แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 543


    ครั้งที่ ๕๔๓


    ถ. เรื่องจับเงินจับทองนี้ ลำบาก เวลานี้ ถึงพุทธบัญญัติท่านว่าไว้ มาอยู่กรุงเทพ ขึ้นรถฟรี ให้ขึ้นไหม ถ้าพระมีธุระขึ้นมา ผมว่าเรื่องเล็กน้อยนิดๆ หน่อยๆ ไม่ควรจะเอามาเป็นเหตุ ต้องหลักใหญ่ๆ จับเงินจับทองนี้มีหลัก ยินดีเพื่อตัวของคนจับ เพื่อใส่กระเป๋าเอาไปฝากธนาคาร อย่างนี้ไม่ควรแน่ เขาทำบุญเราก็รับไว้ รับไว้เพื่อจะไปทำโน่นทำนี่ โดยไม่ได้ยินดี เรื่องอนามาสเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าจะเอามาตำหนิกัน แต่ถ้ารับไว้ใส่กระเป๋า เพื่อไปสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์อย่างนี้ ไม่ควร ถ้า พระรับไว้เพื่อสาธารณะ ท่านไม่ได้ยินดีเป็นส่วนตัว ผมเห็นว่า ถ้าจะถือกันก็มากไป หยุมหยิมเกินไป เรื่องที่ควรจะพูดมีมากกว่านี้ เรื่องจับเงินจับทองเป็นพุทธบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่โลกเขาติเตียน ที่เรียกว่า ปัณณัตติวัชชะ โทษเกิดจากพระบัญญัติ พระเราเชื่อแน่เหลือเกิน โกงไม่ได้ บาทเดียวก็เป็นปาราชิก ท่านไม่ได้จับเพื่อตัวท่าน จับเพื่อสาธารณะประโยชน์ ควรจะให้

    สุ. เป็นเรื่องของกาลสมัย ซึ่งได้ผ่านมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ ซึ่งท่านผู้ฟังควรพิจารณาพระธรรมวินัยโดยละเอียดถึงเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท ใครเป็นผู้ทรงบัญญัติสิกขาบท พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่เห็นโทษของการประพฤติการปฏิบัติที่ไม่ขัดเกลา ก็จะไม่ทรงบัญญัติไว้ เพราะฉะนั้น เหตุผลย่อมมี และผู้ที่ประพฤติปฏิบัติย่อมจะสังเกตรู้ได้ว่า การปฏิบัติอย่างใดเป็นการขัดเกลา และการปฏิบัติอย่างไรไม่ขัดเกลา

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึง เมื่อท่านพระยสกากัณฑกบุตรได้แสดงธรรมแก่อุบาสก อุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง ชาวเมืองเวสาลีก็มีศรัทธาเลื่อมใสในท่านพระยสกากัณฑกบุตร และเห็นว่าพวกพระวัชชีชาวเมืองเวสาลีเป็นผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงตามธรรมวินัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ได้ชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีเข้าใจแล้ว ได้ไปอารามพร้อมกับพระอนุทูต ฯ

    ลงอุกเขปนียกรรม

    ข้อ ๖๓๙

    ครั้งนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีได้ถามพระอนุทูตว่า

    คุณ พระยสกากัณฑกบุตรขอโทษอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีแล้วหรือ

    พระอนุทูตตอบว่า

    ท่านทั้งหลาย อุบาสกอุบาสิกาทำความลามกให้แก่พวกเรา ทำพระยสกากัณฑกบุตรรูปเดียวเท่านั้น ให้เป็นสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทำพวกเราทั้งหมดไม่ให้เป็นสมณะ ไม่ให้เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร

    ครั้งนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีปรึกษากันว่า

    ท่านทั้งหลาย พระยสกากัณฑกบุตรนี้ พวกเรามิได้สมมติ แต่ประกาศแก่พวกคฤหัสถ์ ถ้าเช่นนั้นพวกเราจะลงอุกเขปนียกรรมแก่เธอ

    อุกเขปนียกรรม คือ การลงโทษยกเสียจากหมู่ ห้ามร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมทำสังฆกรรม

    พระวัชชีบุตรเหล่านั้น ปรารถนาจะลงอุกเขปนียกรรมแก่พระยสกากัณฑกบุตรนั้น จึงประชุมกันแล้ว

    ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรเหาะสู่เวหาสไปปรากฏในเมืองโกสัมพี แล้วส่งทูตไป ณ สำนักภิกษุชาวเมืองปาฐา เมืองอวันตี และประเทศทักขิณาบถว่า

    ท่านทั้งหลาย จงมาช่วยกันยกอธิกรณ์นี้ ต่อไปในภายหน้าสภาพมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาพมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าพวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักเสื่อมกำลัง พวกอวินยวาทีจักมีกำลัง พวกวินยวาทีจักเสื่อมกำลัง ฯ

    หลังจากพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีพระเถระที่ทรงคุณวิเศษ ที่สามารถจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ใน ๑,๐๐๐ ปีแรก แต่พระเถระที่จะทรงคุณวิเศษอย่างนั้น ก็จะเสื่อมถอยลงตามกาลเวลาด้วย และในครั้งที่จะทำสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้ ก็เป็นเพียงระยะ ๑๐๐ ปี หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว

    เรื่องพระสัมภูตสาณวาสีเถระ

    ข้อ ๖๔๐

    สมัยนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสี อาศัยอยู่ที่อโหคังคบรรพต ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรเข้าไปหาท่านพระสัมภูตสาณวาสียังอโหคังคบรรพต อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีพวกนี้ แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ในเมืองเวสาลี ว่าดังนี้

    ๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงฉัน ควร

    ๒. ฉันอาหารในเวลาบ่ายล่วงสององคุลี ควร

    ๓. เข้าบ้านฉันอาหารเป็นอนติริตตะ ควร

    อนติริตตะ คือ อาหารที่ไม่เป็นกัปปิยะ ไม่ควรแก่การบริโภค

    ๔. อาวาสมีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างๆ กัน ควร

    ๕. เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุมาไม่พร้อมกันทำก่อนได้ ภิกษุมาทีหลังจึงบอกขออนุมัติ ควร

    ๖. การประพฤติตามอย่างที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ประพฤติมาแล้ว ควร

    ๗. ฉันนมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ควร

    ๘. ดื่มสุราอ่อน ควร

    ๙. ใช้ผ้านิสีทนะไม่มีชาย ควร

    ๑๐. รับทองและเงิน ควร

    ถ้าเช่นนั้น พวกเราจงช่วยกันยกอธิกรณ์นี้ ภายหน้าสภาพมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาพมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าพวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักเสื่อมกำลัง พวกอวินยวาทีจักมีกำลัง พวกวินยวาทีจักเสื่อมกำลัง

    ท่านพระสัมภูตสาณวาสีรับคำท่านพระยสกากัณฑกบุตรแล้ว

    ท่านจะต้องชักชวนพระเถระรูปอื่นให้ร่วมกันทำสังคายนาด้วย เพราะว่าการจะทำสังคายนานั้นทำตามลำพังรูปเดียวไม่ได้

    ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๖๐ รูป ถืออยู่ป่าเป็นวัตรทั้งหมด ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรทั้งหมด ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรทั้งหมด ถือไตรจีวรเป็นวัตรทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ประชุมกันที่อโหคังคบรรพต ภิกษุชาวเมืองอวันตีและประเทศทักษิณาบถประมาณ ๘๐ รูป บางพวกถืออยู่ป่าเป็นวัตร บางพวกถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร บางพวกถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร บางพวกถือไตรจีวรเป็นวัตร เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ประชุมกันที่อโหคังคบรรพต ฯ

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการประพฤติปฏิบัติ แม้ของพระอรหันต์ว่า เป็นไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เพราะว่าบางพวกก็ถืออยู่ป่าเป็นวัตร บางพวกก็ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นต้น

    เรื่องพระเรวตเถระ

    ข้อ ๖๔๑

    ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายกำลังปรึกษากัน ได้คิดว่า อธิกรณ์นี้ หยาบช้า กล้าแข็งนัก ไฉนหนอ พวกเราจักได้ฝักฝ่ายที่เป็นเหตุให้มีกำลังกว่าในอธิกรณ์นี้

    ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะอาศัยอยู่ในโสเรยยนคร เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา

    จึงพระเถระทั้งหลายคิดกันว่า ท่านพระเรวตะนี้แล อาศัยอยู่ในโสเรยยนคร เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราได้ท่านพระเรวตะไว้เป็นฝักฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจักมีกำลังกว่าในอธิกรณ์นี้

