แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 554


    ครั้งที่ ๕๕๔


    สุ. เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมโดยละเอียด โดยทั่วจริงๆ และเครื่องพิสูจน์สำหรับท่านที่ไปอยู่ในบางสถานที่และคิดว่าอบรมรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมมากแล้ว ก็คือ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้ไหม เมื่อใดที่สติเริ่มเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อนั้นแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งจากการอบรมอย่างนี้ สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น เป็นปัจจัยให้เกิดการละคลายมากขึ้น จึงจะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน และประจักษ์ว่า สภาพธรรมใดเกิดแล้วดับ

    ถ. ผมขอเรียนถามว่า พองยุบนี้เป็นรูปนามหรือเปล่า หรือเป็นอะไร ปัญหานี้ถกเถียงกันมาก ผมถกเถียงแล้วก็ไม่เข้ากับคนอื่นเขา คนอื่นเขาว่าเป็นทั้งรูปทั้งนามบ้าง ผมก็บอกว่า ไม่ใช่ทั้งรูปทั้งนาม ผมก็อธิบายไม่ค่อยได้ ขอความกรุณาอธิบายเรื่องนี้ให้แจ่มแจ้งด้วย

    สุ. เป็นรูปอะไร น่าคิดใช่ไหม ถ้าจะว่าเป็นรูป เป็นรูปอะไร ถ้าจะว่าเป็นวาโยธาตุ ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ หรือบางท่านอาจจะยืน มีรูปใดปรากฏให้รู้ ทันทีที่สติเกิดสติจะระลึกรู้ลักษณะของรูปใดโดยไม่ต้องจงใจ หรือเจาะจงที่จะคิดว่า จะต้องไปรู้รูปอย่างนั้น รูปอย่างนี้ แต่ว่าทันทีที่สติเกิด จะมีลักษณะอาการของรูปจริงๆ ปรากฏ ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นอนัตตา เพราะกำลังปรากฏ ระลึกตรงลักษณะของรูปนั้นจริงๆ

    การที่จะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่พองหรือยุบ จะเป็นในอาการเดียวกับการที่ไปเข้าใจว่า เวลาที่ยกมือ หรือก้าวขาไปเป็นรูปไหว ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดร่วมกันจริง แต่มีลักษณะที่ต่างกันไป ธาตุดินมีลักษณะที่แค่นแข็ง ธาตุน้ำมีลักษณะที่ไหลหรือเกาะกุม ธาตุไฟมีลักษณะที่เย็นร้อน ธาตุลมมีลักษณะที่ตึงหรือไหว ถ้านั่งเฉยๆ ไม่รู้สึกตึง ก็อย่าพยายามไปรู้ธาตุลม เพราะว่าไม่มีอาการที่ปรากฏ หรือว่าถ้ายกมือขึ้นหรือก้าวไป แต่ว่าลักษณะของธาตุไหวจริงๆ ไม่ได้ปรากฏ ก็อย่าพยายามที่จะเข้าใจหรือคิดเองว่า ได้รู้ลักษณะของธาตุไหวเพียงโดยการที่เข้าใจว่า เมื่อก้าวไปก็ต้องมีรูปไหว

    ธาตุลมมีจริง จึงได้ไหวไปเป็นอาการก้าวได้ แต่ลักษณะของธาตุลมนั้นจะปรากฏที่กายปสาท เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นอาการส่วนใหญ่ที่พองขึ้นหรือยุบลง แต่ต้องเป็นลักษณะของวาโยธาตุ ส่วนที่ไหวจริงๆ ในรูปซึ่งกระทบกับกายปสาท จึงจะเป็นรูปที่เป็นปรมัตถธรรมซึ่งมีลักษณะปรากฏจริงๆ และเมื่อปัญญาระลึกรู้ ก็ละการที่จะยึดถือว่า สภาพนั้นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตามปกติเช่นเดียวกับรูปอื่นๆ

    อาการไหวขึ้นมีจริง แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของวาโยธาตุซึ่งอยู่ภายใน ก็จะต้องรู้ด้วยกายปสาทในส่วนที่กำลังกระทบแล้วไหว เฉพาะลักษณะของวาโยธาตุนั้นเท่านั้นในขณะนั้น

