ปกิณณกธรรม ตอนที่ 913


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๑๓

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์รีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสมาธิเป็นธรรมหรือเปล่า เห็นไหมคะ ถ้าถามคนที่ไม่ได้ฟังเลยเนี่ย ไม่รู้จักทั้งธรรม ไม่รู้จักทั้งสมาธิ ถ้าถามเขาว่าสมาธิเป็นธรรมหรือเปล่า เขาจะตอบว่ายังไง เพราะไม่รู้จักธรรมก็ตอบไม่ได้ ว่าสมาธิเป็นธรรมหรือเปล่า พระพุทธศาสนาขณะนี้ เดี๋ยวนี้นะคะ อย่าลืมนะคะ พระพุทธศาสนา ถ้าไม่รู้ว่าคืออะไร จะตอบได้ไหมว่า เสื่อมหรือเจริญ แต่ถ้ารู้ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร ตอบได้ ศาสนาคือคำสอนของใคร ของพระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนเรื่องอะไร ไม่ใช่สอนให้จำเก่งๆ นะคะ แต่สอนให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงว่า เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี เกิดแล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์คะ แล้วสมาธิเนี่ย ต่างกับสติอย่างไรค่ะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เข้าใจจิตหรือยังคะ เห็นไหมคะ เดี๋ยวนี้กำลังมีจิตใช่ไหมคะ เรื่องอื่นยังไม่ต้องพูดอ่ะคะ ไม่ว่าจะสมาธิ ไม่ว่าจะศีล ไม่ว่าจะสติ แค่รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีจิตไหม มีรึเปล่าคะ ธาตุรู้นี้มีแน่ แต่ธาตุรู้ที่เราใช้คำว่าจิตนี่ จะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องมีสภาพรู้ซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น สภาพรู้ซึ่งไม่ใช่จิตก็คือเจตสิก รัก ชัง สุข ทุกข์ต่างๆ ที่เป็นเจตสิกทั้งหมด เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต คือทุกอย่างต้องตามลำดับขั้น ถ้าฟังอย่างนี้ยังไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งไปถึงสติหรืออะไรเลยทั้งสิ้นค่ะ แต่พิจารณาก่อนว่ามีจิตตั้งแต่เกิด แต่ไม่เคยรู้จักจิต แล้วก็มีเจตสิกด้วย ก็ไม่รู้จักเจตสิก

