แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 571


    ครั้งที่ ๕๗๑


    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ หรือว่าศีล ๘ หรือว่าศีล ๑๐ ก็ควรเป็นผู้ที่อบรมเจริญอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อให้เกิดปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย

    จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะรักษาศีลตามควรแก่อุปนิสัยที่สะสมมา ในฐานะของคฤหัสถ์ก็เป็นผู้ที่มีปกติรักษาศีล ๕ แต่ในบางครั้งก็มีกิเลสที่มีกำลังทำให้ล่วงศีลไป แต่เพราะการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง จะช่วยทำให้เวลาที่มีเหตุการณ์ มีเหตุปัจจัยที่มีกำลังที่จะล่วงเป็นทุจริต ผิดศีล ๕ ก็จะมีสติเกิดขึ้นอย่างชำนาญในการที่จะวิรัติทุจริต ทำให้สามารถรักษาศีล ๕ ได้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรักษาศีลได้สมบูรณ์ขึ้นต้องประกอบด้วยธรรม คือ ความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงยิ่งขึ้นด้วย

    ถึงแม้ท่านเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์สักเพียงใดก็ตาม แต่กิเลสที่สะสมมา พร้อมกับการที่ไม่ได้อบรมปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเป็นปัจจัยให้มีการล่วงศีลได้ ศีล ๕ ก็ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ศีลของท่านก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น ศีล ๕ ก็รักษาได้มั่นคง หรือแม้ศีล ๘ ท่านก็สามารถที่จะรักษาได้ เป็นคุณธรรมที่เป็นอุปนิสัยจริงๆ สำหรับผู้ที่บรรลุคุณธรรมขั้นสูง

    สำหรับการรักษาศีล ๘ นั้น ต่างกันเป็น ๓ ลักษณะ คือ เป็นปกติอุโบสถศีล ๑ ปฏิชาครอุโบสถ ๑ ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ ๑ ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรนี อรรถกถา ราชสูตร ได้มีข้อความที่กล่าวถึงอุโบสถ ๓ ประการนี้ คือ

    ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่คฤหัสถ์ส่วนมากรักษากันในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำของข้างขึ้นและข้างแรม

    ซึ่งข้อความนี้ปรากฏใน ราชสูตรที่ ๑ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ ๔๗๖

    ปฏิชาครอุโบสถ เป็นการรักษาอุโบสถ ๒ วัน ๒ คืน คือ วันรับวันหนึ่ง วันรักษาวันหนึ่ง วันส่งวันหนึ่ง

    คือ รักษาก่อนวันรับวันหนึ่ง หมายความถึงรักษาในวันโกนด้วย รักษาในวันพระด้วย ไม่นับวันส่ง

    ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ เป็นการรักษาอุโบสถศีลติดต่อกันตลอดปักษ์ คือ ครึ่งเดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๓ เดือน

    เป็นการจำกัดกาล สำหรับปาฏิหาริยปักขอุโบสถนั้น เป็นการรักษาศีล ๘ ๓ เดือนในระหว่างพรรษา หรือ ๑ เดือนในเขตทอดกฐิน หรือว่าครึ่งเดือนหลังวันปวารณาแรก คือ ครึ่งเดือนหลังออกพรรษา

    สำหรับปาฏิหาริยปักขอุโบสถ มีใน ราชสูตรที่ ๒ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต

    ตามธรรมดาที่รักษากัน เป็นปกติอุโบสถศีล รักษากันวันหนึ่งคืนหนึ่ง ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ของข้างขึ้น กับข้างแรม

    แต่ว่าแล้วแต่คุณธรรม ท่านจะรักษามากกว่านั้นก็ตามอุปนิสัย ท่านสามารถที่จะรักษาติดต่อกันไปได้ตลอดปักษ์หนึ่ง คือ ครึ่งเดือน หรือว่า ๑ เดือน หรือว่า ๓ เดือน สำหรับบางท่านซึ่งมีคุณธรรมสูง ท่านก็อาจจะรักษาได้เป็นปกติทีเดียว

