ปกิณณกธรรม ตอนที่ 540


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ซึ่งหนทางที่จะดับกิเลสไกลมาก เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ฟังอย่างละเอียดจะรู้ว่า มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แสดงว่าถ้ายังไม่มีเหตุปัจจัยก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับอย่างเร็ว เป็นอย่างนี้ตลอด ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงตรัสรู้ จะไม่มีคำสอนเรื่องนี้เลย ไม่มีทางที่เราจะมีปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา คืออย่างไร แล้วเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถที่จะศึกษาให้เข้าใจได้ อบรมปัญญาให้เพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นคุณประโยชน์อย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ห่างไกลจากคำสอนของคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้าเรายังมีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้ศึกษา ได้เข้าใจ เราจะทิ้งโอกาสนั้นไหม ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากก็จริง แต่เราต้องอบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่า ถ้าเราคิดว่าง่ายอย่างนั้น แล้วก็ใช้ได้ แล้วเราจะไปหาคำสอนอื่น ที่ละเอีดกว่านั้น และยากกว่านั้น แต่ว่าสามารถที่จะดับกิเลส เป็นสมุจเฉทได้ไหม ถ้าเรายังคงพอใจเพียงเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้ว่า แค่นั้นใครก็คิดได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าผู้ที่ตรัสรู้ ความรู้ของพระองค์ ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณา ถึง ๔๕ พรรษา ทุกคำที่ตรัสมีค่า แล้วแต่ว่าเราจะพิจารณาอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจปรมัตถธรรม แล้วเราอ่านพระสูตร เราเข้าใจผิดแน่นอน ทรงแสดงไว้เลยว่า ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระสูตรโดยรอบคอบ จะเป็น มิจฉาทิฏฐิ หรือว่าจะเข้าใจคำสอนผิดได้ แล้วผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมโดย ไม่รู้จุดประสงค์ โดยไม่รู้สติปัญญากำลังของตัวเองว่า เรามีสติปัญญาแค่ไหน ขั้นไหนก็จะคิดมากมาย พิจารณาวิจารณ์ไปจนเป็นความฟุ้งซ่าน เรื่องที่ไม่สามารถจะรู้ได้ก็คิด คิดตลอดเวลา โดยที่ว่าไม่ได้ประโยชน์จริงๆ ว่าขณะนี้ปัญญาของเรามีขั้นระดับที่ฟัง เรื่องใด พิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังจริงๆ แล้วสิ่งที่กำลังฟัง เมื่อเข้าใจแล้ว เวลาได้ยินต่อไป เราก็เข้าใจได้ แล้วเราก็สามารถ ที่จะเข้าใจได้ละเอียดขึ้นด้วย ลึกซึ้งขึ้นด้วย จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใกล้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ซึ่งเราศึกษาตั้งแต่ต้น ว่าเป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ขณะนี้ไม่มีอะไรเลยซึ่งเกิดขึ้น จะไม่ใช่ปรมัตถธรรมหนึ่งปรมัตถธรรมใด คือจิต หรือ เจตสิก หรือ รูป แม้แต่เรื่องราวความคิดนึกของนักปราชญ์ ราชบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์หรือใครก็ตามแต่ ถ้าไม่มีจิต จะมีไหมเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น แม้แต่เพียงความคิดชั่วขณะนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็เพราะจิตชนิดใด และจิตก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ว่าจิตมีกี่ประเภท ตั้งแต่จิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา อเหตุกะ สเหตุกะ คือเป็นเรื่องที่จะให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน แล้วก็จะได้เข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ถ้าทรงแสดงพระธรรมเพียงสั้นๆ สำหรับผู้ที่ได้อบรมปัญญามามาก สามารถที่จะฟังไม่มีอุปสรรคในเรื่องคำ เพราะว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ว่าคนที่ไม่ได้สะสมปัญญามา ได้ฟังสักเท่าไร แม้แต่ว่าสภาพธรรมก็ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้นได้ถูกต้อง นี่เป็นเรื่องที่เราจะเห็นความต่างกันว่า แม้สภาพธรรมเป็นสภาพธรรม แต่ผู้ไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมก็จะมีหนทางด้วยความเป็นตัวตน คิดต่างๆ นานา เราก็ฟังความเห็นของคนอื่น แต่ถ้าเราจะศึกษาจริงๆ ฟังจริงๆ เราควรจะฟังใคร ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตเกิดดับไม่รู้ว่าเท่าไรที่ผ่านมาแล้ว แม้แต่ในขณะนี้ แต่ว่าที่เราเรียนเรื่องนี้เพื่อที่จะให้เรารู้ขึ้น ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ขณะใดเป็นวิบากจิต ขณะใดเป็นกิริยาจิต และขณะที่เป็นอกุศลจิตมีถึง ๑๒ ประเภท คือ มีโลภะความติดข้อง ๘ ประเภท หรือ ๘ ชนิดก็ได้ ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ เพื่อที่จะได้รู้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า ขณะไหน เป็นจิตอะไรที่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ตรงนี้ ถึงต้องมานั่งเรียนกันอย่างนี้ เพื่อให้เห็นว่า ทุกขณะมันไม่มีเราเลย มันมีแต่จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นสลับกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีจิตประเภทไหนเกิดแล้วระลึกรู้ ก็จะตรงกับที่เรียน

