ปกิณณกธรรม ตอนที่ 514


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ผู้ฟัง สมมติว่าทางตา ถ้าหลับตาก็ไม่เห็น หลับตาก็ไม่เห็น พอลืมตาเห็น จ้า ไปหมด แล้วก็ตรงลักษณะของทางตา มันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มี สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้คิดเรื่องเสียง เพราะว่า รู้ว่ามีสิ่งซึ่งมีจริง กำลังปรากฏทางตา และสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตามีลักษณะอย่างนี้แหละ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ หรือไม่เรียกชื่ออะไรเลยก็ได้ แต่สิ่งนี้ใครจะบอกว่าไม่มี ได้ไหม ถ้าจิตเห็นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตเห็น เป็นธาตุซึ่งสามารถจะรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่เป็นความจริง แต่ว่าขณะใดก็ตาม ที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏทางตา ให้ทราบว่าต้องมีสภาพเห็น หรือรู้ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง รู้สึกว่ามันจะติดกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่า นามธรรมเกิดขึ้น แล้วปกติในชีวิตประจำวัน ก็มีการรู้รูปธรรม ทางตาเห็นสีสันวัณณะต่างๆ ทางหูก็รู้รูปธรรม คือเสียงต่างๆ ทางจมูกก็ได้กลิ่น รูปธรรม ทางลิ้นก็ลิ้มรสต่างๆ ทางกายก็กระทบรูปที่เย็นบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เพราะฉะนั้น นามธรรมมีจริง รูปธรรมก็มีจริง แต่เป็นสภาพธรรม ที่ต่างกัน ถ้าไม่รู้ความจริงว่าเป็นเพียงสภาพธรรม ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีลักษณะต่างๆ ก็เป็นเราหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ในแสนโกฏิกัปป์ก็เป็นเรา ต่อไปก็เป็นเราอีก เห็นอีกเมื่อไร ก็เป็นเราเห็น ได้ยินเมื่อไร ก็เป็นเราได้ยิน คิดนึกเมื่อไร ก็เป็นเราคิดนึก แต่ตามความจริงแล้ว คิดนึกก็เป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ที่เราเคยเข้าใจว่าเรามีจิต หรือใจในภาษาไทย แต่ถ้าซักถามโดยละเอียด ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม เราจะตอบไม่ได้เลย เราจะตอบได้เพียงว่ามีจิต มีใจ คนนั้นใจดี คนนั้นใจร้าย หรือใจดำก็แล้วแต่ แต่ว่าถ้าถามจริงๆ ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร คนนั้นจะตอบไม่ได้ อย่างที่กำลังเห็น รู้ไหมว่าเป็นจิตชนิดหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท โดยพิเศษ แต่นี่ก็เป็นการประมวล เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว จิตของแต่ละคน ก็วิจิตรพิสดาร ละเอียดมาก แล้วคนในโลกนี้มีเท่าไร ก่อนนั้นมีเท่าไร ต่อไปมีเท่าไร เพราะฉะนั้น ความละเอียดของจิตซึ่งต่างๆ กันไป ก็จะเห็นได้ว่ามากมายมหาศาล แต่พระผู้มีพระภาค ก็ทรงประมวลประเภทของจิตเป็น ๘๙ ชนิด หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษ เพื่อให้ทราบว่า แม้จะวิจิตรต่างกันอย่างไร ก็อยู่ในประเภทที่เป็น ๑ ใน ๘๙ นั่นเอง ทุกคนมีไม่ครบ อยากมีครบไหม

    ผู้ฟัง จะเรียนถามอาจารย์ สมพร เรื่องคำว่า วาสนา ทำไมมีความหมายลึกซึ้งแค่ไหน ทำไมมีแต่พระบรมศาสดาเท่านั้นที่ละได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าละได้ไหม

