ปกิณณกธรรม ตอนที่ 533


    ตอนที่ ๕๓๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕ ๔๓


    ท่านอาจารย์ ที่ไกลก็คือ กว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมครบทั้ง ๓๗ ประการที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ก็ ต้องเป็นเวลาที่นานมาก จะขาดโพธิปักขิยธรรมประการหนึ่งประการใดใน ๓๗ ประการไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ขอกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบ เป็นส่วนของการตรัสรู้ซึ่ง มี ๗ ประเภทคือ

    ๑. สติปัฏฐาน ๔

    ๒. สัมมัปปธาน ๔

    ๓. อิทธิบาท ๔

    ๔. อินทรีย์ ๕

    ๕. พละ ๕

    ๖. โพชฌงค์ ๗

    ๗. มรรค ๘

    ไม่น้อยเลย เพราะเหตุว่าจะต้องค่อยๆ อบรมไปจริงๆ

    ๑. สติปัฏฐาน ๔

    สำหรับโพธิปักขิยธรรม ประเภทที่ ๑ คือสติปัฏฐาน ๔ สติเป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมด้วย อาตาปี สัมปชาโน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐาน เป็นการระลึกลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ตามข้อความในพระไตรปิฎก แต่ว่าถ้าจะกล่าวถึงโดยทั่วๆ ไปก็คือว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่พ้นจากกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม แต่ที่ทรงจำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เพราะเหตุว่า เป็นสิ่งที่เคยยึดถือกายว่าเป็นเรา เวทนาว่าเป็นเรา จิตว่าเป็นเรา ธรรมว่าเป็นเรา หรือของเรา เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการระลึกรู้ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังระลึกนั้นว่า เมื่อไม่ใช่เรา สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร ซึ่งการที่จะมีความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นได้ ก็จะต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา

    ๒. สัมมัปปธาน ๔

    สำหรับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งมี ๗ ประเภทนั้น ไม่ขาดความเพียร หรือ วิริยะเลยสักประเภทเดียว นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของความเพียรในชีวิต เป็นสิ่งซึ่งทุกคนควรจะได้พิจารณาจริงๆ ว่าความเพียรที่มีในชีวิตประจำวันนั้น ส่วนใหญ่เป็นความเพียรในอกุศล หรือความเพียรในกุศล หรือเริ่มเป็นความเพียรที่จะเป็นฝักฝ่ายในการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สัมมัปทาน ๔ ได้แก่ความเพียรโดยตรงซึ่งมี ๔ อย่างคือ

    ความเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ๑

    ความเพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ๑

    ความเพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ๑

    ความเพียรให้กุศลธรรมที่เจริญที่เกิดแล้ว เจริญถึงความบริบูรณ์ ๑

    นี่ก็เป็นเรื่องของความเพียร ซึ่งขณะใดที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ความเพียรนั้นก็เป็น สัมมัปปธาน คือเป็นความเพียรชอบ ปธานคือความเพียร สัมมาคือชอบ เพราะฉะนั้น สัมมัปปธาน ๔ คือความเพียรชอบ เพราะเหตุว่าเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรให้กุศลธรรมที่เกิดแล้ว เจริญถึงความบริบูรณ์ ต้องเป็นเรื่องที่ค่อยๆ อบรมไป จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อใด โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ครบสมบูรณ์เมื่อนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็มีสัมมัปปธาน ๔ ร่วมด้วย

    ๓. อิทธิบาท ๔ คือ

    ฉันทะสมาธิปธานสังขาร๑

    วิริยะสมาธิปธานสังขาร๑

    จิตตสมาธิปธานสังขาร๑

    วิมังสาสมาธิปธานสังขาร๑

    ฉันทสมาธิปธานสังขาร คือมีฉันทะอันยิ่งคือเป็นอธิบดี สัมปยุตต์ด้วยสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเป็นประธานชื่อว่า ปธานสังขาร คำว่า ปธานสังขาร เป็นชื่อของความเพียร ส่วนอิทธิบาท ๔ ก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิต ปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นอิทธิบาท คือ เป็นธรรมซึ่งจะเป็นบาทที่ให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ๔. อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย

    ๕. พละ ๕ คือ ศรัธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ก็มีวิริยะรวมอยู่ด้วย

