ปกิณณกธรรม ตอนที่ 529


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ฟังพระธรรมไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย ถ้าไม่มีปัจจัยสืบต่อมาที่จะปรุงแต่งให้เป็นสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วต้องพร้อมด้วยปัญญาที่สะสมมาแล้วมาก ถึงระดับขั้นที่สามารถจะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งกำลังฟังเพียงฟังเรื่องเท่านั้น แต่เวลาที่ประจักษ์ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องราวเหมือนอย่างที่ว่า ขณะใดก็ตามจะต้องมีสภาพธรรมที่เกิด คือ จิต เจตสิก หนึ่งขณะแล้วก็รู้อารมณ์ทีละอย่าง นี้เพียงฟัง แต่เมื่อประจักษ์ต้องตรงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น หนทางก็จะต้องอบรมก็ต้องเป็นหนทางตรง คือแม้แต่สัมมาสติก็ต้องรู้ว่าเป็นเรื่องของสติปัฏฐานเท่านั้น ในระดับของมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นอินทรีย์มีกำลัง ที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะขณะที่ฟังก็มีศรัทธา แต่ว่าศรัทธานั้นถึงระดับระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นสัทธินทรีย์หรือเปล่า แต่ขณะใดก็ตามที่สัมมาสติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้ศรัทธาขณะนั้นก็เป็น ศรัทธินทรีย์ วิริยะก็เป็นวิริยินทรีย์ สติก็เป็นสตินทรีย์ สมาธิก็เป็นสมาธินทรีย์ ปัญญาก็เป็นปัญญินทรีย์ ชั่วขณะหนึ่งๆ แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมไปจนกว่า จะเป็นพละ เกี่ยวเนื่องกันหมด ที่ใช้คำว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ แสดงจำนวนกำกับไว้ให้ ว่าอะไรบ้างที่เป็นอินทรีย์ ในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่สุขเวทนาซึ่งเป็นสุขขินทรีย์ ไม่ใช่โสมนัสเวทนาซึ่งเป็นโสมนัสสินทรีย์ เพราะว่าอินทรีย์ทั้งหมดมี ๒๒ แต่อินทรีย์ที่จะเจริญ คืออินทรีย์ ๕ ที่จะทำให้ถึงความเป็น พละ ๕ ที่จะทำให้ถึงความเป็นระดับขั้นต่อๆ ไปของการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องกันที่จะ ต้องฟังอย่างละเอียดด้วยดี แล้วก็จะมีพระธรรมเป็นศาสดา หมายความว่าไม่ผิด ไม่หลงทาง เพราะเหตุว่าได้ศึกษา แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม ที่ได้เข้าใจจริงๆ ไม่มีตัวเราซึ่งไปเอาเจตนามาเป็นมรรคมีองค์ ๘ ว่าจะทำไม่มีเลย แสดงกำกับไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเจตนาเจตสิกเลย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่อาจารย์หลายท่านบอกว่าระลึกรู้ ตกลงคือปัญญาระลึกรู้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สติระลึก ปัญญารู้ เป็นสภาพธรรม ต่างกัน โลภะ ไม่ระลึกเลย เกิดเมื่อไรก็ติดข้องเมื่อนั้น โทสะก็ไม่ระลึก ผัสสเจตสิกก็ไม่ระลึก สัญญาความจำก็ไม่ระลึก แต่ระลึกเป็นหน้าที่ของโสภณจิต ๑ คือสติเจตสิก มีสภาพที่ระลึก ถ้าเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะใดที่ให้ทานเพราะสติระลึกเป็นไปในทาน เราอาจจะมีเสื้อผ้าหลายชิ้น แล้วก็ไม่ได้ใส่ ขณะนั้นก็ยังไม่ระลึกที่จะให้ สติไม่ระลึกเป็นไปในทาน แต่ถ้ามีการให้ ระลึกที่จะให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับคนอื่น นั่นคือลักษณะของสติที่ระลึกเป็นไปในทาน แม้ศีลก็เป็นลักษณะของสติที่ระลึกเป็นไป ที่จะวิรัติกายทุจริตทางกาย วจีทุจริตทางวาจา หรือแม้แต่ใจที่ทุจริต แต่ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของศีล เป็นอีกระดับหนึ่ง แต่ให้ทราบว่าทั้งหมดต้องมีสติเจตสิก แม้แต่ขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมเป็นหน้าที่ของสติ สติไม่ใช่ปัญญา สติมีหน้าที่เดียว คือระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมถ้าเป็นสติปัฏฐาน แต่การที่จะเข้าใจพิจารณารู้ในความไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของสติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่เราบอกว่า เราพยายาม จะทำสติให้ระลึกรู้ ก็ความจริงมันไม่ใช่สติ มันคือตัวเราระลึก รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องซึ่งไม่ใช่หนทาง สัมปยุตตธรรม โดยศัทพ์ ภาษาบาลี