    วิทยากร. วาสนา มีความหมายหลายอย่าง ถ้าจะแปลคำว่า วาสนา แล้วอาจจะเห็นได้ชัดเจน วาสนา แปลว่าการอบรมในชาติก่อน ในชาติก่อนเคยอบรมสั่งสมไว้ เช่น บุคคลบางคนเคยเกิดเป็น ไส้เดือน ๕๐๐ ชาติ พอมาฟังธรรม เกิดเป็นคน มาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เอามือขีดแผ่นดินอยู่เรื่อยไม่ได้ฟังเลย พระองค์ก็ตรัสกับพระอานนท์ ว่าคนนี้เคยเกิดเป็นไส้เดือนติดต่อกัน ๕๐๐ ชาติ แทนที่จะฟังธรรม ไม่ฟัง คือพระองค์แสดงธรรม คนนี้ก็ขีดแผ่นดินเรื่อย มีตัวอย่างหลายอย่าง ดังนั้นคำว่า วาสนา เคยอบรมสั่งสมมาในชาติก่อน หรือเคยเกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง ในชาติก่อนติดต่อกันไป กระทำจนชินนั่นเอง แต่มาชาตินี้ก็ติดต่ออีก คราวนี้ว่าเมื่อถึงคราวที่จะสำเร็จมรรคผล เป็นพระอรหันต์แล้ว วาสนานี้มันฟังลึกอยู่ ยากที่จะถอนได้ เว้นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่มีใครที่จะละวาสนาได้ เพราะว่าเคยอบรมมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ ความหมายของวาสนา เพราะเหตุว่า โดยมากเราจะใช้คำนี้ในทางฝ่ายอกุศล เพราะเหตุว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิด ทำให้กาย หรือวาจาเกิดด้วย ในทางที่ไม่เหมาะ ไม่ควร หรือไม่งาม แล้วแต่ บางคนก็นั่ง เฉยๆ ก็รำคาญ ก็อาจจะแกว่งมือ แกว่งเท้า หรือทำอะไร นั่นก็เป็นอกุศล ซึ่งความจริงก็เป็นปกติของ อกุศลจิต ซึ่งก็ไม่เหมือนขณะที่เป็นกุศล หรือว่าสงบจริงๆ แต่ว่าเวลาที่เราพูดถึงความหมายของ วาสนา ในข้อที่ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ละได้ เรากล่าวถึงวาสนาในความหมายที่เป็นการสะสม กายวาจาที่เป็นอกุศล แต่ว่าทางฝ่ายกุศลก็เป็นด้วย ซึ่งเราไม่ได้กล่าวถึง เรื่องการละ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้น กายวาจาของแต่ละคน ถ้าเราจะไม่พิจารณาลึกลงไป ถึงสภาพจิต แต่ว่าเพียงแต่ดูภายนอก ก็จะเห็นได้ว่ากายที่งาม น่าดู น่าชมก็มี แม้แต่กิริยาอาการที่เดิน จะยืน หรือจะนั่ง การพูด ทางวาจาก็เช่นเดียวกัน คำพูดก็มีหลายอย่าง บางคนพูดคำที่เขาคิดว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย แต่ความจริงไม่เพราะ ไม่น่าฟัง แต่สำหรับเขา รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เล็กน้อย ใครๆ ก็เพูด อาจจะเป็นเด็กวัยรุ่น หรือว่าผู้ใหญ่ แล้วก็ติดมา จนกระทั่งแก้ยากก็ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทางฝ่ายอกุศลมีหลายอย่าง ซึ่งถ้าตัวเราสังเกตตัวเราอง ไม่ต้องสังเกตคนอื่น ก็อาจจะรู้ตัวเองว่าขณะไหน บ้างซึ่งเราก็มีกิริยาอาการซึ่งไม่น่าดู แต่ว่าติดเป็นนิสัย ซึ่งยากจะแก้ เพราะเหตุว่า สั่งสมมา คงจะไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ ชาติเดียว บางคนเขาจะเดินเร็วมาก บางคนก็อาจจะรับประทานอาหารด้วยอาการ ซึ่งไม่น่าดูก็ได้ ทีนี้ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล บางคนก็สะสมกิริยาอาการที่น่าดู ใครเห็นก็รู้สึกว่า ท่าทาง กิริยาน่าดู ไม่ว่าจะพูด หรือจะนั่ง หรือจะยืน หรือจะเดิน หรือจะนอน บางคนก็เป็นคนที่มีเสน่ห์ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนมี แล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากการที่เขาสะสมมา แต่ละชาติ ในสังสารวัฏ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ของเขา เพราะฉะนั้น นี่เป็นส่วนของที่เราเรียกว่า วาสนา ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ก็เป็นสิ่งที่ติดตัว แล้วก็พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่ทรงดับกิเลส ด้วยพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ดับวาสนาส่วนที่ไม่ดี แต่ว่าสำหรับผู้ที่สะสมปัญญา ที่จะไม่ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้แต่ท่านพระมหากัจจายานะ วัสสการ พราหมณ์ ก็ยังถึงกับกล่าวว่า บุคคลท่านนี้ มีกิริยาอาการเหมือนลิง