ปกิณณกธรรม ตอนที่ 495


    ตอนที่ ๔๙๕

    สนทนาธรรม ที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๑

    ส. เพราะฉะนั้น ก็อย่าลืม ว่าเราศึกษาเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วไม่ ใช่ของใคร ถ้าศึกษาเรื่องรูป จะอยู่ตรงไหนก็เป็นรูปนั่นเอง อยู่ตรงนี้ก็เป็นรูป อยู่ตรงโน้นก็เป็นรูป รูปก็คือรูป คำใหม่ เจตสิกนี้ภาษาไทย ถ้าภาษาบาลีเป็นอะไร

    วิทยากร เจ-ตะ-สิ-กัง

    ส. เจ-ตะ-สิ-กัง เรามีรู-ปัง มีนา-มัง มีจิต-ตัง ตอนนี้ก็มี เจตสิกัง ก็ไม่ยากเลย รู้สึกว่า ตามๆ กันไป ตั้งแต่รูปัง นามัง เจตสิกัง ที่นี้เจตสิกัง ภาษาบาลี ภาษาไทยก็เจตสิก หรือบางคนจะใช้ว่า เจตสิกะ

    วิทยากร เราแปลทับศัพท์ เราก็แปล เจตสิก

    ส. แต่จะออกเสียงว่า เจตสิกะก็ได้ เจตสิกเป็นสภาพธรรม ที่มีจริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดเลย แต่ว่าเจตสิกนั้นต่างกับจิต ไม่ใช่จิตเลย เป็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต แต่ว่าดับพร้อมจิต แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต เป็นนามธรรมอย่างเดียวกัน แสดงว่าจะขาดกันและกันไม่ได้เลย เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ซึ่งต่อไปจะทราบว่ามีจริงๆ อยู่ที่ตัวนี้แหละ ๕๒ อย่าง แต่ว่าจะรู้ได้ หรือรู้ไม่ได้ นั่นก็แล้วแต่สติปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งใดที่สามารถจะรู้ได้ เราก็สามารถที่จะกล่าวถึงสิ่งนั้นก่อน ให้เข้าใจว่า สภาพนั้นเป็นเจตสิก เวทนา เป็นภาษาบาลี หมายความถึงสภาพที่รู้สึก ทุกคนจะมีความรู้สึกต่างๆ กัน บางวันแสนสุข บางวันแสนเศร้า บางวันเฉยๆ ส่วนใหญ่เราจะตอบได้เลย ถ้าถามดูว่ารู้สึกอย่างไร เดี๋ยวนี้ตอบได้ไหม คุณวีณา

