ปกิณณกธรรม ตอนที่ 484


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๘๔

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หมายความว่า มีความรู้ มีความเข้าใจเรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จึงระลึกที่ลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ไม่มีตัวหนังสือเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่เริ่มที่จะศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรม ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ตามความเป็นจริงไม่เป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร ถ้าเราหันกลับมาที่ปรมัตถธรรม โดยเฉพาะเวลาที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ย่อมเห็น ธรรมว่าเป็นธรรม อย่างขณะนี้กำลังเห็น โดยตำราเราศึกษาว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม นี้โดยตำรา แต่ว่าขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม คือเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือ ธาตุรู้ ที่เห็น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด แล้วมีการเข้าใจลักษณะของสภาพ ซึ่งเป็นธาตุที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น มีสภาพเห็น หรือธาตุเห็นที่กำลังเห็น ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะรู้ว่าเป็นกรรม หรือวิบาก หรือว่าเป็นผลของกรรม ไม่ใช่ว่าตั้งต้นด้วยการไปรู้อย่างนั้น แต่จะต้องตั้งต้นด้วยการที่จะเข้าใจลักษณะของนามธรรมโดยที่ไม่เจาะจง ว่าเราจะรู้เรื่องวิบาก หรือไม่ใช่เรื่องวิบาก คือ เป็นเรื่องกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องราว ในขณะนี้ด้วยสติที่จะรู้ว่าลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม เพราะว่าถ้าสติระลึกจะไม่พ้น ลักษณะของนามธรรมหนึ่ง นามธรรมใด รูปธรรมหนึ่ง รูปธรรมใด และในชีวิตประจำวัน ก็มีการเห็น ขณะนี้ก็มีการได้ยินด้วย มีการคิดนึก มีการรู้สิ่งที่อ่อน หรือแข็ง เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็เป็นธรรม แต่เราใช้ชื่อที่เราเรียนว่า วิบาก เวลาที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ในขณะที่เห็น การที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรม ก็เพราะมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีธาตุที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งนี้ เมื่อสติระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ในลักษณะซึ่งเป็น นามธาตุ ขณะนั้นก็จะรู้ว่า ที่เห็นเป็นวิบาก แม้ว่า เราจะไม่ใช่ชื่อว่าเป็นวิบาก แต่ลักษณะของธาตุชนิดนี้ ต้องเกิดขึ้นแล้ว เห็นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย นอกจากนี้ เป็นกุศลไม่ได้ เป็นอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจลักษณะของนามธรรม ที่เป็นวิบากไม่ใช่ชื่อวิบากอย่างแต่ก่อน แล้วก็รู้ว่าในวันหนึ่งๆ มีวิบากอะไรบ้าง เมื่อสติเกิดก็ระลึก กำลังเห็น ต้องรู้ว่าเป็นนามธรรม จึงจะรู้ว่าเป็นวิบาก ประเภท ๑ ซึ่งมีหน้าที่เห็น เกิดขึ้นแล้วต้องเห็น มีสภาพธรรม ปรากฏให้เห็น ไม่เห็นไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แล้วก็มีปัจจัยที่จะต้องเป็นอย่างนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นตามความต้องการ ไม่ใช่อยากจะเห็นอะไรก็เห็น อยากจะได้ยินอะไรก็ได้ยิน แต่ทุกอย่างต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเห็น ความเป็นปัจจัย การที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึก ลักษณะของนามธรรม ก็จะมีวิบาก ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย ซึ่งต่างกับขณะที่เกิดพอใจ หรือไม่พอใจ ซึ่งเป็น จิตต่างประเภท ก็เห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้ศีกษาทุกอย่าง

