แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 549


    ครั้งที่ ๕๔๙


    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาสิ่งที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัส จะเห็นได้ว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงธรรมชีวิตปกติประจำวัน ตั้งแต่การที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จนถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ด้วยข้อความสั้นๆ ว่า การเล่น ความยินดี มีอยู่ในท่ามกลางแห่งสหาย

    นี่เป็นสิ่งธรรมดาของชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งไม่ได้ผิดจากความเป็นจริงของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน แต่ควรที่จะได้พิจารณาหรือระลึกให้ไกลกว่านั้น คือ แต่ความรักในบุตรทั้งหลายมีมาก บุคคลเมื่อเกลียดความพลัดพรากจากของที่รัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

    ให้ระลึกถึงความจริงในชีวิตประจำวันเสียก่อนว่า ต่างก็ปรารถนาที่จะมีโลภะ ความยินดีพอใจ ผูกพัน พัวพัน ในการเล่น ในบุคคลทั้งหลายมากมายเพียงไร แต่ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก แม้แต่การเล่น ซึ่งเป็นความสนุกก็จะต้องหมดไป ไม่ใช่ว่าจะเล่นสนุกได้ตลอดเวลา

    แม้แต่การเล่น ก็ยังมีวันหมดวันจบ มีเวลาที่จะต้องหยุดพักการเล่น เพราะฉะนั้น การพลัดพรากแม้จากความสนุก หรือว่าจากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก เป็นของแน่นอน และเป็นความจริงในชีวิตประจำวันด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเกลียด เมื่ออึดอัด เมื่อเบื่อ ซึ่งความพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก จึงชื่อว่า พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือน นอแรด ฉะนั้น

    แต่ท่านผู้ฟังจะเบื่อ จะระอา การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักแล้วหรือยัง ซึ่งพลัดพรากอยู่เรื่อยๆ ทุกๆ วัน แต่อย่างละเล็กละน้อย มองไม่เห็นว่า เป็นการพลัดพราก แม้แต่การเล่นที่สนุก หมดแล้ว พลัดพรากไปแล้ว การดูมหรสพที่สนุก หมดแล้ว พลัดพรากไปแล้ว แต่ว่าอย่างละเล็กอย่างละน้อย เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้สึกเลยว่าเป็นการพลัดพราก ก็ไม่เบื่อ แต่ถ้าจะพิจารณาจริงๆ ถ้าจะต้องพลัดพรากอยู่เรื่อยๆ จากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก นับแต่สัตว์ซึ่งเป็นที่รัก คือ คนซึ่งเป็นที่รัก ตลอดไปจนถึงสังขารทั้งหลายอันเป็นที่รัก น่าที่จะเบื่อหรือยัง ถ้าไม่พิจารณา ไม่เห็น ไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่เบื่อ

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องวนเวียนเล่นไป สนุกไป เพลินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงการพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นไปอยู่เรื่อยๆ หรือเมื่อประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง จึงจะมีการหน่าย การคลายความติด ความเพลิดเพลิน ความยึดมั่นในสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ เพราะปัญญารู้สภาพธรรมนั้น ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา คือ งดเว้นจากการที่จะดูสิ่งที่เป็นข้าศึก คือ การฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นต้น มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี เว้นจากการประดับประดาด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้

    นี่เป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นจากศีล ๕ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่มีศรัทธาที่จะดับกิเลสให้หมดถึงความเป็นพระอรหันต์ จะต้องมีการอบรม การละคลายการติด แม้แต่ในการประดับตบแต่งตนเอง หรือว่าจะทัดทรงด้วยดอกไม้ก็ตาม ลูบไล้ด้วยของหอมเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะของการแต่งตัว ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันของฆราวาส ตามความเป็นจริงทีเดียว

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ต้องรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น จึงจะเห็นว่า จะดับกิเลส จะละกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร ด้วยการอบรมเจริญปัญญาอย่างไร แต่ว่าก่อนอื่น จะต้องเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่สะสมมา แม้ในเรื่องของการประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ต่างๆ

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระวินัยปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการประดับตกแต่ง ทัดทรงด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวนั้นต้องละเอียด เป็นไปตามกิเลส ซึ่งเริ่มตั้งแต่การอาบน้ำทีเดียว

    เวลาอาบน้ำ มีกิเลสอะไรบ้างหรือเปล่า คิดดูดีๆ สบู่หอมคุณภาพต่างๆ เพื่อประโยชน์อะไร ชีวิตจริงๆ ตั้งแต่การที่ท่านจะซื้อหาวัตถุที่จะใช้ในการอาบ มีหลายอย่างเหลือเกิน ตามการสะสม ตามความเป็นจริงที่เป็นไปของแต่ละบุคคล ซึ่งท่านจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า นี่คือสภาพธรรมตามที่สะสมมาเป็นตัวท่าน เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเห็นความละเอียดของกิเลสที่มีมากเหลือเกิน