    ถ. เดี๋ยวนี้ก็ง่วงๆ

    ส. ง่วง แล้วดีใจไหม ชอบไหม ตอนง่วงๆ

    ถ. เฉยๆ

    ส. เฉยๆ เพราะฉะนั้น สภาพของความรู้สึกนี้จะมี ๕ อย่าง คือ ๑ สุขทางกาย สบาย ไม่ร้อนอากาศดี ทุกข์ทางกาย อย่างเมื่อกี้นี้กลางแดด ทุกข์แน่ๆ ต้องมีความรู้สึกเกิดกับ จิตทุกครั้ง เวลาร้อนอย่างนั้น ที่อยู่กลางแดด ใครชอบ ก็เห็นยกกระดาษขึ้นบังอะไรกันบ้างตลอด แสดงว่าไม่ชอบความรู้สึกอย่างนั้น หรือเวลาป่วยไข้ก็มีความรู้สึกทุกข์กาย อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับกายที่ไม่สบายทั้งหมด เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกายซึ่งต่างกับทุกข์ทางใจ เพราะเหตุว่าทุกข์ทางใจ แม้ว่ากายเป็นทุกข์ แต่ใจไม่เป็นทุกข์ก็ได้ หรือแม้ว่ากายสบาย แต่ใจเป็นทุกข์ก็ได้ เพราะฉะนั้น ทุกข์กายกับทุกข์ใจต่างกัน ภาษาบาลีใช้คำต่างกัน ถ้าเป็นทุกข์กายใช้คำว่า ทุกขเวทนา ถ้าเป็นสุขทางกายก็ใช้คำว่า สุขเวทนา ถ้าเป็นทุกข์ทางใจใช้คำว่า โทมนัสเวทนา ถ้าเป็นความสุขทางใจใช้คำว่าโสมนัสเวทนา ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ จะใช้คำว่า อทุกขมสุข หรืออุเบกขาเวทนา คือไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเราก็หลงยึดถือเวลาที่ความรู้สึกโสมนัสเกิดขึ้นก็ดีใจมาก เหมือนเป็นเราดีใจ เวลาที่โทมนัสมีเรื่องที่กำลังยุ่งยากประสบความลำบากในชีวิตเกิดขึ้น โทมนัสเวทนาเกิด เราก็ยึดถือว่าโทมนัสเวทนานั้นเป็นเรา แต่ความจริงไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพของจิต ของเจตสิกก็เกิดดับ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งเที่ยง สิ่งที่เกิดแล้วดับ จะเป็นใคร หรือว่าจะเป็นของใคร ไม่มีแล้ว หมดแล้ว อยู่ที่ไหน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราพิจารณาสภาพธรรมจริงๆ เราก็จะเห็นได้ว่าไม่มีสภาพธรรม สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรา หรือเป็นของเรา เพราะฉะนั้น ก็เริ่มรู้จักสภาพของเจตสิก ซึ่งมีหลายชนิด ถึง ๕๒ ชนิด หรือแม้แต่เจตสิกประเภทเดียว คือเวทนาเจตสิกก็มีถึง ๕ อย่าง แล้วก็เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น ใครอยากให้โสมนัสเวทนาเกิดบ้าง แต่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แล้วแต่เหตุปัจจัย ใครอยากจะให้โทมนัสเวทนเกิดบ้าง ไม่มีเลย วันหนึ่งๆ ก็ขอให้โสมนัสมากๆ หรือสุขมากๆ แต่ก็ต้องมีโทมนัสเวทนา บังคับไม่ได้เลย แต่ให้รู้ ความจริงว่าแท้ที่จริง ไม่ใช่เรา เป็นสภาพความรู้สึกเท่านั้น เป็นความรู้สึกจริงๆ เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นให้ เห็น ลักษณะของความรู้สึกนั้นว่า สิ่งนี้มีจริงแล้วก็ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย ตามความเป็นจริง เกิดแล้วก็ดับ แต่กว่าจะประจักษ์ความเกิดแล้วดับก็เป็นทุกข์เสียนานแล้วก็ห้ามไม่ได้ด้วย ที่มีไม่ให้มีความรู้สึกว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้ว เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมด นอกจากจิตแล้ว เราก็เริ่มที่จะเข้าใจสภาพของเจตสิกไปทีละอย่าง ๒ อย่างซึ่งในปรมัตถธรรมสังเขป มีครบทุกอย่าง ถ้าจะอดทนที่จะอ่าน ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ให้ทราบว่าเจตสิกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ ไม่เกิน ใครจะมาบอกว่าปรมัตถธรรม มี ๕ มี ๓ มี ๒ ไม่ได้ ผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงแสดงว่า สภาพธรรม ที่มีลักษณะแท้จริงเฉพาะของตนๆ นั้น จำแนกออกเป็น ๔ ประเภทคือ ๑ จิต ๒ เจตสิก ๓ รูป ๔ นิพพาน ไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรมที่ไหน ในพระสูตรทั้งหมด หรือในพระอภิธรรมทั้งหมด หรือแม้ในพระวินัย ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อทรงแสดงสภาพธรรมที่เป็น อริยสัจ ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป นิพพาน แสดงสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ หรือเป็นหมวดหมู่ต่างๆ จะเป็น โพชฌงค์ จะเป็นปฏิจจสมุปบาท จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่เราได้ยินได้ฟัง ให้ทราบว่าตามความเป็นจริงแล้ว ก็ได้แก่ ปรมัตถธรรม เท่านั้นคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ผู้ที่จะเข้าใจธรรมก็ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นคือ ต้องเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม ๓ อย่างซึ่งเป็นสภาพธรรม ซึ่งเกิดแล้วดับ คือจิตก็เป็นสภาพธรรม ที่เกิดดับ เจตสิกก็เป็นสภาพธรรม ที่กิดดับ รูปก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ในขณะนี้เอง คือสิ่งที่ไม่ลืม ทุกอย่างที่เป็นธรรม คือขณะนี้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจจริงๆ ถึงความเป็นอนัตตา ถ้าเราตายสิ่งที่ได้ฟังวันนี้ อยู่ที่ไหน หายไปหมดหรือเปล่า ไม่ใช่รูป ความเข้าใจเป็นนามธรรม ความเข้าใจ ถ้าพูดโดยภาษาบาลีจะใช้คำว่า ปัญญินทรีย์ หรือปัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คิดดู ว่ายากแสนยากที่จะเข้าใจถูกได้

