แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 560


    ครั้งที่ ๕๖๐


    สุ. สำหรับประโยชน์ของเตียงที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต จะเห็นได้ว่า ในครั้งที่มีการสร้างวิหารถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ในครั้งแรกนั้น ไม่มีบานประตู พระผู้มีพระภาคก็ทรงพุทธานุญาตบานประตู และทรงอนุญาตเครื่องประกอบต่างๆ เพื่อความเหมาะสม เช่น พุทธานุญาตบานหน้าต่าง และสำหรับการที่ทรงพุทธานุญาตเครื่องลาด ข้อความใน พระวินัยปิฎก ภาค ๒ พุทธานุญาตเครื่อง มีว่า

    สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายนอนบนพื้นดิน เนื้อตัวและจีวรแปดเปื้อนด้วยฝุ่น จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลาดด้วยหญ้า

    หญ้าที่ลาดถูกหนูบ้าง ปลวกบ้างกัด …

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผ่นกระดานคล้ายตั่ง

    เมื่อนอนบนแผ่นกระดานคล้ายตั่ง เนื้อตัวไม่สบาย …

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงถักหรือสาน

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ที่ทรงพุทธานุญาตนี้ ก็เพื่อความเหมาะควรต่างๆ นั่นเอง เช่นข้อความที่ว่า

    สมัยนั้น วิหารมุงด้วยหญ้า ถึงฤดูหนาวก็หนาว ถึงฤดูร้อนก็ร้อน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลง แล้วฉาบด้วยดินทั้งข้างนอกข้างใน

    เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ตามความเหมาะควรของเพศสมณะ

    สำหรับข้อความที่แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติศีลข้อนี้ โดยมุ่งหมายการนอน ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๒๖๗ มีข้อความว่า

    สมัยนั้น ชาวบ้านตกแต่งที่นอนสูงที่นอนใหญ่ไว้ในโรงอาหาร ณ ละแวกบ้าน คือ เก้าอี้นอน เตียงใหญ่ ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดพรมขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ อันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่นั่งทับ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่เป็นคิหิวิกัฏ เว้นเครื่องลาด ๓ ชนิด คือ เก้าอี้นอน เตียงใหญ่ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น นอกนั้นนั่งทับได้ แต่จะนอนทับไม่ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พุทธานุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งเป็นคิหิวิกัฏ

    ข้อ ๒๖๘

    สมัยนั้น ชาวบ้านตกแต่งเตียงบ้าง ตั่งบ้าง ที่ยัดนุ่นไว้ในโรงอาหาร ณ ละแวกบ้าน ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่นั่งทับ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งที่เป็นคิหิวิกัฏได้ แต่จะนอนทับไม่ได้ ฯ

    เพราะฉะนั้น ท่านที่รักษาอุโบสถศีลไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการนั่ง ถ้ามีสถานที่ๆ จัดไว้ นั่งได้ แต่ไม่ควรสำเร็จการนอนในสถานที่ที่ไม่ได้ทรงอนุญาต ไม่มีที่จะนั่งก็นั่งได้ แต่นอนไม่ได้

    สำหรับเรื่องของวิหารที่อยู่ของภิกษุสงฆ์ บางท่านอาจจะสงสัยว่า ควรจะสร้างในลักษณะอย่างไร ใน พระวินัย จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๒๙๐ มีข้อความว่า

    สมัยนั้น นางวิสาขามิคารมารดาใคร่จะให้สร้างปราสาทมีเฉลียง ประดุจเทริดที่ตั้งอยู่บนกระพองช้างถวายพระสงฆ์

    ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการใช้สอยปราสาท หรือไม่ทรงอนุญาตหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการใช้สอยปราสาททุกอย่าง ฯ

    บางครั้งพระสงฆ์ท่านก็ได้รับสิ่งต่างๆ มากมาย แต่บางอย่างก็ควรแก่การใช้สอย บางอย่างก็ไม่ควรแก่การที่จะใช้สอย เมื่อเป็นสิ่งที่ท่านไม่แน่ใจว่า ท่านควรจะใช้ประการใด ท่านก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ซึ่งข้อความใน พระวินัยปิฎก มีว่า

