ปกิณณกธรรม ตอนที่ 527


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาลักษณะจริงๆ เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง แต่ทุกคนลืม เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งของต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการระลึกที่จะรู้ว่าขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ ให้เข้าใจตรงนี้ ไม่ต้องทำอะไรทั้งหมดเลย ไม่ต้องพยายามทำให้เห็นชัด เห็นสลัว เห็นไม่เป็นอะไรเลย แต่ว่าให้เข้าใจว่าขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ใช้คำว่า เป็นสภาพธรรม ก็เป็นสภาพธรรม แล้วกำลังมีจริงๆ คือกำลังปรากฏ เพื่อที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีจริง อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ที่ปรากฏได้เฉพาะทางตา

    ผู้ฟัง ขณะที่ผมสามารถจะแยก ผมอีกแล้ว ขณะที่สามารถจะแยก ความรู้สามารถจะแยกได้ นี่เป็นสภาพเห็น อาการเห็น ลักษณะเห็น มีจริงๆ กับว่า นี่เป็นสิ่งที่ถูกเห็น จะเป็นสีปรากฏขึ้นมาเลย หรือว่าจะเป็นวัณณะปรากฏขึ้นมาเลย ขณะนั้นปัญญารู้แยกแล้ว หรือไม่ หรือไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นการคิด หรือเข้าใจ ต้องรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ อันนี้ต้องมีก่อน เพราะว่าแม้ว่าเป็นสภาพธรรม ที่เราฟังแล้วเข้าใจ แต่ว่าถ้าสติไม่เกิดระลึกที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ทีละอย่าง ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง ลักษณะที่ระลึกรู้สภาพที่ปรากฏ คือ สภาพเห็น หรือว่าจะเป็นสภาพที่ได้ยินได้กลิ่น อะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นระลึกรู้สภาพที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ประทานโทษ ระลึกรู้สภาพที่มีจริง เช่น เห็น สภาพเห็นนั้นมีจริง ขณะนั้นสติเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นการถามเพื่อที่จะรู้ว่าสติเกิดหรือยัง

    ผู้ฟัง แต่ละท่านต้องเข้าใจของท่านเอง

    ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่า เมื่อสติเกิด สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม ใช้คำว่า สภาพธรรม ก็คือสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่ต้องเรียนเรื่องปรมัตถธรรมว่าเป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขณะนั้นต้องมีสภาพระลึกรู้ เกิดขึ้นด้วยแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง คาดว่าเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศล สติไม่ได้เกิดเลย

