ปกิณณกธรรม ตอนที่ 538


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ แล้วอีกอย่างหนึ่ง จุดประสงค์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่ออะไร ถ้าเพื่อปัญญารู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ยังต้องเพื่ออะไรอีก ใช่ไหม เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพื่อละกิเลส เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องเห็นโทษ ว่าจริงๆ แล้วแม้ว่าเป็นธรรม แต่เป็นธรรมที่เป็นโทษ มิใช่ธรรมที่เป็นคุณ หรือเป็นประโยชน์ เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ เราจะละเว้นทานไหม ขณะนั้นทรัพย์สมบัติมีก็เอาไปไม่ได้ แต่ว่าปัญญาความรู้ความเข้าใจ หรือว่ากุศลทั้งหลายไม่ได้ให้โทษเลย แม้แต่เพียงขณะที่จะเป็นกุศลขั้นใดก็ตาม

    ขั้นทานที่มีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้นไม่ได้ให้โทษแก่จิตใจของผู้ให้ ด้วยความจริงใจ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ด้วยความผ่องใส แต่เป็นการสละความติดข้องในสิ่งนั้น ซึ่งการสละความติดข้องในวัตถุ ไม่ยากเท่ากับ การสละความติดข้องในนามธรรม และรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าเรายังสามารถที่จะสละวัตถุได้ไม่ยาก ถ้าเห็นคุณประโยชน์

    แต่ที่จะให้ไม่ให้ติดข้องในนามธรรม และรูปธรรม เงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้ จะสละไปสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ปัญญาระดับนั้นเกิดได้ แต่ต้องเป็นการอบรมความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม

    เมื่อรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ย่อมเห็นความต่างกันของวิชชา และอวิชชา โลภะ และอโลภะ โทสะ และอโทสะ โมหะ และอโมหะ เพราะฉะนั้น ก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้เหตุรู้ผล ก็เป็นปัจจัยที่จะให้กุศลเจริญ โดยไม่มีเราที่ไปหวังผล ว่าเราทำบุญอย่างนี้เราจะได้ผลอย่างนั้น หรือเราหวังว่าจะไปเกิดบนสวรรค์ หรือแม้แต่จะหวังขอให้ได้ถึงมรรคผลนิพพาน เพราะเหตุว่าเพียงขอไม่มีทาง เพียงหวังก็ไม่ได้ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน กุศลก็เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ทำด้วย และขอด้วย ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการอนุญาตเลย ถ้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าได้ไหม ไม่มีการตอบว่าได้ หรือไม่ได้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เป็นการเพิ่มอกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะใดเป็นอกุศล เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนไม่ได้ ขณะที่เป็นกุศล เป็นกุศล ขณะที่เป็นอกุศล เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แล้วเราอธิษฐานต่อว่า ขอให้ได้สำเร็จ

    ท่านอาจารย์ อธิษฐาน คืออะไร

    ผู้ฟัง ตั้งใจมั่น

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดไหม

    ผู้ฟัง ก็นึก

    ท่านอาจารย์ ต้องพูด หรือต้องทำ ความมั่นคงจริงๆ เพียงพูด หรือว่าทำจริงๆ ที่แสดงว่ามั่นคง

    ผู้ฟัง มั่นคงคือเราทำแล้ว ใจของเรามั่นคง

    ท่านอาจารย์ อธิษฐาน แปลว่า มั่นคง ความมั่นคงในกุศล อธิษฐานบารมี มั่นคงในกุศล ถ้ามั่นคงในอกุศล ไม่ใช่เป็นอธิษฐานบารมีแน่ จะตั้งใจมั่นที่จะทำทุจริต ไม่ใช่ความมั่นคงที่จะเป็นอธิษฐานบารมีแน่ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความมั่นคงจริงๆ ต้องพูดหรือเปล่า ทำได้ ใช่ไหม ที่มานั่งศึกษาธรรม พยายามที่จะเข้าใจธรรม ต้องพูดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้องพูด

    ท่านอาจารย์ ต้องขอหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ขอ

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงถึงความมั่นคง

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ถ้าเผื่อว่าในกรณีที่ปัญญาศึกษารู้สภาพธรรม อย่างเช่น อาการของโทสะ รู้สภาพธรรมในลักษณะที่เป็นนามธรรม รู้ความเป็นอนัตตา รู้ลักษณะที่ละ อย่างนี้ก็เป็นนัยต่างๆ จะบอกว่าคนละอย่างกันไม่ได้ แต่ก็รู้อย่างนั้น แต่ก็เป็นมากกว่าหนึ่งนัยอย่างนี้ หรือเปล่า อย่างเช่น ๔ อย่างที่กล่าวถึง

