ปกิณณกธรรม ตอนที่ 528


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ สภาพการปรุงแต่งของธรรมทั้งหลาย จะปรุงแต่งให้ขณะนั้น อะไรเกิดขึ้น ถ้าย่อยชีวิตออกมา เป็นเหลือขณะจิตหนึ่ง จะเห็นความเป็นอนัตตา ว่าจิตต้องเกิดเพราะมีเจตสิกปรุงแต่งเกิดร่วมด้วย ใครก็ทำให้ธรรมชาติชนิดนี้เกิดไม่ได้ ทั้งจิต และเจตสิก ต้องมีปัจจัยหรือเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดแล้ว ใครทำอะไรได้ นอกจากรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม หรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ และเข้าใจลักษณะของธาตุรู้ เพิ่มขึ้นโดยการที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ทั้งนามธรรม และรูปธรรมด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะธาตุรู้อย่างเดียว จนกระทั่งรู้ความจริง เพราะว่าจริงๆ แล้ว พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องปัญญา มีความเห็นถูกต้อง ถ้าความเห็นถูกต้องจริงๆ ก็คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ถูกตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    สำหรับคนใหม่ๆ อาจจะรู้สึกว่าการจำชื่อจิต คงจะยาก แต่ความจริงไม่ยากเลย เพราะว่าเราจะต้องทราบว่า จิตแบ่งเป็นประเภทอย่างไร เพราะว่าจิตมีถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท แล้วก็สำหรับจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พวกนี้ก็มี ๕๔ ดวง เป็นไปในกาม เป็นกามาวจรจิต ใน ๕๔ ดวง ก็แบ่งเป็นประเภท คือ เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เริ่มด้วยโลภมูลจิต ๘ ดวง เพราะว่าถ้าเราไม่ศึกษาตามลำดับแยกอย่างนี้ เราก็จะไม่ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมที่ควรรู้อย่างยิ่งก็คือ อกุศล เรื่องของกุศลก็เป็นเรื่องที่เกิดน้อยกว่าอกุศลในวันหนึ่งวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เห็นอกุศล ว่าเป็นอกุศล เราก็ไม่ละ หรือว่าไม่เห็นว่าเป็นโทษ แล้วสำหรับอกุศลประเภทแรก คือ โลภมูลจิต ซึ่งประเภทแรกอีกที่สำคัญมากก็คือ ทิฏฐิคตสัมปยุต แสดงให้เห็นว่าโทษมาก แล้วมากก็คือว่า ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องจิตประเภทหนึ่ง ประเภทใดก็จะแสดงว่าจิตประเภทนั้นเกิดร่วมกับเวทนา หรือความรู้สึกอะไร เพราะฉะนั้น จะมีคำว่า โทมนัสสสหคตัง หรือว่า โสมนัสสสหคตัง หรือ อุเบกขาสสหคตัง สหคตังก็เป็นไปด้วยกับเวทนานั้นๆ เวลาที่เกิดโสมนัส สภาพธรรม ทั้งหมดก็ปลาบปลื้มเป็น สุข เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิด เจตสิกทั้งหลาย และจิตที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นทุกข์เศร้าหมองหดหู่ ไม่ใช่เป็นจิตที่เบิกบาน

