ปกิณณกธรรม ตอนที่ 937


    ครั้งที่ ๙๓๗

    สนทนาธรรม ที่ คุ้มภูผาหมอก จ.เลย

    วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ แสดงความละเอียดยิ่งของเจตสิก ซึ่งขณะนี้เกิดพร้อมกันหลายเจตสิก เกิดพร้อมจิต แต่ไม่ใช่มีเจตสิกเดียวที่เกิดกับจิต จิตหนึ่งขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตั้งแต่ ๗ ขณะขึ้นไป น้อยกว่า๗ ขณะไม่มี แต่มากกว่า ๗ ขณะมี เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะต้องศึกษาตามลำดับ เราพูดเรื่องกรรมกับผลของกรรมแค่นี้ถูกไหม เมื่อมีกรรมซึ่งเป็นเหตุ ก็ต้องมีผลของกรรม จิตที่เป็นเหตุดับไปแล้ว ทำให้เกิดจิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นผลคือวิบากเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรม เมื่อไหร่ ขณะไหนบ้าง ไม่อย่างนั้นเราปะปนกัน อะไรๆ ก็เป็นกรรม อะไรๆ ก็เป็นผลของกรรม แต่อะไรๆ นั่นคืออะไร ไม่ใช่พูดรวมไปว่าอะไรๆ ก็เป็นกรรม เขาทำกรรมมาไม่ดี เขาก็รับผลของกรรมที่ไม่ดี แล้วอะไรที่เป็นกรรมไม่ดี และอะไรละเป็นผลของกรรมที่ไม่ดี ถ้าศึกษาเพียงเผิน เผิน ละความเป็นเราไม่ได้ แต่ถ้าละเอียดทุกขณะเป็นสภาพธรรมซึ่งจิตก็เป็นจิต เจตสิกแต่ละหนึ่งก็เป็นเจตสิกแต่ละหนึ่ง กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นต้องศึกษาละเอียด ขณะนี้เดี๋ยวนี้มีจิตที่เป็นเหตุ คือเป็นกุศล และอกุศลไหม คือต้องตั้งต้นที่เดี๋ยวนี้เลยไม่ใช่เมื่อวานนี้คิดไม่ออก หมดไปแล้วดับไปแล้ว พรุ่งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่เดี๋ยวนี้รู้ไหม ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่รู้ พรุ่งนี้จะรู้ไหม เมื่อวานนี้รู้หรือเปล่า ไม่รู้มาตลอดเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจความจริง จนกว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตรงตามที่ได้ฟัง แต่เจตสิก ขอให้คิด หนึ่งขณะจิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ขณะ แล้วจะรู้เจตสิกไหนใน ๗ เลือกจะรู้นั่นรู้นี่ได้ไหม ไม่มีทาง แล้วอะไรรู้ อกุศลรู้ได้ไหม อกุศล รู้ไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญาซึ่งเกิดจากการฟังเข้าใจก่อน การฟังต้องฟังทีละคำ แล้วไม่ใช่เลือกด้วย อยากจะรู้คำนี้ อยากจะรู้คำนั้น แต่ต้องฟังตามลำดับ ลำดับขณะนี้ก็คือว่า เจตสิกไม่ใช่จิต เพราะจิตแค่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่คิดถึงว่าเป็นใหญ่เป็นประธาน ใหญ่จริงๆ เพราะอะไร ถ้าไม่มีจิตเจตสิกก็เกิดไม่ได้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นใจเป็นใหญ่ เพราะว่าเป็นธาตุรู้ ถ้าไม่มีธาตุนี้โลกไม่ปรากฏ เจตสิกทั้งหลายเกิดได้ไหม ถ้าจิตไม่เกิด ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้มีจิตเกิดขึ้น แล้วมีเจตสิกซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตหนึ่งขณะเกิดขึ้น เจตสิกนั้นก็ไม่ใช่จิต ด้วยเหตุนี้ถ้าเฉพาะจิตเท่านั้น ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องไหม เพราะเป็นแค่จิตเกิดขึ้นรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นจึงมีอีกคำหนึ่ง ใช้สำหรับจิตก็คือว่า สภาพซึ่งไม่ใช่กุศล และอกุศล มีไหม คุณธีรพันธ์

