แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591


    ครั้งที่ ๕๙๑


    ข้อความต่อไปใน ทุติยสมันตภาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกกัณฑวรรณนา โอวาทสิกขาบทที่ ๑ วรรคที่ ๗ เรื่องมารยาทในการแสดงธรรม มีว่า

    บทว่า สยนคตสฺส มีความว่า ภิกษุผู้ยืนหรือนั่งบนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนภูมิประเทศก็ดี แม้สูง จะแสดงธรรมแก่ (คนไม่เป็นไข้) ผู้นอนอยู่ ชั้นที่สุดบนเสื่อลำแพนก็ดี บนพื้นตามปกติก็ตาม ไม่ควร

    ท่านนอนๆ อยู่อย่างนี้ แล้วภิกษุท่านจะมาแสดงธรรมกับท่าน ในขณะนั้น ไม่เป็นการเคารพในธรรม

    แต่ภิกษุผู้อยู่บนที่นอน จะนอนบนที่นอนสูงกว่า หรือมีประมาณเสมอกัน แสดงธรรมแก่ผู้ไม่เป็นไข้อยู่บนที่นอน ควรอยู่ ภิกษุผู้นอน จะแสดงธรรมแก่คนผู้ไม่เป็นไข้ ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี ควรอยู่ แม้ภิกษุนั่ง จะแสดงธรรมแก่คนผู้ยืน หรือว่านั่งก็ควร ภิกษุยืน จะแสดงธรรมแก่ผู้ยืนเหมือนกันก็ได้

    ๒ บทว่า น ฐิเตน นิสินฺนสฺส มีความว่า ถ้าแม้ว่า พระมหาเถระนั่งบนอาสนะ ถามปัญหากะภิกษุหนุ่มผู้มายังที่บำรุงของพระเถระแล้วยืนอยู่ เธอไม่ควรกล่าว แต่ด้วยความเคารพ เธอไม่อาจกล่าวกะพระเถระว่า นิมนต์ท่านลุกขึ้นถามเถิด จะกล่าวด้วยตั้งใจว่า เราจักกล่าวแก่ภิกษุผู้ยืนอยู่ข้างๆ ควรอยู่

    ในคำว่า น ปจฺฉโต คจฺฉนฺเตน นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้าคนผู้เดินไปข้างหน้า ถามปัญหากับภิกษุผู้เดินไปข้างหลัง เธอไม่ควรตอบ จะกล่าวด้วยใส่ใจว่า เราจะกล่าวกับภิกษุผู้อยู่ข้างหลัง สมควร จะสาธยายธรรมที่ตนเรียนร่วมกัน ควรอยู่ จะกล่าวกะบุคคลผู้เดินคู่เคียงกันไป ก็ควร

    แม้ในคำว่า น อุปเถน นี้ ก็มีวินิจฉัยว่า แม้ชนทั้งสองเดินคู่เคียงกันไปในทางเกวียน ตามทางล้อเกวียนคนละข้าง หรือออกนอกทางไป จะกล่าวก็ควร

    สำหรับเรื่องของการนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อมในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บุคคลที่อยู่ในบ้าน จนกระทั่งถึงบุคคลภายนอกบ้าน พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๘๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษ ผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ปฏิบัติผิดในบุคคล ๒ จำพวก ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย บุคคล ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ปฏิบัติผิดในบุคคล ๒ จำพวกนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบแหลม ปฏิบัติชอบในบุคคล ๒ จำพวก ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย บุคคล ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบแหลม ปฏิบัติชอบในบุคคล ๒ จำพวกนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย ฯ