    แต่พอฟังแล้วเริ่มเข้าใจว่านะคะ ธรรมทั้งหมดเนี่ย ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ คือประเภท ๑ เนี่ยมีจริงแต่ไม่รู้อะไรแข็ง เย็น เผ็ด ไม่รู้อะไรเลยนะคะ แต่มีเผ็ดมีมั้ย หวานมีมั้ย แต่เผ็ดหวานไม่รู้อะไร แต่สภาพที่กำลังรู้ว่าเผ็ดมี สภาพที่กำลังรู้ว่าว่าหวานมี เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพรู้ธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธาน เฉพาะรู้สิ่งที่ปรากฏเป็นจิต แต่ชอบเผ็ดมั้ย ไม่ชอบเผ็ดมั้ย นั่นก็เป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทำให้จิตเนี่ยหลากหลายไปมาก ในแต่ละวันในแต่ละขณะซึ่งเราไม่รู้เลย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เริ่มเข้าใจแต่ละคำเพิ่มขึ้น เช่นเมื่อกี้นี้นะคะ มีคำว่าเจตสิก มีคำว่าผัสสเจตสิก มีคำว่าเอกัคคตาเจตสิก เริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจะเข้าใจสติเจตสิกมั้ย เห็นไหมคะ ถ้าไม่ได้รู้มาก่อนเลยเนี่ย สติคืออะไร อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้นธรรมก็เหมือนกับอย่างอื่นนะคะ ซึ่งต้องเข้าใจตามลำดับขั้น ข้ามขั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงเจตสิก สภาพธรรมนี่ค่ะที่เป็นเจตสิก ฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี ถ้าฝ่ายไม่ดีเป็นอกุศลเจตสิก โลภะ โทสะ โมหะ พูดกันบ่อยๆ นะคะ ไม่ดีทั้งนั้นเลย เป็นอกุศลเจตสิก อโลภะไม่โลภไม่ติดข้อง อโทสะไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคือง อโมหะไม่หลงงมงาย เพราะเริ่มเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังมี เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นฝ่ายดีนะคะ สติเจตสิกเป็นธรรมฝ่ายดี เวลาที่เราคิดจะช่วยคนอื่นนี่ค่ะ เรารึเปล่าหรือเป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ใครเลยนะคะ แต่เป็นธรรมแต่ละประเภท เพราะฉะนั้นสติคือการระลึกเป็นไปในกุศล เมื่อไหร่ที่จะทำกุศล หรือทำกุศลเนี่ยนะคะ ขณะนั้นเพราะสติระลึกเป็นไป ในกุศลประเภทนั้นๆ อย่างหลายคนนะคะ เขาก็บอกว่า แต่ก่อนนี้เขาอาจจะเป็นคนพูดไม่ดีค่ะ ไม่คิดที่จะคิดถึงใจคนฟัง นึกอยากจะพูดอะไรก็พูด แต่พอฟังธรรมแล้วเริ่มเข้าใจ และเห็นใจนะคะ เค้าเองก็ไม่อยากฟังคำพูดซึ่งไม่น่าฟัง ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เดี๋ยวนี้เขาก็พูดคำที่น่าฟัง ผิดจากเดิม เพราะว่าสติเกิด ระลึกเป็นไปในทางที่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจคำว่าสตินะคะ ต้องเป็นไปในกุศลเท่านั้น ธรรมฝ่ายดี ขับรถดีๆ จะได้ไม่ชน เป็นสติหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องเป็นไปในกุศล เป็นบุญญกิริยา กิริยาของบุญนะคะ ทางกาย ทางวาจา ทาน ศีล หรือแม้แต่การฟังธรรมเดี๋ยวนี้ค่ะ ที่คิดจะเข้าใจธรรมก็เป็นสติ อยู่มาตั้งนานไม่ได้เข้าใจธรรมเลย และก็ธรรมก็มีสามารถจะเข้าใจได้ ที่จะฟังเพราะสติเกิดขึ้นเห็นประโยชน์ ว่าควรฟังสิ่งซึ่งสามารถ ที่จะฟัง และเข้าใจได้นะคะ ก่อนจากโลกนี้ไป เพราะใครก็ไม่รู้ว่าจะจากโลกนี้ไปวันไหน ไปด้วยความไม่รู้อะไรเลย กับการที่ได้ฟังแล้วก็ได้เริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้นทั้งหมดในฝ่ายดีนะคะ เพราะสติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทางกุศล

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์คะ เพราะฉะนั้นถ้าแนะนำให้ไปนั่งสมาธิ จะได้ไม่หลงลืมกระเป๋า หลงลืมข้าวของมีสติ อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ คำพูดจาของใคร ไม่ใช่คำพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะฉะนั้นฟังใครก็ต้องรู้ค่ะ ถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง ถูกต้องละเอียดขึ้น นั่นคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าบอกให้ทำ แต่ถ้าถามว่า แล้วสติเป็นยังไงก็ไม่บอก สมาธิเป็นยังไงก็ไม่บอก ปัญญารู้อะไรก็ไม่บอก นุ่งขาวทำไมก็ไม่บอก แล้วฟังได้ไหมคะ จากคนที่อะไรก็ไม่บอก บอกแต่ว่าให้ทำ เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรมนะคะ ก็เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ว่ามีคนที่มีปัญหาหรืออะไรนะคะ ก็จะได้รู้ว่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฟังความคิดเห็นหลายๆ คน จะได้รู้ว่าสิ่งที่ได้ฟังเนี่ย ถูกต้องลึกซึ้งแค่ไหน

