ปกิณณกธรรม ตอนที่ 504


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เรื่องเดียวกันแน่นอนว่าใครก็ตามที่จะปฏิบัติธรรมต้อง ทราบว่าต้องเข้าใจธรรมก่อน มิฉะนั้นจะปฏิบัติไม่ได้ แล้วการเข้าใจธรรม ไม่ใช่ว่าเรื่องที่เราเข้าใจได้รวดเร็ว อย่างเรื่องจิต เจตสิก รูป จิตเวลานี้ทุกคนมี แต่ว่าถ้าไม่ทรงแสดงไว้ จะไม่ทราบเลยว่า มีจิตกี่ประเภท แล้วแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้อย่างไร ซึ่งจะต้องตั้งต้นตั้งแต่ชาติของจิต คือจิตที่ทุกคนกำลังมีในขณะนี้ ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ใครบ้าง ที่ไม่มีกุศล อกุศล มีไหม ไม่มี กุศลมาก หรือ อกุศลมากก็คิดกันเอาเอง แต่ว่าถ้าไม่ได้ฟังอาจจะเข้าใจผิด คิดว่ากุศลมากกว่าอกุศลก็ได้ แต่ถ้าเข้าใจละเอียด ก็จะรู้ได้ ด้วยตัวเองว่าใครที่จะกล่าวได้ ว่ามีกุศลมากกว่าอกุศล

    กิริยาจิต จะมี ๒ อย่าง ที่เป็นโสภณกับอโสภณ เพราะฉะนั้น มีจิต ๔ ชาติ คือ ๑ กุศล ๒ อกุศลซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดจิตที่เป็นวิบากข้างหน้า ฟังดูสำหรับคนที่ศึกษาแล้ว ก็ไม่มีปัญหาเรื่องวิบาก แต่ถ้าทราบว่าวิบากได้แก่ จิต สำหรับเรื่องธรรม เมื่อพูดถึงคำหนึ่งคำใด ให้ทราบว่า เป็นปรมัตถธรรม ๑ ปรมัตถธรรมใดใน ๔ ปรมัตถ คือต้องเป็น จิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน เพราะฉะนั้น ขอถามอีกครั้งหนึ่งว่า กุศลเป็นอะไร ใน ๔ อย่าง คำว่ากุศลคำเดียว หรือจะใช้คำว่ากุศลธรรรมก็ได้ เป็นอะไรใน ๔ อย่าง จิตก็มี เจตสิกก็มี คนที่ตอบว่าจิต ถ้าตอบว่าเจตสิกด้วยถูกไหม แล้วคนที่ตอบว่าเจตสิก หมายความถึงจิตด้วยถูกไหม นี่คือเรื่องต้องคิดทั้งนั้นเลย ถ้าไม่ถามเราอาจจะลืมคิด แต่ความจริงถ้าพูดถึงธรรมที่เป็นกุศล ไม่ใช่ได้แก่จิตอย่างเดียว ต้องเจตสิกด้วย หรือไม่ใช่ได้แก่เฉพาะเจตสิกอย่างเดียว ต้องจิตด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นกุศล ต้องเป็นจิต และเจตสิก ทั้ง ๒ อย่าง รูปเป็นกุศล หรือเปล่า เพราะอะไร ต้องมีเหตุผล ทำไมรูปไม่เป็นกุศล

    ผู้ฟัง รูปเป็นสภาพที่ไม่ทราบอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นกุศลไม่ได้ เป็นกุศล หมายความว่าเป็นเหตุที่ดีงาม เป็นอกุศล ก็เป็นเหตุที่ไม่ดีงาม ที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ผลของกุศล และ อกุศลต้องมี เพราะเหตุว่า กุศล และอกุศลเป็นเหตุ แล้วผลของกุศล ได้แก่ปรมัตถธรรม อะไร ผลของกุศล ได้แก่ปรมัตถธรรม อะไร

