ปกิณณกธรรม ตอนที่ 530


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ แต่ว่าต้องทราบด้วยว่า เราจะประจักษ์ได้ไหมอย่างนี้ คือสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของศรัทธา ลักษณะของเอกัคคตา ลักษณะของอธิโมกขได้ไหม เมื่อปัญญาของเราเพียงเพิ่งเริ่มจะฟัง แล้วการฟังก็ต้องฟังอย่างละเอียดจริงๆ แล้วต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ใช่ว่าฟังขณะนี้เป็นอนัตตา แล้วต่อไปๆ ทำสิ่งที่เป็นอัตตา อย่างนั้นก็หมายความว่า เราไม่เข้าใจ ธรรม แล้วก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่ฟัง ย่อมรู้ตัวเองว่า มีความรู้ระดับไหน ระดับที่จะต้องฟังต่อไปอีก พิจารณาต่อไปอีก ค่อยๆ เข้าใจต่อไปอีก ไม่ต้องไปคิดเรื่องการที่จะรู้แจ้ง หรือว่าเข้าใจแจ่มแจ้งได้โดยทันที หรือว่าโดยการประจักษ์แจ้ง แต่ต้องพิจารณาเพิ่มอีก เพิ่มไปเรื่อยๆ คิดถึงว่าถ้าไปฟังพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะตรัสเรื่องอะไร มีปรากฏในพระไตรปิฎก ก็เป็นเรื่องจริง ทุกอย่างที่มีจริง โลภะจริงไหม จริง เพราะฉะนั้น คนฟังสามารถที่จะรู้ได้ ว่าขณะนั้นมีสภาพธรรม อย่างหนึ่งแล้วสภาพธรรม นั้นจะต่างกับลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็น โทสะ ถ้ามีการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วมีความเข้าใจในธรรม ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ฉะนั้น ศรัทธาๆ ที่เกิดก่อน ก็ไม่ใช่ศรัทธา เกิดหลังจากที่เราทำความเข้าใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ เราไม่เอาก่อน เอาหลัง สภาพจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ขณะใดที่ศรัทธาเกิด ขณะนั้นต้องเป็นกุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใด จะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ แต่ขณะใดที่มีปัญญาเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าศรัทธาเป็นโสภณธรรม โสภณสาธารณะ หมายความว่า ต้องเกิดกับโสภณจิตทุกประเภท แต่ปัญญาไม่ใช่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง ศรัทธาที่เกิดด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดกับปัญญา

    ผู้ฟัง ที่เกิดกับปัญญา ความหมาย defination คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีความเห็นที่ถูกต้อง ขณะนั้นมีศรัทธา สภาพจิตที่ผ่องใส ไม่เป็นอกุศลขณะที่มีความเห็นที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง การที่มีสติ คือความเป็นผู้ไม่หลงลืม ระลึกถึงเรื่องที่อดีตที่ผ่านมาแล้ว ระลึกได้ ในเรื่องราวที่เป็นบัญญัติทั้งหมด ที่เป็นกุศล ถึงจะเรียกว่าเป็นสติ ใช่ไหม เราต้องแยก

    ท่านอาจารย์ มิได้ จิตที่ระลึกเป็นกุศล

    ผู้ฟัง จิตที่ระลึกเป็นกุศล ในขณะนั้น ถึงแม้เรื่องราวที่ระลึกเป็นเรื่องราว เป็นบัญัติ

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไรก็ตามแต่

    ผู้ฟัง แสดงว่าตอนนั้น เป็นแต่สติอย่างเดียวซึ่งอาจจะเป็น ไม่มีปัญญาเข้าร่วม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราทราบว่าสติเป็นโสภณธรรม ฝ่ายดีเท่านั้น เราจะรู้ได้เลยว่า ขณะใดที่นึกคิดไปแล้วเศร้าหมอง นึกคิดแล้วตกใจ นึกคิดแล้วเสียดาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น จิตที่คิดเป็นอะไร สภาพจิตที่คิด เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าคิดขณะนั้นเป็นกุศล ขณะนั้นมีสติ เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าจิตที่คิดเป็นกุศล ในเรื่องของอนาคต เป็นสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตาม ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ต้องปัจจุบันเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐาน หมายความว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ความเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ความเป็นสภาวะแท้จริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร

