ปกิณณกธรรม ตอนที่ 490


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๐

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราฟังธรรม เราจะมีความรู้สึกว่า ขณะนั้น เหมือนฟังเรื่องราว ของคน ๒ คน คือคนที่ดีคนหนึ่ง เป็นอย่างไร กาย วาจาต่อหน้า ลับหลัง เรื่องความดี ความชั่วของตัวเอง ของคนอื่น ลักษณะของคนดีที่เป็น สัตบุรุษ เป็นอย่างไร แล้วลักษณะของคนที่ไม่ดี เป็นอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร แต่ไม่พ้นจากปรมัตถธรรม นี่คือเรื่องราว ตอนหนึ่งแล้ว แต่ขณะที่กำลังฟัง ใครกำลังฟัง ยังต้องมีปัญญาที่จะรู้อย่างนั้นอีก ซึ่งจะพ้นจากปรมัตถธรรม ไม่ได้เลย ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ที่ได้ยิน แล้วก็มีการเข้าใจความหมาย แล้วก็มีการที่ว่าแล้วแต่ว่าขณะนั้น จะเข้าใจ ธรรม ว่าอย่างไร เป็นกุศลจิต กี่ขณะ อะไรๆ ก็คือ ธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น กว่าเราจะลอกจากที่เราฟังพระสูตรเรื่องของคนดีคนชั่ว ว่าเป็นเรื่องราว ขณะนั้นกำลังได้ยิน แล้วก็เป็นเรื่องอย่างนั้นๆ ยังจะต้องรู้สภาพจิตขณะที่ได้ยิน นี่คือประโยชน์ของการศึกษาปรมัตถธรรม ที่คุณชินบอก แล้วเมื่อไรจะรู้

    ผู้ฟัง ปัญญามันไม่สามารถพิจารณาเร็วขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญาของใครสามารถ ปัญญาของผู้ที่เป็น พระอิรยเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าท่านรู้ แล้วทำไมการที่จะอบรมเจริญปัญญาอย่างนั้น ไม่มีทางหรือ ถ้ามีทางก็กำลังอบรม กำลังอบรม แล้วทำไม ว่าเราไม่รู้ เราไม่สามารถจะรู้ได้ เมื่อไรจะรู้ได้ เวลาที่ไม่รู้ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่รู้ ก็คือไม่รู้ แล้วเมื่อค่อยๆ รู้ขึ้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่อยๆ รู้ขึ้น ความจริง คือ เป็นความจริงที่จะต้องรับ แต่ให้ทราบว่า ความจริงมีหลายอย่าง กำลังฟังเรื่องจริง คือ ความประพฤติของจิต เจตสิก รูป ที่บัญญัติใช้คำว่า คนดี สัตบุรุษ กับคนไม่ดี อสัตบุรุษ คือ สัตบุรุษกับ อสัตบุรุษ แต่ว่านอกจากนั้น เราศึกษาธรรม ทำไม เราเรียนเรื่อง จิต เจตสิก รูป ทำไม ซึ่งขณะนั้นที่กำลังฟัง ก็คือจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น กว่าเราจะเรียนจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่สติระลึก แล้วเข้าใจสภาพธรรมปรากฏ กำลังฟังเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีปัญหาเลย เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจธรรม ที่เราพยายามที่จะให้เข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ก็เพื่อให้รู้จริงๆ ว่าปรมัตถธรรมมีจริง แต่ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ เรา

