ปกิณณกธรรม ตอนที่ 507


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะละอกุศล ตอนนี้ จะเห็นแล้ว ใช่ไหม ว่าเราควรจะคิดด้วยเมตตา หรือว่าคิดด้วยอะไร ขั้นที่สติปัฏฐาน ยังไม่เกิด ไม่ว่าจะคิดดีสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังเป็นเรา

    ผู้ฟัง ยังเป็นเรา ก็ยังเป็นโลภะอยู่

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด ไม่ว่ากุศลนั้น จะเป็นกุศลถึงขั้นฌานจิต พ้นจากกามาวจรจิตไปแล้ว ก็ยังต้องเป็นเรา

    ผู้ฟัง นั่นก็คือ อกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด แล้วไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น มันถึงยาก แม้เราคิดว่าอันนี้มันเป็นกุศล เราละคลาย เราจะไม่โกรธบ่อย เราจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีบ่อย เพราะว่า ชวนะ เขาจะสะสม อันนั้นก็นึกว่า เวลานี้เราเห็นแล้วนะ เรารู้จักละคลาย แต่ความจริงไม่ใช่ นั่นคือโลภะอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น กุศลมีหลายระดับขั้น ขั้นคิดดีคิดถูก เข้าใจถูก ขั้นพิจารณาก็เป็นกุศล ระดับหนึ่ง จะบอกว่าเป็นอกุศลไม่ได้ ถ้าตราบใดที่ไม่รู้ความจริง ไม่ใช่เรา ก็ยังมีความเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง คือ เขาสลับกัน มันคนละขณะจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล และมีกุศล หลายระดับด้วย

    ผู้ฟัง ผมกลับมาที่ตรงท่านอาจารย์บอกว่า ในขณะที่เห็นอกุศล หมายความว่าต้องมีปัญญาที่จะรู้ความจริงในขณะนั้น ว่า อกุศลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ปัญญาก็หมายความว่า ความเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ความเข้าใจถูก ความรู้ถูก

    ผู้ฟัง ปัญญา หรือความเข้าใจนี้ จะต้องมีหลายระดับขั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง การที่พิจารณาจากการที่เราได้ศึกษามา เรื่อง เมตตา กรุณา อะไรต่ออะไร รู้สึกจะเป็นเรื่องเป็นราว แต่เมื่อเวลาสภาพธรรมปรากฏ จะเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องเป็นราวขณะจิตคิด

    ผู้ฟัง ขณะจิตคิด

    ท่านอาจารย์ แต่จิตไม่ได้คิดทุกดวง ทุกประเภท จิตเห็นไม่ได้คิด จิตได้ยินไม่ได้คิด จิตคิด ไม่ใช่จิตเห็น ก็เป็นจิตแต่ละประเภทไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังตรึกนึกถึงเรื่องราว ที่เราได้ศึกษามา ขณะนี้ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ปัญญาในขั้นที่จะรู้สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะปรมัตถธรรม ขณะนั้นไม่ใช่ สติปัฏฐาน ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นด้วย จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นแล้วขณะใดที่ยังเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นตัวตน อย่าลืม เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกัน แต่ความจริง เป็นจิตที่ต่างประเภทแล้วก็ ห่างกันไกลด้วย

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นบารมีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ บารมีจริงๆ หมายความว่าผู้นั้น เห็นโทษของกิเลส อกุศล แล้วก็มีความมั่นคงที่จะดับกิเลส ที่จะละกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่ว่าการศึกษา หรือกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ไม่ใช่หวังผลตอบแทนว่า เราทำ กุศลอันนี้ แล้วเราจะได้อันนั้น หรือว่าถ้าเราทำอย่างนี้ จะมีเกียรติยศ ชื่อเสียง มีบริวาร หรือมีทรัพย์สมบัติ หรือมีอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น จุดมุ่งก็คือว่า เพื่อที่จะละกิเลส รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง แต่ยังมีความรู้สึกว่าเป็นเราได้

