ปกิณณกธรรม ตอนที่ 510


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ผู้ฟัง ตอนนี้มันเข้าใจยากอยู่หน่อยว่า กายเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร แต่ว่าจิตมาเกิดที่กาย แล้วก็ระลึกรู้เรื่องอื่น มันก็เลย เหมือนว่ากาย ไปรู้ด้วย ท่านอาจารย์ จะแยกแยะอย่างไร ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเหตุที่เราจะต้องฟัง ว่า ธรรมมี ๒ อย่าง ไม่ว่าจะในโลกไหนทั้งสิ้น จักรวาลไหนทั้งสิ้น เมื่อแบ่งเป็นประเภทที่ต่างกัน จะต่างกันโดย ๒ ลักษณะ คือสภาพธรรม อย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ หมายความว่าเกิด ขึ้น ไม่ใช่ไม่มี เกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ เมื่อรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ เป็นอารัมมณะ หรืออารมณ์ของจิต เจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นรู้ ส่วนสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นรูป คือ ไม่รู้อะไรเลย ก็มีแค่ ๒ อย่างเราจะไปเรียกว่าอะไรสารพัดวิชาการก็คือ ๒ อย่าง ธาตุแท้ๆ คือ ๒ อย่าง แต่เมื่อไม่รู้ความจริง แต่มีสัญญาความจำ เรื่องราว ก็วิชาการทั้งหลายเกิดขึ้น จากการบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เท่านั้นเอง โดยไม่รู้ตัวจริงของธรรมซึ่งเกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นคน แล้วก็จะไป ศึกษาวิชาต่างๆ พฤติกรรมศาสตร์ของมนุษย์ หรือของอะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่รู้ตัวจริง หรือสภาพธรรมจริงๆ นอกจากจะศึกษาตามที่ทรงตรัสรู้

    ผู้ฟัง ถ้าคิดถึงเสียง ขณะนั้นไม่ใช่ได้ยินทางหู ตรงนี้ใช่ไหมที่จะเป็นสิ่งที่จะต้องอบรม คือขณะนี้ที่เรานึกถึงเสียง อย่างสมมติเมื่อเช้านี้ ดิฉันได้ยินเสียงอาจารย์พูดทางวิทยุ แล้วนึกถึงเรื่องราวที่อาจารย์พูดทางวิทยุ ขณะนี้ ไม่ใช่เสียงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทางหูแล้ว แต่เป็นสภาพที่นึกคิด ตรงนี้ยาก

    ท่านอาจารย์ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องฟัง ฟังๆ เข้าใจๆ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าสติปัฏฐาน จะระลึกได้ตรง แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนา มีหลายระดับขั้น ขั้นฟัง เข้าใจเรื่องราว แต่ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง แล้วก็ไม่พอ เพียงแต่ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสอนเพียง ให้ฟังแล้วเชื่อว่าพระองค์ตรัสรู้อย่างนี้ แต่ว่าให้ทุกคนสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งด้วย ถ้าหนทางนี้ยังอยู่ก็อบรมเจริญต่อไป แล้วก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าทนทางนี้ลบเลือน เป็นการเข้าใจผิด ก็ไม่มีการที่จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง จากคำถามเมื่อที่ท่านอาจารย์ตอบ เสียง ที่เขายกตัวอย่างว่า ได้ฟังเสียงของอาจารย์บรรยายธรรม เมื่อเช้านี้ เสร็จแล้วเสียงทั้งหมดที่อาจารย์บรรยายก็ดับไป ตอนนี้เรามานึกคิดถึงเสียงอันนั้น ถามว่า เสียงอันนั้น เรานึกคิดถึงเรื่องราวที่อาจารย์ได้พูดไปหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นึกถึงความหมาย ใครพูดก็ได้