    บางท่านกล่าวว่า ก่อนที่จะฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ค่อยเห็นอารมณ์อะไร คล้ายๆ กับตัวท่านไม่ค่อยมีอารมณ์อะไร อาจจะใช้คำว่าอารมณ์ในความหมายที่ว่า อารมณ์โกรธ อารมณ์แค้น หรืออารมณ์อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นพูดว่า ท่านไม่เห็นอารมณ์อะไรมากมาย แต่เวลาที่ท่านฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็เห็นอารมณ์ ต่างๆ มากขึ้นๆ และตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นไหม เรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ เรื่องของกิเลสประการต่างๆ มีมากมายและละเอียดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไร ผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถที่จะระลึกได้มากขึ้นถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าปัญญายังไม่ทันรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ก็ยังสามารถที่จะเริ่มรู้ในลักษณะตามความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้มากขึ้น

    ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ขุททกวัตถุขันธกะ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติวัตรข้อปฏิบัติในการอาบน้ำ มิให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ คือ การขัดสีกาย ที่ขาบ้าง ที่แขนบ้าง ที่อกบ้าง ที่หลังบ้าง โดยประการต่างๆ ที่ไม่สมควร เช่น กระทำที่ต้นไม้ ที่เสา ที่ฝา หรือว่าในสถานที่ต่างๆ ที่ไม่สมควร ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกในเรื่องของการอาบน้ำมีมาก ก็จะขอกล่าวถึงบางประการ ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ขุททกวัตถุขันธกะ เรื่องวัตรในการอาบน้ำ ข้อ ๖ มีข้อความว่า

    สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์อาบน้ำ ถูด้วยก้อนจุรณหินสีดั่งพลอยแดง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงอาบน้ำถูด้วยก้อนจุรณหินสีดั่งพลอยแดง รูปใดอาบ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    แม้ว่าจะมีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลส อบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต แต่แม้กระนั้น ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ กิเลสนั้นเองเป็นปัจจัยให้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ต่างๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เป็นอกุศลกรรมบถ ไม่ใช่เป็นโทษผิดร้ายแรงเหมือนอย่างการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง หรือการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน แต่แม้กระนั้น ก็ยังเป็นการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งไม่ควรแก่เพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ไม่ควร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงบัญญัติว่า ภิกษุไม่พึงกระทำอย่างนั้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาสซึ่งท่านเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของฆราวาส ไม่ใช่บรรพชิต ท่านก็เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามที่ได้สะสมมา

    สำหรับเรื่องของพระภิกษุยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องของพระภิกษุณีก็ยิ่งจะมีมากกว่านี้อีก ในเรื่องของการประดับตกแต่งด้วยของหอมเครื่องลูบไล้ต่างๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงในภายหลัง

    เรื่องของการประดับด้วยเครื่องประดับต่างๆ ที่ไม่เป็นการเหมาะสมแก่บรรพชิตนั้น ในพระวินัยก็มีท่านพระฉัพพัคคีย์เป็นมูลเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท ซึ่งก็คงจะต้องเริ่มตั้งแต่ศีรษะ คือ ขอกล่าวถึงเรื่องผม ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ขุททกวัตถุขันธกะ เรื่องไว้ผมยาว ข้อ ๑๓ มีข้อความว่า

    เรื่องไว้ผมยาว

    สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... รับสั่งว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไว้ผมได้ ๒ เดือน หรือยาว ๒ องคุลี ฯ

    ท่านผู้ฟังที่เป็นคฤหัสถ์ก็คงจะเทียบเคียงได้ เรื่องผมก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงการติด การประดับ การตกแต่ง ตั้งแต่การสระ การแปรง การหวี การกระทำให้เป็นในลักษณะต่างๆ ตามความพอใจ ตามฉันทราคะที่มีในรูป ซึ่งท่านยึดถือว่าเป็นตัวท่าน และก็มีความพอใจที่จะประดับตบแต่ง แต่เพราะความที่เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าภิกษุจะกระทำ อาบัติก็เป็นอย่างเบาที่สุด คือ เพียงอาบัติทุกกฏ แต่ก็ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต สำหรับพวกฆราวาส ท่านไม่ได้มีอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่ท่านได้สะสมมา

