ปกิณณกธรรม ตอนที่ 499


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ผู้ฟัง เมื่อได้ฟังธรรมไปแล้วเข้าใจ เสร็จแล้วก็มาอบรมเจริญด้วยการพิจารณา ศึกษาสังเกต ลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟัง แล้วเข้าใจ เป็นการอบรมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อบรม อยากจะกราบเรียนถามว่ามีวิธี เท่านี้ ใช่ไหม อย่างอื่นไม่มีอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็ให้คุณรพ ตอบอีก เวลาที่มีคนไปฟังธรรม พระผู้มีพระภาค ถามเพื่อให้คนนั้นคิด แล้วเป็นความเข้าใจของเขาเอง ซึ่งก็เห็นว่าวิธีนี้ก็เป็นทางที่จะทำให้ผู้ถาม ได้พิจารณาด้วยตัวเองแล้วตอบ เพราะถึงแม้ว่าผู้ตอบจะตอบไปอย่างไร แต่ถ้าผู้ถามไม่พิจารณาก็ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ถ้าเป็นการพิจารณาของผู้ถามเอง คำตอบเป็นของผู้ถามเอง ก็จะเป็นคำตอบของเขาเองด้วย ไม่ต้องไปเชื่อคนอื่น เพราะว่าพิจารณาแล้ว มีทางอื่นอีกไหม แต่พิจารณาได้แล้วก็ควรจะเป็นคำตอบของตัวเอง ทุกคนไม่ใช่แต่เฉพาะคุณรพ เพราะฉะนั้น เมื่อกี้นี้ก็ถาม ตอบมา ก็ทำให้รู้ได้ว่าผู้ฟัง มีความเข้าใจแค่ไหนแล้ว

    ผู้ฟัง ก็มีวิธีเดียว ผมเข้าใจว่า มีวิธีเดียวๆ คือหมายความว่า ฟัง ให้เข้าใจ ฟัง ให้เข้าใจ หมายถึง ฟังลักษณะสภาพธรรมทั้ง ๖ ทวารให้เข้าใจว่าคืออะไร แล้วก็ระลึกศึกษาสังเกต ลักษณะสภาพธรรมนั้น อันนั้นจะทำให้ปัญญาได้รับการพัฒนาขึ้น แล้วเมื่อไรปัญญาจึงจะรู้ชัด หรือว่าต้องฟังมากๆ มากแค่ไหนหรือแล้วแต่สติปัญญาของแต่ละท่านซึ่งได้อบรมมาในอดีตชาติ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าต้องฟัง เพราะอะไร เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ขณะนี้เป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป นอกจากจิต เจตสิก รูป ก็ไม่มีอย่างอื่นที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ฃณะนี้ที่ต้องฟังเรื่องนี้เพราะเหตุว่าสภาพธรรม เป็นอย่างนี้ กำลังปรากฏ เฉพาะหน้าจริงๆ คือเห็นก็กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีจิตซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินก็เป็นของจริง เสียงก็มีจริงๆ สภาพที่ได้ยินเสียงก็มีจริง คิดนึกก็มีจริง สุขทุกข์ก็มีจริง ดีใจ เสียใจ โกรธ หรือว่าลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ฟัง จะสามารถเข้าใจได้ไหม ถ้าไม่ฟังสามารถจะประจักษ์ว่าขณะนี้ เป็นนามธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ขณะนี้ที่เห็น เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก โดยที่ไม่มีกำหนด ว่าเท่าไร ที่ถามกันมักจะถามกันเหมือนกับรอคอยแบบเข้าโรงเรียน กี่ชั้นกี่ปี ๒๐ ปีหรือว่า ๑๐ ปี จะผ่านชั้นนั้นชั้นนี้ นั่นไม่ใช่ แต่ว่าผู้นั้นเอง เป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เป็นอุชุปฏิปันโน ผู้ตรง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอกเรา ว่าเดี๋ยวนี้เราเก่งพอแล้ว ไม่ต้องฟังอีก แต่ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รู้ ว่าขณะที่ฟังอย่างนี้เข้าใจแค่ไหน ลักษณะของสติ เป็นสภาพที่ระลึก ที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต่างกับเวลาที่หลงลืมสติอย่างไร ถ้าไม่ฟังอย่างนี้แล้วจะเจริญได้อย่างไร ก็เป็นความรู้ขั้นคิด หรือว่าขั้นฟังเท่านั้น แต่ว่าความรู้จะต้องเพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้น จนสามารถที่จะประจักษ์สภาพธรรมตรง ตามที่ได้ยินได้ฟังทุกอย่าง เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือว่า ทุกคนรู้ตัวเอง ว่าขณะที่สภาพธรรม กำลังเผชิญหน้า สติระลึกหรือเปล่า เมื่อสติระลึกแล้วปัญญาพอที่จะเห็นถูกต้อง ว่าไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่ละอย่างหรือยัง ถ้ายังก็ต้องฟังไปอีก แล้วก็จะรู้ได้ว่า ถ้าไม่ฟังเลย ไม่มีทางเลยที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเข้าใจถูกต้องได้