    วิทยากร. สัมปยุตธรรมก็ ที่เราเคยพูดกันบ่อยๆ ธรรมที่ประกอบทั่วพร้อม หรือเราจะแปลสั้นๆ ว่า ธรรมที่ประกอบก็ได้ สัม แปลว่า พร้อม ปะ แปลว่าทั่ว ยุต แปลว่าประกอบ พระธรรมจะเป็นจิต หรือเจตสิก อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า ธรรม ธรรมคือจิต ธรรมคือเจตสิก ที่ประกอบทั่วพร้อม หมายความว่าเกิดในขณะเดียวกัน แล้วก็มีอารมณ์เดียวกัน มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกัน ดับก็พร้อมกัน เรียกว่า สัมปยุตตธรรม ธรรมที่ประกอบ

    ท่านอาจารย์ สัมปยุตตธรรมจะไม่ได้แก่ปรมัตถธรรม อื่น นอกจากจิต กับเจตสิกเท่านั้น ถึงจะสมบูรณ์ตามความหมาย ที่ประกอบทั่วพร้อมคือ ทั้งขณะเกิด ขณะดับ รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดที่เดียวกันด้วย ถ้าเราศึกษาธรรม เราอาจจะศึกษาตลอดไปเลย ตั้งแต่ต้น อย่างคำว่า สัมปยุตตธรรม หมายความถึง จิต เจตสิกซึ่งเป็น นามธรรมด้วยกัน เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน โดยขณะที่เกิดแล้วดับ โดยเป็นสัมปยุตตปัจจัย คือเรื่องของปัจจัย ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ว่าเรา เริ่มทำความเข้าใจเสียตั้งแต่ตอนต้น ไม่ให้เห็นว่ายากเหลือเกิน เก็บไว้ทีหลัง แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คือทุกอย่างต้องมีปัจจัยจึงเกิดได้ นี่เป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ แต่ว่าโดยเป็นปัจจัยอะไร

    ถ้าใช้คำว่า โดยเป็นสัมปยุตตปัจจัย เรารู้เลย ความเข้าใจของเรา จะกว้างขึ้น ทิฏฐิเจตสิกเป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า จิต เจตสิก ต้องเกิดร่วมกัน เป็นสัมปยุตตธรรม ธรรมที่เกิดร่วมกันเป็น สัมปยุตตปัจจัย หมายความว่าต้องเกิดพร้อมกับดับพร้อมกัน ร่วมกัน

    ถ้าถามว่า ทิฏฐิเจตสิกเป็น สัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า สัมปยุตตธรรม กับ สัมปยุตตปัจจัย ก็เหมือนกันไม่ได้ต่างกันเลย คือ ต้องเป็นปัจจัย อาศัยกัน และกันโดยเกิดพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ทิฏฐิเป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า นี่คือความเข้าใจ เราไม่อยากจะให้จำเฉยๆ หรือฟังมาก็เข้าใจเพียงเท่าที่ได้ยินได้ฟัง แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะพิจารณาว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เป็นปัจจัยหรือเปล่า ต้องเป็น สัมปยุตตปัจจัย เพราะว่าอาศัยกัน และกัน เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ทิฏฐิเจตสิกเป็น สัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า ฟังดูเหมือนยากเหลือเกิน แต่ความจริงไม่ได้ยากเลย ใส่ปัจจัยเข้าไปคำเดียว ไม่น่าจะต้องเป็นความยากอะไร เพราะว่าธรรมทั้งหลายต้องเกิดเพราะปัจจัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เพียงแต่ถามว่า ทิฏฐิเจตสิก เป็น สัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า เป็น โลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภเจตสิกเป็น สัมปยุตตปัจจัย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขอทบทวนคำถาม

