ปกิณณกธรรม ตอนที่ 536


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้ไม่ทราบใครนอนหลับ ดึกหรือเปล่า หรือบางคนก็อาจอยากจะหลับ แต่หลับไม่ได้ ตราบใดที่กรรมยังจะทำให้เห็น หรือจะทำให้ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องชีวิตแต่ละขณะจริงๆ ถ้าทราบความเป็นอนัตตาของธรรม จะเห็นได้ว่าทำไมเราต้องศึกษา เพราะว่าเห็นเป็นเราเห็น ได้ยินเป็นเราได้ยิน ซึ่งเป็นความเห็นผิด แล้วเมื่อเห็นแล้ว ธรรมดาจะเป็นอกุศล หลังจากที่เห็น คือ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็มีความติดข้องในสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นความขุ่นเคือง เพราะฉะนั้น จะหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดอกุศล หลังจากเห็นแล้ว ได้ไหม ที่เราจะพูดกันแต่เพียงเรื่องของกุศล หรือ อกุศล ถ้าเราไม่รู้เลย ว่าแท้ที่จริงแล้ว เมื่อเห็นแล้วไม่รู้ความจริงของเห็น จึงมีการยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วต้องการ ถ้าเป็นคนก็อาจจะชอบ อาจจะรัก หรืออาจจะชัง จากการเห็นสิ่งนั้นนั่นแหละ แต่ว่าถ้าไม่เห็น จะคิดถึงสิ่งนั้นได้ไหม จะชอบสิ่งนั้นได้ไหม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่จะไม่มีอกุศลได้ก็ต้องมีปัญญา ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมจริงๆ เท่านั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทุกข์ส่วนใหญ่ เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ถ้าเป็นทุกข์ทางกายทางเดียว เช่น เวลาที่เจ็บ เวลาที่หิว ใครบ้างไม่รู้จักทุกข์อันนี้ว่าเป็นทุกข์ ถ้าหิวนิดหน่อยก็อาจจะไม่มาก ไม่คิดว่าจะเป็นทุกข์อะไรหนักหนา แต่ถ้าหิวหลายๆ ชั่วโมง หรือว่านานๆ เข้า ความทุกข์นั้นก็จะมาก ปรากฏให้เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะว่าเวลาที่ทุกข์กายเกิด ทุกข์ใจติดตามมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ทั้งหมดจะเห็นได้ว่าอกุศลที่มีมาในวันหนึ่งๆ ที่มาก เพราะว่าเราไม่รู้ความจริงของ อเหตุกจิต ซึ่งเป็นวิบาก ว่าเป็นผลของกรรมซึ่งต้องเกิด ไม่ต้องพูดถึงตอนนี้ พูดถึงตั้งแต่ขณะจิตแรกที่เกิด เลือกเกิดไม่ได้ เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมหนึ่ง ในสังสารวัฏ ที่ทำให้เป็นคนนี้ในชาตินี้ แล้วก็จะสิ้นสุดลงเมื่อถึงจิตขณะสุดท้าย ทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไปไม่ได้ ซึ่งแม้แต่จิตขณะสุดท้ายก็เป็นวิบากจิต คือเป็นผลของกรรม ที่เราใช้คำว่า ถึงแก่กรรม ในภาษาไทย เป็นคำที่มีความหมายว่า เมื่อกรรมนั้นถึงที่สุดแล้วก็จะทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกขณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุ ก็จะทำให้เราเห็นความเป็นอนัตตา ของธรรมทั้งหลายได้มากขึ้น แล้วก็จะได้เข้าใจจริงๆ ว่าที่เราเกิด แล้วไม่รู้ ทำให้เต็มไปด้วยกิเลสทุกภพทุกชาติไป อย่างคนที่ไม่เคยได้ฟังธรรม หรือ พระอภิธรรมเลย ก็จะอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ ความเป็นตัวตนตลอด ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีตัวตน แต่มีธรรม ซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป

    ในวันหนึ่งๆ เห็นหรือเปล่า ได้ยินหรือเปล่า ได้กลิ่นหรือเปล่า ลิ้มรสหรือเปล่า รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหรือเปล่า ส่วนใหญ่ในวันหนึ่งก็คือเท่านี้เอง พอลืมตาก็เห็นไม่รู้ว่าเป็นวิบาก พอได้ยินเสียงก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบาก พอได้กลิ่นก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบาก ขณะลิ้มรส อร่อย หรือไม่อร่อยก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบาก ขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น เราก็อยู่กับความไม่รู้ทั้งวัน เพราะว่าเห็นทั้งวัน ได้ยินด้วย ได้กลิ่นด้วย ลิ้มรสด้วย คิดนึกด้วย นี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่จะต้องมีความเห็นถูกในอเหตุกจิต คือจิตที่เป็นผลของกรรม ๑๐ ดวง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ผู้ฟัง ตรงนี้ผมก็เข้าใจชัดว่าจำเป็นที่จะต้องศึกษา เพื่อให้เข้าใจในเรื่องของสภาพของ อเหตุกจิต แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญจวิญญาณจิต หรือว่า เกี่ยวกับวิบากจิตที่เกิดทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายซึ่งมี ทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบากนี้ ดูแล้วค่อนข้างที่อาจารย์ จะพูดมากที่สุด คือพูดบ่อยที่สุด ก็จะเห็นว่า แค่ ๑๐ ดวงก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราน่าจะเรียนก่อน อันอื่นอย่าเพิ่งไปเรียนเลย ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจเรื่องของ อเหตุกจิต หรือจิตที่มีปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่เป็นจิตที่ไม่เคยสนใจ ไปสนใจกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เรื่องอื่นบ้าง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเหล่านี้ตลอด ไม่ขาดเลย ก็ควรจะได้รู้ความจริง ของสิ่งที่ปรากฏอยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ก็เป็นเพียงแค่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ทั้ง ๑๐ ดวง