    อ.นภัทร ท่านอาจารย์ครับ ในการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสเนี่ย ต้องมีเจตสิกอย่างน้อย ๗ ประเภทเกิดร่วมด้วย แล้วเจตสิกแต่ละเจตสิกใน ๗ จะทำกิจหน้าที่ของเค้าอย่างไรครับ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ จิตทำหน้าที่ของเจตสิกได้ไหม

    อ.นภัทร ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เจตสิก ๑ จะไปทำหน้าที่ของเจตสิกอีก ๑ ได้ไหม

    อ.นภัทร ไม่ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทั้ง ๗ เกิดพร้อมกัน ต่างก็มีหน้าที่ของตนๆ

    อ.นภัทร แต่ในการเห็นครั้ง ๑ เนี่ยรวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ

    อ.นภัทร แล้วเจตสิก ๗ ประเภทเนี่ย

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้นพร้อมจิตแต่ไม่ใช่จิต และไม่ใช่เจตสิกแต่ละ ๑ อื่นๆ ๑ คือ ๑ เพราะฉะนั้นทั้ง ๗ เจตสิกนะคะ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน พร้อมจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ของจิตแล้วก็ดับไป เร็วสุดที่จะประมาณได้

    อ.นภัทร แสดงว่า

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่ใช่ ๗ ดวงนี้นะคะ ยังมีมากกว่านั้นอีก ซึ่งก็ต้องเกิดขึ้นทำกิจของเจตสิกนั้นๆ

    อ.นภัทร เพราะฉะนั้นหมายความว่า ในการเห็น ๑ ครั้งเนี่ย ๗ อย่างน้อย ๗ เจตสิก ที่เกิดในการเห็นเนี่ย

    ท่านอาจารย์ พร้อมกัน

    อ.นภัทร พร้อมกันเลยเหรอครับ

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันค่ะ และก็อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น โดยฐานะซึ่งเป็นปัจจัยอะไรต่างๆ กัน เช่นผัสสเจตสิกเป็นอาหารปัจจัย เจตนาเจตสิกเป็นกรรมปัจจัย เห็นไหมคะ นี่คือพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่เห็นเลยว่าขณะนี้ค่ะ มีผัสสเจตสิกเกิดในขณะที่จิตเห็นเกิด แต่ถ้าไม่มีผัสสเจตสิก จิตเห็นเกิดได้ยังไง เพราะผัสสะต้องกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ ที่จิตรู้ทันทีที่ผัสสะกระทบพร้อมกันกับที่ผัสสะกระทบ เจตสิกอื่นก็ทำหน้าที่ของตน เอกัคคตาก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น จิตก็รู้อารมณ์นั้น สัญญาเจตสิกก็จำอารมณ์นั้น ทุกอย่างค่ะ มีสภาพธรรมที่เกิดดับพร้อมกัน แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ แค่แต่ละคำเนี่ยต้องไม่ลืมเลย และต้องเข้าใจว่า จิตหนึ่งขณะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยแสดงแล้ว ๗ นี้ต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้นอย่างมาก ๓๐ กว่าก็ได้ ที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน

    อ.นภัทร อย่างวิตักกะ วิจาระ ถ้าเกิดจะต่างกับ มนสิการ อย่างไรครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรมนะคะ ยังรู้ยาก ที่นี่ค่ะ กินเข้าไปเนี่ย ดอกไม้ก็กินได้ใช่ไหมคะ มีโอชารูปที่มากินเข้าไป แล้วก็ทำให้รูปอื่นเกิดขึ้น ยังรู้ไม่ได้เลยโอชา เพราะเหตุว่าจะรู้ได้เฉพาะรสเมื่อกระทบลิ้น จะรู้ได้เมื่อสีสันวรรณะกระทบตา เมื่อเป็นเสียงก็กระทบหู จึงได้ยินเสียง ถ้ากลิ่นปรากฏเฉพาะกลิ่นปรากฏ เพราะฉะนั้นรูปที่รวมกันเกินกว่า เท่าที่เรากล่าว อยู่ที่นั่นแต่ไม่ปรากฏฉันใด นี่แค่รูปนะคะ เจตสิกซึ่งเกิดพร้อมจิต ไม่ว่าจะจำนวนเท่าไหร่ ใครรู้