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และมีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ อย่างโลภะก็มีลักษณะของโลภะ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของโทสะ ปรากฏให้รู้ได้ หรือว่าโทสะ ก็เป็นสภาพของโทสะที่มีลักษณะของโทสะปรากฏให้รู้ได้ ว่าขณะนั้นไม่ใช่อย่างอื่น แต่ก่อนนี้ไม่ว่าอะไร ก็เป็นเรา แต่เวลาที่มีปัญญาศึกษา พิจารณาค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ตั้งแต่การฟัง ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรม โดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันเลย นามเป็นนาม รูปเป็นรูป เพราะฉะนั้น ความรู้จริงคือสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรม หรือเพราะเป็นรูปธรรม

    ที่ได้ฟังไปแล้วในคราวก่อน ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราสามารถที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ เช่น ทุกคนที่เกิดมาก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก

    นี่เป็นสภาพของชีวิต ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น สำหรับการที่เราจะเข้าใจ ธรรมในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ก็จะได้เข้าใจว่าขณะใดเป็นธรรมประเภทใด เพราะว่าโดยมากคนมักจะพูดกันถึงเรื่องของกรรมซึ่งเป็นเหตุ และผลของกรรมซึ่งเป็นวิบาก และเราก็คำนึงถึง แต่เรื่องเหตุกับผลที่จะได้รับในอนาคต โดยที่ไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วทุกๆ ขณะในขณะนี้ก็คือผลของกรรม ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นเครื่องยืนยันว่า ผู้ใดทำกรรมใดมา ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ทำให้วิบากจิตที่เกิดจากกรรมนั้นเกิดขึ้นมา ไม่ใช่เราสามารถที่จะไปอาศัยวิบากของคนอื่น มาเป็นของเรา หรือกรรมของคนอื่นมาทำให้วิบากจิตเกิด แต่ว่าที่เราจะต้องเข้าใจ คำในภาษาบาลี เพราะว่าบางคนถ้าพูดถึงกรรม ผลของกรรมเข้าใจได้ แต่พอใช้คำว่า วิบาก อาจจะไม่ทราบว่า หมายความถึง จิต และเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เห็นเป็นผลของกรรม ภาษาบาลีก็เป็นวิบากจิต ถ้าเห็นสิ่งที่ดี ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลวิบาก

    ในขณะที่ชีวิตของแต่ละคน จะเห็นอะไร ได้ยินอะไร จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะป่วยไข้ หรือว่าเกิดความสบายกายเมื่อไร เราก็ทราบได้เลย ว่าเป็นผลของเจตนาคือกรรมในอดีต ที่แต่ละบุคคลได้กระทำแล้ว ซึ่งจะแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ จะอาศัยกรรมของคนอื่น ที่จะทำให้วิบากของเราเกิดไม่ได้

    นี่ก็คือชีวิตประจำวัน เรารู้เพิ่มเติมในภาษาบาลีว่า เป็นขณะจิตที่ยังไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีอโมหะ เกิดร่วมด้วย เป็นแต่เพียงผล ซึ่งต้องเกิดเมื่อกรรมซึ่งเป็นเหตุ ได้กระทำแล้ว พร้อมที่จะมีปัจจัยที่จะทำให้ วิบากจิตชนิดใดเกิด วิบากจิตชนิดนั้นก็เกิด โดยที่ยังไม่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ในภาษาบาลีก็เรียกจิตเหล่านี้ว่า อเหตุกจิต หมายความถึง จิต ที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย เพราะว่าในบรรดาธรรมทั้งหมด จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ธรรมที่เป็นเหตุจริงๆ จะมี ๖ เท่านั้น คือ โลภะ๑ โทสะ๑ โมหะ๑ เป็นอกุศลเหตุ ถ้าทางฝ่ายที่เป็นกุศลก็ตรงกันข้าม ใช้คำว่า อะ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เป็นโสภณเหตุ

    ถ้าไม่ใช่เจตสิก ๖ ประเภท หรือดวงนี้แล้ว ธรรมอื่นทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ ซึ่งภาษาบาลีจะใช้คำว่า นเหตุ หมายความว่า ไม่ใช่เหตุ