    ผู้ฟัง ปัญญาเขาจะเจริญ เขาไม่สามารถแซง กระโดดเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรม จากความไม่รู้ซึ่งหนาแน่นมาก ลึกมาก เหนียวแน่นมาก กว่าจะค่อยๆ แกะ ค่อยๆ ล้างชะออกไป คือการที่เราศึกษาปรมัตถธรรม ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ไม่มีเรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่ละอย่าง ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ว่า เราจะฟังอะไร เราก็ไม่ลืม ลักษณะว่าขณะนั้น เป็นธรรม แต่ละอย่าง ขณะนั้น รู้เรื่องเข้าใจเรื่องได้ แต่จะมีปัจจัยที่สติจะระลึก แล้วรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็น สภาพธรรม ที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพธรรม ที่กำลังคิดถึงคำต่างๆ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีหลายระดับ แล้วก็ไม่ได้มีขอบเขตว่าทำอะไรไม่ได้ อย่างที่คุณสุกิจบอกว่า ไม่ให้ทำอะไร ความจริง จะฟังพระสูตรก็ได้ ไม่ได้ห้าม แต่เมื่อมีความเข้าใจ พระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรม เรารู้เลย ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดได้ ระลึกได้ รู้ได้ เข้าใจได้ ประจักษ์แจ้งได้ แล้วแต่ว่าปัญญาอบรมมาถึงระดับไหน ไม่ใช่ว่าไม่ให้ทำ ทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง ตามการสะสม แต่ไม่ใช่เพื่อหวัง หรือเพราะหวัง ว่าจะให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เพราะว่าความหวังก็เป็นเครื่องกั้น เพราะไม่รู้ว่าสภาพธรรม ทุกอย่างที่เกิด ต้องเกิด เพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เรื่องสภาพธรรมของคำว่า โลภะ กับ ฉันทะ

    ท่านอาจารย์ ถึงจะบอกว่าโลภะ ไม่ใช่ฉันทะ ก็เป็นเรื่องราว เป็น ชื่อ ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ซึ่งเป็นนามธาตุ ซึ่งเป็นลักษณะของฉันทะ ซึ่งต่างกับนามธาตุซึ่งเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น การฟัง ต้องฟัง แล้วก็พิจารณา แล้วก็เข้าใจตามความเป็นจริง ว่าปัญญาขั้นที่จะอบรมถึงขั้นรู้จริงๆ ก็ต้องตามลำดับ ข้ามขั้นไม่ได้เลย อย่างขณะนี้ ใครจะรู้อกุศลจิต ที่เอื้อมมือไป เป็นไปไม่ได้เลย ยังไม่รู้ลักษณะนั้น เป็นนามธรรม หรือ เป็นรูปธรรม แล้วจะไปรู้ว่า นามธรรมนั้นเป็นอกุศล เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วเรารู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม โดยชื่อ โดยฟังว่าต้องเป็นจริงอย่างนั้น หมายความว่าสภาพธรรม อย่างหนึ่งมี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ก็แยกไม่ออก ว่าขณะนั้น เป็นธาตุรู้ หรือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่า ๒ อย่างมีพร้อมกันในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ ลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องตามลำดับ คือก่อนอื่น ก็ต้องรู้ว่าเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริง ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส มีแข็งปรากฏเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง สติกำลังระลึกลักษณะที่แข็ง หรือว่าระลึกลักษณะที่กำลังรู้แข็ง ต้องตามลำดับก่อน เพราะฉะนั้น จะกล่าวถึงเรื่องฉันทะ จะกล่าวถึงเรื่อง โลภะ ก็เป็นเรื่องชื่อ ซึ่งผู้นั้นก็จะต้องไตร่ตรอง จากความต่างกันว่า ฉันทะ เป็นความประสงค์ หรือความต้องการที่จะทำ ซึ่งเกิดได้ทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เป็นความต้องการที่จะทำ เพราะฉะนั้น การต้องการที่จะทำ จะทำอะไร จะทำกุศล หรือจะทำอกุศลก็ด้วยฉันทะ แต่ถ้าโลภะแล้วเป็นสภาพธรรม ที่ติดข้อง ไม่สละ นี้ก็เป็นลักษณะที่ต่างกันแล้ว เพียงขั้นฟังก็พิจารณา แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าให้เราไปมีปัญญา ระลึกลักษณะของฉันทะ หรือว่าไประลึกลักษณะของโลภะ ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แม้แต่สภาพธรรม เกิดดับเร็วที่สุด เร็วมาก คิดถึงรูป มีอายุถึง ๑๗ ขณะจิต แต่จิตที่เห็นกับจิตที่ได้ยินก็ห่างไกลกันเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปหนึ่งที่ปรากฏที่เกิด ดับแล้วเร็วมาก ถ้ากล่าวถึงรูปซึ่งไม่ปรากฏ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องไปสนใจเลย เพราะ ๑๗ ขณะของการเกิดแล้วดับ มีก็เหมือนไม่มี เพราะว่าไม่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏก็สั้นมาก ทำให้เราต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ถึงการเกิดขึ้น และดับไปได้ แต่ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ตามลำดับว่า ปัญญาของเราระดับที่รู้ความต่างกันของ นามธรรม และรูปธรรมหรือยัง ถ้าปัญญายังไม่ถึงระดับที่ประจักษ์แจ้ง ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่ต้องไปคิดถึงอย่างอื่นเลย เราอาจจะเรียน เรื่องชื่อต่างๆ เรียนเรื่องลักษณะของฉันทะ เรียนเรื่องลักษณะของโลภะ แต่จะรู้จริงๆ ต่อเมื่อเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น เราก็ทราบว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีฉันทะได้ แต่มีโลภะไม่ได้ ขณะใดที่อกุศลจิต คือโลภะเกิด ขณะนั้นก็มีฉันทะได้ มีโลภะได้ทั้ง ๒ อย่าง ขณะใดที่โทสมูลจิตเกิด ขณะนั้นก็มีโทสะ แล้วก็มีฉันทะได้ นี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จากบางครั้ง บางขณะซึ่งอาจจะมีการระลึก นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่ว่าไม่สามารถจะรู้ได้เลย แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาที่คมถึงระดับที่ประจักษ์จริงๆ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่เกิด และในขณะที่ดับ แต่สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งจะต้องอบรมไปจนกว่าจะรู้จริงๆ