    ผู้ฟัง อาจารย์ บอกว่าตรงตามที่ได้ศึกษา แต่ทีนี้มันมีบางข้อ ดิฉันตีออกมา ไม่ออก เช่น รู้คุณมารดา รู้คุณบิดา กรรม มันอยู่ตรงไหน แล้วเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็คุณสุรีย์ ก็อย่าไปกลับไปเหมือนเดิม พอมีตัวอย่าง ก็พยายามคิดว่า นั่นเป็นอะไร ซึ่งสิ่งนั้นจะไม่ทำให้เราเข้าใจ เพราะว่าตัวอย่างมีมากมายเหลือเกิน ในชีวิตประจำวัน วันนี้ถ้าถาม ทุกคนว่าที่บ้านมีเรื่องอะไร ก็จะเอามาตีกันว่านี่เป็น จิตประเภทไหน นั้นเป็นอะไร ซึ่งนั่นไม่ใช่การที่จะให้เรา เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ แต่การที่จะเข้าใจสภาพจริงๆ เริ่มจาก พื้นฐานที่ว่าทุกอย่างเป็น รรม เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง คือไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราว แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจว่าเป็นธรรม ขณะนี้เป็นธรรม เพื่ออะไร เพื่อสติจะมีปัจจัยที่จะเกิดระลึก เพราะว่าเป็นธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อกี้นี้เราพูดเรื่องวิบาก รู้ว่าขณะนี้ที่เห็นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เห็น ขณะที่ได้ยิน ก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น ได้ยินคือรู้เสียง แต่เวลาที่เกิดกุศลจิต ไม่ใช่อย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เริ่มรู้ว่าที่คิดอย่างนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ที่รู้ว่า บิดามารดามีคุณ เป็นความเห็นถูก เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล จิตขณะนั้นเห็นคุณของมารดาบิดา ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็เป็น สภาพธรรม นามธรรมชนิดหนึ่ง ก็จะเห็นความต่างกันของนามธรรมทั้งหมดเลย ในชีวิตประจำวัน เวลาที่อกุศลจิตเกิด ลักษณะของอกุศลก็ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็เห็นความต่างระหว่างที่เป็นอกุศลจิต กับขณะที่เป็นกุศลจิต นี่ก็เริ่มเข้าใจสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง เพียงแต่ว่าเดิมศึกษาเรื่องชื่อ แล้วก็ไม่เห็นตัวสภาพธรรมเลย เพราะฉะนั้น ก็มีความสงสัยว่า จะมี ธรรม อะไร แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพชาติ ไม่มีคุณสุรีย์ ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น มีชื่อต่างๆ สำหรับเรียก รูปบ้าง นามบ้างต่างๆ แต่ความจริง สภาพธรรม ที่มีจริง ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดทั้งหมด หมายความว่าเป็น ความคิดรวบยอดของกัมมมัสสกตาญาณ ๑๐ ข้อ คือกรรม และผลของกรรมเท่านั้น อาจารย์โยงกรรมไปเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเราก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าสภาพธรรม มีจริงๆ ขณะนี้ เอาชื่อออกหมดก็เป็นสภาพธรรมทั้งนั้นเลย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็แล้วแต่ว่า สติจะระลึกที่ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด อย่ามีกฏเกณฑ์ เพราะฉะนั้น มิฉะนั้นก็จะเป็นอัตตา แล้วแต่ว่าสติจะเกิด ระลึกลักษณะของรูปธรรม หรือ นามธรรม ได้ทั้งนั้น นามธรรมประเภทไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น เห็น ไม่จำเป็นต้องได้ยิน แต่ว่าลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ มี เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนก่อน ไม่ต้องรีบขวนขวายที่จะไปเข้าใจเรื่อง กัมมัสสกตาญาณ หรืออะไร แต่ว่าเราฟังเรื่องนามธรรม และรูปธรรมมาแล้วมาก แต่ว่าเรากำลังรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ หรือเปล่า อันนี้เป็นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการศึกษาทั้งหมดในชีวิตที่แสนสั้น ประโยชน์สูงสุดคือ สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย ขณะนี้มีนามธรรม มีรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ขึ้นอยู่กับว่าทั้งหมดที่เราเรียน ความคิดทั้งหมดของแต่ละคน ด้วยปัญญาระดับไหน