    เพราะฉะนั้น การที่จะจำเรื่องจิตให้ทราบว่าลืมเรื่องของเวทนาไม่ได้ จะต้องรู้ด้วยว่าจิตนั้น เกิดร่วมกับเวทนาอะไ รสำหรับโลภมูลจิต ก็จะเกิดร่วมกับเวทนาได้เพียง ๒ อย่าง คือ โสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ซึ่งธรรมดาโสมนัสเวทนาก็เป็นเวทนาที่มีกำลังมากกว่า อุเบกขาเวทนา แล้วสำหรับโทสมูลจิตก็จะเกิด ร่วมกับ โทมนัสเวทนาเท่านั้น จะเกิดกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนาไม่ได้ นี่ก็เป็นการแสดงความจริงของธรรม โดยเหตุโดยผลซึ่งก็จะพิจารณาเห็นได้ โดยที่ว่า ไม่ต้องไปท่อง ไม่ต้องไปจำ เพราะว่าชีวิตของเราขณะที่เกิดยินดี พอใจ ติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด บางครั้งก็เป็นอุเบกขา บางครั้งก็เป็นโสมนัส แต่เวลาที่เกิดความขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่น ไม่พอใจ สภาพของเวทนาในขณะนั้น ก็จะเป็นอุเบกขา หรือจะเป็นโสมนัสไม่ได้เลย ต้องเป็นโทมนัสอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ยาก อย่างเวลานี้ ที่เห็น อะไรเป็นความรู้สึกที่ เกิดในขณะนั้น หรือว่าเวลาที่เกิดความติดข้องขึ้น ความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอะไร ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิต เป็นเจตสิกซึ่งรู้สึก แล้วก็เวลาที่เห็นถ้าไม่มีเวทนาเจตสิกเลย เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ ไม่เดือดร้อน ไม่ติดข้องอะไรทั้งนั้น แต่เพราะเหตุว่ามีสภาพที่รู้สึก ซึ่งสภาพที่รู้สึกทุกคนก็ต้องการ ความรู้สึกที่เป็นโสมนัสแน่นอน ติดข้องในโสมนัสเวทนา แต่ถ้าไม่เป็นโสมนัสเวทนา อุเบกขาก็ยังดี ใช่ไหม แต่ว่าที่ไม่ชอบคือ โทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้น แล้วรู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใด อะไรเป็นความสำคัญในขณะนั้น ต้องเป็นเวทนาเจตสิก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็กล่าวอยู่เสมอว่า อะไรจะเกิด ธรรมอะไรจะเกิด สติก็ระลึกอันนั้น แต่ดิฉันลองมาคิดๆ ดู เจตสิก ๗ ดวง สัพพจิตสาธารณะ เกิดกับจิตทุกดวง และใน ๗ ดวง จะเป็นไปได้ไหมว่าเวทนาจะระลึกได้มากที่สุด

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการเจาะจง

    ผู้ฟัง ใช่ แต่ได้กล่าวแล้วว่า ท่านอาจารย์ก็กล่าวอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เกิดกับจิตทุกดวง แล้วเวทนาก็มีถึง ๕ อย่าง เพราะฉะนั้น ดิฉันมีความคิดว่า ใน ๗ ดวง เวทนาน่าจะเป็นตัวที่ระลึกได้มากกว่าเพื่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ บางคนระลึกรู้รูป บางคนระลึกรู้จิต

    ผู้ฟัง เพราะอย่างผัสสะ ก็รู้ว่ายากแน่ อะไรต่างๆ ก็ยาก แต่เวทนา คิดว่าทุกคนน่าจะระลึกได้มากกว่า

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณบง ระลึกเวทนาหรือยัง

    ผู้ฟัง เวทนา มันจะเกิดอยู่เรื่อย ถึงแม้จะมีตัวตนที่ระลึกก็เป็นเวทนามากกว่า ที่จะไประลึกถึงมนสิการะ ชีวิตินทริย อะไรอย่างนี้ คิดว่าเวทนา

    ท่านอาจารย์ อันนั้นเป็นชื่อที่ระลึก ไม่ได้แน่ ถ้าสติไม่เกิด แล้วไม่ระลึก ใครก็ไประลึกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราได้ฟังคำภาษิตของใคร เราคิดว่าไพเราะมาก ถูกต้อง แต่ว่าของใคร ของผู้ที่มีกำลังมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มีความเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ แต่เวลาที่คนอื่นเรียนหรือว่าฟังมา แล้วก็พยายามที่จะทำตาม โดยที่ไม่ใช่ความรู้สึกของคนนั้นจริงๆ ไม่ใช่ความเข้าใจของคนนั้นจริงๆ ผิดกัน เพราะฉะนั้น ภาษิตของพระเถระ หรือพระเถรีทั้งหลาย เกิดจากปัญญาของท่าน ความเข้าใจของท่าน สภาพจิตของท่านในขณะนั้น จึงได้กล่าวคำที่ซาบซึ้งสำหรับท่าน สำหรับคนอื่นแต่ว่าเวลาที่คนอื่นฟัง เมื่อไม่ใช่สติปัญญาของตนเอง ความซาบซึ้งมีจริง แต่ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่เพียงแต่จะยกคำขึ้นมาเพราะๆ แล้วก็รู้สึกว่าดี แต่ทำไม่ได้