    อย่างเวลาที่ไหวไปโดยการก้าวขาก็ดี เหยียดมือออกไปก็ดี กายปสาทที่มีอยู่ที่แขนซึมซาบอยู่ทั้งหมด ไม่ได้กระทบกับธาตุลมซึ่งเป็นอาการไหว พอที่จะให้เกิดอาการของธาตุลมปรากฏให้รู้ได้ เพราะฉะนั้น เพียงแต่จะนึกรู้เอาว่า ขณะที่เหยียดแขนออกไปเป็นปรมัตถธรรม เป็นธาตุลม เป็นการรู้ธาตุลม นั่นไม่ถูก เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีลักษณะของธาตุลมปรากฏ เป็นแต่เพียงความทรงจำเท่านั้นเองว่า เป็นอาการที่ไหวไป ฉันใด ความทรงจำในอาการที่พองยุบก็เช่นเดียวกัน เพราะว่าการที่จะประจักษ์ในลักษณะของวาโยธาตุจริงๆ ต้องเป็นลักษณะของธาตุลมภายในซึ่งกระทบกับกายปสาท และปัญญาก็รู้ชัด ไม่ใช่แต่เฉพาะในส่วนที่พองด้วย ที่แขนที่เหยียดออกไป หรือว่าที่ขาที่ก้าวออกไป ก็มีลักษณะของรูปไหว คือ ธาตุลมอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเฉพาะที่พองขึ้นหรือยุบลงที่เป็นธาตุลม

    การที่จะรู้ลักษณะของธาตุลมได้จริงๆ สามารถที่จะรู้ได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งมีมหาภูตรูป และมีธาตุลมกระทบกับกายปสาทเกิดขึ้นปรากฏ แต่ถ้าไม่เกิดขึ้นปรากฏ ก็รู้ไม่ได้ เพราะแม้กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ถ้าท่านระลึกรู้รูปที่ปรากฏที่กาย ตรงไหน ส่วนไหน ลักษณะใดที่ปรากฏ ถ้ารู้แข็งที่กำลังกระทบกายส่วนหนึ่งส่วนใด อย่างบางท่านก็นั่งประสานมือ มีลักษณะของธาตุดิน คือ ความแข็งปรากฏ หรือว่ามีลักษณะของธาตุเย็นร้อนซึ่งเป็นธาตุไฟปรากฏ ในขณะนั้นแม้ว่าจะมีธาตุลม คือ ไหว อยู่ในที่นั้นด้วย แต่เมื่อไม่ปรากฏ ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ในอาการไหวซึ่งมีอยู่ในที่นั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของรูปใดซึ่งกำลังปรากฏและสติระลึกรู้ ส่วนอื่นจะไม่ปรากฏ ถ้ากำลังกระทบแข็งที่นิ้ว ที่มือ รูปอื่นในขณะนั้นไม่ปรากฏในแข็งที่กำลังปรากฏ แขนไม่ปรากฏ เท้าไม่ปรากฏ หน้าไม่ปรากฏ ตัวไม่ปรากฏ ที่ว่าหาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพแข็งที่ปรากฏไม่ได้ เพราะว่ามือไม่ปรากฏ เท้าไม่ปรากฏ ตัวไม่ปรากฏ มีแต่ลักษณะแข็งที่ปรากฏเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตรงต่อสภาพธรรม