    ท่านอาจารย์ ทำไมจะไม่เป็น ถ้าตราบใดที่โลกุตตรจิต ยังไม่เกิด

    ผู้ฟัง ถ้ายังมีความรู้สึกว่าเป็นเรา ขณะนั้นจะเป็นบารมีด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ เราไม่ใช้ชื่อได้ไหม คือเราไม่ต้องไปเกี่ยว ติดข้องกับชื่อว่านี่ใช่ไม่ใช่ นี่เป็นไม่เป็น แต่ว่าขณะใดก็ตามซึ่งมีความมั่นคง ที่จะอบรมทุกอย่างที่เป็นคุณความดี เพื่อที่จะรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ฟังเข้าใจไปเรื่อยๆ แล้วสังขารขันธ์ คือเจตสิกฝ่ายโสภณเข้าก็ทำหน้าที่ของเขา คือ อบรมความรู้เพิ่มขึ้น โดยไม่หวังว่าเมื่อไร ตรงไหน ตอนไหนจะเป็น รอคอยว่าแล้ว อย่างไรจะเป็น ไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง ปัญญา เกิดมาก จะอบรมอย่างไร บ้าง พอที่ปัญญาเกิด มีอบรม ไม่ใช่ทำ จะอบรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังอบรมอยู่แล้ว จะให้ทำอย่างไรอีก นี่คือการกำลังอบรม สิ่งที่ถูกต้อง คือ หนึ่งรู้ว่าปัญญาเกิดยาก แล้วก็ไม่ละความเพียร แล้วก็กำลังอบรม แล้วจะต้องการอะไรอีก

    ผู้ฟัง นี่กำลังอบรม จะให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถึงต้องพิจารณา ให้เข้าใจธรรม ที่ได้ฟัง ว่านี่ จิรกาลภาวนา

    ผู้ฟัง ยังมีที่ท่านอาจารย์ พูดตอนแรกว่า ต้องคบหาสัตบุรุษ เราก็คบอยู่แล้ว สัตบุรุษ เราคบอยู่แล้ว ต้องฟังธรรมของท่าน ฟัง ที่ท่านสอน ที่ท่านพูด ฟัง เราก็ฟังอยู่ เสร็จแล้ว ฟังแล้วไม่ใช่ฟังเฉยๆ ฟังแล้วทิ้งไป ฟังแล้วเอาไปคิด ไปไตร่ตรอง ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ เสร็จแล้ว ไตร่ตรองได้เหตุได้ผลสมควรแล้วก็ปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ความรู้ความเข้าใจ ที่เราไตร่ตรองดีแล้วจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิด ธัมมานุธัมมปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าพบสัตบุรุษ คือทุกคนพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จากพระธรรม ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยได้ฟัง เมื่อเราฟัง เราก็รู้ว่า ธรรมนี้มาจากใคร

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ ว่าเราก็ไม่ทราบว่าท่านผู้ใดเป็นสัตบุรุษ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ในที่อื่น เช่น ไปที่ไหนๆ เราก็ไม่ทราบว่าท่านผู้ใดเป็นสัตบุรุษ ที่ท่านสอนเราเทศน์อะไร ต่ออะไรอย่างนี้ เราไปฟังก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นสัตบุรุษหรือเปล่า ถ้าหากว่าท่านสอนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จากพระธรรมวินัยจริงๆ พระไตรปิฎก อรรถกถา จริงๆ สอนเราถือว่า เราได้ คบสัตบุรุษ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง อย่างไรๆ เราก็ไม่ได้เห็น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่นอน ภิกษุรูปอื่นที่มีคำสอนของตัวเอง บังหมด ไม่ทำให้เราสามารถจะรู้ เลยว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมอะไร แต่ว่าเมื่อใดที่เราได้ฟังพระธรรม ชื่อว่าเราได้เห็น ได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมได้รู้จักว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออย่างไร คือพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ เพราะฉะนั้น เราได้เห็นสัตบุรุษ ซึ่งเลิศที่สุดคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ได้ฟังด้วยว่าพระธรรมจริงๆ ที่ทรงตรัสรู้ที่ทรงแสดง ทรงประจักษ์แจ้งอย่างไร ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟังเราก็พิจารณา รู้ว่าสิ่งใด เป็นสิ่งที่ถูก สิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจคำสอนเรื่องสภาพธรรม สามารถที่จะเกิดปัญญาของเราเอง ที่ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม ขึ้น ขณะนั้นก็จะนำไปสู่สติปัฏฐาน คือปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม คือสมควรแก่การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ที่ได้ยินได้ฟัง จริงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีหนทาง ต้องอาศัย โยนิโสมนสิการ หรือ การพิจารณา อย่างมากทีเดียว

