แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 588


    ครั้งที่ ๕๘๘


    สุ. หมายความว่า ท่านที่ศึกษาปริยัติธรรม รู้คำ รู้ชื่อ รู้เรื่องของสภาพธรรม แต่เพราะข้อปฏิบัติผิด และไม่ได้ศึกษาการปฏิบัติหนทางปฏิบัติให้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติผิด จึงไม่ประจักษ์ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเข้าใจผิดในปริยัติธรรมที่ได้ศึกษาด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาและเข้าใจไม่ผิดในข้อปฏิบัติ จะทำให้ประจักษ์ธรรมที่ได้ศึกษาชัดเจนถูกต้องตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าศึกษาชื่อ คำ เรื่องของสภาพธรรม โดยไม่เข้าใจในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติและปฏิบัติผิดได้

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักปริยัติ ก็เพียงรู้คำ รู้ชื่อ รู้เรื่อง แต่ตราบใดที่ข้อปฏิบัติไม่ถูก จะไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามที่ได้ศึกษามา

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง

    วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙

    เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง

    จดหมายฉบับนี้ กระผมเรียนมาเพื่อขอความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานเพิ่มขึ้นอีก เนื่องด้วยท่านอาจารย์กล่าวเสมอว่า สติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียดมาก กระผมจึงขอทำความเข้าใจในการเจริญสติ การปฏิบัติ และความรู้ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการเจริญสติของผมเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบ เพื่อขอแนวทางและคำแนะนำต่อไป

    การเห็นเป็นแต่เพียงนามธรรม และสีที่ปรากฏเป็นปัจจัยให้มีการเห็นเกิดขึ้น ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น เสียงกับการได้ยิน และทางทวารอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏเป็นเราเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้เย็น รู้ร้อน อ่อน แข็ง คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ หาใช่เรา หรือสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ตามความเข้าใจของผมขณะนี้รู้ว่า คำว่า นามธรรมและรูปธรรมมีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ ไม่ใช่เป็นคำที่นำไปใช้ท่องจำ คิดนึกถึงชื่อ หรือจิตใจ หรือพอเข้าใจความหมายบ้างก็จดจ้องอยู่ในลักษณะของนามนั้น หรือรูปนั้น แต่สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ถึงสภาพของจิตที่จดจ้องต้องการและสภาพธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏ

    การปฏิบัติ ก็คือ การสังเกต สำเหนียก ศึกษาสภาพธรรมต่างๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้ โดยไม่มีการเจาะจงในนามหนึ่งนามใด หรือรูปหนึ่งรูปใด เป็นไปอย่างปกติที่สุด ตามความรู้ที่ได้ นามและรูปไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ไม่สามารถจะให้เป็นไปตามปรารถนาได้

    ขอยกตัวอย่างเช่น ขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้น ก็มีการรู้ในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นอย่างไร และมีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดร่วมด้วย โดยที่ยังไม่ทันคิดนึก ตรึกนึกถึงเลย แม้ความคิดนึกก็หาบังคับได้ไม่ ทางทวารอื่นก็เช่นเดียวกัน จากปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เป็นเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ที่ว่าเป็นเรา เราเห็น เรารู้เรื่อง เราต่างๆ ที่แท้ก็คือนามและรูป แต่นามและรูปหาใช่ของเราไม่ เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สลับซับซ้อนมากเท่านั้น เมื่อศึกษาสังเกต บ่อยๆ พร้อมด้วยความรู้ความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานเพิ่มมากขึ้น ลักษณะของนามและรูปก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้น ต่อจากนี้ไปก็เป็นเรื่องของปัญญาและบารมีของแต่ละท่านที่อบรมสะสมมา

    ที่ผมเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบถึงความเข้าใจการปฏิบัติ และความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ ก็เพื่อขอคำแนะนำแก้ไขในส่วนที่หากมีการบกพร่องหรือผิดพลาดไป ด้วยตระหนักอยู่เสมอว่า ความเข้าใจในธรรมที่ถูกต้องเป็นของที่ยากยิ่ง มีหนทางเดียว มีพระนิพพานเป็นผลอันสูงสุด หากยังไม่ได้ประจักษ์ในลักษณะของพระนิพพานแล้ว ความลังเลสงสัยก็ยังมีอยู่ ผลทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นต่อไป ย่อมเป็นไปตามเหตุทั้งสิ้น