    วิทยากร. คำว่าเป็น สภาวะ คำถามนี้เป็นคำถามที่คุณวีระยุทธ เคยถามบอกว่า ทำไม เหตุผลอะไรที่ว่าสติต้องระลึกรู้ในสภาพธรรมปัจจุบัน อดีต อนาคต ไม่ได้หรือ คำว่า ถ้าอดีต หมายความว่า ไม่ใช่สภาวะแล้ว ไม่ใช่มีอยู่แล้ว มันดับไปแล้วนั่นคือ อดีต อนาคตก็ไม่ใช่ สภาวะ อีก สภาวะหมายความว่ามี สะ แปลว่า มี ในที่นี้ต้องแปลว่า มี ถ้าอนาคตก็ไม่มี ไอ้ที่ดับไปแล้วก็ไม่มี เป็นอดีต เพราะฉะนั้น สภาวะนี้สำคัญมาก

    ท่านอาจารย์ การศึกษาปรมัตถธรรม ส่วนใหญ่ ศึกษาเรื่องชื่อเท่านั้น นี้เป็นจุดที่จะไม่ทำให้ เข้าใจสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องจำชื่อ คิดความหมายเรื่องชื่อ เข้าใจแต่ชื่อ แต่ความจริง ต้องเข้าใจตัวสภาพธรรม ที่เป็นขันธ์ เพราะเหตุว่าธรรมสภาพใดก็ตามที่เกิดเมื่อเกิดแล้วก็จะเป็นอย่างหนึ่ง อย่างใด ถ้าเราแยกก็คือ เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม แน่นอน ถ้าเกิดมาแล้วเป็นรูปธรรม จะเปลี่ยนรูปนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าสภาพนั้นเป็นนามธรรม เกิดเป็นนามธรรม จะเปลี่ยน เป็นนามธรรมนั้น ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น คำว่า ขันธ์ก็คือว่า เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เป็นอะไร เป็น นามธรรม หรือรูปธรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าทรงแสดงโดยละเอียดยิ่งกว่านั้นอีกว่าเป็น นามธรรมรูปธรรมประเภทไหน เพราะเหตุว่า ไม่ใช่นิพพานแน่นอน ไม่ใช่อสังขตธรรม เพราะเหตุว่า เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง สังขต เกิดแล้ว ปรุงแต่งแล้ว

    เวลาที่เราพูดถึงสังขารธรรม เราหมายความถึงธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด พูดลอยๆ พูดถึงทั่วๆ ไป สภาพธรรม ใดก็ตามที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แต่เมื่อพูดถึงสังขตธรรมปรุงแต่งแล้วเกิด คือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้สภาพธรรมใดก็ตาม เกิดเดี๋ยวนี้ คือปรุงแต่งแล้วเกิดเดี๋ยวนี้ ขณะนี้เป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้น ก็เจาะลึกลงไปอีก จากสังขารธรรมว่า สังขารธรรม คือ ทั่วๆ ไป สภาพธรรมใดก็ตาม เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด แต่เป็นสังขตธรรมเมื่อไร เมื่อปรุงแต่งแล้วเกิด ยังไม่เกิดไม่ได้ ถ้าสังขตคือปรุงแต่งแล้วเกิด ขณะใดที่เกิด ขณะนี้ จักขุวิญญาณ เห็น เกิด นี้คือปรุงแต่งแล้วเกิดเห็น ขณะที่โสตวิญญาณจิตเกิด คือ ปรุงแต่งแล้วเกิดได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ว่า เราเอาชื่อมา แล้วก็ว่า นี้เป็นขันธ์ นั้นเป็นขันธ์ เพราะอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อเกิดแล้ว ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็น รูปธรรม หรือนามธรรม เมื่อเป็นรูปธรรม และนามธรรมแล้ว รูปธรรมใดก็ตาม ซึ่งเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ซึ่งเกิดดับทั้งหมดเป็นขันธ์ ยังไม่แยก สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดดับ เป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า รูปในอดีตก็มี เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไปแล้วแสนโกฏิกัปป์ รูปนั้นไม่เปลี่ยน ยังคงเป็นรูป ยังเป็นประเภทรูป ยังอยู่ในพวกของรูป ยังอยู่ในส่วนหรือกองของรูป ส่วนของสัญญา ส่วนของเวทนาความรู้สึก ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมโดยทั่วไป ถ้าเราไม่กล่าวถึง เรากล่าวว่าเวทนามี ๕ อย่าง คือ สุขเวทนาก็มี ทุขเวทนาก็มีทางกาย โสมนัสเวทนาก็มี โทมนัสเวทนาก็มีทางใจ อุเบกขาก็มี นี้เราพูดถึงทั่วๆ ไป

