ปกิณณกธรรม ตอนที่ 519


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เวลาที่ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ปัญญามีความรู้เพิ่มขึ้น แต่ว่าจิต เป็น สภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่ปัญญารู้ นี่คือความต่างกันของปัญญาเจตสิก กับจิต

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่ปัญญาเกิดรู้ ปัญญาก็รู้สิ่งที่ปัญญารู้ ไม่ใช่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ คือปัญญาไม่ใช่จิตแน่นอน

    ผู้ฟัง ที่เราพยายามศึกษาเพื่อเข้าใจ ที่จะระลึกรู้สภาพธรรม เป็นการระลึกรู้สิ่งที่เจตสิกรู้

    ท่านอาจารย์ มิได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยเป็นเราทั้งหมด เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นพระอริยบุคคล ต้องมีความรู้ทั่ว ถ้าไม่มีความรู้ทั่วละไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมก็จะละ ความเป็นเรา ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าแม้แต่ลักษณะของจิต เราใชโดยชื่อ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะต่างๆ ของจิต แต่ระลึกลักษณะของจิตจริงๆ หรือเปล่า ระลึกถูกตรงลักษณะของจิตหรือเปล่า หรือเพียงแต่เราคิด ว่าขณะนั้น ต้องเป็นจิต อย่างเช่นขณะนี้ที่กำลังเห็น โดยการศึกษา ทุกคนทราบ บอกกันได้หมด โดยชื่อก็ได้ ว่าเป็นจักขุวิญญาณ เพราะว่า จักขุปสาทไม่เห็น รูปไม่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรม กำลังปรากฏ ก็มีสภาพที่กำลังรู้ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือเห็น ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้

    นี่คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง ความต่าง ความวิจิตร ของอารมณ์ที่ปรากฏ แต่จะรู้เกินกว่านี้ไม่ได้ เป็นใหญ่เป็นประธาน เฉพาะรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ แต่ปัญญาที่เกิดร่วมด้วย รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะที่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของปัญญา เมื่อปัญญารู้สภาพธรรมใด สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดปัญญาเป็นความเห็นถูกในลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ ปัญญากำลังรู้ ธาตุรู้กำลังปรากฏ เป็นลักษณะรู้ แต่ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง ลักษณะของสภาพรู้ ที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น จิตเป็นมนินทรีย์ตลอดกาล คือเขาเป็นสภาพที่เป็นใหญ่จริงๆ ในการรู้ลักษณะของอารมณ์ ที่ปรากฏ ส่วนปัญญาก็เป็นสภาพที่เห็นถูก เข้าใจถูก ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เมื่อปัญญากำลังรู้สภาพธรรมใด จิตก็รู้แจ้งในอารมณ์นั้น โดยความเป็นมนินทรีย์ แล้วปัญญาก็เป็นสภาพที่เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เข้าใจยาก แต่ก็เป็นปัญญาที่เกิดระลึกรู้สภาพธรรม ขณะนี้ปรากฏ เช่น สภาพที่เห็นปรากฏ รู้สภาพเห็นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นสภาพเห็น เป็นสภาพรู้โดยที่ก่อนนั้นไม่เคยรู้ ว่าลักษณะรู้คืออย่างนี้

    ผู้ฟัง แต่มันมีเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ เห็นมี เพราะว่าเป็นของธรรมดาที่ต้องเห็น เป็นนามธาตุ ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะนี้เข้าใจแล้วว่านี่คือสภาพเห็น

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้สภาพเห็น แล้วจำแนกได้เลยว่า นี่คือสภาพเห็นไม่ใช่คน สัตว์ เป็นสภาพเห็น อย่างนี้นี่ หมายความถึงว่า คงจะไม่เข้าใจสภาพของจิตอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก แม้ว่ามี แต่ให้ ทราบว่าธาตุชนิดนี้มีแน่นอน แล้วเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ คุณวีระได้ยินเสียงอะไรเบาๆ นิดๆ ไหม

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่พออาจารย์กล่าว ก็พยายามที่จะฟัง