    ผู้ฟัง เพราะว่าตรงนี้เป็น ความเข้าใจผิดอย่างมากทีเดียว

    ท่านอาจารย์ นี่คือประโยชน์ ของการศึกษาธรรม ต้องละเอียด ถ้าไม่ละเอียดก็ช่วยตัวเองไม่ได้ คิดว่าขณะนั้น เป็นสติแล้วก็ระลึกได้ชัดเจน ตรงลักษณะที่หน่วงตึง แล้วก็เห็นสภาพที่เล็กที่ชัด ก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น แต่จากการศึกษา จะทราบทันทีว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เป็นเรา หรือเป็นปัญญา ที่กำลังทำ จนกระทั่งเลื่อนจุด เลื่อนที่ ว่าอะไรเป็นเหตุให้รูปขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุให้เวทนาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุให้สัญญาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุให้สังขารขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ ถ้าเหตุที่จะให้รูปปรากฏก็คือ มหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูปเลย ทางตาที่กำลังเห็นจะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็นขณะนี้ ไม่ต้อง รู้เรื่องมหาภูตรูปเลย เพราะเหตุว่า มหาภูตรูป ไม่ได้ปรากฏทางตา แต่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ถ้ารูปไม่มีมหาภูตรูป อุปาทายรูป หรือรูปที่อาศัย มหาภูตรูปก็มีไม่ได้ นี่จากการศึกษา แต่ว่าการศึกษาเราต้องทราบว่า ทางตา รูปอะไรปรากฏ แต่รูปนี้ ถ้าไม่มีมหาภูตรูป รูปนี้ก็มีไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ที่รูปารมณ์ หรือสีสันวัณณะจะปรากฏได้ ก็เพราะเหตุว่ามีมหาภูตรูป แล้วอะไรเป็นเหตุให้เวทนาปรากฏ ก็ต้องมีผัสสเจตสิก สัญญาขันธ์ก็เช่นเดียวกัน ปรากฏเพราะผัสสะ สังขารขันธ์ก็เช่นเดียวกัน แต่วิญญาณใช้นามรูปเป็นปัจจัย เพราะว่าต้องอาศัยทั้ง ๒ อย่าง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ถ้ารู้จริงๆ ว่าการที่ปัญญาจะเกิด ปัญญา รู้อะไรจริงๆ รู้สภาพธรรม ตามปกติ ต้องปกติอย่างมากๆ เป็นปกติจริงๆ เพราะว่าขณะนี้เป็นธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทางตาที่กำลังเห็นธรรดาๆ อย่างนี้ สภาพเห็นก็เป็นธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สิ่งที่ปรากฏก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือใจที่คิดนึก ทุกอย่างเป็นธรรม ที่เป็นปกติ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ความจริง จะรู้ความจริงของสภาพธรรมตามปกติ ซึ่งละเอียดมาก เพราะเหตุว่าเป็นปกติ ถ้ามีความผิดปกติด้วยความต้องการ สักนิดหนึ่ง หรือมีความคิด แม้ว่าเราจะไม่ได้คิดว่าเราทำ แต่ขณะนั้นก็กำลังทำอยู่ ทำอย่างหนึ่ง อย่างใดที่จะให้เป็นอย่างนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าสัจจญาณ หรือความมั่นคงในเรื่องของอริยสัจ ๔ ยังไม่พอ ถ้าพอจริงๆ ผู้นั้นจะละ ความต้องการ แม้นิดเดียวที่อยากจะให้สติระลึก ซึ่งทุกคนอาจจะหวังรอ ว่าฟังธรรมมานานแล้ว เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องรอ เรื่องหวัง แต่เป็นเรื่องที่มั่นคง ในเหตุปัจจัยจริงๆ ว่า เมื่อมีปัจจัยของสัมมาสติที่จะเกิด สัมมาสติก็เกิด ขณะนั้นก็รู้ว่า ไม่หลงลืม ขณะนั้นมีสภาพธรรม ที่สติ เริ่มระลึก ตามปกติ ธรรมดา

    สติปัฏฐานทั้งหมด จึงเป็นผู้มีปกติ เจริญสติ ปกติจริงๆ ขณะนั้นจะเป็นปกติหรือเปล่า กับปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของรูป และนาม อย่างละเอียดตามปกติ ที่ว่าละเอียด เพราะเหตุว่า เกิดแล้วดับ เร็วมาก เกินกว่าที่ใครคนหนึ่ง คนใดจะไปทำอะไร จะไปนึกให้ตั้งตรงนี้ จะไปย้ายตรงนั้น จะให้ตึง จะให้เคลื่อนจะให้อะไร นั่นเป็นเรื่องของความคิดนึก แต่ว่าสภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริง ก็รู้ความจริง ตามปกติ แล้วละความไม่รู้ เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องละทั้งหมด

    ผู้ฟัง ปกติ คือไม่มีอะไร ยากๆ ทีเดียว

    ท่านอาจารย์ ยากที่จะเป็นปกติ เพราะว่าเรามักจะทำอยู่เสมอ ที่จริง ที่ว่าไม่สงสัยคงจะเป็น ไปไม่ได้ ไม่สงสัย ต้องหมดความสงสัยไม่มีเลย จึงจะไม่สงสัย เพราะฉะนั้น ตอนที่ความรู้ยังไม่มั่นคง หรือยังไม่มาก มีความสงสัยแน่นอน มิฉะนั้นแล้ว โสดาปัตติมรรคจิต ก็จะไม่ได้ดับ วิจิกิจฉาเจตสิก แต่เพราะเหตุว่าความสงสัยมี แล้วก็มีความสงสัยที่ละเอียดด้วย แต่ก่อนนี้เราอาจจะสงสัยหยาบๆ เรื่องราวของอริยสัจ แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรม ปรากฏ ความสงสัยเกิดได้แน่นอน เพราะเหตุว่ายังมีปัจจัยที่จะให้ความสงสัยเกิด เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสติกับปัญญาที่คมจริงๆ ที่จะรู้ว่า แม้ความสงสัยนั้น ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง กว่าจะละความแป็นเราออกหมด จากทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตในวันนี้ ตั้งแต่เห็น แล้วก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ตลอดมา เวลาที่หลงลืมสติ ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด แล้วก็อบรมปัญญาถึงขั้นที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมก็คือว่า เมื่อใดที่สติเกิด เมื่อนั้นรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ซึ่งก่อนนั้นก็คงจะต้องมีการพิจารณาสังเกตค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น แต่เมื่อรู้แล้ว ระดับขั้นของปัญญาที่รู้ กับขั้นที่กำลังอบรมอยู่ก็ต้องต่างกัน

