ปกิณณกธรรม ตอนที่ 517


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องของวิสุทธิมรรค หรือเรื่องของฝ่ายกุศล แล้วต้องเป็นเรื่องของฝ่ายกุศลที่จะทำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราชอบสมาธิ เราก็นั่งสมาธิ แล้วเราก็บอกว่า นั่งแล้วก็สบายดี จิตใจสงบ บางคนก็บอกอย่างนั้นเลยว่า จิตใจสงบ แต่เขาไม่มีปัญญา ที่จะรู้ความต่างกันของสมาธิที่เป็นกุศล เป็นสัมมาสมาธิ กับสมาธิ ที่เป็นความต้องการติดข้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาเท่านั้นจึงจะทราบว่า สมาธิที่ทำด้วยความต้องการไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งความจริงเรื่องของสมถภาวนา และเรื่องของสติปัฏฐาน ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว เจริญไม่ได้ เจริญความสงบไม่ได้เลย เพราะว่าไม่รู้ลักษณะของความสงบ แต่ว่ารู้ลักษณะของความที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ก็เข้าใจว่าตัวเอง ที่ไม่ได้ไปคิดเรื่องอะไรต่างๆ ขณะนั้นสงบแล้ว มีความสุขแล้ว ไม่รู้เลยว่าขณะนั้น แม้แต่เริ่มทำก็เป็นโลภะด้วยความต้องการ ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน เพราะเหตุว่าเวลาที่เป็นกุศลจิต กับเวลาที่เป็นอกุศลจิตต่างกัน แล้วอะไรจะรู้ได้ ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ที่เป็นปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของอกุศลจิต กับกุศลจิต

    ถ้าจะอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลโดยตลอด เพราะเหตุว่าขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะไม่มีโมหะ ยังต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าสภาพของจิตที่เป็นกุศล จะเป็นกุศลมั่นคงขึ้นด้วยการตรึกถึงอะไร ที่จะทำให้จิตสงบ นั่นเป็นเรื่องของปัญญา ในยุคนี้สมัยนี้ ถ้าขาดพระธรรมเป็นสรณะผู้นั้นก็จะไม่สามารถที่จะอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศล แต่จะมีโลภะ ที่ทำให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความต้องการ แล้วด้วยการหลงเข้าใจผิดว่านั่นคือความสงบ แต่ว่าผู้ที่เข้าใจแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ต้องมีปัญญาแน่นอน ในการเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่สามารถจะรู้ว่าขณะนี้ จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล จะให้จิตเป็นกุศลเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าปนเปกันหมดแล้ว ระหว่างกุศลกับอกุศล แต่เมื่อประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล เพราะว่าสติขั้นทานเกิดในขณะที่ระลึกเป็นไปในทานเท่านั้น ไม่ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องประกอบด้วยปัญญาหรือว่าขณะที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้

    แต่ว่าสำหรับการอบรมเจริญ แม้สมถภาวนาเป็นอีกระดับหนึ่ง ต้องเป็นมหากุศลญาณสัปยุต นี้คือประโยชน์ ของการศึกษาธรรม ที่จะไม่ให้เราทำผิด เข้าใจผิดเพราะรู้ว่า แม้แต่ที่ใช้คำว่า ทำสมาธิ ทำสมาธิกัน ถ้าจะเป็นสมาธิที่ถูกขณะนั้น ต้องเป็นกุศลญาณสัมปยุตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการที่มีปัญญา ที่สามารถจะรู้สภาพของจิตในขณะนี้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่นึกเอาว่า ขณะฟังธรรมนี่ก็ต้องเป็นกุศล แต่ว่าขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลว่า ต่างกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างไร

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าในเรื่องของสมาธิที่เป็นฝ่ายกุศล จะมีหลายระดับ ที่ว่าขั้นต้นเพื่อความสงบ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพราะว่าผู้นั้นมีกุศลจิตมาก ถ้าขณะใดที่จิตเป็นกุศลมาก ขณะนั้นไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโลภะ แต่เป็นความสงบจากอกุศลจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นความสุขในปัจจุบัน ขณะที่เป็นกุศล เวลาที่กุศลจิตเกิดมีใครเดือดร้อนบ้าง ไม่มี เวลาที่อกุศลจิตเกิดแม้เดือดร้อนก็ไม่รู้ เช่น โลภะ เป็นต้น มีความติดข้อง ก็ยังไม่รู้ว่านี่เป็นความต้องการ จึงได้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เวลา ที่กุศลจิตเกิด วันหนึ่งๆ น้อยมาก เพราะฉะนั้น ลักษณะของความสงบไม่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ เพิ่มกำลังขึ้น มากขึ้น ความสงบย่อมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความสุขในปัจจุบัน ขณะที่จิตสงบเป็นกุศล แต่ว่าหนทางนี้ไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพียงแต่เป็นหนทางที่เมื่อวันหนึ่ง อกุศลจิตเกิดมากนัก ก็เป็นผู้มีปัญญาระดับขั้นที่จะให้กุศลจิตเกิดมากกว่าอกุศลจิต

