ปกิณณกธรรม ตอนที่ 534


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์จริงๆ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง มีโอกาสที่เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ จะโดยภาษาไหน อย่างไรก็ได้ โดยคำพูดอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องในสภาพธรรม ถ้าจะมีการระลึกได้ อย่างทำวัตรซึ่งดิฉันไม่ได้ทำ แต่พอจะเข้าใจคร่าวๆ ว่าหมายความถึงระลึกถึงขันธ์ว่าไม่เที่ยง ถ้าบอกว่าขันธ์ไม่เที่ยงเฉยๆ กับขณะที่สามารถที่จะเข้าใจว่า ขันธ์ คืออะไร ไม่เที่ยงอย่างไร ขณะนี้เป็นขันธ์อะไร และหนทางที่จะประจักษ์ว่าขันธ์ไม่เที่ยงนั้นคืออย่างไร อันนั้น ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์จริงๆ เพราะว่าการทำวัตรก็คงจะเหมือนกับการสวดมนต์ ซึ่งถ้าเป็นบทสวดมนต์ ก็เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ส่วนการทำวัตรก็ระลึกถึงธรรม ความจริงของสภาพธรรมเป็นอย่างไร แต่ว่าถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรม เราเพียงแต่คิดว่าทุกอย่างไม่เที่ยง อย่างนี้เราก็คิดเองได้ ถึงแม้จะพูด ก็พูดตามได้ แต่ว่าเราสามารถจะมีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องอาศัยการศึกษาจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่ฟังมาในเทป ท่านอาจารย์กล่าวว่า สติระลึกที่เสียง ระลึกแล้วรู้อะไรบ้าง ดิฉันตอบไม่ได้ตรงนี้ แล้วท่านอาจารย์ก็ตอบต่อ บอกว่า ต้องระลึกถึงลักษณะของเสียง ลักษณะของเสียงตรงนี้จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เสียง มีไหม

    ผู้ฟัง มี แต่จะระลึก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว เสียงมี

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเสียงไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ได้ยินเสียง ลักษณะของเสียงก็คือสิ่งที่ปรากฏให้ได้ยิน เพราะฉะนั้น ที่จะรู้จริงๆ หมายความว่า จะต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เราหวังว่าทำอย่างไร เราถึงจะรู้อันนี้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เมื่อไร เสียงมีลักษณะอย่างไร ก็คือไม่รู้แต่สงสัย ซึ่งความจริงธรรมเป็นธรรมที่ปกติ แล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความไม่รู้มีมาก เพราะฉะนั้น พอพูดถึงธรรม แทนที่จะรู้ ก็เป็นความไม่รู้ไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นธรรมอะไร แม้แต่เสียง แต่ถ้ามีปัญญาจริงๆ แล้วก็เข้าใจจริงๆ จากการอบรม จากการที่ค่อยๆ ฟัง แล้วก็มีการที่จะพิจารณาเข้าใจเพิ่มขึ้น ความฉลาด ความแยบคาย แล้วก็กุศลอื่นที่สะสมมาที่จะเป็นเครื่องประกอบ ก็จะทำให้ฟังแล้วเข้าใจไปเลย สภาพธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา คือเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ แล้วสติเป็นสภาพที่ระลึก ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็ไม่ใช่ขณะที่มีสติ เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิด สติทำหน้าที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังมีตามปกติ ในขณะนี้ แต่เมื่อประกอบด้วยปัญญาเพิ่มขึ้น มีกำลังเพิ่มขึ้น สภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อ แล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ในลักษณะของธรรม แต่ละอย่างที่ปรากฏ กว่าจะรู้ในความเกิดขึ้น และดับไปได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ โดยที่ว่าแทนที่จะไปสงสัย ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เวลาที่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นสติที่กำลังระลึก ที่ลักษณะสภาพธรรมนั้นจึงค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องชื่อ เพราะว่าโดยมากจะห่วงชื่อว่าสติปัฏฐาน แต่ความจริงในขณะที่กำลังฟัง สติเกิด โสภณเจตสิกอื่นเกิดทั้งหมดในขณะที่เข้าใจปัญญาก็เกิดด้วย เมื่อปัญญาเกิด สติเกิดจากการฟังก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้นอีก เข้าใจขึ้นอีก ละความไม่รู้จากการที่ไม่เคยฟัง แล้วเวลาที่สติเกิด ก็รู้ด้วยว่าไม่ใช่เพียงสติขั้นฟัง แต่กำลังระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยได้ยินได้ฟังว่าเป็นธรรม แล้วก็เริ่มจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถที่จะ ละความสงสัย ไม่ว่าสติเกิดขณะใดก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรม ก็เป็นการอบรมไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เราก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าสติปัฏฐานเกิด คือจะไม่สงสัย พอได้ยิน ก็รู้ว่าเป็นเสียงทันทีเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ง่ายอย่างนั้น คือไม่ง่ายที่ว่าจะไม่สงสัย