    มีจุดหนึ่งที่คุณประสงค์ พูดถึงเรื่องว่า ต้องเงียบจริงๆ ทำไม ทำไมถึงต้องเงียบจริงๆ ถ้าเป็นปัญญาเราก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรม ทุกอย่างที่มีในขณะนี้ แล้วก็เป็น อนัตตาด้วย คือแล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะว่ามีสภาพธรรมอยู่ในขณะนี้ ทางตาก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมฟังเพื่อให้เข้าใจ แล้วรู้ตามความเป็นจริงในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ในขณะที่ต้องเงียบ หรือว่าในขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความจริงของ เสียง ของจิตได้ยินของสภาพธรรม ที่มีในขณะนั้น ซึ่งก็ไม่ต้องเงียบ เพราะฉะนั้น เรื่องเงียบก็อาจจะเป็นความคิดที่คิดว่าคงจะต้องอาศัยความเงียบ หรือว่าอาศัยสมาธิ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าอ่านดูในพระไตรปิฎก จะไม่มีคำว่า สมาธิปัฏฐาน ผัสสะปัฏฐาน เจตนาปัฏฐาน วิริยะปัฏฐานก็ไม่มี จะมีคำเดียวคือสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็จะต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะของสติซึ่งไม่ใช่สมาธิ เพราะว่าส่วนมาก ถ้าคนไม่เข้าใจลักษณะของสติ แล้วก็ไม่ทราบจริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร รู้ทุกสิ่งที่มีไม่ว่าจะเงียบหรือไม่เงียบก็ตาม สิ่งใดที่มี เป็นของจริง ปัญญารู้ได้โดยสติระลึก แต่กว่าที่จะสติจะระลึกได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ สัมมาสติ จึงจะเกิดระลึกได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาสามารถที่จะรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ โดยที่ไม่เลือก หรือไม่คิด หรือว่าไม่เอาสมาธิ มาเป็นสิ่งสำคัญเพราะเหตุว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่สมาธิปัฏฐาน แล้วก็ไม่ใช่ปัฏฐานอื่นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้จริงๆ ว่า สติ ต่างกับสมาธิ มิฉะนั้นแล้วก็จะเข้าใจแต่ลักษณะของสมาธิ แต่จริงๆ แล้วในขณะที่ฟังก็มีสมาธิแล้ว ไม่ใช่ไม่มี แต่สมาธิที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมสติด้วย แต่ไม่ใช่สติขั้นระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม แต่กำลังฟังเรื่องปรมัตถธรรม ก็เป็นการเจริญขึ้นของสติ และปัญญา และโสภณเจตสิกอื่นๆ จนกว่าถึงระดับที่เป็นสังขารขันธ์ที่สติปัฏฐาน จะเกิด แล้วปัญญาจากการฟังนี้ ทั้งหมดจะเกื้อกูล ทำให้สามารถเข้าใจ ลักษณะของปรมัตถธรรม ที่เป็นรูปธรรมหรือ นามธรรมในขณะนั้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะชิน เพราะเหตุว่านามธรรม และรูปธรรมมากมายเหลือเกิน มากจริงๆ ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ จะไม่รู้เลยว่า เพียงชั่วขณะจิตเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด หรือ ๗ ประเภท แล้วจิตอื่นนอกจากจิตเห็น ก็มีเจตสิกเกิดมากกว่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น กว่าที่สติจะเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้างที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็ชินขึ้น เป็นปกติขึ้น แล้วก็ไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงใดๆ ก็จะทำให้สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ถ้ายังมีความรู้สึกเป็นเรา แฝงอยู่ตรงนั้นนิดหนึ่ง ตรงนี้หน่อยหนึ่ง จะต้องจรดจ้องตรงนั้นจะต้องมีสมาธิ ตรงนี้ จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นแสดงถึงความไม่สมบูรณ์ของปัญญา ยังไมได้ประจักษ์หรือเข้าใจ ชัดเจนจริงๆ ว่าไม่มีเราที่จะทำ สภาพธรรมเกิดขึ้น และดับเร็วกว่าที่ใครจะทำอะไรได้ ขณะนี้ที่กำลังเห็น เกิดแล้วดับแล้วไม่ต้องเอาสติไปตั้งตรงนั้นตรงนี้ หรือว่าไม่ต้องจะคิดว่าจะเงียบ หรือว่าจะต้องมีสมาธิใดๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรม ไม่ได้คอย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับทันที เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาสมบูรณ์ขึ้นการที่จะมีแม้ความคิดว่าจะทำอย่างนี้จะตั้งตรงนั้น จะจดจ้องอย่างนี้หรือจะหวังอย่างนั้น จะมีไม่ได้เลย มีแต่ว่าละความเป็นตัวตน แล้วละการที่จะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดซึ่ง ขณะนั้นจะเห็นได้ว่าเป็น สีลัพพัตตปรามาสกายคันถะ ซึ่งยังคงมีอยู่ ถ้าการปฏิบัติขณะนั้นไม่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ถ้าขณะนี้สภาพธรรม เป็นปกติอย่างนี้ สติเกิดระลึกไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงความเริ่มค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้นว่าขณะนี้สภาพธรรม ที่เป็นรูปก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง จังหวะมันอยู่ตรงนี้ ในขณะซึ่งเรียนปริยัติ เราก็เข้าใจ ตามคำบอกเล่าอันนั้นก็ถือว่าเป็นปัญญาขั้นการฟัง ที่ขาดมากๆ โดยเฉพาะตัวดิฉันเอง เราไม่ทัน ไม่ทันสภาพธรรมที่เกิด