    จิตทั้งหมดทุกดวงเป็นนเหตุ คือไม่ใช่เหตุ เจตสิกอื่นนอกจากเจตสิก ๖ เป็นนเหตุ รูปทั้งหมดก็เป็นนเหตุ นิพพานก็เป็นนเหตุ คือธรรมเป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล จากการตรัสรู้สภาพธรรมนั้น ไม่มีการที่จะเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมใด และศึกษาต่อไป ก็จะไม่พ้นจากธรรมที่เคยได้ยินได้ฟัง แต่ว่าเข้าใจเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น ละเอียดขึ้น ตอนนี้ก็คงไม่สงสัย เห-ตุ หรือเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ธรรมอื่นนอกจากนั้นทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ เปลี่ยนได้ไหม

    เปลี่ยนเป็น ผัสสะเป็นเหตุได้ไหม เจตนาเป็นเหตุได้ไหม ไม่ได้ จิตเป็นเหตุได้ไหม ไม่ได้ นี่คือต้องมีความเข้าใจที่แน่นอนมั่นคง แล้วก็สภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ที่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย คือไม่ใช่ทั้ง ๖ เหตุหนึ่งเหตุใดก็ได้ เกิดร่วมด้วยสภาพธรรมนั้นเป็น สเหตุกจิต หมายความว่า เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่ยากอีกเหมือนกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย

    รูปเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ อเหตุกะ คือ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดเป็นอเหตุกะ

    จิตเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ จิตบางประเภทที่ไม่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยเป็น อเหตุกะ จิตอื่นที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเป็นสเหตุกะ

    ถ้าพูดถึงขณะจิตที่เห็น ขณะนี้ทราบได้เลย เป็นอเหตุกะ ยังไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย ขณะที่เห็น เฉพาะขณะจิตที่เห็น ขณะจิตที่ได้ยิน ขณะจิตที่ได้กลิ่น ขณะจิตที่ลิ้มรส ขณะจิตที่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ๕ ทาง ๕ ทวาร แต่มี ๒ ประเภท ที่เป็นกุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ รวมเป็น ๑๐ จิต ๑๐ ดวงนี้ เป็นอเหตุกจิต ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

    แสดงว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อพร้อมที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้น ต้องเกิด

    ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม การเห็นในรูปพรหม ในพรหมโลก มี เพราะฉะนั้น การเห็นขณะนั้นก็ต้องเป็นอเหตุกจิต เปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วก็ต้องเป็นชาติวิบาก ถ้าศึกษาธรรมแล้วจะไม่เปลี่ยน ก็จะมีความเข้าใจขึ้น อเหตุกจิตไม่ใช่มีแค่ ๑๐ ดวง แต่อเหตุกจิตทั้งหมด มี ๑๘ ดวง หรือ ๑๘ ประเภท แต่ที่เราเห็นในขณะนี้ที่สามารถจะเข้าใจได้ ในชีวิตประจำวันก็ ๑๐ ดวง โดยนัยของพระสูตร จะไม่กล่าวโดยละเอียด จะกล่าวเพียงเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็น ๑๐ ดวงเท่านั้น ที่เราจะเห็นได้ทั่วๆ ไป ในพระสูตร ไม่ทราบว่า คุณวีระ มีข้อสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง ในส่วนที่เป็น อเหตุกจิต และสเหตุกจิต เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง นเหตุ อเหตุกะ แปลว่า ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ส. อเหตุกะ แปลว่า ไม่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย นเหตุ หมายความว่า ไม่ใช่เหตุ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า นเหตุกเจตสิก นเหตุกจิตจะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าจิตทั้งหมดเป็น นเหตุกะ ถ้าอย่างนั้นเราจำเป็นคู่ ดีไหม หมายความว่า จำเหตุมี ๖ เหตุ และนเหตุ นอกจาก ๖ นี้แล้วไม่ใช่เหตุ แล้วอเหตุกะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย สเหตุกะมีเหตุเกิดร่วมด้วย จำเป็น ๒ คู่ เหตุกับนเหตุ อเหตุกะกับสเหตุกะ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ท่านอาจารย์ถามถึงเรื่องจิต ก็แสดงว่าไม่ใช่เหตุแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลี เหตุกับนเหตุ อเหตุกะกับสเหตุกะ มีเหตุเกิดร่วมด้วยกับไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าเป็นเจตสิกที่มีเหตุ เกิดร่วมด้วยในจิตดวงนั้น เรียกว่าสเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะถามถึงจิตทุกดวง ถามถึงเจตสิกทุกดวงก็ได้ ค่อยๆ คิดเอง พิจารณาเอง

