ปกิณณกธรรม ตอนที่ 523


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ มีท่านผู้หนึ่ง ท่านมีฉันทะในการฟัง แต่ว่าท่านจะไม่ฟังคนอื่นเลย แม้แต่คำถามตัดออก คำถามไม่เอาเลย ใครจะถามว่าอย่างไร เสียงคนอื่นจะไม่มีเลย แล้วก็มีแต่เสียงคำบรรยาย แล้วก็ให้ดิฉันมาฟัง ๖๐ ตลับ ดิฉันฟังแล้วไม่ชอบเลย เพราะอะไร ใครอะไรก็ไม่มี ใครพูดใครถามอะไร ก็ไม่มีทั้งนั้นเลย มีแต่เสียงธรรมออกมา จะเข้าใจได้อย่างไร แต่คนนั้นเข้าใจ และคนนั้นก็พอใจที่จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งตามความจริงแล้วไม่ควรที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ลึกซึ้งถึงกระดูกหรือเยื่อในกระดูก ทุกอย่างเป็นธรรม เราก็ตองรู้ว่าเราเลือกไม่ได้เลย แล้วถ้าเรายังเลือกอยู่ หมายความว่า เราปฏิเสธที่จะไม่รู้ว่า อย่างอื่นก็เป็นธรรมด้วย

    ผู้ฟัง แต่เราเหลือเวลาน้อยมาก เราไม่มีเวลาเลย

    ท่านอาจารย์ เวลาของคุณนันทวัฒน์ผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ แล้วข้างหน้ายังมีอีกแสนโกฏิกัปป์ ปัญญาเราแค่ไหน แล้วก็ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามากแค่ไหน ถ้าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่มีประโยชน์จริงๆ จะแสดงทำไม ก็จะต้องมีแต่พระอภิธรรมอย่างเดียว กับ สติปัฏฐานสูตรเดียว ถ้าเราพูดว่า จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป แล้วก็จิตมีกี่ประเภทเท่าไรอย่างไรจบแล้ว แห้งแล้ง ไม่มีอะไรเลย แต่ชีวิตจริงๆ เต็มไปด้วยอะไรบ้าง โลภะประเภทต่างๆ ชีวิตหลากหลายของบุคคลในครั้งโน้น ในครั้งนี้ก็ต่างกันไป ครั้งต่อไปก็จะต่างกันไปอีก ทุกอย่างล้วนเป็นธรรม แม้แต่จิตของเรา ถ้าไม่แสดงโดยนัยของพระสูตร ใจของเราจะอ่อนที่จะเห็นว่ากิเลสน่ารังเกียจ หรือว่าปัญญาเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญ

    ที่ทรงแสดงพระธรรมไม่ว่ากับใคร ขึ้นอยู่กับปัญญาของคนฟัง อย่างเวลาที่พราหมณ์ที่สูงอายุไปเฝ้า แล้วก็ขอให้แสดงพระธรรม พระองค์ตรัสเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ พราหมณ์ซาบซึ้ง แต่ในนั้นไม่ได้บอก ว่าถึงกระดูกหรือเปล่า แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นของจริง เป็นสิ่งจริง เขาก็เห็นประโยชน์ว่า พระองค์รู้จริงๆ เพราะว่าสามารถพูดถึงสิ่งที่ทุกคนมีจริงๆ แล้วแสดงหนทางที่จะให้ รู้ความจริงจนกระทั่งสามารถที่จะดับ อกุศลได้

    ผู้ฟัง ถ้าผมตอบอย่างนี้ว่า ในขณะนี้ เวลานี้ หรือในชาตินี้ ผมมีโอกาสได้เจอท่านอาจารย์ ได้เจอมิตรสหายธรรมทุกท่าน ถ้าเกิดผมตาย