    ข้อ ๒๙๑

    สมัยนั้น สมเด็จพระอัยยิกาของพระเจ้าปเสนทิโกศลทิวงคต เพราะพระนางทิวงคต เครื่องอกัปปิยภัณฑ์เป็นอันมากบังเกิดแก่สงฆ์ คือ เก้าอี้นอน เตียงใหญ่ ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว ... เครื่องลาดมีหมอนข้าง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดเท้าเก้าอี้นอนแล้วใช้สอยได้ เตียงใหญ่ทำลายรูปสัตว์ร้ายเสียแล้วใช้สอยได้ ฟูกที่ยัดนุ่น รื้อแล้วทำเป็นหมอน นอกนั้นทำเป็นเครื่องลาดพื้น ฯ

    ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาย่อมใช้ได้ตามใจชอบ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ควรแก่สมณะ เพราะฉะนั้น การที่สงฆ์ได้รับวัตถุที่เป็นอกัปปิยะ คือ ไม่ควรแก่การที่จะใช้สอย ก็ควรที่จะรู้วิธีว่า ทำอย่างไรวัตถุที่ได้มาจึงจะควรแก่การใช้สอย คือ ถ้าเป็นเตียงสูงหรือเป็นเก้าอี้นอนสูง ก็ให้ตัดเท้าเก้าอี้นอนแล้วใช้สอยได้ ถ้าเป็นเตียงใหญ่ หมายความว่า เป็นเตียงที่มีความวิจิตร มีความสวยงาม ก็ให้ทำลายรูปซึ่งวิจิตรสวยงามนั้นเสียแล้วก็ใช้สอยได้

    เรื่องของอาบัติ โทษสำหรับพระภิกษุซึ่งมีเจตนาใช้ในสิ่งที่ไม่ควร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า ถ้ามีเจตนาที่จะกระทำสิ่งที่จะใช้สอยให้วิจิตรสวยงาม เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าไม่มีเจตนา เพียงแต่การนั่ง หรือการนอน เป็นอาบัติทุกกฎ

    พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ รัตนวรรค สิกขาบทที่ ๕ ข้อ ๗๕๕ มีข้อความว่า

    เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

    โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังนอนอยู่บนเตียงนอนอันสูง พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกตามเสนาสนะ พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ผ่านเข้าไปทางที่อยู่ของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

    ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรเตียงนอนของข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า

    จึงพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับจากที่นั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทราบโมฆบุรุษเพราะที่อยู่อาศัย

    ครั้นแล้วทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยาย ... แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

    พระบัญญัติ

    อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ใหม่ พึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้ว ด้วยนิ้วสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย

    เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ

    สำหรับท่านที่มีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลสด้วยการรักษาอุโบสถศีล ในขณะที่ท่านรักษาอุโบสถศีล เพียงการนอนบนเตียงซึ่งไม่สูงไม่ใหญ่ชั่วครั้งชั่วคราว คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่บางท่านที่ปฏิบัติบ่อยๆ จะรู้สึกสบายมากใช่ไหม ซึ่งการนอนกับพื้นแข็งๆ ในตอนแรกๆ อาจจะรู้สึกไม่สบาย เจ็บ ปวด แต่ถ้าได้กระทำบ่อยๆ จะรู้สึกว่าเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เป็นโทษเลย

    สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือนภิกษุ ที่จะให้เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสตั้งแต่ตื่นจนหลับ ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค โอปัมมสังยุต กลิงครสูตร ข้อ ๖๗๔ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุทั้งหลายได้ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    พระพุทธเจ้าข้า ฯ

    ข้อ ๖๗๕

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบัน พวกกษัตริย์ลิจฉวีผู้ทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรในการฝึกซ้อมศิลปะ พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ย่อมไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาสแต่กษัตริย์ ลิจฉวีเหล่านั้น ในอนาคตกาล พวกกษัตริย์ลิจฉวีจักเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีมือและเท้าอันอ่อนนุ่ม จักสำเร็จการนอนบนที่นอน มีฟูกและหมอนหนาอันอ่อนนุ่ม จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ จักได้ช่อง ได้โอกาสแต่กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น ฯ

    จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่เป็นผู้ประมาท เมื่อนั้นศัตรูย่อมได้ช่อง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ลิจฉวี หรือว่าจะเป็นพระภิกษุก็ตาม ก็ไม่ควรจะเป็นผู้ที่ประมาทในการที่จะให้ช่องแก่ศัตรู ซึ่งศัตรูของแต่ละท่านก็ต่างกัน คือ ถ้าเป็นกษัตริย์ ศัตรูคือกษัตริย์อื่นที่จะช่วงชิงเขตแดน ถ้าเป็นสมณะ ศัตรูนั้นก็คือกิเลส ซึ่งจะทำให้เกิดความยินดีพอใจ หรือความยินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏ

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ข้อ ๖๗๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบัน พวกภิกษุผู้เข้าไปทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ในการเริ่มตั้งความเพียรอยู่ มารผู้มีบาปย่อมไม่ได้ช่อง ย่อมไม่ได้โอกาสแต่ภิกษุเหล่านั้น ในอนาคตกาล พวกภิกษุจักเป็นสุขุมาลชาติ มีมือเท้าอันอ่อนนุ่ม จักสำเร็จการนอนบนที่นอน มีฟูกและหมอนหนาอันอ่อนนุ่ม จนกว่าพระอาทิตย์ขึ้น มารผู้มีบาปย่อมได้ช่อง ได้โอกาสแต่พวกเธอเหล่านั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งหมอนท่อนไม้หนุนศีรษะและเท้า ไม่ประมาท มีความเพียร ในการเริ่มตั้งความเพียรไว้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    จุดประสงค์ไม่ใช่เพียงให้นอนบนที่นอนแข็งๆ บนกระดานไม้ หรือว่าเพื่อที่จะให้ทรมาน แต่เพื่อที่จะให้เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยการเป็นผู้ที่ไม่ประมาทแม้ในขณะที่นอน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอนบนที่นอนชนิดใดก็ตาม แล้วแต่เพศฆราวาสหรือบรรพชิต แต่จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรที่จะหลงลืมสติ ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ท่านรู้จักตัวของท่านตามความเป็นจริงในเรื่องของที่นอนหรือไม่ว่า ท่านเป็นผู้ที่ติดในที่นอนมากหรือว่าน้อย บางท่านนอนที่อื่นไม่ได้ จะไปไหนก็ไปไม่ได้ เป็นห่วงในเรื่องของที่นอนมากกว่าเรื่องอื่น กลัวว่าจะนอนลำบาก จะนอนไม่หลับ จะไม่สบาย แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องกั้นอันหนึ่ง ที่ทำให้ท่านต้องติดอยู่ในที่นอน ด้วยความสะดวกสบายในโผฏฐัพพะที่ท่านพอใจ

    แต่ละท่านควรจะได้ทราบว่า ตามความเป็นจริง ชีวิตในวันหนึ่งๆ เกือบจะไม่มีใครทราบว่า จะนอนที่ไหน โดยเฉพาะในการเดินทาง แต่ถึงไม่เดินทาง ปกตินอนที่บ้าน แต่ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาจจะไม่ได้นอนที่บ้านเสียแล้ว อาจจะต้องเปลี่ยนสถานที่นอน หรือว่าอาจจะมีเหตุจำเป็น มีธุรกิจรีบด่วนต่างๆ ที่จะต้องไปในบางสถานที่ ก็ไม่ได้นอนในที่ที่เคยนอนอย่างสบาย

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในขณะไหนเลย แม้แต่ในเรื่องของสถานที่นอน อาจจะได้รับความลำบากมากในการนอน ทนได้ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เดือดร้อนไหม ก็รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยแล้ว ไม่มีธรรมอะไรๆ ที่สามารถจะเกิดขึ้นมาได้เลย ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจะประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างไร ในขณะไหน ในวันใด ย่อมมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่เดือดร้อนเท่ากับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน และขอให้สังเกตดูชีวิตของพระสาวกทั้งหลาย และชีวิตของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสมบัติ ในเรื่องของสถานที่อยู่ ก็มีสถานที่หลับที่นอนที่สะดวกสบายมาก แต่แม้กระนั้น ในการที่พระผู้มีพระภาคและพระสาวกสละชีวิตของการครองเรือนสู่เพศบรรพชิต ที่นอนไหนจะสบายกว่ากัน ลองคิดดู

    ถ้าเป็นคนที่ยังมีกิเลส ยังมีความติดข้องในที่นอนสบาย ก็ย่อมจะทนภาวะของเพศบรรพชิตไม่ได้ แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษและก็รู้ว่าไม่ควรจะมีความยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อสละความสะดวกสบาย ความติดข้องในชีวิตของการครองเรือน ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่มีสมบัติ แม้แต่เรื่องของสถานที่นอน ก็เป็นเรื่องที่นอนได้สบาย เพราะเป็นผู้ที่มีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เหมือนท่านที่นอนสบายในบ้าน แต่ว่าไม่มีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่นำความทุกข์มาให้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่นอน แต่เป็นเรื่องกิเลส การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๕๕๑ – ๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564