    ผู้ฟัง เรื่องเสียง มันเป็นวิบากกรรมเหมือนกัน คือวิบากกรรมที่ทำให้ฐานกร คือที่เกิดของเสียง มันไม่ดี ผมก็มีอกุศลวิบากตรงนี้มาก พูดไปๆ บางที่เราไม่ได้เจตนาที่จะไปพูดอะไร กระทบกระทั่ง หรือก้าวร้าว เสียดสีใคร แต่มันออกไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าผมละอันนี้ได้ สงสัย ผมจะสบายมากเลย

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ที่เราได้ฟังเรื่องเสียง ต้องมีแน่ มีหลายอย่างในชีวิตของเรา ซึ่งทั้งดีทั้งชั่ว เราจะเป็นคนดีพร้อมคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกิเลส มีอกุศล ต้องมีโลภะซึ่งไม่ใช่ดีแน่ ต้องมีโทสะซึ่งไม่ดีแน่ ต้องมีโมหะซึ่งไม่ดีแน่ และยังมีอกุศลอื่นอีกมากมาย แต่ประโยชน์ คือ ขณะที่ได้รับฟัง ก็พิจารณาเพื่อที่ว่าเราจะแก้ไข ต่อไปเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเรามีเสียงซึ่ง แม้ว่าเสียงเราจะฟังดูเพราะ แต่ถ้าอารมณ์เราไม่ดี ก็จะเป็นอีกจังหวะหนึ่ง ซึ่งก็ไม่น่าฟัง เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงสิ่ง เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรที่จะผ่าน ไม่ใช่ว่านี่ไม่ใช่ธรรม เราอยากฟัง ปรมัตถธรรม นี่คือปรมัตถธรรม ความจริงเป็นเรื่องละเอียดที่จะรู้จักตัวเอง จริงๆ โดยละเอียดขึ้น แล้วถ้าเห็นโทษของตัวเอง เห็นความไม่ดีของตัวเอง เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่า เราจะแก้ แล้วเราไม่ใช่จะแก้ แต่สิ่งใหญ่ๆ แม้แต่สิ่งเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ถ้าเราเห็นประโยชน์จริงๆ เราก็ไม่ละเลย เพราะว่าทั้งหมดต้องหมด คือกิเลสทั้งหมดไม่ว่าจะประเภทใดทั้งสิ้น ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ต้องหมด ก็เริ่มที่จะค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไข อบรม เจริญธรรมฝ่ายดี ตลอดชีวิต ถ้าเป็นไปได้ เพราะว่าไหนๆ เราก็มีโอกาสที่ได้ฟัง พระธรรมซึ่งชาติก่อนจะได้ฟังมาแล้วเท่าไร แล้วชาติหน้าจะได้ฟังอีกหรือเปล่า แต่ว่าชาตินี้เป็นชาติที่เราสามารถที่จะอบรมทุกอย่าง จากการที่ได้ยินได้ฟังเป็นสาวก แม้ว่าจะยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ขอเป็นผู้ฟังจริงๆ คือฟังแล้ว ประพฤติปฏิบัติ ตามด้วย เพราะว่าบางคนฟังมาก ความรู้มาก แต่ไม่เคยคิดที่จะประพฤติปฏิบัติ ตามเลยสักโอกาสหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เตือนตัวเองเสมอ รู้ว่าสุดชีวิตคือทำความดีเท่าที่จะทำได้ แม้ว่ายังมีกิเลส เราจะเอากิเลสของเราออกไปหมด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะพูดพระไตรปิฎก วันนี้ทั้งคืน กิเลสเราก็ไม่หมด แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะเห็นประโยชน์ เราศึกษาเพื่ออะไร ไม่ใช่ศึกษาเปล่าๆ เป็น โมฆะ แต่ศึกษาเพื่อที่จะพยายามทำทุกอย่างที่จะทำได้ แม้ยังมีกิเลสอยู่ แต่ก็จะทำในสิ่งที่ดี ทั้งหมดตั้งแต่ละความชั่ว ประพฤติดี ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพราะว่าบางคนอาจจะมุ่งเพียงว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด เมื่อไรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม หวังสูงมากเลย แต่ความชั่วแม้เล็กน้อยละหรือยัง ความดีแม้เล็กน้อยทำหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ต้องไปถึงว่าชำระจิต ให้หมด เพราะว่าถ้าทำทุกอย่างประกอบกันไปก็คงจะต้องถึงในวันหนึ่ง