    ท่านอาจารย์ ทำไมคุณสุรีย์ ใช้คำว่า ไม่ทัน

    ผู้ฟัง คือที่ว่าไม่ทันอย่างนี้ ในขณะซึ่งเราเกิดโกรธ เกิดโทมนัสเวทนา ในขณะที่โกรธ มันขาดสติ ปัญญามันไม่เกิด สติมันไม่เกิดตรงนั้น มันโกรธไปแล้ว แล้วต่อจากนั้น มันถึงจะรู้ว่าเมื่อกี้เราโกรธ อันนี้เรียกว่ามันไม่ทัน มันไม่ทันในขณะนั้น แต่หลังจากนั้นรู้จากการเรียน จากการศึกษาว่าลักษณะที่เรารู้สึก เมื่อกี้นี้ มันคือโทสะ มันคือโทมนัสเวทนา มันจะรู้ทีหลังทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ ปัญญาของการอบรมเจริญวิปัสสนา หรือว่าที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องไปทัน ไม่ต้องสนใจเลย โทสะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ดับแล้ว ใครจะไปยับยั้งโทสะที่เกิด ไม่ให้เกิดไม่ได้ แล้วโทสะที่เกิดแล้ว จะไม่ให้ดับก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เราอยากจะทัน หรือพยายามที่จะไม่ให้มีโทสะ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่มีคำว่า ทัน ขณะนี้เห็น ได้ยิน คิดนึก แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะทราบแล้วว่าเป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่างเป็นธรรม แต่นี้คือความทรงจำจากการเรียน การฟัง ต่อเมื่อใดประจักษ์ลักษณะที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นธรรมจริงๆ เมื่อนั้นปัญญาก็จะเจริญขึ้น แล้วก็ต้องเจริญไปเรื่อยๆ ด้วยจนกระทั่งดับความเห็นผิด หรือว่าการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา เป็นสมุจเฉท คือโดยสิ้นเชิง ไม่เกิดอีกเลย ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ แต่สภาพธรรมพิสูจน์ได้ แล้วก็มีผู้ที่พิสูจน์แล้ว