    ผู้ฟัง ย้อนกลับไปเรื่องของเหตุที่ทำให้เกิดการวิวาท ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ ก็เข้าใจ เพราะว่าถ้าหากว่า มีความต่างกันระหว่าง เหตุ และผล ก็คือ อรรถ และพยัญชนะ แน่นอนทำให้เกิดการวิวาท ข้อที่ ๒ ถ้าหากว่าอรรถต่าง พยัญชนะเหมือนก็วิวาท อันที่ ๓ คือถ้าพยัญชนะ เหมือนแต่อรรถต่างก็วิวาท แต่อันที่ ๔ ถ้าเหมือนกันทั้งอรรถ และพยัญชนะ หมายถึงว่า ถ้าเขาคล้อยตามกันหรือ มีความเห็นในเรื่องเหตุ และผล โดยเฉพาะเรื่องตัวจริงของสภาพธรรม แล้วไม่น่าจะเกิดการวิวาทเลย

    ท่านอาจารย์ พอจะมองเห็นไหม คือว่าข้อความในพระไตรปิฎก เป็นเรื่อง ของสภาพธรรม ทุกกาลสมัย เพราะฉะนั้น สมัยก่อนก็มี สมัยนี้ไม่มี หรือมี หรือมีแต่สมัยก่อน อะไรทำให้มีความรู้สึกว่า จะดีกว่ากัน หรือว่าจะด้อยกว่ากัน หรือตรงนั้นขาดตกไปนิด ตรงนี้บกพร่องไปหน่อย ถ้าเป็นเรื่องของธรรม ก็คือว่าเกื้อกูลกันได้ โดยการที่ค่อยๆ หรือว่าอาจจะชี้แจง เพราะว่าเป็นผู้ที่ว่าง่ายด้วยกันก็ยอมรับ ว่าสิ่งนั้น ตรงนั้นยังขาดตกบกพร่องอยู่ เพราะว่าบางทีข้อความเดียวกัน ขาดไปนิดหนึ่ง อย่างรูปารมณ์ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดอย่างนี้ แล้วก็เข้าใจกันได้ ก็หมายความว่ารู้ตั้งแต่ต้นว่ารูป ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น คือธรรมเป็นเรื่องที่ตรง แล้วก็จริงตลอดไป เป็นสัจธรรม เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารูปอะไรทั้งหมด รูปใกล้ รูปไกล รูปหยาบ รูปละเอียด รูปอดีต รูปปัจจุบัน รูปอนาคต รูปใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคำพูดนี้ พูดว่าอย่างนี้ เราสามารถจะเข้าใจได้ไหมว่า หมายความว่าอะไร หรือเราคิดว่ารูปารมณ์ รู้อะไรไม่ได้ หรือว่ารูป รู้อะไรไม่ได้ หรือรูปารมณ์ รู้ได้ไหม ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรๆ ก็ตาม ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราย่อมต้องเข้าใจในความหมายนั้น ที่ว่ารูปารมณ์ รู้ได้ไหม เข้าใจไหม ไม่สงสัย ใช่ไหม รูปารมณ์ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่สภาพรู้ รู้ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หมายความว่า จิต รู้รูปารมณ์ ได้ไหม คำพูดนั้น หมายความอย่างนั้น นี่คือ อรรถ พยัญชนะ ซึ่งอาจจะมีขาดตกบกพร่อง แต่ว่าการเกื้อกูลกันให้เข้าใจถูก ไม่ใช่เป็นการชี้ว่า นี้พูดผิด เพราะเหตุว่าเข้าใจกันอยู่แล้วว่า รูปารมณ์ หรือรูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีคำพูดว่า รูปารมณ์ รู้ได้ไหม เราก็หมายความว่า จิตรู้รูปารมณ์ได้ หรือว่าบางคนก็อาจจะเข้าใจตามตัวหนังสือ รู้ รูปารมณ์ ได้ไหม ก็ต้องหมายความว่าอะไรรู้ รูปารมณ์ รู้ได้ไหม เราต้องเข้าใจ ไม่ว่าพูดโดยนัยใดทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น อรรถ ก็คือว่า เราต้องรู้ว่า หมายถึงความหมายของศัพท์นั้น