    ขอท่านอาจารย์จงเป็นสื่อแห่งแสงสว่าง บรรยายธรรมอันละเอียดลึกซึ้งต่อไปนานๆ เพื่อผู้ที่ใคร่ในธรรมทั้งหลายจะได้พิจารณาเข้าใจในธรรมตามที่ท่านอาจารย์รู้ เพื่อเป็นเหตุอันจะนำไปสู่ผลอันสูงสุดด้วย

    ผมมีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน และเพื่อเจริญสติ แผ่ประโยชน์ที่ได้รับในขณะนี้ คือ

    ๑. พอรู้ความต่างกันของนามและรูปบ้างแล้ว

    ๒. ได้รู้ถึงสภาพของจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เทียบกันไม่ได้เลย

    ๓. แม้อกุศลจิตจะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่สะสมมาก็จริง แต่ก็มีกำลังน้อยลงกว่าตอนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

    ๔. ความฟุ้งซ่านสับสนของจิตลดน้อยลง

    สุดท้ายนี้ ด้วยเห็นว่าพระธรรมนี้มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตอย่างยิ่ง ถ้าจดหมายนี้มีสาระและจะถูกนำออกอากาศทางวิทยุสู่ท่านผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ผมก็ถือโอกาสนี้ ขอวิงวอนต่อท่านที่รู้ในธรรมทั้งหลาย ที่เคยกรุณาส่งความคิดเห็นของท่านมาทักท้วงขัดแย้งธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยาย หรือท่านผู้ใดก็ตามที่จะส่งมาทักท้วงขัดแย้งอีก ผมใคร่ขอความเมตตาจากท่านทั้งหลาย โปรดบอกข้อปฏิบัติและความรู้ในธรรมของท่านบ้างเถิด เพื่อเป็นธรรมทานแก่ผม และผู้ฟังธรรมทั้งหลายด้วย

    ผมขอกราบขอบพระคุณแด่ท่านผู้รู้ในธรรมทั้งหลาย ด้วยหวังความเมตตา กรุณาอนุเคราะห์เกื้อกูลในธรรมจากทุกท่าน

    ป.ล. เพราะกระผมมีพื้นฐานของจิตแย่มาก จิตไม่อ่อนโยนเท่าที่ควร มิฉะนั้นแล้ว ผลจากการฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์มานานถึง ๒ ปีกว่า ควรจะเกิดขึ้นให้ปัญญาเจริญมากกว่านี้ และบรรลุคุณธรรมตามขั้นที่ควรจะเป็นไป ทั้งๆ ที่สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ถึงสภาพธรรมที่ปรากฏบ้างแล้ว และก็เข้าใจรูปธรรมไม่ใช่ธาตุรู้ รูปไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ธาตุรู้ก็เป็นเพียงธาตุรู้เท่านั้น แต่ความเห็นผิดก็ยังมีอยู่เสมอ หลงลืมสติเสมอ ยังยึดถือรูปว่าเป็นตัวตนเสมอ ผมจะเพียรเจริญสติให้มากเพื่อเกื้อกูลให้ปัญญาเกิด ให้เป็นเหตุที่สมควรแก่ผลอันสูงส่งให้ได้ ขอท่านอาจารย์ได้กรุณาบรรยายธรรมต่อไปอีกนานๆ เพื่อเกื้อกูลผมและท่านผู้ฟังอีกเป็นจำนวนมากทางวิทยุ เพื่อความเห็นถูก เพื่อความเจริญในธรรมแก่ผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลายต่อไป

    ผมขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงแด่ท่านอาจารย์ไว้ในที่นี้ด้วย

    ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

    สุ. ที่อ่านข้อความตอนท้ายที่เป็น ป.ล.ให้ท่านผู้ฟังได้รับฟังด้วย ก็เพื่อให้เห็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งท่านผู้ฟังท่านนี้ได้ทราบว่าตัวของท่านเองมีพื้นฐานของจิตแย่มาก คือ ท่านกล่าวว่า จิตไม่อ่อนโยนเท่าที่ควร มิฉะนั้นแล้วผลจากการฟังธรรมบรรยายมานานถึง ๒ ปีกว่า ควรจะเกิดขึ้นให้ปัญญาเจริญมากกว่านี้ และบรรลุคุณธรรมตามขั้นที่ควรจะเป็นไป

