แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 572


    ครั้งที่ ๕๗๒


    ถ. ถ้าเป็นอย่างนี้ พระอริยเจ้าผู้ที่เป็นฆราวาสก็ไม่ต้องละเมิดสิกขาบท

    สุ. ฆราวาสไม่ต้อง ไม่มีการปรับอาบัติกับฆราวาส เพราะว่าฆราวาสไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต แต่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของฆราวาส ซึ่งต่างกับบรรพชิต

    สำหรับเรื่องของศีล ถ้าท่านล่วงศีล ก็ย่อมจะมีโทษหลายประการ และคุณของศีลก็มีมากมายหลายประการด้วย

    ใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต อธิกรณวรรคที่ ๒ ข้อ ๒๖๔ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่า เป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว

    ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว โทษอะไรอันผู้นั้นพึงหวังได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าเป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว โทษอย่างนี้อันผู้นั้นพึงหวังได้ คือ

    ๑. แม้ตนก็ติเตียนตนเองได้

    ๒. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียนได้

    ๓. กิตติศัพท์ชั่วย่อมกระฉ่อนไป

    ๔. เป็นคนหลงทำกาละ

    ๕. เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    ดูกร อานนท์ เมื่อบุคคลทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่เรากล่าวว่าเป็นกิจไม่ควรทำโดยส่วนเดียว โทษอย่างนี้อันผู้นั้นพึงหวังได้

    ดูกร อานนท์ เรากล่าวกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตว่า เป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว

    ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว อานิสงส์อะไรอันผู้นั้นพึงหวังได้ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าเป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว อานิสงส์อย่างนี้ อันผู้นั้นพึงหวังได้ คือ

    ๑. แม้ตนก็ติเตียนตนเองไม่ได้

    ๒. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ

    ๓. กิตติศัพท์อันดีย่อมกระฉ่อนไป

    ๔. ไม่เป็นคนหลงทำกาละ

    ๕. เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

    ดูกร อานนท์ เมื่อบุคคลทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่า เป็นกิจควรทำโดยส่วนเดียว อานิสงส์อย่างนี้อันผู้นั้นพึงหวังได้ ฯ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และทรงแสดงคุณของกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แต่ก็ยังมีผู้ที่กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอยู่ เพราะอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้จะทรงแสดงโทษไว้อีกหลายประการเพียงไรก็ตาม นั่นก็เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นมีกำลัง ก็เป็นเหตุให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แสดงถึงความเป็นอนัตตาเมื่อนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับอกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เกิดการกระทำด้วยอกุศลจิตทางกาย ทางวาจา ซึ่งจะทำให้ตนเองติเตียนตนเองได้ ถ้าได้กระทำไปแล้วเกิดการระลึกได้ ก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยที่ได้กระทำแล้ว หรือว่านอกจากนั้นบุคคลอื่นก็ยังติเตียนได้อีกด้วย เพราะว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

    เพราะฉะนั้น โทษของกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตก็มีหลายประการ

    ถ. ทุจริตทั้ง ๓ ในพระสูตรนี้ก็มีโทษเท่าๆ กัน ทำไมพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอาบัติกับภิกษุผู้ที่กระทำทางกาย ทางวาจาเท่านั้น แต่ขณะคิดนึก ทำไมไม่ปรับอาบัติ เช่น พระที่คิดจะขโมยของๆ ใคร ขณะที่คิดก็ไม่อาบัติ

    สุ. เรื่องของจิต เป็นเรื่องที่เป็นอกุศลตามกำลังของกิเลสที่สะสมมา ถ้ายังไม่ปรากฏว่ามีกำลังแรงถึงกับกระทำทุจริตเบียดเบียนคนอื่น ก็เป็นสิ่งซึ่งยังไม่ได้กระทำลงไป เพราะฉะนั้น ก็ไม่อาบัติ ถ้าปรับอาบัติทางใจ ก็อาบัติกันไม่หวาดไหว เพราะว่าเป็นเรื่องของอกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกิเลสที่ยังไม่ดับไปเป็นสมุจเฉท

    ถ. ...

    สุ. แล้วแต่ว่าเป็นโทษขั้นไหน เพราะถ้าเป็นอกุศลกรรมทางใจ เป็นอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ก็ตามแต่ขั้นของกรรม หรือว่ามีความแรงซึ่งจะกระทำ อย่างการเพ่งเล็งอยากได้ของๆ คนอื่น จะเป็นอกุศลกรรมบถหรือไม่เป็น ก็ต้องพิจารณาด้วย อย่างถ้าเห็นของๆ คนอื่นแล้วพอใจว่า เป็นของที่สวย ที่ประณีต ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต คือ เป็นความยินดีพอใจ เป็นโลภมูลจิต แต่ไม่ได้คิดอยากจะได้ของๆ เขา เป็นแต่เพียงโลภมูลจิตที่ยินดี เห็นความประณีตความสวยงามในของๆ คนอื่นเท่านั้น นี่ก็เป็นเพียงอกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม

    แต่ถ้ามีความต้องการอยากได้ ของเขาช่างสวยจริง มีความรู้สึกว่าอยากจะได้มาก แต่ไม่เป็นทุจริตก็ได้ เพราะว่าอาจคิดที่จะขอ เขาอาจจะให้ แต่จริงๆ แล้ว ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นของที่ดี ที่ประณีต ใครๆ ก็ย่อมจะพอใจ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปขอของที่คนอื่นเขายินดีพอใจ

    แต่ถ้าเกิดความยินดีพอใจในของๆ คนอื่นอย่างมาก จนคิดอยากที่จะได้ แต่ในทางที่สุจริต คือ ไม่ได้คิดที่จะไปถือเอามาเป็นของตนโดยที่เจ้าของยังไม่ได้ให้ เพียงคิดที่จะขอ เผื่อว่าเขาจะให้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ แม้ว่ากิเลสมีกำลังของความพอใจแรงกล้าขึ้น คือ ไม่ใช่เพียงแต่พอใจ ยังอยากที่จะขอมาเป็นของตนด้วย ก็ยังเป็นไปในทางสุจริต

    แต่ถ้าคิดจะเอาของๆ คนอื่นมาเป็นของตนโดยเจ้าของไม่ให้ ก็ควรที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สุจริตแล้ว เพราะว่าคิดในทางทุจริต และควรที่จะทราบถึงวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของการละเมิดศีลด้วย ในข้อของอภิชฌานี้ คิดที่จะลักคนมาเรียกค่าไถ่ กับคิดเพียงที่จะถือเอาของเล็กๆ น้อยด้วยความอยากจะได้ในสิ่งซึ่งไม่มีราคา หรือไม่มีค่าเท่าไร นี่ก็ต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้น การคิด หรือการวางแผนการที่จะทำกระทุจริตใหญ่ กับการเพียงยินดีพอใจเล็กน้อยในของของคนอื่น จะให้เสมอกัน หรือเท่ากันไม่ได้

    ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีกิเลสแรงกล้า คิดที่จะทำทุจริตกรรมใหญ่แม้ทางใจ ไม่ได้คิดเล็กน้อยธรรมดาเลย แต่คิดที่จะเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนอย่างมากมาย นั่นก็เป็นทุจริตกรรมทางใจ

    และเวลาที่กระทำการนั้นไปแล้ว ก็กระทำไปด้วยอภิชฌาซึ่งเป็นมโนกรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงกายกรรม เพราะการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่เกิดจากอภิชฌา เป็นมโนกรรม

    สำหรับการปฏิบัติธรรมที่จะต้องรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ต้องด้วยสติและปัญญาที่คมกล้า จึงสามารถที่จะเห็นว่า สภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกันได้

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติยปัณณาสก์ โยธาชีววรรคที่ ๔ โยธสูตร ข้อ ๕๗๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพประกอบด้วยองค์ ๓ ประการสมควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชาโดยแท้ องค์ ๓ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพในโลกนี้ ยิงลูกศรไปได้ไกล ๑ ยิงไม่พลาด ๑ ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นักรบอาชีพประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล สมควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชาโดยแท้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า องค์ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยิงลูกศรไปได้ไกล ๑ ยิงไม่พลาด ๑ ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยิงลูกศรไปได้ไกลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ในที่ไกลหรือที่ใกล้ได้ ทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นของเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... ย่อมพิจารณาเห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ... ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ในที่ไกลหรือที่ใกล้ทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นของเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิงลูกศรไปได้ไกลอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยิงไม่พลาดอย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิงไม่พลาดอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทำลายกายขนาดใหญ่ได้อย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำลายกายขนาดใหญ่ได้อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

    นี่คือทุกท่านซึ่งเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่แต่เฉพาะภิกษุ แต่หมายความถึงทุกท่านซึ่งเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะให้ถึงการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท จะต้องเป็นผู้ที่เหมือนนักรบอาชีพในโลกนี้ ซึ่งยิงลูกศรไปได้ไกล ๑ ยิงไม่พลาด ๑ ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ ๑

    กายขนาดใหญ่ คือ อวิชชา อวิชชานี้ใหญ่แค่ไหน มากมายใหญ่โตเสียเหลือเกิน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจะรู้ได้ว่าใหญ่แค่ไหน ก็ต่อเมื่อสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่อาจจะระลึกไม่ถูกสักทีว่า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งไม่ใช่ตัวตนทางตานั้นคืออย่างไร นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นอวิชชาอย่างใหญ่ อย่างมากมาย ใหญ่โตจริงๆ ที่ปิดกั้นไม่ให้รู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงแต่ละลักษณะนั้นเป็นอย่างไร และปิดกั้นจนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ

    เพราะฉะนั้น อวิชชานี้เป็นกายขนาดใหญ่จริงๆ ผู้ที่สามารถจะละกิเลสได้ ต้องเหมือนกับนักรบอาชีพ ซึ่งยิงลูกศรไปได้ไกล ๑ ยิงไม่พลาด ๑ ทำลายกายขนาดใหญ่ได้ ๑ กายขนาดใหญ่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ใหญ่สักเพียงไรก็ตาม ทำลายได้ ถ้าเป็นผู้ที่ยิงได้ไกล

    สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมประเภทใด ผู้ที่สติระลึกรู้ตรงลักษณะนั้นจริงๆ เป็นผู้ที่อุปมาเหมือนกับนักรบอาชีพในโลกนี้ที่ยิงลูกศรไปได้ไกล คือ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ ได้ รูปธรรมก็ต้องเป็นรูปธรรม นามธรรมก็ต้องเป็นนามธรรม แต่ละลักษณะ แต่ละชนิด ไม่ปะปนกัน และที่ยิงไม่พลาด คือ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

    ถ้าใครยังไม่รู้จริงในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ยังไม่รู้จริงว่า ทุกข์ไม่ใช่ขณะอื่นเลย ทุกข์คือเดี๋ยวนี้ ทางตาเกิดขึ้นและดับไป ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือทุกข์เพราะเกิดดับ ไม่ไปหาทุกข์อื่นอีก และไม่พลาด คือ ระลึกรู้ลักษณะของทุกข์ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี่เอง ชื่อว่า ยิงไม่พลาดไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ ชื่อว่าพลาดแล้ว คือ ไม่สามารถจะยิงถูกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติจริงๆ ยิงไม่พลาด ถูกต้องในลักษณะของทุกข์ซึ่งปรากฏ และก็ยิงไกล คือ เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะ นามธรรมแต่ละประเภทตามความเป็นจริงได้ ย่อมสามารถที่จะทำลายกายขนาดใหญ่ คือ อวิชชาได้

    เพราะฉะนั้น ต้องเห็นอวิชชาก่อน ในขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเองคืออวิชชา ซึ่งใหญ่มาก เป็นกายขนาดใหญ่จริงๆ

    ถ. พระสูตรนี้ชัดเจนมาก ที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบกับนักรบอาชีพ สำหรับนักรบสมัครเล่น ผู้ที่ปฏิบัติถูกแล้ว เข้าใจถูกแล้ว ฟังถูกแล้ว แต่ยังไม่ใช่นักรบอาชีพ ส่วนมากก็ยิงไม่ไกล พิจารณากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พิจารณาไม่ได้ไกลนัก หมายถึงอดีต อนาคต ปัจจุบัน บางครั้งพิจารณาอดีตก็ไม่ได้ พิจารณาอนาคตก็ไม่ได้ พิจารณาปัจจุบัน อะไรต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้ ก็แสดงว่ายิงไม่ได้ไกล

    ที่จะยิงให้ถูกนี้ บางครั้งรูปธรรมนามธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว บางครั้งบางคราวก็รู้ไม่ตรง ผมก็เข้าใจว่ายิงไม่ถูก เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ผมคิดว่า ไม่ใช่อาชีพ เป็นสมัครเล่นมากกว่า

    สุ. สมัครเล่น ยิงแล้วก็ถูกบ้าง ผิดบ้าง จนกว่าจะเป็นนักรบอาชีพ ซึ่งสามารถที่จะยิงได้ไกล ไม่พลาด และทำลายกายอย่างใหญ่ได้

    และกว่าที่จะชำนาญจริงๆ ก็จะต้องฝึกหัดอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละ ท่านรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ตั้งแต่ได้ฟัง ได้ศึกษา ได้พากเพียรอบรมที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็เป็นเวลานานแล้ว ปัญญาเจริญขึ้นแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น การที่จะรีบเร่งโดยที่ยิงไม่ถูก ยิงพลาด ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ซึ่งจะต้องรู้ได้ด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในความเกิดดับ ถ้าไม่เกิดดับจะประจักษ์ได้อย่างไรว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็เป็นแต่เพียงคำพูดว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ในขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็จะรู้ได้ชัดเจนว่า สภาพธรรมนี้เกิดดับ และก็เกิดดับ เพราะฉะนั้น ที่เกิดดับเมื่อครู่นี้เป็นอดีต ที่เกิดดับขณะนี้เป็นปัจจุบัน สภาพธรรมเมื่อครู่นี้ดับไปแล้ว มีสภาพธรรมเกิดดับอีก สภาพธรรมที่เกิดดับอีกนั้น เป็นอนาคตของขณะปัจจุบันเมื่อครู่นี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564