    ท่านอาจารย์ คนอื่นอาจจะตายก่อน

    ผู้ฟัง ผมกลัวอย่างนี้ ผมกลัวว่า

    ท่านอาจารย์ คุณนันทวัฒน์ คิดอะไรที่มันเป็นอกุศล คือความห่วงใย แล้วก็ความกังวล ซึ่งความจริง ธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย ต้องทราบจริงๆ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด คุณนันทวัฒน์จะไม่ห่วง ว่าเวลายังเหลืออีกน้อย เพราะเหตุว่าขณะนั้น เป็นปัญญาที่รู้ความจริงว่าชีวิตคืออย่างนี้ สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ การที่เราได้ฟัง ครั้งหนึ่งในชาตินี้ อาจจะเป็นครั้งที่เท่าไรของชาติก่อนๆ มาแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องมีการที่จะต้องกังวล ส่วนเรื่องที่จะเกิดขึ้นทุกขณะจิต ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะทราบได้ว่าทุกอย่างที่เกิด เกินความคิดของเรา หรือเกินความหวัง เกินความห่วงใย เกินความกังวล เพราะเหตุว่าทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ระหว่างที่คุณนันทวัฒน์ ยังไม่ทันจะห่วง อาจจะตายเสียก่อน หรือว่ากำลังห่วงก็ตาย หรือกำลังเป็นกุศลก็ตายได้ หลังจากนั้นก็แสดงให้เห็นว่า บังคับไม่ได้จริงๆ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดถึง ความจริงของสภาพธรรมซึ่งไม่มีใครบังคับบัญชาได้ โดยการที่ว่าขณะนี้กำลังฟังอย่างนี้ ประโยชน์ คือเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ต่อจากนั้นไม่ต้องคิดเลย อะไรจะเกิดก็คือเกิด ฟุตบอลโลก ก็ฟุตบอลโลกแล้วแต่ บังคับไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดผมขออนุญาตตอบ ตอบเล็กๆ น้อยๆ ต่อรองไว้หน่อยว่า ทั้งๆ ที่รู้อยู่ พยายามที่จะฝืน ทั้งๆ ที่รู้อยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครแก้คุณนันทวัฒน์ได้ เพราะว่ารู้ตัวเองว่ากำลังฝืน แต่ว่าสามารถที่จะค่อยๆ อบรมปัญญา รู้ สภาพของนามธรรม และรูปธรรม อันนี้สำคัญกว่า อะไรจะเกิด จะฝืน หรือไม่ฝืน ก็ขอให้อบรมปัญญาที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง โลภชวนะแรกที่เกิด เป็นดวงหนึ่ง ดวงใด ใน ๘ ดวง ถ้าเราจะอนุโลมโดยเหตุ โดยผล

    ท่านอาจารย์ โดยเหตุ โดยผลจริงๆ เร็วแสนเร็ว ขณะจิตหนึ่งขณะ เร็วแค่ไหน ชวนะ แค่ ๗ ขณะของความเร็วนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ หรือไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยชัดเจน เราไม่มีทางที่จะกล่าวได้เลย ที่บรรยายไว้เมื่อ ๒,๓ วันทุกคนก็คงจะได้ฟัง ที่กล่าวว่า เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุต เพราะเหตุว่าขณะนั้น เป็นความยินดีในภพ เวลาที่มีความยินดีในภพขณะนั้น ไม่ใช่ โลภทิฏฐิคตสัมปยุต ความรู้ทุกอย่าง ยิ่งมากยิ่งดี หรือว่ายิ่งมากยิ่งไม่ดี

    ผู้ฟัง ดี สะสมเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะรู้นิดหนึ่ง หรือจะรู้มากๆ ดี อย่างไรก็ตามแต่ การฟังของแต่ละคน เพื่อเข้าใจ และค่อยเข้าใจขึ้น เมื่อเข้าใจมากขึ้น ทุกคนก็คงจะเห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาอภิธรรม แล้วเราไม่รู้ข้อความในพระสูตรเลย เราจะรู้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโดยนัยของพระสูตร ไม่ใช่ว่าพระสูตรต่างกับพระอภิธรรมเลย เป็นธรรมทั้งหมด แต่ทรงแสดงโดยนัยเทศนา ที่ว่าแสดงพระอภิธรรมโดยนัยของพระสูตร ในพระสูตรก็ต้องมีเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งก็เป็นปรมัตถธรรม ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจตัวจริงของธรรม คือปรมัตถธรรม ไปอ่านพระสูตรจะเข้าใจผิด

    ผู้ฟัง การศึกษาพระสูตร กับพระอภิธรรม อะไรยากกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเข้าใจความละเอียดถูกต้องจริงๆ พระอภิธรรมยาก พระสูตรคนฟังแล้วดูเหมือนง่าย พูดถึงเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ ดูเหมือน แต่ถ้ามีการศึกษาพระอภิธรรม จนกระทั่งเข้าใจแล้ว ถึงจะรู้ว่าเหมือนกัน เรื่องเดียวกัน

