แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 592


    ครั้งที่ ๕๙๒


    . พุทธบริษัททุกคนน่าจะรู้ว่า สถานที่ที่ทำปาติโมกข์เป็นสถานที่ที่ควรทำความเคารพ และการที่ถอดรองเท้านั้น เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา เป็นการแสดงความเคารพ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีจิตเคารพ แต่ไม่ถอดรองเท้านั้น กระผมเห็นว่า เป็นไปได้ยาก

    สุ. บางครั้ง บางสถานที่ ต้องแต่งตัวให้สวยครบเครื่องจึงจะเป็นการแสดงความเคารพ ถ้าเท้าสกปรก หรือไม่ใส่รองเท้า ก็อาจจะหมายถึงการแต่งตัวไม่เรียบร้อยก็ได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่บุคคล แล้วแต่สถานที่ แล้วแต่กาละ ข้อสำคัญที่สุด คือ สภาพของจิตในขณะนั้น

    แม้จำเป็นที่จะต้องใส่รองเท้า แต่ว่าสติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่อ่อนโยน และเป็นไปในความเคารพ ก็ยังดีกว่าในขณะที่ถอดรองเท้า แต่จิตขณะนั้นกระด้าง ถือตน สำคัญตน ซึ่งสติจะรู้ลักษณะของจิตได้ชัดเจน ถ้าดูเพียงภายนอก ไม่มีใครสามารถจะทราบได้ว่า จิตของผู้ที่ใส่รองเท้า หรือว่าจิตของผู้ที่ถอดรองเท้า มีความเคารพอ่อนน้อมในขณะนั้น แต่ทั้งๆ ที่ถอดรองเท้า จิตอาจจะหยาบกระด้างถือตัวก็ได้

    ถ. เป็นประเพณีที่ดีชนิดหนึ่ง

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็ศึกษาประเพณีโดยละเอียดว่า สำหรับบุคคลใดควรจะกระทำอย่างไร และบุคคลนั้นก็กระทำตามควรแก่ฐานะของบุคคลนั้น แต่ว่าจิตของท่านเองนั้นสำคัญที่ว่า ถ้าขณะนั้นสติไม่ระลึกรู้ จะไม่ทราบเลยว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ท่านถอดรองเท้าแล้ว ท่านอาจจะคิดว่าเป็นกุศลแล้ว แต่ความจริงอกุศลจิตก็ยังเกิดได้ แม้ว่าท่านจะถอดรองเท้าแล้ว

    . พระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูสั่งให้เอามีดกรีดพระบาทของท่าน ก็เป็นเพราะวิบากของท่าน ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเคยใส่รองเท้าเข้าไปในพระอุโบสถ นี่ก็เป็นกรรมชนิดหนึ่ง แต่ถ้าบุคคลมีจิตนอบน้อมใส่รองเท้าเข้าไปในโรงอุโบสถ กรรมนี้จะไม่เกิดหรือ

    สุ. ถ้าจะให้ละเอียด ต้องทราบถึงเจตนาที่เกิดกับจิตในขณะที่พระเจ้า พิมพิสารใส่รองเท้าเข้าไป

    . เรื่องใส่รองเท้าเข้าไปในโบสถ์ ผมว่าแล้วแต่กาลสมัย สมัยหนึ่งรู้สึกว่า ถ้าไม่ใส่รองเท้า ไม่เรียบร้อย ถึงจะเข้าไปในโบสถ์ก็ใส่ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ใจเรา เราเข้าไปด้วยโอหัง หรือโมหจริต หยิ่งยโส เรื่องนี้อยู่ที่จิตและกาลเทศะ

    สุ. การไหว้ เป็นไปได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในบางครั้ง ทั้งๆ ที่ท่านเคยเคารพกราบไหว้ในสิ่งที่ควรเคารพกราบไหว้ ในบางเวลา ในบางกาละ ท่านอาจจะทำไม่ได้ แต่ท่านยังคงมีความนอบน้อมทางใจได้ เป็นการไหว้ทางใจ