    ผู้ฟัง ผมปฏิบัติสมถภาวนา คือการเพ่ง การทำให้จิตใจเป็นหนึ่ง กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นลักษณะของสมาธิ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นสามธิ

    ท่านอาจารย์ สมาธิ มี ๒ อย่าง สัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิ ขณะใดที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิ เมื่อไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นมิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า กุศลในพระพุทธศาสนา หรือกุศลทั่วไป ในโลกนี้ ก็จะมีระดับทั่วๆ ไปคือขั้นทาน ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน ก็มีการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ด้วยใจที่มุ่งที่จะให้ผู้รับได้ประโยชน์จริงๆ นั่นเป็นกุศลขั้นทาน กุศลขั้นศีล คือ วิรัติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ที่จะไม่ทำความเดือดร้อนให้ใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา นั่นคือขั้นศีล แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น ที่เห็นว่า แม้ว่าจะมีการให้ทาน หรือว่าการวิรัติทุจริต แต่วันหนึ่งก็ไม่ได้มีการให้อยู่เสมอ หรือว่าไม่มีการวิรัติทุจริตอยู่เสมอ จิตเป็นอกุศลตลอดเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด แล้วเรามีปัญญาอย่างนั้นไหม ที่จะเห็น โทษของอกุศล

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มี ไม่มีการเจริญสมถะ แต่มีการทำสมาธิ ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะฉะนั้น ที่ทำมาแล้วทั้งหมดเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็น เป็นมิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ มิจฉาสมาธิ ต้องขออนุโมทนา ถ้าเห็นจริงๆ ว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องจริง ที่จะต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องความละเอียด เป็นกุศลที่สูงกว่าขั้นทาน และศีล ไม่ใช่ว่าใครอยากสงบก็คิดว่าตัวเองไปนั่ง เพ่ง แล้วก็สงบแล้วก็เป็น กุศล แต่ถ้าเป็นสมถภาวนาจริงๆ ต้องเป็นกุศลซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นทาน ขั้นศีล แต่ต้องสูงกว่านั้นที่จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ สามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วจึงค่อยๆ ละอกุศลจิต แต่ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งเกิดสลับกันอย่างเร็วก็ไม่ทีทางที่จะไปละ อกุศลจิตได้

    ผู้ฟัง ก็มีคำถามที่ ๒ หลังจากพยายามระลึกมาสักระยะหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ระลึกอะไร

    ผู้ฟัง ระลึกสภาพความเป็นนามรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เป็นเรื่องไปพยายามทำเลย ต้องขอให้ทราบว่าเป็นการอบรมความรู้ สิ่งที่เป็น นามธรรม รูปธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่ไปนั่งทำ ขณะนี้มีความรู้ ความไม่รู้ในนามธรรม และรูปธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้วทำอย่างไรถึงจะค่อยๆ รู้