    ๒ ปีกว่าเท่านั้น กับผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลซึ่งได้อบรมปัญญาบารมีเป็นกัปๆ ได้รับฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายๆ พระองค์ กับการที่ท่านผู้ฟังท่านนี้ได้รับฟังธรรมมา ๒ ปีกว่า และปรารถนาที่จะบรรลุผลหลายๆ ขั้น นี่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความจริงว่า การขัดเกลากิเลส การละคลายกิเลส จนถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ง่าย หรือว่าไม่ใช่จะเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

    ที่ถูกแล้ว ไม่ควรจะคิดถึงผลเลย ทำไมจะต้องคอยคิดคำนวณเวลากับผล ขณะใดที่สติเกิด ก็ศึกษา คือ สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งสภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อทำให้ไม่ประจักษ์ชัดในการดับไปของสภาพธรรมซึ่งได้ดับไปแล้ว เพราะเหตุว่ายังไม่ได้สังเกต สำเหนียก รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละทาง เช่นทางหู สภาพธรรมดับไปอีกแล้ว อะไรดับ สภาพของนามธรรมหรือสภาพของรูปธรรม เป็นเรื่องที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดจริงๆ และไม่ต้องคำนึงถึงกาลเวลาว่ากี่ปีแล้ว

    เมื่อสติเกิด ก็ศึกษาเพื่อที่จะให้เกิดปัญญา ความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าปัญญาคือความรู้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าความรู้ซึ่งเกิดขึ้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แต่ก็เป็นความรู้แล้ว คือ เป็นความรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ความรู้จริง ก็ไม่ควรที่จะยินดี หรือว่าพอใจ หรือคิดว่าเป็นผลของการปฏิบัติแล้ว

    ผลของการปฏิบัติ อยู่ที่ทุกขณะที่สติเกิด และเริ่มสำเหนียก สังเกตที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด นี่คือผล เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณต่างๆ ไม่ใช่อื่นไกล นอกจากความรู้ชัด พร้อมสติที่กำลังระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ไม่ใช่ขณะอื่นเลย เป็นขณะเดียวกับที่สติกำลังระลึก และปัญญาก็จะรู้ชัดขึ้นๆ แต่ช่วงระหว่างชัดขึ้น อาจจะต้องกินเวลานานมาก เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลก็มีมากกว่าปัจจัยที่จะให้เกิดกุศล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องการรู้สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ไม่มีการที่จะข้ามไปรู้อย่างอื่น สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด จึงจะละคลายความยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น การเจริญเหตุที่จะให้เกิดผล จะต้องอบรมเจริญเหตุ คือ ความรู้พร้อมสติที่ระลึกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่หวังอื่น แต่ว่าเจริญความรู้ขึ้น และผู้ที่สติเกิด ปัญญาสังเกต สำเหนียก จนเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่า ความรู้เกิดขึ้นมากหรือน้อย ประจักษ์ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ยังไม่เจริญถึงขั้นที่จะประจักษ์สภาพที่แท้จริงของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่มีหนทางอื่น นอกจากเจริญเหตุต่อไป คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    ถ. คำว่า สำเหนียก แปลว่าอะไร ผมยังไม่เข้าใจดี

    สุ. สังเกต พิจารณาเพื่อจะให้รู้

    ถ. สำเหนียก กับสังเกตเหมือนกันหรือ

    สุ. จะใช้คำอะไรก็ได้ ขอให้เป็นการศึกษา ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า สิกขา การศึกษา ศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้เกิดเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ. คำว่า รู้ชัด ผู้เจริญสติเองมีโอกาสที่จะรู้ไหมว่า เขาเริ่มจะรู้ชัดขึ้นมาแล้ว รู้ชัดเป็นอย่างไร