    ผู้ฟัง นี้คือการ โยนิโสมนสิการ นี้ ก็โย ไม่ค่อยจะเป็นด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ พิจารณาไป

    ผู้ฟัง คือต้องฟัง ฟังธรรมให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี้คือ โยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง จริงที่ว่า ชวนจิต ทำหน้าที่สะสม อันนี้จริงหรือเปล่า ผมฟังเมื่อกี้นี้ที่ ผ่านมาแล้ว สะสม หมายความว่า สะสมอะไร ชวนจิต สั่งกรรมหรือสะสมอารมณ์ หรือสะสมปัญญา

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ชวนจิต คืออะไร ใช้คำไหนก็ตาม อย่าใช้เผิน ต้องทราบจริงๆ ว่าคืออะไร ได้แก่จิตอะไร

    ผู้ฟัง ผมได้ยินว่า จะสะสม

    ท่านอาจารย์ ได้ยินแล้วก็ตามแต่ ชวนจิตคืออะไร ได้แก่จิตประเภทไหน จึงชื่อว่า ชวนจิต

    ผู้ฟัง คือจิตที่รับรู้

    ท่านอาจารย์ จิตทุกดวง เกิดขึ้นรู้ ไม่มีจิตสักขณะเดียวที่เกิดขึ้น แล้วไม่รู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น ชวนจิต คืออะไร นี่คือการไม่เผิน นี่คือการต้องพิจารณาทุกอย่างที่ได้ฟัง ให้เข้าใจถ่องแท้จริงๆ มิฉะนั้นไม่ชื่อว่าเข้าใจพระธรรม ฟังแล้วไม่เข้าใจ แล้วก็ผ่านไป แล้วก็ไปฟังอื่น แล้วก็ผ่านไป แล้วก็ไม่เข้าใจ อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ชวนจิต คืออะไร ได้แก่จิตอะไร จึงชื่อว่าชวนจิต ยังไม่ทราบใช่ไหม หรือทราบแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ชวนจิต ได้แก่ โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต นี้เป็นฝ่ายอกุศล เพราะว่าที่ใช้คำอย่างนี้เพราะทุกคนชินหู กับคำว่า โลภะ โทสะ โมหะ แต่ว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่เจตสิกจะต้องเกิดกับจิต เท่านั้น จะเกิดกับรูป จะเกิดกับอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากจิต และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน เมื่อโลภะ เป็นเจตสิกเกิดกับจิตใด จิตนั้นชื่อว่าโลภมูลจิต โลภมูลจิตทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งสั้นๆ ว่า ชวนจิต เพราะเหตุว่า ทำชวนกิจ โลภมูลจิต ทำปฏิสนธิกิจ คือจิต ขณะแรกที่เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตประเภทนี้ไม่สามารถที่จะทำกิจปฏิสนธิ ปฏิสนธิกิจ ต้องเป็นจิตประเภทวิบาก คือผลของกรรม เพราะฉะนั้น ที่ทุกคนเกิดจิตขณะแรก เป็นผลของกรรมหนึ่ง ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่โมหมูลจิตซึ่งเป็นฝ่ายอกุศล นอกจากนั้นแล้วกุศลอื่นๆ ทั้งหมดก็ ทำ ชวนกิจด้วย เพราะฉะนั้น จึงแยก โดยประเภท เป็นชาติ ให้ทราบว่า จิต มี ๔ ชาติ คือจิตที่เป็นเหตุ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ จิตใดที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล จะเปลี่ยนเป็นอกุศล ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศล ก็เป็นกุศล เป็น ๑ ชาติ คือจิตซึ่งเป็น ๑ ชาติ ที่เป็นกุศล เป็นเหตุ แล้วจิต ที่เป็นอกุศล ก็เป็นชาติ อกุศล เป็นเหตุ สำหรับผลคือวิบากจิต นี่ก็ ๓ ชาติ แล้วยังมีจิตอีกประเภท ๑ คือกิริยาจิต นี้ต้องเป็นผู้ที่อ่านหนังสือด้วย พอฟังแล้ว เพราะว่าเรามีหนังสือ ที่เกี่ยวกับเรื่องของจิต ปรมัตถที่จะทบทวนได้ เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่าที่ชื่อว่าชวนจิตได้แก่ กุศลจิต และอกุศลจิต แล้วถ้าศึกษาต่อไป จะทราบว่า มีวิบากจิตพิเศษที่ทำ ชวนกิจได้ คือโลกุตตรวิบาก เท่านั้น นอกจากนั้นจะทำชวนกิจไม่ได้ พอพูดถึงจิต จะมีหลายชื่อต่อไป อย่างพอพูดโลภมูลจิต แล้วจะมีคำว่าชวนะ ก็เป็นจิตประเภทเดียวกันเพราะว่า ชวนะ เป็นกิจ ของจิตนี้ ส่วนโลภมูลจิตก็แสดงว่าจิต นี้มีโลภะเป็นมูล แต่ความจริง ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็จะต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ว่าบางครั้งไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย อกุศลจิตนั้นก็เป็นโมหมูลจิต เพราะฉะนั้น อกุศลจิตจึงมี ๓ ประเภท คือโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ทำชวนกิจ หรือจะเรียกว่า ชวนจิตก็ได้ ต้องเข้าใจก่อนที่จะไปถึงอันนั้นใช่ไหม เพราะถ้าไม่เข้าใจ เราก็ไม่สามารถจะเข้าใจถึงการสั่งสมได้ การสั่งสมที่นี่คือ ขณะหนึ่ง ขณะใด ที่จิตที่มีโลภะ เกิดร่วมด้วยแม้ว่าดับไปแล้ว ก็สั่งสมโลภะนั้นสืบต่อไปอีก สะสมความเป็นผู้ที่ติดข้องไว้มากทีเดียว ถ้าเป็นโทสมูลจิต เกิดขณะหนึ่ง ก็อย่าประมาท เพราะเหตุว่า แม้ว่าโทสมูลจิตนั้นดับไป ก็สั่งสม ความขุ่นใจ ความไม่พอใจสืบต่อไป ที่จะเป็นผู้ที่มากด้วยโทสะ ถ้าสั่งสมปัญญาซึ่งเป็นกุศล ก็คิดได้เลยว่า กำลังสั่งสมปัญญาที่จะเกิด เป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้น ข้างหน้า อย่างฟังวันนี้เข้าใจ กลับไปบ้าน อาจจะอ่านหนังสือ ก็เข้าใจขึ้นอีก นี้คือการสั่งสมจากการที่ฟัง ไปถึงตอนเย็นตอนค่ำ ที่อ่านหรือที่ฟังวิทยุก็เข้าใจขึ้น นี่คือการสั่งสม

    ผู้ฟัง เรื่องอัตตาธิปไตย ท่านอาจารย์ จะช่วยกรุณาขยายคำว่า อัตตาธิปไตย

    ท่านอาจารย์ เคยมีท่านผู้หนึ่ง ซึ่งท่านก็ศึกษาธรรม และท่านก็บอกว่า ท่านทำกุศล เพราะเหตุว่าเป็นตัวท่านที่ทำ ถ้าไม่มีตัวท่าน แล้ว ท่านก็ไม่อยากทำกุศล เพราะเหตุว่ามันไม่ใช่ตัวท่าน อย่างนั้น เป็นอัตตาธิปไตยหรือเปล่า ทำเพราะเป็นตัวเราที่ทำ

    ผู้ฟัง หรือว่าทำแล้วเพื่อตัวเองจะได้กกุศล ฟังดูแล้วก็รู้สึกว่าดี ว่าเราได้ทำกุศลด้วยตัวเอง ถ้าอย่างนี้ ก็ไม่ถูกต้อง หรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นอัตตาธิปไตย ถึงเป็นกุศล ก็เพื่อตัวเอง