    อ.ธีรพันธ์ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นปัณฑระ

    ท่านอาจารย์ อีกคำหนึ่งแล้ว จำได้ไหมแค่อีกคำเดียว เป็นคำที่เรียกจิต แต่มีความหมายต่างกัน ถ้าใช้คำว่าจิตเป็นใหญ่ ใช้คำว่า มนินทรีย์ มน (มะ-นะ) คือจิต เพราะฉะนั้นคำที่เรียกจิตมีหลายคำ มน (มะ-นะ) มโน หทย ได้หมดเลย ธาตุรู้สภาพรู้แต่ไม่ใช่เพียงไปจำชื่อต้องเข้าใจว่าเป็นใหญ่เป็นประธาน ในอะไร ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อะไรจะใหญ่กว่าจิตในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ได้ เพราะจิตรู้แจ้ง หน้าที่ของจิตไม่ใช่หน้าที่ของเจตสิกใดเลยทั้งสิ้น และจิตก็จะไปทำหน้าที่ของเจตสิกใดๆ ก็ไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้จึงมีอีกคำหนึ่งว่าปัณฑระ หมายความว่า จิตเป็นสภาพที่ผ่องแผ้ว เมื่อไม่กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นอกุศลจิตเป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่ามีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้น ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก แต่เพราะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจึงชื่อว่าอกุศลจิต แสดงให้เห็นว่าเพราะมีเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเกิดร่วมด้วย แต่ถ้ากล่าวเฉพาะจิต แม้อกุศลจิต ตัวจิตก็เป็นปัณฑระ ทำให้เราเห็นความต่างว่า จิตต้องต่างกับเจตสิกแน่นอน คือไม่สามารถที่จะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งประเภทใดได้ แต่เศร้าหมอง หรือผ่องใสด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นเจตสิกที่ดี จิตนั้นก็ดี เพราะมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นจิตที่ไม่ดีเพราะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นอกุศลจิต แต่เฉพาะตัวจิตเป็นปัณฑระ อันนี้ก็เข้าใจจิตขึ้นอีกทีละเล็กละน้อยใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิดมีไหม ที่จะเป็นคนนี้ต้องมาจากขณะแรกที่เกิด จิตอะไรทำหน้าที่เกิด จิตทุกจิตเกิดขึ้นทำกิจ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ทำอะไรเลย ทำกิจเฉพาะของตนของตน ไม่ก้าวก่าย ไม่สับสนกัน เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิดขึ้นนี่จะเป็นจิตประเภทไหน ให้พิจารณา กุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม เป็นไปในกุศล การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ในขณะที่เข้าใจต้องเป็นกุศลแน่นอน เข้าใจเกิดแล้วก็ดับไป สะสมอยู่ในจิต แต่เกิดเมื่อไรเป็นเหตุ ที่จะให้เกิดผล จึงใช้คำว่ากุศลสำหรับเป็นเหตุที่ดี และใช้คำว่าอกุศลสำหรับเหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดี ๒ ประเภทแล้ว กุศลจิต อกุศลจิตเป็นเหตุ เหตุที่ดีทำให้เกิดจิตที่เป็นผลดีของกรรมนั้นเกิดขึ้น จิตที่ไม่ดี อกุศลจิต อกุศลกรรมดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้นรับผลของกรรม ที่รับผลของกรรมนั้นไม่ใช่ โต๊ะ เก้าอี้ มารับผลของกรรม ต้องเป็นธาตุรู้ซึ่งรู้ในสิ่งที่ไม่ดี เพราะว่าเป็นผลของกรรมที่ไม่ดี

    เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิด เป็นจิตที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือเป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม หรือเป็นกิริยาจิตซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ถ้าคิดเอง จะจำได้มั่นคง เพราะว่าเป็นเหตุเป็นผลที่ได้ไตร่ตรองแล้ว แต่ถ้าฟังก็ลืมได้เพราะแค่จำ เพราะฉะนั้นลองคิดดูแต่ละคนนี่หลากหลาย เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว เดี๋ยวนี้ ฟังธรรม เป็นกรรมที่เป็นกุศลหลากหลายไหม ไม่มีใครรู้เลยถึงกำลังของศรัทธา ความผ่องใสของจิตขณะที่ได้ฟังคำจริง ทำให้เบิกบานผ่องใส และก็มีวิริยะความเพียร ที่รู้ว่ายากลึกซึ้ง แต่ถ้าฟังอีกบ่อยๆ ก็เข้าใจได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายมากน้อย แม้ในขณะที่อยู่ด้วยกันพร้อมกันทุกคน แต่จิตก็หลากหลายตามการสะสมในอดีต และที่กำลังสะสมใหม่ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นกุศลจิตขณะที่เข้าใจ แต่ขณะที่ได้ยินเสียงบ้าง อะไรบ้างเป็นอกุศลเพราะไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นอกุศลจิตมาก กุศลจิตท่ามกลางอกุศล กำลังเกิดกำลังค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นขณะเกิดครั้งแรกในชาตินี้เป็นจิตประเภทไหน มีกุศลจิต มีอกุศลจิต มีวิบากจิต และก็มีกิริยาจิต วิบากเป็นผลของกุศล และอกุศล ส่วนกิริยาจิตไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก เลือกจิตให้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เลือกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง ในชาตินี้ทำกุศลตั้งหลายอย่าง แต่ใครจะรู้ว่ากรรมไหนจะให้ผลที่จะทำให้ปฏิสนธิซึ่งเป็นผลของกรรมใดเกิด ประมวลมาซึ่งกรรมอื่นที่สามารถจะให้ผลในชาตินั้น อย่างสุนัข ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรก ใช้คำว่าปฏิสนธิ ปฏิ แปลว่าเฉพาะ สันธิสืบต่อ สืบต่อจากไหน จากจุติจิตจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน แสดงความไม่มีอะไรคั่นเลย ในการเกิดดับของจิตสืบต่อ แต่ละภพแต่ละชาติ ต้องตายก่อนใช่ไหมถึงจะเกิด ใช่ไหม ต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้แล้ว สิ้นกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้จะยาว จะนาน จะมาก จะน้อย รู้ไม่ได้เลยใช่ไหม ถึงวาระที่กรรมจะทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ จะฆ่าใครให้ตายเขาไม่ตายก็ได้ ถ้ากรรมยังไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่จะสามารถเท่ากับกรรม ทำได้ทุกอย่าง มือที่มองไม่เห็นเลย จะตายด้วยโรคไหน เป็นมะเร็งแต่ไม่ตายด้วยมะเร็ง ถูกรถชนตาย ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า แต่ละขณะจิตที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมอะไร เพราะฉะนั้นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียว ที่ทำให้เกิดเป็นคนนี้ในเฉพาะชาตินี้ จะไม่ซ้ำกับชาติก่อนๆ แม้จะไม่ใช่ชาติข้างหน้าด้วย เฉพาะชาตินี้ที่เป็นไปที่จะเป็นคนนี้ ประมวลมาซึ่งกรรมอื่นๆ ที่สามารถที่จะให้ผลในชาตินี้ อย่างบางคนที่ถูกลอตเตอรี่ ๔๐ ล้าน ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำไว้ที่จะให้ผลนี้เกิดขึ้น ผลนี้เกิดก็ไม่ได้ แต่ใครจะรู้ว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นคนนี้ วันไหน กรรมไหน ที่ประมวลมาที่สามารถที่จะให้ผลในชาตินี้ ใครก็ห้ามไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จากคนตาดีเป็นคนตาบอดก็ได้ เป็นคนแขนขาดก็ได้ ได้ทุกอย่าง ไม่มีใครสามารถที่จะมีอำนาจเหนือกรรมได้เลย

    เพราะฉะนั้นทุกอย่าง ทุกขณะจิตก็เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแต่ต้องรู้ละเอียดว่าขณะไหนเป็นเหตุ คือกุศล และอกุศล ขณะไหนเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เหตุ แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเรารู้ได้เลย จิตขณะแรกขณะเดียวหนึ่งขณะ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ พอเกิดใหม่ก็ลืมหมดเลย ไม่เหลือความเป็นบุคคลเก่าเลยสักนิดเดียว รูปร่างเก่าก็ติดตามมาไม่ได้ ทรัพย์สมบัติก็มาไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมาไม่ได้

    จากวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ของราชคฤห์ ก็เกิดเป็นลิง เพราะฉะนั้นเรามาจากกรรมไหน แต่ต้องเป็นกรรมที่ได้กระทำแล้วหนึ่งกรรม ซึ่งประมวลกรรมอื่นๆ มาด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะเข้าใจว่าผลทั้งหมด ใครก็ทำให้ไม่ได้ นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้วของแต่ละบุคคล ตอนนี้ถ้ากล่าวโดยชาติ ชา-ติ การเกิดจิตมี ๔ ชาติคือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ ทั้ง ๒ เป็นเหตุ และกุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากก็เป็นผลของอกุศลกรรม สับเปลี่ยนกันไม่ได้เลย แล้วจิตที่เป็นกิริยาคือไม่ใช่ทั้งกุศล และไม่ใช่อกุศล เช่นจิตของพระอรหันต์เป็นต้น ไม่มีกุศล เพราะถ้าเป็นกุศลก็ยังต้องเกิดผล ต้องมีการเกิดอีกต่อไป แต่การดับการเกิด ก็คือว่าเมื่อดับกิเลสแล้วไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิด เพียงแต่รอเวลาที่จะถึงกาลสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ท่านอุปมาว่าเหมือนคนงานรอเวลาเลิกงาน จะอยู่ไปทำไม แต่ก็ต้องอยู่ใช่ไหม ก็เห็นไป ได้ยินไป นั่นคือจิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นกิริยาจิตส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นก็มีจิต ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ เพราะฉะนั้นพอปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมดับไปแล้ว ตอนนี้ต้องคิดล่ะ แล้วจิตอะไรเกิดต่อ ไม่ให้จิตเกิดต่อได้ไหม ไม่ได้เลย ต้องเป็นธรรมเนียม เป็นปกติของจิต ที่จิตขณะนี้ดับไป จิตขณะนี้ที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตดับแล้วไม่มีจิตเกิดต่อได้ไหม ไม่ได้ ต้องมีจิตเกิดต่อแน่นอน แต่จิตอะไรล่ะ ตอนนี้เราพูดถึง ๔ ชาติ กุศล อกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา ยากมาก เพราะเหตุว่าแม้แต่ได้ยินชื่อ ก็ยังไม่ใช่รู้ทั่วถึงเช่นคำว่ากิริยา แต่ว่าที่ชินหูก็คือกุศล อกุศล เป็นเหตุ กุศลวิบากเป็นผลของกุศล อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศล รู้ในเหตุ และผล เป็นชาติกุศล อกุศล เป็นชาติวิบาก

    เพราะฉะนั้นจิตอะไรจะเกิดต่อจากปฏิสนธิจิตที่ดับ ต้องดับไปแล้วแน่ๆ แล้วก็ต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อแน่ๆ ยับยั้งไม่ได้เลย แล้วจิตประเภทไหนที่จะเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต ถ้าไม่ฟังไม่เข้าใจก็เป็นเรา นี่เป็นเหตุที่ว่า แม้ได้ยินได้ฟังว่าไม่ใช่เรา ก็ยังต้องฟังต่อไปอีก ค่อยๆ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความไม่รู้ จากการยึดถือสภาพธรรม จากความติดข้อง เพราะได้เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แล้วจิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ถ้าความรู้สึกของดิฉัน ว่ามีทั้งกุศล มีทั้งอกุศล และวิบาก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนเราพูดถึงจิตทีละ ๑ ขณะ เพื่อจะได้รู้ว่า ๑ ขณะนั้น เป็นเราไม่ได้แน่ๆ ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไปก็ไม่ใช่เรา แต่ต้องมีจิตเกิดสืบต่อทุกขณ ะจิตใดก็ตามเกิดแล้วดับแล้ว การดับของจิตนั่นแหละเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีเลย ไม่มีระหว่างคั่นสักนิดเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อการเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม สภาพจิตที่เกิดไม่ใช่กุศล แต่เป็นกุศลวิบาก เกิดเพราะกรรมที่ได้ทำแล้ว ใครก็ไปทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดไม่ได้ ไม่มีใครทำได้นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นเหตุที่จะให้วิบากเกิด ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็อกุศลวิบาก เกิดเป็นงู เป็นนก เป็นเต่า เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นทุคติ เป็นอบายภูมิ ภูมิที่ไม่สามารถที่เจริญ ไม่สามารถที่จะฟังธรรมเข้าใจอบรมเจริญปัญญาได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ที่เกิดก็จำแนกไปตามกรรม แต่ถ้าพูดถึงเรื่องจิต จิตที่ดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ไม่ใช่ไปเอาของคนอื่นมาจากไหน แต่จิตนั่นแหละที่เกิดแล้วดับไปนั่นแหละ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที แล้วจะเป็นจิตประเภทไหนที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต

    ผู้ฟัง เป็นวิบากไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นวิบากเป็นผลของกรรมเดียวกัน เกิดเป็นคนก็ต้องเป็นคน จะเป็นงูระหว่างที่ยังเป็นคนอยู่ไม่ได้ ต้องหมดกรรมนั้นเสียก่อน แล้วแต่ว่ากรรมใดทำให้เกิดอีกเป็นอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจของเราไม่ต้องไปจำไปท่อง แต่ว่ามีความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมหนึ่ง เกิดแล้วแค่ให้ผลเป็นจิตขณะเดียวพอไหม ไม่พอเลย ทำกรรมมาตั้งมากมาย และกรรมกว่าจะสำเร็จไปแต่ละกรรมก็อาศัยจิตตั้งหลายขณะกว่าจะเป็นกรรมที่สำเร็จไปได้ เพราะฉะนั้นผลของกรรมก็ต้องมากใช่ไหม เหมือนข้าวเมล็ดเดียว ปลูกแล้วทำให้เกิดข้าวกี่เมล็ด มากมายใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นกรรมหนึ่งก็ให้ผลมาก แต่ต้องรู้ว่าเมื่อไรที่เป็นผลของ กรรม มิเช่นนั้นก็ยังเป็นเราอยู่นั่นแหละ การฟังพระธรรมประโยชน์คือเข้าใจความไม่ใช่เรายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นทันทีที่ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรม เกิดต่อเป็นผลของกรรมไหน การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง กุศลกรรมมีเยอะแยะ ให้ทานก็เป็นกุศลกรรม ช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นกุศลกรรม ฟังธรรมเข้าใจก็เป็นกุศลกรรม การอ่อนน้อมกับผู้ที่ควรเคารพอ่อนน้อมก็เป็นกุศลกรรม แล้วกรรมหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้เกิด เป็นคนนี้ แต่ประมวลมาซึ่งกรรมอื่นทั้งหมดที่สามารถจะให้ผลในชาตินี้ได้ อย่างอกุศลกรรมทำให้เกิดเป็นสุนัข จะมีความสุขยังคนไหม เป็นไปไม่ได้เลย ระหว่างที่เป็นสุนัขต้องรออาหารที่คนอื่นให้ ถ้าไม่แสวงหาด้วยตัวเอง จะได้อย่างไร้ก็ช่วยไม่ได้ คนยังไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแสวงหาเพิ่มเติมได้ใช่ไหม แต่พวกที่เป็นอบายภูมิ จำแนกไปเป็นชั้นๆ เป็นพวกๆ ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดแล้วก็ต้องกินอาหาร ใครเอามาให้ แสวงหาเอง แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่กรรมนั้นประมวลมาด้วย ถึงเวลาจะให้ผล สุนัขนอนเตียงทองยังมีเลย เวลาป่วยไข้ก็อยู่โรงพยาบาลสุนัข เจ้านายไม่อยู่ไปพักผ่อนก็ให้สุนัขอยู่ที่โรงแรมมีอาหารดีๆ มีเนื้ออร่อยๆ อะไรทุกอย่าง มาจากไหนก็ต้องมาจากกรรมที่สามารถจะให้ผล แม้ในชาติที่เป็นสุนัข ก็ยังต้องมีกรรมอื่นที่ประมวลมาที่จะให้ผลได้

