ปกิณณกธรรม ตอนที่ 481


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๘๑

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เราค่อยๆ เข้าใจว่า แต่ก่อนนี้เรามีโลภะ ความผูกพัน เดี๋ยวนี้เราจะมีเมตตา

    ผู้ฟัง ถูกต้องทุกอย่างที่อาจารย์ พูดมาเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเรารู้ว่าจะทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเรายังผูกพันอยู่ แล้วการที่จะไม่ผูกพันก็รู้ว่าแต่ละคน ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก ซึ่งต้องเป็นเขาตามการสะสม แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาวิบาก หรือผลของกรรมอะไรจะเกิดก็ตามการสะสมของเขา เราเพียงแต่ว่าสามารถ ที่จะช่วยอะไรก็ช่วยได้ เป็นกุศลของเรา เป็นวิบากคือผลของเขา เท่าที่จะทำได้ แต่อะไรจะเกิดขึ้นก็คือ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ด้วยเมตตา ไม่ใช่ด้วยความผูกพัน

    ผู้ฟัง ในขณะที่คุณชินให้ของคน ลักษณะจิตนั้น คือเขามีเจตนาเจตสิก ที่เป็นกุศล ใช่ไหม การให้ของคุณชิน ขณะนั้นเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัยใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กรรม หรือเจตนามี ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง เกิดกับจิตทุกขณะ เกิดพร้อมกับจิต เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า สหชาต สห แปลว่าด้วยกัน พร้อมกัน ชา-ตะ แปลว่าเกิด เพราะฉะนั้น เจตนา เป็น สัพพจิตสาธารณะเจตสิก ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกดวง ทุกขณะ ไม่ว่าจิตจะเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปพร้อมจิต แต่ถ้าเป็นเจตนาจงใจ ที่เป็นกรรม ก็จะทำให้ผลเกิดขึ้น ไม่ใช่พร้อมกันกับขณะที่เจตนานั้นเกิด แต่ต่างขณะคือภายหลัง เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า นานักขณิกกัมมะ หมายความว่า กรรมที่ไม่ได้เกิด ให้ผลพร้อมกับในขณะที่ เจตนานั้นเกิด แต่ให้ผลหลังจากที่เจตนานั้นดับแล้ว เจตนาเจตสิก เป็นนามธรรม ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่มีเกิดกับจิตทุกขณะพร้อมกัน เป็นสหชาตดับแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่นอนหลับเจตนา เป็นอะไร เป็นวิบาก เพราะขณะนั้นเป็นวิบากจิต เวลาที่กิริยาจิต ปัญจทวาราวัชชนะ มโนทวาราวัชชนจิตเกิด เจตนาที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกิริยาจิต แต่เมื่อเป็นกุศล หรืออกุศล ว่าขณะใดที่วิบากจิตเกิด เจตนาเกิดด้วยเป็นสหชาต เป็นวิบากเหมือนกันทุกชนิด ไม่ว่าจิตอะไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อจิตดับไปทีละขณะจิตต้องดับ เจตนาซึ่งเป็นกรรม หมายความว่าถึงระดับของกรรม แล้วเวลาที่ดับไปแล้วก็จริงกับจิตดวงก่อน ก็ยังสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไปโดยเป็นกัมมปัจจัย ไม่ใช่สหชาตเฉยๆ แต่เป็นกัมมปัจจัย หรือชื่อเต็มคือ นานักขณิกกัมมปัจจัย เมื่อให้ผล เพราะฉะนั้น เวลาที่วิบากจิตเกิดขึ้น เราถึงได้ทราบว่าต้องมีเจตนาที่เป็นกรรมในอดีต ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้วิบากเกิดขึ้นทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน แล้วก็วิบากจิตอื่นๆ ก็เกิด

    ผู้ฟัง ชินอยากถามว่าตอนที่ ปัญญาเกิด อุเบกขาก็เกิดร่วมด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเป็นอุเบกขา

