แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 580


    ครั้งที่ ๕๘๐


    เพราะฉะนั้น เรื่องของมานะเป็นเรื่องที่ทุกคนยังมี ซึ่งก็ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของมานะที่เกิดขึ้น จึงจะไม่ยึดถือมานะนั้นว่าเป็นตัวตน และมานะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปรากฏในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ลักษณะของมานะก็ไม่ใช่ตัวตน

    ลองสังเกตดู ในวันหนึ่งๆ พูดถึงความดีของตัวเองบ้างหรือเปล่า หรือว่าคิดถึงความดีของตัวเองบ้างหรือเปล่า เปรียบเทียบคิดถึงความไม่ดีของคนอื่นหรือเปล่า หรือว่าพอเห็นใคร ก็เป็นเรา เป็นเขา นั่นคือ สภาพของกิเลสซึ่งเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ขณะนั้นถ้าสติเกิดระลึกก็รู้จะว่า เป็นสภาพของอกุศลธรรม โดยเฉพาะในขณะที่มีการยกตน หรือข่มบุคคลอื่น หรือมีการเปรียบเทียบ หรือมีการแสดงความต่างกันโดยเรา โดยเขา โดยใคร เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งในขณะนั้นไม่ใช่ไปบังคับไม่ให้เกิด แต่สภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ สติระลึกจึงรู้ว่า ตัวเองยังมีมานะมากหรือน้อย เกิดขึ้นเมื่อไร มีบุคคลใดเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เพื่อที่จะละการยึดถือมานะที่ปรากฏในขณะนั้นให้รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

    เมื่อเห็นกิเลสของตัวเอง เช่น มานะ ก็ควรที่จะรู้ว่า มานะนี้ควรละไหม การที่จะเปรียบเทียบว่า เรา เขา ใคร และก็มีการแสดงออกทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง โดยลักษณะของการยกตนข่มคนอื่น เป็นเรา เป็นเขา เป็นใครอยู่เรื่อยๆ เมื่อยังมีอยู่อย่างนี้ และสติเกิดขึ้นก็จะรู้ว่า ควรละ ไม่ควรที่จะให้มีมากๆ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่อ่อนโยนเลย ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แท้ที่จริงแล้วที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นใคร ก็เป็นเพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กันไปในภพหนึ่งในชาติหนึ่ง เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกรู้อย่างนี้ จิตใจจะอ่อนโยน และไม่มีการยกตน ไม่มีการข่มบุคคลอื่น ไม่มีการที่จะเปรียบเทียบหรือแสดงความเป็นเรา เป็นเขา หรือเป็นใคร ทางกาย ทางวาจา ซึ่งในขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ปราศจากโลภะหรือราคะ และปราศจากมานะ ความยกตน ความถือตนในขณะนั้นด้วย

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็จะทราบว่า ยิ่งนับวันที่ปัญญาเกิดขึ้น ก็ยิ่งเห็นกิเลสของท่านมากมายเหลือเกินตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น จะต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน ให้เป็นสมุจเฉทเสียก่อน

    สำหรับเรื่องของการที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนั้น จะต้องขัดเกลากิเลสทุกทาง พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค สังฆเภทขันธกะ เรื่องมหานามศากยะและอนุรุทธศากยะ ซึ่งท่านผู้ฟังคงทราบว่า ศากยวงศ์ทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความถือตัวจัดและมีมานะมาก เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระประยูรญาติทั้งหลาย พวกศากยะทั้งหลายก็มีศรัทธาที่จะบวช ซึ่งในคราวก่อนได้พูดถึงเรื่องของมหานามศากยะและ อนุรุทธศากยะ ทั้งสองท่านเป็นพี่น้องกัน และปรึกษากันว่าใครควรจะบวช ในที่สุดท่านพระอนุรุทธะก็ตัดสินใจที่จะออกบวช แต่มารดาของท่านอนุรุทธศากยะไม่ปรารถนาจะให้โอรสออกบวช