    แต่สังขตธรรม คือ ปรุงแต่งให้ขณะนี้เกิดเป็นอะไร ชั่วขณะที่สั้นแสนสั้น ปรุงแต่งแล้วเกิดแล้ว เป็นอย่างนั้นแล้ว คือเป็นสังขตธรรม เพราะฉะนั้น เวทนาเกิดแล้วดับ ชั่วนิดเดียวเมื่อกี้นี้ ดับหมดแล้ว แต่เปลี่ยนลักษณะเวทนาให้เป็น ขันธ์อื่น เป็นอย่างอื่น เป็นประเภทอื่น ไม่ได้ เวทนาแสนโกฏิกัปป์ คือ เวทนาขันธ์ ประเภทของเวทนานั่นเอง สัญญา หรือว่าเจตสิกอื่นๆ ก็ว่าไป ใน ๕ ขันธ์ ก็ค่อยๆ ไล่ไป สำหรับคนที่ได้ยินได้ฟังมาแล้ว ก็จะรู้ว่า ความหมายของขันธ์ คือ ส่วนของสภาพธรรม ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ อย่าง แม้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมที่จำแนกเป็น ๕ อย่างตามการยึดถือ ซึ่งต้องไล่เรียงไปตั้งแต่รูปขันธ์ เป็นที่ยึดถือจริงๆ เราไม่ได้ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ รูปทุกรูปทางตา ก็เป็นที่ติดข้องนานแสนนานมาแล้ว เสียงทางหู ชาติก่อนๆ แสนโกฏิกัปป์ ก็เป็นที่ติดข้อง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเราต้องเข้าใจด้วยว่าหมายความเมื่อไร อย่างไร แล้วก็เป็นประเภทอย่างไร อย่างขันธ์ ทั้งเวทนาขันธ์ ทั้งอดีตที่ผ่านไปแล้ว ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต ที่จะเกิด ก็ยังคงเป็นเวทนาขันธ์ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สัญญาขันธ์ก็เป็นสภาพที่จำ จำมาตลอด เกิดอีกก็จำอีก แม้แต่จะจำเรื่องราวใหม่ ชีวิตใหม่ ครอบครัวใหม่ ชาติใหม่ เรื่องใหม่ สังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งไปอีก

    ผู้ฟัง แต่ว่าเมตตากับ LOVE ซึ่งเป็นความรัก ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ ที่ใช้คำว่า โลภะ หมายความถึง สภาพที่ติดข้องซึ่งจริงๆ แล้ว บางคนก็บอกว่าไม่เห็นเป็นไรเป็นสิ่งที่ดี รักแล้วก็ทำให้เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือช่วยคนที่เรารัก โลกไม่มีการประทุษร้าย ถ้าเรามีความรัก เขามองความรักไปในแง่นั้น เพราะว่าเขาไม่ได้ประจักษ์ความจริง ว่าแท้ที่จริงแล้ว ขณะใดที่รัก ขณะนั้นติด แล้วลองคิดดูว่า แม้เพียงเล็กน้อย พระผู้มีพระภาคที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม จึงทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล ใครทั้งโลกจะกล่าวว่าดี หมายความว่าเขาไม่รู้ความจริง ก็ลองคิดดู ถึงลักษณะของสภาพที่ ขณะนี้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย เป็นภวังคจิต ไม่เห็น ไม่ได้ยินไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพียงลืมตาขึ้น ติดทันทีแค่นี้ เบาๆ บางๆ นิดเดียว เพียงได้ยินเสียง ชั่วขณะที่เป็นวิถีจิตที่ ไม่ใช่ภวังคจิตแสนสั้น เพียงชั่วเสียงกระทบหู แล้วเกิดได้ยินทันทีนั้นติด เพราะฉะนั้น ความเบาบาง ความละเอียดของ โลภะ ซึ่งเริ่มเพียงแค่นั้น แล้วก็มากขึ้นๆ หนาขึ้น ใหญ่ขึ้น จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น นี้ก็แสดงให้เห้นว่า เราต้องเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมว่าโลภะ ไม่ใช่เมตตาแน่นอน เพราะว่าเป็นสภาพของการติด