    ผู้ฟัง ผมสังเกตว่าตอนที่เรายังไม่เข้าใจพระอภิธรรม แล้วไปอ่านพระสูตร รู้สึกสนุก จำง่าย มันง่าย รู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าเข้าใจพระอภิธรรมแล้ว ไปอ่านพระสูตรอีกรู้สึกมันยากขึ้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ถูกต้อง แม้แต่ปฏิจจสมุปบาทก็มีในพระสูตร แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในพระอภิธรรมจึงจะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าเราจะตั้งใจละอกุศลได้ อย่างไร ผมไม่เข้าใจตรงนี้ เมื่อกุศลเกิด เราทำให้กุศลเกิดแล้ว ขณะที่กุศลเกิดในขณะนั้น ละ อกุศลหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจลักษณะธรรมว่า จิตปรมัตถ เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ หนึ่งขณะที่เกิดเดี๋ยวนี้ เอาเดี๋ยวนี้เลย เราไม่ทราบเลยว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ในแสนโกฏิกัปป์ ที่สะสมมา จนกระทั่งถึงปฏิสนธิจิต เป็นจิตที่เป็น กามาวจรวิบาก เป็นผลของกุศลระดับกาม เป็นไปในทานในศีล หรือว่าในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือภาวนาก็ตามแต่ ขณะนั้นเป็นจิตชาติหนึ่ง ซึ่งมีทุกอย่างอยู่ในนั้น ดับไป ขณะต่อไปก็เป็นภวังคจิต กรรมที่ได้ทำไว้ในชาติก่อนๆ อยู่ที่ไหน ก็ต้องอยู่ในจิตที่เกิด ทีละหนึ่งขณะแล้วก็สะสม แต่ว่าขณะใดก็ตามที่กรรมใด ยังไม่ถึงกาล คือยังไม่พร้อมที่จะทำให้วิบากจิตเกิด ก็สะสมอยู่ เป็นการสะสมที่สืบต่อมาเรื่อยๆ ทีนี้เวลาที่มีการเป็นผลของกรรม พร้อมที่จะให้ผลเมื่อไร สุกงอมเมื่อไร ที่เราใช้คำว่า สุกงอม ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด อย่างขณะเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นวิบากจิต หมายความว่าต้องเป็นผลของกรรมซึ่ง เกิดแล้วดับ แต่ว่าสะสมสืบต่อ อยู่ในจิตทุกขณะ จนกว่าจะถึงกาลที่เป็นปัจจัยให้จิตเห็นในขณะนี้เกิด ทางตาฉันใด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ฉันนั้น

    วันนี้เรายังไม่มีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง แต่กรรมไม่ได้สูญหายเลย สะสมสืบต่อในจิตทุกขณะ เพียงแต่ว่ารอกาลเวลาที่พร้อม ที่สุกงอม ที่จะให้ผล เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นทางกายเมื่อไร ก็เจ็บ มีความรู้สึกเป็นทุกข์เมื่อนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า เรื่องของวิบาก เป็นเรื่องผลของกรรมจริงๆ แต่เวลาที่มีการเห็น มีการได้ยินแล้ว ก็จะมีกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง ซึ่งไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้น ก็สะสมสืบต่อ อย่างที่ว่าเราจะเปลี่ยนได้ไหม ถ้าเราฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจขึ้น ความเข้าใจเราก็ไม่ได้สูญหายไปเลย แต่ละขณะ จาก ๓ ปีก่อน ที่ได้ฟังทีนี่ ค่อยๆ สะสมมา หรือ๑๐ ปี ๒๐ ปีก่อนที่ได้ฟังเทป ก็สะสมสืบต่อในจิตทุกขณะ พร้อมที่จะทำให้ปัญญาสมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเห็นการได้ยินแล้ว หรือว่าเพียงแต่คิดนึกขึ้นมา ก็คิดนึกเรื่องของปัญญา ด้วยความเข้าใจขึ้น นี่คือสภาพของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ แล้วก็สะสมทั้งกุศลอกุศล และกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก เป็นกิเลสวัฏ กัมมวัฏ วิบากวัฏ