    ผู้ฟัง เหตุที่ดิฉันใช้คำว่า ไม่ทัน ไม่ได้หมายความว่า ดิฉันพยายามจะทัน แต่ว่าสังเกตทุกครั้งเราจะรู้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องการเข้าใจสภาพธรรม ถ้าจะทัน ต้องตัดไปเลย ไม่เกี่ยวกับ ทัน หรือไม่ทัน

    ผู้ฟัง คือไม่ได้เกิดขณะนั้น นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เกี่ยว หมายความว่า สติ เป็นสภาพของโสภณเจตสิก เป็นธรรมฝ่ายดี โสภณคือดีงาม เพราะฉะนั้น สติไม่ใช่สภาพธรรม ฝ่ายอกุศล แต่ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นระดับไหน ระดับขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิต หรือขั้นฟังธรรม เข้าใจธรรม หรือขั้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตัวจริง ที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ส่วนมากเราจะเป็นรู้เรื่องราวของธรรม ไกลเลย แต่ขณะนี้ ธรรมตัวจริงๆ เท่านั้น ที่เกิดดับๆ ทำกิจรู้ลักษณะ ถ้าเป็นนามธรรมก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทุกอย่างนั่นคือ สิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่สติจะเกิด ถ้า หลงลืมสติก็หมดไปแล้ว ไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อกี้ไม่ทัน เมื่อกี้หลงลืมสติ แต่ว่าขณะที่สติเกิด ขณะนั้น รู้ว่าสติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใด ซึ่งเคยได้ยินได้ฟัง และเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง ทีนี้ถามอาจารย์ต่อไปว่า เมื่อเรา รู้ว่าเราอยู่ตรงจุดที่เราโกรธ เรารู้ที่หลังอาการที่รู้ทีหลังนั้น มันก็คือ ไม่ใช่เรื่องจริง คือเรื่องที่เราคิด

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวทั้งหมด

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องราว เมื่อเป็นเรื่องราว อันนั้นก็ไม่เป็นสติ

    ท่านอาจารย์ เป็นสติขั้นเรื่องราวได้ แต่ทีนี้เราจะพูดถึงเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงคือเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ปัญหาก็คืออย่างนี้ เขาบอกๆ ว่า เขาเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย มันก็เลยทำให้รู้สึกเนือยไป ไม่กระตือรือร้นที่เราจะ ใฝ่รู้ตรงนั้น เวลานี้ก็เรียกว่า สะสมเหตุปัจจัยไปก่อนแล้วกัน มันเกิดเมื่อไรก็เมื่อนั้น ก็ชอบพูดกันว่าเขาเกิดของเขาขึ้นมาเอง เราไม่ต้องไปคิดอะไร ก็เลยไม่คิดเลย

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องฟังด้วยความแยบคาย เพราะว่าถ้าฟังไม่ดี ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ อันนั้นไม่ใช่ ปัญญา ไม่ใช่ความเห็นถูก แต่ถ้ารู้ว่า ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย เราต้องพิจารณาเป็นตอนๆ ว่าจริงหรือเปล่า ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาให้มีความเห็นถูก ตั้งแต่ต้นว่าจริงไหม ที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าจริงเราจะรู้เลยว่า เราเริ่มที่จะเข้าใจว่าไม่มีตัวตน ที่จะไปบังคับ แต่ว่าสภาพธรรมมีให้รู้ ให้ศึกษา ให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ทำไมสติจะไม่ระลึก เพื่อที่จะศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต้องฟังด้วยดี