    ถ. จริงอย่างอาจารย์ว่า เช่น มัฏฐกุณฑลี ใครๆ ก็รู้จัก นิทานธรรมบท มัฏฐกุณฑลีเป็นลูกพราหมณ์คนหนึ่ง พ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ วันหนึ่งมัฏฐกุณฑลีเจ็บ พ่อไม่พาไปหาหมอ เอายากลางบ้านมาให้กิน หนักเข้าชักไม่ดีจะตายแล้ว พ่อเห็นลูกท่าไม่ดีเข้าตรีทูตแล้ว ก็นำไปนอนไว้ที่ระเบียง เพราะเกรงว่าคนมาเยี่ยมจะเห็นสมบัติเข้า เผอิญวันนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเล็งพระญาณเห็นมัฏฐกุณฑลีจะตาย ท่านก็เสด็จมา มัฏฐกุณฑลีทีแรกนอกผินหลังเข้าระเบียง เห็นแสงสว่างวาบมา ก็พลิกตัว เห็นพระผู้มีพระภาค มือยกขึ้นไหว้ไม่ได้ จะลุก ก็ลุกไม่ได้ ทำใจให้เลื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์กล่าวเป็นการถูกต้อง มือไหว้ไม่ได้ นั่งพับเพียบไม่ได้ แต่ใจเลื่อมใส ไปสวรรค์ได้เหมือนกัน อย่างเช่นมัฏฐกุณฑลีนี้

    สุ. ขอยกตัวอย่าง วัดที่เมืองไทยนี้มากหรือน้อย วัดที่ ๑ ก็ไหว้ทางกาย วัดที่ ๒ ก็ไหว้ พอผ่านไปสัก ๑๐ วัด ๒๐ วัด ยังไหว้อยู่หรือไม่ บางทีความนอบน้อมนี้เป็นไปโดยทางใจ ไม่ได้เป็นไปทางกายก็ได้ อย่างอยุธยา บางท่านก็ไหว้ไปตลอด จนกระทั่งเผลอไหว้ร้านตัดผมเข้า

    ถ. ผมมีตัวอย่างจริงๆ ผมบวชอยู่วัดอนงค์ คุณสอนเป็นคนตาบอด และเป็นคนแปลกๆ ตอนนั้นไปไปกุฏิพระครูคำ คุณสอนก็นั่งเหยียดเท้าไปทางพระอุโบสถ พระครูคำก็บอกว่า อย่าเหยียดเท้าไปทางพระอุโบสถ แต่จะเหยียดไปทางไหนก็ พระอุโบสถทั้งนั้น วัดสำเพ็ง วัดพิชัยญาติ เราก็เหยียดไปโดยจิตเป็นกุศล อย่างที่อาจารย์ว่า อยุธยาวัดตั้ง ๘๐ วัด

    สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ลักษณะของจิต ในขณะนั้นเป็นจิตที่อ่อนโยน นอบน้อม โดยที่จะแสดงทางกายหรือไม่แสดงก็ได้ จะแสดงทางวาจาหรือไม่แสดงก็ได้ แต่สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น ซึ่งก็อย่าถือเป็นข้อแก้ตัว เพราะบางครั้งที่ไม่ไหว้ มาจากจิตที่หยาบกระด้าง แต่บางครั้งจิตอ่อนโยน อาจจะไหว้หรือไม่ไหว้ ก็เป็นได้

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตรงต่อลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น เพราะท่านไม่สามารถมีกุศลจิตได้ตามความต้องการหรือตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าพอไปถึงวัดก็เกิดกุศลจิตตลอด บางครั้งบางขณะอกุศลจิตก็เกิดขึ้นเป็นไป เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดไม่ไหว้ สติเกิด จะรู้ว่าขณะที่ไม่แสดงออกทางกาย จิตเป็นสภาพที่อ่อนโยน หรือว่าเป็นสภาพของอกุศลจิตที่หยาบกระด้าง ก็ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นๆ ตามความเป็นจริง ท่านจึงจะขัดเกลากิเลสของท่านได้ยิ่งขึ้น เพราะเห็นว่า จิตของท่านยังมีความหยาบกระด้าง เป็นอกุศลเพราะว่าสะสมมามากเหลือเกิน

