แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 570


    ครั้งที่ ๕๗๐


    มีท่านผู้หนึ่งท่านกล่าวว่า ท่านเคยไปสู่สถานที่ที่สงบเงียบ และเวลากลับมาก็ตื่นเลย ตื่นเต้น ไม่ใช่ตื่นอย่างอื่น ตื่นเต้นกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สามารถที่จะสงบได้ เพราะฉะนั้น การไปอบรมความสงบโดยที่ไม่อบรมความสงบจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งกำลังรับกระทบกับอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

    แต่ถ้าท่านเข้าใจเรื่องของความสงบจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่กำลังรับกระทบกับอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์บ้าง จะมีประโยชน์กว่า เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตจริงประจำวัน ถ้าท่านยังมีความอดทนอยู่ในขณะที่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ ท่านก็มีโสภณธรรม มีความอดทน ซึ่งความอดทนนี้มีหลายขั้น ความอดทนที่เกิดพร้อมกับการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ย่อมจะทำให้ท่านไม่หวั่นไหวไปกับความยินดีและความยินร้ายได้ นั่นเป็นความอดทนขั้นของการเจริญสติปัฏฐาน

    ถึงแม้เป็นขั้นของความสงบธรรมดา แต่ถ้าท่านยังมีความอดทนอยู่ในขณะนั้น จิตก็จะไม่ยินดียินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ได้

    นี่เป็นการอบรมความสงบจากกิเลสตามปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยความรู้ความเข้าใจว่า ทำอย่างไรจึงจะอดทนต่อความยินดียินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ได้ ไม่ใช่ว่าไปสงบโดยที่ว่า เวลาที่กลับมามีชีวิตปกติประจำวันก็หมดความสงบเสียแล้ว เพราะว่าไม่ได้ฝึกอบรมความสงบที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น เรื่องของศาสดา เรื่องของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และเกื้อกูลต่อการที่ท่านจะพิจารณาศึกษาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งในขั้นของศีล ในขั้นของสมาธิ คือความสงบ หรือในขั้นของการอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องด้วย เพราะว่าบางท่านหรือบางศาสดาในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังแสดงธรรมที่ต่างกันไป เพราะฉะนั้น เมื่อธรรมไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเกื้อกูลให้ปัญญารู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงที่จะถึงการดับกิเลสได้

    ถ้าเป็นคำสอนที่ไม่ถูก ไม่ตรง ไม่ให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับไซดักมนุษย์ ซึ่งตามปกติแล้ว ไซนั้นสำหรับดักปลา แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ก็สามารถที่จะดักมนุษย์ผู้สะสมความเห็นผิดมา ให้ไปสู่ความเห็นผิดได้

    ขอกล่าวถึงข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก เพื่อที่จะให้ท่านได้รับฟังข้อความโดยตรง และน้อมคิดถึงประโยชน์ที่มีอยู่ในข้อความนั้น

    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เลขสูตร ข้อ ๕๗๒ มีข้อความที่ท่านผู้ฟังจะน้อมพิจารณาว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทใด ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหินเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้น ก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นหิน ไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมโกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้น ก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดินเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน ลบเลือนไปโดยเร็วเพราะลมและน้ำ ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้น ไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำ หยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ จะขาดจากกันก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรีกลมเกลียวปรองดองกันอยู่ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