    อ.นภัทร ก็ต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ เราเป็นใคร จะรู้อย่างพระองค์ไหม พอกล่าวถึงอะไรรู้ไปหมดเลย ตามพระองค์อย่างนั้นหรือ หรือว่าเริ่มเข้าใจความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเห็นความละเอียดว่าจิตเป็นธาตุรู้ เจตสิกก็เป็นธาตุรู้ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน แต่ถ้าลักษณะใดไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่มีอยู่ในที่นั้นสิ่งนั้นก็ดับไปแล้วพร้อมกัน โดยไม่ปรากฏเลย เช่นขณะนี้นะคะ เห็นเฉพาะเห็น ไม่เห็นผัสสเจตสิก เวทนาคือความรู้สึก ทันทีที่กระทบก็ต้องมีความรู้สึกก็ไม่เห็น สภาพที่จำก็จำทันทีที่เห็นก็ไม่ปรากฏ สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้ เพียงแค่รู้ว่าเห็น แต่ว่าเจตสิก ๗ ที่เกิดกับจิตเห็นมีไหม เพราะฉะนั้นจะไล่เรียงไปถึงเจตสิกแต่ละขณะนะคะ แค่ได้ฟังเนี่ย ก็ยากที่จะรู้ได้ถึงความต่างกันเพราะไม่ปรากฏ ขณะนี้ที่นี่เดี๋ยวนี้ค่ะ ทราบไหมคะว่าจิตเจตสิกเกิดดับ นับไม่ถ้วน ทั้งจิต และเจตสิกไม่ปรากฏว่ามีสักอย่างเดียว เพราะเหตุว่าเร็วมากค่ะ ดับแล้วหมดแล้ว ไม่กลับมาอีกด้วย เฉพาะ ๑ ที่ปรากฏ แต่เวลานี้นะคะ ถ้าถามทุกคนว่าแข็งไหมคะ มีแข็งมั้ย ตอบว่าไงคะ ตอบว่ามีก่อนถามแข็งปรากฏมั้ย ก็ไม่ปรากฏ แล้วจำมีไหมค่ะ จำที่จำว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จำ แต่ก็ไม่ปรากฏสภาพจำให้รู้ว่า นี่คือธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจำเท่านั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นธรรมเจตสิก ๕๒ ประเภทนี่ค่ะ ถ้าสภาพธรรมใดไม่ปรากฏ ไม่มีทางที่จะรู้เลย นอกจากฟังพระธรรม และก็เห็นความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งของพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ ที่กล่าวถึงสภาพธรรมทั้งหมดใน ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้คนเนี่ยได้มีความเข้าใจในความเป็นธรรม จนกระทั่งละความยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ซึ่งเมื่อมีความไม่รู้ก็ทำให้ติดข้อง ทำให้กิเลสงอกงามไพบูลย์มากมาย ซึ่งใครก็แก้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จนกระทั่งเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงเจตสิก ๕๒ นะคะ ก็ต้องไล่เรียงไปทีละ ๑

    อ.นภัทร อย่างนี้ก็คือว่า การอบรมเจริญปัญญาเนี่ยก็คือ รู้ในสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราจงใจ จะไปให้ปัญญารู้สิ่งนั้น จะให้ไปตั้งมั่นเป็นสมาธิ อยู่ที่สิ่งนี้ นั่นคือไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าพระองค์แสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่า ให้ทำอย่างนี้ถูกไหม