    ๖. โพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ คือ ๑.สติสัมโพชฌงค์ ๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๓.วิริยสัมโพชฌงค์ ๔.ปิติสัมโพชฌงค์ ๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ ๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ๗. มรรค มีองค์ ๘ คือ ๑.สัมมาทิฏฐิ ๒.สัมมาสังกัปปะ ๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ ๖.สัมมาวายามะ ๗.สัมมาสติ ๘.สัมมาสมาธิ

    สัมมาวายามะก็ได้แก่ความเพียร จะเห็นได้ว่าไม่ขาดความเพียร ในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ ประเภท

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านแม้ว่าจะได้ยินเพียงชื่อของโพธิปักขิยธรรม ก็จะต้องทราบว่าเป็นการอบรมปัญญา พร้อมด้วยธรรมอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายกุศลที่จะทำให้ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เราฟังเรื่องธรรม แล้วเราเริ่มเข้าใจลักษณะของธรรม แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่หมายความว่าจะรู้ลักษณะของธรรม เพียงแต่ว่าเริ่มเข้าใจ ขณะนี้มีวิตกเจตสิก มีวิจารเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีผัสสเจตสิก เรารู้อย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญญากำลังรู้ลักษณะที่เกิดขึ้นของผัสสเจตสิก หรือวิตกเจตสิก หรือเจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้น ความรู้ต้องมีหลายขั้น ความรู้ขั้นเข้าใจ และความรู้ขั้นที่ว่า ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็คือสติกำลังระลึก แต่ว่าถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็หมายความว่า เราคิดเอาว่าขณะนั้นเรารู้ลักษณะของสภาพนั้น สภาพนี้ เพราะเราอ่านมาว่าวิตกมีลักษณะอย่างนี้ วิจารมีลักษณะอย่างนี้ สัญญาเจตสิกมีลักษณะอย่างนี้ คือเราจำได้ จำว่านั่นเป็นลักษณะของวิตก หรือว่าลักษณะของสัญญา แต่ว่าถ้าสติไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นระดับของสมถภาวนา หรือระดับของวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาขั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าต่างขั้นกัน ถ้าเป็นลักษณะของสมถภาวนาจะไม่รู้ในความไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของจิตซึ่งเกิดดับเร็วมาก รู้จริงๆ ว่าขณะนั้น เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต เป็นกามฉันทนิวรณ์ หรือว่าเป็นพยายาทนิวรณ์ หรือเป็นนิวรณ์อื่นๆ เพราะเหตุว่า อกุศลทั้งหลายก็รวมลงในนิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างในขณะนี้ แล้วก็คิดว่าจะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นวิตก วิจาร แล้วคิดว่ามีในขณะนั้นจึงเป็นปฐมฌาน ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปเข้าใจว่าเป็นปฐมฌาน หรือใครที่คิดว่า การอบรมมเจริญสมถภาวนา บรรลุฌานจิตได้โดยไม่ยาก ผู้นั้นกล่าวผิดจากความจริง เพราะเหตุว่าแม้แต่ในวิสุทธิมรรค ก็กล่าวว่า การที่จะบรรลุอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ในบรรดาผู้ที่ได้อบรมเจริญกุศลระดับขั้นของสมถะ ในร้อยคนพันคน ที่จะได้อุคคหนิมิตก็ ๑ คน แล้วก็ในร้อยคน พันคน ที่จะถึงปฏิภาคนิมิตก็ ๑ คน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะคิดว่า การอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นสมถภาวนานั้นจะถึงฌานจิตโดยง่าย