หรือว่าจะเป็นตัวจริงของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ความหมายของคำที่พูด หรือคำที่ได้ยินได้ฟัง หรือคำที่เขียนก็แล้วแต่ บางทีอย่างเราพูดภาษาต่างประเทศ เราพูดไม่ถูกไวยากรณ์ แน่นอนที่สุดไม่ใช่ภาษาของเรา จะมีผิดบ้าง ถูกบ้างแต่ว่า ถ้าคนที่ถือตามคำพูด เขาจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าคนไม่ถือตามคำพูด แต่เขาสามารถจะเข้าใจว่า เรา หมายความว่าอะไร เขาก็จะอภัยให้ ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบกพร่อง เพราะรู้เจตนาของเรา เจตนาของเราต้องการที่จะให้เขา เข้าใจถูกอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของอรรถ พยัญชนะ ซึ่งเราจะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่เป็นผู้ที่ติดในพยัญชนะ หรือว่ายึดมั่นในพยัญชนะ หรือว่าถือถูก ถือผิดกับพยัญชนะ โดยที่ว่าแท้ที่จริงแล้วทั้งหมด ภาษาก็เพียงที่จะให้เข้าใจ ความหมายของสภาพธรรมของอรรถ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีข้อขาดตกบกพร่อง เพราะว่าผู้ที่จะเชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่ สมบูรณ์ พร้อมทั้ง อรรถพยัญชนะ ในภาษาทั้งหลาย ก็ต้องเป็นสิ่งซึ่ง ยากที่จะเป็นไปได้ นอกจากผู้ที่เป็นเอตทัคคะ มีความรู้ ความสามารถ หรือผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่มีปฏิสัมภิทาด้วย

    ผู้ฟัง ที่บอกว่ารูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ มี อุตุ กรรมแล้วก็จิต แล้วก็อาหาร อย่างรูปที่เกิดเพราะ กรรมเป็นสมุฏฐาน ก็คือ กัมมชรูป กัมมชรูปจะเกิด เพราะจิตเป็นสมุฏฐานไม่มี แต่จิตจะเป็นปัจจัยให้เกิด กัมมชรูปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องอธิบายศัพท์อีก ใช่ไหม ชะ แปลว่าเกิด รูปที่เกิดจากกรรมก็เป็น กัมมชรูป จะเกิดจากสมุฏฐานอื่นไม่ได้ ต้องมีกรรมเท่านั้นเป็นสมุฏฐานจึงเป็นกัมมชรูป ถ้ารูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นไม่ได้เกิดจากกรรม แต่ต้องเกิดจากจิตในขณะนั้นที่เกิด เกิดเพราะอุปาทขณะของจิตนั้น จึงเป็น จิตตชรูป รูปที่เกิดจากอุตุ ก็มีอุตุ เป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากอาหาร ก็มีอาหารเป็นสมุฏฐาน รูปธรรมเป็นสภาพธรรมซึ่งมีจริง แต่ว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัย สำหรับรูปใช้คำว่า สมุฏฐาน หมายความ ถึงธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด เช่น กรรมหมายความถึง เจตนา ซึ่งได้กระทำกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เป็นปัจจัย หรือว่าเป็นสมุฏฐานที่จะทำให้ รูปซึ่งเกิดจากกรรมเกิด เพราะฉะนั้น เราก็จะทราบได้ว่าที่ตัวของเรา รูปที่เกิดจากรรมก็มี รูปที่เกิดจาอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน ที่สมควร เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด หรือว่ารูปที่เกิดจากจิต ที่กิดจากอาหาร แต่ว่ารูปเกิดดับเร็วมาก