    ถ้าเวลาที่จะตาย หมายความว่าสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็จะต้องแล้วแต่กรรมหนึ่ง กรรมใด ก็ไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ในจิตแต่ละขณะเดี๋ยวนี้ ที่สืบต่อ แล้วก็มีกรรมนั้นแหละ ที่จะเป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด สืบต่อจากจุติจิต คือขณะสุดท้ายของชาตินี้ เพียงแต่เราไม่รู้ว่ากรรมไหน เพราะในจิตขณะหนึ่ง สะสมไว้หมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะกี่ชาติมาแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อถึงกาลที่กรรมนี้จะให้ผล ก็เป็นปัจจัยให้ จิตก่อนที่จะจุติ เป็นกุศลบ้าง หรือเป็นอกุศลบ้าง ตามกรรมนั้น แล้วกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบากก็เกิดต่อ ก็เป็นจิตหนึ่งขณะๆ หนึ่งขณะเท่านั้น

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นทาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันปรากฏขึ้น ครั้งหนึ่งๆ นี่ กุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดพร้อม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หลังจากนั้น ในวาระเดียวกัน

    ผู้ฟัง ทีนี้ ผมอยากจะทราบว่า เมื่อเราเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ในแต่ละครั้ง ครั้งหนึ่งก็ยากแสนยาก แต่ถ้าเราเข้าใจตรงนั้น จะมีผลกระทบกระเทือนไปถึง อกุศลกรรม ที่เรามีอยู่สั่งสมมานานแสนนานหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าถึงขั้นอริยบุคคล คือ โสดาปัตติมัคคจิต ผลก็คือว่าจะไม่มีกรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ

    ผู้ฟัง ในแต่ละครั้ง ในตอนที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ กำลังมันจะเพิ่มขึ้นไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีกรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ก็น่ากลัว ใช่ไหม ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ทิฏฐิคตสัมปยุต กับ ทิฏฐิคตวิปปยุต ถ้าเราลองมาพิจารณากันจริงๆ แล้ว ตราบใดที่เรายังไม่ได้เจอพระพุทธศาสนา มีโอกาสที่จะเป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ปกติในชีวิตประจำวัน ทั่วๆ ไปเป็นทิฏฐิคตสัมปยุต หรือว่าเป็นทิฏฐิคตวิปปยุต ในชีวิตประจำวันปกติ

    ผู้ฟัง ปกติเป็นทิฏฐิคตสัมปยุต

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วปกติเป็นวิปปยุต เพราะว่าเวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วมีความพอใจยินดี เร็วเกินกว่าที่เราจะกั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่จักขุทวารวิถีจิตเกิด หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับ แล้วก็สัมปฏิจฉันนะจิต จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะดับ ชวนะเป็นความยินดีติดข้อง โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเลย ด้วยซ้ำไป ยังไม่มีความเห็นใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ปกติจริงๆ เป็นโลภทิฏฐคตวิปปยุต แต่บางกาล เราจะมีความรู้สึก เกิดความรู้สึกว่า นี่เป็นตัวเรา ขณะที่มีความเห็นอย่างนั้น ว่านี่เป็นเรา รูปเป็นเรา นี่เรา ขณะนั้นก็เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุต แต่ว่าปกติเรามักจะอาหารอร่อย หรือว่าชอบทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็มีความพอใจทันที เร็วมาก ถ้าคิดถึงวาระหนึ่งของจักขุทวารวิถี เร็วแค่ไหน ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็น ขณะจิตเดียว จักขุวิญญาณขณะจิตเดียว สัมปฏิจฉันนะขณะจิตเดียว สันตีรณะขณะจิตเดียว โวฏฐัพพนะขณะจิตเดียว เป็นโลภะแล้ว ใครก็ทำอะไรไม่ได้ นี่คือการที่ฟังธรรม เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าใครสะสมโทสะมามาก แทนที่จะเป็นโลภะ ก็เป็นโทสะ แต่ถ้าใครอบรมเจริญปัญญา กุศลจิต แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต หรือสติปัฏฐาน ก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะว่าทุกอย่างต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เห็นทุกคนเห็นเหมือนกัน แต่สะสมมาที่จะเป็นโลภะต่างๆ สะสมมาที่จะเป็นโทสะต่างๆ สะสมมาที่จะเป็นกุศลต่างๆ สะสมมาที่จะระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเราเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของกุศลจริงๆ จะไม่ประมาท แล้วก็จะเห็นคุณของกุศล แม้เพียงเล็กน้อย สั้นแสนสั้นอย่างไรก็ยังเป็นปัจจัยเกิดได้ แล้วก็สะสมต่อไป เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตนั้นเกิดได้อีก เพราะฉะนั้น ถ้าถึงระดับของสติปัฏฐาน ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการสะสมอบรมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะชำนาญ

    ทันทีที่ตื่น คนส่วนใหญ่แต่ก่อนนี้ก็ไม่ได้ฟังธรรม แต่ตอนนี้ พอตื่นขึ้นมา ตี ๕ มีรายการธรรมเริ่มฟัง สะสมทันทีที่มีการรู้สึกตัวขึ้น ก็เป็นกุศล ทางหูก็ฟังไป แล้วก็ก่อนจะนอน ก็สะสมเรื่องของกุศลอีก เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าการสะสมของเราจะเปลี่ยน จากการสะสม ทางฝ่ายอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าเมื่อไร มีปัจจัยที่จะมีสติปัฏฐานจะเกิดระลึก แม้แต่เห็นแล้ววาระต่อไป ก็เป็นสติปัฏฐานได้

    ผู้ฟัง ผมยังสงสัย ในเมื่อตามสภาพธรรม ตามความเป็นจริงเป็น อนัตตา แต่ว่าอนัตตาทรงค้นพบโดยพระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกนั้นจะเป็นเรื่องของอัตตาเสียมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครสอนได้ ถ้าผู้นั้นไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ผมถึงว่าโอกาสที่จะเป็น

    ท่านอาจารย์ โลภทิฏฐิคตสัมปยุต

    ผู้ฟัง โลภทิฏฐิคตสัมปยุต มีมากกว่า

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้บ่อย วันนี้เราอาจจะไม่ได้คิดเรื่อง ตัวเราของเราเป็นเรา เราอาจจะมีความพอใจ ในอาหารในทุกสิ่งทุกอย่างทางตา ทางหู เห็นดอกไม้สวยๆ อย่างนี้ ชอบ วาระจิตเร็วมาก ที่จะเกิดขึ้นยินดีพอใจ โดยยังไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็ลองคิดดูว่า ไม่ว่าเป็นชาวพุทธ ชาวอะไรก็ตามแต่ ทุกคนชีวิตประจำวัน ความรวดเร็วของวาระหนึ่งๆ ของจิตจากการเห็นก็ จะทำให้ทุกคนเหมือนกันหมด มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง แล้วต่อจากนั้น

    ท่านอาจารย์ ต่อจากนั้นก็แล้วแต่ แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ ก็จะเป็นความติดข้องไปเรื่อยๆ ต่อเมื่อใดมีวาทะ สนทนากัน ทีนี้ความเห็นจะออกมาแล้ว ว่าต่างกัน คนนี้เห็นว่าอย่างนั้น คนนั้นเห็นว่าอย่างนี้ หรือแม้แต่ ไม่มีการสนทนาเรื่องความเห็นใดๆ เลย แต่เวลาที่ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ แต่ก่อนนี้ เราอาจจะคิดว่า ไม่ได้คิดเรื่องความเป็นตัวตน หรือ ไม่ใช่ตัวตนเลย ไม่ได้คิดอย่างนี้เลยในวันหนึ่งๆ แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏแล้วนั่นเป็นเรา ขณะนั้นก็เป็น โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุต เราถึงได้รู้จักสภาพธรรม ทุกอย่างด้วยสติปัฏฐาน แม้แต่ทิฏฐิคต คือความเห็นผิด ว่ามีเราก็จะรู้ได้ จากสติปัฏฐาน เพราะถึงแม้มี ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่รู้ ว่ามีเมื่อไร แต่เวลาที่มี แล้วรู้ ขณะนั้นเพราะสติปัฏฐานระลึก จึงมีความเป็นเราอยู่ ในสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ นั้นจึงรู้ว่านี่คือลักษณะของความเห็นผิด ที่เป็นสักกายทิฏฐิ ความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องคิดเป็นคำ ทางปัญจทวาร เห็นเป็นเรา ถ้าสติปัฏฐาน สามารถที่จะระลึกรู้ ว่าขณะนั้นมีความรู้สึกว่าเป็นเรา แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเรา ก็หมายความว่าขณะนั้นไม่มีความเห็นผิด แต่ถ้ามีความรู้สึกเกิดขึ้นว่าเป็นเรา เคยมีไหม ความรู้สึกว่าเป็นเรา เมื่อไรที่มีความรู้สึกว่าเป็นเรา แม้ไม่ต้องพูดเลย รู้ว่าเป็นเรา พระโสดาบันก็รู้ พระพุทธเจ้า ก็รู้ ไม่รู้ ได้อย่างไร นี่เป็นอะไร นั่นเป็นอะไรก็รู้ แต่ว่าผู้ที่มีความเห็นว่าเป็นเรา ต้องมี