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิต ที่เป็น ทิฏฐิคตวิปปยุต คือ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภเจตสิกเป็น สัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็น โมหเจตสิกเป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า เป็น ไม่ว่าจะมีทิฏฐิเจตสิก หรือไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกอื่นๆ ทั้งหมด ที่เกิดกับจิตก็เป็น สัมปยุตตปัจจัย แล้วจิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า ก็เป็น ก็จบ หมายความว่า แน่ใจมั่นใจว่า สัมปยุตตปัจจัย เฉพาะจิตเจตสิกเท่านั้น แล้วก็จำแนกออกไป แต่ที่ใช้ศัพท์ต่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าโลภมี ๘ ประเภท แต่ว่าประเภท ๔ ประเภท หรือ ๔ ดวง มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงใช้คำว่า สัมปยุตต เพราะขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดด้วย แต่ขณะใดที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็แสดงให้เห็นว่า เป็น โลภะจริง หมายความว่าโลภะไม่จำเป็นต้องมีทิฏฐิเจตสิก เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง โลภเจตสิกขณะใดที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภะ ทิฏฐิ นั้นก็เป็น สัมปยุตตปัจจัย กับเจตสิกอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยจึงชื่อว่า ทิฏฐิคตวิปปยุต ก็ชื่อ ก็ต่างกัน แค่นี้เอง ๑ ปัจจัยแล้วไม่ลืม สัมปยุตตปัจจัย ไม่ต้องคอย แต่ว่าเมื่อเวลา ที่ถึงเวลานั้น จะละเอียดยิ่งกว่านี้อีก ถ้าถึงเรื่องของปัฏฐานจริงๆ หรือปัจจัยจริงๆ แต่ก่อนจะถึงความยากหรือความละเอียดอย่างนั้น พื้นฐานหรือเข้าใจ ต้องแข้าใจตามลำดับ แม้แต่ว่าจิต กับ เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยโดยสถานใด โดยสถานะที่ต้องเกิดร่วมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน เป็นสัมปยุตตปัจจัย อีกปัจจัยหนึ่ง สหชาตปัจจัย อาจารย์กรุณาแปล สหชาตปัจจัย

    วิทยากร. สห แปลว่าพร้อม ชาต แปลว่าเกิด เกิดพร้อมกัน คือจิต กับ เจตสิก นั้นเอง เกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ความหมายต่างกันแล้ว นิดหนึ่ง เพราะว่า สหชาตปัจจัย ความหมายแคบจริงๆ คือ แคบโดยชื่อ เกิดพร้อมเท่านั้นไม่เหมือนสัมปยุตต ซึ่งเกิดพร้อม ดับพร้อม รู้อารมณ์เดียวกัน ซึ่งจะต้องเป็น จิต เจตสิก เท่านั้น แต่สหชาตไม่ได้จำกัดเฉพาะจิต เจตสิกเท่านั้น เพราะเหตุว่าเกิดพร้อม อะไรก็ตามที่เกิดพร้อมกัน หมายความว่าเป็นปัจจัยให้สิ่งหนึ่ง เกิดพร้อมกับตน ไม่ใช่เกิดทีหลัง ต้องเป็นโดยสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น จิต เป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิก เจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่ จิต เพราะเป็นปัจจัย โดยต้องเกิดพร้อมกันกับตน ปัจจยุบันธรรมต้องเกิดพร้อมกับตน แม้แต่มหาภูตรูป ๔ ก็เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกัน และกัน เพราะจะมีธาตุดิน โดยไม่มีธาตน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ หรือจะมีธาตุไฟ โดยไม่มีธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุดินไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดพร้อมกัน ความหมายก็คือแค่เกิดพร้อมก็เป็น สหชาตปัจจัย ยากไหม ๒ ปัจจัย ไม่ยาก เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เจาะลึกลงไปถึงขณะหนึ่ง ซึ่งมีสภาพธรรมเกิดขึ้น จะได้รู้ความจริงว่า สภาพธรรมนั้นเมื่อมีปัจจัยแล้ว เป็นปัจจัยอย่างไร โดยพร้อมกันหรือว่า โดยภายหลัง คือสภาพธรรมหนึ่งต้องเกิดก่อน แล้วสภาพธรรม อื่นเกิดทีหลัง นั่นหมายความว่าต่างขณะ แต่ถ้าเป็นอย่างนี้หมายความว่า โดยพร้อมกัน