    ข้อ ๑๔

    สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เสยผมด้วยแปรง เสยผมด้วยหวี เสยผมด้วยนิ้วมือต่างหวี เสยผมด้วยน้ำมันผสมกับขี้ผึ้ง เสยผมด้วยน้ำมันผสมกับน้ำ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเสยผมด้วยแปรง ไม่พึงเสยผมด้วยหวี ไม่พึงเสยผมด้วยนิ้วมือต่างหวี ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับขี้ผึ้ง ไม่พึงเสยผมด้วยน้ำมันผสมกับน้ำ รูปใดเสย ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    วันหนึ่งๆ มีเรื่องการประดับตกแต่งร่างกายมากไหม ที่ศีรษะ ผม ด้วยแปรง ด้วยหวี ด้วยนิ้วมือต่างหวี ขณะใดที่กระทำ สติเกิดระลึกรู้ตามความเป็นจริงในสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น ที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะสามารถบังคับยับยั้งสภาพธรรมที่มีปัจจัยสะสมมาที่จะเกิดขึ้น แต่ว่าสติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นเพื่อที่จะไม่ยึดถือว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไป

    เรื่องส่องดูเงาหน้า

    ข้อ ๑๕

    สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ส่องดูเงาหน้าในแว่นบ้าง ในภาชนะน้ำบ้าง ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดูเงาหน้าในแว่น หรือในภาชนะน้ำ รูปใดดู ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    ชีวิตประจำวันอีกเหมือนกันใช่ไหม ส่องกระจก ดูเงา นี่เป็นชีวิตจริงๆ ก็ต้องอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกประการ สำหรับบรรพชิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะว่าได้ละเพศคฤหัสถ์แล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องกระทำตามพระวินัยที่เหมาะที่ควร

    ข้อ ๑๖

    สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่หน้า เธอถามภิกษุทั้งหลายว่า แผลของผมเป็นเช่นไร ขอรับ ภิกษุทั้งหลายตอบอย่างนี้ว่า แผลของคุณเป็นเช่นนี้ ขอรับ เธอไม่เชื่อ

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดูเงาหน้าที่แว่น หรือที่ภาชนะน้ำได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ

    ชีวิตวันหนึ่งๆ ความเป็นอยู่ในวันหนึ่งๆ ก็จะต้องเป็นไป เมื่อเป็นแผล ก็จะต้องมีการรักษา ไม่ใช่ว่าทอดทิ้ง เมื่อมีการรักษา ก็จะต้องมีการรู้ว่า แผลที่เป็นนี้มีลักษณะมากน้อยแค่ไหน ตรงไหน อย่างไร เพื่อที่จะได้รักษาได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตสำหรับภิกษุผู้อาพาธ

    เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทาหน้าเป็นต้น

    ข้อ ๑๗

    สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า เจิมหน้าด้วยมโนศิลา ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งตัวและหน้า ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทาหน้า ไม่พึงถูหน้า ไม่พึงผัดหน้า ไม่พึงเจิมหน้าด้วยมโนศิลา ไม่พึงย้อมตัว ไม่พึงย้อมหน้า ไม่พึงย้อมทั้งตัวและหน้า รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    ข้อ ๑๘

    สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธด้วยโรคนัยน์ตา

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทาหน้าได้ เพราะเหตุอาพาธ ฯ

    ก็จะต้องรวมถึงประการอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของการรักษาโรคด้วย

    การที่จะดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทเช่นพระอรหันต์เป็นเรื่องที่ละเอียด แม้แต่ในเรื่องของการประดับตกแต่ง ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้คิดถึงว่า ตามความเป็นจริงท่านได้กระทำมากบ้างน้อยบ้างตามกิเลสซึ่งมี ที่จะกล่าวว่าท่านไม่มีกิเลสเสียเลยเป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่ในเรื่องของผมเป็นต้นไปทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องยอมรับ และรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพื่อที่จะได้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับเรื่องของการประดับตกแต่งต่างๆ ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ข้อ ๗๕๙ มีข้อความที่อธิบายเรื่องเครื่องประดับต่างๆ ว่า

    ชื่อว่า เครื่องประดับ ในอุเทศว่า วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที ดังนี้ ได้แก่เครื่องประดับ ๒ อย่าง คือ เครื่องประดับของคฤหัสถ์อย่าง ๑ เครื่องประดับของบรรพชิตอย่าง ๑

    เครื่องประดับของคฤหัสถ์ ก็ย่อมมีมากมายเหลือเกินตามที่เห็น ตามที่ปรากฏ แต่ว่าสำหรับบรรพชิต แม้ว่าจะได้ละอาคารบ้านเรือนแล้ว แต่อัธยาศัยสะสมมาที่ยังพอใจในการประดับ การตกแต่ง ก็ยังไม่หมด เพราะฉะนั้น การประดับตกแต่งของบรรพชิตก็มี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564