    ผู้ฟัง ปัญหาก็คือว่า วิบาก ถ้าใครไม่ได้เรียนมา ก็ยังไม่รู้เลย เรียนแล้วพูดตามได้ ก็ยังไม่รู้อีก จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็เห็น ธรรมดา กระทบแข็ง ธรรมดา แล้วทุกคนก็มีชอบ มีไม่ชอบ เห็นก็ไม่ใช่แข็ง ถูกไหม แล้วเห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน แล้วเห็นก็ไม่ใช่ชอบ ทุกอย่างเป็นปรมัตถธรรม ในชีวิตประจำวัน แต่พอเรียนแล้วก็รู้จักชื่อตามภาษาบาลี

    ผู้ฟัง แต่ก็พูดตามด้วย คือยังไม่รู้ ยังไม่รู้ด้วยตัวเองว่า มันคือใช่ มันคือลักษณะของวิบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ความไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏก็ต้องปรากฏอย่างนั้น อย่างเวลาที่รับประทานอาหารที่มีรสหวาน เราก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นรสหวานเป็นอย่างนี้ โดยชิวหาวิญญาณลิ้มรสนั้น รสนั้นปรากฏ แต่ว่าเป็นเรา แต่ความจริงเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ทรงแสดงไว้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ชื่ออะไร ที่ต่างกัน ระหว่างเห็น กับได้ยิน กับลิ้มรส ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพียงแต่ว่าเราไม่เห็น ความเป็นอนัตตา เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนนี้ยังไม่เห็น แต่สภาพธรรม ต้องมีลักษณะอย่างนั้นๆ แล้วก็ใส่ชื่อภาษาบาลีเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถามอาจารย์สุจินต์ ว่า ความต่างกันของทุกขอริยสัจ กับ ทุกขลักษณะ ที่อาจารย์บอกว่า ทุกขลักษณะ อย่างยกตัวอย่าง จิตมีลักษณะ ๓ อย่าง นั้นไตรลักษณ์ หรือเปล่า ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทุกอย่างที่เกิด ต้องมีลักษณะ ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง แล้วทุกขอริยสัจ นี้ คือการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้อริยสัจธรรม ขณะนี้สภาพธรรมมีจริง เป็นสัจ เป็นของจริง แต่ว่าเป็นอริยสัจธรรม หรือเปล่า แต่การที่เราสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีจริงขณะนี้ จะทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้รู้เป็นพระอริยบุคคล หมดความสงสัย หมดความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับจริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ก็มีความต่างกันที่ว่า แม้ว่าขณะนี้สภาพธรรม ทั้งหมด ที่เกิดมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ใครรู้ หรือว่าใครฟัง หรือว่าใครเข้าใจ หรือว่าใครเริ่มอบรม นี่ก็เป็นเรื่องที่จะให้เห็นได้ว่า กว่าจะรู้แจ้งจริงๆ ปัญญาต้องอบรมเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่เพียงฟังแล้วเราก็สามารถจะรู้ได้ว่า โลกุตตระก็เป็นอย่างนี้ หรืออะไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าปัญญาจะเกิดจะต้องรู้อะไรก่อน รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้น มีจริงๆ กว่าจะเห็นว่าสภาพธรรมนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์

    ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม ๔ สภาพธรรม ที่เกิดดับ ได้แก่จิต เจตสิก รูป และนิพพานไม่เกิดดับ เวลาที่เข้าใจอย่างนี้ แล้วก็ทรงจำแนกโดยนัยของอริยสัจ เราก็จะเข้าใจเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิกซึ่งเกิดดับ รูปก็เกิดดับ แต่ว่าโดยนัยของอริยสัจ อะไรเป็นอริยสัจ อย่างไร เพราะว่าต้องแสดง อย่างเจตสิกทั้งหลายอื่น จะเป็น สมุทัยไม่ได้ นอกจากโลภะ บางแห่งก็แสดงถึงอวิชชาด้วย แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นเรื่องของ อริยสัจ จะเอาทุกอย่างมารวมหมด ปรมัตถธรรม ๔ มารวมเป็นไม่ได้ เพราะเหตุว่า นิโรธ ไม่ใช่ทุกขสัจ ต้องเป็นอริยสัจที่ไม่เกิดดับ เป็นนิโรธอย่างเดียว นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วเราค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจ จะงงบ้างก็ไม่เป็นไร หนังสือมี เพราะว่าตำราก็มี อรรถกถาก็มี ก็กลับไปพลิกทบทวนแล้วก็อ่าน ยังจำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร วันหลังก็อ่านอีกได้ แต่ให้รู้ความหมายที่ต่างกัน ทุกขลักษณะ ต้องหมายความถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พอถึง ทุกขอริยสัจ จะเว้น เป็นทุกขอริยสัจ หรือ เป็นสมุทัยอริยสัจ หรือเป็นนิโรธสัจ หรือจะเป็นมรรคสัจ

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ให้ทราบว่ากิจหน้าที่ของปัญญานั้นคือ ละ แต่ต้องรู้ ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนแล้วไปละ ถ้าเป็นตัวตนแล้วไปละ นั่นไม่ได้ละ อะไรเลย เพราะว่าเรื่องของการละ ต้องเป็นเรื่องของเจตสิก ๑ คือปัญญาเจตสิก เพราะรู้ จึงละ ถ้าไม่รู้ ไม่มีทางละเลย แล้วการรู้นี้ก็ต้องตามลำดับขั้นด้วย ว่ารู้ขั้นไหน ขั้นฟัง เข้าใจ นิดๆ หน่อยๆ ว่าไม่ใช่เราแต่ว่าเป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก รูป เหมือนชื่อ เพราะเหตุว่าขณะนี้จิต เจตสิก รูป ก็เกิดดับ ทำกิจการงานอย่างรวดเร็วมาก แล้วเราก็รู้ตามว่า จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วทำการงานสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เคยประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ แต่การศึกษา ต้องเป็นการศึกษาเพื่อให้รู้จริง