    ท่านอาจารย์ แค่นั้น คือจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นแล้วแจ้งในความเล็กน้อย ในความเบาบางของอารมณ์ที่ปรากฏ ว่า ต่างกับอารมณ์อื่น นั่นคือลักษณะของจิต เขาจะไม่รู้อย่างอื่นเลย นอกจากรู้อารมณ์ เฉพาะอารมณ์ที่ปรากฏ เท่านั้น นั่นคือลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่มีปัญญาเกิดขึ้น ขณะที่กำลังได้ยินเสียงปรากฏนั่นนะ ขณะนั้นเป็นเรื่องของ การได้ยินเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต พวกนี้ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงจำแนกจิตให้เห็น ให้รู้ ความต่างกันแม้ว่าจิตจะเป็นสภาพธรรม ที่เกิดดับแสนเร็ว แต่ด้วยพระปัญญาที่ได้ตรัสรู้สภาพธรรม ก็ทรงแสดงความละเอียดซึ่งสืบต่ออย่างรวดเร็วให้เห็นว่าแม้แต่จิตขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น จักขุวิญญาณธาตุ เป็น ๑ ธาตุใน ๑๘ ธาตุ ถ้าประมวลธาตุ เป็น ๑๘ ประเภท จักขุวิญญาณธาตุเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา แสนสั้นแล้วก็ดับไป หมดแล้วหนึ่งขณะ ตามเหตุตามปัจจัยที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นโสตวิญญาณธาตุ ก็เกิดขึ้นเพราะเสียงกับโสตปสาทกระทบกัน มีจิตซึ่งเกิดก่อน แล้วก็เป็นปัจจัยทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป นี่คือหน้าที่ของจักขุวิญญาณโสตวิญญาณซึ่งเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้เฉพาะอย่างๆ แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง กว่าปัญญาจะระลึกรู้ได้ ก็ต้องเข้าใจว่า สภาพนี้มี ที่ผ่านไปนี้ มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วพิจารณา แล้วเข้าใจ จนกว่าสติจะเกิด ก็จะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่หลงลืมสติ เพราะว่ากำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แล้วก็รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ขณะนี้ ที่เราเข้าใจว่ามีสภาพปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์แล้ว มันก็คล้ายๆ กับว่าจะต้องพยายามที่จะระลึกรู้ให้ได้ว่านั่นคือ เสียงค่อยๆ นั่นแหละหายไป

    ท่านอาจารย์ ความเป็นตัวตนจะทำให้พยายามรู้ แต่ความเข้าใจถูก จะรู้ว่าค่อยๆ ระลึกค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง อาจารย์อดิศักดิ์ เคยกล่าวว่า มันรู้ขึ้นมาเลย ขณะที่มันรู้ขึ้นมาเลย หมายความว่า มันมีสภาพเข้าใจแล้ว เราระลึกรู้ได้

    ท่านอาจารย์ สัมมาสติ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรากำลังจะมี หรือกำลังจะดู หรือกำลังจะทำ เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมมาสติเกิด ผู้นั้นรู้เลย สติกำลังระลึกลักษณะปรมัตถ บางคนอาจจะฟังมาตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี บางคนอาจจะเดือนเดียว บางคนอาจจะ ๕ เดือน แล้วแต่ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ แต่ขณะใดที่สติเกิด สติสัมปชัญญะ ระลึกลักษณะสภาพปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอยู่แล้ว ฟังมาตลอดตั้งแต่เช้าจนเดี๋ยวนี้ ก็เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด แต่ว่ามีปัจจัยที่สติจะระลึกหรือยัง ถ้าไม่มีปัจจัยก็ฟัง เข้าใจไปก่อนจนกว่าสติเกิดระลึกเมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ว่าขณะนั้นสติเกิด จะไม่มีเราทำ จะไม่มีเราดู เพราะว่าจะมีคำสอนที่อาจจะคล้ายกันมาก คือว่าให้ดู ให้พิจารณา บางคนก็บอกว่า ถ้าไม่ดูก็ไม่เห็น ไม่พิจารณาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่ว่า ถ้าไม่ฟังด้วยดี ก็เป็นเรานั่นแหละที่จะดู ดูนาม ดูรูป แต่ตามความเป็นจริง แล้วไม่ใช่อย่างนั้นสติสัมปชัญญะเกิด ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เราดู แต่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะขณะนี้เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรเลยซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก รูป ก็ไม่มีอะไรที่นี่ แต่ทีนี้เมื่อไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง ก็ต้องฟังจนกว่าสัมมาสติจะเกิด แล้วก็ระลึกปรมัตถธรรม ซึ่งกำลังมีอยู่ตามปกติ