    ผู้ฟัง เพราะว่าปัญญาเข้าใจสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ เกิดพร้อมกับโสมนัสก็ได้ ต้องทราบเลยว่าเวทนา มี ๕ อย่าง โดยแยกเป็นทางกายทางใจ คือถ้าเป็นทางกาย ทุกข์กับสุข ถ้าไม่แยกก็มี สุขทุกข์อุเบกขา แต่ถ้าแยกก็เป็น อุเบกขา โสมนัส โทมนัส แล้วก็ทุกข์กับสุข ถ้าทุกข์กับสุขก็เฉพาะทางกาย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด จะเกิดกับเวทนาอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นโทมนัสเวทนา ความรู้สึกที่ไม่สบายใจ จะเสียใจ จะเศร้าใจ จะน้อยใจ จะขุ่นเคืองใจ กระวนกระวายใจอย่างไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา จิตต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว เพราะว่าเราต้องทราบชาติของสภาพธรรมด้วย แม้แต่เวทนา เขาก็ต้องมีชาติว่า ถ้าเป็นโทมนัสแล้วเป็นอกุศลอย่างเดียว เป็นอื่นไม่ได้ แต่สำหรับสุข ถ้าแยกโสมนัสกับสุข สุขเฉพาะทางกาย ถ้าแยกโทมนัสกับทุกข์ ทุกข์ก็เฉพาะทางกาย เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ยังมีทุกข์กาย ยังมีสุขกายด้วย สุขกายก็เป็นของธรรมดา ทุกข์กายก็เป็นของธรรมดา ซึ่งเมื่อกรรมในอดีตมีก็ทำให้เมื่อกายยังมีอยู่ก็เป็น ปัจจัยให้เวทนาที่เกิดกับกาย บางครั้งเป็นทุกข์ บางครั้งเป็นสุข แต่สำหรับโสมนัสกับอุเบกขา เกิดกับจิตได้ทุกประเภท โทมนัสต้องเกิดกับอกุศลอย่างเดียว อุเบกขาเกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ เกิดกับวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้ โสมนัสก็เหมือนกัน แต่ทุกข์ต้องเกิดทางกาย สุขต้องเกิดทางกาย โทมนัสต้องเป็นชาติอกุศลอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เกิดไม่สบายใจขึ้นมา ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แล้วเราก็กำลังสะสม เพราะคนที่ไม่รู้ก็โทมนัสไปเรื่อยๆ ก็สะสมอกุศลจิต ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคนรู้ก็รู้ว่าไม่มีประโยชน์เลย ร้องไห้ทำไม มีประโยชน์อะไร ถ้าญาติพี่น้องจะตาย ร้องไห้ขณะนั้น ก็ไม่มีใครยับยั้งได้ แต่ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้าสติเกิดเป็นขั้นๆ อย่างให้ทาน เคยโสมนัสไหม ช่วยเขาให้พ้นจากความลำบาก ไม่มีเงินจะซื้อข้าวเลย แล้วเวลาที่คนนั้นให้ข้าวคนที่ไม่มีข้าวเลย ช่วยให้เขาได้อิ่ม เกิดโสมนัสได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ แต่ขั้นนั้น ยังไม่มีปัญญา ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เวลาที่ปัญญาเกิด จะเป็นญาณสัมปยุต แต่เกิดกับกุศลได้ ไม่ใช่หมายความว่า ทานแล้วจะไม่มีโสมนัส ศีลแล้วจะไม่มีโสมนัส ความสงบของจิตแล้วจะไม่มีโสมนัส ไม่ใช่ โสมนัสเวทนาเกิดกับกุศล ประเภทหนึ่ง ประเภทใดได้ทั้งหมด แต่คุณชินลองคิด ถ้าสติปัฏฐานเกิดแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม รู้ความจริงของธรรม จะเบิกบานไหม ที่ได้รู้

