แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 581


    ครั้งที่ ๕๘๑


    สุ. เป็นเรื่องความเข้าใจผิดของผู้ฟัง คือ พอได้ยินอะไรแล้วก็แปลความหมายตามความคิดและความเข้าใจของตนเอง เช่น เวลาที่ได้ยินใครบอกว่า สุขหนอ สุขหนอ ผู้นั้นไม่เคยได้รับรสความสุขของการหมดกิเลส ก็คิดว่า ที่ว่าสุขหนอ สุขหนอ ต้องเป็นเรื่องสุขเหมือนอย่างชาวโลก คือ สุขเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่พอใจ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพจิตใจของผู้ที่อบรมเจริญปัญญาได้ และคงจะเข้าใจผิดด้วย เพราะเพียงคำว่า สุขหนอ สุขหนอ ก็เข้าใจว่า คงจะหมายความถึงสุขเวทนาซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างที่ตนเองเป็น

    ข้อความต่อไป ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค สังฆเภทขันธกะ เรื่องพระภัททิยะ มีว่า

    ท่านพระภัททิยะรับคำของภิกษุนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระภัททิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภัททิยะ ข่าวว่า เธอไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ จริงหรือ

    ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า

    จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภัททิยะ ก็เธอพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์อะไร ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้

    ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ภายในพระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเรียบร้อย แม้ภายนอกพระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเข้มแข็ง แม้ภายในพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย แม้ภายนอกพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างแข็งแรง แม้ภายในชนบทก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย แม้ภายนอกชนบทก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างมั่นคง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้านั้น แม้เป็นผู้อันเขาทั้งหลายรักษาคุ้มครองแล้วอย่างนี้ ก็ยังกลัว ยังหวั่น ยังหวาด ยังสะดุ้งอยู่

    แต่บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ลำพังผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวั่น ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ขวนขวายน้อย มีขนอันราบเรียบ เป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤคอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์นี้แล ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้น ว่าดังนี้

    อุทานคาถา

    บุคคลใดไม่มีความโกรธภายในจิต และก้าวล่วงภพน้อยภพใหญ่มีประการเป็นอันมากเสียได้ เทวดาทั้งหลายไม่อาจเล็งเห็นวาระจิตของบุคคลนั้นผู้ปลอดภัย มีสุข ไม่มีโศก ฯ

    ท่านผู้ฟังยังกลัวหรือว่าสุขแล้ว ไม่ต้องกลัวอีกต่อไปแล้ว ยังกลัวอยู่มากมายเหลือเกินใช่ไหม กลัวสารพัดอย่าง ทุกข์ยาก เจ็บไข้ อันตราย ภัยพิบัติต่างๆ กลัวบาดเจ็บ กลัวป่วยไข้ กลัวอันตรายซึ่งจะเกิดจากบุคคลภายนอก หรือว่าเหตุการณ์ต่างๆ นี่ไม่ใช่สุขในขณะนั้น เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่ ถ้ายังมีกิเลสอยู่และจะไม่ให้กลัว เป็นไปได้ไหม

    ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ละโทสมูลจิตเป็นสมุจเฉท ไม่มีความกลัว ไม่มีความโกรธ ไม่มีความไม่แช่มชื่นของจิตจึงเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามี ถึงความเป็นพระอรหันต์ ท่านย่อมเป็นสุขหนอได้จริงๆ ซึ่งต่างกับขณะที่ยังมีกิเลส แม้ว่าจะมีผู้ปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษา คุ้มครองอย่างเข้มแข็ง อย่างเรียบร้อย ก็ยังหวาดหวั่น กลัวภัยอันตรายต่างๆ ได้ เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่

    ถ. คำอุทานของพระพุทธเจ้าที่ว่า เทวดาทั้งหลายไม่สามารถที่จะรู้จิตของผู้ที่หมดกิเลสแล้ว เทวดารู้ไม่ได้หรือ