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าสติสัมปชัญญะเกิดก็ไม่ทราบว่าสติสัมปชัญญะ เกิดตรงไหน ตอนไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ทราบคือไม่ใช่ ถ้าไม่ทราบคือไม่ใช่

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผมไม่สามารถที่จะแยกกุศล กับ อกุศล ออกจากกันได้เลย

    ท่านอาจารย์ คุณวีระฟัง ทราบว่าเป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่า มีปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แข็ง ทราบว่าเป็นปรมัตถธรรม เสียง ทราบว่าเป็นปรมัตถธรรม เห็น ทราบว่าเป็นปรมัตถธรรม ขั้นฟัง แต่ถ้าสติเกิด คือระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ คือแต่ก่อนมีแข็ง พอคนถามเราก็บอกว่าแข็ง เขาบอกให้ระลึกที่แข็ง เราก็ไปเอาสมาธิ จดจ้องที่แข็ง เราไม่รู้ลักษณะของสติเลย เพราะว่าสัมมาสติ ไม่ใช่ว่าเราจะทำ ต้องมีการฟังด้วยความเข้าใจด้วยดี ต้องระลึกหลายๆ อย่าง เทียบเคียงให้รู้ว่า แม้แต่ได้ยิน ถ้าไม่มีเสียง ก็ไม่มีโสตปสาท ได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้

    เราจะบอกให้ใคร เอาดูสิที่แข็ง ดูไปจนกว่าจะเกิดดับ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า นั่นไม่ใช่เป็นการรู้ เป็นการไปพยายามทำให้เห็น แต่ไม่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าถ้าเราฟังเรื่องของสภาพธรรม แล้วเรารู้ว่าพระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนเพียงขั้นปริยัติ หรือทฤษฎี แต่สอนจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมด้วย เพราะฉะนั้น แต่ก่อนนี้ทุกคนรู้เรื่องแข็งหมด แต่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม แต่พอฟัง แข็งก็แข็งเดิม แต่รู้ว่านี่เป็นธรรม แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม นี่ขั้นฟัง เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึก แต่ก่อนเราเคยไปรู้แข็ง แต่พอสติระลึก เขากำลังระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ มีความรู้เพิ่มขึ้นว่าลักษณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง ธาตุชนิดหนึ่ง แล้วถ้าเราจะเอาความรู้ตั้งแต่ต้นมาประกอบกัน การฟังทั้งหมดไม่ให้สูญหายไปเลย เอามาประกอบ เอามาต่อได้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งได้ตลอด แม้แต่ว่าสภาพธรรมใดที่ปรากฏ สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น ความรู้ของเรา จะรู้จริงขณะนั้น แข็งเกิด นี่ขั้นฟังก่อน แข็งเกิด ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ แต่ไม่ประจักษ์เกิด เพราะฉะนั้น แข็งที่เกิดดับด้วย แต่ไม่ประจักษ์การดับ เพราะฉะนั้น จึงไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของแข็ง ก็เลยมีคนไปพยายามทำ ให้ประจักษ์การเกิดดับของแข็ง ซึ่งไม่มีวันจะประจักษ์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นการอบรมความรู้ แต่ว่าเป็นเราที่กำลังพยายามจะทำให้เห็น ไม่ใช่การรู้แล้วค่อยๆ คลาย วิปัสสนาญาณ หรือปัญญาที่จะเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ต้องมาจากการค่อยๆ คลายออกๆ ๆ แล้วสภาพธรรม จึงจะปรากฏ แจ่มแจ้งขึ้น ชัดเจนขึ้น แม้แต่การเกิดดับ ก็ต้องเมื่อมีปัญญาเจริญขึ้น ไม่ใช่ว่าไปนั่งจ้องแล้วก็จะประจักษ์การเกิดดับ แล้วก็มาดีใจว่า ได้ประจักษ์แล้วนะว่า การเกิดดับเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้ ที่กำลังเห็น ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีการละคลายความไม่รู้จากขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น จะเป็นการประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ จะใช้วิธีการ อย่างใดก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่ใช่เป็นเรื่องวิธีการ แต่เป็นเรื่องปัญญาที่เพิ่มความรู้ ความเข้าใจขึ้น จากฟังจนกระทั่งสติสัมปชัญญะ ระลึกลักษณะ แล้วรู้ในความเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะกล่าวว่าไม่รู้ ไม่ได้ มีความรู้ขั้นฟัง แล้วก็สติก็ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็กำลังจะเข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ของนามธรรม และรูปธรรม ตรงตามที่เรียนทุกอย่าง จนกว่าความรู้ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น แล้วต้องมีการละคลายด้วย ถ้ามีความรู้นิดหนึ่ง แล้วอยากอีก ไม่มีทางสำเร็จ หมดหนทางทันที โลภะเป็นสมุทัยต่อไป