    ผู้ฟัง จิต และเจตสิก

    ท่านอาจารย์ และ

    ผู้ฟัง ผมไม่แน่ใจ รูป

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้มีใครตอบรูป ช่วยยกมือด้วย ได้ยินเสียง ทวนคำถามอีกที ผลของกุศลได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร กุศลเป็นเหตุ แล้วกุศลก็ได้แก่ จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้น ผลของกุศล ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลวิบากหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม มี ๔ ๑.จิต ๒.เจตสิก ๓.รูป ๔.นิพพาน กุศลได้แก่จิต และเจตสิก ที่ดีงาม เพราะฉะนั้น ผลต้องมี เพราะนี่เป็น เหตุ เพราะฉะนั้น ผลได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร ผลของกุศล จิต และเจตสิกได้แก่ปรมัตถธรรม อะไร ต้องมีผล เมื่อมีเหตุแล้วต้องมีผล แล้วปรมัตถธรรม มี ๔ เพราะฉะนั้น ผลของกุศลได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร จิต เจตสิก รูป รูปก็ต้องเป็นผลของกุศลด้วย เวลาที่มีการกระทำที่เป็นกุศล อย่างการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ขณะนั้นก็มีรูปซึ่งเกิดจากกุศลจิต การช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น ก็จะต้องมีรูปซึ่งเกิดจากกุศลจิตด้วย ทางฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน อกุศลได้แก่ปรมัตถธรรม อะไร

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครตอบรูปมาแถม กุศล ได้แก่ จิต เจตสิก อกุศลก็ต้องได้แก่จิต เจตสิก นี้ต้องแน่นอน ถ้าเป็นผลของกุศล ได้แก่ จิตปรมัตถ เจตสิกปรมัตถ และรูปด้วย ฉันใด ทางฝ่ายอกุศลซึ่งเป็น จิต เจตสิกผลได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร ปรมัตถธรรมอะไรเป็นผลของอกุศล คือ จิต เจตสิก รูป ไม่ทราบตอนนี้มีอะไรสงสัยหรือเปล่า ที่จริงก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นทีเดียว ชาติของจิตมี ๔ ชาติ คือ ๑.กุศล ๒.อกุศล ๓.วิบากซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศล ๔.กิริยา ถ้าพูดอย่างนี้ ไม่มีปัญหาเลย เพียงแค่จำๆ เท่านั้น แต่ถ้าเพียงแค่จะคิดถึงชีวิต

    จริงๆ ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิริยา เพราะเรากำลังพูดเรื่องสภาพจิตเดี๋ยวนี้ ที่กำลังมี เพราะฉะนั้น ขอถามตามลำดับเลย เข้าใจเรื่อง ๔ ชาตินี้แล้ว กุศล อกุศล วิบาก กิริยา มีใครไม่เข้าใจบ้างไหม ไม่มี ขณะแรกที่เกิด จิตเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบากเป็นผลของกรรม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า มี มีรูปเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า มี ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น ขณะแรก คือขณะที่จิตปฏิสนธิ เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ทั้งจิต และเจตสิก เป็นผลของกรรมเป็นวิบาก รูปเป็นวิบากด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ อีกที รูปเป็นวิบากด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ อีกทีหนึ่ง รูปเป็นวิบากด้วย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ในความคิดของผมว่าเป็น

    ท่านอาจารย์ เราต้องแยก วิบากได้แก่ จิต เจตสิกเท่านั้น เพราะเหตุว่ารูปไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น รูปถึงแม้ว่าเป็นผลของกรรม แต่เมื่อรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปจึงไม่เป็นวิบาก เฉพาะจิต และเจตสิก เท่านั้น ที่เป็นวิบาก รูปเป็นผลของกรรมจริง แต่รูปไม่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ในเมื่อเราเห็นรูปไม่ดีแล้ว มันก็เป็นวิบาก ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเห็นรูปไม่ดีเป็นวิบาก อะไรเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เมื่อเราเข้าใจว่า รูปนั้นคือ