    ผู้ฟัง ใช่ไหม นึกถึง

    ท่านอาจารย์ ความหมาย

    ผู้ฟัง ความหมายในที่นี้ หมายถึงว่า

    ท่านอาจารย์ อย่างเวลาที่เราอ่านหนังสือ มีคำว่า พาราณสี เวลาที่เราเห็นตัวหนังสือเราไม่ได้อ่าน จะไม่มีคำว่าพาราณสี ถ้าเห็นตัวหนังสือ แต่ไม่ได้อ่าน เพียงเห็นเฉยๆ จะไม่มีคำว่าพาราณสี แต่เวลาที่เราอ่านแม้ว่าจะเป็นตัวหนังสือ เป็นเส้นขีดไปขีดมา แล้วเราคิด คำว่าพาราณสี เราคิดด้วยความทรงจำเสียง เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำใดๆ ก็ตาม แล้วมีการคิดถึงความหมาย สภาพจิตที่คิด ไม่ใช่สภาพที่ได้ยินเสียง แต่เวลาที่เสียงดับ แล้วก็จิตคิดทันทีต่อ ก็เหมือนกับว่าเราได้ยินคำ ความหมายพร้อมกันไปเลย แต่ความจริงได้ยิน ได้ยินเสียง แล้วก็ยังมีจิตที่คิดถึงคำ

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่คิดถึงคำ หรือความหมายนั้น คำ หรือ ความหมายนั้น มันมีจริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มี

    ผู้ฟัง เป็นการสร้างมโนภาพ

    ท่านอาจารย์ เป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปรมัตถต้องมีสภาวะลักษณะ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่เราคิดนึกทุกครั้ง ไม่ว่าทางตาทางหู

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรา คิดนึกทุกครั้ง ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง สติมาได้อย่างไร อย่างอาจารย์พูด อบรมแล้วค่อยๆ มา ผมต้องการทราบจุดนี้ว่ามันมาได้อย่างไร แล้วสติตอนที่เกิดขึ้น ระลึกนึกถึงคำพูดหรือได้ยินเสียงอะไรต่างๆ ก็ตามแต่ สตินั้นมีปัญญาเข้าร่วมได้อย่างไร มันเป็นแค่สติอย่างเดียวอยู่ ยังไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ สติเจตสิกไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น สติเจตสิกจะเกิดกับโสภณจิต โดยที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ แต่เวลาที่ปัญญาเจตสิกกิด ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย แต่ ๒ อย่างนี้ต่างกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์ย้ำ ถึงแค่สติอย่างเดียวว่าให้ ระลึกรู้ ตรงนี้ยังไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ มิได้หมายความว่าสติ เป็นสภาพระลึก ให้เข้าใจความจริงว่า ต้องเป็นสติที่เกิดจึงระลึก ไม่ใช่เราทำ

    ผู้ฟัง อาจารย์ว่าสร้างสติไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เราสร้างด้วย

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกครั้งที่มีการเห็น การได้ยิน เราจะไม่ทันตรงปัจจุบันนี้แน่นอน เป็นอดีต ทีนี้ระลึกนึกถึงคำหรือความหมายของมันนั้น จริงอยู่ ตอนนั้นผมคิดว่า แค่ระลึก หรือนึกถึงความหมายนั้น อาจารย์คิดว่า ตรงนี้สติมาแล้วหรือยัง