    สุ. ถ้าเทวดายังมีกิเลสอยู่ ก็รู้ไม่ได้ เทวดาไม่ได้หมดกิเลสเพราะเกิดเป็นเทวดา มนุษย์ไม่ได้หมดกิเลสเพราะว่าเกิดเป็นมนุษย์ เทวดามีความเห็นผิดเพราะว่าไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท สิ้นชีวิตจากมนุษยโลกไปเกิดเป็นเทวดา ก็ยังคงมีมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ไม่สามารถรู้จิตของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลได้

    ถ. ก่อนนี้เทวดามักจะรู้ว่า คนนี้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว เป็นพระสกทาคามีแล้ว เป็นพระอนาคามีแล้ว

    สุ. หมายความถึงเทวดาที่เป็นพระอริยะ ถ้าเทวดาเป็นพระอริยะขั้น พระโสดาบันก็จะรู้จิตของพระโสดาบันด้วยกันเท่านั้น ไม่สามารถรู้สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต ไม่ว่าจะเป็นของเทวดาหรือของมนุษย์

    ถ. ใน อังคุตตรนิกาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งอันบุคคลทำให้มากแล้ว เจริญให้มากแล้ว จะยังโสดาปัตติผลจิตให้เกิด จะยังสกทาคามิผลจิตให้เกิด จะยังอนาคามิผลจิตให้เกิด จนกระทั่งจะอรหัตผลจิตให้เกิด ธรรมข้อหนึ่ง คือ กายคตาสติ กายคตาสติคืออย่างไร

    สุ. กายคตาสติซึ่งจะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์มาก จะต้องเป็นสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานแล้ว จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จนกระทั่งจะให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ไม่ได้ จะต้องไม่มีอะไรพ้นจากสติปัฏฐานเลย

    ถ. สติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นต้น สำหรับกายคตาสตินี้ มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพเดียว หรือว่าทั้ง ๔ บรรพ

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะคิดถึงกายคตาสติซึ่งเป็นสมถภาวนาก่อน เพราะเหตุว่ามักจะเคยได้ยินได้ฟังกายคตาสติซึ่งเป็นสมถภาวนา ซึ่งแยกกายออกเป็นส่วนๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แม้แต่ขณะที่บวช ก็จะมีการให้ระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ว่าจะไม่พ้นจากสติปัฏฐาน เพราะว่าตามความเป็นจริง การอบรมเจริญสติหรือสมาธิ ระลึกรู้ลักษณะของกาย ต่างกันที่จุดประสงค์ ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนา ระลึกถึงลักษณะของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เพื่อให้จิตสงบ เพื่อให้เกิดนิมิตซึ่งแสดงความมั่นคงของจิตเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงขั้นฌานจิต แต่สำหรับกายคตาสติในการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นกายานุปัสสนา เมื่อระลึกถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นความเป็นปฏิกูล จึงละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นของเรา หรือเป็นเรา หรือเป็นตัวตนของเราได้ โดยจะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนังปรากฏให้รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่พ้นจากลักษณะของธาตุ ๔

    ถ้าตรวจสอบดูในอรรถกถาทั้งหมด เรื่องของกายจะไม่พ้นจากลักษณะของธาตุ ๔ เลย ไม่ว่าจะโดยนัยของอานาปานบรรพ การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ลมหายใจปรากฏเป็นลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ระลึกรู้ลักษณะของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เกิดความเป็นปฏิกูล เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเพลิดเพลินยินดียึดถือ ขณะนั้นจะต้องมีลักษณะของธาตุ ๔ ปรากฏให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ผมเป็นธาตุ ๔ ขนเป็นธาตุ ๔ เล็บเป็นธาตุ ๔ ฟันเป็นธาตุ ๔ หนังเป็นธาตุ ๔ เรื่องของกายทั้งหมดจะไม่พ้นจากมหาภูตรูปซึ่งเป็นธาตุ ๔ เลย เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่ากายคตาสติ บางครั้งรวมหมายความถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดทุกบรรพ

    ถ. ในสูตรนี้ หมายความว่า พิจารณากายอย่างเดียวก็สามารถเป็น พระอรหันต์ได้

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังเข้าใจว่า พอได้ยินว่าบรรพเดียว ก็คือรู้อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่บรรพเดียวรู้หมดทุกอย่าง เช่น ระลึกรู้ลักษณะของผมทางไหน ทางตาหรือทางจมูก หรือกาย หรือใจ ที่ผมนี่ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมจึงจะเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นผม แต่เป็นลักษณะของแข็งซึ่งปรากฏขณะกระทบ เป็นลักษณะของสีสันที่ปรากฏทางตา เป็นลักษณะของกลิ่นซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นกลิ่นผม แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูก เพราะฉะนั้น ไม่มีความเป็นผมอีกต่อไป ในเมื่อสภาพธรรมปรากฏเป็นปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง ผู้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ปัญญาจะศึกษา สังเกต สำเหนียก รู้สภาพความจริงของสิ่งที่ปรากฏจนประจักษ์ชัดในลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น จะรู้อย่างเดียวเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่ระลึกถึงแต่ผม ความรู้สึกต่างๆ ก็มี สัญญาความทรงจำก็มี เรื่องราวต่างๆ ก็มีปรากฏสืบต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอยู่เรื่อยๆ

    วันหนึ่งๆ ถ้าสติไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่า ต่อเรื่องไว้ยาวแค่ไหน เพียงเห็นทางตาขณะหนึ่ง ต่อเป็นเรื่องแล้วใช่ไหม ไม่ได้หยุดแค่ทางตาเลย ต่อเป็นคนชื่อนั้นกำลังทำอะไร ชอบหรือไม่ชอบ เป็นเรื่องยาวติดตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ จะไม่ต่อเรื่อง แต่จะตัดเรื่อง เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หลงยึดถือว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ คนนั้นคนนี้ มีความพอใจ มีความไม่พอใจในสิ่งที่เห็นไว้มากมายเหลือเกิน นั่นเป็นการต่อเรื่อง สร้างเรื่องจากสิ่งที่ปรากฏทางตา

    แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะประจักษ์ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาหาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้เลย เป็นอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะว่าโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เหมือนสีมีมากมาย ก็นำมาเขียน มาวาดเป็นรูปต่างๆ เป็นรูปคน เป็นรูปสัตว์ เป็นรูปสิ่งของ เป็นแต่เพียงสี หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสีต่างๆ ไม่ได้ แต่เมื่อนำสีมาวาด มาเขียนเป็นรูป สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็เกิดการยึดถือในสีซึ่งวาดแล้วว่า เป็นสิ่งของ เป็นคนต่างๆ ฉันใด สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏทางตาก็ฉันนั้น ไม่ต่างกันเลย อาศัยความยึดถือซึ่งมีมากในจิตใจทำให้ยึดถือสีสันวัณณะที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่ง ต่างๆ และยังต่อเรื่อง สร้างเรื่อง คือ นึกถึงสิ่งนั้นที่ไม่มีจริง เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่เพราะความเห็นผิด ความหลงผิด ความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็สร้างเรื่อง ต่อเรื่อง จากสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาให้เป็นเรื่องที่ยืดยาวต่อไปด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ นี่คือ ชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่ไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน จึงไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งนั้น เห็น ก็ต่อเรื่องที่เห็น ได้ยิน ก็ต่อเรื่องที่ได้ยินไปอีกไกล ได้กลิ่น กลิ่นดับไปแล้ว ไม่หมด ยังต่อเรื่องอีก ถ้าเป็นน้ำหอม ก็กลิ่นอะไร ขายที่ไหน ราคาเท่าไร เมื่อไรจะไปซื้อ

    นี่เรื่องยาวไหม ต่อจากกลิ่นที่ปรากฏและดับไป ยาวมาก เต็มไปด้วยเรื่อง ต่างๆ ซึ่งทางใจรับต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ด้วยการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เรื่องต่างๆ ก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ จนกว่าปัญญาจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. ก็เป็นจริงอย่างอาจารย์ว่า เห็นครั้งหนึ่ง ก็ต่อเรื่องไป ได้ยินครั้งหนึ่งแล้วก็ต่อเรื่องไป แต่พระพุทธองค์ทำไมทรงแสดงไว้แค่นั้น เจริญกายคตาสติเท่านั้นอย่างเดียว โดยบรรพเดียว ก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ หมายความว่า พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมกับบุคคลขั้นต่างๆ คนละอย่าง หรือว่าปฏิบัติเจริญพิจารณากายเท่านั้น ตามที่อาจารย์กล่าวมาเมื่อครู่นี้ พิจารณาโดยความเป็นธาตุ หรือพิจารณาความเป็นปฏิกูล เท่านี้ก็สามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ โดยทางบรรพอื่นๆ ทางเวทนา ทางจิต ทางธรรม ไม่ต้องพิจารณา