    ท่านอาจารย์ เฉพาะเมื่อเห็นรูปที่ไม่ดี ขณะที่เห็นรูปที่ไม่ดี อะไรเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ จิตกับเจตสิกเป็นวิบาก แต่รูปไม่เป็น เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ วิบากหมายความถึง เฉพาะ จิต เจตสิก เท่านั้น รูป เป็นผลของกรรมได้ แต่รูปไม่ใช่วิบาก

    ผู้ฟัง ที่ไม่เป็นวิบาก เพราะว่ารูปไม่ รู้อะไร รูปไม่รู้อารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่เป็นผลที่ จะต้องได้รับรู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่ว่าเวลาที่เราใช้คำว่าวิบาก หมยความถึงสภาพของจิตซึ่งรับรู้ สิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ตัวจิต ที่รู้สิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศล ถ้าได้รับสิ่งที่ดี รู้สิ่งที่ดี ขณะนั้นก็เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศล

    ผู้ฟัง มีเพื่อนใหม่ๆ มานี่ จิต อยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ถามเพื่อนใหม่ๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ผมพยายามที่จะอธิบายกับเพื่อนใหม่ๆ แต่บางทีก็ไม่เคลียร์ เพราะผมพยายามจะบอกว่าจิตอยู่ที่ ความรู้สึก ความเข้าใจของผม จิต อยู่ที่หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวๆ เขาเป็นคนใหม่ เขาไม่เข้าใจว่า หทยวัตถุ คืออะไร จะตอบว่าอย่างไร อยู่ที่ไน

    ผู้ฟัง อยู่ที่หัวใจ

    ท่านอาจารย์ หัวใจเป็นรูป ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ถ้าถามว่าจิต อยู่ที่ไหน จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย จิตจะต้องมีรูปเป็นที่เกิด หรือเราใช้คำว่า วัตถุ มี ๖ วัตถุ คือที่เกิดของจิต มี ๖ ที่ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ที่เกิดของจิต เป็นรูป จิตต้องเกิดที่รูป แล้วมีรูป ๖ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ภาษาบาลีใช้คำว่า วัตถุ ๖ จักขุวัตถุ ได้แก่ จักขุปสาทรูป เป็นที่เกิดของจิตเห็นเท่านั้น ไม่เป็นที่เกิดของจิตได้ยิน จะไม่เป็นที่เกิดของจิตได้กลิ่น จะไม่เป็นที่เกิดของจิตคิดนึก เฉพาะจิตที่เห็นขณะนี้ เกิดที่จักขุวัตถุ เป็นรูปซึ่งถ้าฟังอย่างนี้ก็ทราบแล้ว ว่ามีกรรมเป็นสมุฏฐานที่ทำใหรูปนี้เกิด เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมให้ผล ให้ผลเป็นวิบากจิต กิริยาจิต และรูป ซึ่งรูปซึ่งเกิดจากกรรม ก็เป็นผลของกรรมด้วย ทีนี้คงจะเข้าใจ ไล่เรียงไปทีละรูป ตอนเกิดขณะเกิด มีหัวใจไหม มีรูปหัวใจไหม ตอนเกิดไม่มีรูปหัวใจ แต่จิตต้องเกิดที่รูป เพราะฉะนั้น กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตพร้อมเจตสิก พร้อมกัมมชรูปเกิด ซึ่งกัมมชรูป ๑ เป็นหทยวัตถุ คือเป็นที่เกิดของจิต ในขณะแรกเลย ไม่มีใครมองเห็นจิต ไม่มีใครมองเห็นเจตสิก ไม่มีใครมองเห็นวัตถุรูป ซึ่งเป็นที่เกิดของงจิต แต่กรรมก็ทำให้ ชั่วขณะซึ่งเป็นผลของกรรม ขณะแรกเกิดขึ้น ทั้งจิต เจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต เกิดพร้อมกับกัมมชรูปซึ่งกัมมชรูปมีหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะเป็นวัตถุ ที่เกิดของจิตชื่อว่า หทยทสกะ หรือว่า หทัย หรือว่าใจ หรือว่ารูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ผู้ฟัง ผมพยายามคุยกับชาวต่างประเทศ ว่าศาสนาพุทธ คืออะไร พอมาคุยถึงเรื่องจิต คำถามคือ จิตของคุณ อยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าของใครทั้งนั้น เขาตอบเราได้ไหม