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราศึกษาสภาพธรรม ลักษณะของปรมัตถธรรม มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม มีสัญญาความจำที่มั่นคง ฟังเข้าใจว่าเป็นธรรมทั้งหมด ที่นี่ ทุกอย่างเป็นธรรมหมด จะมั่นคงพอที่สติจะระลึกไหม เพราะเหตุว่าเราบังคับให้สติเกิดไม่ได้ สติขั้นฟังมี ขั้นคิด ขั้นเข้าใจได้ แต่ที่จะเป็นสติปัฏฐาน ที่จะระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่าเราต้องการให้เกิดตอนเช้า ตอนบ่าย ๓ วัน ๗ วันไม่ใช่ แต่จะมีความเข้าใจถูกต้อง ว่าเพราะฟังเข้าใจ แล้วก็นึกขึ้นได้ ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ตอนต้นๆ โดยมากจะมีการนึกเรื่องราวก่อน ทั้งๆ ที่ปรมัตถธรรม ทั้งนั้นเลย แข็งนี่ก็เป็นปรมัตถธรรม แต่ก็จะยับยั้งการคิดว่า นี่ไม่เป็นรูป ไม่ใช่สภาพรู้ บางคนจะนึกอย่างนั้นต่อทันที เพราะว่าเขาชินกับการที่เขาได้ยินได้ฟังมา เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะคิดอย่างนี้ แต่ว่าด้วยปัญญาที่ฟังว่านี่คือคิด ไม่ใช่การระลึกตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ก็จะทำให้คนนั้นรู้ความต่างว่า ขณะใดเป็นเพียงคิด ขณะใดระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถแล้วเมื่อระลึกแล้วปัญญาระดับไหน ไม่ใช่ปัญญาขั้นฟังแน่นอน แต่เป็นขั้นที่ฟังแล้วไม่ลืม ฟังแล้วเข้าใจ แล้วความเข้าใจสะสมมาพอที่จะเข้าใจในลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน หรือเปล่า หรือว่าเพียงนิดเดียวสติก็ดับแล้ว ซึ่งก็เป็นของธรรมดาว่า ใครจะไปให้สติบ่อยๆ เป็นไปไม่ได้ มีแต่ตัวอยาก ที่อยากให้สติเกิดมาก แต่ความจริงตัวอยากเป็นตัวกั้น เป็นสมุทัยที่จะต้องละ

    ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ไม่หวั่นไหว คือรู้ว่าสติเกิด ก็เพราะมีเหตุปัจจัย หลงลืมสติก็เป็นของธรรมดา อย่าไปทำให้ผิดปกติ แล้วเมื่อสติเกิดอีก เกิดขณะใด เป็นผู้ที่เริ่มจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าความรู้นั้น จะมั่นคง แล้วก็เพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่หวังอะไร เพราะบางคนหวังว่าเมื่อรู้สภาพธรรม อย่างนี้แล้ว อกุศลจะน้อยลงไหม โลภะจะน้อยลงไหม โทสะจะน้อยลงไหม นั่นเป็นเรื่องตัวเรา ตัวตนที่ต้องการ แต่เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของปัญญาโดยตรงเพราะรู้ว่าปัญญา เท่านั้นที่จะละกิเลสได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญอย่างไรๆ ก็ละกิเลสไม่ได้ เป็นแต่เพียงความหวังว่า สงบแล้วนะ เดี๋ยวปัญญาก็เกิดนะ เดี๋ยวกิเลสก็จะหมดนะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ใช่รู้อื่น ปัญญารู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ ปัญญาจะคมแสนคม หรือว่าจะทื่อแสนทื่อ ก็เป็นความจริงว่า ขณะนี้ ระลึกแล้วยังไม่รู้ ก็ยังไม่รู้ แล้วเมื่ออบรมต่อไปอีก ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น คนนั้นก็จะรู้ความต่างกัน แล้วเมื่อปัญญาที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้ง ผู้นั้นก็รู้ว่า นี่คือความต่างของขั้นอบรม กับขั้นที่สมบูรณ์แล้ว

    ผู้ฟัง การที่ระลึกรู้โดยที่ปัญญา ยังไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้นี้ มันเกิดจากตัวสัญญา กีดกั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เกิดจากการอบรมเจริญ สติปัฏฐานยังไม่พอ

    ผู้ฟัง แล้วทุกครั้งที่เรา เห็นได้ยิน มันเป็นการจำอารมณ์ ตั้งแต่ปัจจุบันย้อนไปถึงปฏิสนธิ ที่อาจารย์พูด จนถึงอดีตชาติ ที่แล้วๆ นี้ มันเป็นสัญญาที่มีอยู่แล้ว มันยากที่จะไถ่ถอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นอัตตสัญญาทั้งหมด จนกว่าจะถึงอนัตตสัญญา