    อ.นภัทร เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันก็คือ มีจิต มีเจตสิก มีรูป แต่ว่าเจตสิกมีที่ปรากฏให้เห็น แล้วก็มีที่ไม่สามารถที่จะปรากฏให้เห็นได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ รู้สึกยังไงคะ เห็นเนี่ย ตรงเห็น ที่เห็นเนี่ยรู้สึกยังไง

    อ.นภัทร ก็เฉยๆ ฮะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ปรากฏหรือเปล่า ปรากฏว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น หรือว่าความรู้สึกเฉยๆ ปรากฏให้เห็น

    อ.นภัทร มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ความรู้สึกไม่ได้ปรากฎครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่มีก็ไม่ได้ปรากฏ แต่ก็เกิดกับจิตทุกขณะเลย แต่ไม่ได้ปรากฏเลย

    อ.นภัทร แต่ถ้าปัญญาพิจารณา ในเวทนาที่เกิด ก็อีกขณะ ๑

    ท่านอาจารย์ ใครที่พิจารณา

    อ.นภัทร เป็นสติที่ระลึก

    ท่านอาจารย์ ค่ะ สติเกิดด้วยความเป็นอนัตตา เลือกไม่ได้เลย

    อ.นภัทร ครับ

    ท่านอาจารย์ บอกให้ระลึกที่เวทนาเวลานี้ผิด ไปสั่งใคร บอกใคร ให้เขาระลึกได้

    อ.นภัทร ถ้าระลึกเป็นไปโดยไม่ได้เป็นการจงใจครับท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้นะคะ เดี๋ยวนี้สติเกิดหรือเปล่า คะ เข้าใจเมื่อไหร่เป็นกุศล มีสติแต่ลักษณะของสติไม่ได้ปรากฏว่าเป็นสติ ไม่ปรากฏเลยสักนิดเดียว ไม่ว่าจะเป็นกี่เจตสิกก็ตาม เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเข้าใจเห็นไหมคะ สภาพธรรมเกิดดับนับไม่ถ้วน นี่คือเริ่มเห็นพระปัญญาคุณ ของพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้า ว่าไกลจากที่ได้ยินได้ฟังนี่สักแค่ไหน เพราะปัญญาทั้งหมดนะคะ มากกว่าที่ได้แสดงกับผู้ที่เข้าไปเฝ้า และฟังพระธรรมในครั้งนั้น ซึ่งมีปัญญามากกว่าเราในยุคนี้แน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าตื้นๆ พอพูดถึงอะไรก็รู้ ไม่ใช่ค่ะ แต่ละคำนี้ลึกซึ้งมาก จึงไม่ผิด แต่ถ้าตื้นเมื่อไหร่ ผิดทันที