    ผู้ฟัง ก็สติปัฏฐาน เกิดที่เสียง

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน เกิดแล้วก็รู้แค่ไหน

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นเสียง

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นเสียง ใครรู้

    ผู้ฟัง จิตรู้

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ จิตมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง สภาพรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบได้อย่างนี้แหละ แต่ว่ากว่าจิตจะเปิดเผย ลักษณะของจิตแท้ๆ ซึ่งไม่มีเจตสิกใดๆ ปรากฏในขณะนั้น หรือรูปใดๆ ปรากฏในขณะนั้น ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง หรือยัง นี่คือปฏิบัติ ไม่ใช่ไปทำอะไรอื่น แล้วใครปฏิบัติ จิต หรือผัสสเจตสิก หรือว่าสัญญาเจตสิก หรือว่าเจตนาเจตสิก หรือว่าสติเจตสิก เพราะมีสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งทำหน้าที่เฉพาะสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เรารวบลัดทั้งหมดมาเป็นเราจะทำ แต่ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ ถึงสภาพธรรม แต่ละอย่าง ให้เข้าใจถูก ข้อความนี้ก็มีในพระไตรปิฎก ที่ไม่ใช่ผัสสะปัฏฐาน ไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน แต่ธรรรมเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าสติเป็นสภาพธรรม ที่มีลักษณะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า สภาพความจริงของสภาพธรรม คือ นามธรรมหรือรูปธรรม ทั้งๆ ที่ฟังอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จนเห็นถูก รู้ถูกใน ความจริงของสภาพธรรม แต่ละอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติไม่ใช่อย่างที่คุณชินเข้าใจว่าจะต้องไปทำอะไร แต่ว่าหมายความว่า ขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วหนทางที่จะเข้าใจจนถึงกระดูก จนกระทั่งประจักษ์แจ้ง จนกระทั่งไม่สงสัยว่าเป็นธรรม ไม่ใช่คุณชินเลย แล้วธรรมนั้นก็เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ก็ต้องอาศัยการฟัง ซึ่ง ขณะที่ฟังก็มีโสภณเจตสิกซึ่ง เป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งจนกว่าความเข้าใจเกิดขึ้น เป็นลำดับ จนกระทั่งสามารถที่จะทำให้สติระลึก ตรงตามที่เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ที่ผ่านมาหนึ่งเดือนนี้ ชินมีความรู้สึกว่า กิเลสมันมาก

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยว หยุดแค่นี้ ก่อนนั้นไม่เคยรู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น นี่เป็นความรู้ ถูกไหม แล้วเป็นความรู้ถูกว่ามีกิเลสมาก

    ผู้ฟัง มากๆ แล้วก็

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เราต้องการละกิเลส

    ท่านอาจารย์ เราต้องการละ จะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ถึงว่าชิน กำลังคิดอยู่ว่าต้องปฏิบัติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นั่นผิดแล้ว

    ผู้ฟัง มันมากมาย แสนมากเลย

    ท่านอาจารย์ มากมาย แสนมากก็ตามความเป็นจริง แล้วปัญญาก็ต้องมากถึงขนาด ที่จะละได้ กิเลสมากเท่าไร ปัญญาก็จะต้องมากเท่านั้นถึงจะละได้