ซึ่งเป็นคำที่ไม่แสดงถึงความเลื่อมใส ในคุณธรรมของท่านพระมหากัจจายานะ แม้พระผู้มีพระภาค จะตรัสให้ วัสสการพราหมณ์ ขอโทษ ขออภัย จากท่านพระมหากัจจายานะ แต่การที่สะสมมานะ ความสำคัญตน ทำไม่ได้ บางคนเวลานี้ก็เป็นอย่างนั้น คือทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเองผิด เพียงแค่ขอโทษ ทำไม่ได้ คิดว่าผิด อยากจะอยู่นั่นแหละ แต่ก็ไม่ทำ เพราะเหตุว่าทำไม่ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่เริ่มทำกุศลทันที อกุศลที่เกิด ก็จะพอกพูน แล้วก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะกระทำ เพียงแค่ขอโทษ พูดไม่ได้ หรือเพียงแค่ขอบคุณ พูดไม่ได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็แสดงว่าแต่ละคนก็เป็นแต่ละการสะสม ผู้ที่ศึกษาธรรมจริงๆ จะไม่เห็นความเป็นชื่อ ในคนที่กำลังเห็น กำลังพบ เป็นสภาพธรรมทั้งหมด คือ เป็นจิต เป็นเจตสิก สะสมมาที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะแสดงวาจา หรือกิริยาอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นการเห็นผิดประการใดก็ตาม หรือว่าอาจจะเป็นการดูหมิ่นบุคคลอื่น การเหยียดหยาม หรือว่าการยกตน อะไรก็แล้วแต่ ก็คือการสะสมของอกุศลที่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ จะเป็นคนที่เข้าใจ แล้วก็เห็นใจ แล้วก็จะมีความเมตตาอย่างจริงใจ แล้วก็พร้อมที่จะเป็นมิตรเกื้อกูลทุกคน เพราะเห็นว่าเป็นกุศล ที่เป็นธรรมฝ่ายดี ไม่ใช่ว่าเพื่อตัวเอง แต่เพราะเหตุว่าเป็นธรรมที่เป็นสิ่งที่ดีที่ เป็นสิ่งที่ควรที่จะอบรมเจริญ เพราะฉะนั้น แม้แต่กุศลซึ่งแต่ละคนทำ ข้อความในพระไตรปิฎก ก็ยังแสดงความละเอียด เพื่อที่จะเตือนให้เห็นว่า แต่ละบุคคล มีการกระทำ แม้บุญกุศลด้วยอะไร เช่น ถ้าทำกุศลอย่าง อัตตาธิปไตย หมายความว่า มีตน มีตัวเองเป็นใหญ่ เหมือนอย่างคุณหมอมธุรส เคยบอก ถ้าไม่เป็นเรา แล้วจะทำกุศลทำไม ที่ทำกุศล เพราะเหตุว่าเป็นเรา แต่ว่าตามความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทำกุศลเพราะเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ควรกระทำนั่นจึงจะเป็น ธัมมาธิปไตย แต่ถ้าใครก็ตามทำกุศลเพื่อตัวเอง ทำอย่างนี้เพื่อตัวเอง จะได้มีกุศลเพิ่มขึ้น ทำอย่างนี้เพื่อตัวเองจะได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ตามแต่ นั่นเป็นเรื่องความละเอียดของอกุศล ซึ่งอกุศลมีมากแล้วก็ละเอียดมาก แล้วการที่จะละขัดเกลาอกุศลจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้อะไรเลย แล้วก็คิดว่าไปนั่งไปทำอะไร แล้วก็ปัญญาจะเกิด แล้วก็จะละคลายกิเลส ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ย่อมเห็นอกุศล แล้วก็จะสามารถละอกุศล ทีละเล็ก ทีละน้อยเพราะเห็นโทษ แต่ไม่ใช่ว่าไม่เห็นเลย แล้วก็จะละได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงกุศล ก็ควรที่จะได้รู้ว่า เราทำเพื่ออะไร ถ้าเราทำเพื่อตัวของเราเอง นั้นเป็นอัตตาธิปไตย ถ้าทำเพราะเห็นแก่โลก หรือคนอื่นจะสรรเสริญ หรือทำไม่ได้ในสิ่งที่ชั่ว ต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้นเพื่อคนอื่นจะได้ชม หรือว่าเห็นว่าดี นั่นก็ยังเป็นกุศลที่ทำไปโดยมีโลกหรือมีคนอื่น เป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเป็นธัมมาธิปไตยจริงๆ จะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวเลย เพราะเหตุว่ากุศล เป็นเหตุที่ดีย่อมให้ผลที่ดี แต่ไม่ใช่ เพื่อติดในสิ่งที่ดี ที่จะได้รับ เพราะเหตุว่าขณะใดที่ยังมีการติดข้อง มีความต้องการ มีความผูกพัน มีความพอใจ ไม่สามารถที่จะพ้น หรือออกจากสังสารวัฏได้ ซึ่งบางคนก็อาจจะบอกว่ายังไม่อยากออกจากสังสารวัฏ ไม่ต้องออกหรอก เพราะว่ายังไม่อยาก แล้วถึงอยากก็ไม่ใช่จะออกได้ ตามอยาก กว่าจะออกได้แสนนาน แล้วก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ใช่เป็นกุศลเพียงขั้นทาน หรือศีลเท่านั้น