    ผู้ฟัง ปัญญาที่ทราบแข็งเดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ ปัญญา หรือ

    ผู้ฟัง สติระลึกถึงสภาพแข็งเดี๋ยวนี้ มี

    ท่านอาจารย์ สติหรือ เป็นเรื่องที่ว่า เราจะต้องเป็นคนที่ละเอียด เพราะว่ามันปนกันได้กับความรู้ขั้นปริยัติ แต่ถ้าผู้นั้น เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติ แล้วสติระลึกจริงๆ ผู้นั้นบอกได้เลย เป็นของธรรมดา ตรงกับที่คุณวีระพูด เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องของคำ แต่เป็น เรื่องของสภาพจริงๆ ขณะนั้น ว่าเป็นสติจริงๆ หรือว่าไม่ใช่สติ แต่เราคิดว่าเป็นสติ

    ผู้ฟัง เพราะเราคิด

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง พยายามดู หมายความว่ายังมีอัตตาอยู่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ใช่หนทางเลย เพราะฉะนั้น จะสังเกตได้ว่า ถ้าใครส่งเสริมให้ทำ แปลว่าเขาไม่เข้าใจความเป็น อนัตตา เขาไม่สามารถจะชี้แจงถึงความป็น อนัตตาของสภาพธรรมให้เราเห็นความเป็น อนัตตายิ่งขึ้น แล้วก็ไม่ใช่หนทางละ แต่ถ้าใครให้รู้ให้ละ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปคิดถึงว่าอยากจะหมดโลภะ อยากจะหมดโทสะ แล้วก็ให้เข้าใจสภาพธรรมเป็นลำดับ อันนั้นหมายความว่า เขาให้ละ ความต้องการผล หรือว่าความต้องการที่จะทำ ซึ่งผิดตั้งแต่เริ่มแรก เพราะว่าเป็นไปด้วยโลภะ เป็นมิจฉามรรค เพราะเหตุว่ามิจฉามรรค ถ้าสัมมามรรคมี ๘ มิจฉามรรคก็มี ๘ ถึงวิมุตติ มี ๑๐ มิจฉามรรคก็มีถึง ๑๐ เหมือนกัน มิจฉาวิมุติก็มี ๑๐ รวมมิจฉาญาณ กับ มิจฉาวิมุตติด้วย แสดงว่าหนทางหลอก มี และไม่ใช่แต่ในครั้งนี้ แต่ทรงแสดงไว้เพื่อกัน ความเข้าใจผิด ความเห็นผิดทั้งหมดโดยละเอียด แม้แต่มิจฉามรรคก็แสดงไว้ สัมมามรรค ๘ อย่างไร มิจฉามรรค ก็คือตรงกันข้ามอย่างนั้น สัมมาญาณ มิจฉาญาณ สัมมาวิมุตติ มิจฉาวิมุตติ ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ไม่ต้องทรงแสดง