    ผู้ฟัง ในขณะซึ่งพวกเราฟังธรรมอยู่เดี๋ยนี้ ขณะนี้ จิตเราก็เป็นกุศล เพราะว่าเราฟังเข้าใจ สติเกิดกับกุศลจิตทุกดวงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สติเขาก็เกิดอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ปัญหาของดิฉันก็คือว่า รู้สึกปัญญาจะต้องรู้ มีก่อน มันจะต้องแหลมคมพอที่จะรู้ว่า บัดนี้ เราฟังธรรม สติเจตสิก เขาทำงานด้วยแล้ว

    ท่านอาจารย์ นั้นเป็นชื่อทั้งหมดเลย คือไปนึกเรื่องราวของสติ

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรถึงจะระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทำอย่างไร ถ้าใครใช้คำว่าทำอย่างไร ก็หมายความว่า ต้องตั้งต้นกันใหม่อีก คือว่าไม่มีการทำหรือทำไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ในขณะซึ่งฟังอาจารย์ เข้าใจ ในขณะซึ่งเราเจ้าใจธรรม จิตเรา เป็นกุศล ในขณะซึ่งจิตเป็นกุศล สติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเขาจะต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกดวง แต่เราไม่รู้ เวลานี้ทุกคนที่เข้าใจธรรม ที่จิตเป็นกุศล สติเกิดแล้ว แต่เราไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะว่าปัญญาเรายังไม่ถึง แล้วจะอบรมแค่ไหน ถึงจะรู้ว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่มีแค่ไหน ไปเรื่อยๆ เวลาที่คุณสุรีย์ เริ่มเรียน ก. ข. แล้วกว่าจะอ่านออก รู้ไหมตรงไหนที่ทำให้คุณสุรีย์อ่านออก

    ผู้ฟัง ไม่รู้ หรือใครรู้ตัวว่าอ่านออกตรงไหน

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจที่อาจารย์พูด ไม่ทราบถูกหรือผิด ว่า ทุกครั้งที่เห็นได้ยิน คือความจริงทั้ง ๖ ทวาร ผมพูดแค่ ๒ เห็นได้ยินทุกครั้ง จริงๆ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว สติก็มีอยู่แล้ว แต่เรายังไม่รู้ เพราะเราไม่เข้าใจ เพราะถ้าบอกว่า ต้องการสร้างสติทำอะไรขึ้นมา มันก็เป็นการบังคับบัญชา เป็นอัตตา มันทำไม่ได้อยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ต้องทราบปัญญาต่างขั้น ปัญญาขั้นฟังเรื่องราว เข้าใจเรื่องราว เวลานี้ คุณสุรีย์เข้าใจ ว่าเวลาที่กุศลจิตเกิดมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือขั้นเข้าใจ