    ในอรรถกถาได้แสดงไว้ชัดเจนว่า สำหรับธาตุลมที่หนา จะรู้ได้คือที่ช่องจมูก หรือส่วนที่กระทบกับริมฝีปาก ซึ่งเป็นรูปลมหายใจ นั่นเป็นธาตุลมที่หนา เพราะว่าเป็นธาตุที่ปรากฏอาการไหวจริงๆ ที่กระทบกับกายปสาท หรือว่าส่วนที่ปรากฏให้รู้ได้ ในจมูก มีลมหายใจ ถ้าไม่ประทบกับช่องจมูกหรือกายปสาทที่ช่องจมูก จะรู้ลักษณะของลมที่กระทบไหม ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ได้ คือ รู้ความเป็นปกติของธาตุลมซึ่งมีอยู่ ที่กำลังกระทบกับกายปสาท แต่ไม่ใช่ด้วยความทรงจำว่า เป็นรูปที่เคลื่อนไหว ถ้าเป็นเพียงความทรงจำว่า เป็นรูปที่เคลื่อนไหวเท่านั้น ไม่ใช่การรู้ลักษณะของวาโยธาตุจริงๆ มีใครรู้สึกตึงๆ ตรงไหนบ้างไหม เวลาเดินมากๆ มีแน่ๆ เวลายกของ หนักๆ ก็มี นั่นคือ ลักษณะอาการหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความอ่อน ความแข็ง ผิดกับขณะที่กำลังกระทบสัมผัสส่วนที่แข็ง ที่อ่อน เพราะว่าเป็นการรู้ในลักษณะสภาพที่ตึง อย่างแขนนี้ตึง ยกของหนักมากๆ หรือว่าเดินนานๆ ยืนนานๆ ก็ปรากฏความตึงขึ้น ความตึงนั้นไม่ใช่ความอ่อนหรือความแข็ง

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรมแต่ละรูป แต่ละลักษณะ จะต้องเป็นลักษณะของรูปธรรมส่วนนั้นจริงๆ ที่กำลังกระทบกับกายปสาท ไม่ว่าจะเป็นที่ช่องจมูก เบื้องบนริมฝีปาก ที่แขน ที่เท้า ส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งลักษณะอาการของวาโยธาตุจะปรากฏ และปัญญาของผู้นั้นที่รู้ลักษณะของวาโยธาตุจริงๆ ซึ่งจะรู้ถึงปัจจัยที่ให้วาโยธาตุนั้นปรากฏด้วย จึงจะเพิ่มการละคลาย การไม่ยึดถือวาโยธาตุขณะนั้นว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

    การที่จะเกิดความหน่าย การคลาย การละความยึดติดในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่มีทางละได้เลย อาจจะเข้าใจว่าได้ละกิเลสไปมากเหลือเกิน แต่ว่าละได้อย่างไร ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริง

    ข้อปฏิบัติใดก็ตาม ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมโดยทั่ว โดยละเอียด ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเห็นได้ว่า ผลของการอบรมนั้น จะทำให้เกิดความวิปลาสคลาดเคลื่อนต่างๆ อย่างการโงกง่วง หรือว่ามีอากัปกิริยาต่างๆ ที่ผิดปกติ

    เคยได้รับทราบว่า มีผู้หนึ่งถึงกับกำมือ และเอาใส่เข้าไปในปาก พอลูกเห็นก็ตกใจว่า ทำไมมารดาทำอย่างนั้น ไม่เป็นสติสัมปชัญญะตามปกติเลย

    เมื่อไปอบรมสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติ หรือความคลาดเคลื่อนขึ้นเป็นเหตุ ผลคือความคลาดเคลื่อนนั้นก็ปรากฏเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ปัญญา ปัญญาต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ต้องเป็นสัมปชัญญะ ความเป็นปกติ ไม่ผิดปกติ