    ผู้ฟัง เบิกบาน ช่วงนั้นก็คือโสมนัส

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราเห็นสภาพ แล้วหลังจากนั้นเราก็มีความรู้สึกว่า โล่ง อก ที่ว่าเราเรียนธรรมมา โชคดี ความรู้สึกนั้นคือโลภะ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนจะถามแล้วให้คนอื่นตัดสิน แล้วจะมีคำถามอย่างนี้ตลอด ตราบใดที่ปัญญาไม่ได้รู้ ขณะนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น จะมีเรื่องเดามาตลอด คนที่ศึกษาจะมีตัวอย่างมากมาย แล้วก็มาถามว่านี้เป็นอะไร แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อขณะนั้นมันดับไปแล้ว แล้วใครไปรู้ แล้วก็รู้ ก็รู้แบบเดา รู้แบบเรียกชื่อ อย่างที่เคยบอกว่า เราทุกคนสมมติว่า เดินไปในสวนแล้วก็ เห็นดอกกุหลายสวย ทุกคนก็บอกว่าโลภะๆ ดับไปแล้ว ดับไปนานแล้วด้วย มีเห็นใหม่ มีคิดนึกใหม่ มีอะไรใหม่ แต่ก็ยังอุตส่าห์ไปเรียกชื่อโลภะ เหมือนกับรู้จักโลภะ แต่ความจริงแล้ว เพียงรู้จักชื่อว่าขณะนั้นมีโลภะ แต่ตอนไหน เมื่อไร ขณะไหน แยกโลภะออกจากกำลังเห็นนี้ได้หรือยัง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่าถามใคร ถามไม่ได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้น วิธีนี้ก็คือการศึกษาไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ การศึกษาอะไร การศึกษาเรื่องราว ว่าโลภะเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร เพราะฉะนั้น เวลาโลภะเกิดก็รู้เอง เพราะรู้ว่าโลภะ เกิดได้ ๖ ทวาร ไม่ใช่ว่าพอโลภะเกิดไม่รู้ แล้วไปถามคนอื่น ว่านี่โลภะหรือเปล่า ก็รู้แล้วไงว่าโลภะเกิดได้ ๖ ทาง เวลาเกิดเมื่อไรก็ควรจะรู้เมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า เราคิดว่าเราไปใส่ชื่อเพื่อรู้ความหมาย นั้นก็คือ จิตวิปลาส

    ท่านอาจารย์ อย่าไปพยายามทำอะไร ใส่ชื่ออะไร รู้อะไรมาก็ไปเอาตราตั้ง ติดไว้หรืออะไรแต่ว่าเข้าใจสภาพธรรม แล้วก็รู้ว่าขณะนี้ที่ไม่ควรลืม ก็คือขณะนี้เป็น ธรรม ข้อสำคัญที่สุดคือต้องเตือนเสมอ คือขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหน ธรรมกำลังปรากฏ ทางหนึ่งทางใดมี ๖ ทางที่ธรรมจะปรากฏได้ แล้วก็เป็นธรรมจริงๆ เป็นธรรมเท่านั้น เป็นธรรมล้วนๆ เพราะฉะนั้น ปัญญาของแต่ละคน ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องถามใครก็คือว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ปัญญารู้ลักษณะของสภาพที่รู้ คือเห็น กับลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคลายความไม่รู้ไปบ้างหรือยัง ต้องมีการคลายจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาที่ค่อยๆ เจริญ แล้วก็ต้องมีการละคลายปรากฏด้วย เพราะว่าความรู้เพิ่มขึ้น ถ้าความรู้ไม่เพิ่มก็คลายไม่ได้ แต่ที่จะคลายได้คือความรู้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องถามคนอื่น แต่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมปัญญาที่จะรู้สภาพธรรม ที่ไม่ใช่เพียงแต่ตั้งชื่อ หรือบอกชื่อ

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถาม สติระลึกรู้ในสภาพธรรม แล้วก็การนึกคิด รู้สึกมันจะใกล้เคียงกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องศึกษาลักษณะ ของเจตสิก ๕๒ ประเภท แล้วถึงจะรู้ว่าต่างกัน อย่างวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะว่าวิตกเจตสิกเกิดกับจิตได้ทุกประเภท แต่ว่าสติเจตสิกต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น เพราะว่าสติเป็นโสภณเจตสิก วิตกเป็นปกิณณกเจตสิก

    ผู้ฟัง ก็ในชีวิตประจำวันก็คงจะว่าแยกแยะกันยาก

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาไง เราถึงจะเข้าใจได้ เวลาที่จิตเป็นไปในทาน คิดที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์ แก่คนอื่น เป็นเรา ถ้าเราไม่ศึกษาเรื่อง จิต เจตสิกเลย ก็เป็นเราตลอด แต่เวลาที่ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก ก็จะทราบได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา โดยชื่อก่อน แม้ว่าจริงๆ ก็คือไม่ใช่เรา แต่เมื่อยังไม่รู้ว่าไม่ใช่เราเพราะเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ยังเป็นเรา แต่ว่ามีความรู้ว่าขณะที่ให้เป็นจิต เจตสิก โดยที่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของจิต เจตสิกเลย แต่เริ่มมีความรู้ว่าขณะนั้น เป็นจิต เป็นเจตสิกที่เป็นฝ่ายกุศล เป็นโสภณ โดยที่ว่าสติเกิด หิริเกิด โอตตัปปะเกิด ศรัทธาเกิด โสภณเจตสิกอื่นๆ ๑๙ ชนิดเกิดพร้อมกัน แต่ไม่มีการรู้ลักษณะของเจตสิกหนึ่ง เจตสิกใด แต่ขณะนั้นเจตสิกทั้งหมดที่เป็นโสภณสาธารณะ ต้องเกิดพร้อมกัน ขณะนั้นกุศลจิตจึงจะเกิดขึ้นเป็นไปในทานได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่าเราไปรู้ลักษณะของสติ เราไปรู้ลักษณะของวิตก เราไปรู้ลักษณะของวิจารเจตสิก เราเพียงแต่เริ่มเรียน เริ่มเข้าใจว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตน แต่การที่เราจะรู้จริงๆ ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด มีปัจจัยที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วย ไม่ใช่ที่เราพยายามจะรู้ แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่มี แล้วสติระลึก