    เพราะฉะนั้นมนุษย์นี่ก็เห็นกันชัดเจนเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวยากแค้น เดี๋ยวร่ำรวยมหาศาล ทั้งหมดใครทำให้ นอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนได้ เป็นเศรษฐีแต่พิการ ได้ไหม ได้ ต่างกรรม กรรมที่เป็นเศรษฐีก็ให้ความมั่งคั่ง กรรมที่ทำให้พิการก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมหนึ่งดับไปแล้ว กรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดที่จะให้ผล ไม่ให้ผลเพียงแค่หนึ่งขณะจิต ยังตามให้ผลต่อไป ตามควรของกรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดสืบต่อต้องเป็นผลของกรรมเดียวกับกรรมที่ทำให้เกิด ยังคงเป็นบุคคลนั้นอยู่ ไม่เปลี่ยนเป็นจิ้งจก ตุ๊กแก หรืออะไร ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม แต่ว่าเป็นผลของกรรมเดียวกันก็จริง เป็นวิบากประเภทเดียวกันก็จริง มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็เปลี่ยนไม่ได้ต้องเป็นอย่างนั้นไปตลอดชาติ จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ปฏิสนธิจิตซึ่งให้ผลเป็นขณะแรกของชาตินี้ ทำปฏิสนธิกิจ ทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป กรรมเดียวกับปฏิสนธิก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ไม่ใช่กรรมอื่นมาให้ผลได้ แต่กิจต่างกัน เพราะว่าจิตทุกขณะเกิดขึ้น ต้องเกิดขึ้นทำกิจการงาน เราไม่รู้เลยว่าขณะนี้ไม่ใช่เราทำเลย ไม่ใช่เราเห็น ไม่ใช่เราได้ยิน แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน ตามควรแก่ว่ากรรมใดจะให้ผล เห็นสิ่งที่น่าดู หรือไม่น่าดูได้ยินเสียงที่น่าฟัง หรือไม่น่าฟัง เพราะฉะนั้นจิตขณะต่อไปจากปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่ทำกิจต่างกัน เพราะว่ากิจแรกของชาตินี้ ทำปฏิสนธิ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่นเลย แต่หมดความเป็นบุคคลนั้น จำก็ไม่ได้ ใครก็ไม่รู้ จะเห็นรูปถ่ายก็ไม่มีทางรู้ว่านี่แหละครั้งหนึ่งคือเรา ใช่ไหม ไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นคนก่อนได้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตต่อไป เป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิลย เพราะปฏิสนธิจิตคือขณะแรกขณะเดียวที่เกิด เพราะฉะนั้นในชาติหนึ่งชาติหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิตเพียงขณะเดียว ต่อจากนั้นทำกิจนี้ไม่ได้ เพราะว่ากิจนี้ต้องสืบต่อจากจุติกิจเท่านั้น ปฏิเฉพาะสันธิสืบต่อจากจุติจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นวิบากอื่นไม่ได้สืบต่อจากจุติจิต จึงไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นศึกษาจิต ที่จะเข้าใจ ไม่ได้อยู่ในตำราเลย เดี๋ยวนี้ทั้งหมดรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นศึกษาธรรมคือเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นธรรม จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด จากการฟังพระธรรมให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยไม่ใช่ไปท่อง หรือไปจำ หรือไปคิดเอง แต่ให้รู้ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ โดยละเอียด ถึงแม้จิตซึ่งเป็นประเภทเดียวกันทำกิจต่างกัน ถูกต้องไหม แล้วตอนตายล่ะ จิตอะไร ขณะสุดท้ายของชาตินี้ ต้องมาถึงแน่ๆ เลย แต่ไม่ได้ทำกิจที่สืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจสืบต่อจากปฏิสนธิจิตมีไหม มี ทำกิจปฏิสนธิหรือเปล่า เปล่า เพราะฉะนั้นทำภวังคกิจ มาจากคำว่า ภว กับ อังคะ อังคะคือองค์ ภว คือภพ เพราะฉะนั้นสืบต่อภพ ความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะถึงการสิ้นสุดของกรรมทำกิจนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องทำกิจอื่น เป็นเรา หรือว่าเป็นธรรมทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ใครสงสัยอะไรตอนนี้ไหม ต้องจำหรือเปล่า หรือว่าสามารถเข้าใจได้ว่าจิตหลากหลาย เป็นประเภทใหญ่ๆ ก็คือเป็นกุศลเป็นเหตุ อกุศลเป็นเหตุ ซึ่งต้องเกิดผล ผลก็คือทำให้จิตซึ่งเป็นผล ใช้คำว่าวิบากจิตเกิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    19 ก.ค. 2567