    ธรรมเป็นเรื่องที่ถ้าค่อยๆ ไตร่ตรองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เห็นความเป็นอนัตตา เพื่อความเข้าใจในความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ตามกำลังความสามารถของความเข้าใจ จะบอกว่าระดับนี้ ไม่ใช่อนุบาลก็คงไม่ได้ เพราะว่ายังไม่ได้ไปถึงไหนที่จะเป็น ปัจจัยโดยละเอียด แต่อนุบาลที่ให้มีความสามารถที่จะรับทุกอย่างตามเหตุตามผล และให้เข้าใจโดยความคิด การไตร่ตรองของตนเอง เพราะฉะนั้น จึงมีคำถาม เพื่อที่จะให้คิด แต่ถ้าเพียงรับฟังมา สหชาตปัจจัยเป็นอะไร สัมปยุตตปัจจัยเป็นอะไร แต่ถ้าไม่มีคำถามเลย เราจะคิดไหม นี่เป็นหรือเปล่า หรือว่าเป็นโดยปัจจัยไหน มีอีกปัจจัยหนึ่ง ถ้าเข้าใจจริงๆ เรียนไปเลยมากๆ ได้ อารัมมาณะปัจจัย ยิ่งง่าย ใช่ไหม เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์เท่านั้น ขณะนี้ มีอารัมมาณปัจจัยไหม ต้องมีแน่นอน มีสหชาตปัจจัยไหม มีสัมปยุตตปัจจัยไหม มี

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า บอกชี้แนะ สู่ที่อะไรที่จะไม่เกิดแล้ว แต่ของดิฉันนั้น มันเกิดอย่างไร มันต้องมี การเริ่มต้นแน่นอน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมาก เราย้อนไปหาอดีต แล้วเราคิดไปถึงอนาคต แต่เราจะไม่รู้ความจริง เพราะเหตุว่าอดีตหมดไปแล้ว อนาคตก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าใจได้ แม้แต่เรื่องปัจจัย หรือสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ก็คือสามารถเข้าใจขณะนี้ ไม่ต้องกังวลถึงอดีต และอนาคต ว่ามาจากไหน แล้วจะไปไหน แต่สภาพธรรม ในขณะนี้มีปัจจัยจึงเกิดแล้วเรากำลังพยายามที่จะเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรม พร้อมปัจจัยทีละเล็กทีละน้อย ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้หมด แต่ว่าเริ่มเข้าใจ เช่น เมื่อมีจิตแล้ว ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ แล้วสิ่งที่จิตรู้ ใช้คำว่า อารัมมาณะ หรือ อาลัมพนะในภาษาบาลี มีจิตโดยไม่มีอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งจำเป็น เป็นปัจจัยหนึ่งของจิต คือเป็นสิ่งที่จิตรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นอารัมมาณปัจจัย ถ้าไม่มีจิตเกิดไม่ได้ จิตเห็นไม่ได้ เสียงเป็นอารัมมาณปัจจัย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีเสียง จิตได้ยินเกิดไม่ได้ ทำอย่างไรๆ จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพราะเสียงเป็นอารมณ์หนึ่ง สำหรับจิตได้ยิน เป็นปัจจัยโดยเป็น อารัมมาณปัจจัย นิพพานเป็นปัจจัยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ โดยเป็นอารัมมาณปัจจัย คือเป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิตเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ทีนี้ความหมาย คือถ้าสมมติเราสู่นิพพาน มันก็คือปัจจัยหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยเดียว เป็นอารัมมาณปัจจัย

    ผู้ฟัง ในขณะที่ระลึก มันเป็นวิตก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของเจตสิก เราก็จะสับสน เพราะเหตุว่าเราจะคิดว่าการที่เราจำอะไรได้ หรือการที่เรานึกอะไรได้ เข้าใจว่าเป็นสติ บางทีภาษาไทยเราก็ใช้คำนั้น โดยที่ว่าเรายังไม่เข้าใจความหมาย ของสภาพ หรือสภาวะของสติเจตสิกซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งต่างกัน เพราะเจตสิกทั้งหมดเป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม แล้วก็เกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่เจตสิกนั้นมี ถึง ๕๒ ประเภท แล้วก็มีสภาพของเจตสิกที่ คล้ายคลึงกัน ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศลบางครั้ง แต่ว่าถ้าเราศึกษาโดยละเอียดแล้ว เราแยก เราจะไม่ใช้อย่างที่เราเคยคิดหรือเราเคยเข้าใจ คือใช้ตามใจชอบ เพราะว่าถ้าใช้คำว่า สติ ในภาษาบาลี หรือว่าตามที่ได้ศึกษาธรรม ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องเป็นโสภณ เป็นธรรมที่ดีเท่านั้น ถ้าเราจะคิดนึกเรื่องอะไรทั้งหมด ที่เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องอกุศล แล้วจะบอกว่าเป็นสติที่คิดที่นึกออก ว่าวันนั้นจะไปฆ่าสัตว์ หรือว่าจะไปทำอะไรก็ได้ ถ้าคิดอย่างนั้นไม่ใช่สติ แต่ว่าเป็นเจตสิกอีกประเภท ๑ คือ วิตกเจตสิก