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ตอนที่ได้ฟังธรรม แล้วก็คิดว่าเป็นชาวพุทธแล้วก็ต้องทำบุญใส่บาตร ทำสมาธิ ปล่อยนก ปล่อยปลา หรืออะไรทั้งหลายเนี่ย ถือศีลให้ได้ตามนั้น จนเป็นความเคยชิน โดยเฉพาะในเรื่องของข้อปฏิบัตินี่ฮะจนผิด แต่การที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริง ก็ไม่ใช่สิ่งง่ายเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ คุณอรรณพกล่าวถึงตอนที่ยังไม่ได้ไปวัด ยังไม่ได้ศึกษาคำสอนเลยใช่ไหมฮะ เพราะฉะนั้นถึงไปวัด แล้วก็มีคำสอน แต่คนนั้น ก็ต้องคิดว่าเท่านี้หรือ นี่หรือคือพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หนิแค่นี้จะเป็นพระพุทธศาสนาได้ยังไง เพราะว่าพุทธศาสนาคือคำสอนของใคร ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสอนแค่นี้อย่างนี้หรือ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้นะคะ ว่าถ้าจะศึกษาจริงๆ ต้องไม่ใช่แค่นี้ ไม่ใช่แค่ใส่สีขาวไปวัด นั้นไม่ใช่คำสอนค่ะ ไม่เห็นได้เข้าใจอะไรเลย แล้วจะเป็นคำสอนของผู้ที่ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร ต้องเป็นคำสอนที่ต้องไม่เหมือนใคร เพราะเหตุว่าสอนให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินว่า มีการศึกษาพระพุทธศาสนา จะศึกษามั้ย เพราะรู้ว่าแค่นี้ ไม่ใช่แน่ ใช่มั้ยคะ รักษาศีลแค่นี้หรือเป็นพระพุทธศาสนา ใครๆ ก็รักษากันทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องเข้าใจอะไร เขาก็รักษาศีล เค้าไม่ฆ่าสัตว์ เค้าไม่พูดเท็จก็แล้วแต่ นี่หรือคือพระพุทธศาสนา แค่นี้ไม่ใช่แน่ เพราะฉะนั้นเป็นเพียงแค่นี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสอนมากกว่านี้ จึงจะเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้นะคะ ได้ยินว่าพระพุทธศาสนา คนนั้นจะเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่ง แล้วรู้ว่าถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม และหนทางที่จะรู้จัก ก็คือว่าทุกคำที่ทรงแสดงนะคะ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ใช่พอบอกว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาจบ ทุกอย่างคืออะไรแต่ละ ๑ และอนัตตาคืออะไร แล้วเดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีเนี่ยเป็นธรรมมีจริงๆ แล้วเป็นอนัตตาไหม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่ไปฟังคำ แล้วก็จำเรื่อง แล้วก็อยากจะรู้คำแปลของคำ แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าเข้าใจสิ่งที่มีจริงได้จากผู้เดียว คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็จะรู้จักนะคะ ว่า พุทธศาสนาคืออะไร คือคำสอนที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะให้ผู้ฟัง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นแต่ละคำนี่ค่ะ ก็มาจากการที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงนะคะ เพราะฉะนั้นแต่ละคำๆ เนี่ย ก็จะมีคำที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงยิ่งขึ้น การศึกษาทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามลำดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะไม่รู้อะไรเลยตั้งแต่ต้น แล้วก็จะคำนั้นบ้าง คำนี้บ้าง ทำสมาธิบ้าง วิปัสสนาบ้าง โดยไม่รู้อะไรเลย เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมนะคะ ไม่ใช่คนที่ว่าสะสมมานานมาก อย่างท่านพระสารีบุตร ฟังเพียงไม่กี่คำก็เข้าใจได้ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เพียงแค่แต่ละคำที่ได้ฟังเนี่ย เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า เช่นได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่ใช่ใครที่เป็นครูบาอาจารย์ที่คิดเอง แต่ต้องเป็นคำที่มาจากการที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริง ยากไหมคะ กว่าจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ขณะนี้ เพราะฉะนั้นการฟังไม่ใช่ฟังมากๆ ฟังหลายๆ คำนะคะ แล้วก็จำคำต่างๆ ชื่อภาษาบาลีทั้งนั้น ไม่จำเป็นเลย เพราะเหตุว่าคนที่ไม่รู้ภาษาบาลี จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงได้ ในภาษาของตนๆ เมื่อเข้าใจแล้วนะคะ ได้ยินคำภาษาอื่นรู้ได้เลยว่า ความหมายเดียวกัน เช่น เวลาที่เราใช้คำว่าไม่ชอบ ภาษาไทยเราเข้าใจได้ใช่ไหมคะ แต่พอได้ยินคำในอีกภาษานึง เพราะเราเข้าใจคำว่าไม่ชอบเนี่ย แน่นอนแล้วว่าไม่ใช่เราเป็นธรรม คือการศึกษาธรรมเนี่ย ต้องละเอียดอย่างยิ่งนะคะ และต้องรู้ว่าไม่รู้แน่ๆ ก่อนฟังธรรม เพราะฉะนั้นจะคิดธรรมเองไม่ได้ จะอ่านหนังสือจบทั้งเล่ม ก็ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจธรรม แต่ต้องหมายความว่า เข้าใจคือแต่ละคำ ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่หนึ่งสิ่งใด แล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเห็นของตนเองที่ถูกต้องว่าจริงหรือเปล่า อย่างคำว่าธรรมนี่ค่ะ ใครจะกล่าวว่านั่นเป็นธรรม นี่เป็นธรรม ยุติธรรม อยุติธรรม ขันติธรรมหรืออะไรก็ตามแต่นะคะ แต่รู้ หรือยังว่าธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นเพียงคำเดียว ทีละคำนะคะ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเข้าใจคำนี้แล้ว ได้ยินคำอื่นเข้าใจอีก ถูกต้องอีก ทั้งหมดสอดคล้องกัน จนกระทั่งเป็นความรอบรู้ในคำที่ได้ฟัง และก็สอดคล้องกันทั้งหมด นั่นคือความถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเรา จะไม่ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ รู้ว่าแต่ละคำนี่คะ เราไม่สามารถที่จะคิดเองได้ แต่ว่าเมื่อได้ยินแล้ว ต้องไตร่ตรองจนกระทั่ง เกิดความเข้าใจถูกต้องนะคะ เป็นไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าธรรมลึกซึ้งมาก ถ้าไม่ประมาทอย่างนี้ สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ แม้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ว่านะคะ ได้ยินได้ฟังคำไหน เรื่องไหนอ่านจนจบหมด จำได้หมด อริยสัจมีเท่าไหร่คะ ๔ ๑ อะไร ๒ อะไร ๓ อะไร ๔ อะไร แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะไม่รู้เลย ก็แสดงว่าไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นธรรมหมายความถึงทุกคำนี่ค่ะ เป็นสิ่งที่กำลังมี และสามารถที่จะเข้าใจได้ ต้องเป็นความเข้าใจขึ้น เช่นคำว่าธรรมทั้งหลาย ไม่เว้นเลย หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ในภาษาหนึ่งใช้คำว่าธรรม แต่ในภาษาของเรานะคะ ก็คือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริงๆ เนี่ย จะเรียกอะไรดี เราก็บอกสิ่งที่มีจริง แต่พอรู้ว่านั่นคือความหมายของธรรม แต่เข้าใจก่อนนะคะ สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้นพอได้ยินว่าธรรมที่ไหน เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แน่นอน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา อย่างละเอียดยิ่งนะคะ เพื่อที่จะให้เข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็สับสน แล้วก็ผิดพลาด