    แสดงให้เห็นว่า จะต้องอาศัยพระเถระผู้เฉียบแหลมและผู้ทรงธรรม ทรงวินัย เป็นผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์ และเป็นลัชชี มีความละอาย มีความรังเกียจ เป็นผู้ที่ใคร่ต่อสิกขา ในการที่จะเป็นกำลัง รอบรู้ในการที่จะกระทำสังคายนา

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระเรวตะได้ยินถ้อยคำของพระเถระทั้งหลายปรึกษากันอยู่ด้วยทิพโสตธาตุอันหมดจด ล่วงเสียซึ่งโสตธาตุแห่งมนุษย์ ครั้นแล้วจึงคิดว่า อธิกรณ์นี้แล หยาบช้า กล้าแข็ง ข้อที่เราจะท้อถอยในอธิกรณ์เห็นปานนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ก็แลบัดนี้ ภิกษุเหล่านั้นจักมาหา เราคลุกคลีกับพวกเธอจักอยู่ไม่ผาสุก ถ้ากระไรเราควรไปเสียก่อน

    ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ออกจากเมืองโสเรยยะไปสู่เมืองสังกัสสะ ที่นั้น พระเถระทั้งหลายได้ไปสู่เมืองโสเรยยะ แล้วถามว่า ท่านพระเรวตะไปไหน พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า ท่านพระเรวตะนั้นไปเมืองสังกัสสะแล้ว

    ต่อมา ท่านพระเรวตะได้ออกจากเมืองสังกัสสะไปสู่เมืองกัณณกุชชะแล้ว จึงพระเถระทั้งหลายพากันไปเมืองสังกัสสะ แล้วถามว่า ท่านพระเรวตะไปไหน พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า ท่านพระเรวตะนั้นไปเมืองกัณณกุชชะแล้ว

    ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ไปจากเมืองกัณณกุชชะสู่เมืองอุทุมพร จึงพระเถระทั้งหลายพากันไปเมืองกัณณกุชชะ แล้วถามว่า ท่านพระเรวตะไปไหน พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า ท่านพระเรวตะนั้นไปเมืองอุทุมพร

    ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ไปจากเมืองอุทุมพรสู่เมืองอัคคฬปุระ จึงท่านพระเถระทั้งหลายพากันไปเมืองอุทุมพร แล้วถามว่า ท่านพระเรวตะไปไหน พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า ท่านพระเรวตะนั้นไปเมืองอัคคฬปุระ

    ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ไปจากเมืองอัคคฬปุระสู่สหชาตินคร จึงพระเถระทั้งหลายพากันไปเมืองอัคคฬปุระ แล้วถามว่า ท่านพระเรวตะไปไหน พวกเขาตอบอย่างนี้ว่า ท่านพระเรวตะนั้นไปสหชาตินครแล้ว จึงพระเถระทั้งหลายไปทันท่านพระเรวตะที่สหชาตินคร ฯ

    พระเถระเหล่านั้น ท่านมีเจตนา มีความตั้งใจจริงที่จะกระทำสังคายนา และจะต้องอาศัยท่านพระเรวตะเป็นกำลัง เพราะฉะนั้น ก็ได้ติดตามท่านพระเรวตะจากเมืองหนึ่งไปสู่เมืองหนึ่ง จนกระทั่งไปทันท่านพระเรวตะที่สหชาตินคร แต่การที่กราบเรียนถามท่านพระเรวตะให้ทราบถึงความควรไม่ควรในวินัยที่มีผู้ประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามอัธยาศัยของพระเรวตะด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ปุจฉาวิสัชนาวัตถุ ๑๐ ประการ

    ข้อ ๖๔๒

    ครั้งนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสีได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า

    ท่านพระเรวตะรูปนี้ เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักถามปัญหากะท่านพระเรวตะ ท่านพระเรวตะสามารถจะยังราตรีแม้ทั้งสิ้นให้ล่วงไป ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น

    นี่คือพระเถระที่ทรงธรรม ทรงวินัย เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์ แม้ธรรมข้อเดียวนี้ สามารถจะวิสัชชนาหรือว่าแสดงธรรมข้อนั้นตลอดราตรีหนึ่งได้ เพราะว่าท่านรู้ซึ้งถึงความละเอียดของธรรมข้อนั้น