    เมื่อศึกษาธรรมแล้ว จากการตรัสรู้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เป็นการเพียงคิดนึก อนุมาน ประมาณ เทียบเคียง ก็ยังจะค่อยๆ เปลี่ยนว่า แต่ก่อนนี้ยังคงไม่ตรงนัก ก็ถ้าพิจารณาต่อไป ก็คงจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือผู้ที่ไม่รู้จริง คือผู้ที่ไม่ประจักษ์แจ้ง ผู้ที่ไม่ตรัสรู้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้ง แล้วทรงแสดงสภาพธรรมโดยละเอียดยิ่ง ก็แสดงว่า สภาพของเจตสิกที่เป็นสติ ต้องเป็นธรรมฝ่ายดีเท่านั้น คือเป็นโสภณ จะเป็นอกุศลไม่ได้

    ถ้าเราคิดว่า วันก่อนนี้นัดเพื่อนไว้ แล้วก็ไปไม่ได้ ก็คงจะต้องไปขอโทษเขา นั่นไม่ใช่สติเจตสิก ต้องเป็นไปในทาน หรือในศีล หรือว่าในความสงบของจิต แต่ถ้าเราคิดว่า เราเคยตั้งใจไว้ ว่าจะเป็นคนที่พูดจริง หรือว่าให้ความช่วยเหลือ หรือว่าให้ทาน หรือใครก็ได้เท่าที่เราสามารถจะทำได้ หรือจะเป็นคนดี จะทำสิ่งที่ดี จะศึกษาธรรม จะอ่านพระธรรม จะพิจารณาธรรมโดยรอบครอบ ถ้าเราเคยคิดอย่างนี้ แล้วเราหลงลืมไป แล้วนึกขึ้นได้ว่าเราเคยตั้งใจไว้ว่า จะทำอย่างนี้ บางคนอาจจะตั้งใจไว้ว่าจะอ่านหนังสือธรรม วันนั้นลืม แต่ก็พอนึกได้ ก็อ่าน นั่นหมายความว่า สติเกิด ที่จะระลึกถึง ความคิดหรือคำที่พูดไว้ แล้วก็ทำตามที่คิด

    ผู้ฟัง คำว่า ไม่หลงลืม สิ่งที่ทำ คำที่พูด แม้ที่ล่วงเลยมานานแล้ว ถ้าจะสติเกิด ขณะนั้นจะต้องจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น ถ้าไม่เป็นกุศลเมื่อไร เป็นวิตกเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ สติจะไม่เกิดกับจิตอื่นเลย นอกจากโสภณจิต

    ผู้ฟัง ถ้าหากในขณะ เช่น อย่างเรื่องยกตัวอย่างที่ดิฉัน เกาะเรือพ่วง มันเป็นสิ่งซึ่งจะต้องตาย เพราะฉะนั้น คิดเมื่อไรก็เป็นวิตก เมื่อนั้น ซึ่งไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้าอันนี้จะให้คิดเป็นสติ จะคิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้คิดเป็นสติ ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นโสภณจิต

    ผู้ฟัง สรุปก็ได้ว่า ถ้าเผื่อเราคิดถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูด แม้ล่วงเลยมานานแล้ว ถ้าหากว่าเราคิดเป็นอกุศลเมื่อไร ขณะนั้นสติไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์เคยตั้งใจว่า จะให้เงินใครทุกเดือน แล้วก็ให้เขาไป บอกเขาว่าฉันจะให้ ช่วยเหลือ เดือนละ สมมติว่า ร้อยบาท แล้วคุณสุรีย์ลืมไป แล้วเกิดนึกขึ้นได้ แล้วก็ทำ ขณะนั้นต้องเป็นสติแน่นอน ระลึกถึงคำที่พูด การกระทำที่ทำ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเจตสิกทั้ง ๕๒ จะเห็นได้เป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งละเอียดมาก แล้วแต่ละสภาพธรรม มีหน้าที่เฉพาะของตน ของตนที่ไม่ก้าวก่ายกัน อย่างสภาพของเอกัคคตาเจตสิก ก็เป็นสภาพของเจตสิกที่ตั้งมั่น ในอารมณ์หนึ่ง แล้วก็มี อภิโมกขเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ปักใจมั่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราเองจะต้องไตร่ตรองแล้วคิดว่าลักษณะของเจตสิกทั้ง ๒ ต่างกันอย่างไร แล้วก็มั่นทั้งนั้น แล้วก็ต้องทราบว่า ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก เป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก คือ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น จิตขณะหนึ่ง จะรู้อารมณ์เพียงหนึ่ง ที่เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์นั้นเท่านั้น แต่อธิโมกขเจตสิก ไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง นี่แสดงถึงความต่างกัน แม้เพียงเล็กน้อย