    ผู้ฟัง อย่างที่เมื่อกี้เขาถามคำถามว่า จับแล้วรู้สึกนิ่ม นิ่มนี้ เขาถือได้ว่า มีสติ เป็นบัญญัติได้ไหม หรือว่า เป็นปรมัตถ เป็นไปไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ คนถามเป็นใคร ถ้าเด็กถามว่า นิ่มๆ เห็นอะไร ก็อย่างหนึ่ง คือเด็กไม่รู้เรื่องปรมัตถธรรมเลย เขารู้สึกว่าเขากำลังกระทบ แล้วเราถามเด็กว่า ลองดูสิว่า แข็งหรือนิ่ม เด็กตอบได้เลย ว่าแข็ง หรือนิ่ม แต่ความรู้ของเด็ก จะเหมือนกับคนที่ได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม แล้วเข้าใจว่าสติ คือ สภาพที่ระลึก ลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ปกติเราจับโต๊ะ ซึ่งแข็ง เราจับแปรงสีฟันซึ่งแข็ง จับอะไรซึ่งแข็ง เราไม่เคยระลึกถึงลักษณะแข็ง หรือเราจับอะไรที่นิ่ม เราก็ไม่เคย ระลึกลักษณะที่นิ่ม แต่ขณะใดก็ตาม ที่มีการระลึกที่ลักษณะนั้น คำถามก็คือว่า ปัญญาจะเกิดตรงนั้นใช่ไหม เมื่อมีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่แท้จริง ขณะนั้นว่าเป็น นามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะขณะที่แข็งก็ยังเป็นคุณชิน ขณะที่นิ่ม ที่กำลังรู้นิ่ม ก็ยังเป็น คุณชิน และความที่ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะยังไม่หมดไปแน่นอน จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่เพียงลักษณะที่เพียงร้อน หรือลักษณะที่เพียงนิ่ม ขณะนั้นก็ยังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดลึกในใจ และโดยเฉพาะถ้าเป็นที่ตัวเรา เรากระทบได้ วันไหนรู้สึกมือร้อน หรือเย็น เย็นนั้นก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า กว่าจะไถ่ถอน ความเป็นตัวตน ความเป็นสัตว์ บุคคล จากทุกสิ่ง ทุกสิ่งแม้แต่สิ่งที่เคยยึดถือ ใกล้ชิดที่สุดที่ว่าเป็นเราหรือตัวเรา หรือของเรา ก็เป็นเรื่องของกาลเวลา ที่แม้ว่าเราฟังแล้วเราก็ดูเข้าใจ แต่ทำไมกิเลสไม่หมด หมดไม่ได้ เพราะว่าปัญญาระดับนี้ทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญาที่อบรมไปอีก แล้วก็เป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้น ที่เป็นสติปัญญาระดับไหน ปัญญาที่ เพิ่งจะค่อยๆ ระลึกแล้วค่อยๆ พยายามที่จะรู้ว่าลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างหนึ่ง แล้วลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ที่กำลัง รู้สิ่งที่แข็งก็นั้นอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าสิ่งนี้ก็จะไม่เกิดบ่อย เพราะเหตุว่าแต่ละคน ก็รู้ว่า ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรมทั้งนั้น ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ก็ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี ไม่ใช่ไม่มี มี แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าเป็นสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถเป็นใหญ่จริงๆ ซึ่งใครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพนั้นได้เลย เมื่อมีเหตุปัจัจยก็เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ฟังอย่างนี้ นานแสนนาน แต่ว่าเรามีกำลัง ความมั่นคงของสัญญาความจำ ที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นปรมัตถธรรม เมื่อระลึกก็เป็นปรมัตถธรรม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังไม่มีความมั่นคงพอ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน จึงไม่ได้เกิดบ่อยๆ คนนั้นก็สามารถที่จะรู้ได้เองว่าปัญญาระดับนี้ ไม่พอ ต้องฟังอีก แล้วฟังทุกอย่าง ศึกษาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ทั้งหมดที่จะเกื้อกูลให้เรามีความเข้าใจ ให้มีการระลึกได้ จนกว่าสติจะค่อยๆ เกิดขึ้น แล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย จริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิรกาลภาวนา ตรงตามที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก แล้วก็ตรงตามความเป็นจริงด้วยว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความอดทนเป็นตบะ เป็นธรรมที่จะเผากิเลส ถ้ามีปัญญาค่อยๆ รู้ขึ้น