    เรื่องของการอบรมเจริญ สมถภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยากเพราะว่าจิตเป็นกุศลได้นิดเดียว เป็นอกุศลอีกแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย เพราะว่าเราทุกคน มีปัจจัยที่อกุศลจิตจะเกิดมากกว่ากุศล เพียงชั่วครู่ชั่วขณะที่เป็นกุศล อกุศลเกิดอีก เดี๋ยวก็อกุศลเกิดอีก เพราะฉะนั้น กว่าที่จะจิตสงบมากขึ้น ต้องอาศัยวิตกเจตสิก ที่จะตรึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ คนนั้นต้องมีความฉลาด ว่านึกถึงอะไรแล้วจิตสงบ ไม่ใช่ว่าจะนึกอะไรก็ได้ ๑ ๒ ๓ ๔ หรือใช้มนตรา หรือใช้อักขระ หรือใช้อะไร ก็นั่งท่อง นั่งเพ่ง ขณะนั้นไม่ได้ทำให้จิตสงบเลย มีแต่ความอยากจะสงบโดยคิดว่าถ้าท่องอย่างนั้นแล้วจะสงบ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องมีปัญญาแม้ที่จะรู้ว่า จิตสงบเมื่อระลึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนาที่เป็นอารมณ์ของสมถะ เช่น มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงศีล ระลึกถึงทาน จาคะ พวกนี้ นั่นก็เป็นเรื่องที่ว่าต้องศึกษา แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่า จะสงบได้โดยง่าย เพราะว่าเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ทำให้จิตเป็นสุขได้ชั่วคราว เท่านั้น นี่คือข้อที่ ๑ ที่ว่าเป็นไปเพื่อความสงบ ข้อที่ ๒ เพื่อญาณทัสสนะ อย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว ว่าสำหรับสมถภาวนา ญาณทัสนะก็เป็นปัญญาที่เห็น แต่เห็นอย่างสมถะ คือสามารถที่จะมีจักษุทิพย์ หรือว่าระลึกชาติซึ่งเป็นผลของการเจริญสมถภาวนา ถึงระดับที่แสนยาก ไม่ใช่ง่ายเลย กว่าจะถึงอุปจารสมาธิ กว่าจะถึงอัปปนาสมาธิ กว่าจะได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌาน แล้วก็มีความคล่องแคล่วเป็นวสี ถึง ๕ อย่างคือว่าแม้เพียงนึกถึงสภาพจิตที่สงบ ก็นึกได้แล้ว ในกาลไหนๆ และ ณ สถานที่ใด ไม่ใช่ต้องไปนั่งพยายามคิดเลย ถ้าอย่างนั้นยังไม่เป็นวสี นี้ก็แสดงให้เห็น แม้แต่ในขั้นนึก แม้แต่ในขั้นเข้า ในขั้นออก ในขั้นพิจารณาก็เป็นเรื่องที่ว่า ต้องจากฌานจิตที่ ๑ กว่าจะถึงฌานจิตที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งเป็นรูปฌาน แล้วยังต้องถึงอรูปฌานทั้ง ๔ ยังไม่ได้ที่จะเห็น ญาณทัสสนะที่จะเป็นจักษุทิพย์หรืออะไร ต้องอาศัยการฝึกหัดแต่ละทางด้วย ว่าจะฝึกหัดสำหรับ จักษุทิพย์ เฉพาะจักษุทิพย์ทางทิศไหนอีก ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะเห็นได้ทั่วไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องของความยาก แต่นี่ก็เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะโดยนัยของสมถภาวนา แต่สำหรับเพื่อสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าขณะนี้ มีสภาพธรรม กำลังปรากฏ แล้วเราก็พูดกันเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสติสัมปชัญญะจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏหรือเปล่า ถ้าระลึกก็เป็นปกติธรรมดาที่สุด คือสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรม ขณะนี้มีแล้ว เกิดแล้ว แล้วก็ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น เพียงขณะที่ระลึกได้ แล้วก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สมาธิในขณะนั้นไม่ใช่ไม่มี เพราะเหตุว่าในมรรคมีองค์ ๘ มรรค ๕ องค์ จะต้องเกิด ขาดเพียงวิรตี ๓ คือมีทั้ง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ไม่ต้องมีใครไปทำสมาธิเลย เพราะว่าใครก็ทำสมาธิไม่ได้ ใครก็ทำสติไม่ได้ ใครก็ทำปัญญาไม่ได้ แต่ว่าอาศัยความเข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย ค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ อบรมขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจว่า สติสัมปชัญญะคืออย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของสมถภาวนา หรือว่าโดยนัยของสติปัฏฐาน แต่มีความต่างกันที่ว่าปัญญาต่างขั้น เพราะฉะนั้น นัยของสติปัฏฐาน คือระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสติสัมปชัญญะอย่างนี้ ปกติอย่างนี้ รู้รอบอย่างนี้ คือไม่ว่าอะไรก็ตามที่สติระลึก สามารถที่จะค่อยๆ พิจารณา แล้วก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น สมาธิอย่างนี้ เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ แล้วก็จะเป็นหนทาง ที่จะถึงการสิ้นอาสวะ