    ขอทวนถึงข้อความตอนท้ายที่เคยกล่าวถึงแล้ว ข้อ ๓๓๙ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น อนุรุทธศากยะเข้าไปหามารดาแล้วกล่าวว่า

    ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด

    เมื่ออนุรุทธศากยะกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาได้กล่าวว่า

    พ่ออนุรุทธะ เจ้าทั้งสองเป็นลูกที่รักที่พึงใจ ไม่เป็นที่เกลียดชังของแม่ แม้ด้วยการตายของเจ้าทั้งหลาย แม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก ไฉนแม่จะยอมอนุญาตให้เจ้าทั้งสองผู้ยังมีชีวิตออกบวชเล่า

    นี่เป็นความรู้สึกของทุกท่านซึ่งไม่อยากจะจากบุตรธิดาเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าวันหนึ่งก็จะต้องจากอย่างแน่นอนที่สุดด้วยการตาย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่แม้กระนั้นมารดาของท่านอนุรุทธะก็ยังกล่าวว่า เจ้าทั้งสองเป็นลูกที่รักที่พึงใจ ไม่เป็นที่เกลียดชังของแม่ แม้ด้วยการตายของเจ้าทั้งหลาย แม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก ไฉนแม่จะยอมอนุญาตให้เจ้าทั้งสองผู้ยังมีชีวิตออกบวชเล่า คือ แม้แต่ความตายซึ่งเป็นของแน่นอนที่จะต้องจากกันก็ยังไม่เต็มใจ ยังไม่อยากให้จากไป เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่แท้ๆ ยังไม่ได้ตายจากไป ก็ย่อมเป็นของธรรมดาที่ไม่อยากจะให้จากไปโดยการออกบวช

    ข้อความต่อไป

    แม้ครั้งที่สอง ...

    แม้ครั้งที่สาม อนุรุทธศากยะได้กล่าวกะมารดาว่า

    ท่านแม่ หม่อมฉันปรารถนาจะออกบวช ขอท่านแม่จงอนุญาตให้หม่อมฉันออกบวชเถิด ฯ

    ก่อนการคิดที่จะออกบวช ท่านมีชีวิตที่สุขสบายเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะออกบวช แต่การสะสมเหตุปัจจัยมา เมื่อถึงเวลาที่จะตัดสินใจออกบวช ก็ไม่มีอะไรที่จะยับยั้งท่านพระอนุรุทธะได้ แม้ว่าก่อนนั้นจะไม่เคยคิด แต่เพราะมีปัจจัยที่สะสมมาที่จะได้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ผู้เป็นเอตทัคคะในการเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทิพยจักษุ ซึ่งเป็นผลของการเจริญสมถภาวนาในอดีตชาติด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อท่านมีโอกาส หรือว่าเมื่อท่านใคร่ที่จะบวช ก็ไม่มีผู้ใดแม้มารดาของท่านที่สามารถจะยับยั้งได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็จะได้เปรียบเทียบกับชีวิตของท่านตามความเป็นจริงว่า ท่านเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ายังไม่จริง ก็หมายความว่า ปัจจัยยังไม่พร้อมที่จะเป็นอย่างนั้น แล้วแต่ว่าชีวิตวันนี้ ขณะนี้เป็นอย่างไร ก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ได้สะสมมา จึงยังคงเป็นอย่างนี้อยู่ หรือถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดในอนาคต ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยซึ่งสะสมมาที่จะเป็นเหตุให้การเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นเป็นไปในอนาคต เพราะว่าไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัย

    ข้อความต่อไป

    เรื่องพระเจ้าภัททิยศากยะ

    สมัยนั้นพระเจ้าภัททิยศากยะได้ครองสมบัติเป็นราชาของพวกศากยะ และพระองค์เป็นพระสหายของอนุรุทธศากยะ ครั้งนั้น มารดาของอนุรุทธศากยะคิดว่า พระเจ้าภัททิยศากยะนี้ ครองสมบัติเป็นราชาของพวกศากยะ เป็นพระสหายของ อนุรุทธศากยะ พระองค์จักไม่อาจทรงผนวช จึงได้กล่าวกะอนุรุทธศากยะว่า

    พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยศากยะทรงผนวช เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าก็ออกบวชเถิด

    ลำดับนั้น อนุรุทธศากยะเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยศากยะ แล้วได้ทูลว่า

    สหาย บรรพชาของเราเนื่องด้วยท่าน

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า

    สหาย ถ้าเช่นนั้น บรรพชาของท่านจะเนื่องด้วยเราหรือไม่เนื่องก็ตาม นั่นช่าง

    เถอะ ท่านจงบวชตามความสบายของท่านเถิด

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    มาเถิด สหาย เราทั้งสองจักออกบวชด้วยกัน

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า

    สหาย เราไม่สามารถจักออกบวช สิ่งอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ท่านได้ เราจักทำสิ่งนั้นให้แก่ท่าน ท่านจงบวชเองเถิด

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    สหาย มารดาได้พูดกะเราอย่างนี้ว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยศากยะทรงผนวช เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าก็ออกบวชเถิด สหาย ก็ท่านได้พูดไว้อย่างนี้ว่า สหาย ถ้าบรรพชาของท่านจะเนื่องด้วยเราหรือไม่เนื่องก็ตาม นั้นช่างเถอะ ท่านจงบวชตามความสบายของท่านเถิด มาเถิดสหาย เราทั้งสองจะออกบวชด้วยกัน

    ก็สมัยนั้น คนทั้งหลายเป็นผู้พูดจริง ปฏิญาณจริง จึงพระเจ้าภัททิยศากยะได้ตรัสกะอนุรุทธะว่า

    จงรออยู่สัก ๗ ปีเถิด สหาย ต่อล่วง ๗ ปีแล้ว เราทั้งสองจึงจักออกบวชด้วยกัน

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    ๗ ปีนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึง ๗ ปี

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า

    จงรออยู่สัก ๖ ปีเถิด สหาย ... จงรออยู่สัก ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ต่อล่วง ๑ ปีแล้ว เราทั้งสองจึงจักออกบวชด้วยกัน

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    ๑ ปีก็ยังนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึง ๑ ปี

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า

    จงรออยู่สัก ๗ เดือนเถิด สหาย ต่อล่วง ๗ เดือนแล้ว เราทั้งสองจักออกบวชด้วยกัน

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    ๗ เดือนก็ยังนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึง ๗ เดือน

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า

    จงรออยู่สัก ๖ เดือนเถิด สหาย ... จงรออยู่สัก ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน ต่อล่วงกึ่งเดือนแล้ว เราทั้งสองจักออกบวชด้วยกัน

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    กึ่งเดือนก็ยังนานนัก สหาย เราไม่สามารถจะรอได้ถึงกึ่งเดือน

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า

    จงรออยู่สัก ๗ วันเถิด สหาย พอเราได้มอบหมายราชสมบัติแก่พวกลูกๆ และพี่น้อง

    อนุรุทธศากยะกล่าวว่า

    ๗ วันไม่นานนักดอก สหาย เราจักรอ ฯ

    ถ้ามีศรัทธาจริงๆ ๗ ปีก็นานเหลือเกิน ๖ ปีก็ยังนาน ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี นานทั้งนั้น จนกระทั่งถึง ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน ก็นานทั้งนั้น เพราะถ้าสามารถจะบวชได้จริงๆ ก็คงไม่ต้องรีรอ แต่สำหรับพระเจ้าภัททิยศากยะนั้น จำเป็นจะต้องมอบหมายราชสมบัติ เพราะฉะนั้น ท่าน อนุรุทธศากยะก็รอได้ใน ๗ วัน

    ข้อความต่อไป

    เรื่องคน ๗ คน

    ครั้งนั้น พระเจ้าภัททิยศากยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ และเทวทัต เป็น ๗ ทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลา เสด็จออกโดยเสนา ๔ เหล่า เหมือนเสด็จประภาสราชอุทยาน โดยเสนา ๔ เหล่าในกาลก่อน ฉะนั้น

    กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์เสด็จไปไกลแล้วสั่งเสนาให้กลับ แล้วย่างเข้าพรมแดน ทรงเปลื้องเครื่องประดับ เอาภูษาห่อแล้ว ได้กล่าวกะอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาว่า

    เชิญพนาย อุบาลี กลับเถิด ทรัพย์เท่านี้พอเลี้ยงชีพท่านได้ละ ฯ

    ครั้งนั้น อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเมื่อจะกลับคิดว่า เจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า เขาแก้ห่อเครื่องประดับเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเข้าไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้นทอดพระเนตรเห็นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลากำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงรับสั่งถามว่า

    พนาย อุบาลีกลับมาทำไม

    ท่านอุบาลีกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าจะกลับมา ณ ที่นี้ คิดว่าเจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า ข้าพระพุทธเจ้านั้นแก้ห่อเครื่องประดับแล้ว เอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วจึงกลับมาจากที่นั้น พระพุทธเจ้าข้า

    ศากยกุมารเหล่านั้นรับสั่งว่า

    พนาย อุบาลี ท่านได้ทำถูกต้องแล้ว เพราะท่านกลับไป เจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าท่านเสียด้วยเข้าพระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช ฯ

    ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้นพาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วถวายบังคมประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ ครั้นต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง ท่านพระภัททิยะได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ท่านพระอนุรุทธะได้ยังทิพยจักษุให้เกิด ท่านพระอานนท์ได้ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระเทวทัตได้สำเร็จฤทธิ์ชั้นปุถุชน ฯ

    มีวิธีลดมานะหลายอย่าง ซึ่งแต่ละท่านถ้าคิดที่จะลดก็มีหลายวิธี ไม่มีการที่จะคิดถึงเรา เขา ใคร ให้บ่อยนัก หรือว่าด้วยความถือตน สำคัญในตนเอง เจ้าศากยะทั้งหลายให้ท่านอุบาลีบวชก่อน เพื่อท่านจะได้ทำการลุกรับ อัญชลี กราบไหว้ผู้ซึ่งเคยเป็นคนรับใช้มาก่อน เพราะว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็รู้จักจิตใจของพวกท่านซึ่งเป็นพวกศากยะตามความเป็นจริงว่าเป็นผู้ที่มีมานะ ความถือตนแรงกล้าแค่ไหน แต่เมื่อใคร่ที่จะดับกิเลส ก็จะต้องหาทางทุกทางที่จะทำให้กิเลสละคลาย บรรเทา เบาบางลง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังจะเริ่มคิดถึงมานะของท่านเอง เคยมีมานะทางกายมากมายไหม ทางวาจาเป็นอย่างไรบ้าง คำพูดซึ่งแสดงความถือตน สำคัญตนกับผู้รับใช้ หรือว่าบุคคลทั้งหลาย ยังมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าสติเกิดระลึกได้ ก็จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีจิตอ่อนโยน เป็นการละคลายกิเลส ความถือตน ความสำคัญตนของท่านเอง และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ก็จะละคลายกิเลสไปเรื่อยๆ พร้อมการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะทำให้กิเลสดับเป็นสมุจเฉทได้ แต่ถ้ายังไม่เห็นกิเลสของท่านเอง กิเลสก็ยังคงมากมายเหลือเกินโดยไม่รู้ เมื่อไม่รู้ ก็ย่อมไม่มีปัจจัยที่จะให้ละกิเลสซึ่งสะสมมามากนั้นออกได้ นี่จึงเป็นเหตุที่จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    เรื่องของท่านภัททิยะ ยังมีข้อความต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ฟังด้วย

    เรื่องพระภัททิยะ

    ครั้งนั้น ท่านพระภัททิยะไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

    ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระภัททิยะไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระภัททิยะฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัย หรือมิฉะนั้นก็ระลึกถึงสุขในราชสมบัติครั้งก่อนนั้นเอง ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอจงมา จงเรียกภัททิยะภิกษุมาตามคำของเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน

    ภิกษุนั้นรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า

    ท่านภัททิยะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564