    ผู้ฟัง ก็ด้วยดี และเข้าใจ แต่มันก็ทีหลังทุกที

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ที่ว่าไม่ทันทุกที

    ผู้ฟัง ปัญญาไม่เกิดตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ โลภะ ไม่ใช่เป็นความเข้าใจจริงๆ ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ปัญญากับโลภะ เป็นสภาพธรรม ที่ตรงกันข้าม ขณะใดที่มีปัญญา ขณะนั้นจะไม่มีโลภะ จะไม่คิดเรื่องทัน ไม่ทัน ขณะใดไม่มีปัญญา โลภะมาแล้ว เมื่อกี้ไม่ทัน ใครที่ไม่ทัน เรา ไม่ทันก็เต็มไปด้วยเรา เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่ฟังตั้งแต่ต้น จนปลายสุดก็คือว่าให้เข้าใจด้วยการพิจารณา ให้ถูกต้องจริงๆ

    ผู้ฟัง เข้าใจจริงๆ หมายถึงเข้าใจที่ขณะสภาพธรรมกำลังปรากฏนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจประโยชน์ด้วยว่า เราฟังธรรมเพื่อรู้ตัวธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะได้ยินเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องสุข เรื่องทุกข์เป็นธรรมทั้งหมด เป็นธรรมที่มีจริง แต่ว่าเพียงขั้นฟัง เราจะพอใจเพียงขั้นฟัง เชื่อตาม แต่ว่าไม่ประจักษ์แจ้ง หรือว่ารู้ว่า มีทนทางที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ เพราะเหตุว่าเพียงขั้นฟัง ดับกิเลสไม่ได้เลย ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ใครจะบอกว่า ไปวัดไปวาศึกษาธรรม แล้วก็ทำไมกิเลสไม่ลดน้อยลง กิเลสลดน้อยลงจากการฟังไม่ได้ ต้องเป็นการที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น ธรรมแต่ละอย่างซึ่งกำลังเกิดดับด้วย เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเข้าใจจุดประสงค์ ว่าฟังให้เข้าใจธรรม คือตัวจริงของธรรม ซึ่งกำลังทำงานเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกขณะ

    ผู้ฟัง แต่ดิฉันว่า ดิฉันเข้าใจ แล้วก็รู้ เป็นเรื่อง เป็นราวด้วย รู้ด้วยว่าที่เป็นโทมนัส เรียกว่านามธรรม ที่เราหายใจแรงมันเป็นรูป มันเป็นรูปมันเป็นจิตตชรูป บอกตัวเอง สอนตัวเองด้วย ได้ด้วย เพราะว่าตรงนั้นไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าย้ายจากลมหายใจซึ่งเป็น จิตตชรูป มาเป็นกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คุณสุรีย์ จะเข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ดิฉันถึงได้ว่าอัธยาศัยไง คือว่ามันแล้วแต่ว่าเราจะเข้าใจเร็วตรงไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าคุณสุรีย์พอเกิดก็นึกขึ้นมาได้เลย แต่ทีนี้เราไม่มีลมหายใจปรากฏในขณะนี้ แต่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดว่าเข้าใจธรรม ธรรมก็มี ๒ อย่างคือเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่จะต้องเข้าใจ หมายความว่าเราจะไม่มีการไปเลือกหรือไปคิดว่า จะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้บ่อยๆ แต่ว่าถ้าสติเกิดระลึกก็แล้วแต่ เพราะเหตุว่า เป็นธรรมทั้งหมด ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม ที่กำลังได้ยินก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็น จิตตชรูป ก็เป็นกำลังเห็น จะว่าเข้าใจอย่างไร เพราะว่าคุณสุรียก็บอกว่าเข้าใจมาหมดแล้วทั้งนั้น โดยการศึกษาต้องทราบ ทางตาที่กำลังเห็น จะบอกว่าไม่ทราบไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่ากำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็โดยเรื่องราวอีก ที่เห็นเป็น นาม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป ดิฉันก็ตอบอาจารย์ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอย่างนี้ไปตลอด ตามที่ได้ฟัง ซึ่งเราจะต้องรู้ว่านี้คือการจำ ไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยถ่องแท้ว่า ถ้ากล่าวว่านามธรรม เป็นอย่างไร เป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ ต้องค่อยๆ ระลึก แล้วก็มีจริงๆ แล้วธาตุรู้ไม่ใช่เพียงแต่รู้ จิตตชรูปที่เป็นลมหายใจ แม้แต่กำลังเห็น ก็เป็นธาตุรู้ซึ่งกำลัง เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ เป็นอย่างนี้ นี่คือสภาพนามธรรม เพราะฉะนั้น ไม่เคยขาดนามธรรมเลย จะต้องรู้ในลักษณะที่ต่างกัน ของนามธรม และรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงเข้าใจชื่อว่า ทางตา ถ้าถาม ก็ตอบว่าเห็นเป็นนาม และสิ่งที่ปรากฏเป็นรูป