อย่างปัญญาของคนที่ เห็นว่ามารดาบิดามีคุณของผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเลย เพียงแต่คิดหรือนึกขึ้นมาว่า มารดาบิดามีคุณ กับผู้ที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วรู้ความต่างกันของ นามธรรมซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น ปัญญาของคนต่างกันมาก อย่างเวลาที่เราบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกคนพูดได้ เข้าใจด้วย ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่คนที่พูดนั้นเป็นผู้ที่มีปัญญาระดับไหน ถ้าเราบอกว่าเพียงเท่านี้เอง ไม่มีอะไรเลย แค่เห็น หมดไปแล้ว แค่ได้ยิน เพราะกำลังได้ยิน หมดไปแล้ว แค่กระทบ สัมผัส อ่อนหรือแข็ง เท่านี้ๆ จริงๆ ถ้าเราพูดอย่างนี้ คนที่พูด พูดเหมือนกันหมด แต่ว่าปัญญาระดับไหน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ที่เอ่ยขาน ที่กล่าว ที่บัญญัติ ที่ศึกษากันว่าแท้ที่จริงแล้ว ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร นี้คือการที่จะรู้ลักษณะจริงๆ เวลาที่ศึกษาเรื่องอะไรทั้งหมด อย่าไปติดที่ชื่อ แต่รู้ว่าสามารถที่จะรู้ได้ด้วยปัญญา ที่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็น นามธรรม และรูปธรรมก่อน ก่อนอย่างอื่นทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น บางทีความรู้ลักษณะของสภาพธรรมของเรา อาจจะยังไม่มีเลย สำหรับคนที่สติ ไม่ได้ระลึกเลย แต่สามารถที่จะรู้เรื่อง นามธรรมรูปธรรรมได้ และความสามารถของคนที่ได้ยิน เรื่องนามธรรม และรูปธรรม แล้วสติระลึกบ้าง แต่ยังไม่สามารถที่จะรู้ชัด ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม และความเข้าใจของคนที่ศึกษาแล้ว แล้วสติระลึก แล้วปัญญาสามารถที่จะรู้จริงๆ อย่างนั้น ก็เป็นต่างระดับขั้น แต่ก็เป็นเรื่องของปัญญา แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะมีการรู้สึกตัว มีความเข้าใจถูก ว่าปัญญาของตนเอง คือระดับไหน ไม่เข้าใจผิด คนที่รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม แต่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่สามารถที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะว่ามีหลายคนซึ่งไม่ได้นับถือพุทธศาสนา บางคนไม่นับถืออะไรเลย แต่เขาอาจจะคิดว่า กรรมมี ผลของกรรมมี ถามเข้าว่านับถือพุทธ ไหม เขาก็บอกว่า เขาไม่ได้นับถือ แต่เขาเชื่อเรื่องกรรม เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจขณะจิต พิจารณา ธรรม ต้องพิจารณา สภาพที่มีจริงๆ แล้วจะสามารถที่จะเข้าใจอรรถ ในพยัญชนะที่มีได้ เพราะเหตุว่า มิฉะนั้นแล้วบางคนก็อาจจะมาเรียงตามลำดับว่า ต้องรู้ กรรมเสียก่อน แล้วสติปัฏฐานจึงจะเกิดได้ แต่นั้นไม่ใช่ ต้องรู้ เข้าใจในปรมัตถธรรม สภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ธรรมเป็นเรื่องแจ่มแจ้ง ถ้ายังไม่แจ่มแจ้ง เราก็สนทนาจนกว่า ความเข้าใจของเราสามารถจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะว่าปัญญาของแต่ละคน ต้องอาศัยการอบรม การเจริญ ที่เราจะรู้ได้ ต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากการเข้าใจอย่างนี้ ถูกต้องไหม แล้วก็จะเข้าใจต่อไปให้ถูกยิ่งขึ้นคืออย่างไร เราอย่าเพิ่งพอใจในคำที่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น แต่จะต้องไตร่ตรอง แล้วพิจารณา ว่าความถูกต้องจริงๆ อยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องฝีกฝน อบรมเจริญปัญญา คือ ความเห็นที่ถูกต้องจริงๆ แล้วเป็นเรื่องเปิดเผย ธรรมเป็นเรื่องเปิดเผย เป็นเรื่องกระจ่าง ที่ว่าใครก็ตามที่มีความคิด เห็นอย่างไรก็ควรที่จะได้กล่าวแสดงความคิดเห็นอย่างนั้น เพื่อจะค่อยๆ พิจารณากันจนกว่าจะเป็นความถูกต้องจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่ว่าที่จะให้เข้าใจลึกๆ ลงไป ให้มันซึมซาบจริงๆ มันก็ยังเห็นหน้าต่างเป็นหน้าต่างอยู่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ผมก็พยายามที่จะไปอ่านในพระไตรปิฎก ประกอบ แต่ภาษาในพระไตรปิฎกก็ยากอีก