    อาจจะได้ยินได้ฟังว่า การปฏิบัติบางแห่งอาจจะได้รับคำแนะนำให้ถอยสมาธิออกมาบ้าง เพราะว่าสมาธิแก่ไป หรืออะไรอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีตัวตนไปพากเพียรพยายามทำด้วยความเป็นตัวตน เมื่อผิดไป ก็ต้องมีเหตุว่าทำไมสมาธิถึงได้มาก ไม่ใช่สติสัมปชัญญะตามปกติ เมื่อสมาธิมาก ปรากฏความผิดปกติ ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้ถอยสมาธิออกมา ซึ่งไม่ได้เป็นการเจริญปัญญาที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามปกติ ที่จะไม่เกิดความผิดปกติใดๆ เลย แต่กลับให้มีตัวตนไปทำขึ้นโดยการที่ว่า ให้ถอยสมาธิออกมา นี่คือตัวตนที่พยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะให้ได้ผลที่ถูกต้อง แต่เมื่อเหตุไม่ถูก คือ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะตามปกติ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้ ถ้าอบรมเจริญต่อไป ก็นำมาซึ่งความผิดปกติหรือความคลาดเคลื่อนต่างๆ ยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมจริงๆ ถ้ารู้ก็รู้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ เพราะว่าปัญญามีมากมายหลายขั้น และโดยมากเท่าที่พูดกัน ก็มักจะเอาปัญญาของท่านที่รู้แล้วมาพูด อย่างเวลาที่ก้าวไป สำหรับท่านที่เจริญปัญญารู้แล้ว ท่านสามารถที่จะรู้ลักษณะของธาตุลม ซึ่งกระทบกายปสาทภายใน ในขณะที่ก้าวได้ ไม่ใช่โดยเพียงขั้นทรงจำว่า เมื่อก้าวก็เป็นไหว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าผู้ที่เจริญปัญญาจริงๆ สามารถรู้ในอาการของธาตุลมซึ่งเกิดขึ้นเพราะจิต เป็นลักษณะของรูปไหวที่กระทบกายปสาทในส่วนที่ปรากฏ ซึ่งขณะนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล

    เมื่อยังไม่ได้อบรมปัญญาถึงขั้นนั้น เมื่อธาตุไหวหรือรูปไหวยังไม่เกิดปรากฏให้รู้ได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทรงจำและคิดว่า นั่นเป็นความรู้ในธาตุไหว ในเมื่อลักษณะของรูปอื่นมีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ทางอื่น เช่น ทางตา หรือทางหู หรือทางกายที่กระทบสัมผัส หรือทางจมูก หรือทางใจที่คิดนึกต่างๆ

    ถ. ในรูป ๒๘ อุปาทายรูป ๒๔ ที่ว่าด้วยกายวิญญัติและวจีวิญญัติ กายวิญญัติที่ว่าเคลื่อนไหวทางกาย ที่จัดว่าเป็นรูปนั้น จะถือเอาธาตุลม หรือกิริยาอาการที่แสดงออก และวจีวิญญัติที่ถือว่าเป็นรูปๆ หนึ่งนั้น คือ คำพูดที่เราพูดออกมา หรือธาตุลมที่เราพูดออกมา ที่จัดว่าเป็นรูป

    สุ. ขอกล่าวถึงกายวิญญัติก่อน กำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ปกติธรรมดา เป็น กายวิญญัติหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะเหตุใด เพราะว่ากายวิญญัติรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ที่ต้องการให้เกิดความหมายของรูปนั้นขึ้น

    การถลึงตา การชายตา การเพ่งจ้อง การยักคิ้ว การกวักมือ การทำสัญญาณใดๆ โดยอาศัยรูป เพื่อที่จะให้เกิดความหมายในรูปนั้นขึ้น รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แล้วแต่ว่าผู้ที่จะให้เกิดกายวิญญัตินั้นมีความประสงค์เช่นไร ที่จะให้เกิดความหมายเช่นไรขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น จิตมีความมุ่งหมายที่จะให้รูปนั้นเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่อยากให้รู้ว่าโกรธ จะทำตาเขียว ตาขุ่น หรือถลึงตาไหม ก็ไม่ แต่เวลาที่อยากจะให้รู้ความหมายในอาการเกิดขึ้นตามความมุ่งหมาย จิตนั้นก็เป็นปัจจัย หรือเป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นมีความหมายที่ให้เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น รูปนี้ต้องเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ที่กำลังมุ่งหมายให้รูปนั้นมีความหมายเช่นนั้น

    รูปเกิดดับเร็วมาก ตราบใดที่จิตยังมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาการอย่างนั้น ให้มีความหมายอย่างนั้น ลักษณะอาการของรูปนั้นก็ปรากฏเกิดขึ้นตามความมุ่งหมายของจิต จนกว่าจิตจะหมดความมุ่งหมายที่จะให้รูปนั้นมีความหมายอย่างนั้น เพราะฉะนั้น กายวิญญัติเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิต โดยที่จิตมีความมุ่งหมายที่จะให้รูปนั้นเป็นรูปที่มีความหมาย