    สุ. ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานต้องพร้อมสัมปชัญญะ คือ รู้สึกตัว ไม่ใช่หลงลืม หรือเลอะเลือน ที่ไม่รู้ คือ เลอะเลือน หรือว่าหลงไป แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานพร้อมสัมปชัญญะตามปกติ เพราะฉะนั้น เวลาใดที่สติเกิดก็รู้ เวลาที่สติไม่เกิดก็รู้ ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ถ้าไม่รู้ความต่างกันของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ จะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดแล้ว ก็จะทราบว่า ขณะนั้นมีการสังเกต สำเหนียก พิจารณาในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า หรือว่ากำลังพยายามอยู่ที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือเมื่อได้พยายามแล้ว ความรู้ก็ค่อยๆ รู้ขึ้น แม้ว่าไม่มาก แต่ก็ยังรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้น และเมื่อใดที่มีการรู้ชัด ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้วจึงเกิดขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เมื่อเป็นความรู้ชัด จะไม่รู้ตัวได้อย่างไรว่ารู้ชัด เพราะว่าเป็นความรู้ และ ชัดด้วย ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่การหลง เลอะเลือน หรือลืม แต่ว่าเป็นความรู้ชัด

    ถ้ายังไม่รู้ชัด ก็ยังไม่รู้ชัด ก็ต้องอบรมความรู้ชัดให้เกิดขึ้น จะเอาความไม่รู้ชัดมาเป็นความรู้ชัดไม่ได้ ทุกอย่างต้องตรงตามความเป็นจริง

    บางท่านถามว่า รู้สึกว่าเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ได้รับฟัง เป็นเรื่องที่ซ้ำ เมื่อไรจะต่อไปถึงขั้นต่อๆ ไปอีก

    ขั้นไหนก็ไม่สำคัญ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้อง คือ ระลึกรู้ลักษณะของรูป รู้ในสภาพที่เป็นรูปซึ่งไม่ใช่ตัวตน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมไม่ใช่ตัวตนถูกต้องแล้ว ความรู้ก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าฟังแล้ว สติไม่เกิด หรือว่าสติเกิดน้อย หรือว่าปัญญายังไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะมีประโยชน์อะไรกับการที่จะกล่าวถึงปัญญาขั้นสูงๆ ต่อไปซึ่งเป็นปัญญาของบุคคลอื่น เช่น ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของพระสาวก เช่น พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน เพราะนั่นเป็นการกล่าวถึงปัญญาของบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลที่เริ่มเจริญสติยังไม่มีโอกาสที่จะรู้ชัดในลักษณะของปัญญาขั้นต่างๆ นั้นเลย

    เพราะฉะนั้น ขั้นที่สำคัญที่สุด คือ ฟังอย่างไรเพื่อที่จะปฏิบัติให้สติเกิด และเป็นความรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งด้วยความไม่สงสัยเลยว่า การที่จะประจักษ์แจ้ง หรือความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น จะปราศจากสติ คือ การระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ได้เลย

    ขณะที่รู้ชัด กับขณะที่ไม่รู้ชัด ต่างกันที่ปัญญาซึ่งแทงตลอดในลักษณะของอารมณ์ของสติปัฏฐานที่สติกำลังระลึกรู้ แต่ว่าลักษณะของสติก็คงเหมือนเดิม คือ เป็นสภาพที่ระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อปัญญายังไม่รู้ชัด ก็จะต้องอบรมจนกระทั่งถึงปัญญาขั้นที่รู้ชัด เช่น ปัญญาของท่านทั้งหลายที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว รู้ชัดพร้อมสติในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อวิชชานี้มากมายจริงๆ สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมแต่ละลักษณะก็เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมกำลังเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย แต่อวิชชาที่มีมากมายเหลือเกิน ทำให้ไม่ประจักษ์ในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ และอวิชชาที่มีมากยิ่งกว่านั้น ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    อวิชชามีมากมาย และมีกำลังมาก จนเกิดขึ้นบ่อย ทำให้สติมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อย เพราะสะสมมาน้อยกว่าการสะสมของอวิชชา เพราะฉะนั้น การละกิเลส การขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เรื่องเร็ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ในข้อปฏิบัติ และต้องรู้จริงๆ ว่า ปัญญาที่เกิดขึ้นเท่านั้นที่จะละคลายและดับกิเลสได้ ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็ต้องอบรมไป จนกว่าปัญญาจะเกิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๕๘๑ – ๕๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564