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์ช่วยชี้แนะว่า ในชีวิตประจำวัน จะสามารถทำอย่างไรได้ต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ จะทำอย่างไรได้ต่อไปอีก จะทำ ใช่ไหม ถูกไหม จะทำใช่ไหม หรือว่าจะไม่ทำแล้ว จะเข้าใจสภาพธรรม

    ผู้ฟัง พยายามเข้าใจมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าผลที่ฟังดูเหมือนดี ใครฟังก็อาจจะตื่นเต้น แต่ว่าตามความจริงแล้วเป็นเรื่องไปทำให้ไม่รู้สึกอย่างนั้นต่างหาก ในเมื่อความจริง คือเดี๋ยวนี้กำลังนั่งแล้วเห็น ตามปกติ มีความรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแค่ไหน เพราะฉะนั้น ที่ไปทำมา ทำให้รู้สึกอย่างนั้น ให้รู้สึกเหมือนตัวลอย ตัวเราไม่มี เบาอยู่บนสะพานลอย แล้วก็ยังถามว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไปอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องปัญญา เรื่องปัญญา คือขณะนี้กำลังเห็น ธรรมดาอย่างนี้ มีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นปกติอย่างนี้ แค่ไหน หรือว่าไม่มีเลย ทั้งๆ ที่ไปทำมา แต่จะเห็นได้ว่าไปทำเพื่อให้รู้สึกอย่างนั้น เท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ แล้วคำถามก็คือว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็เป็นเรื่องทำ แต่ไม่ใช่เรื่องเข้าใจสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะต้องรู้ว่าปัญญาจริงๆ รู้อะไร ไม่ใช่ไปทำ แต่สิ่งที่มีแล้ว เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด เห็นขณะนี้ก็ไม่มีใครไปทำอะไรอีก ได้ยินขณะนี้ก็เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีใครไปทำอะไรอีก แต่สามารถที่จะเข้าใจสภาพที่มีจริงๆ โดยความจริงว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เวลาที่ไปทำ มีความเข้าใจอย่างนี้ ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะว่าหนทางคนละอย่าง นั่นเป็นทนทางทำ เพื่อที่จะไม่รู้ความจริง เดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ทำให้เพียงรู้สึกว่าไม่มีเรา และเข้าใจว่าไม่มีเรา แต่ความจริง ถ้าไม่มีเราจริงๆ ต้องเป็นปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏว่าเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม แล้วถึงจะไม่มีเราได้ ไม่ใช่ไปทำให้ ไม่มีรู้สึกว่าไม่มีเรา แต่ว่าไม่มีความรู้ในลักษณะ ของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ ช่วยชี้แจง แล้วก็สอนวิธี

    ท่านอาจารย์ สอนวิธี

    ผู้ฟัง เพราะว่าผมอ่านจะไม่เข้าใจ หรือว่าเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ คือการฟัง ถ้าเราบอกว่าอ่านหนังสือของท่านผู้นี้ หรือผู้นั้นก็ตามแต่ หรือการฟังท่านผู้นั้น ผู้นี้ เราไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ถ้าฟังพระธรรม ชื่อไม่มีเลย กำลังฟังธรรม เรื่องเห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม สุขเป็นธรรม นี่คือฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ฟังบุคคลหนึ่ง บุคคลใดที่จะอ้างว่าท่านผู้นี้ ท่านผู้นั้น ไม่ว่าใครทั้งหมด เอาชื่อออก กำลังฟังสัจธรรม คือสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ผู้ใดก็ตามที่ได้กล่าวถึงสภาพธรรม ที่มีจริงให้เข้าใจขึ้น ผู้นั้น เป็นผู้ที่กล่าวถึงธรรม พูดเรื่องธรรม แต่ถ้าไม่ได้กล่าวถึงสภาพธรรม ที่กำลังมี ให้เข้าใจ แต่ว่าให้ไปทำ การให้ไปทำไม่ได้ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี เพราะฉะนั้น ก็ต้องตัดออกไป ต่อไปนี้ก็คงจะต้องฟังพระธรรม ให้เข้าใจธรรมที่กำลังมี นี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วก็ฟังอย่างนี้ เข้าใจขึ้นบ้างหรือยัง