    ผู้ฟัง ตกลงคำว่า วาสนา นี้จะหมายถึง ทั้งความเคยชินที่เป็นทั้งกุศล และอกุศล ใช่ไหม ตามที่ทราบว่ากาย วาจาที่ออกมา ก็เป็นรูปซึ่งเกิดจากจิต เพราะฉะนั้น คำว่า วาสนา หรือความเคยชิน คงหมายถึงปรมัตถที่เป็นจิต กับ เจตสิก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ และรูป

    ผู้ฟัง และรูปด้วย ถ้าสมมติว่าเป็น ทั้ง ๓ อย่าง ผู้ที่มีความเคยชินที่เป็นอกุศล ก็เนื่องจากจิต และ เจตสิก ที่เป็นอกุศล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราพูดถึงกุศลจิต อกุศลจิต เราพูดเฉพาะจิต และเจตสิก แต่เวลาที่เราพูดถึงวาสนา เรา หมายความถึง กิริยาอาการ หรือการสะสม ซึ่งเป็นทางออกของจิต และเจตสิกด้วย เพราะเหตุว่าจิต และเจตสิกไม่มีการแสดงออกทางกาย ทางวาจาเลย ก็ไม่มีอาการที่จะปรากฏ เป็นส่วนที่น่ารังเกียจ หรือว่าน่าดู น่าชม

    ผู้ฟัง ก็ยังนึกสงสัยว่า อย่างพระอรหันต์ที่กาย วาจา ที่ยังเคยชินที่ไม่ดี ก็ต้องมีจิต เจตสิก เกี่ยวข้องด้วย ทีนี้ก็สงสัยว่าจิต เจตสิก ที่ทำให้กิริยาอาการที่ไม่ดีออกมานั้น เป็นจิต เจตสิก ที่เป็นอกุศลอยู่