    ขณะใดที่มีความเข้าใจ หรือเริ่มอบรม ความเข้าใจไปเรื่อยๆ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเราได้ฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ เข้าใจบ่อยๆ ตายแล้วได้ฟังอีก ก็เข้าใจได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้น ในชาตินี้ บางคนก็เข้าใจได้เร็ว บางคนก็เข้าใจได้ช้า ตามการสะสม เหมือนกับคนที่มีความสามารถต่างๆ กัน ถ้าเขาไม่เคยสะสมความสามารถนั้นๆ มา ก็ต้องมาตั้งต้นใหม่ แล้วก็กว่าจะเก่งอย่างนั้นได้ ก็ต้องนาน ในที่นี้ก็ต้องมีคนที่มีความสามารถในหลายๆ ด้าน ตามการสะสม แต่สิ่งที่ควรจะสะสมยิ่งก็คือปัญญา ความเข้าใจถูกในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่า ถึงตายไปจิตที่เข้าใจในขณะนี้ เกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ ถึงชาติไหนที่ได้ยินได้ฟังอีกก็จะมีความเข้าใจได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยสะสมมา นี่ก็จิต แล้วก็เจตสิก แล้วก็จะให้คำศัพท์ภาษาบาลีซึ่งอาจจะคิดว่ายาก แต่ความจริงถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ยากเลย แล้วขอให้ตั้งต้นที่ความเข้าใจ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรม ที่เกิด เกิดแล้วต้องดับ แล้วเมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แม้ว่าเราจะพูดว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ถ้าจิตยังไม่เกิด หมายความว่า ขณะนั้น ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด แต่เมื่อจิตเกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เกิดแล้ว ใช้คำว่า สังขต อาจารย์กรุณาให้ความหมายของคำว่า สังขต

    วิทยากร. สังขต แปลว่า ปรุงแต่ง อย่างที่อาจารย์พูดบ่อยๆ สังขต มันลงสำเร็จรูปแล้ว เราแปลจริงๆ ก็ต้องแปลว่าปรุงแต่งแล้ว สังขต

    ส. อันนี้คือความสมบูรณ์ของภาษาบาลี สิ่งที่เกิดขณะนี้ หมายความว่าปรุงแต่งแล้ว ถ้าไม่ปรุงแต่งแล้วก็ไม่เกิด ที่เกิดขึ้นมาได้เพราะปรุงแต่งแล้วเกิด เป็นสังขตธรรม โดยมากคนไทยชินหูกับคำว่า สังขาร สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ทุกคนได้ยิน แต่ว่าเข้าใจความหมายของสังขารว่าอย่างไร สังขาร หมายความถึงสภาพธรรม ที่ปรุงแต่งหรืออาศัยกันเกิดขึ้น แต่สภาพใดที่เกิด หมายความว่าปรุงแต่งแล้ว ขณะนี้ ถ้าโทสะจะเกิด ปรุงแต่งแล้วเกิด เป็นโทสะในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ก็เพิ่มอีกคำหนึ่งนอกจากสังขารธรรม คือสังขตธรรม สภาพธรรม ที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นในขณะนี้เป็น สังขต ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ดับ โดยศัพท์มุ่งที่สังขาร ต้องมีปัจจัยอาศัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น แต่สังขต ปรุงแต่งแล้วเกิด แต่มุ่งถึงการเกิดด้วย ถ้าการเกิดที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้เป็นสังขต เพราะเกิดแล้ว

    ถ. มีสังขารขันธ์อย่างเดียวไม่มีสังขตธรรมได้ไหม

    ส. แล้วจะเกิด ไหมเล่า ถ้าปรุงแต่งแล้วจะเกิดไหม

    ถ. ถ้าปรุงแต่งก็เกิด

    ส. ปรุงแต่งทำไม

    ถ. ปรุงแต่งเพื่อให้เกิด

    ส. ปรุงแต่งแล้วก็เกิด เพราะฉะนั้น ความหมายก็เหมือนกัน ก็ได้ แต่ว่าโดยพยัญชนะต่างกัน อย่างที่ท่านอาจารย์สมพร ท่านบอก โดยรูป ศัพท์ สังขต คือปรุงแต่งแล้ว มีของตั้งหลายอย่าง เราจะทำกับข้าว กะปิ พริก น้ำปลา ไก่ อะไรก็มี เครื่องปรุงมีแล้ว แต่ ปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นแกง หรือเป็นอะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้น จิตแต่ละขณะ ปรุงแต่งแล้วเกิด ไม่ใช่ว่าเกิดมาโดยที่ไม่ได้ปรุงแต่ง