    ผู้ฟัง เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องราว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมเลย อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา ก่อนนั้นไม่เคยได้ยินเลย วิสาขามหาอุบาสิกาไปต้อนรับพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรมเป็นพระโสดาบัน ธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องค่อยๆ ละความไม่รู้ ถ้ายังมีความไม่รู้อยู่ คนนั้นก็ตรง ว่า ยังไม่รู้ แล้วจะให้ถึงนิพพาน ไม่ไป ไม่เอา ไม่รู้อย่างนี้จะไปถึงนิพพานได้อย่างไร คนนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงที่ว่า ต้องค่อยๆ รู้ขึ้น แล้วเวลาที่รู้ระดับไหม ก็รู้ระดับนั้นจริงๆ ถ้ายังไม่ทั่วก็คือยังไม่ทั่ว ถ้ายังไม่ทั่วคือเวลาที่สติเกิด ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งหลากหลาย แล้วแต่สติจะระลึก เพราะฉะนั้น จึงต้องทั่วจริงๆ ทั่วจริงๆ คือ ตั้งแต่เกิดจนตาย มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ โลกนี้จึงได้ปรากฏ ทุกอย่างที่ปรากฏ เพราะว่ามี ธาตุรู้กำลังรู้ กว่าจะเจอตัวธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ทุกอย่าง นี่ไม่ว่าจะมีเสียงอะไร คิดอะไรทั้งหมด สภาพรู้ ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว เป็นสภาพที่รู้สิ่งนั้นจึงได้ปรากฏทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะแสดงเรื่องจิต เจตสิก รูป ก็ยังพูดถึง การปฏิบัติ ว่าจะต้องประกอบด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ไม่ให้ผิด ไม่ให้คลาดเคลื่อน เพราะว่าหนทางที่จะผิด ที่จะคลาดเคลื่อนมีได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจจริงๆ ว่า สัจจญาณคืออะไร เราก็เหมือนกับได้ยินคำ แล้วเราก็เหมือนกับเข้าใจ คำว่าเหมือนกับเข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจ คิดเอาเองว่าเข้าใจ เพราะฉะนั้น คำว่า สัจจญาณ หมายความถึง ญาณ หรือ ปัญญาที่รู้จริง มั่นคง ซึ่งเราก็จะตรวจสอบตัวเราได้ อย่างเมื่อกี้นี้ที่มีคนถามว่า แล้วเราจะรู้ตัวไหม อย่างคุณวีระถามว่า เวลานี้มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่า เราถึงปัญญาขั้นไหน ระดับที่มั่นคงหรือเปล่า คุณวีระได้ยินคำว่า อนัตตา ใช่ไหม จำได้ไหม เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เรื่องราว เข้าใจเรื่องราวได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีหลายระดับ ใช่ไหม ได้ยิน เข้าใจความหมายว่าอนัตตาหมายความว่าอะไร เข้าใจ คำแปล หรือความหมาย แต่ว่าเข้าใจความเป็นอนัตตา หรือสภาพที่เป็นอนัตตาหรือยัง นี่ก็มีการเข้าใจที่ลึกลง ลึกลงตามลำดับ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าพอเราได้ยินคำว่า อนัตตา เราก็พลอยตามว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่เราจะไปทำอะไร อย่างนั้นก็ไม่สอดคล้องกันว่า เราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า หรือเราเพียงแต่ได้ยินคำว่าอนัตตา แล้วเราจะไปทำอย่างอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เข้าใจหรือเปล่า เป็นสัจจญาณหรือเปล่า เพราะฉะนั้น จึงต้องแสดงกำกับไว้ ว่าหนทางที่ถูก จะต้องพร้อม ทั้งสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ไม่มีผิดเลย แม้แต่คำที่ได้ยินได้ฟัง อย่างคำว่า อนัตตา สภาพธรรม