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นคนละตอนแน่นอน จะเป็นตอนเดียวกันไม่ได้เลย พูดถึงตอนที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีกาย วาจา ตามกิเลส แต่ว่าเมื่อมีกำลังของปัญญาเพิ่มขึ้นดับกิเลสแล้ว แต่ความคุ้นเคยชินของกาย วาจา ซึ่งเคยประพฤติ ส่วนนี้ที่เรียกว่า วาสนา ไม่เกี่ยวกับกุศล และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง แล้วออกมาได้อย่างไร ออกมาโดยที่อย่างท่านก็ต้องเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นกิริยาแน่นอน เดินเร็วเป็นกิริยาจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เดินช้าเป็นกิริยาจิตได้ไหม เดินช้าเป็นกุศลจิตได้ไหม เดินเร็วเป็นกุศลจิตได้ไหม เดินเร็วเป็น อกุศลจิตได้ไหม ก็เป็นเรื่องธรรมดาแล้วแต่สภาพจิต

    ผู้ฟัง ไปนึกถึงตัวอย่าง อย่างเช่น เวลาท่านพูดไม่ดี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งที่ท่านพูดว่า ไอ้ถ่อย อย่างนี้ อยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเลย ว่านี่คือวาสนา ที่ท่านสะสมมาที่จะใช้คำนี้ แม้ว่าจิตของท่านเป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง อาจารย์ยังไม่ได้ตอบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ละ ได้ไหม

    วิทยากร. ตอบแล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ก็แปลว่า คนอื่นจะละไม่ได้

    ผู้ฟัง พระปัจเจก ละไม่ได้

    วิทยากร. อันนั้นถูกแล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้า ต้องละทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ ถ้ายังละไม่ได้ ก็ยังเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะว่าพระองค์บำเพ็ญบารมีมานานหนักหนา

    ผู้ฟัง เรื่องกิเลสกับอุปกิเลส กิเลสมี ๑๐ แล้วอุปกิเลสมี ๑๖ มันต่างกันอย่างไร ตรงนี้

    วิทยากร. อย่างโทสะ ก็มีหลายประเภท ไม่สบายใจนิดหนึ่ง ไม่สบายใจมาก ไม่สบายใจจนกระทั่งคับแค้นใจ ก็มีอยู่หลายประเภท ก็คือโทสะ แต่ว่าถ้ามีกำลังมาก พระองค์ตรัสว่าอุปกิเลส เพราะอำนาจ อาศัยคำว่า อุป เข้าไป ถ้าคำว่า กิเลสเฉยๆ ก็เหมือนกัน โทสะเหมือนกัน แม้นิดหนึ่งก็โทสะ โกรธมากขึ้นอีกหน่อยก็โทสะ มากที่สุดก็โทสะ แต่เมื่อใช้คำว่า อุปกิเลส ก็หมายถึงว่ากิเลสนั้นต้องมีกำลังมากที่สุด คำว่า กิเลส กับอุปกิเลส ก็ต่างกันตามที่กล่าวนั้น แต่ว่าจำนวน ก็ไม่แปลก พระองค์จัดไว้เป็นหลายอย่าง เพราะเวไนยสัตว์ สัตว์ที่จะตรัสรู้ มีหลายประเภท พระองค์ทรงแสดงแก่สัตว์ชนิดนี้ แต่ทำอย่างนี้ เขาก็จารึก จดจำไว้ อย่างพระอานนท์ก็จดจำไว้ แต่โดยสภาวะ พระอภิธรรมเป็นของคงที่ ส่วนพระสูตรแสดงมากแสดงน้อย ก็ไม่แน่นอน แล้วแต่เวไนยสัตว์