    ผู้ฟัง คำว่า ปกติ รู้สึกว่าจะละเอียดมาก ขณะที่ดิฉันจะเข้าใจ ก่อนที่จะฟัง ธรรมของท่านอาจารย์ ก็ไปประพฤติปฏิบัติ เช่นนั่งหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็จะดูว่าอะไรเกิดขึ้นก็ ไม่ใช่จะดู เขาบอกให้นั่ง ก็ดูรูปนั่ง จากคราวที่แล้วเป็นอย่างนั้น พอมาฟังของท่านอาจารย์แล้วก็ยังคิดว่า ยังทำตัวผิดปกติอยู่อีก คือจะจดจ้องดูว่า อะไรจะเกิด แล้วถึงจะระลึกรู้ ตรงนั้น ก็ยังผิดปกติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่า ถึงไม่ต้องจ้องก็มีสภาพธรรม อยู่แล้ว ไม่ต้องคอยอะไรเลย ไม่ต้องหวังอะไรเลย อย่างบางคนก็หวังเมื่อไรเสียงจะปรากฏ จะได้ระลึกลักษณะของเสียงกับได้ยิน ก็ก่อนเสียงปรากฏ ก็มีสภาพธรรมอยู่แล้ว ไม่เคยขาดสภาพธรรมเลย

    ผู้ฟัง แต่ที่จะเรียนให้ทราบคือว่าแม้แต่ฟัง ที่ท่านอาจารย์บรรยายแล้ว ก็ยังทำตัวผิดปกติอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมดาของอวิชชา

    ผู้ฟัง แล้วก็ผิดปกิตอยู่นานมากเลย

    ท่านอาจารย์ คนนั้นจะเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่าก่อน ที่ปัญญาจะเกิด ที่เป็นปกติ ที่เป็นสัมมาสติ เป็นมรรคจริงๆ ก็จะต้องมีผิด เพราะฉะนั้น จึงละ สีลัพพตปรามาส การประพฤติหนทางที่ผิด ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด

    ผู้ฟัง พอต่อมา เมื่อทราบว่าอย่างนั้นผิด เพราะอะไรจะเกิดก็ระลึกรู้ แต่ไปๆ มาๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ที่ว่าถูก อะไรจะเกิด มันก็ไม่ค่อยจะเกิดให้ได้ระลึก

    ท่านอาจารย์ ถูกไหม

    ผู้ฟัง ก็ เลยเหมือนไม่ได้ปฏิบัติอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่ค่อยๆ จะเกิด นานๆ จะเกิด ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง คิดว่าถูก

    ท่านอาจารย์ ถูกแล้วทำไมไปหวังให้เกิดมากๆ บ่อยๆ

    ผู้ฟัง รู้สึกเลย เหมือนว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าทำเมื่อไรก็ผิดอีก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น อันนี้เกิดเป็นปกติ คืออะไรเกิดก็ระลึก