    , คนส่วนมากไหว้ เพราะคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ งมงาย เพื่อขออะไรให้ตัวเอง ผมถือว่าไหว้ด้วยความงมงายไม่ใช่น้อยเลย

    สุ. เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เพราะว่าจะทำให้รู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้

    ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ปัญญาจะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ละท่านก็คงจะติดในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความยึดมั่นในเทพบ้าง หรือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นบ้าง แต่ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะรู้ในความเป็นอนัตตา ในความเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าไม่มีอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุ ผลนั้นๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกรรมของท่านเอง เหตุต้องมาจากตัวท่าน สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏนั้น จึงเกิดขึ้นกับท่าน ซึ่งการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน จะทำให้ละคลายสีลัพพตปรามาส การยึดมั่น ความ งมงาย การยึดถือในสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่เป็นการเชื่อมั่นในเหตุและผล คือ กรรมและวิบาก

    แต่ก่อนนั้นก็มีหลายท่านซึ่งติดอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ต่อเมื่อได้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ละคลาย และทิ้งการยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลออกได้

    . การอธิษฐานจิต ขอให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้เราบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ หรือสิ้นอาสวกิเลส อันนี้เป็นการถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม

    สุ. ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย

    . ในการที่เรากระทำความทำดี หรือผลบุญต่างๆ ขอให้ได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นการขอสิ่งศักด์สิทธิ์ให้ดลบันดาลไหม

    สุ. ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ คุณพระศรีรัตนตรัยคืออะไร อยู่ที่ไหน ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ที่คิดอย่างนั้น

    พระศรีรัตนตรัย ทุกคนน่าจะเข้าใจดีแล้ว ได้แก่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก ย่อมไม่มีผู้ใดสามารถที่จะรู้หนทางที่จะประพฤติปฏิบัติดำเนินไปสู่การดับทุกข์ได้และพระธรรมก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ และขออำนาจ คุณพระศรีรัตนตรัยมาคุ้มครองโดยไม่ประพฤติปฏิบัติ ส่วนตนเองอาจจะทำกรรมซึ่งเป็นอกุศล และไม่เข้าใจในคุณของพระศรีรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่า คุณของพระศรีรัตนตรัย คือ คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นปัจจัยที่จะให้ได้รับวิบากอย่างไร

    สำหรับเรื่องของคารวะ ๖ จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของการปฏิบัติทั้งสิ้น เช่น ข้อที่ ๑ การเคารพในพระพุทธเจ้า คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ ไปสู่ที่บำรุง นี่ก็คือการปฏิบัติ เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ไปสู่เจติยสถาน โพธิสถาน ไหว้พระเจดีย์หรือต้นโพธิ์ นี่ก็เป็นการปฏิบัติ เป็นการกระทำความเคารพในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สำหรับการไม่เคารพในธรรม คือ ผู้ที่สามารถจะไปฟังธรรมได้ แต่ไม่ไปสู่ที่ฟังธรรม ไม่สวดสรภัญญะ ไม่กล่าวธรรมกถา ทำลายโรงธรรมสวนะเสีย แล้วไป มีจิตฟุ้งซ่านหรือไม่เอื้อเฟื้อ นั่งอยู่ พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระธรรม

    ถ้าเคารพจริง ย่อมกล่าวธรรมกถา และมีจิตไม่ฟุ้งซ่านในขณะที่ฟังธรรม คือ ฟังธรรมด้วยความเคารพ เป็นการเคารพในธรรม