    ท่านอาจารย์ ถ้าอ่านพระสูตรจะไม่มี อเหตุกจิตอื่น นอกจาก ๑๐ ดวงนี้ที่ ทรงแสดงไว้ในพระสูตร แต่ว่าในพระอภิธรม เพราะเหตุว่าเรามีความไม่รู้ และมีความยึดถือสภาพธรรมมาก จึงต้องทรงแสดงให้เละเอียดจริงๆ ว่า ในขณะนี้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะวิบากจิตที่เห็นเท่านั้น ยังมีวิบากซึ่งเกิดต่อจากเห็นด้วย จนกว่าจะถึงกุศลจิต หรือ อกุศลจิต แล้วก็มีกิริยาจิตด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เราก็จะเห็นความกระจ่าง เพราะเหตุว่าส่วนมากก็จะชินกับคำว่า กุศล อกุศล แต่ไม่ชินกับ อเหตุกจิต ไม่ชินกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้เลย ทั้งๆ ที่มี เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้แล้ว ก็จะทราบได้ว่าหลังเห็น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หลังได้ยิน เป็นกุศล หรือ อกุศล ก็จะเข้าใจขึ้นว่าตลอดชีวิตของเรา ที่มีโลภะ มีความติดข้อง ก็จากสิ่งที่ปรากฏทางตานี่เอง ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ผู้ฟัง ขณะที่เราเรียน หรือเรียนเพื่อศึกษาที่จะเข้าใจ สภาพของจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตรู้รส จิตกระทบสัมผัส ตรงนั้นเป็นเรื่องการฟัง หรือว่าการที่ปรากฏขึ้น คือความเข้าใจจะเกิดอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอนหรือเช่นใด ขณะที่ฟังเรื่องเห็น ขณะนั้นก็ยังไม่เข้าใจว่า เห็นนั้นเป็นอย่างไร ต้องรอให้เห็นนั้นเกิดความเข้าใจแล้วพิจารณา ศึกษาอบรม ตรงนี้ ประกอบกับเรื่องของการฟังขณะนี้มีการฟังอยู่ด้วย คือการสนทนา นี้คือการฟัง อยากจะกราบเรียนถามอาจารย์ว่า ขณะที่เราฟัง ฟังเรื่องราวของการเห็นการได้ยินต่างๆ แล้วก็ขณะที่จะเกิดความเข้าใจ ตรงนั้นต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องทราบว่า ต้องเข้าใจความหมายของคำที่ได้ยินได้ฟัง เช่นคำว่า ธรรม ต้องรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และ ที่ใช้คำว่าธรรมเพราะว่าสิ่งนั้นไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใครหรือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย ถ้าเข้าใจตั้งแต่ต้น เราก็จะได้ รู้ว่าทุกคำที่เราจะได้ยินที่เกี่ยวกับธรรมก็เป็นธรรมจริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ได้พูดเพ้อฝันถึงสิ่งซึ่งไม่ปรากฏ เช่น เราพูดถึงเรื่องจิต ขณะนี้ก็ต้องมีจิตให้รู้ได้ ถ้าไม่มีการเห็นขณะนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ว่ามีสภาพหรือธาตุที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเรื่องตัวหนังสือ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ให้รู้ว่า เป็นธรรมจนกว่าจะเข้าใจ เพราะว่าเราจะพูดตลอดไปเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าใครจะอ่านพระสูตรไม่พ้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เต็มในพระสูตร ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนก็ตาม ในพระอภิธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่าต้องเข้าใจธรรมว่าเห็น เป็นธรรมก่อนอื่น แล้วขณะนี้เห็นไม่ได้อยู่ในหนังสือ ทุกคนกำลังเห็น แล้วปัญญาก็จะต้องค่อยๆ เข้าใจธรรมที่เห็นซึ่งมีจริงๆ ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงว่า เห็นไม่ใช่เรา เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนตาย สำหรับกี่ชาติมาแล้ว ที่ไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ธรรม ไม่มีใครบอกว่าเห็นเป็นธาตุชนิด ๑ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ทำหน้าที่ของสภาพธรรม นั่นคือเห็นแล้วดับ ทันที เร็วมาก สั้นมาก เพราะฉะนั้น การที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมซึ่งยากที่จะได้ยินได้ฟังก็ต้องรู้ ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเหตุว่าจะให้เข้าใจทันทีว่าขณะที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา แล้วความจริงก็เป็นอย่างนั้น ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าขณะที่เห็น เป็นอย่างนั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เป็น ก็ต้องค่อยๆ พิจารณาว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาปรากฏกับธาตุที่กำลังเห็น ซึ่งคนตายไม่มีธาตุชนิดนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสภาพเห็นจริงๆ เช่นเดียวกับสภาพได้ยินมีจริงๆ สภาพคิดนึกก็มีจริงๆ สภาพที่จำได้ก็มีจริงๆ แต่ว่าต่างกันเป็นธาตุแต่ละอย่าง ถ้าเป็นทางฝ่ายสภาพรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นวิญญาณธาตุ แต่ถ้าเป็นธาตุอื่นเช่นเจตสิกที่ เกิดกับจิต เช่น ความจำ หรือว่าความรู้สึก ความดีใจต่างๆ เหล่านี้เป็น ธรรมธาตุ ซึ่งธรรมธาตุเราก็จะได้ยินบ่อยๆ ถ้าแยก ๒ คำออก วิญญาณธาตุ กับ ธรรมธาตุ วิญญาณธาตุ ก็เป็นนามธรรม ธรรมธาตุเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรม แต่ว่าสำหรับธรรมธาตุที่เป็นนามธรรม หมายความถึงเจตสิกเท่านั้น เพราะว่าเราแยกวิญญาณธาตุออกมา นี่เป็นความต่างกันของแม้ว่า นามธรรมจะเป็นธาตุรู้ แล้วก็เกิดร่วมกัน รู้สิ่งเดียวกันแต่ก็ยังต่างกันเป็นจิตกับเจตสิก นี่ก็คือการที่จะไม่เห็นว่า ขณะนี้เป็นเรา ต้องเข้าใจละเอียดขึ้นๆ แล้วก็ต้องพิจารณาเข้าใจในขณะที่เห็นว่า เห็นขณะนี้เป็นอย่างนั้น คือเป็นธาตุที่เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ขออนุญาตอีกคำถามเดียว คือตรงที่ ธาตุที่ปรากฏ คือสภาพธรรมที่เป็นธาตุที่ปรากฏเช่น ธาตุเห็นก็ตาม ธาตุได้ยินก็ตาม จริงๆ แล้วเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ เขาก็รู้ว่า เขาเห็น ธาตุนี้ปรากฏแก่เขา อย่างนี้เราจะพูดว่าธาตุนี้ปรากฏแก่เขาได้ไหม สัตว์ก็เหมือนกัน สุนัขเขาก็เห็นอาหาร เขาก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เขาถึงได้รู้