    ผู้ฟัง ขอถามอีกสักคำ รู้ทั่ว กับ รู้ชัด นี่ต่างกันอย่างไร กรุณาสักนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงในพระสูตร จะไม่มีเรื่อง วิปัสสนาญาณ ตามลำดับเลย กล่าวแต่เพียงว่ามีความรู้ชัด รู้แจ้งในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น คำว่า รู้ชัด ก็ต้องมีหลายระดับขั้นด้วยเวลาที่เรากำลังพูดเรื่องจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แม้แต่เพียงสติปัฏฐาน ที่กำลังระลึกลักษณะ ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ความรู้ที่ค่อยๆ เกิดขึ้น จะไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่า เป็นการกำลังเริ่มต้น หรือว่ากำลังที่จะค่อยๆ รู้ขึ้นจนกว่าจะถึงกาลที่วาระที่ปัญญาสมบูรณ์ ปัญญาแทงตลอด รู้ชัดในสภาพธรรม เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น นั่นคือรู้ชัด แต่ว่าการที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายกิเลส หรือดับกิเลสได้ ไม่ใช่เรื่องสั้นๆ ง่ายๆ เล็กน้อย เหมือนอย่างการเรียนของเรา เราอาจจะเรียนเรื่อง บวก ลบ คูณ หาร หรือว่าอาจจะเรียนกว้างต่อจากนั้นไปอีก มีแม่บท แต่ก็ต้องมีแบบฝึกหัด มิฉะนั้นเราก็จะรู้เพียงเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีแบบฝึกหัดมาเป็นเครื่องทดสอบว่า เรารู้จริงแค่ไหน เรารู้มากน้อยแค่ไหน เราก็รู้แต่เพียงตัวบทเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรขาคณิต หรืออะไรก็แล้วแต่ พีชคณิต หรืออะไรทั้งหมด แต่ทีนี้เวลาที่มีการรู้แจ้ง รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ได้หมายความว่า รู้ทั่วไปทั้งหมด เพราะว่าขณะนั้นแล้วแต่ว่า สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ที่ปัญญากำลังประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น นอกจากวิปัสสนาญาณ แล้วก็ยังมีปริญญา ๓ อาจารย์สมพร จะกรุณาให้คำแปลของคำว่า ปริญญา

    วิทยากร.ปริญญา แปลว่า รอบรู้ หรือรู้ทั่วเหมือนกัน ปริ แปลว่ารอบ หรือแปลว่า ทั่ว ญา แปลว่ารู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว วิปัสสนาญาณดับ หลังจากนั้นก็สภาพธรรมก็เหมือนเดิม คือ ไม่ใช่ขณะที่แทงตลอด หรือประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม โดยความเป็นธาตุที่กำลังปรากฏ ให้เห็นลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ทุกอย่างเป็นปกติเหมือนเดิม เพราะอวิชชา ยังมีมาก ความรู้แค่นั้นยังไม่พอ ที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ยังมีสภาพธรรม ในชีวิตประจำวัน เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นเห็น ไม่ว่าจะเป็นคิดนึก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประจักษ์แจ้งชัด ในลักษณะของสภาพธรรมโดยวิปัสสนาญาณแล้ว ก็ยังจะต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏต่อไป นี่เป็น ญาตปริญญา ถ้าวิปัสสนาญาณไม่เกิด จะไม่มีญาตปริญญา แต่เพราะเหตุว่า วิปัสสนาญาณเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมอื่นๆ นอกจากที่ปรากฏในวิปัสสนาญาณ ก็เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่สติจะต้องระลึก จนกว่าจะรู้ทั่ว แล้วก็วิปัสสนาญาณ ก็จะเกิด เจริญขึ้นตามลำดับขั้น ก็จะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นของ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา

    ผู้ฟัง ขณะเห็น อยากจะขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบาย ไม่ใช่ว่าจะพูดตามว่าเห็น ขณะเห็นเป็นอนัตตา แต่อยากจะให้อธิบายให้เรามองเห็นจริงๆ อนัตตาจริงๆ ไม่ใช่พูดตาม

    ท่านอาจารย์ มองเห็นจริงๆ เป็นปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ถึงปัญญาจริงๆ จะมาเห็นจริงๆ อย่างนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง มันโตช้า ก็พูดตามไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ยังไม่โต เพิ่งเกิดอยู่ตามท้องร่อง ยังไม่เป็นต้นไม้ใหญ่ แล้วคุณสุรีย์ จะให้เป็นต้นไม้ใหญ่ได้ไหม

    ผู้ฟัง ให้ เป็นแนวทางว่า

    ท่านอาจารย์ แนวทาง คือ อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เอาขณะที่เห็น เป็นอนัตตาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็น เป็น แน่นอน แต่ต้องรู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่อบรมแล้วจะไปรู้อย่างนั้น

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะ ปัญญาที่รู้ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมก่อน

    ผู้ฟัง ก็ต้องพูดตามกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่พูดตาม การศึกษาธรรมไม่ได้ให้ใครพูดตามเลย ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567