    ผู้ฟัง อบรม

    ท่านอาจารย์ อบรมโดยวิธีไหน

    ผู้ฟัง โดยการระลึก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่

    ผู้ฟัง โดยการฟัง

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจขึ้น เมื่อเข้าใจขึ้นก็ละความไม่เข้าใจไป ตั้งแต่ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีเราที่จะระลึก แล้วก็จิต เจตสิก รูป ก็คือขันธ์ ๕ ที่ได้ยินบ่อยๆ ต้องให้สอดคล้องกันด้วย เมื่อศึกษาธรรมส่วนหนึ่งส่วนใดแล้ว ต้องสามารถประกอบกันให้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะศึกษาต่อไปในพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา จะได้มีคำอีกมาก เช่น โภชฌงค์ หรือว่าปฏิจจสมุปบาท หรืออะไรก็ตามแต่ อายตนะ ธาตุ ต้องไม่พ้นจากปรมัตถธรรม คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ว่าหมายความถึงปรมัตถธรรมอะไร เพราะว่าก็คือปรมัตถธรรม โดยหลากหลายขึ้นให้เห็นความเป็นอนัตตา แม้แต่ว่าเมื่อกล่าวถึงปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็น สังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เป็นสังขารธรรม เพราะว่าถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ด้วยว่า ทำไมถึงต้องให้รู้เรื่องของขันธ์ ๕ ด้วย ขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม อะไรไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรมอะไร อาจจะยากหน่อยเพราะว่าอาจจะยังไม่เคย ฟังเรื่องชื่อ ทราบไหมชื่อของขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    ท่านอาจารย์ นี่คือ ความคิดที่เราคิดว่าเราเข้าใจ เพียงได้ยินมาว่าขันธ์ ๕ มี ๕ ชื่อ ๕ ชื่อนี้แน่นอน คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม อะไร ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ รูป เป็นรูปขันธ์อย่างเดียว นี่แสดงให้เห็นว่าปรมัตถธรรม ๓ คือจิต เจตสิก รูป ทำไมทรงแสดงโดยขันธ์ ๕ หมายความว่า รูปขันธ์ หรือรูปธรรมจะต้องเป็นรูปธรรมเท่านั้นเป็นอื่นไม่ได้ รูปไม่มีทางที่จะเป็น นามธรรม ๑ นามธรรมใดได้เลย นามธรรม ๑ นามธรรมใดก็จะเป็นรูปธรรมไม่ได้ นี้คือความต่างกันของ ๑, ๑, ๑ คือจิต๑ เจตสิก๑ รูป๑ นิพพาน๑ ปะปนกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารูปในอดีต นานแสนนานมาแล้ว ที่จะเกิดดับก็ยังคงเป็นรูป รูปขณะนี้ซึ่งกำลังเกิดดับก็เป็นรูป รูปที่จะเกิดต่อไปก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ มีการเกิดขึ้น และดับไป เป็นกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต

    การศึกษาต้องทราบ ที่เราจะมาระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ แต่ว่าฟังจนกระทั่ง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ คลายแล้ว ธรรมก็ทำหน้าที่ของธรรม คือสติมีหน้าที่ระลึก ไม่ใช่เรา เมื่อสติเกิด ผู้นั้นก็จะรู้ว่า หลงลืมสติหรือว่ามีสติ เพราะว่า เป็นลักษณะที่ต่างกัน เวลาที่สติไม่เกิดแม้ว่าธรรมมีก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่เวลาที่ธรรมมีแล้วสติเกิด ก็จะมีการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปทำไปปฏิบัติ หรือว่าไประลึก แต่ว่ามีความเข้าใจสภาพธรรมขึ้นจนกว่ามีปัจจัยที่สัมมาสติจะเกิดระลึกนั้นคือ ธรรมปฏิบัติหน้าที่ของธรรม ที่เป็นมรรค ๕ องค์ คือต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก มีสัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก แล้วก็ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ คือหน้าที่ของสภาพธรรม ทั้งหมดซึ้งขณะนี้กำลังทำหน้าที่อย่าง ๑ คือไม่ใช่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ขั้นฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟัง มีสติ จึงฟังเข้าใจ แล้วก็มีปัญญาด้วย ที่กำลังพิจารณาแล้วเข้าใจ ธรรมกำลังเป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่ารูปเท่านั้น เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก ๑ ประเภท เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ประเภทใน เจตสิก ๕๒ เป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าพูดถึงศรัทธาเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าใช้คำว่า เป็นสังขารขันธ์ ไม่มีทางที่เราจะทำ เพราะเป็นสังขารขันธ์ สติเป็นสังขารขันธ์ ศรัทธาเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ปัญญา ก็เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มีเจตสิกเยอะเลยที่กำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่การงาน เป็นสังขารขันธ์ กำลังปรุงแต่ง ความเข้าใจ จากระดับขั้นการฟัง ด้วยดี จึงสามารถจะเข้าจริงๆ ว่าไม่มีเราที่จะทำ แต่ขณะนี้ สภาพธรรม กำลังทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละขณะ เช่น ขณะที่เห็น เป็นจิตที่เกิดพร้อมเจตสิกเท่าไร นั่นคือสภาพธรรม ที่เป็นวิญญาณขันธ์ กับเวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์เกิดร่วมกัน เพราะเหตุว่านามขันธ์ ๔ แยกจากกัน ไม่ได้เลย ในขันธ์ ๕ รูปแยกไป มีรูปโดยไม่มี เวทนา สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญาณขันธ์ได้ แต่ว่าขณะใดที่นามขันธ์เกิดต้องครบ ๔ คือต้องมีทั้ง เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เมื่อเรียนอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ไม่มีการที่เราจะทำ หรือเราจะปฏิบัติ แต่เป็นการที่ค่อยๆ สะสมเข้าใจขึ้น แม้ขณะนี้ก็ไม่ใช่เรา แล้วก็เมื่อถึงเวลาใดที่สติเกิดเมื่อนั้นเป็นสัมมาสติที่เกิดพร้อมกับปัญญา