    ผู้ฟัง ปัญญาในขั้นความเข้าใจ ในเรื่องอัตตาธิปไตยนี้ ก็อีก ระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ธรรมมีหลายระดับมาก แม้แต่ฟังแล้ว ศึกษาแล้ว เข้าใจบ้างแล้วก็ยัง เป็นได้ คิดดู แล้วจะละกิเลส จะละอย่างไรเร็วๆ

    ผู้ฟัง จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น อย่างแท้จริง

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมปัญญาไปเรื่อยๆ ละเอียดขึ้น เพิ่มขึ้นมากทีเดียว จนกว่าจะรู้จริงๆ ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้จริงๆ มีใครท้อใจบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถึงท้อ ก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ท้อใจ ประโยชน์ คือ ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจ นั่นคือประโยชน์แล้ว จะต้องท้อใจทำไม กับการที่ไม่เคยได้ฟัง ไม่เคยเข้าใจ

    ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์ ช่วยอธิบาย ๒ คำ คือ เจตนาคำหนึ่ง โยนิโสมนสิการ หรือการกระทำในใจไว้โดยแยบคาย เพื่อที่จะเข้ากับว่าใกล้เคียงกันหรือเปล่า เจตนากับโยนิโส เกิดที่จิตดวงไหนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจตนาเป็นเจตสิก เป็นเราหรือเปล่า เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของเรา ก่อนฟังธรรม ไม่รู้จักเจตสิก เป็นเราทั้งนั้นเลย บังคับจงใจ ตั้งใจ ทำทุกอย่าง แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้วจึงรู้ว่า ไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น คือ สภาพที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม อย่างหนึ่ง อย่างใด คือไม่จิตก็เจตสิก หรือรูป เพราะฉะนั้น เจตนา มี จริง ถ้ามีจริง สิ่งใดที่จริง มีสภาพธรรม ปรากฏลักษณะของความจงใจ ตั้งใจ เกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก

    ธรรมมี แล้วเราจำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะให้รู้ว่า เราหมายความถึงสภาพธรรม อะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรม ฝ่ายดีก็มี สภาพธรรม ฝ่ายไม่ดีก็มี นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแล้วแต่จะพิจารณาว่าสากลจริงๆ คือ สิ่งที่ไม่เป็นของใคร เป็นสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ได้บอกว่าท่านสามารถที่จะบันดาล ให้คนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่หมายความว่าต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ความจริงของธรรมจนกว่าจะเห็นจริงๆ ว่าคำสอนที่สอน เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ตลอดเวลา ๔๕ พรรษาก็เป็นจริงตามที่ได้พิสูจน์แล้ว ไม่ทราบยังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เคยสงสัย ที่ท่านบอกให้เดินสายกลาง พอใจในสิ่งที่มีอยู่ บางครั้ง ถ้าเผื่อเรา ที่ให้ไปสู่จุดหมาย เช่น เทียบให้ดู ว่า มีซี ๑๐ ซี๑๒ แล้วยังอยู่ซี ๘ ถ้าเผื่อเราพอใจ เราก็พอใจในซี ๘ เราไม่ขวนขวาย แต่ในทางเดียวกัน เราก็อยากไปซี ๑๒ ก็มีความสงสัยว่า ถ้าไม่เดินสายกลาง เราก็พอใจซี ๘ เหมือนกับว่า ทำให้เรา ไม่มีความมานะ พยายามที่จะไปให้ถึงจุดซี ๑๒ มีความรู้สึกมันต่อต้านกัน ไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ ความจริงศัพท์ธรรม เราเอามาใช้ธรรมดา อย่างสายกลาง เหมือนกับสายกลางทั่วไป แต่ตามความเป็นจริงแล้วสายกลางจริงๆ ต้อง เป็นปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ต่างคนก็ต่างสายกลาง เพราะทุกคนมีสิทธิ สายกลางของคนนี้ สายกลางของคนนั้น สายกลางของคนรับประทานมาก สายกลางของคนรับประทานน้อย ก็ไม่ทีทางที่จะเป็นสายกลางจริงๆ ได้ แต่ว่าสายกลางจริงๆ คือ ขณะนั้นต้อง มีปัญญา และสายกลางที่นี่หมายความถึง มัชฌิมาปฏิปทา หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แม้แต่เพียงคำว่าเกิดดับ แต่ก่อนนี้เราไม่เคยรู้เลย เราคิดว่าเกิดมา คือ เกิด ตายคือดับ หรือว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่ใช้คำว่า อนิจจัง หรืออนิจจา หมายความว่าเคยเป็นอย่างหนึ่ง และเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น เคยแข็งแรง แล้วก็เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ บอกว่าไม่เที่ยง อนิจจัง เคยมีตาดี แล้วก็เกิดตาบอด ไม่เที่ยงอีกแล้ว อนิจจังอีกแล้ว เราเข้าใจในความหมายนั้น แต่ว่าความหมายจริงๆ ของสภาพที่ทรงตรัสรู้ ไม่เปลี่ยนเป็นความจริงโดยการตรัสรู้ว่าแม้ขณะนี้เอง ทุกอย่างต้องเกิด จึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิด จะไม่มีการปรากฏเลย แล้วสิ่งที่เกิดจะต้องมีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ไม่มีอะไรเลย แล้วจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็จะต้องมีสิ่งซึ่งปรุงแต่งผสมกัน ที่ทำให้มีการเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับทันที นี่คือการตรัสรู้ ความหมายของไตรลักษณะคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น หมายความถึงสภาพธรรม ในขณะนี้เอง ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาพของนามธรรม คือสภาพที่เป็น จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพของรูปธรรมคือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมทั้งหมด ที่ปรากฏ เพราะเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ทางสายกลาง คือ หนทางที่จะรู้ ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ ไม่ใช่ไปใช้อย่างอื่น ถ้าไปใช้อย่างอื่นก็เป็นความหมายที่เราหยิบคำ ในพระไตรปิฎก มาใช้ตามใจชอบอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริงๆ ว่าแท้ที่จริง นี่เป็นหนทางที่จะอบรม เจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เปรียบเทียบว่าพุทธศาสนา นี้เหมือนปรัชญา ใช่ไหม หรือว่า