ทั้งหลายไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป นี่สัญญาความจำที่มั่นคง ที่จะไม่ไปทำอย่างอื่นเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ เป็นธรรมอย่างนั้น คือเป็นอนัตตา มีปัจจัยก็เกิด แล้วก็ดับ ถ้าเป็นสัจจญาณก็จะมีความเข้าใจ ที่ใช้คำว่าเข้าใจ เพราะเหตุว่า คำนี้ เป็นภาษาไทย แต่เราใช้คำว่าปัญญา เป็นภาษาบาลี โดยที่เราคิดว่าปัญญาสูงส่งมาก เป็นอีกระดับขั้นหนึ่ง แต่ว่าเริ่มจากไหน เราต้องเข้าใจว่ากว่าปัญญาจะเติบโต เจริญถึงขั้นนั้น ก็จะต้องมีจุดตั้งตนของปัญญา ซึ่งจุดตั้งต้น ภาษาไทยก็ใช้คำง่ายๆ ธรรมดาว่าเข้าใจ แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าคำนี้ น่าประมาท คือเล็กน้อยเหลือเกิน เหมือนกับเข้าใจธรรมดาๆ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เข้าใจจริงๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญขึ้นของปัญญา ไม่ว่าจะฟังคำว่าธรรม คำว่าธาตุ คำว่าอนัตตา ลักษณะของจิต ลักษณะของเจตสิก ลักษณะของรูป แต่ละอย่างๆ ต่างกันอย่างไร เมื่อมีการศึกษา ความเข้าใจในลักษณะนั้นจริงๆ เมื่อศึกษาเรื่องลักษณะของสติ สติก็เป็นอนัตตา ปัญญาก็เป็นอนัตตา แล้วสติก็มีหลายระดับ สติขั้นทาน สติขั้นศีล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จริงหรือเปล่า คือธรรมจะขาดการพิจารณาไม่ได้เลย ไม่ใช่ว่าเราฟังวันนี้ที่นี่ กลับไปบ้าน เราก็ลืมหมด หรือว่าฟังวิทยุจบแล้วก็แล้วกัน แต่ว่าเราต้องมีการพิจารณาในสิ่งที่เราได้ฟัง จนเป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น จึงจะเป็นสัจจญาณ ในอริยสัจ ๔ เพราะเหตุว่าทุกขอริยสัจ ได้แก่ทุกขลักษณะ ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ประจวบ หรือประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ นานาทุกประการ แต่ว่าทุกข์ทั้งหมดนี้ จะมีไม่ได้เลย ถ้าสภาพธรรม ไม่เกิด ต้องมีสภาพธรรม เกิดแล้วดับ แต่ทีนี้การไม่ประจักษ์การเกิดดับ เราก็ไปเห็นการแก่ เป็นทุกข์ แต่กว่าจะ แก่ ก็ต้องมีการเกิดดับๆ ๆ เพราะฉะนั้น ทุกข์แท้ๆ ที่เป็นอริยสัจ คือ ทุกขลักษณะ ไม่ใช่ทุกข์ เพียงแค่แก่ เจ็บ ตาย แก่เป็นทุกข์จริง เจ็บเป็นทุกข์จริง แต่ไม่ใช่ไตรลักษณะ เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้จริงๆ ว่าไตรลักษณะที่นี่ หมายความถึงการเกิดดับของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสัจจญาณ ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าขณะนี้สภาพธรรม กำลังเกิดดับ เราจะไม่ไปไหน เราจะไม่ไปทำอะไร แต่ว่ามีความเข้าใจ แล้วก็รู้ว่า สติเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สติจะเกิดก็ไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ต้องมีความหวัง หรือมีความปรารถนาที่อยากจะให้สติเกิดมากๆ ถ้าหวังเมื่อไร รู้เลย สัจจญาณหายไปไหน มีโลภะ เกิดขึ้มาแล้ว แล้วโลภะนี้เป็นสมุทัย เป็นสิ่งที่จะต้อง ละ เพราะเหตุว่าโลภะกั้นตลอด ใครหวัง ใครอยากเมื่อไร ไม่ถึงเลย ไม่มีทางจะถึงด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น จึงต้องเห็นโลภะด้วยปัญญา ตามความเป็นจริงว่า นี่เป็น สมุทัย เป็นเครื่องเนิ่นช้า เพราะฉะนั้น สัจจญาณก็จะต้องฟังธรรมด้วยความเข้าใจ อย่าเป็นเพียงจำ แล้วเข้าใจความหมายว่า คำนี้ หมายความว่าอะไร แต่ต้องฟังให้เข้าใจ ถึงลักษณะของธรรมด้วย จึงจะเป็นสัจจญาณ