    ท่านอาจารย์ เขาไม่รู้ว่าเป็นธาตุแน่นอน แต่เขาเห็น เห็นโดยไม่รู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ของผู้ที่ศึกษาก็ เพื่อที่จะให้รู้สภาพธาตุ ตรงนั้นเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพความจริงทั้งหมดเลย เป็นสัจธรรมทุกอย่างที่มีจริง เป็นสัจธรรม ผู้ที่รู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล สภาพธรรม ที่เป็นสัจธรรมก็เป็น อริยสัจธรรม ทำให้ผู้รู้เป็นพระอริยบุคคล ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เราติดในรูปสวยๆ ในเสียงเพราะๆ ในกลิ่นหอมๆ ในรสอร่อย ในสิ่งที่กระทบสัมผัสที่สบาย เพราะฉะนั้น รูปจึงเป็น อุปาทานขันธ์ เป็นที่ยึดถือ เป็นที่ต้องการ อย่างมากทีเดียว ซึ่งทุกคนก็สามารถที่จะเข้าใจตัวเอง ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ที่ทุกคนทำกรรมดี บางคนบอกว่าเพื่อจะได้ ผลดี หวังอะไร หวังเห็นรูปที่น่าพอใจ เสียงที่น่าพอใจ โดยที่ไม่รู้เลยว่าเป็นวิบากจิต ไม่สนใจเพราะว่าติดข้องในรูป จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เวทนาอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเพราะติดข้องที่อยากจะได้รูปนั้นมา โดยการที่ว่าเมื่อมีกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ที่เป็นไปในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ทำให้ต้องการในสิ่งนั้น แล้วก็รู้ว่า ถ้าจะได้สิ่งที่ดีๆ ก็ต้องทำกรรมดี ถ้าเป็นผลของกรรมไม่ดีก็จะเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี นี่ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่ง ซึ่งคนหวังรูป ติดในรูป โดยที่ไม่คำนึงถึง อุเบกขาเวทนา ซึ่งเกิดกับจักขุวิญญาณ แล้วเป็นเพียงแค่ความรู้สึกเฉยๆ เท่านั้น จะเป็นอื่นไปไม่ได้ แต่ว่าเพราะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏมาก ก็ต้องการโสมนัสเวทนา หลังจากที่เห็น ด้วยความติดข้องในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเรียนให้ละเอียดจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เราติด เพียงแค่ปรากฏเพราะจักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ แล้วปรากฏนิดเดียว แต่ความติดข้องของเรามากมายสักแค่ไหน จนถึงกับ ออกจากสังสารวัฏไม่ได้ ถ้าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ตัวติดข้องไม่ใช่จักขุวิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นวิบากจิต เป็นผลที่ทำให้ต้องเห็น ขณะนี้ทุกคนที่เห็นต้องเห็น เพราะว่ากรรมที่สุกงอมทำให้จิตนี้เกิดขึ้น เห็น ไม่ใช่เราเลือกหรือเราต้องการ หรือตามความต้องการของเรา แต่แล้วแต่กรรม

    ผู้ฟัง หากเรารู้ และสนใจ หรือเห็นจักขุวิญญาณจิตนี้ก็ มันก็จะทำให้เรา

    ท่านอาจารย์ เพราะจริงๆ จักขุวิญญาณ เห็น แต่เราชอบรูปที่เห็น แล้วเรารู้ด้วยว่าต้องมีตาถึงจะเห็น มีหู ถึงจะได้ยิน

    ผู้ฟัง จักขุวิญญาณจิต เวทนาก็เป็นอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ อุเบกขาทั้งหมด นอกจากกายวิญญาณเท่านั้น ที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องฟังให้เข้ากระดูก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นี่คือการที่ใครๆ ก็ถามว่า แล้วเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ก็ถ้าไม่มีความเข้าใจมั่นคง แล้วก็คอยว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด แต่ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง ไม่ต้องห่วงเลย

    ผู้ฟัง จักขุวิญญาณจิตเป็นตัวติดข้อง หรือ

    ท่านอาจารย์ มิได้ เป็นวิบากจิตที่ทำกิจเห็น เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ติดข้องจริงๆ คือ ขณะจิตที่หลังจาก