    ท่านอาจารย์ ต้องขอความหมายของคำว่า ปรัชญา ว่า หมายความว่าอะไรแค่ไหน คำว่าปรัชญา นักปรัชญา มีกี่คน คนเดียวหรือเปล่า หรือว่าหลายคน นักปรัชญา

    ผู้ฟัง มากกว่าหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ มาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกี่คน มีใครบ้างที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่มากมายอย่างนักปรัชญา แต่หมายความว่าไม่ใช่การผูกขาด ผู้ใดก็ตามที่อบรมเจริญปัญญาถึงระดับขั้นที่จะตรัสรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ผู้นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง เพราะคำว่าพุทธ คือผู้รู้ มีความหมายต่างกันคือ ถ้าเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญบารมีพร้อมที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ ด้วยพระองค์เอง โดยที่ไม่ต้องเป็นสาวก หรือเป็นผู้ฟังใคร ในพระชาติที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในกาลสมัยซึ่งไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหลืออยู่ แต่ผู้ที่ได้เคย ฟังเคยอบรมปัญญามาแล้ว แม้ในกาลที่ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การอบรมพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ทำให้ผู้นั้นสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ตามการสะสมของบารมีที่ไม่ถึงระดับของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็สามารถที่จะตรัสรู้ สภาพธรรม ในขณะนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องฟังใคร แต่จากการที่เคยอบรมมาแล้ว แต่เป็นปัจเจกพุทธเจ้า หมายความว่า บารมีที่อบรมมาไม่เท่ากับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พร้อมด้วยพระญาณต่างๆ มากเหนือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ทรงมีพลญาณ หรือว่าพระญาณต่างๆ ที่จะทรงแสดงพระธรรมตามอัธยาศัย ของผู้ฟังด้วย แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้สะสมปัญญามา ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ก็เป็นพระสาวกได้ เช่นท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระอรหันต์ และพระอริยสาวกทั้งหลาย สามารถที่จะรู้ความจริงได้เมื่อ ได้อบรมปัญญาแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567