    ท่านผู้ฟังฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่า ไม่เกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย แต่ความจริงท่านอาจจะเคยเป็นบุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน คือ เป็นผู้ที่จดจำสิ่งที่ผ่านมาแล้วไว้หนาแน่น ถ้าเป็นความโกรธ ก็โกรธฝังใจไม่ลบเลือน ไม่ลืม อย่างนั้นจะดีไหม หรือเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและก็รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ขณะที่ระลึกถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นที่สบอารมณ์ สิ่งที่ไม่พอใจอย่างฝังใจทีเดียว แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมดีขึ้น คือ เห็นความไม่มีสาระ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่ใช่สัตว์ ความไม่ใช่บุคคล แม้ในลักษณะของความที่เคยจำ เคยโกรธ เคยไม่พอใจ เคยฝังใจไว้ รอยขีดที่แผ่นหินนั้น ก็จะค่อยๆ คลายจนกระทั่งในที่สุด เป็นเพียงรอยขีดในน้ำได้ เพราะว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ด้วยปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย และสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    อาจจะระลึกถึงสิ่งที่ไม่พอใจ ที่ฝังใจไว้ บางท่านอาจจะนานมาก แต่ถ้าเจริญสติระลึกรู้บ่อยๆ ว่า ความฝังใจในสิ่งที่ไม่พอใจนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ก็จะเห็นความไม่มีสาระ ถึงแม้ว่าไม่อาจที่จะเลิกคิด แต่เวลาที่ระลึกได้ในขณะใดที่คิด ก็รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ความไม่พอใจที่เคยสะสมฝังใจอย่างเหนียวแน่นมาก ค่อยละคลาย จนกระทั่งในที่สุดไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ท่านหวั่นไหวได้ ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ท่านก็จะเห็นคุณของพระธรรมพร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในสูตรไหน ด้วยเรื่องอะไร ท่านเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้บ้างหรือเปล่า และจะเป็นบุคคลนั้นนานมากน้อยเพียงไร ถึงแม้ว่าจะเคยเป็น ก็เปลี่ยนได้ด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นความไม่มีสาระ ความไม่มีประโยชน์ในการที่จะไปจดจำ หรือว่าฝังใจในความโกรธที่เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลย ถ้ายังคงยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าทรงแสดงเรื่องของความโกรธ ก็ขอให้พิจารณาตัวของท่านว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน ถ้าโกรธลึก โกรธนาน ฝังใจ จดจำ ซึ่งไม่ดี ก็จะตื้นขึ้น ด้วยการที่เกิดปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ นอกจากนั้นไม่มีหนทางอื่น เพราะเหตุว่าความจำก็เป็นอนัตตา ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาไม่ให้ไปคิดไปจำในสิ่งซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุว่าสัญญาเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจำ ย่อมระลึกถึงความโกรธซึ่งเคยเกิดแล้วก็ได้ แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านก็จะเห็นโทษเห็นคุณของอกุศลธรรมและกุศลธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และอบรมเจริญธรรมฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะต้องระลึกรู้ ที่จะต้องขัดเกลา ที่จะต้องละคลายด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ชีวิตจริงๆ ตามธรรมดา ตามปกติของแต่ละท่านที่เคยสะสมมา แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นคนประเภทใด มีกิเลสชนิดไหน มากน้อยประการใด ก็จะต้องละคลายไปด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    สำหรับเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า ผลค่อยๆ เกิดตามกำลังของปัญญา ซึ่งค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามเหตุ คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมนั้นบ้าง รูปธรรมนี้บ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ ที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งท่านที่ตรัสรู้แล้ว ได้ประจักษ์แล้ว และได้ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อผลที่จะเกิดขึ้น เมื่อเหตุได้เกิดเจริญอบรมอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งผลย่อมเกิดได้ แต่ว่าผลที่จะเกิดต้องแล้วแต่เหตุ ขึ้นอยู่กับเหตุ คือ สติและปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โลณผลวรรคที่ ๕ อัจจายิกสูตร ข้อ ๕๓๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างเหล่านี้ ๓ อย่างเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาน้ำออกเสียบ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า ข้าวเปลือกของเราจงเกิดในวันนี้ พรุ่งนี้จงมีท้อง มะรืนนี้จงหุงได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่ข้าวเปลือกของคฤหบดีชาวนานั้น มีความแปรของฤดู เกิดก็ดี มีท้องก็ดี หุงได้ก็ดี มีอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล กิจที่ควรรีบทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา ๑ การสมาทานอธิจิตตสิกขา ๑ การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรรีบด่วนทำของภิกษุ ๓ อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า จิตของเราจงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานในวันนี้แหละ หรือมิฉะนั้นก็ในวันพรุ่งนี้ หรือในวันมะรืนนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ สมัยที่จิตของภิกษุนั้น ผู้ศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิจิตตอยู่ก็ดี ผู้ศึกษาอธิปัญญาอยู่ก็ดี หลุดพ้นจาก อาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น มีอยู่ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

    ต้องอดทนหรือเปล่าที่จะรอผล ซึ่งความจริงแล้วไม่มีเหตุอย่างอื่นเลย นอกจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อให้เกิดปัญญาที่ยังไม่เกิด ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

    แต่ปัญญานี้ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ที่ปัญญานี้จะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อเจริญเหตุ ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ใช้คำว่ารีบเร่ง ไม่ใช่ให้รีบเร่งกระทำอย่างอื่นเลย ไม่ใช่ว่าให้รีบเร่งไปที่อื่น หรือว่าให้รีบเร่งที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่รีบเร่ง คือ เดี๋ยวนี้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพธรรมเมื่อสักครู่ก็ดับไปแล้ว จะเป็นกุศล จะเป็นอกุศล จะเป็นโลภะ จะเป็นโทสะ หรือจะเป็นโมหะคือการหลงลืมสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะก่อนนี้อย่างไร ก็ดับไปแล้ว ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวลเลย

    เหตุที่จะต้องรีบเร่งกระทำ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ระลึกได้ ทางตากำลังเห็น เป็นลักษณะรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง นี่เป็นการเริ่มระลึกรู้ รีบเร่งที่จะระลึกรู้ลักษณะของการเห็นที่กำลังปรากฏ ที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ทางหูก็เหมือนกัน กำลังมีเสียงปรากฏ กำลังมีสภาพธรรมที่รู้เสียง ไม่ใช่การที่จะตื่นเต้น จดจ้อง ที่ว่าเดี๋ยวนี้จะเริ่มระลึกรู้ล่ะ ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังคิด หรือกำลังเพียรที่จะทำอย่างนั้น แต่เป็นลักษณะของสติซึ่งเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสภาพได้ยิน สภาพที่กำลังรู้เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นสภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฏทางหู ไม่ใช่ตัวตน เหตุทีละเล็กทีละน้อยอย่างนี้ เป็นการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะถึงวันที่ปัญญาคมกล้า สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องมาจากการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้ายังเห็นเป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เป็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งนี้อยู่ ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่ถึงขั้นของปัญญาที่จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมหรือรูปธรรมอะไรเลยสักอย่างเดียว เพราะว่ายังไม่สามารถแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่ต่างกัน ทางตาไม่ใช่ทางใจ ทางตาเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ต้องเริ่มแยกขาดจากกันเสียก่อน และถ้าไม่ระลึกรู้บ่อยๆ ย่อมไม่มีเหตุที่จะไปหวังผลว่า จะประจักษ์สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไ ม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเกิดดับ แต่ผลย่อมมี ถ้าเหตุมี คือ ระลึกไปเรื่อยๆ

    รีบเร่ง คือ ทุกขณะที่สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้โดยไม่หลงลืม ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องของสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จึงค่อยๆ รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ ไม่ใช่ในขณะที่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะต้องสามารถแยกสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกัน ซึ่งแต่ละทวารนั้นก็มีสภาพธรรมที่ต่างกัน คือ สภาพรู้ กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่สภาพเดียวกันเลย

    นี่เป็นการอบรมปัญญาที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นอกจากนี้ไม่มีหนทางอื่นที่จะดับกิเลส เพราะว่ากิเลสที่จะต้องดับก่อน คือ ความเห็นผิด ความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๕๖๑ – ๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564