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ คือเห็นหน้าต่างเป็นหน้าต่างไปเรื่อยๆ ไม่ว่าอะไรเลย ทุกคนก็เห็นอยู่แล้ว เวลานี้ ไม่ใช่ นั่นผิด คือถ้าเราพยายามที่จะไปทำอย่างอื่น ทำ อย่าลืม ทำเป็นไม่เห็นหน้าต่าง หรือทำเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ความถูกต้อง เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญา เราต้องเข้าใจว่า ปัญญาของผู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เห็นธรรมตามความเป็นจริง คือเห็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราไปทำ ให้เห็นอย่างนั้น เพราะว่าการที่จะมีการเข้าใจถูกในสภาพธรรม ต้องเกิด จากการค่อยๆ อบรม ขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้น ที่เราจะอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องของสภาพธรรม ให้เข้าใจ ไมใช่ว่าให้ไปมองเห็นหน้าต่างไม่ เป็นหน้าต่างอีกแล้ว วันไหนเกิดเป็นอย่างนั้นอาจจะดีใจ แต่ว่าไม่ถูก เพราะว่าเราอยากจึงเห็น เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์ หมายความว่า ปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นไปก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครปล่อย แต่เราศึกษาเรื่อง จิต ให้เข้าใจว่า ไม่มีจิตขณะเดียวที่เกิด เป็นอย่างหนึ่ง อย่างใด เพียงอย่างเดียว จะต้องมีการเกิดขึ้นของจิต ตามลำดับ ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งตาย มีจิตอะไรบ้าง ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่เห็นไม่ได้ยิน ก็เป็นจิต ขณะที่เห็นก็เป็นจิต แต่ว่าไม่ใช่จิตที่เกิดก่อน จักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ศึกษาให้เข้าใจเรื่องการเกิด ดับสืบต่อของจิต ซึ่งต้องเป็นอย่างนี้ ว่าเมื่อเห็นแล้ว ก็มีการคิดนึก มีการเข้าใจมีการรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นี้คือปกติ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจความจริง ว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ มีจริง อันนี้ ค่อยๆ คิด แต่ไม่ใช่ ให้ไปทำอะไรเลย ค่อยๆ เข้าใจว่ามีจริง เพราะอะไร เพราะกำลังเห็น เพราะฉะนั้น เห็นก็มีจริง แต่ก่อนเคยเข้าใจว่าเป็นเราเห็น แค่นี้ยังไม่ต้องไปไม่เห็นว่าเป็นประตู ไม่เห็นว่าเป็นหน้าต่าง แต่ให้เข้าใจว่าขณะนี้ มีสภาพที่กำลังเห็น จึงมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ ในขณะนี้ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ ไม่ต้องไปกังวล เรื่องเห็นหน้าต่างเป็นหน้าต่าง