    สำหรับวจีวิญญัติ เป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียงตามความมุ่งหมายของจิต ที่กำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่มีจิตพูดได้ไหม ไม่ได้ และถ้าไม่มีรูปซึ่งเป็นสมุฏฐานให้เกิดเสียงตามความมุ่งหมายของจิต เสียงก็เกิดขึ้นเป็นไปตามความมุ่งหมายไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่ามีรูปซึ่งจะทำให้เกิดเสียงต่างๆ เป็นไปตามความมุ่งหมายของจิต และเมื่อจิตมีความมุ่งหมายที่จะให้เกิดเสียงนั้น ก็ทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น กระทบสัมผัสฐานต่างๆ เช่น ลิ้น ฟัน ริมฝีปาก เป็นต้น ทำให้เกิดเสียงตามความมุ่งหมายของจิต แต่เสียงไม่ใช่วจีวิญญัติ เสียงเป็นอีกรูปหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมวจีวิญญัติ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจิตสมุฏฐาน ปรารถนาที่จะให้วจีวิญญัตินั้นกระทำให้เกิดเสียงในฐานต่างๆ ตามความมุ่งหมายของจิต

    ถ. เสียงที่ออกมาจากการเปล่งของวจีวิญญัตินี้ อาจารย์กล่าวว่า เป็นรูปๆ หนึ่ง

    สุ. เสียงไม่ใช่วจีวิญญัติ เป็นรูปอีกรูปหนึ่งต่างหากจากวจีวิญญัติ

    ถ. ในลักษณะอย่างนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นรูป เพราะว่ามันผสมกันออกมาจากวจีวิญญัติ ที่เราได้ยินว่าเป็นเสียง เพราะว่ามาจากการเปล่ง พอเปล่งออกมาแล้ว เป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งของวจีวิญญัติ

    สุ. เสียงเป็นเสียง แต่ในกลาปของรูปที่มีวจีวิญญัติ ต้องมีเสียงรวมอยู่ด้วย เพราะว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน บางทีร้องคำเดียว มีเสียงเกิดขึ้นแล้วตามความมุ่งหมายของจิต และมีความชำนาญ มีการรู้อย่างดีเหลือเกิน จิตเป็นสภาพที่รู้วิจิตรจริงๆ รู้ว่าทำอย่างไรเสียงนั้นจึงจะเกิดขึ้นอย่างนั้นๆ ได้ และในขณะที่เพียงปรารถนาที่จะให้เสียงนั้นเกิดขึ้นอย่างนั้น ก็มีวจีวิญญัติรูปเกิดขึ้น กระทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้น แต่เสียงนั้นไม่ใช่วจีวิญญัติรูป เป็นอาการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีลักษณะที่สามารถจะทำให้เกิดเสียงขึ้นได้ แต่เสียงไม่ใช่วจีวิญญัติรูป

    นี่เป็นเรื่องชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ได้สังเกต ไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณาว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นต่างกัน ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิด วจีวิญญัติก็เกิดไม่ได้ แต่วจีวิญญัติไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตามปกติธรรมดา อย่างที่แขน ที่มือ ที่หน้า ที่ส่วนต่างๆ ในส่วนอื่นของร่างกาย

    แต่วจีวิญญัติเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม พร้อมด้วยลักษณะอาการที่จะทำให้เกิดเสียงขึ้น ซึ่งในกลาปหรือในกลุ่มของรูปทั้งหมดเหล่านี้ซึ่งเกิดรวมกัน เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ที่กำลังพูด ถ้าไม่เจริญสติจะทราบไหมว่า เสียงเป็นรูปหนึ่งต่างหากซึ่งปรากฏทางหู และที่คิดก็ไม่ใช่เสียง ถ้าปัญญาอบรมเจริญมากขึ้น ก็สามารถที่จะรู้รูปที่เป็นสมุฏฐานที่ให้เกิดเสียงด้วยก็ได้ ตามควรแก่ปัญญาที่อบรมแล้วของแต่ละท่าน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๕๕๑ – ๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564