    ผู้ฟัง เขาถามผม

    ท่านอาจารย์ ถูก ถ้าเขาถามเรา เขาถามด้วยว่าเราไม่รู้ หรือเขาไม่รู้

    ผู้ฟัง เขาเองไม่ทราบ ในความรู้สึกของเขาคือ ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่สมอง ไม่ใช่อยู่ที่ใจ เพราะใจเป็นที่ฟอกเลือด หรืออะไรเท่านั้น พอมาถึงตรงนี้ผมพยายามคุย เขาว่าจิต จิตทุกคนต้องรู้ว่า ทุกคนต้องมีบ้าน อยู่ที่ไหน ทีนี้เขาถามผมอยู่ที่ไหน ผมพยายามบอกอยู่ที่หัวใจ ไม่ทราบว่าผมอธิบายเขาถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องบอกเขาเลย มีรูป ๖ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ผู้ฟัง คำว่าเกิด เกิดที่นั่น แต่ไม่ได้อยู่ที่นั่น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จิตอยู่ไม่ได้เลย เกิดแล้วดับทันที อยู่ไม่ได้ เกิดแล้วไปๆ เกิดแล้วดับ เกิดขึ้นแล้วทำกิจการงาน แต่ละประเภทแล้วก็ดับ อยากทราบไหม ๖ รูป มีอะไรบ้างไหม ตอบได้เองหมดแล้ว ใช่ไหม ทุกคนพูดแค่นี้ก็ตอบได้แล้ว ๑.จักขุ ๒.โสต ๓.ฆานะ ๔.ชิวหา ๕.กาย ๖.หทัย เป็นที่เกิดของจิต

    ผู้ฟัง มีน้องใหม่มา ๒ คน ไม่ทราบภาษาบาลี

    ท่านอาจารย์ เคยได้ยินไหม จักขุ เคย ก็เดาเอาเองว่าอะไร โสต เคยได้ยินไหม หมอมี หมอจักขุ หมอโสต ใช่ไหม จักขุได้แก่ตา โสตได้แก่หู ฆานะก็ได้แก่จมูก ชิวหาก็ได้แก่ลิ้น กายก็ได้แก่กายปสาท ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว นี่คือเรียนเรื่องชีวิตขณะนี้ เป็นธรรมอย่างละเอียด เพราะเหตุว่ามีจริงๆ แล้วมีอยู่ที่ตัว พร้อมที่ฟังเมื่อไร ก็สามารถที่จะเข้าใจเรื่องราวเมื่อนั้น ไม่ว่าจะพูดเรื่องจิต เจตสิก รูป ก็มีอยู่พร้อม แต่ว่าที่ไม่ทราบคือสภาพธรรม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดับอย่างเร็วมาก เกิดดับสืบต่อกันทุกขณะ ทำให้ไม่รู้ความจริง ก็คิดว่าเป็นสภาพธรรมซึ่ง ไม่ดับเลย ขณะนี้ยังไม่มีอะไรดับไปเลย แต่ความจริงแล้วสภาพธรรม แต่ละอย่าง ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดแล้วดับทันที นี่คือการปฏิบัติธรรม ถ้าสามารถที่จะอบรมปัญญา รู้แจ้ง ก็จะต้องรู้แจ้ง สภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ต้องมีความเข้าใจ ในเรื่องสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ก่อน เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ตั้งแต่ขั้นการฟัง ถ้าปัญญาขั้นฟังไม่มี แล้วก็ไปคิดว่าตัวเองได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แล้วก็ไม่ใช่ความรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงมีประสบการณ์ ซึ่งเป็นไปได้ แต่ว่าไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ที่มีอยู่ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นชีวิตประจำวัน ตอนเช้านี้ก็เป็นเรื่องของทั่วๆ ไป ซึ่งก็มีทั้งปฏิบัติด้วย ทบทวนด้วย ถ้ามีอะไรที่สงสัยก็ถามได้เลย