    ท่านอาจารย์ นี่คือการละสมุทัย ความต้องการ ตัวนี้ซึ่งเห็นยาก ความต้องการอันนี้เห็นยากมาก คือความต้องการที่จะทำ เพื่อให้ได้ผล หนทางจริงๆ เป็นหนทางละโดยตลอด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นคือ ถ้าเราฟังบ่อยๆ แล้วเกิดความเข้าใจขึ้น แล้วเขาก็จะเป็นปกติที่จะระลึก สภาพนั้นเอง เป็นอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ของการฟัง คือความเข้าใจ แล้วความเข้าใจนี้ คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ตลอดไป คือความเข้าใจถูก ไม่ต้องไปหวังอะไรตรงไหนเลย ถ้าหวังอะไรตรงไหน หวังสติ หวังประจักษ์แจ้ง ขณะนั้นคือไม่เข้าใจ แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้นๆ ๆ ความเข้าใจนั้น เป็นปัญญา ไม่ใช่เป็นอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญญาแล้ว ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ทำหน้าที่ของปัญญาเอง ไม่ใช่ว่า เราอยากให้ปัญญาเกิดมากๆ เราเสียดายทำไมวันนี้ปัญญาเกิดน้อย หรือสติ ไม่เกิด ก็เป็นเรื่องตัวเรา ซึ่งจะเอาอะไรละ จะเอาอะไรละตรงนี้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ว่าไม่มีเรา เป็นสภาพธรรมทั้งหมด แม้แต่ขั้นการฟังก็เป็นประโยชน์ เป็นการอบรม เป็นภาวนา เป็นจิรกาลภาวนา เมื่อฟังด้วยดี เข้าใจขึ้น เวลาสติเกิด ยังต้องละความต้องการที่อยากจะให้สติเกิด หรืออยากจะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ และก็รู้ว่าเป็นเรื่องละโดยตลอด เพราะว่าจริงๆ แล้ว ที่สภาพธรรม ไม่ปรากฏ เพราะโลภะปิดบังไว้สนิท แต่ถ้าโลภะ ค่อยๆ จางไปสภาพธรรม ก็สามารถจะปรากฏตามกำลังของปัญญาที่เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วผู้ที่เป็นอริยบุคคลหลายๆ อย่างก็อาจจะปรากฏกับท่าน แล้วท่านก็จะต้องรู้ทั่ว

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ไม่ทั่วเป็นไม่ได้ ยังสงสัยอยู่

    ผู้ฟัง แล้วมีอยู่อีกข้อ สัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ซึ่งจะต้องประกอบกับจิตทุกดวง มีอยู่ดวงหนึ่ง เอกัคคตาเจตสิก คือความตั้งมั่น ถ้าใจเราลอย จะมีหรือ

    ท่านอาจารย์ จิต อะไร ต้องกลับมาหาประเภทจิต แล้วทรงแสดงไว้ละเอียดว่า จิตนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร และโดยเฉพาะ สัพพจิตสาธารณเจตสิก ใครเป็นคนแสดง ว่าสภาพนี้เกิดกับจิตทุกดวง

    ผู้ฟัง ก็ตามตำราไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ ตำรามาจากไหน

    ผู้ฟัง เกิดจากพระพุทธเจ้า แสดง ก็แสดงว่าใจลอยก็ไม่มีเอกัคคตาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นั่นเราคิดเอา ต่างหาก เราไปคิดว่า เอกัคคตา ต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก จิตตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งขณะ ใจลอยมีอารมณ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ จิตตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่ง ไม่ใช่ว่าเราเอาเรื่องของเรามาคิดเอาเอง แต่ต้องเป็นการศึกษาธรรมจริงๆ อย่างเรื่องของการปฏิบัติธรรม ถ้าฟังเผินๆ ก็ทำ ปฏิบัติใช่ไหม ทำธรรมหรืออย่างไร ปฏิบัติธรรม ก็พยายามชักชวนกันไปปฏิบัติธรรม แต่ถ้าถามถึงความเข้าใจว่า ปฏิบัติอะไร ธรรมอะไร ถ้าตอบไม่ได้ หรือไม่เข้าใจ แล้วจะมีผลอะไร เพราะฉะนั้น คนนั้นก็น่าจะรู้ว่าไม่เข้าใจ แล้วการฟังก็เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจขึ้น แทนที่จะไม่รู้ต่อไป

    ผู้ฟัง เมื่อสติระลึกรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น เห็น หรือแข็ง หรืออ่อนก็ตาม มันจะไม่หยุดตรงนั้น สติขณะนี้ระลึกรู้แล้ว ถึงลักษณะนั้น แต่ว่าอีกขณะหนึ่ง ต่อมามันจะมีเวทนา มีอะไรเกิดขึ้นอีกมากมาย มันไม่ได้หยุดตรงนั้น แล้วมันจะสะดุดหยุด จะเป็น นามรูปได้ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าอะไรเกิดต่อก็คือ นามธรรม รูปธรรมทั้งหมด เพราะว่าที่ว่า นามธรรม รูปธรรม เกิดแล้วดับ ก็เหมือนที่เราว่า หยุด แล้วไม่ได้หยุด เพราะว่าเกิดต่อไป