    ผู้ฟัง ขออนุญาตคุณป้า ถ้าสมมติว่าการพิจารณาไตร่ตรอง ศึกษา ขั้นพิจารณาไตร่ตรอง ศึกษาธรรม อย่างที่คุณป้าบอกว่าไม่อย่างนั้น ก็ปล่อยไป แต่ถ้าเราจะใช้เวลาว่างเวลาที่เรา ว่างมาศึกษาไตร่ตรองธรรม ไม่ทราบว่าจะได้หรือเปล่า คือ อย่างถ้าเราว่างเราก็มาพิจารณาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ ไม่มีสัณฐานอะไรอย่างนี้ เป็นอย่างไร เราไตร่ตรองแล้วก็ พิจารณา ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏางตา อยู่จริง แต่ว่าแทนที่จะ ให้ขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็มีสติระลึก แต่ว่าเรามาใช้เวลาว่าง ค่อนข้างจะเรียกว่าตั้งใจ หรือเปล่าไม่ทราบ อันนี้จะได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการอนุญาต ธรรมเป็นธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของหรืออนุญาตเลย แต่ว่าสามารถที่จะบอกถึงสภาพธรรม และเหตุผลได้ ที่ว่าเราจะใช้เวลาว่าง ที่จริงแล้วขณะนี้ เรากำลังฟังพระธรรม หรือฟังธรรม แล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏด้วย ไม่ใช่เราเพียงแต่ฟังเรื่องราว โดยที่ไม่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ในขณะนี้เอง ที่กำลังฟัง ก็มีสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏ แต่ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นธรรม ที่เรากำลังฟัง เพราะฉะนั้น เราก็ต้องแทนที่เราจะไปเอาเวลาว่าง ขณะที่ฟังมีการไตร่ตรองด้วย ที่จะเข้าใจ แล้วก็ยังไม่พอ เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลก็มาก กิเลสก็มาก แล้วทุกคนก็บอกว่ามีงานมาก มีสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำ แต่เวลาสำหรับสิ่งที่จะไตร่ตรองก็ย่อมมี ถ้าคนนั้นได้สะสม ที่จะเห็นประโยชน์ ว่าเราทำอะไรต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ ชีวิตเราต้องมีการกินอยู่หลับนอน ธุรกิจต่างๆ นั้นก็สำคัญก็ทำ แต่ว่าเราก็ไม่ทิ้ง การที่จะฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น ข้อสำคัญที่สุดคือฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น ในขณะที่ฟังนี้เอง แล้วเมื่อฟังเข้าใจแล้วก็ยังมีเวลาอื่นอีก เช่น เราตื่นขึ้นมาเมื่อไรตอนไหนก็ได้ หรือว่าเวลาว่างที่จะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังอีก หรืออ่านพระไตรปิฎก อรรถกถา หรือธรรม ที่ทำให้เราเข้าใจ สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ว่าเราเจาะจงเวลาว่าง แต่ว่าให้เป็นชีวิตประจำวัน จริงๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่ได้สะสมแล้ว มีหิริ มีโอตตัปปะ ที่จะไม่อยากจะรู้สภาพธรรม แต่ว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็รู้ว่า ความรู้นี้ ไม่พอ เท่านี้ไม่พอ ก็จะเป็นเหตุให้เรารู้ว่า ความรู้จริงๆ ต้องมากมายกว่านี้อีก เมื่อมากมายกว่านี้อีก ก็จะมีการที่จะระลึกถึงธรรม อาจจะระลึกไตร่ตรองธรรม ที่ได้ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ หรือว่าถึงสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็เริ่มรู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567