    ผู้ฟัง หนูอยากถามว่า ถ้าสมมติว่า เราเห็นว่า ซึ่งมันจะทำให้เขาเกิดอกุศลมากขึ้น เราก็หยุด

    ท่านอาจารย์ ถึงอย่างไรเขาก็เป็นอกุศลอยู่แล้วตามการสะสม ไม่โลภะ ก็โทสะอย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง แต่เราช่วยเขา

    ท่านอาจารย์ ช่วยได้อย่างไร นอกจากช่วยให้เขาเกิดปัญญา มีทางเดียว คือช่วยให้เขาเกิดปัญญา เพราะคุณชิน จะไม่ให้เขาเกิดโทสะ เขาก็เกิดโลภะ กับโมหะ อย่างไรก็เป็นอกุศล วันยังค่ำ นอกจากจะให้เขาเกิดปัญญา แล้วไม่ต้องห่วงคนอื่น เขาจะไปนรก คุณชินจะไปด้วยไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็บอกว่า ใช่ เรา กังวลเรื่องทุกคน เป็นสภาพอย่างนี้ก็น่าสงสารแต่ว่าก็จะช่วย แต่นี่กลายเป็น อกุศลตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องคิดถึงศรัทธา สภาพของจิตที่ผ่องใส ผ่องแผ้วขณะนั้นไม่เดือดร้อน มีจิตที่เป็นมิตร ที่ต้องการจะเกื้อกูล แต่ไม่หวั่นไหว แล้วแต่กรรมที่เขาสะสมมา แล้วแต่เขาเราจะช่วยได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คำถามคือว่า อารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นอดีต ทีนี้อดีตที่ดับไปแล้ว เรามาคิดเป็นอารมณ์ในปัจจุบันได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เรื่องเท่านั้น ขณะนี้จิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นปรมัตถ สีสันวัณณะ เป็นปรมัตถ พอคนเป็นบัญญัติแล้ว เพียงแค่เดี๋ยวนี้เองสั้นๆ จากปรมัตถเป็นบัญญัติ รวดเร็วเหลือเกิน หรือผู้ที่กระทำฌาน เขาก็เพ่งจ้องสี จะเป็นวัณณะกสิณ หรือปฐวีกสิณ ก็ตาม เพื่อที่ความจำของเขา จะได้ไม่สนใจอย่างอื่น แต่เขาจำสิ่งนั้นจนปรากฏเหมือนเห็น แต่เป็นบัญญัติ เพราะไม่ใช่ของจริง ให้ทราบความต่างกัน ปรมัตถธรรมแสนสั้น สั้นมาก แวบเดียว นิดเดียว จากนั้นเป็นบัญญัติแล้ว เรื่องราวทั้งหมดที่เราคิด อย่างฝัน ทุกคนก็ฝันเห็น เห็นจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าจำ แล้วก็คิดเพราะจำ เพราะฉะนั้น ฝันทั้งหมดคือบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถเลย แม้ว่าเราจะเห็นอไรในฝัน สิ่งที่เห็นในฝันไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น การนึกคิดเรื่องในอดีตก็เหมือนกัน ก็ทำนองเดียวกัน

    ผู้ฟัง มันเป็นสติได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ยืนยันไว้ได้เลย ปรมัตถธรรมเปลี่ยนไม่ได้ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ใครจะรู้หรือไม่รู้ ขณะนั้นมีโสภณสาธารณเจตสิก ซึ่งสติเป็น ๑ ในโสภณสาธารณเจตสิกฝ่ายดี ๑๙ ๑ ใน ๑๙ ต้องเกิดทุกครั้ง

    ผู้ฟัง ขอมาเข้าเรื่องอบรมเจริญปัญญา เรื่องสติปัฏฐาน ๔ มีหลายแห่งที่เขาพยายามที่จะแยก กาย จิต เวทนา ธรรม ในการอบรม เป็นแยกออกไปเป็นอย่างๆ เลย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นกายา อย่างอื่นไม่ต้องเอามาคิดเลย ถ้าอบรมทางเวทนาสติปัฏฐาน นี่ก็จะเอาแต่เวทนาอย่างเดียว ทิ้งอย่างอื่นไว้หมด ซึ่งอันนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว อะไรก็ตามที่ปรากฏขึ้นนั้น จะต้องมี กาย จิต เวทนา ธรรม ทุกอย่างร่วมอยู่ด้วยตลอด