    ภาวนา หมายความถึงการอบรมปัญญา อย่าลืมเลย ว่า อบรมปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องมีความรู้ตั้งแต่ต้นจึง จะอบรมให้เพิ่มขึ้น ให้เจริญขึ้นได้ แล้วความรู้ขั้นฟัง ถ้าไม่มีตั้งแต่ต้น ก็ไม่มีปัญญาที่จะเจริญอะไรได้เลยสักอย่าง เพราะว่า ไม่รู้ว่าปัญญานั้น รู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า การอบรมปัญญา ขาดปัญญาไม่ได้ ต้องมีปัญญา ทุกคนก็พิจารณาได้ว่า มีปัญญาขั้นฟังมากพอหรือยัง ยังไม่ต้องไปขวนขวายที่จะไประลึก หรือว่าจะไปปฏิบัติอะไรทั้งสิ้น แต่ให้ทราบว่ามีความเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ พอที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิด ระลึกได้ไหม ไม่ใช่ว่าอยากให้สติเกิดมากๆ อยากรู้มากๆ แต่ว่าไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เพียงขั้นการฟัง นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูก ปัญญาต้องตามลำดับ แล้วปัญญาละ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง เราอาจจะไม่เคยรู้เลย ว่าที่มาฟังเรื่องของพระธรรมที่จะให้เข้าใจขึ้น ละหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ละ เราไม่มาหรอก เรื่องอะไรที่จะมานั่ง เสียเวลาเป็นวันๆ เป็นเดือนๆ เป็นปีๆ อ่านแล้วอ่านอีก ฟังแล้วฟังอีก แต่เพราะเห็นประโยชน์ ว่าเป็นทางที่จะทำให้ มีความรู็ลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็ละ เพราะปัญญารู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ โดยที่เรายังไม่เห็นเลยว่าเราละ แต่เริ่มละจากการที่ ไม่มีหิริ ในการที่จะไม่ฟังธรรม เพราะว่าคนที่ไม่ฟังพระธรรม หรือว่าเวลาที่ อกุศลจิตเกิด จะไม่รู้สึกเลยว่า ขณะนั้นมี อหิริกะ อโนตตัปปะ ไม่ละอาย แม้แต่ที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นประโยชน์แล้วฟัง ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็น หิริ โอตตัปปะ ระดับ ๑ ซึ่งไม่ใช่เราละอาย ถ้าเราละอายจะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง แต่สภาพธรรม ที่ละอายในสิ่งซึ่งเป็น อกุศลในความไม่รู้ เริ่มที่จะเห็นประโยชน์ แล้วก็มีกุศลจิตขั้นการฟังเพิ่มขึ้น แล้วก็การเข้าใจเพิ่มขึ้น นั่นเป็นหน้าที่ของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น หิริ โอตตัปปะ หรือแม้แต่เจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิกอื่นๆ ก็จะ ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย จากความรู้ความเข้าใจ เป็นเรื่องของการอบรม ความรู้แท้จริง ซึ่งตัวเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รู้แค่ไหน หรือไม่รู้แค่ไหน ต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมปรากฏ ขณะนี้สภาพธรรมทั้งหมด ทางตาก็เป็นสภาพธรรม มีความรู้ มีความเข้าใจในสิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน นี้จึงจะเป็นการรู้จุดประสงค์ของการศึกษา ว่าไม่ใช่ศึกษาเพียงฟังเรื่องราว แต่ให้รู้สภาพธรรมจริงๆ ที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติ

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า ขันธ์ ๕ ของแต่ละขันธ์ ที่เขาได้สะสมไว้ในอนันตชาติ คือขันธ์ ๕ ของขันธ์อันนั้น ถูกไหม ไม่มีการเปลี่ยนขันธ์ ขันธ์ของคนที่ชื่อสุรีย์ ต่อไปอาจจะเป็นนกเป็นกา แต่ก็คือขันธ์อันนี้ ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ นับ ๕ ด้วยหรือเปล่า หรือว่า ๔

    ผู้ฟัง ขันธ์ ๕ หรือ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นคุณสุรีย์ นับ ๔ หรือนับ ๕ ที่จะเป็น ตัวตนสืบต่อไปชาติหน้า