    ผู้ฟัง เราแค่รู้สภาพที่เป็นอกุศลทุกวัน

    ท่านอาจารย์ ต่อไปพอสติระลึกก็จะรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมค่อยๆ รู้ขึ้น

    ผู้ฟัง เห็นสภาพที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไร

    ท่านอาจารย์ เป็นความจริงหรือเปล่า มีปัจจัยเกิดขึ้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ใครหรือเปล่า เรื่องปัญญา เรื่องปัญญาเรื่องเดียว ถ้าเรื่องเราทำก็คือ ผิดอีก ในเมื่อเป็นเราทำจะถูกได้อย่างไร แล้วถ้ารู้ว่ากิเลสมาก คือถูก อกุศลมากคือถูก เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องมากแค่ไหน คิดถึงความจริงอย่างนั้น ไม่ใช่หาวิธีอื่น

    ผู้ฟัง นี่มัน น้อยมาก

    ท่านอาจารย์ น้อยมากคือน้อยมาก ตามความเป็นจริง เริ่มแรกจะมีมากได้ไหม ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ได้ แต่ว่าเมื่อบ่อยขึ้น เนืองขึ้น อบรมไป แต่ละชาติๆ มากขึ้นได้ไหม หรือยังคงไม่ได้

    ผู้ฟัง ต้องกี่ชาติ

    ท่านอาจารย์ กี่ชาติ พระพุทธเจ้ากี่ชาติ ท่านพระสารีบุตรกี่ชาติ ท่านพระอานนท์กี่ชาติ สาวกอื่นๆ กี่ชาติแล้ว เราเป็นใคร

    ผู้ฟัง เพราะว่าอกุศลนั้น น่ารังเกียจเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ ยังรังเกียจ ไม่พอ เพราะว่ารังเกียจไม่ถึงอวิชชา

    ผู้ฟัง อวิชชา ก็คือ วิชชา

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ เมื่อรังเกียจก็ต้อง ค่อยๆ รู้ ชาตินี้คุณชินเริ่มจับด้ามมีด คุณชินจะตายก่อนด้ามมีดสึก หรือว่าด้ามมีดจะสึกก่อนคุณชินตาย

    ผู้ฟัง ก็อันแรก

    ท่านอาจารย์ นี่ คือด้ามมีดแต่กิเลสมากมายมหาศาลกว่านั้น ก็ความจริงเป็นอย่างไร ก็คือรู้ความจริง ไม่ใช่หนีความจริง ไม่ใช่ข้ามความจริง แต่ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ขณะนี้ถ้าเข้าใจ ก็มากแล้ว ค่อยๆ มากไปทุกชาติ มากกว่าที่ไม่เคยฟัง ฟังอีกก็มากกว่าที่ไม่เคยฟัง ฟังอีกก็ยิ่งมากกว่าที่ไม่เคยฟัง ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าอบรมมาพอที่ ในขณะที่กำลังฟัง เรื่องธรรม สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง ลักษณะของธรรมได้ เมื่อไรก็ได้ ตามตัวอย่าง ที่เราเห็นในพระไตรปิฎกทั้งหมด นั่นก็เป็นผลของการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องที่ท่านติดข้อง ว่าขณะนี้ท่านได้เจริญมาเท่าไรแล้ว ท่านรู้เท่าไรแล้ว ไม่ว่าจะรู้เท่าไร ก็คือเรื่องละความไม่รู้ ละความต้องการ เพราะสิ่งที่ขัดขวางการที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรม ก็คือความต้องการ ไม่ว่าโดยวิธีไหน ถ้าตั้งแต่ต้นก็คือว่าเห็นผิดในการประพฤติปฏิบัติ คิดว่าต้องทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การอบรมปัญญา ด้วยการฟังแล้วก็ค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่ง จนกว่าสติจะระลึก เมื่อสติระลึกแล้วก็ ละ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ เมื่อไรอีก พยายามอีก จะต้องให้ติดต่อกันไปอีก ทั้งหมดนี้คือเครื่องกั้น เพราะเหตุว่าเป็นเครื่องเนิ่นช้า โลภะ มี ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ อย่างนี้เป็นเครื่องเนิ่นช้า