    ผู้ฟัง ฟังๆ ดูแล้ว มีความรู้สึกว่า ปัญญาทางโลก กับทางธรรม ตรงข้ามกันเลย ถ้าเป็นทางธรรมก็คือปัญญาที่รู้ในสภาพของปรมัตถธรรม แต่ถ้าเป็นทางโลกก็คงเป็นเรื่องของบัญญัติ เป็นส่วนใหญ่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เห็นความต่าง ว่ามีการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงแสดงธรรมที่ทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพที่มีจริงๆ ในชั่วหนึ่งขณะ ได้

    ผู้ฟัง คนที่เขาเฉลียวฉลาดเกิดมา เรียนอะไรก็รู้เร็ว ก็คงจะไม่เกี่ยวกับเขามีปัญญาเจตสิก ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นจะเรียกว่าเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ มนสิการเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นคนที่มีความคิดหรือ

    ท่านอาจารย์ ใส่ใจ สนใจในเรื่องเฉพาะอย่างๆ

    ผู้ฟัง ถึงแม้เขามี มนสิการเจตสิก สนใจ แต่การฟัง อาจารย์ก็บอกว่า บางคนฟังมา ๕,๖ เดือน บางคนถึงอาจจะ ๑๐ ปีก็ได้ แต่ความเข้าใจอันนั้น จะเกิดขึ้นหรือไม่ มันต้องก็มีเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ มีการสะสมมาทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ทีนี้เหตุปัจจัยนั้น ก็อยากจะให้อาจารย์ขยายความว่า ปัจจัย อะไรบ้าง ที่ทำให้รู้ช้าหรือรู้เร็ว

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวช้าเร็ว เกี่ยวกับความเข้าใจที่ถูกต้อง ฟังด้วยดี ถ้าฟังแล้วก็ยังอยากจะหมดโลภะ อย่างนี้ จะชื่อว่าฟังด้วยดีไหม ในเมื่อไม่มีเหตุที่สมควรแก่การที่จะไม่มีโลภะ

    โดยมากคนจะคิดถึงเรื่องราวของชีวิต เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่พระธรรมที่ทรงแสดง แสดงความละเอียดมากถึงความจริงในหนึ่งขณะจิต ซึ่งจะเร็วสักแค่ไหน ถ้าไม่มีจิตหนึ่งขณะ หนึ่งขณะ เกิดดับสืบต่อกัน ชีวิตทั้งหลายก็ไม่มี ไม่ว่าเรื่องที่จะคิดถึงพระพุทธรูป หรือว่าไม่คิดถึงก็ตาม เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาความละเอียดของธรรม ให้เห็นความจริงว่าใน หนึ่งขณะที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แล้วดับ แล้วก็มีขณะอื่น มากมายนับไม่ถ้วนแม้ในขณะนี้เอง ทรงแสดงเรื่องเหตุ และผล ความจริงของสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นปรากฏ ถ้าไม่ใช่พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถที่จะแสดง ความจริงของธรรมนั้นๆ แต่ละหนึ่งอย่าง ซึ่งความจริงแล้วก็เกิด รวมกัน ไม่มีสภาพธรรมใด เกิดมาได้เพียงลำพังอย่างเดียว แต่จะต้องมีสภาพธรรมอาศัยกัน และกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความจริงอย่างนี้แล้ว เราก็จะได้รู้จริงๆ หนึ่งขณะจิตนั้น เป็นกุศล หรือว่าเป็น อกุศล เป็นความเห็นผิด หรือว่าเป็นความเห็นถูก แล้วก็จะได้อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าปัญญาทางโลกทั้งหมด เป็นเพียงเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ว่าผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรม โดยการตรัสรู้ จึงสามารถจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ได้ เช่น ทางตาในขณะนี้ หนึ่งขณะจิตที่ทำกิจเห็น แต่ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ หนึ่งขณะจิตที่ทำกิจเห็นได้ เพราะว่าจิตก็เกิดดับสืบต่อกัน ถ้าเป็นรูปเราก็ยังรู้ว่ารูปหลายๆ รูปที่รวมกัน เป็น ๑ กลาป คือ ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ แล้วก็ยังมี รูปซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชา แยกกันไม่ได้เลย ๘ รูป ใน ๘ รูปนี้ เล็กแสนเล็ก แต่ว่าก็ยังมีถึง ๘ รูป