    ผู้ฟัง ความเห็น นี่เป็นเรื่องมีปัญญา กับ ไม่มีปัญญา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดว่าเป็นเรา เห็นผิด ไม่ใช่รู้ว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นเราไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รู้ รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด พระพุทธเจ้า ก็รู้ ว่านี่เป็นพระโมคคัลลานะ นั่นเป็นท่านพระสารีบุตร

    ผู้ฟัง นั่นรู้

    ท่านอาจารย์ นั่นรู้ว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง แต่ความเห็นไม่เหมือนกัน

    วิทยากร. ถ้าเอาเรื่องวิปลาส ถ้าไปจับแล้วจะชัดเจน จิตขณะนั้นเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลแล้ว จะไม่เป็นวิปลาส ถ้าขณะใดเป็นอกุศลนั่น สัญญาวิปลาส จิตวิปลาสจะมีเสมอ แต่ทิฏฐิวิปลาสจะไม่มีตลอดเวลา

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงเรื่องวิปลาสไปอีกอย่างนั้นหรือ นอกจากพุทธศานาแล้ว สอนตรงข้ามกับเราหมด ถือว่าวิปลาสหมด

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องถือ จริง แต่ถ้าเราเข้าใจถูกว่า ถูกคือถูก ผิดคือผิด แล้วเรามุ่งหวังที่จะให้คน เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย แล้วเราไม่ได้เพียงแต่บอกว่าใครผิดใครถูก แต่เรามีเหตุผลว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่สิ่งนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เราสามารถที่จะบอกแล้วให้คนพิจารณาได้ อย่างจิต ทุกคนรู้ว่ามีจิต ศาสนาๆ ไหนก็รู้ว่ามีจิต แต่สามารถที่จะอธิบายลักษณะ หรือความละเอียด เหตุที่จะให้เกิดจิตแต่ละประเภทได้หรือเปล่า จนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่าเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น เพียงรู้ว่าเป็นจิต แต่ก็เป็นเรา วิญญาณขันธ์ นั่นเป็นเรา มีควาามยึดมั่นในวิญญาณนั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น จึงเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ซึ่งเราผ่านตัวหนังสือ ตัวหนังสือ ตัวเลข แต่ถ้าเราจะเข้าใจตัวสภาพธรรมจริงๆ เราต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็จะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ตรงตามที่ทรงแสดงไว้ทุกอย่าง แม้แต่เรื่องของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุต หรือ ทิฏฐิคตสสัมปยุต ก็จะมีความต่างกัน โลภะปกติที่ไม่ได้มีความเห็นเลย แต่เกิดแล้วติดข้องแล้ว ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วเวลาที่เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุต ก็ไม่ใช่วาต้องเป็นความเห็น ที่จะต้องออกเป็นวาทะ หรือวาจา หรือว่ากล่าวแสดงทัศนะต่างๆ เพียงแต่ขณะนั้น สภาพธรรมนั้นปรากฏแต่เป็นเรา ขณะนั้น สามารถที่สติจะระลึกรู้ ว่าต่างกับขณะที่เป็นแต่เพียงความติดข้อง เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าสภาพธรรม เกิดดับเร็วมาก มากจริงๆ มากจนเปรียบกับอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่เพราะสติระลึกได้ นี่คะเป็นตัวที่สำคัญที่สุดที่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน ไม่ใช่คำว่า ผัสสะปัฏฐาน ไม่ใช่คำว่า สมาธิปัฏฐาน แต่ใช้คำว่า สติสัมปชัญญะ เท่านั้น ที่สามารถจะระลึกได้จากการฟังเข้าใจ ถ้าไม่มีการฟังที่เข้าใจ สติขั้นทานเกิดได้ สติขั้นศีลเกิดได้ สติขั้นจิตสงบเกิดได้ แต่สติขั้นที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่มีทางเลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567