    ผู้ฟัง มีขันธ์ ๑ ก็มี ๒ มี ๓, ๔

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเราจะเข้าใจลักษณะของจิต ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตรปัจจัย อนัตรปัจจัย หมายความว่า สภาพนี้เมื่อดับไป ต้องเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม คือจิต และเจตสิกเกิดต่อ แสดงให้เห็นว่าจะมีจิตซ้อนกัน ๒ ขณะไม่ได้ จิต ๑ ต้องดับไป เพราะฉะนั้น ในแต่ละคนก็มี ๑ ทีละ ๑ ทีละ ๑ ทีละ ๑ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ แต่รูปไม่เกี่ยว เพราะว่ารูปเกิดจากกรรม อย่างชาติหน้า เราจะเกิดเป็นใครก็แล้วแต่กรรมหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด รูปนี้ไม่ได้ติดตามไปเป็นของเราอีกต่อไป แต่การสะสมของจิต เจตสิก ก็จะสืบต่อจาก ๑ ขณะไปอีก ๑ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ใน ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือในแสนโกฏิกัปป์ ไม่ใช่ว่า เราทุกคนไม่เคยเกิด เกิดมาแล้วทั้งนั้นแล้วก็เห็น แล้วแต่ว่าชาติก่อนนี้เห็นอะไร ชาตินี้เห็นอะไร ชาติหน้าจะเห็นอะไรก็เป็นเรื่องของการสะสมโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าทางฝ่ายกุศลทั้งหมด ในขณะหนึ่งซึ่งจิตขณะนี้มีอะไร เมื่อดับไปก็สืบต่อถึงขณะต่อไปด้วย เนิ่นนานมาแล้ว

    ผู้ฟัง หมายความว่า สิ่งที่จะยั่งยืนก็คือจิต เจตสิก แต่รูป นั้นอาจจะเปลี่ยนไป

    ท่านอาจารย์ อย่าใช้คำว่า ยั่งยืน ได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นอีกชาติหนึ่ง ต่ออีกชาติหนึ่งสะสม

    ท่านอาจารย์ ไม่ หนึ่งขณะเกิดเมื่อมีปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีจิต รอที่จะเกิด หรือว่ามีจิตเกิดได้โดยไม่มีปัจจัย อย่างจิตได้ยินอย่างนี้ เมื่อกี้ไม่มีเงียบ แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้ยินแล้วดับ เมื่อจิตได้ยินดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าย่อยชีวิตของเราออกมาเป็นหนึ่งขณะจิต ทุกคนก็จะมีจิตเพียงหนึ่งขณะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร เกิดขึ้นทำกิจอะไร เช่น ในขณะเห็นขณะนี้ก็เป็นจิตขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น ไม่ได้ทำหน้าที่อื่น ไม่ได้คิดนึก เป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้ เพียงเห็น แล้วก็ดับ แต่ขณะที่ได้ยินก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่ง ซึ่งสืบต่อ จากจิตซึ่งเกิดดับ แล้วแต่ว่าจิตแต่ละขณะ เกิดดับทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง การเรียนต้องเรียนถึง ๓ ขั้น ใช่ไหม ขณะนี้เรามาเรียนแต่ปริยัติกัน

    ท่านอาจารย์ เรียนปริยัติ เข้าใจอะไร จากปริยัติ คนที่มาฟัง แล้วบอกว่าเรียนปริยัติ เข้าใจอะไรจากปริยัติที่เรียน เข้าใจว่าอะไร ต้องมีสิ่งที่เข้าใจ ถ้าเรียนแล้วไม่เข้าใจเลยไม่มีประโยชน์

    ผู้ฟัง เรียนรูปเรียนนาม เรียนจิต เรียนเจตสิก กันอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อยู่อย่างนี้ เอาคนเดียวที่พูด เรียนปริยัติเพื่อเข้าใจอะไร เข้าใจจิต เข้าใจเจตสิก เข้าใจรูป ว่าเป็นอย่างไร เข้าใจจิตว่าเป็นอย่างไร เข้าใจเจตสิกว่าเป็นอย่างไร เข้าใจรูปว่าเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจไปถึงขั้น พระไตรลักษณ์