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังด้วยดี ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องใน แต่ละภพ ในแต่ละชาติ คือเมื่อได้ยินแล้วสามารถที่จะเข้าใจตรง อนัตตาคืออนัตตา จิตคือจิต เจตสิกเป็นนามธรรม รูปเป็นรูป ถ้าเข้าใจอย่างนี้ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง ไม่มีอะไรกั้นเลย เพราะขณะนี้มีสภาพรู้ที่กำลังเห็น มีสภาพรู้ ที่กำลังได้ยิน มีรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่าไม่มีการนับชาติ แล้วไม่มีการที่จะคิดว่าใกล้แล้ว ใครคิดว่าใกล้แล้ว ถ้าไม่ใช่เรา และถ้าไม่ใช่เป็นความหวังนิดหน่อยที่แทรกอยู่ว่าใกล้แล้ว การที่จะเห็นโลภะจริงๆ ต้องเห็นโลภะตั้งแต่อย่างหยาบ จนกระทั่งถึงอย่างละเอียดที่เป็นเครื่องขัดขวาง การที่จะรู้แจ้งนิพพาน มิฉะนั้นแล้วจะไม่ใช่คำว่า นิวาณ ซึ่งหมายความว่าไม่มีโลภะ หรือว่าดับโลภะได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องรู้ว่าโลภะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้ก็เป็นไปกับโลภะ ทุกชาติ เพราะว่าโลภะเก่งมาก ไม่ว่าจะภพภูมิไหน ที่เกิดมาใน สุคคติภูมิ เป็น มนุษย์ ไม่ใช่ว่าหมดโลภะ หรือว่าจะเกิดในรูปพรหมไม่ใช่ว่าหมดโลภะ เกิดในอรูปพรหมไม่ใช่ว่าหมดโลภะ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าโลภะ พาไปต่ำก็ได้ คือทุคติ พาไปสูงก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีโลภะ อยู่ตราบใด ไม่ออกจากสังสารวัฏ การอบรมเจริญปัญญา จึงไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องคิด แต่เป็นเรื่องที่ รู้ขณะใด ก็ละความไม่รู้ แล้วละ ความต้องการด้วย ความแยบคายอยู่ที่ ต้องรู้ว่า ความต้องการอยู่ตรงไหน แล้วละ ถ้ายังไม่ละ ยังมีความติดข้องอยู่ ยังมีความต้องการอยู่ อันนั้นก็คือ การทำงานของโลภะ หรือว่าเขายังสามารถที่จะครอบงำจิตใจได้ ยังไม่สามารถที่จะพ้นหรือว่าเป็นอิสระจากโลภะได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครอบรมเจริญปัญญา เขาจะไม่ต้องมานั่งคอย หรือนั่งนับ ถ้าคอย หรือนับ หรือรอเมื่อไร อะไร คือโลภะ ที่มองไม่เห็น เพราะถ้ามองไม่เห็นก็คอยอยู่นั่นแหละ อย่างไรๆ ก็ไม่มีทาง ที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ แต่ถ้าการอบรมปัญญาเป็นการรู้จริงๆ แล้วละ ความไม่รู้ จะค่อยๆ คลายไป จนกระทั่งคนนั้น รู้หนทางว่า การที่จะคลายความไม่รู้ก็คือปัญญาที่อบรมแล้ว จากขั้นของการฟัง การเข้าใจ แล้วสติระลึก เมื่อสติระลึก ความสำคัญอยู่ที่ว่าปัญญารู้แค่ไหน ถ้าปัญญายังไม่พอที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เลยสักอย่างเดียว เพราะว่าสภาพธรรมมากมาย ตลอดเวลาเดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ เพราะฉะนั้น คนนั้นก็จะรู้ว่าตราบใดที่ยังรู้ไม่ทั่ว ตราบนั้นยังสงสัย ในลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏแล้วไม่รู้ เพราะรู้ไม่ทั่ว ก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ได้ แล้วไม่หวัง หมายความว่าไม่ใช่ด้วยความหวังว่าทำอย่างนี้สติจะเกิดมาก ทำอย่างนั้นปัญญาจะเกิดมาก หรืออะไรอย่างนั้น นั่นเป็นเรื่องล่อ ของโลภะทั้งหมด