    ผู้ฟัง ขออนุญาต นึกถึงที่คุณชินพูดถึงเรื่อง โสมนัส โทมนัสเวทนาเกิด กับอุเบกขา ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบาย ยกตัวอย่างให้สักเรื่องหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ คุณชินคิดว่า ปัญญาต้องเกิดกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น แต่ ความจริง ปัญญาเกิดกับโสมนัสก็ได้ อย่างเวลาที่เราทำกุศลแล้วโสมนัสเกิด ก็คงจะมีหลายคน

    ผู้ฟัง อุเบกขาที่เกิดขึ้น พร้อมกับโทมนัส จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โทมนัสต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว ความรู้สึกมี ๕ อย่าง

    ผู้ฟัง อุเบกขาเกิดขึ้นกับโทมนัสไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้จำได้ ก็คือว่า ขณะใดก็ตามที่โทมนัส ความรู้สึกไม่สบายใจด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้นเกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วเป็นอกุศลประเภทโทสมูลจิตด้วย ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โมหมูลจิต เวทนาเขากำกับจิตทุกดวง นี้เป็นเหตุที่จะทำให้เราไม่สับสน ถ้าไม่มีเวทนากำกับจิต เราจะสับสนว่า นี่น่าจะเป็นกุศล นี้คงจะเป็นโลภะ แต่อย่าง มัจฉริยะ ความตระหนี่ เวลาที่เราไม่อยากจะให้คนอื่นมีส่วน ในสิ่งที่เรามี มีมัจฉริยะเกิดขึ้น เราคิดว่าขณะนั้นเป็นโลภะ โลภะเป็นความติดข้อง มีอยู่เป็นประจำ แต่เวลาที่เกิดมัจฉริยะ ต้องเกิดกับโทสะ ไม่ใช่เกิดกับโลภะ เพราะว่าขณะนั้น ต้องมีความไม่พอใจที่จะให้คนอื่นมาร่วม เป็นเจ้าของหรือใช้ หรือมีสิทธิในสิ่งนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีความตระหนี่ มีความหวงแหน ซึ่งขณะนั้นต้องเป็นโทสมูลจิต เวทนาต้องเป็นโทมนัสเวทนา ความขุ่นใจ เพราะฉะนั้น โทมนัสเวทนาเป็นชาติเดียว คือ อกุศล เป็นอื่นไม่ได้ แล้วในอกุศลต้องเป็นโทสมูลจิตเท่านั้น ที่โทมนัสเวทนาจะเกิดร่วมด้วย จะไม่เกิดกับโลภะ หรือโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง เราควรจะละคลายอันไหนก่อน คือ สภาพธรรมของสักกกายทิฏฐิ หรือมานะก่อน หรือโลภะโทสะกับโมหะก่อน

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ คิดได้แต่จริงๆ แล้วเวลาจริงๆ มันจะเป็นระเบียบตามที่คิดได้หรือเปล่า ว่าอะไรก่อน อะไรหลัง แต่ถ้ามีปัญญา ข้อสำคัญที่สุดคือปัญญา ขึ้นอยู่กับปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น รู้ขึ้นพอไหม ชาตินี้ ซึ่งชาติก่อน ไม่ได้รู้เท่าชาตินี้ แล้วชาตินี้ก็อบรมให้รู้ขึ้น แล้วชาติหน้า ก็จะรู้ขึ้นยิ่งกว่าชาตินี้ เพราะว่าชาตินี้กำลังอบรมแล้ว เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งๆ จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อถึงอะไรเพราะว่าถึงไม่ได้ถ้าไม่รู้ และจะรู้ไม่ได้ถ้าไม่อบรม เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีหน้าที่คืออบรมความรู้ให้เกิดขึ้น ให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ปัญญายังไม่ได้ ผมก็เลย ขอความรู้