    ถ. ตกลงแล้ว สังขารธรรมเป็นแกง หรือว่า สังขตธรรมเป็นแกง

    ส. สภาพธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่ามีสภาพธรรม เกิดขึ้นมาได้ลอยๆ เรายังไม่คิดถึงแกง หรืออะไรเลยทั้งสิ้น เพราะแกงนี้ก็ต้องอาศัยตั้งหลายอย่าง อยู่ดีๆ จะมีแกงขึ้นมาไม่ได้แน่นอน นี้พักเรื่องแกงไว้ก่อน นั่นเป็นแต่เพียงคำที่แสดงให้ ถ้าจะเข้าใจโดยอุปมา แต่ถึงไม่อาศัย อุปมาเลย เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ เกิด ใครจะรู้หรือไม่รู้ สภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาได้เอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรม ที่เป็นรูป หรือเป็นนามชนิดใดก็ตาม นอกจากนิพพานซึ่งไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วไม่ใช่ปรุงแต่งแล้วด้วย เพราะไม่เกิด เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็น อสังขตธรรม เป็นวิสังขารธรรม

    ถ. ผมไม่เข้าใจ ไม่อย่างนั้นจะทำให้คำต่างกันไว้ทำไม ผมเข้าใจว่า ถ้าหากฟังแต่แรก แล้วน่าจะเป็น สังขตธรรม หมายถึงเป็นอาการ แต่สังขารธรรมเป็นผลของอาการ

    ส. สังขารธรรม มุ่งถึงปัจจัยที่ปรุงแต่ง แล้วก็สังขตธรรมก็กำกับไว้เลย ว่าปรุงแต่งแล้วเกิด ปรุงแต่งแล้ว คือเกิด

    ถ. ตรงนี้ปัจจัยคืออะไร

    ส. จิต เป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด เจตสิกเป็นปัจจัยให้จิตเกิด พร้อมกัน ต่อไปจิต เจตสิก รูป จะอาศัยกันโดยปัจจัยต่างๆ แต่ทีนี้เราจะแยกนามธรรมกับรูปธรรมออกให้เห็น ชัดๆ ว่าสำหรับนามธรรมแล้ว คือจิตอาศัยเจตสิกเป็นปัจจัย เจตสิกก็อาศัยจิตเป็นปัจจัยเกิดพร้อมกัน ปรุงแต่งแล้วเกิดพร้อมกัน

    ถ. คือว่าปัจจัย ผมเข้าใจเดิมว่า เป็นสาเหตุ เป็นองค์ประกอบ แต่ว่าตรงปัจจัยๆ จริงๆ มันหมายความถึงว่าอย่างไร

    ส. ปัจจัยมีทั้งปัจจัยที่เป็นอดีต หรือปัจจัยนั้นต้องดับไปก่อน ก็มี ปัจจัยเป็นปัจจุบัน คือต้องเกิดพร้อมกันก็มี

    ถ. หมายความถึงว่าปัจจัย คือองค์ประกอบ ใช่ไหม องค์ประกอบให้เกิด ใช่ไหม

    ส. สภาพธรรม ที่อุปการะเกื้อหนุน ปรุงแต่งกันและกัน ให้สภาพธรรม อีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

    ถ. ถ้าจะเปรียบอุปมา เช่น แกง หมายความว่าปัจจัยคือเครื่องแกง แล้วก็การกระทำ

    ส. ทุกอย่าง

    ถ. ก็เผื่อว่าพระพุทธศาสนา สำหรับบัญญัติอะไรขึ้นมาก็เป็นไปเพื่อความ แน่นิ่ง แน่ชัด ไม่ให้เกิดความ สับสนกำกวม สังขตธรรม กับสังขารธรรม น่าจะเป็นอะไรบางอย่าง ที่บอกแยกลักษณะให้เห็นชัด ในฐานะของขณะของจิต