    ท่านอาจารย์ ต้องทีละทวาร

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องทวาร คนละอย่างกับที่พูดนี้ คือเราจะพิจารณาอารมณ์ทางทวารใดก็ได้ ทางทวารใด ทวารหนึ่ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่าการพิจารณาอันนั้น ในทวารใด มันไม่พ้นจาก กาย จิต เวทนา ธรรม คือเราแยกออกไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ทวาร ถ้าเป็นทางตา ไม่มีกายปสาท ที่จะไปรู้สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นกายของเราทั้งหมด ไม่มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ที่เราเคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา

    ผู้ฟัง มันแยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราไปคิดเรื่อง แต่ถ้าเราทราบตามความเป็นจริงว่า จริงๆ แล้วมีรูปเกิดมามีรูป อย่าลืมไม่ใช่มีเรา เกิดมามีรูป แล้วก็มีจิต แล้วก็มีเจตสิก ดับเมื่อถึงกาละ เช่น จิต เจตสิก มีอายุ ๓ ขณะเล็กๆ อนุขณะ คือ อุปาทขณะขณะเกิด ฐีติขณะขณะที่ยังไม่ดับ ภังคขณะคือ ขณะที่ดับนี้คือ จิต ๑ ขณะใหญ่ แล้วก็ ส่วนรูปนี่ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูป รูปหนึ่งดับ เพราะฉะนั้น ดับหมดเลย ไม่มีอะไรเลย คิดถึงความไม่มีอะไร แต่ที่ปรากฏว่ามี ต่อเมื่อมีทวาร หรือ มีทางให้รู้ เพราะเหตุว่ามีตา จึงมีการเห็นว่าสีสันวัณณะต่างๆ มี ถ้าไม่มีตา ใครที่ไหนจะสามารถเห็นสีสันวัณณะต่างๆ ได้ ถ้าไม่มีตาใครที่ไหนจะสามารถเห็นสีสันวัณณะต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่ตา นี้ก็ดับ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม เกิดแล้วก็ดับ มีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ ถ้ารูปไม่มากระทบ จักขุปสาทซึ่งเกิดเพราะกรรมทุกๆ ขณะ ก็ดับไปเรื่อยๆ โดยที่สีสันวัณณะไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ที่จะปรากฏได้ต่อเมื่อมีทาง หรือ มีรูปซึ่งเป็นทวารที่จะทำให้โลกคือสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับปรากฏ ๖ ทาง คือ ทางตาก็มีสีสันวัณณะปรากฏ ทางหูมีเสียงปรากฏ ทางจมูกมีกลิ่นปรากฏ ทางลิ้นมีรสปรากฏ ทางกายมีกายปสาทปรากฏ กายปสาททำให้เราคิดว่ารูปทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ที่อ่อนหรือแข็งเป็นเรา เพราะเหตุว่ามีการกระทบกับกายปสาท

    ถ้าไม่มีทวารต่างๆ เหล่านี้ เราจะไปบัญญัติเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ว่าไปตาม ตัวหนังสือที่จะรู้อย่างนั้นๆ ๆ ตามที่ทรงแสดงไว้ แต่ต้องทราบตามความเป็นจริงว่าที่ทรงแสดงไว้ตามความกว้างขวางของธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่มีอะไรเลย ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน เมื่อเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งสามารถจะรู้ได้ ๖ ทางซึ่ง ๖ ทางนี้รู้ไม่เท่ากัน ทางตารู้ได้เห็นได้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วกว่าจะค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนี้ปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และก็ขณะนี้ก็เป็นชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งกำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง กว่าจะถึงอย่างนี้ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นกัป หรือว่าเป็นจิรกาลภาวนา เราจะไม่มีความสงสัยเลยว่า เราเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ที่จะรู้ว่าเมื่อระลึกแล้ว รู้อย่างนี้ไหม ถ้าไม่รู้ เมื่อไรรู้ ก็คือเมื่ออบรมเจริญ จนกว่าจะรู้ได้จริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567