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริงในขณะที่คิด

    ท่านอาจารย์ ค่ะ อะไรจริง

    ผู้ฟัง ก็จิตที่คิดเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ จิต เจตสิกขณะนั้นเกิดขึ้นคิด

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่จำจะคิดมั้ย เห็นไหมคะว่าความรู้ของเราน้อยแค่ไหน เรารู้คร่าวๆ แล้วก็สงสัยไปอยู่นั่นแหละ แล้วเราก็คิดเอง แต่งต่อเติมผิดหมด แต่ถ้าเรารู้ว่า เราเนี่ยจะเข้าใจธรรมได้แค่ไหน ขณะนี้จิตเจตสิกนับไม่ถ้วนเลย เกิดแล้วดับแล้ว โลภะก็เกิด อโลภะก็เกิด โทสะก็เกิด อโทสะก็เกิด ปัญญาก็เกิด ผัสสะก็เกิด ความรู้สึกก็เกิด ทุกอย่างเกิดหมดไม่ปรากฏเลย ทั้งๆ ที่มีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มีนะคะ แต่ว่าเกิดแล้วดับแล้ว ไม่ปรากฏ แต่ถ้าเข้าใจธรรมมากขึ้น เพราะความเข้าใจนั่นแหละสภาพธรรมที่มีเดี๋ยวนี้ ก็ปรากฏกับปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    19 ก.ค. 2567