    ผู้ฟัง อาจารย์เทียบศรัทธากับอธิโมกข

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าบางคนเขาบอกว่า ศรัทธาคือความตั้งมั่น ความเชื่อมั่น เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องแยกศรัทธาออกไป ต้องแยก อธิโมกข์ออกไป แยกเอกัคคตาเจตสิกออกไป เพราะเหตุว่า เป็นเจตสิกที่ต่างประเภทกัน ซึ่งเราจะต้องค่อยๆ คิดค่อยๆ พิจารณาถึงความต่างกัน

    ผู้ฟัง ถ้าเปรียบเทียบศรัทธากับโลภะ มันจะเห็นชัด มันไม่เหมือนกัน แต่มันสับสนกัน มันขณะจิตนี่ ทันทีที่เราเป็นโลภะ เรานึกว่าศรัทธาได้ หรือว่าเป็นศรัทธา เรานึกว่าเป็นโลภะได้ แต่อธิโมกขดูเหมือน มันจะเป็นการปักใจ มันไม่เหมือนกับศรัทธาเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เหมือนก็ไม่เหมือน เพราะว่าเป็นเจตสิกคนละอย่าง

    ผู้ฟัง ไม่ใกล้เคียงกันเหมือนโลภะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ แล้วแต่คนที่เขาคิดว่า ขณะนี้สภาพจิตเป็นอย่างนี้ มีความมั่นคงอย่างนี่ แต่เขาไม่สามารถที่จะแจกเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ในขณะนั้นว่า ที่เขากล่าวว่ามีศรัทธา หรือความมั่นคง มันได้แก่เจตสิกอะไร ที่ทำหน้าที่ศรัทธา ได้แก่เจตสิกอะไรที่เป็นอธิโมกข ได้แก่เจตสิกอะไรที่เป็นเอกัคคตา เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาลักษณะของเจตสิก ทั้ง ๕๒ โดยเฉพาะแต่ละลักษณะ ให้เห็นความต่างว่า ถ้าเป็นเอกัคคตาเจตสิก ตั้งมั่น ในอารมณ์เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ศรัทธา ไม่ใช่อธิโมกข ถ้าคุณสุรีย์ จะถามถึง ๓ อย่างนี้ เพราะว่าคนที่มีศรัทธา ถ้าเขาบอกว่า คนทั่วๆ ไป เขาพูดว่า เขามีศรัทธา หมายความว่า เขาต้องมีมากพอสมควรที่จะกล่าวว่ามีศรัทธา ไม่ใช่อย่างธรรมดาๆ แต่มีศรัทธาแสดงให้เห็นว่ามีมากพอสมควร เมื่อมีมากพอสมควรแสดงว่าเขามีความมั่นคง เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เราจะมาแจกว่า เป็นลักษณะของศรัทธา คือเมื่อไร ลักษณะไหน ลักษณะของอธิโมกข ลักษณะของเอกัคคตา ลักษณะของเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน ซึ่งต้องเป็นการศึกษา และพยายามเข้าใจโดยละเอียด แต่ถึงแม้ว่าจะเข้าใจก็ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง ไม่ทราบว่าจะกี่ครั้งก็ตามแต่ ให้ทราบว่าเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้ เข้าใจจริงๆ ว่าเป็น อนัตตา แต่ละลักษณะ ยิ่งละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งเห็น ความเป็น อนัตตา ของสภาพธรรมมากเท่านั้น นี่คือจุดประสงค์ แต่ว่าต้องทราบด้วยว่า เราจะประจักษ์ได้ไหมอย่างนี้ คือสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของศรัทธา ลักษณะของเอกัคคตา ลักษณะของอธิโมกขได้ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567