วไปปฏิบัติ ไปทำนู่นทำนี่ ไม่เข้าใจว่าไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย ไม่เหมือนคำของคนอื่น เพราะคำของคนอื่น มีแต่บอกให้เราทำ ให้เราได้ ให้เป็นสมาธิ ให้นี่แต่ไม่เคยบอกเลยว่าคืออะไร คือไม่ใช่เราเนี่ยไม่พูดเลย ถ้าพูดว่าไม่ใช่เรานะคะ เดี๋ยวนี้เห็นไม่ใช่เรา เพราะอะไรคะ เห็นเกิดแล้วใครไปทำให้เห็นเกิดขึ้น ทำได้ไหม ก็ทำไม่ได้ มีความมั่นคงในความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยง นี่คือฟังคำสอนไม่ว่าจะฟังเรื่องไหนทั้งสิ้นนะคะ ก็จะต้องมาเพื่อความเข้าใจ ถูกว่าไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วให้ไปทำสมาธิให้ไปนิ่ง และอะไรล่ะ ก้อไม่รู้สักอย่าง ไม่รู้เมื่อไหร่ก็คือไม่ใช่คำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นค่ะ สิ่งที่มีไม่เรียกก็ได้ แต่ก็มี สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ค่ะเหมือนกันหรือต่างกัน เห็นแค่ต้องเป็นความคิดของเรา และหมายความว่าการฟังเพื่อทำเนี่ย ทำให้เกิดความคิด ไตร่ตรอง จึงจะเป็นความเข้าใจ เพื่อให้รู้ว่าเข้าใจนั่นไม่ใช่เรา เห็นไหมคะการฟังธรรม ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ฟังไม่ใช่ความเข้าใจของคนอื่น ฟัง และไตร่ตรอง เราได้ยินมาอย่างเงี้ย แต่เราเข้าใจอย่างนี้หรือยัง เขาบอกว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ แต่เราเข้าใจอย่างนี้เนี่ย ถ้าเข้าใจอย่างนี้คือเข้าใจ แม้ไม่เข้าใจก็ไม่ใช่เรา เนี่ยค่ะก็เป็นความละเอียด จนกระทั่งเป็นความเข้าใจซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ใช่เรามั่นคงขึ้นว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมด ก็คือฟังเพื่อให้รู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา โดยเข้าใจว่าคืออะไร ไม่ใช่ตอบเฉยๆ ว่าไม่ใช่เรา แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่ใช่เราแล้วคืออะไรล่ะ ก็ต้องตอบได้ อะไรล่ะที่ไม่ใช่เรา ก็เห็นเป็นเห็น เห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วเห็นดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีก จะเป็นเราได้ยังไง ดับหมดแล้วเมื่อกี้นี้ไม่เหลือเลย ยากที่จะรู้ได้นะคะ แม้แต่ตายจากโลกนี้เห็นชัดๆ ว่าไม่เหลือเลย แต่ก่อนจะตายก็ไม่เหลือเลย ก็ไม่รู้ ทุกขณะ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ค่ะ ว่ากว่าจะรู้เนี่ย แม้แต่ตายยังไม่รู้เลย ยังเป็นคนนั้นตายคนนี้ตาย คือไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นจะรู้ว่าคำใดเป็นคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ก็คือพูดถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจขึ้นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยง ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏที่มี ก็เพราะเกิดขึ้นปรากฏว่ามี อย่างเสียงเนี่ย ก่อนมีเสียงก็ไม่มี แต่พอมีเสียงก็รู้ว่าเสียงนี่ต้องเกิดเป็นเสียง เป็นอื่นไม่ได้ มีเสียงจริงๆ เมื่อเกิดขึ้นเป็นเสียง นี่ค่ะเพื่อละความไม่รู้ ไม่ต้องไปคิดถึงสมาธิ ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าอย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นนะคะ คนยุคโน้นเนี่ย เห็นโทษของความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ว่าถ้าไม่ติดข้อง จิตสงบ ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย อบรมความสงบของจิต จนถึงขั้นสมาธิสูงที่สุด สมาธิที่นี่ต้องหมายความถึงความสงบที่มั่นคง จึงปรากฏอาการของความสงบเป็นลักษณะของสมาธิ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า จะถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่สุดของความสงบ ก็ไม่ใช่หนทาง เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะไม่รู้สิ่งที่กำลังมี เพราะฉะนั้นคำสอนพระพุทธเจ้าเนี่ยจะเริ่มตรงที่รู้สิ่งที่กำลังมี เพราะว่ามีสิ่งที่มีไม่เคยขาดเลยเกิดแล้วดับไปแล้ว ไม่เหลือเลยก็จริง ก็มีสิ่งอื่นเกิดสืบต่อเร็วมาก แน่นมาก ติดกันแยกไม่ออกเลย จึงต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ กว่าจะรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ ตามปกติซึ่งเกิด เพราะฉะนั้นเราก็เป็นผู้ฟังนะคะ และรู้ว่าคำของพระพุทธเจ้าทุกคำเนี่ยให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ให้ไปทำ ไม่ใช่ให้สงบ ไม่ใช่ให้นิ่ง นั่นไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญาคือสามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีด้วย ไม่ใช่ความจริงที่มาคิดกันว่า โน้นจริง นี่จริง แต่เดี๋ยวนี้อะไรที่มีจริง และเข้าใจอันนั้น นั่นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าพูดคำอะไรนะคะ ตั้งต้นด้วยคำว่าคืออะไร