    ต้องทราบความหมายของสมถะ ที่ใช้คำว่าสมถะคืออะไร สมถะไม่ใช่สมาธิ สมาธิคือเอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ แต่สมถะเป็นความสงบของจิต กายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ เป็นเจตสิกที่เป็นฝ่ายโสภณธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เอกัคคตาสมาธิซึ่งเกิดได้ทั้งอกุศลจิตรึกุศลจิต นี่เป็นความต่างกัน ไม่ใช่ว่าใครไปนั่ง ทำ จ้อง หรือว่าบริกรรม หรือนึกถึงอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด แล้วขณะนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่เลย ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา แล้วก็เห็นโทษของอกุศล โดยเฉพาะคือโลภะ ความติดข้อง เพราะเหตุว่า เราเกือบจะไม่รู้ตัวเลย ถ้าไม่ได้ศึกษาว่า หลังจากที่เห็นแล้ว โลภะเกิดต่อ มีความติดข้องในสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้น ตลอดวัน โลภะจะมากหรือว่าโทสะจะมาก ผู้ที่เห็นโทษของโลภะ ความติดข้องจึงเจริญสมถภาวนา ผู้ที่เห็นโทษของอวิชชาก็เจริญสติปัฏฐาน นี้เป็นสิ่งที่ทำให้มีการประพฤติปฏิบัติ ๒ อย่าง แต่ต้องเข้าใจว่า สมถภาวนาไม่ใช่ว่า เราจะต้องไปนั่งทำอย่างนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นสงบ จะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ว่าความสงบในขณะที่กุศลจิตเกิดเพียงเล็กน้อย ไม่ปรากฏลักษณะของความสงบ เพราะเหตุว่าสั้นมาก เวลาที่กำลังเป็นกุศล ชั่วขณะสั้นๆ ก็เห็นแล้ว แล้วก็เป็นกุศลอีกเล็กน้อย แล้วก็เห็นอีก ได้ยินอีก

    เพราะฉะนั้น ก็สลับกับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กุศลนั้นไม่มั่นคง ลักษณะของความสงบจึงไม่ได้ปรากฏ แต่ถ้าเป็นความสงบอีกระดับหนึ่ง คือถึงขั้นที่สงบจริงๆ ก็จะปรากฏลักษาณะของความสงบ ซึ่งเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวัน อย่างการศึกษาพระธรรม การเข้าใจพระธรรม การเห็นประโยชน์หรือคุณของพระธรรม ขณะที่กำลังเป็นอย่างนั้นสงบไหม พุทธานุสติ แล้วเรามีปัญญาระดับไหน เรามีปัญญาระดับที่จะให้อุปจารสมาธิเกิดไหม แม้ว่าระลึกถึงพุทธานุสติก็ยังไม่ถึงสำหรับคนที่ไม่มีปัจจัยที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคล การเห็นพระคุณต่างกัน ความสงบของจิตต่างกัน ตั้งแต่ยังไม่เป็นพระอริยะ ค่อยๆ สงบขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะของความสงบก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นกุศลนั่นเอง แต่ว่าจะเป็นกุศลในประเภทไหน เพราะว่ากุศลมีหลายอย่าง

    เพราะฉะนั้น กุศลทุกชนิดสงบ แล้วแต่ว่าจะสงบมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นไปในทาน ก็จะเห็นได้ว่าน้อยมากสั้นมาก เพราะเหตุว่ามีเจตนาให้ แต่ว่ากว่าจะสำเร็จบางทีก็มีอกุศลแทรกแซงเสียมากมาย ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ทานไม่ได้ทำให้จิตสงบ เหมือนกับการที่ว่าระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นกุศลเพิ่มขึ้น แล้วก็เห็นโทษของความโกรธ แล้วก็รู้ว่าลักษณะของเมตตาต่างกับความโกรธ มีปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิด ขณะนั้นก็คือความสงบ เป็นสมถะในชีวิตประจำวัน การระลึกถึงความตาย แล้วก็รู้ว่าทุกคน ต้องเกิดมา หนีความตายไม่พ้น วันหนึ่งก็ต้องตาย เพราะว่าเกิดมาเพื่อจะตาย แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย ถ้ากุศลจิตเกิดก็เป็นสิ่งที่สมควรมากกว่าที่จะเป็นอกุศล ขณะนี้จิตก็สงบ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสมถะ ไม่ได้มีการรังเกียจสมถะ เพราะว่าเป็นกุศลชนิดหนึ่งซึ่งควรเจริญ แต่ว่าบุคคลในยุคนี้สามารถจะเจริญถึงขั้นฌานจิตหรือเปล่า แม้ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่ใช่ว่าบรรลุพร้อมกับความสงบถึงระดับขั้นของอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต แสดงไว้เลยว่า ผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมด้วยความสงบของจิตระดับขั้นของอัปปนาสมาธิมีน้อยกว่า ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่ประกอบด้วยความสงบของจิตถึงระดับขั้นของอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น เราก็รู้จักตัวเราตามความเป็นจริง แล้วก็ไม่ใช่ว่ารังเกียจสมถะ แล้วก็รู้ด้วยว่าสมถะ คืออะไรอย่างถูกต้อง เพราะว่าสมถะ ไม่ใช่สมาธิ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าคนที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์จึงเจริญได้ ถ้าไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์เจริญไม่ได้เลย เป็นมิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง การทำสมถะ เป็นญาณสัมปยุตต์ หรือญาณวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็น ญาณสัมปยุตตเท่านั้น ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง แต่สมาธิ เป็นวิปปยุตต์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สมาธิ เป็น เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ ตามความเป็นจริง เกิดกับจิตทุกดวง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่สมถะ แล้วสมถะ เป็นญาณวิปปยุตต์หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สมถภาวนาเป็น ญาณวิปปยุตต์ไม่ได้ ภาวนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ต้องเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์