    สุ. เป็นการแสดงธรรมโดยย่อสำหรับผู้ที่ไม่สงสัยว่าการเจริญธรรมนั้นจะต้องรู้อะไรบ้าง ผู้ที่เข้าใจแล้วจะรู้ว่า การเจริญธรรมนั้น จะรู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงจะดับกิเลสได้ นี่คือ ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญธรรม

    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคท่านไม่พูดมาก ท่านพูดนิดๆ หน่อยๆ และก็มีความหมาย อย่างท่านจูฬปันถก เรียนอะไรๆ ก็ท่องไม่ได้ แม้แต่คาถาสักบาทหนึ่งก็ท่องไม่ได้ พี่ชายไล่ให้ไปสึก ท่านก็ร้องไห้ พระผู้มีพระภาคพบเข้าตรัสเรียกให้มานี่ ให้ผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งและตรัสว่า เธอภาวนาเท่านี้แหละ รโชหรณํ รโชหรนณํ เดี๋ยวนี้อาจารย์ต่างๆ ก็นำมาเสกผ้าเช็ดหน้าแล้วบอกว่า จะมีปัญญา

    รโชหรณํ ศัพท์เดิมมีว่าอย่างนี้ ผ้านี้มีธุลีๆ ท่านสอนให้พระจูฬปันถกเท่านั้น เมื่อท่านนำเอาผ้าขาวๆ เอามือลูบๆ ผ้าก็มีสีเศร้าหมอง ท่านก็เลยคิดถึงไปถึงสังขารตั้งแต่เกิดมา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคท่านไม่ได้ตรัสมาก เราจะเห็นบาลี คำว่า บุญ บางทีท่านก็เรียกว่า ธรรมขาว หรือเรียกว่า กุศลก็มี คำว่า บาป เรียกว่าบาป ก็มี เรียกว่า ธรรมดำก็มี บางทีเรียกลามกก็มี แต่มีความหมายอย่างเดียวกัน ท่านตรัสไม่มาก แต่ความหมายของท่านอาจจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุด จุดแพ้ จุดชนะทีเดียว เมื่อเราทำได้แล้ว อย่างอื่นก็ตามมา

    ท่านตรัสว่า กายคตาสติ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ความหมายก็เหมือนกัน ตัวหนังสือเท่านั้นที่ต่างกัน

    สุ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ ก็จะเข้าใจว่าให้ไประลึกถึงผม หรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนังเท่านั้น แต่ระลึกอย่างไร มหาสติปัฏฐานสูตรจะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ทุกคนเห็นเส้นผมเวลานี้ สติจะต้องระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่ความจำว่าเป็นผม เห็น ไม่ใช่ความจำว่าเป็นผม เห็นเพียงเห็น และเวลาที่รู้ว่าเป็นผม ก็ไม่ใช่เราที่รู้ เป็นความจำ เป็นสภาพธรรมที่จำในลักษณะที่ปรากฏแล้วรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    ถ. เราติดกาแฟ หรือติดยานัตถุ์ จะเจริญสติก็ให้เลิกสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสหรือเปล่า

    สุ. ผลคือต้องการให้เลิกกาแฟ เลิกยานัตถุ์ หรือว่าผลคือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่สะสมมา และความรู้นั้นจะละกิเลสตามกำลังของความรู้ ซึ่งคนที่เลิกสิ่งที่เคยติดโดยไม่เจริญสติปัฏฐานก็มี หรือผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วเลิกสิ่งที่เคยติดก็มี แต่ต้องเกิดปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๕๘๑ – ๕๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564