    ผู้ฟัง รู้ ต้องรู้ว่าไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ กว่าจะละความเป็นเราได้ ก็คิดดูก็แล้วกัน ถ้าสำหรับคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ก็ไม่มีหนทางเลย แต่สำหรับคนที่ฟังธรรมแล้ว ก็ยากแสนยาก

    ผู้ฟัง ผมสนใจเรื่องความตายอ่ะนะครับ คือจุติจิตกับปฏิสนธิจิตนี่ครับ ก็เคยได้ฟังมาว่า เหมือนกับว่าก่อนจะตายเนี่ย ก็จะมีกุศลหรืออกุศลที่จะทำให้จุติจิตไปเกิดเป็นปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ จุติไม่ไปเกิดเป็นปฏิสนธินะคะ แต่หมายความว่าจิตทุกขณะนี้ค่ะเกิด และต้องดับ แล้วไม่กลับมาอีก แม้จิตเห็นเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่จิตเห็นขณะก่อน ซึ่งที่ดับไปแล้ว ใหม่เลยเหมือนไฟนี่คะ ต้องอาศัยเชื้อไฟ ไฟจึงจะเกิดขึ้นได้ เป็นไฟใหม่ตลอดไม่ใช่ อาศัยเชื้อเก่าที่จะทำให้ไฟเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นจิตทุกจิตนะฮะ คือหนึ่ง แล้วจิตแต่ละจิตนี่ค่ะ เกิดแล้วทำกิจหน้าที่เฉพาะของตน เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ เราคิดว่าเป็นเราทำหน้าที่ลูก หน้าที่พ่อ หน้าที่อะไรก็ตามแต่นะฮะ แต่ไม่ใช่เลยค่ะ หน้าที่ของจิตแต่ละขณะทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าจิตเกิดแล้วนะคะ จะทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใด มีหน้าที่ของจิตทั้งหมดเนี่ย ๑๔ หน้าที่ หรือ ๑๔ กิจ อย่างเห็นเดี๋ยวเนี่ย ไม่ใช่หน้าที่ของจิตอื่นเลย ไม่ใช่หน้าที่ของจิต ที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย โทสะเกิดร่วมด้วย แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็น เพราะกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เป็นปัจจัยให้ต้องเห็นแล้ว แค่เห็นนี่ดับ แต่สิ่งที่เกิดต่อนำมามากมายมหาศาล เป็นเรื่องเป็นราว เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นกำลังทุ่มเถียงกัน เจรจากัน ทั่วโลกวุ่นวายไปหมด ก็เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วนะคะ จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ ทำกิจหนึ่งใดแล้วก็ดับ แค่นั้นเองใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นจุติจิตคืออะไร เห็นไหมคะ ต้องตั้งต้นที่ว่าคืออะไร คือจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ หมายความว่าอะไรหมายความว่าจิตขณะสุดท้ายนั้น ของชาตินี้เกิดขึ้นนะคะ ทำกิจพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยศัพท์ใช้คำว่าเคลื่อน พ้นไป หมดไป เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้นนะคะ ไม่ดำรงภพชาติอีกต่อไป แต่ว่าเกิดขึ้นเพื่อถึงที่สุด ทำที่สุดของชาตินี้ในขณะนั้น ว่าจะเป็นบุคคลนั้นอีกต่อไปไม่ได้เลย จึงใช้คำว่า มรณะ หรือตาย หรือจุติซึ่งเป็นกิจของจิต เพราะฉะนั้น คุณพจน์สงสัยก่อนจุติจิต หรือหลังจุติจิต หรือขณะจุติ