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าให้เข้าใจ ความเป็นอนัตตาใช่ไหม เพราะฉะนั้น มีใครปฏิบัติ ถ้าเข้าใจความหมายของอนัตตาแล้ว มีใครปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ทุกคน ก็ต้องปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจ อนัตตา หมายความว่า ไม่มีใครเลย นอกจากจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เจตสิก ๘ องค์ คือ สัมมาทิฏฐิ หมายความถึงปัญญา มีหรือเปล่า ถ้าไม่มีแล้วจะอะไรปฏิบัติ ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของปัญญา อะไรปฏิบัติ ก็โลภะ กับ อวิชชา เพราะไม่รู้ และต้องการ เพราะฉะนั้น การศึกษาปริยัติ หมายความว่า เราเข้าใจสิ่งที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือไม่มี ใครปฏิบัติ แต่ต้องเป็นเจตสิก ๘ องค์ ๘ ชนิด หรือว่า โดยปกติ ๕ อย่าง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ใช่เราเลย ขณะนี้ สติเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเราตั้งใจฟัง ก็มีสติฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นสติ และโสภณธรรมอื่นๆ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ไม่มีเรา แม้แต่การปฏิบัติก็ให้ทราบว่า เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ๘ ทั้งๆ ที่เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ชนิด แต่เฉพาะเจตสิก ๘ นี้เท่านั้น ที่เป็นมรรค เป็นทางที่จะนำไปสู่ การเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่มีเราปฏิบัติ เมื่อเข้าใจสภาพธรรม นี่คือประโยชน์ ของการศึกษาปริยัติ ให้เข้าใจว่าไม่มีเรา ปฏิบัติ

    ผู้ฟัง ต้องให้เป็นไปถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจขึ้น นี่คือการอบรมปัญญา เพราะฉะนั้น ญาณ คือความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งอาศัยการฟัง แล้วก็มี ความเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ญาณ คือความรู้ที่ถูกต้อง และเข้าใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ใช่เราปฏิบัติด้วย ถ้าเราปฏิบัติไม่ถึง อย่างไรก็ไม่ถึง

    ผู้ฟัง จะรู้ได้อย่างไร ได้ญาณ ๑๖

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว ปัญญาเป็นสภาพที่รู้หรือไม่รู้ ปัญญาเป็นสภาพที่รู้หรือไม่รู้

    ผู้ฟัง ปัญญา เป็น สภาพที่รู้

    ท่านอาจารย์ อวิชชา เป็นสภาพที่รู้หรือไม่รู้

    ผู้ฟัง ที่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้เป็น อวิชชา หรือเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง คนที่ไม่รู้ก็เป็นอวิชชา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่รู้เป็นปัญญาใช่ไหม เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัญญาแล้ว รู้หรือไม่รู้

    ผู้ฟัง รู้ แล้วเรากำลังศึกษากันเวลานี้ก็ให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ตอนนี้เราก็เข้าใจ ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เข้าใจ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่เข้าใจแล้วจะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องศึกษา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปปฏิบัติ

    ผู้ฟัง แล้วก็ไม่ปฏิบัติ ได้ปริยัติอย่างเดียว ก็ไม่ได้ปฏิเวธ

    ท่านอาจารย์ ถ้าความเข้าใจมีระดับขั้นปริยัติแล้ว จะให้ไปถึงขั้นปฏิบัติ โดยที่ความเข้าใจก็ยังมีเพียงแค่นี้ แล้วจะข้ามไปถึงขั้นโน้นได้ไหม เรียนชั้นอนุบาล แล้วจะให้ไปเรียนแพทย์เลยได้ไหม อยากเรียนแพทย์ แต่กำลังอยู่อนุบาล แล้วบอกว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นหมอ ทำอย่างไรถึงจะเป็น สถาปนิก โดยไม่เรียน

    ผู้ฟัง กำลังจะไต่ขึ้นมา ป. ๑ ก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องปฏิบัติเลย เป็นเรื่องเข้าใจขึ้น ในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม หมดหวังเรื่องญาณ ๑๖ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง หมายความว่าก็เรามาศึกษานี้ หมายความว่าเราก็มาเข้าใจ ทำความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น มันก็จะต้องถึงเอง

    ท่านอาจารย์ ที่หวัง เป็นโลภะ หรือเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่หมดโลภะ

    ผู้ฟัง คนเราที่จะหมดโลภะได้ ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่หมายความว่า เวลาที่หวังว่าเราจะได้ญาณ ๑๖ โดยไม่รู้

    ผู้ฟัง เป็นอวิชชา

    ท่านอาจารย์ ยังหวังอยางนั้นอยู่หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่หวังแล้ว

    ผู้ฟัง ผมขออนุญาตเสริมต่อ นิดหนึ่ง โดยถามท่านอาจารย์ ว่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567