    ท่านอาจารย์ นี่ไง หมายความ กำลังอบรม กำลังอบรม ไปทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากอบรม ให้ความรู้เกิดขึ้น แต่ละชาติกำลังอบรมความรู้ให้เกิดขึ้น เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ระลึก รู้ ยากที่สุด ก็คือ การมีตัวตนไม่ใช่ไม่เชื่อ เชื่อ แต่ว่ามัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าตัวตนอยากจะทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ค่อยๆ รู้ขึ้น รู้สภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนก่อน แทนที่จะไปขวนขวายละโลภะ ขวนขวายละโทสะ

    ผู้ฟัง ที่ถามๆ เพราะตัวตนทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ความจริงเป็น ธรรม ทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ใช่ อยากจะรู้ว่าให้ละตัวตน

    ท่านอาจารย์ จากความไม่รู้ก็ ค่อยๆ รู้ว่าเป็น ธรรม อันนี้สำคัญมากคือค่อยๆ รู้

    ผู้ฟัง ผิด หรือ ที่ว่าเราตั้งเป้าว่าเราจะเรียน

    ท่านอาจารย์ ชาตินี้ รู้มากกว่าชาติก่อน เพราะค่อยๆ รู้ ชาติหน้าก็จะรู้มากกว่าชาตินี้ เพราะว่าชาตินี้ ค่อยๆ รู้ เบาไหม สบายไหม ไม่เห็นเดือดร้อน แต่มันดูทรมานเหลือเกิน

    ผู้ฟัง ก็ตั้งเป้าไว้

    ท่านอาจารย์ เรารู้ว่าเป้าผิดหรือว่าเป้าถูก การตั้งจิตไว้ชอบสำคัญมาก ตั้งจิตไว้ผิดก็คืออยาก แล้วก็เริ่ม ผิด เพราะความอยาก จะทำให้เริ่มผิดไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ชินมีความรู้สึกว่า เรียนธรรม มันทำให้เรา สุดท้าย ชอบไปจับโน่น จับนี่

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ผิดไหมอย่างนี้ มันไม่ได้ รู้อะไรเพิ่มขึ้นเลย มันไม่ได้ละอะไรด้วย

    ผู้ฟัง เรียนถาม ความหมายของคำ มักน้อย สันโดษ แล้วก็เนกขัมมะ ในแง่ของการที่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ คุณวลัยพร จะได้ฌานไหม ชาตินี้

    ผู้ฟัง ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แน่นอน มักน้อยไหม ไม่ต้องไปทำฌานอะไร เพราะว่าอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ นี้คือมักน้อย คือสามารถที่จะรู้กำลังของเราว่าเราเป็นใคร ปัญญาของเราแค่ไหน จะไปรู้ละเอียดยิบในพระไตรปิฎกได้ไหม ตทาลัมพนะมี ๑ ขณะ หรือ ๒ ขณะจิต ได้ไหม นี่คือสิ่งที่ว่าเราไม่ได้รู้กำลังของเราว่า เราเป็นใคร ทั้งๆ ที่อยู่ในยุคนี้สมัยนี้ก็อยากจะได้ทั้งฌานจิต ทั้งโลกุตตรจิตไปใหญ่เลย โดยที่ไม่ได้รู้ตัวเองว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ปัญญารู้อะไร ปัญญารู้เรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งนี้ หรือว่าปัญญารู้สภาพธรรม ลักษณะที่มีจริงของสภาพธรรมนี้ ที่เรารู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม มักน้อยในธรรม คืออย่างนี้ คือตามกำลังของปัญญา

    ผู้ฟัง คำว่าสันโดษก็คงใกล้เคียงกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง แล้วขณะใดที่เกิดออกจากกาม ก็เป็น เนกขัมมะ ถ้านัยที่ใกล้เคียงกันก็มี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือเราไม่ติดที่คำ เราก็รู้ว่าสภาพธรรม ที่เราสามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ มีอะไรบ้าง อย่างขณะนี้มีสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม แล้วสามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ของนามธรรม และรูปธรรม ในขณะนี้โดยไม่ใช่เราคิด แต่เป็นการประจักษ์แจ้ง ซึ่งจะต้องอบรม แล้วจะใช้คำว่า ออกจากกามไหม เนกขัมมะ ขณะที่เรากำลังเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็อบรมอย่างนี้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา ขั้นแรก เรายังไม่มีความรู้ ความเข้าใจอะไรมากมาย เพราะฉะนั้น เราจะเพียงแต่ เหมือนกับนึกคิดว่าในขณะนี้ สิ่งที่เราเห็นคือสิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะพยายามคิดอย่างนั้นไปเสียก่อน หรือว่าอย่างไร ตรงจุดนี้