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาช่วยอธิบาย หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ มีรูปซึ่งมองไม่เห็น ทั้งนั้นเลย เว้นรูปเดียวซึ่งเห็นได้ คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา รูปมี ๒๘ รูป แต่ว่ารูปเดียวที่มองเห็น คือขณะนี้ทางตา สีสันวัณณะต่างๆ อย่าไปคิดว่าเป็นคน หรือว่าเป็นโต๊ะ หรือว่าเป็นเก้าอี้ นั่นหลังเห็น แต่ว่าจริงๆ แล้วขณะนี้ มีธาตุ หรือว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อกระทบตา ข้างหลังไม่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่เราหันหลังไปจะมองเห็น แต่สิ่งนั้นไม่ปรากฏ ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาท เพราะฉะนั้น มีรูปๆ เดียวซึ่ง ไม่ว่าจะภพภูมิไหนก็ตามแต่โดยการตรัสรู้ มีวัณณะหรือวัณโณ คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ในขณะนี้รูปเดียวเท่านั้นที่มองเห็นได้ รูปอื่น แม้แต่รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต อีก ๕ รูปก็มองไม่เห็น จักขุปสาทรูปมองไม่เห็น โสตปสาทรูปก็ไม่มีใครเห็น ฆานปสาทรูปก็ไม่มีใครเห็น ชิวหาปสาทรูปก็ไม่มีใครเห็น กายปสาทรูปก็ไม่มีใครเห็น แต่มี เพราะอะไร เพราะว่าได้ยินเสียง เสียงต้องกระทบกับรูปหนึ่งรูปใดที่กาย ที่เป็นปัจจัยให้ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรม อย่าไปคิดว่ามีอยู่แล้วทั้งหมด แต่ว่า ตามความเป็นจริงแล้ว มีเฉพาะตอนที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเท่านั้น แล้วก็ดับ ไม่ใช่มีอยู่ก่อนเลย อย่างจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะคิดดู จะไม่มีใครที่มีจิต ๒ ขณะซ้อนกันได้เลย

    ขณะที่กำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่งไม่ใช่ขณะที่จิตกำลังได้ยิน นั่นเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง จิตเห็นไม่ใช่มีอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามีรูปซึ่งกระทบกันได้ คือ วัณโณ แสงสว่าง กระทบกับจักขุปสาท แต่ต้องมีจิตซึ่งเป็นภวังค์ ดำรงภพชาติสืบต่อจากปฏิสนธิเกิดดับอยู่ แล้วเมื่อมีการกระทบกันของ วัณณะ หรือวัณโณ หรือแสงสว่าง หรือสี คือสิ่งที่ปรากฏทางตากับ จักขุปสาท ก็กระทบกับภวังคจิต ถ้าไม่กระทบกับภวังคจิต หรือไม่มีจิตเลยก็ไม่มีการกระทบ

    แสงสว่าง จะว่าไปกระทบกับเก้าอี้ หรือว่าไปกระทบกับถ้วยแก้ว ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งจะกระทบเฉพาะกับจักขุปสาทเท่านั้น จะไม่กระทบกับอย่างอื่นเลย แล้วเมื่อกระทบแล้วก็หมายความว่า ผู้นั้นคือผู้ที่มีจิต จึงมีจักขุปสาท สิ่งที่ไม่มีจิตจะไม่มีจักขุปสาทเลย โต๊ะเก้าอี้ ไม่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นรูป ซึ่งไม่ใช่รูปตาทั้งหมด ที่เรามองเห็น เป็นตาขาว ตาดำ หรือว่าแม้แต่จุดตรงกลางตา ที่เรามองเห็น นั่นก็ไม่ใชจักขุปสาท เพราะเหตุว่าตัวจักขุปสาทรูปจริงๆ นั้นเป็นรูปที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา แต่ตัวปสาทรูปจริงๆ มีอยู่ มองไม่เห็นเลย แต่เป็นรูปที่สามารถจะกระทบสีได้ และทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นได้ เพราะฉะนั้น รูปๆ นี้มีเพราะว่าทุกคนกำลังเห็น แต่ขณะใดก็ตามซึ่งเกิดตาบอด กรรมไม่เป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด แสงสว่างก็ไม่กระทบกับจักขุปสาท คนนั้น หรือว่าจิตที่เห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้