    สำหรับผู้ที่ไม่มีความเคารพในสงฆ์ ก็ไม่ยำเกรงในพระเถระ ในภิกษุใหม่ และในภิกษุผู้ปานกลาง และแสดงความคะนองกายในที่ทั้งหลาย มีโรงอุโบสถ เป็นต้น หรือว่าสำหรับพระภิกษุ ก็ไม่ไหว้ตามลำดับผู้แก่ ก็ทราบได้ว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระสงฆ์

    และสำหรับการไม่เคารพในสิกขา มีข้อความว่า

    ฝ่ายผู้ใด ไม่สมาทานศึกษาไตรสิกขาเสียเลย พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในสิกขา

    คือ ไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นคุณค่า ไม่เคารพ จึงไม่ศึกษา นั่นเป็นการไม่เคารพในสิกขา คือ ไม่เคารพในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่เห็นคุณ ไม่เห็นประโยชน์ แต่สำหรับผู้ที่มีความเคารพในไตรสิกขา คือ เห็นประโยชน์ และศึกษาด้วยความเคารพ

    สำหรับผู้ที่ไม่เคารพในความไม่ประมาท คือ ผู้ที่อยู่ปราศจากสติ ไม่พอกพูนลักษณะแห่งความไม่ประมาท แสดงว่า ไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท

    เพราะฉะนั้น การเคารพทั้งหมดเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ถ้าเคารพในความไม่ประมาท คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นการพอกพูนลักษณะแห่งความไม่ประมาท เพราะเห็นคุณ เห็นประโยชน์ จึงมีความเคารพในความไม่ประมาท

    หรือแม้ในเรื่องปฏิสันถาร ๒ อย่าง คือ อามิสปฏิสันถาร กับธรรมปฏิสันถาร ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเห็นคุณ เห็นประโยชน์ในการต้อนรับด้วยอามิส ด้วยวัตถุสิ่งของ ซึ่งจะเป็นที่สบายใจสะดวกใจแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติ คือ ให้ อามิสปฏิสันถาร

    สำหรับธรรมปฏิสันถาร ก็เป็นผู้ที่เคารพในธรรมปฏิสันถาร เพราะเห็นคุณค่าของธรรมว่า สิ่งที่ควรให้ที่สุดคือธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อพบปะบุคคลใด ก็มี ธรรมปฏิสันถาร เพราะว่าเป็นผู้ที่ความเคารพในธรรมปฏิสันถาร

    เรื่องของการเคารพ เป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการที่จะละคลายกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียด ตราบใดสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดจริงๆ ย่อมไม่สามารถที่จะถึงความดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ ก็มีจิตใจที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เช่น ในขณะที่จิตอ่อนโยน มีความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ในขณะนั้นเป็นกุศล ถ้าสติระลึกรู้ ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สำหรับการแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อมอย่างไร ใน พระวินัยปิฎก ปริวาร เรื่องบุคคลไม่ควรไหว้ เป็นเรื่องของกาลที่จะแสดงความเคารพว่า ควรจะแสดงความเคารพในเวลาที่เหมาะที่ควรด้วย

    ข้อ ๑๒๒๕

    ท่านพระอุบาลีได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ มีเท่าไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้นี้มี ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ

    ๑. ภิกษุผู้เข้าไปสู่ละแวกบ้าน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๒. ภิกษุผู้เข้าไปสู่ถนน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๓. ภิกษุผู้อยู่ในที่มืด อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ซึ่งข้อความใน ปัญจมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ปริวารวรรณนา อธิบายว่า

    ถ้าไหว้ผู้ที่อยู่ในที่มืด บางทีหน้าผากของผู้ไหว้ก็จะกระทบกับเท้าเตียง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บาดเจ็บ

    ๔. ภิกษุผู้ไม่เอาใจใส่ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    หมายความว่า ในขณะนั้นท่านเป็นผู้ที่ไม่ได้สนใจในเรื่องการไหว้ เพราะว่าท่านกำลังเป็นผู้ที่ขวนขวายในการประกอบกิจการงานอยู่

    ๕. ภิกษุผู้หลับ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ดูกร อุบาลี ภิกษุอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้มี ๕ นี้แล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๙๑ – ๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564