    ท่านอาจารย์ ขอวิธีทำอีกแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ขอวิธีทำ

    ท่านอาจารย์ เสียก่อนอะไร อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่วิธีทำหรือ

    ผู้ฟัง คือในขณะนี้ มันเห็นอะไรมันก็เป็นรูปร่าง เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นแก้วน้ำ เป็นอะไรอย่างนี้ ทีนี้ปัญญาของเรานี้ ยังไม่ถึงกับขั้นที่ว่า เห็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เห็น หรือรู้ หรือเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า มันเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเห็นว่ามันไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้อง จนกว่าจะรู้จริงๆ

    ผู้ฟัง ต้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการไปทำว่าอะไรก่อน

    ผู้ฟัง มันเหมือนกับว่า พอ สมมติว่าเราเห็นปฏิทินสิ่งนี้ ในขณะนี้เราเห็นว่าเป็นปฏิทิน มันเหมือนกับว่า ต้องเตือนเราว่า สิ่งที่เห็นแท้จริงแล้วมัน คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราเห็น เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นนามธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แต่ยังไม่รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น เราก็รู้ว่าตรงไหนรู้ตรงไหนไม่รู้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร ค่อยๆ อบรมไป ไม่ใช่ไปมีวิธีทำว่าจะไปทำอย่างไร จะไปคิดอย่างไร ค่อยๆ ไปมีอย่างไร ไม่ใช่ไปปั้นขึ้นมา แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะละความไม่รู้ ก็เป็นเรื่องละอภิชฌา ละโลภะ ละสมุทัย คือไม่ได้ต้องไปหวัง เพียงแต่ว่าเป็นผู้ตรงว่าขณะนี้ รู้หรือไม่รู้ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้อย่างไร ฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ

    ผู้ฟัง พูดถึงนามธรรม ท่านอาจารย์จะบอกว่าให้รู้นามธรรม คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ก่อน แต่ว่าโดยทั่วๆ ไป เวลาเรารู้โลภะ เราจะรู้ว่ามันติดข้อง หรือโทสะเราจะรู้ว่ามันผลักไส แต่เราจะไม่รู้ ว่ามันเป็นอาการรู้ ธาตุรู้ สภาพรู้ อย่างนี้มันจะไม่ขัดกันหรือว่า เวลาเรารู้ เรารู้อาการ ที่ไม่ใช่เป็นสภาพรู้ก่อน แต่ไปรู้ ลักษณะที่เป็นลักษณะของเขาก่อน

    ท่านอาจารย์ คุณสุนันท์ เคยชอบอะไรไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังชอบ รู้ลักษณะ ที่ชอบ แต่ไม่รู้ว่าไม่ใช่คุณสุนันท์ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็คือต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของ สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างนี้ รู้ลักษณะที่ชอบติดข้องก็ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรม เป็นการรู้ว่าขณะนั้นชอบ เป็นเราชอบ

    ผู้ฟัง แต่เราก็รู้ว่าเราชอบ เราโกรธ

    ท่านอาจารย์ เวลาโกรธ รู้ไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ เป็นเราโกรธ แต่ว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่โกรธ ว่าเป็นสภาพธรรม หรือเปล่า หรือว่าเป็นเราที่โกรธ

    ผู้ฟัง อย่างนี้การรู้ลักษณะของโทสะ กับการรู้ อาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้นี้ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ว่า สภาพรู้มีหลายอย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่า ขณะนั้นสภาพรู้ใดปรากฏ แล้วเคยเป็นเราทั้งหมด กำลังเห็นเป็นเราซึ่งเป็นสภาพรู้กำลังคิดเป็นเราซึ่งเป็นสภาพรู้ กำลังติดข้อง ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เป็นเรา กำลังโกรธขุ่นเคืองใจเป็นเรา ก็คือนามธรรมตามที่เราได้เรียน แล้วลักษณะนั้น ไม่ใช่ไม่มี ปรมัตถธรรมปรากฏตลอด แต่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ถึงแม้ว่าจะเรียนก็เรียนเรื่องราว แต่ไม่ได้ศึกษาลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จึงมีการศึกษา ๒ ขั้น การศึกษาปริยัติ คือ เรื่องราว และการศึกษาโดยเข้าถึงลักษณะแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะศึกษาในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    23 มี.ค. 2567