    ท่านอยากจะดับกิเลสถึงนิพพาน แต่ถ้าไม่รู้หน้าที่ของท่านที่จะปฏิบัติต่อผู้ที่ควรนอบน้อมอย่างยิ่ง คือ มารดาบิดา แสดงว่ากิเลสของท่านมากมายหนาแน่นเหลือเกิน จะดับกิเลสถึงพระนิพพานเป็นพระอริยบุคคลได้อย่างไร เพราะขาดการที่จะอบรมเจริญสติให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะว่าแต่ละท่านย่อมมีมารดาบิดาที่เคารพ เป็นบุคคลที่ควรแสดงความนอบน้อม เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมซึ่งเป็นอกุศลจิตซึ่งมีต่อท่าน การขัดเกลากิเลสก็ยากนักที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๓๘๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ปฏิบัติผิดในบุคคล ๒ จำพวก ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย บุคคล ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ พระตถาคต ๑ สาวกของพระตถาคต ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษผู้เขลา ไม่เฉียบแหลม ปฏิบัติผิดในบุคคล ๒ จำพวกนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกจำกัด ให้ถูกทำลาย เขาย่อมเป็นไปกับด้วยโทษ ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบาปเป็นอันมากอีกด้วย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลม ปฏิบัติชอบในบุคคล ๒ จำพวก ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย บุคคล ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ พระตถาคต ๑ สาวกของพระตถาคต ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบแหลม ปฏิบัติชอบในบุคคล ๒ จำพวกนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย เขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย ฯ

    ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า จะปฏิบัติต่อท่านที่กล่าวมาแล้วอย่างไร ทราบว่า ควรจะนอบน้อมเคารพบูชาท่าน แต่ว่าวิธีที่จะแสดงความนอบน้อมเคารพบูชาท่านนั้น ควรจะกระทำอย่างไร

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เทวทูตวรรคที่ ๔ พรหมสูตร ข้อ๔๗๐ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีพรหม สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีบูรพาจารย์ สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าบูรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร ฯ

    มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบูรพาจารย์ และว่าอาหุไนยบุคคล เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดาด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

    . อย่างเราเป็นภิกษุ เป็นผู้มีธรรมเหนือกว่ามารดาบิดาผู้เป็นคฤหัสถ์ ถ้าหากว่าพระภิกษุต้องการจะปรนนิบัติมารดาบิดาในฐานะที่ท่านไม่สามารถช่วยตัวเองได้ หากความลำบากจะพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น มารดาบิดาจะได้รับวิบากนั้นหรือไม่ จะเป็นผลกรรมหรือไม่

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระภิกษุเกื้อกูลอุปการะแก่มารดาบิดาไว้หลายประการในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของผ้า ในเรื่องของการเจ็บไข้ ในเรื่องของการปรุงยารักษาโรค ในเรื่องของการพยาบาลเท่าที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะเหตุว่า การกระทำนั้นเป็นกุศล เป็นกิจที่ควรกระทำ กระทำได้

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๗๘ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทน ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑

    เพื่อให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงกิจหน้าที่ของท่านที่จะเจริญกุศล ควรจะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ท่านอุปการะกระทำตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้น ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็น อิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

    ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา ฯ

    เป็นการกระทำที่ยาก เพราะเหตุว่าในการที่จะบำรุงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง บิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง และนวด อบกลิ่น ให้อาบน้ำ หรือว่าให้ท่านทั้งสองถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง ก็ยังคงไม่ยากเท่ากับการที่บุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นใน จาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา

    เพราะฉะนั้น โดยมาก มารดาบิดาทั้งหลายย่อมคิดว่า ท่านเป็นผู้กระทำกิจอบรมสั่งสอนบุตรธิดา ส่วนการที่บุตรธิดาจะตอบแทนท่านโดยการที่ให้ท่านผู้มีศรัทธายังไม่ตั้งมั่นให้ตั้งมั่น ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจา ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็คงต้องอาศัยกุศลจิต และมีความอดทน มีความพากเพียรที่จะกระทำด้วยจิตที่อ่อนน้อม เคารพ เป็นกุศลจริงๆ ส่วนการที่จะเป็นผลมากน้อยเพียงไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แต่ให้ทราบว่า นั่นเป็นกิจ เป็นหน้าที่โดยตรงที่แท้จริงที่ควรจะกระทำต่อมารดาบิดาด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อุปการะตอบแทนท่านด้วยกาย เป็นกิจที่กระทำได้ยากและส่วนมากก็อาจจะลืมคิดถึงมารดาบิดา หรือคิดถึงน้อยกว่าบุตรธิดา

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อ ๒๗๗

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญู อกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้ เป็นภูมิสัตบุรุษ ฯ