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เสขสูตรที่ ๒ ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า สำหรับผู้ที่อบรมเจริญคุณธรรมรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว จะมีการล่วงสิกขาบทประการใดบ้าง

    เสขสูตรที่ ๒ ข้อ ๕๒๖ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ ศึกษากันอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมดสิกขา ๓ นั้นเป็นไฉน คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และเป็นผู้มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง จะมายังโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่สิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นผู้ผุดขึ้นเกิด จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ หมดสิ้นไป

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จบางส่วน ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย ฯ

    ถ. คำว่า พอประมาณ กับสมบูรณ์ พอประมาณในการทำสมาธิ ถึงขั้นไหนที่เรียกว่าพอประมาณ

    สุ. เรื่องของศีลเป็นเรื่องของกายวาจา ส่วนเรื่องของสมาธิกับปัญญาเป็นเรื่องของจิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมจะล่วงศีลทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เพราะว่ายังไม่ได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต่อเมื่อใดบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ศีล ๕ สมบูรณ์ ไม่ล่วงเลย แต่เพราะเหตุว่าท่านยังไม่ใช่พระสกทาคามี เพราะฉะนั้น ถึงแม้ศีล ๕ ของท่านจะสมบูรณ์ก็จริง แต่เพราะท่านยังไม่ใช่พระอริยบุคคลขั้นสูงกว่านั้น จึงกล่าวว่า สมาธิและปัญญาของท่านยังไม่บริบูรณ์

    สำหรับบุคคลที่อบรมเจริญธรรมต่อไป บรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามี ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเบาบาง จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามี ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะดับหมดไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น สมาธิของท่านจึงบริบูรณ์ ไม่ใช่เพียงขั้นศีลบริบูรณ์ แต่สมาธิบริบูรณ์ด้วย เพราะว่าไม่ข้อง ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นเครื่องผูก เครื่องกั้นไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ได้ และถึงแม้ว่าสมาธิของพระอนาคามีบริบูรณ์ เพราะเหตุว่าดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว แต่เพราะท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ ปัญญาของท่านจึงยังไม่บริบูรณ์ จนกว่าท่านจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไร เมื่อนั้นปัญญาของท่านจึงได้บริบูรณ์

    ถ. ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ หมายความว่าอะไร

    สุ. ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน คือ เดี๋ยวนี้เอง สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ปัญญาของใครยังไม่ได้อบรมพอ ก็ยังไม่ใช่ปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เป็นปัญญาซึ่งกำลังอบรม กำลังเจริญเท่านั้น ยังไม่ถึงปัญญาอันยิ่ง

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรม ไม่ใช่ขณะอื่น อย่าไปแสวงหาขณะอื่นซึ่งยังไม่ปรากฏ ยังไม่มาถึง

    ปัญญาของใครจะมากจะน้อย จะรู้ได้ในขณะปัจจุบันนี้เองที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย กำลังรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ นี่เป็นเครื่องวัดว่าปัญญาของใครยิ่ง ที่จะต้องอบรมให้รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งรู้ได้ ไม่ใช่รู้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นจะต้องให้คนอื่นมาบอกว่า ปัญญาของท่านถึงขั้นไหนแล้ว เพราะท่านสามารถจะรู้ได้เองว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่กำลังเห็นนั้น คืออย่างไร แค่นี้ก่อน สำหรับท่านที่อบรมปัญญาอยู่ จะต้องมีปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ทางตาที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่จะเป็นสติ ไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาได้นั้น คืออย่างไร

    ถ้ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจขั้นนี้ จะก้าวไปถึงขั้นอื่นไม่ได้เลย อย่าได้หวังที่จะประจักษ์แจ้งความเกิดดับของนามธรรมรูปธรรมที่จะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เพราะแม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏอยู่เป็นประจำทางตา ก็ยังไม่รู้ว่า การที่ไม่หลงลืมและสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตานั้นคืออย่างไร นี่ต้องรู้ก่อน ถ้าใครรู้แล้ว หมายความว่าจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต่อไปได้ ซึ่งขั้นต่อไป ก็ไม่พ้นจากการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง ไม่ใช่อย่างอื่นเลย