    ผู้ฟัง พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ พอเข้าใจ ก็แสดงว่า เริ่มจะเข้าใจได้จากการฟัง ก็ต้องฟังต่อไป ไม่ใช่ไปทำหรือว่าจะไปบอกให้ทำอะไรต่อไป ฟังให้เข้าใจขึ้น จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง จะรู้อารมณ์ ๒ อย่างไม่ได้เลย อารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าจิตได้ยินเกิดขึ้น จะมีแต่เสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ หมายความว่าจิตจะรู้ลักษณะเสียงที่ปรากฏ การที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทำให้ทุกคนเหมือนกับว่าไม่ใช่สมาธิ เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นมีอารมณ์อย่างหนึ่ง แล้วก็ดับ ไป แล้วจิตต่อไปก็เกิดขึ้น มีอารมณ์อื่นอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เห็นว่า เป็นอารมณ์หลายอย่าง เหมือนกับว่าไม่เป็น สมาธิเลย

    เพราะฉะนั้น ที่เราใช้คำว่า สมาธิ หมายความถึงขณะที่ จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวหลายๆ ขณะ อย่างเรากำลังใจจดใจจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด แสดงว่าขณะนั้นเราไม่ได้สนใจ เสียง หรือใครจะพูดว่าอะไร เราก็ไม่สนใจ ถ้าเรากำลังจะฟังธรรม เราเงี่ยหูฟังธรรมอาจจะมีเสียงอื่นรอบๆ ข้างแต่เราไม่สนใจ เพราะว่าขณะนั้นกำลังตั้งใจมั่น ที่สิ่งที่เรากำลังฟัง ขณะนั้นเราก็จะไม่ได้ยินอย่างอื่น ถ้าเรามีการตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดบ่อยๆ นาน ลักษณะของสมาธิ ก็ปรากฏ ภาษาไทยเราก็บอกว่า คนนั้นมีสมาธิ หรือว่าไม่มีสมาธิ ถ้าเขาไม่ตั้งใจจริงๆ แต่นี้ก็เป็นภาษาที่ใช้ แต่ว่าลักษณะของสมาธิก็คือว่า เมื่อเอกัคคตา หรือว่า จิต รู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดอารมณ์นั้นนานา อารมณ์เดียว ก็ปรากฏลักษณะของสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง ก็พอเข้าใจ แต่ว่าการที่ทำ บอกว่าไปทำสมาธิ ทำไมไปพูดว่า ไปทำ เอกัคคตา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า เอกัคคตา เกิดอยู่แล้วกับจิตทุกขณะ ไม่ปรากฏสภาพของสมาธิ ที่ตั้งมั่น จนกว่าจะตั้งมั่นที่อารมณ์เดียว นานๆ ลักษณะของสมาธิ หรือเอกัคคตาก็ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่าตั้งมั่นแล้วในอารมณ์เดียว เรื่อยๆ ตลอดเวลา ก็เป็นเอกัคคตาชั่วขณะหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่ง ถ้าเป็นสมาธิ ก็ตั้งมั่นที่อารมณ์ เดียวนานๆ บ่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่ออบรมสติปัญญา อบรมสติปัฏฐาน แล้วนั้นทุกอย่างรวมอยู่ เพราะว่าแยกกันไม่ได้ เป็นขั้นเป็นตอนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าแสดงโดยนัยของวิสุทธิ ๗ วิสุทธิ ๗ เริ่มด้วย ศีลวิสุทธิ๑ จิตวิสุทธิ๑ ทิฏฐิวิสุทธิ๑ เอาแค่ ๓ วิสุทธินี้ก่อน เพราะเหตุว่าต้องเป็นตามลำดับ ถ้ายังไม่เข้าใจ ๓ อย่างนี้ อย่างอื่นก็ยังไม่ต้องกล่าวถึง ทีนี้ธรรมดาของศีล ทุกคนก็รักษาศีล มีศีล มีการวิรัติทุจริต แล้วทางกาย ทางวาจาก็มีศีล เป็นวิสุทธิหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะเหตุใด เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา ในพระพุทธศาสนา ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จากการอบรมเจริญปัญญา พร้อมด้วยบารมีซึ่งเป็นบริวารของปัญญา ก็ทำให้พระองค์ สามารถที่จะบรรลุถึง อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริงถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนา จะไม่สอนเรื่องสิ่งที่ไม่มีจริง สิ่งที่เหลวไหล สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือว่าสิ่งที่เป็นคำที่เลื่อนลอย