    ผู้ฟัง ก่อนจุติกิจครับ

    ท่านอาจารย์ ก่อนจุติจิต ต้องมีจิตซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่จุตินะคะ แล้วทำหน้าที่อะไรเห็นไหมคะ เพราะว่าจิตทุกประเภท ต้องเกิดขึ้นทำหน้าที่ ถ้าเรากล่าวโดยคร่าวๆ ไม่ละเอียดถึงแต่ละขณะนะคะ กุศลจิตหรืออกุศลจิต เกิดเพราะมีปัจจัย ถึงเวลานี้ก็เกิด เป็นอกุศลด้วยเราไม่รู้เลยถึง ๗ ขณะยังไม่รู้เลย แต่ก่อนตายเนี่ย แค่ ๕ ขณะจะรู้มั้ย ยิ่งน้อยกว่าเดี๋ยวนี้ใช่ไหมคะ เดี๋ยวนี้เวลานี้ค่ะ เห็นดับแล้วอีก ๓ ขณะเป็นอกุศลละ โลภะละ โมหะละ ๗ ขณะยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นก่อนตายนะคะ มีจิตเกิดก่อนตายนี่ที่เป็นกุศลอกุศลนี่เพียง ๕ ขณะจะรู้มั้ย ไม่รู้เลย สบายมากค่ะ ไม่ต้องกลัวความตายอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวเลยเหมือนเดี๋ยวนี้ เพราะเดี๋ยวนี้จิตเมื่อกี้นี้ก็ดับ จิตต่อไปก็เกิดสืบต่อ เพียงแต่ว่าเป็นคนใหม่ สิ้นสุดความเป็นบุคคลก่อน โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง หมดความเป็นบุคคลนี้ จำอะไรไม่ได้ ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน บ้านช่องเป็นยังไง ไม่มีเลยที่จะกลับไปเป็นคนเก่าได้ ที่เรายังจำได้ เพราะเรายังเป็นคนนี้ ก็มีเรื่องของชาตินี้ใช่ไหมคะ แต่ว่ากรรมหนึ่งที่จะให้ผล ในบรรดากรรมที่สะสมมา แสนโกฏฏ์กัปป์ ยังสามารถที่จะให้ผล ทำให้เกิดได้ ถ้ากรรมนั้นยังไม่ได้สิ้นสุด คือไม่ได้ให้ผลไปแล้ว จนหมดนะคะ ก็ยังสามารถที่จะทำให้เกิดได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของอกุศล ไม่มีใครอยากเลือกเลย แต่ถึงเวลาที่กรรมนั้นที่เป็นอกุศลนั้นด้วยจะให้ผล ก็ทำให้จิตที่เกิดก่อนจุตินี่ค่ะ เศร้าหมองเมื่อมีอารมณ์ที่ปรากฏ โดยกรรมนั้นเป็นปัจจัย ไม่รู้เลยว่าขณะนั้นมีจิตเป็นกุศล และอกุศล เหมือนเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล แต่ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้นะค่ะ แต่พอจุติจิตเกิดก็คือว่า กุศล และกุศลซึ่งเกิดก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ จากจุติไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนเดี๋ยวนี้เลย เพราะฉะนั้นสังสารวัฎฏ์เนี่ยไม่สิ้นสุดค่ะ ไม่มีสักขณะเดียวที่ขาด จะต้องมีจิตเกิดดับสืบต่อไม่ขาดสาย และเร็วมาก เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเกิดนะคะ เป็นผลของกรรมที่ทำให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติ หรือเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่ง ที่ทำให้จิตก่อนจุติเกิดขึ้น เป็นกุศล และอกุศลตามแต่เหตุ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อจากจุติเป็นวิบาก วิปากะเนี่ยนะคะ เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งทำให้จิตเป็นกุศล และอกุศลก่อนตาย สบายมากเลยไม่รู้ตัว

    ผู้ฟัง คอร์สปัจจุบันนี้ ก็เห็นมีคอร์สที่คล้ายๆ กับว่าเผชิญความตาย อย่างสงบอะไรอย่างเงี้ยนะครับ

    ท่านอาจารย์ อย่าไปพูดเลยค่ะ เค้าไม่มีปัญญา ที่จะให้เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ตามเขาไป ก็ไม่ได้เข้าใจอะไร เพราะไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง คือคล้ายกับว่าให้เราทำจิตสงบสงบ พอเราใกล้ตาย

    ท่านอาจารย์ เราน่ะทำแล้วสงบ ความจริงขณะนั้นเป็นโลภะ เพราะต้องการ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    19 ก.ค. 2567