    ผู้ฟัง แสดงว่าในวันหนึ่งๆ บางที เราไม่ระลึกรู้เลย

    ท่านอาจารย์ ก็ตรงตามความเป็นจริง คือเป็นผู้ตรง การศึกษาธรรมประโยชน์ที่สุดคือเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรม ทำให้รู้จักตัวเองยิ่งขึ้น ถูกต้อง อย่างบางคนก็อาจจะคิดว่าเขา เข้าใจธรรมมาก แต่พอฟังจริงๆ เขาจะรู้ได้ ว่าเขายังไม่รู้อะไรอีกมาก

    ผู้ฟัง มรรค ๘ หรือว่า มัชฌิมาปฏิปทา ท่านก็บอกว่าเป็นอันเดียวกัน ต่างแต่ชื่อ สติปัฏฐานก็ดี มรรค ๘ ก็ดี โดยใจความอันเดียวกัน ทีนี้ทั้งสติปัฏฐาน ทั้งมรรค ๘ ไม่เรียกว่า วิปัสสนาหรือ

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาคือเมื่อไร ภาษาบาลี

    ผู้ฟัง วิปัสสนา แปลว่า เจริญ ให้เห็นแจ้ง

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนา ปัสสนาคือเห็น วิ แปลว่าแจ้ง เห็นแจ้งเมื่อไร ก็คือวิปัสสนาเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง เห็นแจ้งในสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม ซึ่งถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่มีทางที่จะเห็นแจ้ง แต่หมายความว่า ถึงแม้ว่าจิตจะรู้ในลักษณะที่ต่างของสภาพของรูป แต่ตราบใดที่ไม่ใช่รูป ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือนามธรรมก็เช่นเดียวกัน นามธรรมก็มีหลายอย่าง หลากหลาย แต่ขณะใดก็ตามที่ยังเป็นเราทุกๆ นามธรรม ที่หลากหลาย ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ลักษณะของรูปไม่ว่าเป็นรูปลักษณะใดๆ ก็คือสภาพธรรม ที่ไม่รู้อะไรเลยมีจริงๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่เราเคยติดมาก ในรูป แล้วถ้าไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ไม่มีใครที่จะละความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ แต่ผู้ที่เริ่มมีปัญญา คือ รู้ว่าเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ที่ปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง อัตตสัญญา นี่ไถ่ถอนได้เมื่อเป็น พระโสดาบัน หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ผู้ฟัง ไถ่ถอนได้เมื่อเป็น พระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีความสงสัยในลักษณะที่เป็นเรา หรือว่าเที่ยง หรือว่าเป็นอัตตา

    วิทยากร. สิ่งที่ละยากคือ สักกายทิฏฐิ แล้วเมื่อจะละอกุศลทั้งหมด ต้องละ อันนี้ก่อน ละสักกายทิฏฐิ ก่อน ถ้าละสักกายทิฏฐิได้แล้ว กิเลสที่เหลือ ก็ไม่ช้า ต้องละไปได้

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริงยังไม่ต้องคิดเรื่องละเลย ควรคิดเรื่องรู้ แล้วผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่ จะเป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ถ้าไม่มีความรู้แล้ว อย่าไปคิดว่าจะละ ไม่มีทางเป็นไปได้ จะใช้วิธีไหน ทรมานตัวสักเท่าไร หรือว่าจะไปทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าปัญญาไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ไม่มีทางละ เพราะฉะนั้น อบรมเจริญความรู้ และความรู้ก็ทำหน้าที่ละ จริงๆ แล้วไม่ว่าเราจะเกิดความคิดแยบคาย เป็นกุศล ขณะใดทำให้เรารู้สึกว่าบรรเทาความโกรธลงไปบ้าง หรือว่าเห็นโทษของความโกรธ ทั้งหมดคือความเห็นถูกหรือปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีปัญญา หรือว่าไม่ได้สะสมปัญญามา ที่จะให้คิด อย่างนั้นก็คิดไม่ออก แต่ว่าถ้าเรามีการเข้าใจสภาพธรรม การปรุงแต่งของสังขารขันธ์ จะทำให้ แม้ขณะซึ่งเราไม่คิดเลย ว่ากุศลประเภทนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ อย่างสติปัฏฐาน หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นตามควรแก่โอกาสนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราคงจะไม่ต้อง ไปเตรียมตัวเตรียมใจคิดอะไรไว้ก่อน เราจะพูดอย่างนี้ หรือเราจะทำอย่างนั้น เพราะว่าถึงเวลาจริงๆ เราก็อาจจะไม่ได้ ทำอย่างนั้น ไม่ได้พูดอย่างที่คิดไว้ก็ได้ แต่ถ้าเราสะสมปัญญาไว้มากๆ พอถึงเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ทำให้ปัญญาระดับนั้นๆ เกิดขึ้น แม้แต่ในความคิดที่แยบคาย ก็อาจจะเกิดคิดขึ้นมา เพราะว่าที่จะคิดว่า ไม่มีตัวตน ทุกคนก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม คือ นามธรรม และรูปธรรมที่เกิดดับ ทั้งเราทั้งเขา มีแต่ชื่อที่เราโกรธ เพราะว่าตัวจริงๆ รูปนั้นก็ดับ นามนั้นก็ดับ รูปนี้ก็ดับ นามนี้ก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมล้วนๆ ซึ่งถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ นึกได้ก็เพราะสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ไม่ใช่เพราะความเป็นเรา แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัญญา แม้บารมีทั้งหลายก็เป็นบริวารของปัญญา เมื่อปัญญาเกิด ก็จะทำให้มีความอดทน ต่อทุกสิ่งทุกอย่างเพิ่มขึ้น แล้วก็จะมีวิริยะ มีเมตตา มีอุเบกขา แล้วแต่ประเภทของบารมีนั้นๆ