    การศึกษาธรรมต้องทราบว่า เป็นการศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๓ ปิฎก พระวินัยก็ ส่องถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แม้พระสูตร และพระอภิธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถที่จะรู้ไปหมดอย่างพระองค์ เมื่อทรงแสดง ก็คือทรงแสดงให้ทราบว่า สภาพธรรม ที่เป็นจริงอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วแต่ว่าเมื่อผู้ใดที่จะเข้าใจอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ได้แค่ไหน ก็รู้ได้แค่นั้น เพราะฉะนั้น จึงมีพระอริยบุคคลต่างขั้น แม้พระอรยิบุคคลด้วยกันที่เป็น เอตทัคคะก็มี ที่ไม่เป็น เอตทัคคะคือไม่ใช่ผู้เลิศก็มี เป็น มหาสาวกก็มี หรือว่าเป็นพระอริยสาวก ระดับต้น คือ พระโสดาบันก็มี หรือว่าผู้ที่ ยังไม่บรรลุถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เป็นผู้ที่มีวิปัสสนาญาณ คือปัญญาที่ได้อบรม ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็มี หรือผู้ที่ได้ฟังแล้ว เข้าใจมากก็มี หรือผู้ที่ฟังแล้ว เข้าใจนิดหน่อยก็มี หรือผู้ที่ฟังแล้ว ไม่เข้าใจเลย ก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องเป็นผู้ตรงต่อพระธรรม เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่ ของคนหนึ่ง คนใดเลย ยิ่งศึกษายิ่งเห็นความละเอียด ยิ่งเห็นความลึกซึ้ง ยิ่งรู้ว่า เป็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินได้ฟัง อะไร อย่าเพิ่งคิดว่ารู้แล้ว แต่หมายความว่าเริ่มเข้าใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้น เป็นความเข้าใจระดับไหน เช่น ความเข้าใจ คำว่า ธรรม ที่ใช้เสมอ ก็ต้องเข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะปรากฏให้รู้ ขณะนี้มีสภาพที่เป็น ธรรมไหม มีไหม