    ผู้ฟัง สำหรับรูป และปรมัตถธรรมอันอื่น นอกเหนือจาก จิตกับเจตสิกแล้ว เราจะพูดว่า สเหตุกะ หรือ นเหตุได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นการซ้อมความเข้าใจ เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖

    เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดไม่ใช่เจตสิก จิตทั้งหมดเป็นนเหตุ เฉพาะจิต

    รูปไม่ใช่เจตสิก ๖ รูปทั้งหมด เป็นนเหตุ คือไม่ใช่เหตุ

    นิพพานไม่ใช่เจตสิก นิพพานเป็นนเหตุ

    จบไป ๓ ปรมัตถ์ คือ จิต รูป นิพพาน ไม่ใช่เหตุแน่นอน

    แต่สภาพธรรมที่จะมีเหตุเกิดร่วมด้วยได้เฉพาะจิตเท่านั้น รูปจะมีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยไม่ได้ นิพพานก็จะมีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เฉพาะจิต และเจตสิก ที่จะมีเหตุเกิดร่วมด้วย

    จิตใดที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใช้คำว่า สเหตุกจิต หมายความว่า จิตที่มีเหตุเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    จิตใดที่ไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็เป็นอเหตุกจิต

    เจตสิกก็เช่นเดียวกัน เจตสิกใด ที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เจตสิกนั้นก็เป็น สเหตุกะ

    เจตสิกใดที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เจตสิกนั้นก็เป็นอเหตุกะ

    เพราะฉะนั้น เราจะค่อยๆ ก้าวไปทีละเล็กทีละน้อย จริงๆ แล้ว คนที่ศึกษาปรมัตถธรรมอาจจะคิดว่า ตอนที่ยากที่สุดคือ เรื่องอเหตุกจิต แต่ความจริงไม่ใช่ ถ้าเราเข้าใจในชีวิตประจำวัน เราจะรู้ได้ว่าทั่วๆ ไป เวลาคนพูดถึงกุศลจิตเขาเข้าใจได้ อกุศลจิตเขาก็คิดว่าเขาเข้าใจได้ ใช่ไหม แต่ความจริงแล้วก่อนที่กุศลจิต หรืออกุศลจิตจะเกิด ก็มีจิตเห็นแล้วภายหลังถึงจะมีกุศลจิต และอกุศลจิตได้ จะเกิดต้องมีจิตได้ยินพวกนี้ เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะคิดถึงชีวิตประจำวันจริงๆ ก็น่าสนใจที่จะรู้ว่าต้องมีจิต ๒ อย่าง

    คือจิตหนึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วย อีกประเภทหนึ่ง ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเท่านั้นเอง ถ้าเราจะเข้าใจให้ชัด เราก็จะเห็นได้ เวลาที่เป็นกิเลสวัฏ กัมมวัฏ วิปากวัฏ สำหรับวิปากวัฏไม่ใช่ กิเลสวัฏ ไม่ใช่กัมมวัฏ

    ส่วนของวิบากไม่ใช่กุศล และอกุศล และวิบากบางชนิดก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย วิบากบางชนิดก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่ก่อนอื่น ต้องเข้าใจคำให้ถูกต้องก่อน ถ้าเข้าใจคำถูกต้องว่า เหตุกับนเหตุ ความหมายเป็นอย่างไร ทีนี้เราก็ไม่มีความคลาดเคลื่อน เพราะถ้าเราเข้าใจว่า เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ เท่านั้น จำไว้เลยตลอดชีวิตไป ไม่มีการสับสนอีก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่มีโอกาสที่จะถามถึงเรื่อง สภาพของบุญ และบาป และวิบาก ถ้าสมมติว่าเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับเจตสิกที่เป็นเหตุ อยู่ในจิตดวงนั้น เจตสิกดวงนั้นก็ไม่ใช่เหตุ แต่ว่าเป็น สเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ เพราะมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

    อย่างผัสสเจตสิก ไม่ใช่เหตุ เพราะไม่ใช่เจตสิก ๖ ดวง แต่ผัสสเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เป็นอเหตุกจิต ผัสสะก็ต้องเป็นอเหตุกะด้วย เพราะเหตุว่า ผัสสะที่เกิดกับจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แม้ผัสสะนั้นก็ไม่เจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