    กำลังพูด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างไร ทางไหน มีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏให้รู้ ไม่ใช่การนึกเอา ไม่ใช่การคิดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏ และขณะที่สติระลึก ก็สามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นมีลักษณะอย่างนั้นๆ แต่ละทาง

    ถ. ผมขอถามเรื่องศีลกับสิกขาบท พระอริยบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระสกทาคามี พระอนาคามี ท่านเหล่านั้นสมบูรณ์แล้วด้วยศีล แต่บางครั้งบางคราวท่านก็ยังละเมิดสิกขาบท ซึ่งเข้าใจว่าเป็นศีล ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายความต่างกันของสิกขาบทกับศีลว่า ต่างกันอย่างไร

    สุ. สิกขาบท หมายความว่า บทที่จะต้องศึกษา คือ ปฏิบัติ ชีวิตนี้จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติตามบท คือ ตามสิ่งที่ควรจะศึกษา ทางกาย ทางวาจา

    เพราะฉะนั้น สิกขาบทหมายความถึงบทที่จะต้องศึกษา คือ ประพฤติปฏิบัติตาม ส่วนศีลอาจจะกล่าวรวมได้ว่าเป็นอธิศีลสิกขา รวมไว้ทั้งหมดเลย ไม่จำแนกออกไป

    ถ. ในเมื่อศีลของท่านไม่ขาด ทำไมสิกขาบทยังไม่บริบูรณ์

    สุ. สิกขาบทมีมาก สิกขาบทหลักใหญ่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์กับสิกขาบททั่วไป เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นอภิสมาจาร คือ ข้อที่ควรปฏิบัติตามมารยาท นั่นก็เป็นสิกขาบทด้วย

    ถ. ตรงนี้ที่ทำให้งง ผมเข้าใจว่า ศีลเป็นสิกขาบท ศีลท่านสมบูรณ์แล้ว สิกขาบทก็ไม่น่าจะขาด

    สุ. สิกขาบทเล็กน้อยมี ซึ่งเป็นการปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาททางกาย ทางวาจา อย่างสิกขาบท ๑๕๐ ในปาฏิโมกข์ ตามข้อความที่ได้กล่าวถึงแล้ว จะเห็นได้ว่า สิกขาบท ๑๕๐ ในปาฏิโมกข์ ไม่ได้รวมเสขิยวัตร ๗๕ ซึ่งเป็นการประพฤติทางกาย ทางวาจา ถ้ารวมแล้วก็เป็นสิกขาบท ๒๒๕ เมื่อรวมอนิยตสิกขาบทอีก ๒ ก็เป็นสิกขาบท ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ

    ในพระไตรปิฎกบางตอนจะกล่าวถึงสิกขาบท ๑๕๐ ในปาฏิโมกข์ แต่ถ้านับ จริงๆ รวมทั้งหมดของพระภิกษุก็เป็น ๒๒๗ ของพระภิกษุณีเป็น ๓๑๑ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมารยาทที่ควรปฏิบัติทางกาย ทางวาจา เป็นเสขิยวัตร เป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระอริยเจ้าท่านก็ล่วงอาบัติได้ เพราะว่าไม่ใช่ศีลประการสำคัญซึ่งเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์

    แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยประการใดก็ตาม พระผู้มีพระภาคทรงชี้โทษให้เห็นว่า แม้ในสิ่งเล็กน้อยก็เป็นความละเอียดที่พระภิกษุควรประพฤติปฏิบัติตามให้เหมาะสมกับเพศสมณะด้วย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะมีคุณธรรมประกอบพร้อมด้วยปัญญาถึงขั้นของพระอริยเจ้า แต่บางสิ่งบางประการท่านก็ไม่ทราบในความละเอียดว่า เป็นสิ่งที่สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติในเพศของบรรพชิตด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564