    ผู้ฟัง มีหนังสือที่มันง่ายกว่าปรมัตถของอาจารย์ หรือว่ามีหนังสือที่จะขยายความแบบ ก.ไก่ ก. กาให้มัน อ่านแล้วเข้าใจอีกไหม เพราะว่า ผมพยายามอ่านหลายครั้ง บางทีศัพท์ตัวหนึ่ง ไปอ่านหน้าหนึ่ง มันกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไปอ่านอีกอันมันโยงไปมากมาย ผมว่ามันเข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ จุดประสงค์ คุณเด่นพงษ์ คือต้องการอะไร

    ผู้ฟัง อยากให้เข้าใจ เวลาฟัง จะได้ตามทัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าอยากให้เข้าใจ พระธรรมยากมาก ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเข้าใจได้โดยง่ายเลย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ผมกำลังเป็นอยู่ขณะนี้ คนอื่นก็เป็นอย่างผมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อย่างคุณสุรีย์ เราก็จะต้องมาตั้งต้น คำว่า กัมมัสสกตญาณ คือนามธรรม รูปธรรม ให้เข้าใจสอดคล้องกันว่า ตลอดชีวิตมีแต่นามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีปัญญา ความเห็นถูกในเรื่องใด ขณะนั้นก็เป็นจิตชั่วหนึ่งขณะซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่าระดับไหน ระดับที่เราใช้คำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่การประจักษ์ความเป็นอนัตตา ของสภาพธรรมด้วยปัญญาแท้จริงมีหรือยัง บางท่านมีจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ บางท่านก็กำลังศึกษา กำลังฟังอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการอบรม ไม่ต้องหนักใจ ทุกคนเหมือนกัน แล้วทุกคนเป็นคนตรงที่จะรับตามความเป็นจริงว่ารู้แค่ไหน ก็คือแค่นั้น เพื่อที่จะได้รู้ขึ้น

    ผู้ฟัง แต่มันก็อยากรู้

    ท่านอาจารย์ นี้คือโลภะ ไง เพราะฉะนั้น ตัวนี้เป็นตัวที่เห็นยาก

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างผมอ่านเรื่องบทที่ว่าด้วยจิต การทำงานของจิต ผมพยายามเรียงก็เรียงต่อกันไม่ได้สักที เรียงไปเรียงมาก็หลง เรียงไปเรียงมาก็งง

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นความเข้าใจ ไม่หลงเลย ถ้ามีความเข้าใจว่าขณะจิตแรก คือปฏิสนธิจิต เราเรียกชื่อจิตนั้นเพราะอะไรเพราะว่าสืบต่อมาจากจุติจิตของชาติก่อน อันนี้ แล้วเรายังสามารถจะเข้าใจ ความเป็นปัจจัยเพิ่มขึ้นด้วย ว่าจิตเขาเป็นธาตุชนิดหนึ่ง คือให้มีความเข้าใจเรื่องจิตให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจิตมองไม่เห็นเลย เป็นนามธรรม เป็นนามธาตุแน่นอน ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุที่อัศจรรย์ ที่ว่าเกิดเมื่อมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังปรากฏให้ รู้ในขณะนั้น เช่น ขณะนี้ มีปัจจัยให้จิตเห็น จิตเห็นทำอะไร จิตเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นจริงๆ พอมีจิตได้ยินเป็นจิตอีกประเภท ๑ เกิดขึ้นก็เป็นธาตุที่สามารถจะรู้เพียงเสียงที่กำลังปรากฏให้ได้ยินเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจเรื่องจิตเพิ่มขึ้นค่อยๆ คลายความเห็นผิด หรือยึดถือว่าเป็นตัวตนที่เที่ยงแต่รู้ว่ามีธาตุที่เกิดขึ้น เป็นนามธาตุ กับ รูปธาตุ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราก็ไม่ต้องไปเป็นห่วงว่าจะเห็นอะไร ก็คือธาตุชนิดหนึ่ง ที่รู้ว่าเป็นดอกไม้ก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดหลังเห็น ที่รู้ความหมายของคำที่ได้ยิน ก็เป็น ธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดหลังได้ยินเสียง ก็ให้เข้าใจในความเป็นธาตุ หรือความเป็น ธรรม ของทุกอย่าง โดยที่ไม่ต้องไปกังวล ว่าจะไม่เข้าใจเรื่องของวิถีจิต หรืออะไรๆ อย่างนั้น แต่ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ชัด อย่างวันนี้ถ้าเราจะพูดเรื่องจิต ก็ให้เข้าใจลักษณะของจิต ธาตุของจิต นามธาตุชนิดนี้ มีลักษณะอย่างไร แล้วก็เวลาที่เรารู้ว่าขณะแรกจิตเกิดขึ้นในชาตินี้ ชื่อว่าปฏิสนธิจิต เพราะว่าสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แล้วธาตุชนิดนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะดับได้เลย นอกจากปัญญาระดับอรหัตมรรค อรหัตผล ที่เกิดขึ้น เมื่อปรินิพพานแล้วไม่มีปัจจัย จะไม่มีการเกิดขึ้นของธาตุนี้อีกเลย แต่ว่าถ้าไม่ถึงระดับนั้นไม่มีใครยับยั้ง ความเป็นอนันตรปัจจัยของจิต ซึ่งเกิดแล้ว ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิด เพราะฉะนั้น ต่อไปเราก็จะศึกษาเรื่องของจิตที่เกิดสืบต่อ ตั้งแต่เกิดไป จนกระทั่งมีการเห็น มีการได้ยิน จนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย นี้คือการอบรมเจริญปัญญา ไม่ต้องห่วง เรื่องเห็นเป็นหน้าต่าง ทิ้งไปเลย