    ท่านพระสัมภูตสาณวาสีกล่าวต่อไปว่า

    ก็แลบัดนี้ ท่านพระเรวตะจักเชิญพระอันเตวาสิกให้สวดสรภัญญะ ท่านนั้น เมื่อภิกษุรูปนั้นสวดสรภัญญะจบ พึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะ แล้วถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรรับคำของท่านพระสัมภูตสาณวาสีแล้ว จึงท่านพระเรวตะได้เชิญพระอันเตวาสิกให้สวดสรภัญญะแล้ว ท่านพระยสกากัณฑกบุตร เมื่อภิกษุนั้นสวดสรภัญญะจบ ได้เข้าไปหาท่านพระเรวตะ อภิวาท นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วถามว่า

    สิงคิโลณกัปปะ ควรหรือ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า

    สิงคิโลณกัปปะนั้น คืออะไร ขอรับ

    ท่านไม่ได้ตอบทันที แต่ท่านถามเพื่อที่จะได้ทราบความเข้าใจของผู้ที่ถามเสียก่อนว่า มีความเข้าใจในคำถามนั้นมากน้อยเพียงไร ไม่ใช่เพียงแต่ตอบว่า ควรหรือไม่ควร ถูกหรือไม่ถูก และผู้ถามจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ท่านก็ไม่สนใจ นั่นไม่ใช่การที่จะตอบเพื่อประโยชน์ คือ เพื่อความเข้าใจของผู้ถามจริงๆ เพราะฉะนั้น ท่านพระเรวตะ จึงได้ย้อนถามว่า สิงคิโลณกัปปะนั้นคืออะไร

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    การเก็บเกลือไว้ในเขนงโดยตั้งใจว่าจักปรุงในอาหารที่จืดฉัน ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    ไม่ควร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า

    ทวังคุลกัปปะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า

    ทวังคุลกัปปะนั้น คืออะไร

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    การฉันโภชนะในวิกาลเมื่อตะวันบ่ายล่วงแล้วสององคุลี ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    ไม่ควร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า

    คามันตรกัปปะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า

    คามันตรกัปปะนั้น คืออะไร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้วคิดว่า จักเข้าละแวกบ้าน ในบัดนี้ ฉันโภชนะเป็น

    อนติริตตะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    ไม่ควร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า

    อาวาสกัปปะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า .

    อาวาสกัปปะนั้น คืออะไร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    อาวาสหลายแห่งมีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างกัน ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    ไม่ควร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า

    . อนุมติกัปปะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า

    อนุมติกัปปะนั้น คืออะไร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    สงฆ์เป็นวรรคทำกรรม ด้วยตั้งใจว่า จักให้ภิกษุที่มาแล้วอนุมัติ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    ไม่ควร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า

    อาจิณณกัปปะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า

    อาจิณณกัปปะนั้น คืออะไร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    การประพฤติวัตรด้วยเข้าใจว่า นี้พระอุปัชฌาย์ของเราเคยประพฤติมา นี้ พระอาจารย์ของเราเคยประพฤติมา ควรหรือไม่ ขอรับ

    คือ ประพฤติตามจริงๆ ไม่ว่าพระอุปัชฌาย์อาจารย์จะประพฤติผิดถูกประการใดก็ตาม ลูกศิษย์ก็คิดว่า จะต้องประพฤติตามอย่างนั้นทั้งหมด ควรหรือไม่ควร ตามความเป็นจริง

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    อาจิณณกัปปะ บางอย่างควร บางอย่างไม่ควร ขอรับ

    คือ ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้อง ก็ควร แต่ถ้าเป็นธรรมที่ผิด ก็ไม่ควร

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรถามว่า

    อมถิตกัปปะ ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะย้อนถามว่า

    อมถิตกัปปะนั้น คืออะไร ขอรับ

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    นมสดละความเป็นนมสดแล้ว ยังไม่ถึงความเป็นนมส้ม ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว จะดื่มนมนั้นอันเป็นอนติริตตะ (คือ ไม่เป็นกัปปิยะ) ควรหรือไม่ ขอรับ

    ท่านพระเรวตะตอบว่า

    ไม่ควร ขอรับ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564