    ผู้ฟัง จากฟังอาจารย์ คิดว่ามี

    ท่านอาจารย์ ต้องมี คือไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในคำพูด แต่สภาพธรรม มีจริงๆ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็คือศึกษาให้เข้าใจ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดซึ่งเราไม่เคยเข้าใจเลย แล้วก็เข้าใจยากด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงฟัง จะเข้าใจได้ เพียงแต่เริ่มจะรู้ว่าที่จริงที่ว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นโลกหรือทั้งหมด หรือว่าเป็นสิ่ง หนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงก็เป็น ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้ว ยังขยายความว่าสิ่งที่มีจริงๆ ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใครเลย มีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ แม้แต่คำสั้นๆ ก็จะทำให้เราเข้าใจต่อไป จนกระทั่งสามารถจะประจักษ์ว่าคำนี้ เป็นคำจริง จะไม่เปลี่ยนเลย ขณะนี้สิ่งที่มีจริง ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด ไม่ใช่ของใคร แต่ก่อนนี้ เป็นของเราทั้งหมด โลภะก็ของเรา ปัญญาก็ของเรา โทสะก็ของเรา ของเราทั้งนั้น แต่ความจริง ขณะนี้ ถ้าไม่มีโทสะ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสะเกิด โทสะจึงไม่เกิด โทสะของเราอยู่ที่ไหน ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ การฟังธรรมต้องฟังให้ละเอียด แม้แต่ในขณะนี้เอง ถ้าฟังด้วยดี สามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเพียงการฟังครั้งแรกไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ ต้องเป็นพหูสูตร คือผู้ที่ฟังมาก ไม่ใช่ได้ยินมาก แต่ต้องฟังแล้วพิจารณา แล้วก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เช่น คำว่า ธรรม ต้องไม่ลืม ถ้าไม่ลืมขณะนี้ รู้ว่าเป็น ธรรม เป็น ปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกรู้ธรรมได้ สำหรับผู้ที่เข้าใจมากขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้ เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วขณะเห็น จริงหรือไม่จริง สิ่งที่มีทางตาที่กำลังปรากฏ เป็นจริง มีจริง ชั่วขณะเห็น มีใครคิดว่าไม่จริงบ้าง พอไม่เห็นแล้วมีไหม สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีแต่จำได้ ว่าเคย เห็น จำได้ว่ายังมีอยู่ คิดว่ายังมี แต่ความจริง แค่สิ่งที่ปรากฏทางตา เวลานี้ดับแล้วเร็วมาก นี่คือสิ่งที่ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรัสรู้ ไม่สามารถที่จะแสดงได้เลย ว่าขณะนี้สภาพธรรมที่เกิด อายุสั้นมาก แม้แต่รูปที่เราคิดว่ายั่งยืนปรากฏอยู่ตลอด ทางตาที่กำลังเห็น แท้ที่จริงก็เกิดแล้วก็ดับ แต่สิ่งที่ดับเร็วกว่ารูป ก็คือจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งกำลังเห็น ขณะที่พูดอย่างนี้ สติปัฏฐานแน่นอน ถ้ามีการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็มีการรู้ว่าขณะนี้ เราไม่ได้พูดเรื่องชื่อ แต่ว่าพูดเรื่องสิ่งที่มีจริง แต่ต้องอาศัยชื่อ ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจว่า หมายความถึงอะไร เช่น ธรรม ก็มี ๒ อย่างคือ นามธรรมกับรูปธรรม พอพูดถึงรูปแล้ว ทุกคนก็คงจะ พอจะเข้าใจได้ อย่างเสียง มองเห็นไหม แต่มีไหม เพราะฉะนั้น เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น มีเมื่อไรเสียง

    ผู้ฟัง ก็มี เมื่อมีเหตุปัจจัย ทำให้เกิดมีเสียง ถึงจะมีได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ที่ได้ยินเสียง เราจะบอกได้ไหม ว่ามีเสียง ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพซึ่งสามารถที่จะรู้ หรือได้ยินเสียง แต่ก่อนนี้เราเคยคิดว่าเป็นเราได้ยิน แต่ความจริง เมื่อทรงแสดงว่าเป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แม้แต่ได้ยินในขณะนี้ มี เสียงจึงปรากฏ เพราะว่าถ้าไม่มีสภาพธรรม ที่สามารถได้ยินเสียง หรือสามารถที่จะรู้ลักษณะ ต่างๆ ของเสียงที่ปรากฏให้ได้ยิน เสียงนั้นๆ ก็ปรากฏไม่ได้ แต่ว่าที่เสียงกำลังปรากฏ เพราะว่ามีสภาพที่กำลังได้ยินเสียง เสียงดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เราพูดถึงว่า รูปธรรม เราพอจะรู้ได้ แล้วเราคิดว่ามีอายุที่ยาวมาก แล้วแต่จะไปฟังศาสตร์ไหนว่า อย่างไร ศาสตร์ นี้ว่ารูปมีอายุ เท่าไร แต่อีกศาสตร์ จะว่าอย่างไรก็ตาม แต่จากการตรัสรู้ สิ่งที่ดับเร็วกว่ารูป คือ จิต เพราะฉะนั้น จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ นี่เรากำลังพูดเรื่องสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจว่า ผู้ที่รู้ รู้จริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์ความจริง ต้องมีหนทาง ไม่ใช่ว่าพูดแล้วก็แล้วไปเลย ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ตามได้ แต่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้ผู้ฟัง ค่อยๆ อบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ต้องไปมุ่งหวัง ที่อยากจะประจักษ์การเกิดดับ หรืออยากจะให้สติปัฏฐาน เกิด หรืออยากจะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างที่พระองค์ ทรงแสดงไว้ เพราะนั่นเป็นเรื่องอยาก ไม่ใช่เรื่องรู้ ไม่ใช่เรื่องการอบรม เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ความหมายของ ภาวนา คือการอบรม คือการอบรมความรู้ที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ ทางหนึ่งทางใด คือทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือพยัญชนะ และอรรถ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ตรงกัน ก็ไม่ผิด ใช่ไหม หมายความว่ามีสภาพธรรมจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    23 มี.ค. 2567