    ไม่ว่าจะมีอะไรปรากฏ แม้แต่ปัญญาตามลำดับขั้นก็จะต้องมีปัญญาที่คมหรือว่า มากกว่านั้น ที่สามารถที่จะละความติด ในปัญญาระดับต่างๆ นั้นได้ จนกระทั่ง สามารถที่จะละความต้องการได้ โดยที่ผู้นั้นรู้ว่าปัญญาพอที่จะรู้สภาพธรรม ระดับไหน ขั้นต้นที่สุดก็คือปัญญาที่สามารถจะรู้ความต่างกัน ของนามธรรม และรูปธรรม โดยสภาพของนามธรรมปรากฏ โดยสภาพของรูปธรรมปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา ทางมโนทวาร ซึ่งขณะนี้ มโนทวารก็มี ไม่ใช่ไม่มี ปรากฏหรือยัง รู้ว่ามี แต่สิ่งที่ปรากฏ คือ ทางตา เห็นตลอด ทางหูได้ยินเสียง สลับ มโนทวารอยู่ที่ไหน ไม่ปรากฏ แต่ มโนทวารคั่น ทุกวาระที่มีการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น ที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็ต่อเมื่อมโนทวารปรากฏ ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งได้ ว่าเป็นการประจักษ์ ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่า นามธรรมต้องปรากฏเฉพาะ ทางมโนทวารเท่านั้น และรูปธรรมก็ปรากฏทางมโนทวารต่อจากทางปัญจทวาร ถ้ายังไม่มีความรู้อย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปพูดเรื่องอะไรเกิด อะไรดับ หรือว่าความรู้ขั้นสูงๆ ต่อไป เพราะเหตุว่าความรู้ทั้งหมดต้องตามลำดับขั้น อันนี้ก็พูดโดยย่อๆ หมายความว่าด้วยประการใดๆ ก็ตาม ปัญญาจะต้องอบรมด้วยการละความติดข้อง แล้วก็ขณะนี้ ถ้าใครจะบอกว่าประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม เช่น พอระลึก โลภะๆ ก็ดับวูบ พอระลึกโทสะๆ ก็ดับวูบ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่เป็นความรู้ชัดตามลำดับขั้น จะปรากฏการเกิดดับตามปกติ ในขณะนี้ตามความเป็นจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนนั้นก็จะไม่ไปทำอะไรที่ หวังว่าจะประจักษ์การเกิดดับ วุ๊ป วับ เพราะเหตุว่ารู้ว่า รู้หรือยังในขณะนี้ไม่ว่าสติเกิดเมื่อไร ก็สามารถที่จะมีระดับของความรู้ขั้นที่ได้ประจักษ์ แม้ว่าจะไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ก็เป็นปริญญา คือความรู้ที่รู้แล้ว จากการที่ได้ประจักษ์แล้ว เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริงว่า เวลาใดที่สติเกิด ปัญญาที่รู้ ด้วยความละ ไม่ใช่ด้วยความต้องการ พร้อม หรือพอ หรือทั่ว ที่จะละจนกระทังปัญญาขั้นต่อไปจะเกิดขึ้น หรือไม่ โดยที่คนนั้นไม่ต้องมานั่งคิดถึงชาติก่อน ชาติหน้า เพราะว่าขณะนี้ทุกคน อาจจะตายเดี๋ยวนี้ เป็นชาติหน้าแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะไปจำอะไรได้ว่า เคยฟังมาเท่าไร คำถามส่วนใหญ่ จะถามว่าทำไมคนในครั้งโน้น ฟังแล้วก็ได้รู้แจ้งอริยะสัจธรรม เป็นพระโสดาบัน เมื่อจบพระเทศนา ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่ามีสภาพธรรม กำลังปรากฏ แม้แต่ในขณะที่ฟัง แล้วบางคนก็บอกว่า เรื่องที่พูดก็ไม่เห็นเป็น เรื่องสติปัฏฐาน ถึงจะไม่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน เพียงคำว่า ธรรม หรือจะใช้คำแต่เพียง โทสะ หรือโลภะ คนนั้นสามารถจะรู้ได้เลย นี่พูดเรื่องโลภะ นี่พูดเรื่องโทสะ ไม่ได้พูดเรื่องตัวตนที่ไหนเลย แต่ว่าเป็นเรื่องของธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น เขาก็เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมได้ทันที ที่ได้ฟัง แล้วก็จากการอบรมมาพอสภาพธรรมที่เป็นการรู้แจ้งอริยสัจ หรือสัจธรรม หรือว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในระดับไหน ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนกับคนที่ฟังมา ๒๐ ปี ฟังวันนี้ก็เข้าใจ มากกว่าคนที่เริ่มฟังวันแรก นี่เป็นของธรรมดา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ตอบมามากมายอย่างนี้ ถ้าตอบด้วยอุปไมย อุปมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใน นาวาสูตร อันนี้จะตรงไหม