    ผู้ฟัง เมื่อความเข้าใจ ถ้าหากว่าไม่มั่นคง เช่นว่า ฟังอยู่ตอนนี้ก็เข้าใจดี แล้วเดี๋ยวก็ลืมเสียแล้ว อย่างนี้ไม่เป็นสัจจญาณ

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่ามี แต่มั่นคงขนาดไหน ก็ต้องเพิ่มกำลังขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย คนที่ไม่มีเลย หรือว่าคิดว่า มี แต่ความจริงไม่ใช่ คือ ศึกษาอย่างนี้แล้ว ปฏิบัติอย่างอื่น ทั้งๆ ที่รู้ว่านี่คือธรรม กำลัง เกิดดับ แต่ไม่ระลึก ไปทำอย่างอื่น เพราะคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วจะรู้ นั่นคือ ไม่ใช่สัจจญาณ

    ผู้ฟัง ถ้าการศึกษาสภาพธรรม ที่จะรู้ทั่วขึ้น หมายความ อย่างสภาพรูปธรรม หรือสภาพนามธรรม ยังไม่ได้ระลึกในทุกๆ รูป หรือว่าทุกๆ นาม แต่ความรู้ทั่ว หมายความว่า ถึงแม้ว่าสภาพนามธรรมใดจะเกิดขึ้น จะเคยระลึก หรือไม่เคยระลึกก็ตาม หมายความว่าเราก็จะเข้าใจในลักษณะของนามธรรมนั้นว่าเป็นนามธรรมอย่างไร ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร หรือเข้าใจในสภาพของเจตสิก แต่ละลักษณะก็จะเข้าใจในลักษณะของเจตสิกแต่ละลักษณะนั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาค ยังไม่ปรินิพพาน คนฟังพระธรรม ไม่ได้ฟังพระอภิธรรมละเอียด อย่างพวกเรา มาแบ่งเป็น อภิธัมมัตถสังคหะ แล้วก็เป็นปริเฉทต่างๆ แล้วก็เข้าไปถึงพระไตรปิฎก ส่วนต่างๆ ท่านฟังเข้าใจสภาพธรรม คิดดู เป็นเรื่องยากสักแค่ไหน คือสำหรับคนที่มีปัญญามาก เพียงฟังสามารถจะรู้ในลักษณะของความเป็นธาตุ ความไม่ใช่ตัวตน ในความเป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง โดยที่ว่าไม่ต้องมาแจกแจงละเอียด แต่ที่ทรงแสดงละเอียดสำหรับคนในสมัยนี้ ซึ่งไม่ให้เข้าใจผิด ไม่ให้หลงผิด เพราะฉะนั้น การเรียน พระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริเฉท หรือว่าต่อไปทางอรรถกถา อะไรก็ตามแต่ เพื่อให้เข้าใจในความเป็น อนัตตา ซึ่งคนสมัยก่อน เพียงฟังสั้นๆ เข้าใจความเป็นอนัตตาได้ แต่ของเรา บอกว่า อนัตตาก็ยังเป็นอัตตา ยังอย่างนั้น ยังอย่างนี้อยู่ ไม่สามารถที่จะ ละ ความเป็นตัวตน จากสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ จึงต้องทรงแสดงโดยละเอียดถึง วิถีจิตด้วย จิตยังไม่เป็นวิถี ไม่ปรากฏอะไรๆ ทั้งสิ้น มีแต่ธาตุรู้ แต่พอเวลาที่รู้ลักษณะของจิต มโนทวาร แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นการรู้ทางหนึ่ง ทางใด ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นภวังคจิต คือแสดงจิตโดยละเอียดยิบ ให้เห็นว่าเป็นอนัตตาอย่างนี้ เมื่อจิตนี้เกิดแล้วดับ จิตนั้นจึงเกิต่อแล้วดับ แล้วจิตอีกประเภทหนึ่งจึงเกิดต่อแล้วดับ เป็นเรื่องของจิตตนิยามทั้งหมด ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ศึกษาเรื่องรูปให้ละเอียดยิบ เรื่องจิต เจตสิก ให้ละเอียดยิบ เพื่อเมื่อไรปัญญาของเราจะเข้าใจ และสามารถที่จะเป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งที่สติจะ ระลึกลักษณะปรมัตถซึ่งเป็นปรมัตถอยู่แล้ว เวลานี้เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ขาดเพียงปัญญาไม่มี สัจจญาณไม่มี สติปัฏฐาน จึงไม่เกิด ต่อเมื่อไรมี ใครจะห้ามไม่ให้สติปัฏฐาน เกิด ก็ไม่ได้ มีปัจจัยที่สติจะระลึก พร้อมกับการที่เข้าใจมาแล้วก็จะทำให้เห็นสภาพธรรมนั้น ตามความเป็นจริง ตามควรแก่ปัญญาที่ได้สะสมมา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567