    ผู้ฟัง หนูมีความสงสัยว่า ขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่ได้อาศัยทวารใดทาวร ๑ ขณะที่ภวังคจิตจะเกิด แล้วจะมีจิตอื่นมาเบียด จิตที่มีกำลังกว่ามาเบียดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เข้าใจคำถาม เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่ว่ามันกำลังจะเคลิ้ม มันกำลังจะเข้าภวังค์ มันก็รู้สึกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เข้าภวังค์

    ผู้ฟัง ภวังคจิตจะเกิด แต่ยังไม่หลับ

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเรื่องตลอดเลย ใช่ไหม ทีนี้เรื่องมีมากมาย แต่ถ้าเราจะเข้าใจสภาพธรรม คือ จิต เจตสิกมากขึ้น เรื่องต่างๆ เหล่านี้เราก็จะเข้าใจได้ แต่ถ้าเรายังไม่ศึกษา เรื่องของจิต เจตสิก เกิดดับสืบต่อ กันตามลำดับ เราก็มีเรื่องจะเข้าภวังค์ หรือว่ากำลังจะเคลิ้ม หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่าธรรมเป็นเรื่องชัดเจน คือต้องให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามซึ่งจิตไม่รู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ๖ ทาง ไม่รู้เลยขณะนั้น เป็นภวังคจิต หมายความว่า เป็นจิตซึ่งเกิดดับ ดำรงภพชาติ ซึ่งจิตนี้เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตขณะแรก เป็นปฐมภวังค์ แล้วต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ จนกว่าจะมีการเห็น หรือมีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก แค่นี้ก็จบแล้ว ถ้าเราศึกษาว่ามีจิตกี่ประเภท แบ่งใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท ไม่ได้อาศัยทวารเลย ไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าไม่ใช่จิตที่เกิดดับสืบต่อโดยอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จิตต้องเป็นธาตุที่รู้ สิ่งหนึ่ง สิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตต้องมีอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา ที่จะเห็นว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ไม่ได้อาศัยหู ไม่ได้อาศัยจมูก ไม่ได้อาศัยอะไรเลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง แต่เหมือนเห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์ ถ้าเหมือนเห็น ไม่ใช่ภวังค์ ต้องทราบว่า ภวังค์จริงๆ คือขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทาง

    ผู้ฟัง เห็นแล้วก็มีความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ เห็น เป็นจิตอะไร นี่ เราไม่เอาเรื่องราว แต่เอาสภาพจิตว่าเห็นขณะนั้นเป็นจิตหรือเปล่า เป็น เป็นภวังคจิตหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นอาศัยอะไร จึงเห็น

    ผู้ฟัง มันไม่ได้เห็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เห็นจริงๆ แต่คิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้คิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิดแล้วจะมีอะไร

    ผู้ฟัง ลักษณะมีใครสักคน มาลักษณะเหมือนผีอำ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่คิด หรือ

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้คิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นก็คือคิด ถ้าไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็คือคิด เพราะฉะนั้น เราต้องตรงมากต่อสภาพธรรม แต่ละขณะ ขณะเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา อย่างขณะนี้จิตกี่ดวงก็ตามอาศัยจักขุปสาทเป็นทวารเป็นทางที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏ จิตเห็นมีเพียงจักขุวิญญาณ แต่จิตอื่นก็สามารถรู้สิ่งที่ปรากฏแม้ไม่เห็นแต่อาศัยจักขุปสาทนั้นรู้ ตามหน้าที่ของกิจนั้นๆ แต่ถ้าไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ต้องเป็นจิตคิดนึก เพราะว่าอาศัยมโนทวาร นี้ไม่พูดโดยละเอียด ถ้าพูดโดยละเอียดก็สามารถจะรู้ปรมัตถธรรมได้ แต่เราเพียงให้เห็นความต่างกันของ ๖ ทวาร แล้วเราก็มาพิจารณาดูว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    23 มี.ค. 2567