    ผู้ฟัง คิดว่าคงต้องค่อยๆ สะสมไป

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นจิรกาลภาวนา ใช้คำว่า จิระ แปลว่ายาวนาน กาล ก็เวลา ภาวนาก็เป็นการอบรม

    ทีนี้เราจะกล่าวว่าขณะนี้ สติเป็นสัมมาสติ ในมรรคมีองค์ ๘ หรือเปล่า ต้องมีความละเอียดขึ้น เพราะว่าสติเป็น โสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย จะไประลึกโน่น ระลึกนี่ ด้วยอกุศลจิตแล้วบอกว่าเป็นสติไม่ได้ ถ้าเป็นสติแล้วต้องเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับฝ่ายดี ไม่ว่าจะเป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาก็ตาม โดยเฉพาะสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน แล้วไม่ใช่สติในมรรคมีองค์ ๘ นี่คือความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน แต่จะต้องมีความเข้าใจถูกว่า สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท แม้แต่ขณะที่กำลังฟังในขณะนี้ ที่คิดว่ากำลังฟัง แล้วเข้าใจต้องพร้อมด้วย ศรัทธา สติ วิริยะด้วย สมาธิก็มี แล้วปัญญาก็มี

    แต่ตราบใดที่ไม่ใช่ขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่หนทาง แต่เป็นการภาวนาอบรมให้ปฏิบัติหนทางที่จะไปสู่มรรคผล ที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าแม้ว่าจะได้ยินคำว่า สัมมาสติ แต่ถ้าไม่มีการเข้าใจเลยว่า ขณะนี้กำลังอบรม ที่จะให้สัมมาสติเกิด เพราะว่าสัมมาสติ ไม่ใช่จะเกิดเองตามใจชอบ บางคนคิดว่าเกิดเอง โดยไม่ต้องมีการฟังเลย หรือว่าฟังไปแล้วก็เกิดเองก็ไม่ใช่ แต่ให้ทราบว่าเนื่องจากการฟัง ซึ่ง เป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งจนกระทั่งสัมมาสติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด แต่เมื่อสติปัฏฐาน ไม่เกิดก็ไม่ระลึก เพียงแต่ฟัง เข้าใจว่าเป็นธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความละเอียดที่จะฟังว่า ขณะใดเป็นสติปัฏฐาน ขณะใดไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นสติ เพราะสติต้องเป็นสติ ปัญญาต้องเป็นปัญญา เจตนาต้องเป็นเจตนา สภาพธรรมแต่ละอย่างต้องเป็นแต่ละอย่างจริงๆ

    เพราะฉะนั้น เราทราบว่าขณะนี้มีสติ แล้วถ้าเราฟังด้วยดี เราจะรู้ได้ว่าขณะนี้ เป็นสติปัฏฐาน หรือเปล่า ถ้าขณะใดที่สัมมาสติเกิดโดย ที่ว่าไม่ใช่เราจะทำ ไม่มีเจตนาที่จะทำ แต่เมื่อมีปัจจัย เพราะว่าปัจจัยที่กำลังเกิด เป็นสภาพธรรมขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ ปัจจัยเริ่มมานานแสนนาน ในแสนโกฏิกัปป์ ทุกขณะจิตเป็นปัจจัยสืบต่อ ไม่ว่าโลภะ ไม่ว่าโทสะไม่ว่าศรัทธา ไม่ว่าปัญญาทั้งหมด ไม่ใช่เพียงวันนี้ หรือเพียงในชาตินี้ แต่จะต้องมีการสะสมสืบต่อมา จนกระทั่งถึงขณะนี้ที่เกิด ถ้าขณะนี้มีสัมมาสติเกิดระลึกให้ทราบว่า ไม่ใช่เพียงฟังเมื่อกี้นี้ เมื่อเช้านี้ แต่จะต้องมีปัจจัยนาน ที่จะปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ให้ แม้ขณะที่กำลังฟังนี้เอง สัมมาสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วผู้ที่ฟังพระธรรมไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย ถ้าไม่มีปัจจัยสืบต่อมาที่จะปรุงแต่งให้เป็นสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567