    แต่เวลาใดผัสสเจตสิก เกิดกับจิตที่เหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยกับเหตุ ผัสสะต้องเป็นสเหตุกเจตสิก เพราะว่ามีเหตุเกิดร่วมด้วยกับเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้น

    อันนี้ก็เป็นเรื่องไกล ค่อยๆ ไปถึง แต่ตอนต้นต้องมีเข้าใจให้ชัด ถ้าเราเรียนพร้อมกัน มีใครบ้างไหม ที่ยังไม่ทราบว่า ถ้าใช้คำว่า เหตุ ในพระพุทธศาสนาต้องหมายถึง เจตสิก ๖ เท่านั้น ไม่เข้าใจก็ถามเลย

    อย่างเมื่อกี้นี้ถ้าใช้คำว่าเหตุ มี ๖ แต่เวลานี้กำลังจะขยายเป็นเหตุ ๙ ก็ได้ไม่ผิด จากเหตุ ๖ นั่นเอง คืออย่างไรๆ ก็ไม่พ้นจากเจตสิก ๖ จะเกิน ๖ ไม่ได้ สำหรับเหตุ เจตสิกที่เป็นเหตุ ธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่เจตสิก ๖ เพราะฉะนั้น จะพูดว่า ๙ ก็เป็น ๖ แต่ว่าขยายออกไป โดยการแสดงธรรม ๓ หมวด ในสังคณีปกรณ์ ใช้คำว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อพยากตาธัมมา ต้องเข้าใจความหมายของคำด้วย ซึ่งไม่ยากเลย

    การศึกษาธรรมถ้าเข้าใจความหมายโดยตลอดตั้งแต่ต้น จะสะดวกมากทีเดียว เช่น กุศลธรรม ธรรมฝ่ายดี อกุศลธรรม ธรรมฝ่ายไม่ดีเป็นอกุศล อพยากตธรรมง่ายจริงๆ คือ ธรรมใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เป็นอพยากต มีใครไม่ทราบบ้างไหม ธรรมใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล ธรรมนั้นเป็นอพยากต คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ความหมายของคำว่า อพยากต อะ ไม่ พยากรณ์ คือไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล

    เพราฉะนั้น ปรมัตถธรรม มี ๔

    รูปเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรืออพยกตธรรม เป็นอพยากตธรรม

    คือเราจะเปลี่ยนเรื่องไปได้หมด แต่ว่าคือปรมัตถธรรม ๔ โดยนัยหลากหลาย ถ้าจะโดยนัย กุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรือ อพยกตธรรม ก็รู้

    รูปทั้งหมดไม่ใช่กุศลหรือ ไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น เป็นอะไร ใน ๓ อย่าง เป็นอพยากต

    นิพพานเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นอพยากต อพยากต

    จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นอพยากต

    จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลก็มี เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล มีจิตที่เป็นอพยากต

    เจตสิกเหมือนกัน เจตสิกที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นอพยากตก็มี ก็ธรรมดาๆ

    เหตุ พอมาถึงเหตุแล้ว ที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่เป็นอพยากตก็มี เพราะว่าเหตุเกิดกับวิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ เกิดกับจิตกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้

    เพราะฉะนั้น เหตุที่เป็นอกุศล เวลาที่เกิดกับจิตต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว นี่เป็นความต่างกัน ในบรรดาเหตุ ๖ ซึ่งมีอกุศลเหตุ ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ๓ อย่าง นี้เมื่อเกิดกับจิตขณะใดต้องเป็นอกุศลชาติเดียว เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เป็นผลของกรรมไม่ได้ ถ้าจิตที่ไม่ดี ๓ ประเภท นี้เกิดเมื่อไร จิตนั้นเป็นอกุศลทันที ไม่ใช่วิบากแล้ว แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลวิบาก

    แต่สำหรับทางฝ่ายโสภณเหตุ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ฝ่ายดี เกิดกับกุศลได้ เป็นเหตุที่ดี แล้วเวลาที่ให้ผลเวลาที่กุศลจิตซึ่งแต่ละคนทำ หรือแม้แต่ในขณะนี้เอง ขณะนี้เป็นกุศลจิต เป็นกรรม เป็นเจตนา ซึ่งใครๆ ก็มองไม่เห็นไม่ได้ทำอะไร เพียงนั่งฟังเฉยๆ แต่เป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นกระทำการงานของจิต และเจตสิก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567