    ท่านอาจารย์ หลังจากเห็นแล้ว เป็นอกุศลเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่แล้วที่ติดข้องนี้เกิดจากสัญญา ที่มีอยู่เดิมไหม หรือเกิดจากอื่น

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเดิม ที่ไหน อะไรอีกเล่า คิดมาก คิดไกล

    ผู้ฟัง เห็น จักขุวิญญาณ เวทนาเป็นอุเบกขาเวทนา ก็ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์ ก็กล่าวอย่างนี้แล้ว แต่ก็ยังแปลกใจอยู่ว่า เป็นอกุศลวิบาก กุศลวิบาก แต่เวทนาก็ยังเป็นอุเบกขาเวทนา มันไม่น่าจะเหมือนกันได้เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าอารมณ์ที่รู้ เป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี เลือกไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ถ้าวิบากดีหรือไม่ดี ก็ค่าเท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนปัญหาของคุณพันทิภา ที่ว่า เพียงแค่อุเบกขาไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ก็ไม่น่าจะต่างอะไร แต่ทีนี้ไม่ใช่ต่างตรงนั้น

    ผู้ฟัง แต่ละบุคคลก็มี ระดับการติดข้องไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สาเหตุ ตรงที่ไม่เท่ากัน เป็นเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ การสะสม

    ผู้ฟัง การสะสม

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนี้ติด ชั่วขณะสั้นๆ เล็กน้อยเหลือเกินดับ แต่สืบทอดต่อไปอีก เพิ่มขึ้นๆ ทุกขณะที่เกิด ถ้าไม่ติดขณะนี้ ดับไปก็สืบทอดที่จะไม่ติดทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง จะเป็นกุศล อกุศลก็หลังจากตรงนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น นี้เป็นสิ่งสำคัญที่ก่อนอื่น ถ้าจะศึกษาปรมัตถธรรม เรื่องจิต เจตสิกแล้วต้อง รู้เรื่องชาติ คือจิตเกิดขึ้น ชา-ติ คือเกิดขึ้นเป็นอะไร สำคัญมากเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา เพราะฉะนั้น พื้นฐานของการศึกษาธรรมสำคัญ ถ้าจะตั้งต้นเรื่องจิตเลยจะสับสัน เพราะว่า ไม่รู้ความเป็นมาเป็นไป พอถึงขันธ์ก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต หรือเจตสิกอย่างไร เป็นสังขารธรรม หรือว่าเป็นสังขตธรรมอย่างไร

    ผู้ฟัง การสะสมที่ว่า ถ้าเราทราบว่าการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิด กุศล อกุศล ขณะที่เราเห็น ถึงแม้ว่าจะดี เราก็หลับตา ไม่อยากจะดู จะได้ไหม เพื่อจะได้ไม่ต้องสะสม

    ท่านอาจารย์ อะไรทำให้คุณวีระหลับตา

    ผู้ฟัง ก็ใคร่ที่จะ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ด้วย ว่าอะไรทำให้คุณวีระ หลับตา อกุศลเกิดก็ไม่รู้แล้ว หนีอกุศลโน้น ก็มาเจอ อกุศลนี้

    ผู้ฟัง เร็วมาก ทราบอยู่ แต่ว่าจะหาวิธีที่ว่า เมื่อรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คือ วิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่มากระทบสัมผัส แล้วก็ทราบว่าอย่างไรก็ตาม จะต้องชอบแน่ เช่น มองไปทางนี้สวยมาก ก็เลยหลับเสียเลย อย่างนี้เป็นต้น มันก็น่าจะ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าหลับ หรือหันไปทางอื่น อะไรทำให้ทำอย่างนั้นเล่า