    ส. สภาพธรรม ที่ปรุงแต่งแล้วเกิด

    ถ. เป็นสังขตธรรม

    ส. และสังขารธรรมด้วย เพราะว่า ปรุงแต่งแล้วเกิด ในปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม เป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น นิพพานไม่ได้มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิด เพราะฉะนั้น จึงเป็นวิสังขารธรรม แล้วก็เป็นอสังขตธรรมด้วย อันนี้ก็ชัดเจน ไม่ต้องทบทวนกันอีกต่อไปแล้ว แล้วก็รู้เรื่องจิต เจตสิก คราวก่อน เราพูดถึงสภาพธรรมเหล่านี้ว่า วันนี้จิตเกิดขึ้นเท่าไร ใครนับได้ นับไม่ได้ เจตสิกก็เกิดกับจิต ดับพร้อมจิตนับไม่ถ้วน รูป ก็กำลังเกิดดับ แล้วที่เกิดดับ ไปแล้วก็นับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น ประมวลสภาพธรรม ที่เกิดดับ เป็นประเภท ๕ อย่าง ซึ่งเราจะได้ยินชินหูคือขันธ์ ๕

    ขันธ์ ๕ คือจิต เจตสิก รูป นั่นเอง เพราะว่าเกิดดับนับไม่ถ้วน ไม่รู้ ว่าจะประมวล จะแยกประเภทอย่างไร ก็รวมประเภทอีกนัยยะ ๑ เป็น ๕ อย่างคือ รูปทุกชนิด เป็น รูปขันธ์ เสียงเป็น รูปขันธ์ หรือเปล่า ขันธ์ แปลว่าพวกหรือกอง หรือประเภท เพราะฉะนั้น ประเภทของรูป ก็เป็นรูป รูปทุกรูป จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น กองรูป หรือส่วนที่เป็นรูปก็คือ ส่วนของรูปทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ ๑ ขันธ์ หรือ ๑ ประเภท เป็นรูปขันธ์ เพราะเหตุว่าเราอยู่ในภูมิที่มีรูป เพราะฉะนั้น เราจะพ้นจากรูป พ้นไม่ได้ อย่างไรๆ ก็พ้นจากรูปไม่ได้ ที่ตัวก็มีรูป นอกตัวก็มีรูป เพราะฉะนั้น ก็พ้นจากรูปไม่ได้ จะรัก จะชัง จะโกรธ จะเกลียด ก็รูปนั่นแหละ เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดดับอยู่โดยเป็นรูปแท้ๆ แต่ก็เป็นกองหรือ เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก เป็นประเภทของรูปไปเรียกว่ารูปขันธ์ นอกจากรูปขันธ์แล้ว เวทนาเจตสิกซึ่งเรากล่าวถึงเมื่อกี้นี้ว่า มี ๕ อย่างได้แก่ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ๑ เป็นทุกข์ทางกาย ๑ เป็นสุขทางใจที่ใช้คำว่า โสมนัส๑ เป็นทุกข์ทางใจที่ใช้คำว่า โทมนัส๑ แล้วก็เป็นอทุกขมสุข หรืออุเบกขา อีก ๑ ก็เป็นประเภทของความรู้สึก ซึ่งตั้งแต่เกิดมา ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลง นับไม่ถ้วน ตั้งแต่มาที่นี่ จนถึงเดี๋ยวนี้ ความรู้สึกนับไม่ถ้วนเลย ใช่ไหม มีใครดีใจบ้างไหม มีหรือ มีใครเสียใจบ้างไหม มีใครเป็นทุกขกายบ้างไหม มีใครเป็นสุขกายบ้างไหม มีใครรู้สึกเฉยๆ บ้างไหม มากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน ยกประเภทไปกองหนึ่งเลย คือกองของความรู้สึก เป็น เวทนาขันธ์ เพราะว่าความรู้สึกในภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา เพราะฉะนั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่น พูดถึงเรื่องจริง ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กี่ชาติก็คืออย่างนี้แหละ รูป ก็คงเป็นกองของรูปขันธ์ ส่วนเวทนาความรู้สึกก็เป็นสภาพของเวทนา เป็นประเภทของเวทนา เป็นเวทนาขันธ์