แต่ทั้งหมดที่เป็นพุทธวจนะ พูดถึงสัจธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจถูกต้อง แล้วก็ค่อยๆ อบรมจนกระทั่งปัญญาสามารถรู้แจ้งจริงๆ จากขั้นของการฟัง เข้าใจ อบรมไปเรื่อยๆ จนสามารถที่จะรู้ความจริงซึ่งเป็น อริยสัจธรรม ตามพระผู้มีพระภาค สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็น สมุจเฉท เพราะฉะนั้น เรื่องปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนา ถ้าจะมีการพูดถึงพระพุทธศาสนา โดยไม่มีปัญญา ไม่ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ให้ทราบได้ว่านั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาอื่นก็มีศีล ทั้งนั้นเลย แต่เป็นศีลวิสุทธิหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะเหตุว่าไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นศีลวิสุทธิ จะขาดปัญญาไม่ได้เลย ปัญญาที่ทำให้ศีลนั้น วิสุทธิ บริสุทธิจากความที่เคยเห็นผิดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่าถ้าไม่มีการรู้ การเข้าใจสภาพธรรม จะมีศีลสักเท่าไรก็คือเรานั่นแหละ ที่มีศีล แล้วก็ยังเป็นความภาคภูมิใจด้วยซ้ำไปว่ามีศีลมาก สามารถที่จะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ได้ แต่พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องละ แม้ศีลก็เป็นไปเพื่อละ ยิ่งมากยิ่งละ ไม่ใช่ว่ายิ่งมีศีลมาก ยิ่งต้องการให้คนสักการะชื่นชม นั่นก็แสดงว่าไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ศีลวิสุทธิ คือ ขณะใดก็ตามที่สติปัฏฐาน เกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น เป็น อินทริยสังวรศีล เพราะถ้าเป็นเพียงปาฏิโมกขสังวรศีล คือข้อประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นการบัญญัติ เพื่อสิกขา หรือศึกษา คือ ประพฤติตามพระวินัยบัญญัติ หรือตามควรแก่คฤหัสถ์ อย่างศีล ๕ ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสิกขาบท แต่ว่าถ้าเป็นศีลในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ละเอียดกว่ามาก เป็นทั้ง อินทริยสังวรศีล แล้วเป็น อธิศีลสิกขาด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นเรื่องของการวิรัติ กายทุจริต เพราะเหตุว่าขณะนั้น อกุศลจิตเกิดแล้วมาก คิดจะประทุษร้ายคนอื่น แต่สติเกิด มีการวิรัติยับยั้งได้ ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงศีลที่วิรัติทุจริต แต่สติปัฏฐาน ยังไม่ถึงระดับนั้น แล้วแต่ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตามแต่ สติสามารถจะระลึกได้ แม้แต่เพียงความติดข้องนิดหน่อย หรือว่าความขุ่นใจนิดหน่อย หรือว่าถ้าขณะที่ขุ่นใจนิดหน่อย ระลึกไม่ได้ เวลาที่โกรธมากๆ สติก็เกิด ระลึกได้ เพราะว่าไม่มีการขีดขั้นจำกัดว่า สติปัฏฐานจะต้องไประลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่ยังน้อยอยู่ ที่เป็นฝ่าย อกุศลมากๆ แล้วระลึกไม่ได้ หรือว่าปวดเจ็บนิดหน่อยระลึกได้ ปวดเจ็บมากๆ ระลึกไม่ได้ นั่นคือผู้ที่ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ไม่มีอะไรขีดคั่นเลย แล้วก็จะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยเป็นอิสระ ไม่มีความต้องการที่เป็นเรา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนี้ จะเห็นได้จริงๆ ว่าสติ สามารถจะระลึก ลักษณะของสภาพธรรมอะไรก็ได้ ในขณะไหนก็ได้ โดยความเป็นอนัตตาจริงๆ ขณะนั้นก็จะพ้นจากความต้องการว่า เราต้องการระลึก ตรงนี้ หรือตรงนั้น แต่ว่าสติก็สามารถที่จะระลึกได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นเป็นอินทริยสังวรศีล แล้วก็เป็นอธิศีล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567