    ท่านอาจารย์ ประกอบกันทั้งหมด คือธรรมเป็นเรื่องเข้าใจ จะฟังจากไหน พระสูตร หรือพระอภิธรรม อะไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างบางคนก็บอกว่าไม่เห็นมีข้อความในพระไตรปิฎก ที่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำไมไมคิดถึง ภัทเทกรัตตสูตร ทำไมไม่นำมาประกอบ ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง และอะไรกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เราฟังเรื่องธรรม แล้วเราเริ่มเข้าใจลักษณะของธรรม แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่หมายความว่าจะรู้ลักษณะของธรรม เพียงแต่ว่าเริ่มเข้าใจ ว่าขณะนี้ มีวิตกเจตสิก มีวิจารเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีผัสสเจตสิก เรารู้อย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญญา กำลังรู้ลักษณะที่เกิดขึ้น ของผัสสเจตสิกหรือ วิตกเจตสิก หรือเจตสิกอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น ความรู้ต้องมีหลายขั้น ความรู้ขั้นเข้าใจ และความรู้ขั้นที่รู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็คือสติกำลังระลึก แต่ว่าถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็หมายความว่าเราคิดเอา ว่าขณะนั้น เรารู้ลักษณะของสภาพนั้น สภาพนี้ เพราะเราอ่านมา เมื่อวิตกมีลักษณะอย่างนี้ วิจารมีลักษณะอย่างนี้ สัญญาเจตสิกมีลักษณะอย่างนี้ คือเราจำได้ จำว่านั่นเป็นลักษณะของวิตก หรือว่าลักษณะของสัญญา แต่ว่าถ้าสติไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นระดับของสมถภาวนา หรือระดับของวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ขั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าต่างขั้นกัน คือถ้าเป็นลักษณะของสมถภาวนา จะไม่รู้ในความไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของจิตซึ่งเกิดดับเร็วมาก รู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต เป็นกามฉันทนิวรณ์ หรือว่าเป็นพยาบาทนิวรณ์ หรือเป็นนิวรณ์อื่นๆ เพราะเหตุว่า อกุศลทั้งหลายก็รวมลงในนิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตตที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างในขณะนี้ แล้วก็คิดว่าจะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นวิตก วิจาร แล้วคิดว่ามีในขณะนั้นจึงเป็นปฐมฌาน ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปเข้าใจว่า เป็นปฐมฌาน หรือใครที่คิดว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา บรรลุฌานจิตได้โดยไม่ยาก ผู้นั้นกล่าวผิดจากความจริง

    เพราะเหตุว่าแม้แต่ใน วิสุทธิมรรค ก็กล่าว ว่าการที่จะบรรลุอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ในบรรดาผู้ที่ได้อบรมเจริญุศล ระดับขั้นของสมถ ในร้อยคน พันคน ที่จะได้อุคคหนิมิตก็หนึ่งคน ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็หมายความว่า ขณะนี้เป็นธรรมเป็นของจริง ซึ่งกำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คิดนึกก็เป็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง ก็สามารถที่จะรู้ความจริง แม้ว่าจะไม่ใช้คำนี้ แต่ความหมายถึงคำนี้หรือเปล่า แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าสภาพธรรมไม่ปรากฏ แล้วจะรู้อะไร ปัญญาจะรู้อะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 101
    24 มี.ค. 2567