    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาธรรมเพื่อจะให้คลายความยึดมั่นเป็นตัวตน แต่ก็ยังติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางโลกอยู่ ควรจะเลือกทางเดินอย่างไร ระหว่าง ข้อที่ ๑ พยายามห้ามใจตัวเอง ไม่ให้เข้าใกล้ หรือเสพสิ่งที่จะทำให้เราจะต้องติดข้องทางรูป เสียง กลิ่น รสอยู่ ซึ่งทางนี้ก็อาจจะให้เราเป็นการป้องกัน ไม่ให้เราเข้าใกล้กิเลส ซึ่งมันจะมีผลสะสมต่อไป ขณะเดียวกันในทางนี้เราก็ยังศึกษาทางธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้ผลในโอกาสต่อไป คือเป็นการป้องกัน และศึกษาไปในตัว ทีนี้ถ้าทางที่ ๒

    ท่านอาจารย์ ขอพูดถึงทางที่ ๑ ก่อนได้ไหม ถ้าบอกแล้วทำได้ไหม

    ผู้ฟัง บอกแล้วทำได้ไหม ก็พยายามที่จะทำ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เป็นการบอกให้รู้ว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล แล้วทำอย่างนั้นได้ไหม บอกยิ่งกว่าใคร ละเอียดมาก ๔๕ พรรษา ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการหลอกตัวเอง ไม่ใช่เป็นการฝืน เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทก็มี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำไมเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าแต่ละคนก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าผู้ใดสะสมที่จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นอุบาสก อุบาสิกา เพียงแต่การเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ดีก็ยังแสนยาก เพราะฉะนั้น แต่ละคนไม่ใช่มีคนบอกว่าอย่างนี้ดีกว่า ควรทำอย่างนี้ ควรทำอย่างนั้น เพราะว่าทรงแสดงธรรมทั้งหมดครบถ้วนในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ถ้าเราอยู่ทางโลก เราก็คงจะต้องติดข้องอยู่ในทางโลก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ก็ละความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ละความยินดีติดใจในภพได้ แล้วเป็นปุถุชน หรือเป็นใครก็จะต้องอบรมเจริญตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ลักษณะอย่างนี้ เราก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความอยากของจิต

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนกับมีคนที่ปล่อย กำลังคิดว่าปล่อย แต่ความจริงเป็นอะไร ขณะนั้น ธรรมเกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีใครยับยั้งว่าอย่าดับ ไม่มีใครให้ปล่อยไป เมื่อธรรมเกิดแล้วดับเรียกว่าเราปล่อยหรือเปล่า หรือว่าธรรมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ตามความเป็นจริง

    ข้อสำคัญที่สุดของปัญญาคือรู้ความจริงของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ นั่นคือปัญญา แต่ถ้ามีตัวตนที่จะไปเปลี่ยนแปลงบิดเบือน ขณะนั้นก็ไม่ใช่การรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่ากว่าจะทำอย่างนั้น ธรรมก็เกิดแล้วดับไปแล้ว ขณะนี้ที่กำลังเห็น ถ้าจะทำอย่างอื่น ก็ไม่รู้ว่าเห็นเกิดแล้วดับ ขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าไม่รู้ความจริงในขณะที่ได้ยิน จะไปทำอย่างอื่น จะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของได้ยินซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะรู้อะไรที่เป็นอริยสัจธรรม รู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับ แล้วเมื่อไรจะถึง ก็เป็นเรื่องของการอบรม แต่เมื่อถึงแล้วก็คือปัญญารู้ความจริงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ในขณะนี้ได้ เมื่อเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราก็ปล่อยให้ไป