    เพราะฉะนั้น ก็จะได้เห็นจริงๆ ว่า การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม แม้แต่จิตหนึ่งขณะ ก็จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นอย่างไร จึงจะชื่อว่า ปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาทางโลกซึ่งไปศึกษาวิชาการต่างๆ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิกที่รู้สภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ โดยถ่องแท้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    เราศึกษาธรรม เราเห็นพระพุทธรูปเพื่อเตือนให้ระลึก แต่ว่าถ้าเราจะไปนึกถึง อย่างอื่น เช่น ต้องการความคุ้มครอง ปลอดภัย ได้ลาภ ได้ยศ ได้อะไรต่างๆ นั่นไม่ตรง เป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อการที่มีพระธรรม หรือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะเหตุว่า ถ้ามีพระรัตนตรัย เป็นสรณะ ต้องรู้ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ ปัญญาทำให้พระองค์ บริสุทธิ์จากกิเลส ผู้ที่ฟังธรรม ฟังให้เกิดปัญญาเพื่อที่จะให้ถึง ความบริสุทธิจาก กิเลส แล้วกิเลสนี้ก็มีมาก แม้แต่ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ ก็เป็นกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญานั้นไม่ช่วยทำให้เรา มีความเห็นถูกขึ้น ก็ไม่ใช่ผู้ที่ศึกษา ไม่ใช่ผู้ที่เห็น และเข้าใจในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ ปัญญาระดับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไมมีผู้ใดเทียมเท่า ปัญญาของพระอริยสาวก ตามลำดับขั้น ก็ไม่มีผู้ที่เป็นปุถุชนจะไปเทียบได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่กำลังศึกษาธรรม ต้องทราบว่าศึกษาธรรมเพื่อหมดจดจากกิเลส เท่าที่จะหมดจดได้ทีละเล็ก ทีละน้อย แต่ว่าเพียง กิเลสไม่เกิด ทีละเล็กทีละน้อย แล้วยังไม่เป็น พระอริยบุคคล ยังไม่หมดจดแน่ ยังต้องมีกิเลสมาก แล้วพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ละเอียดเพราะเหตุว่า ใครแสดง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คนอื่นไม่สามารถที่จะทรงแสดงอย่างนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น ความละเอียดอย่างนี้ เราจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ เป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุ และผล

    จริงๆ แล้วสิ่งที่ยากคือ ฟังให้เข้าใจ นี่เป็นสิ่งที่ยากตรงนี้ พระธรรมเหมือนกันหมด สภาพธรรมมีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน เป็นประเภทใหญ่ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพธรรม ที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถที่จะรู้อะไรก็ได้ เป็นนามธรรม ถ้าพูดเท่านี้คนก็เข้าใจ บอกได้ว่าพูด ตามได้ รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นามธรรมเป็นที่สภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ทุกคนก็พูดตามไปได้ แต่มีการพิจารณาคำ ที่ได้ยินได้ฟังแค่ไหน เช่น ธรรม ธรรมไม่มีชื่อเป็น นายแดง นายดำ นายขาว ไม่มีเลย เป็นธรรม เป็นธาตุ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ นามธรรม ไม่ใช่เพียงชื่อ นา-มะ มีความหมายหลายอย่าง สภาพที่น้อมไปสู่ การรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ มีการเห็น มีการได้ยิน นามธรรมเป็นธาตุรู้ ซึ่งน้อมไปรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วขณะนี้เรากำลังเห็น แล้วเราก็กำลังได้ยิน แล้วเราได้ยินคำว่า นามธรรม ยินคำว่า รูปธรรม แต่การไตร่ตรอง ของเราลึกซึ้งไปถึงการที่จะเข้าใจ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ รู้จริงๆ ว่าขณะนี้ธาตุรู้มีแน่ๆ แม้ว่ายังไม่ปรากฏชัด แต่ว่ามีความเข้าใจจากการฟัง ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567