    ผู้ฟัง ผมมีปัญญาถามต่อจากเรื่องสักกายทิฏฐิ นิดหนึ่ง ผู้ที่มีสักกายทิฏฐิ ผมเชื่อแน่ว่า โอกาสที่จะเป็นสีลัพพตปรามาสง่ายมาก แต่ผมถามว่า ผู้ที่มีสักกายทิฏฐิอย่างพวกเรา ยังละไม่ได้ ไม่เป็นสีลัพพตปรามาสได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ดับเป็น สมุจเฉท เราอาจจะไม่มี สีลัพพตปรามาส ชนิดซึ่งทุกคนเห็นง่ายๆ อย่างไปไหว้ลูกหมู หรือว่าต้นกล้วย พวกนั้นก็เป็นเรื่องที่ยังมีความเห็นผิด ไม่เชื่อเรื่องของกรรม ผลของกรรม แต่สีลัพพตปรามาส ละเอียดมาก ไม่ใช่เพียงแต่อย่างหยาบๆ ที่เรามองเห็น แม้แต่เพียงขณะใดที่ปฏิบัติผิด อันนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ หรือถ้ายังไม่ละคลาย ยังติดแน่นมากก็เป็นสีลัพพตุปาทาน ทำให้เข้าไม่สามารถจะไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูกได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องตรงของผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ ว่าแม้ขณะใดก็มีการคลาดเคลื่อนจากหนทาง แม้เล็กๆ น้อยๆ เช่น การจดจ้อง การรอคอย นี่ก็แสดงว่า ไม่เข้าใจว่าสภาพธรรมมีอยู่แล้วทุกขณะ แม้ขณะนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏเท่านั้น แต่ว่าถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็คือสีลัพพตปรามาสก็จะค่อยๆ แทรกเข้ามา ด้วยเหตุนี้ พระโสดาบัน จึงดับ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

    ผู้ฟัง เพราะมีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด จึงเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดสีลัพพตปรามาส หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สักกายทิฏฐิ เป็นปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด ถ้าดับสักกายทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิใดๆ ก็มีไม่ได้เลย เพราะรู้ความจริงของนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น จะมีทิฏฐิ ความเห็นอื่นอีกไม่ได้ ทิฏฐิก็ต้องมาจากเพราะไม่รู้ ถึงไม่มีทิฏฐิอื่น แต่ยังมีสักกายทิฏฐิ แต่ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิอื่นๆ ก็ไม่มี หมดทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ตรงที่ใครด่าเรา ตรงนั้นเลย เราจะมีสติปัฏฐานเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราหวังรอไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่ถ้าเราเป็นผู้มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน ก็เกิดเพราะเป็นสังขารขันธ์ไม่ใช่เรา สภาพการปรุงแต่งของธรรมทั้งหลาย จะปรุงแต่งให้ขณะนั้น อะไรเกิดขึ้น ถ้าย่อยชีวิตออกมา เป็นเหลือขณะจิตหนึ่ง จะเห็นความเป็นอนัตตา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567