    สำหรับเรื่องของการที่จะปฏิบัติต่อพระตถาคตและสาวกของพระตถาคต ซึ่งหมายถึงการนอบน้อมแสดงความเคารพต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ใน ปัญจมสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ปริวารวรรณนา กติปุจฉาวรรณนา ว่าด้วยอคารวะ ๖ มีข้อความว่า

    วินิจฉัยในคำว่า พุทฺเธ อคารโว เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้

    ผู้ใด เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ไม่ไปสู่ที่บำรุง เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ไม่ไปสู่เจติยสถาน โพธิสถาน ไม่ไหว้เจดีย์หรือต้นโพธิ์ กางร่มและสวมรองเท้าเที่ยวไปบนลานเจดีย์ พึงทราบว่า คนผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า

    ฝ่ายผู้ใด อาจอยู่แท้ แต่ไม่ไปสู่ที่ฟังธรรม ไม่สวดสรภัญญะ ไม่กล่าวธรรมกถา ทำลายโรงธรรมสวนะเสีย แล้วไป มีจิตฟุ้งซ่านหรือไม่เอื้อเฟื้อนั่งอยู่ พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระธรรม

    ผู้ใด ไม่ประจงตั้งไว้ซึ่งความยำเกรงในพระเถระ ภิกษุใหม่และภิกษุผู้ปานกลาง แสดงความคะนองกายในที่ทั้งหลาย มีโรงอุโบสถ เป็นต้น ไม่ไหว้ตามลำดับ ผู้แก่ พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระสงฆ์

    ฝ่ายผู้ใด ไม่สมาทานศึกษาไตรสิกขาเสียเลย พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในสิกขา

    ฝ่ายผู้ใด ตั้งอยู่ในความประมาท คือ ในความอยู่ปราศจากสติเท่านั้น ไม่พอกพูนลักษณะแห่งความไม่ประมาท พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท

    อนึ่ง ผู้ใดไม่กระทำเสียเลยซึ่งปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้ คือ อามิสปฏิสันถาร ธรรมปฏิสันถาร พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในปฏิสันถาร

    ส่วนเนื้อความในคารวนิทเทส พึงทราบในลักษณะที่ตรงกันข้ามที่กล่าวแล้ว

    . ผู้ที่เข้าไปในโบสถ์โดยไม่ถอดรองเท้า หรือที่ศาลาการเปรียญก็ดี ถามว่า จะเป็นการเคารพหรือ

    สุ. เป็นมารยาททั่วไป ซึ่งจะต้องเป็นไปตามบุคคล ตามกาลเทศะด้วย ที่สำคัญที่สุด ถอดรองเท้าแล้วก็จริง แต่ไม่เคารพได้ไหม จิตยังมีอกุศลเกิดขึ้น ความหยาบกระด้าง บางครั้งแสดงความเคารพ บางครั้งไม่แสดงความเคารพ ทั้งๆ ที่ก็อยากจะแสดงความเคารพ แต่จิตที่ไม่นอบน้อมเกิดขึ้นขณะใด ไม่ได้แสดงความเคารพในขณะนั้น เป็นเรื่องที่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    การที่จะแสดงความเคารพนี้ บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า จะแสดงอย่างไรในสถานที่ต่างๆ เป็นต้นว่า ในสถานที่แห่งหนึ่ง การแสดงความเคารพต่อสถานที่นั้น อาจจะต้องใส่รองเท้า จึงจะแสดงถึงความเคารพในสถานที่ก็เป็นได้ หรือว่าในสถานที่อื่น การแสดงความเคารพต้องถอดร้องเท้า จึงจะเป็นการแสดงความเคารพก็เป็นได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของมารยาทที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเฉพาะสถานที่ เฉพาะเหตุการณ์ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ สภาพของจิต ไม่ว่าจะใส่รองเท้า หรือจะถอดรองเท้าก็ตาม สติสามารถระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ประกอบด้วยสภาพของจิตที่อ่อนน้อม อ่อนโยน มีความเคารพในสถานที่นั้น หรือว่าปราศจากความเคารพ เพราะเหตุว่า เป็นจิตที่กระด้าง หรือว่าเป็นจิตที่สำคัญตนในขณะนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๙๑ – ๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564