    นอกจากนั้นแล้วยังมีเจตสิกที่ชื่อว่าสัญญาเจตสิก สัญญาในภาษาไทย เราก็ต้อง ทำกัน สัญญากัน หรืออะไรอย่างนั้น แต่สัญญาในภาษาบาลีซึ่ง เป็นสัญญาเจตสิก หมายความถึง สภาพธรรม อย่างหนึ่งเป็น นามธรรม ซึ่งมีลักษณะ และกิจ จำ สภาพที่จำมีจริงๆ ไม่ใช่เราเลย แต่ว่าเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จิตด้วย เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นมนินทรีย์ คือเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง อารมณ์ที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะของเขา เพราะฉะนั้น สัญญาเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง สัญญาเป็นจิต หรือเปล่า ถามคนที่ง่วง คุณวีณา

    ถ. สัญญาเป็นเจตสิก

    ส. ไม่ใช่จิต หรือ

    ถ. ไม่ใช่

    ส. เกิดกับจิตหรือเปลา

    ถ. เกิดกับจิต

    ส. เป็นสังขตธรรม หรือสังขารธรรม

    ถ. เป็นสังขตธรรม

    ส. เมื่อไร

    ถ. เมื่อเกิดขึ้น

    ส. แล้วเป็นสังขารธรรมด้วยหรือเปล่า

    ถ. เป็น

    ส. แล้วเป็นสัญญาขันธ์ด้วยหรือเปล่า

    ถ. เป็น

    ส. เพราะอะไร

    ถ. เพราะว่าสัญญาเป็นความจำก็เป็นขันธ์ ขันธ์หนึ่ง

    ส. เป็นประเภทความจำ จะจำ อะไรก็แล้วแต่ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จำ หรือเปล่า

    ถ. จำ

    ส. ได้ยินเสียงทางหู จำหรือเปล่า

    ถ. จำ

    ส. ได้กลิ่นทางจมูก จำหรือเปล่า

    ถ. จำ

    ส. ลิ้มรส จำหรือเปล่า

    ถ. จำ

    ส. กระทบสัมผัส จำหรือเปล่า

    ถ. จำ

    ส. คิดนึก จำหรือเปล่า

    ถ. จำ

    ส. เพราะฉะนั้น ลักษณะที่จำ เป็นเจตสิกประเภท ๑ ใน ๕๒ ประเภท นี่ได้เจตสิก ๒ ประเภทแล้ว ใช่ไหม คืออะไร

    ถ. เวทนาเจตสิก กับสัญญาเจตสิก ๒ ขันธ์แล้ว

    ส. ต้องทราบก่อนว่า เจตสิก ๕๒ ชนิด เจตสิก ๗ ชนิด ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่เว้นเลย คือธรรมเป็นเรื่องที่ตายตัวจริงๆ เพราะว่าเป็นการตรัสรู้ของ พระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีการที่มีบุคคลอื่นมาค้นคิด ภายหลังว่าต้องมีเจตสิกเกินกว่านั้นอีก ที่เกิดกับจิตทุกดวง หรือว่าใครจะมาลด มาเพิ่มเติมไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในเจตสิก ๕๒ ชนิด นี้ เจตสิก ๗ ชนิด หรือ ๗ ประเภท ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ใน ๗ ชนิดนั้น มีเวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีจิตเกิด จะขาดเจตสิกนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่า คุณวีณาจำได้ไม่ใช่หรือว่า คุณวีณาลืม

    ถ. ใช่

    ส. เพราะฉะนั้น แม้ขณะนั้นก็มี สัญญาเจตสิก

    ถ. ก็สัญญานั้นก็จำ ความลืม

    ส. อย่างไรก็ตามแต่ ให้ทราบไว้ว่ามีสัญญาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย

    วิทยากร. เคยลืมบ่อยๆ ไหม

    ถ. เคย บ่อยที่สุดเลย

    วิทยากร. ในขณะที่ลืมมันมีสัญญา

    ถ. มี

    ส. ขณะที่เกิด ต้องเป็นเจิตเกิด แล้วมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

    ถ. มี

    ส. ถ้าเป็นแต่รูป ไม่มีจิตแล้ว จะบอกว่าคนเกิดสัตว์เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะเกิด มีสัญญาเจตสิกไหม

    ถ. มี

    ส. มีเวทนาเจตสิกไหม

    ถ. มี

    ส. ต้องมี ตอนตาย จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ จิตดวงสุดท้ายเลย เกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้ ขณะนั้นมีเวทนาเจตสิกไหม

    ถ. มี

    ส. มีสัญญาเจตสิกไหม

    ถ. มี

    ส. มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่แน่นอนว่า สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจแล้ว ไม่ใช่ เพียงจำ แต่เป็นความเข้าใจจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    28 ธ.ค. 2564