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเป็นความคิด แล้วก็เป็นตัวตน แต่ไม่ใช่การรู้ความจริงว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง มีอยู่ท่านหนึ่งท่านพูดเอาไว้ก็คือเรื่องของ อรกศาสดา ไม่ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญศาสดาองค์นี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ศาสดาท่านนี้มีความเห็นว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ท่านได้อุปมาบอกว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อยนัก อุปมาเหมือนกับหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า ที่ไม่สามารถทนทานต่อแสงอาทิตย์ได้ แล้วท่านก็บอกว่า อุปมาเหมือนกับฟองน้ำที่เกิดจากกระแสคลื่นและกระแสลม พร้อมที่จะแตกดับได้โดยง่าย

    ท่านอาจารย์ ตรงจากพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง คือไม่ประมาท

    ท่านอาจารย์ คุณนันทวัฒน์ เอามาตรงจากพระไตรปิฎกใช่ไหม ถ้าสิ่งใดถูก สิ่งนั้นเป็นพุทธพจน์ ไม่ว่าใครจะพูด เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นสัจธรรม เป็นความจริงทั้งหมด จะกล่าวสิ่งที่ไม่จริง ไม่มี คำใดที่ตรัสแล้วก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เพราะว่าจากการตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครศึกษา ใครฟัง ใครเข้าใจ แล้วพูด เพราะความเข้าใจอย่างนั้น เห็นอย่างนั้น ก็เหมือนกับตามที่เป็นพระพุทธพจน์ทุกอย่าง เพราะว่าเป็นความจริง

    ผู้ฟัง ในการทำวัตร ไม่ว่าจะเป็นวัตรเช้าหรือวัตรเย็น จะมีอยู่บทหนึ่งที่เรามักจะสาธยายกันบ่อยๆ เพื่อที่จะสำลอกความชั่วของตนเองในแต่ละวัน มีอยู่ตอนหนึ่งที่ใช้คำพูดว่า พระหรือผู้ทำวัตรจะกล่าวว่า กรรมอันน่าติเตียนอันใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระพุทธเจ้า ขอพระพุทธเจ้า จงเว้นซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้นๆ เพื่อความสำรวมในระวังในพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป กรณีอย่างนี้ ท่านอาจารย์ ผมอยากจะเรียนถามว่า การทำวัตรกรณีอย่างนี้ เหมือนกับว่ามันเป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ดิฉันก็ขออนุโมทนาท่านที่ทำวัตร เพราะว่าดิฉันไม่ได้ทำวัตร ความจริงแต่ละคนเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ดิฉันก็คงจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นไม่ได้ แต่ดิฉันศึกษาอบรมเจริญปัญญาเท่าที่สามารถจะกระทำได้เพราะเห็นประโยชน์ มีความสามารถทางไหนก็ทำในทางนั้น แต่ผู้ที่สะสมมาที่จะทำวัตร มีศรัทธา มีวิริยะ มีความเข้าใจ ก็ทำวัตร ซึ่งดิฉันอนุโมทนาด้วย อย่าคิดว่าดิฉันไม่เห็นด้วยกับการทำวัตร เพราะว่าตัวดิฉันไม่ได้ทำวัตร ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าเมื่อดิฉันไม่มีโอกาสจะได้ใส่บาตร ดิฉันก็จะไปบอกคนอื่นว่าไม่ให้ใส่บาตร ไม่ใช่ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ขออนุโมนาในกุศลทุกอย่างที่ทุกท่านทำ อย่างผู้ที่ทำวัตร ระลึกถึงพระธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ แต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะเอ่ยเป็นคำพูดแต่ไม่เข้าใจ กับ การที่ไม่ต้องเอยเป็นคำพูดแต่เข้าใจ จุดประสงค์จริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังมีโอกาสที่เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ จะโดยภาษาไหนอย่างไรก็ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    1 เม.ย. 2568