    ในบรรดาของรูปทั้งหมด ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ๖ รูป ไม่มีรูปใดเลยซึ่งมองเห็น แต่ว่ามี ถ้าเข้าใจเรื่องของจักขุปสาทรูปแล้ว เรื่องของโสตปสาทรูป คือ ประสาทหูที่สามารถกระทบกับเสียงก็ไม่มีปัญหา โดยนัยเดียวกัน หรือฆานะปสาทรูปที่อยู่กลางจมูก ซึ่งกระทบกลิ่นก็ นัยเดียวกัน หรือว่าชิวหาปสาทรูป ซึ่งอยู่กลางลิ้นก็โดยนัยเดียวกัน ก็ไม่มีปัญหา กายปสาทรูปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัวก็ไม่มีปัญหา เพราะเหตุว่าเป็นรูปซึ่งมองไม่เห็นทั้งหมด แต่สามารถจะรู้ได้ว่ามีเพราะเหตุว่ามีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่กระทบหู กลิ่นที่กระทบจมูก รสที่กระทบลิ้น แล้วก็เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบกาย

    ความสัมพันธ์ ระหว่างนามธรรมกับ รูปธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่แยกขาดจากกัน นามธรรมเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ดับ รูปธรรมก็เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐาน ๑ สมุฏฐานใดใน ๔ คือมีกรรมเป็น สมุฏฐานก็ได้ หรือว่าบางกลุ่มบางประเภทมีจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มบางประเภทมีอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มบางประเภทมีอาหารเป็นสมุฏฐาน นั้นคือสมุฏฐานที่เกิดรูป แยกกันไปเลย ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เป็น สภาพธรรม แต่ละอย่าง แต่สัมพันธ์กันโดยที่ว่า รูปเป็นที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หนึ่งอย่าง และรูปเป็นอารมณ์ของจิต ถ้ารูปไม่เป็นอารมณ์ของจิต ก็ไม่มีการที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับรูป ๑ รูปใดเลย อย่างขณะที่เรากำลังนอนหลับสนิท ไม่มีการรู้รูปหนึ่งรูปใดทั้งสิ้น แต่แม้กระนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตก็ต้องเกิดที่หทยรูป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ แล้ว จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้เลย มองไม่เห็น รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเลย แต่ว่าจิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ นี่คือที่ตัวเราทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย กี่ภพกี่ชาติ ก็คือสภาพธรรม ที่เป็นอย่างนี้ ที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ทั้งนามธรรม ทั้งรูปธรรม ถ้าจะถามว่า ขณะนี้ที่เห็นจิตเห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง ที่จักขุปสาท

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดขึ้นที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุของ จิตเห็น เพราะว่าถ้าใช้คำว่าวัตถุที่นี่ ไม่ได้วัตถุในภาษาไทย แต่หมายความถึงรูปวัตถุซึ่ง เป็นที่เกิดของจิต ถ้าใช้รูปวัตถุมี ๖ เป็นที่เกิดของจิต

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของผม ไม่ทราบว่า ผิดหรือถูก ว่ามีสภาพธรรม ปรากฏให้เราได้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจก่อน จากการฟัง จุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อให้เห็นแจ้ง เห็นจริงว่าไม่มีเรา เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องค่อยๆ ฟังจนกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง คนที่เข้าใจแล้วสติระลึกได้ สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังพูดถึง ในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง พูดถึงในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ก็กำลังถามไล่ไปว่าขณะนี้จิตเห็นเกิดที่ไหน ตอบได้แล้ว ใช่ไหม เฉพาะจิตเห็น เกิดที่ไหน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567