    ผู้ฟัง เกรงว่าจะติด

    ท่านอาจารย์ อกุศล ต่างหาก

    ผู้ฟัง นั่นอกุศลอีกแล้วหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นไปในทานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในความสงบของจิต หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น แต่ว่าหันไปอาจจะสงบก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ หวังด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้น จะเห็นโลภะ ละเอียดขึ้นๆ แล้วก็จะรู้ได้เลยว่าหนทางเดียว ไม่ใช่หนี แต่รู้ความจริง เพราะว่าจิตเกิดขึ้นเร็วแสนเร็ว เราไม่มีการที่จะเตรียมตัวเลยว่า จะให้จิตประเภทไหนเกิด มีปัจจัยพร้อมที่จิตประเภทไหนจะเกิดจิตประเภทไหน เกิดแล้วดับแล้วด้วย จะไปใช้สติ จะไปใช้ปัญญา จะไปตั้งตรงนั้น ตรงนี้ ไม่มีทางเลย เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับ เร็วยิ่งกว่าใครจะรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากสะสมปัญญา ความรู้ถูก ความเห็นถูก ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นหนทางเดียว หลีกเลี่ยงทางอื่นก็จากอกุศลนี้ ก็ไปสู่อกุศลนั้นทั้งนั้น อย่างเวลานี้ มีใครสังเกต อะไรเป็นพิเศษบ้างไหม คนอื่นอาจจะไม่เห็นอะไรที่แปลก แต่ว่าคนที่สังเกตอาจจะเห็น ก็เป็นไปได้ ขณะนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องของปัญญาอะไร แต่เป็นเรื่องในขณะที่กำลังมองด้วยความสนใจ ใส่ใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็รู้ในลักษณะนั้น ซึ่งเมื่อกี้นี้ ก็คุณโอก็ถาม ก็ต้องค่อยๆ ไล่ไป ว่าสังเกตเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะว่าการที่เราจะเข้าใจสภาพธรรม ก็ต้องค่อยๆ คิด รูปสังเกตอะไรไม่ได้เลย ต้องเป็นนามธรรม ซึ่งนามธรรมก็ได้แก่จิต และเจตสิก ลักษณะที่สังเกต จะเป็นลักษณะของจิต หรือ เจตสิก ก่อนที่จะไปถึงว่าอะไร ก็ต้องเป็นเจตสิก และเจตสิก ๕๒ ก็เกิดพร้อมกัน แต่ว่าลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่าง แต่ละอย่างก็ต่างกัน อย่างมนสิการเจตสิก เป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจ มีสิ่งหนึ่ง ว่างอยู่ที่นี่เป็นพวงมาลัย แล้วแต่ว่าใครสังเกตอะไรตรงนั้นหรือเปล่า กลีบไหนที่ต่างกับอีกกลีบหนึ่ง ถ้าไม่สนใจไม่ใส่ใจก็ไม่เห็น ขณะนั้นก็เป็นคำที่เราใช้ธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปซึ่งต้องเป็นเจตสิกแน่นอน และถ้ามีการที่จะอบรมเจริญปัญญาขึ้นโดยไม่รู้ ไม่พิจารณา จะเห็น จะค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องหมายความถึงอีกระดับหนึ่ง เพราะเหตุว่า สำหรับมนสิการเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ขาดมนสิการเจตสิกไม่ได้เลย แล้วแต่ว่า มนสิการเจตสิกนั้นจะเกิดกับจิตอะไร เกิดกับวิบากจิต อเหตุกะ หรือเกิดกับวิบากจิตอื่น หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องความละเอียดที่จะต้องเรียนต่อไป แต่ความจริง ควรที่จะเข้าใจว่า ในพระสูตรมีคำหลายคำ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นเจตสิกอะไร ในพระสูตรมีคำว่า เจตนามี เอกัคคตามี นี่ก็เป็นโดยตรงว่า ได้แก่เจตสิกอะไร แต่เป็นขณะที่ปัญญาเจริญเพิ่มขึ้น และรู้ขึ้นว่าเป็นเรื่องละ แทนที่จะมี มีความต้องการโน่น ต้องการนี่ ก็จะมีการรู้ว่าหน้าที่คือละความต้องการ เพราะฉะนั้น เมื่อละความต้องการแล้ว สัมมาสติ มีโอกาสที่จะเกิด ตามเหตุ ตามปัจจัย โดยตรงไม่มีการพยายามหรือว่าการจะไปเบี่ยงเบนว่าอยากจะให้ปสาทรูปปรากฏ จะได้รู้ เพราะฉะนั้น เมื่อละมากเท่าไร ความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็ปรากฏตามสภาพของเหตุปัจจัย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567