แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐

แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงให้เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล แม้แต่ในเรื่องของเภสัช คือ ยารักษาโรคสำหรับภิกษุอาพาธ ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในครั้งแรกทรงอนุญาตให้บริโภคเพียงในกาลเท่านั้น คือ ภายในเที่ยง ไม่ให้บริโภคหลังเที่ยง เน้นให้เห็นถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้บริโภคในเวลาวิกาล แม้ในเรื่องของเภสัช แต่ภายหลังก็ได้ทรงอนุญาตการบริโภคเภสัช ๕ นอกกาลด้วย ตามความจำเป็น

นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังทรงอนุญาตเภสัชอื่น นอกจากเภสัช ๕ ด้วย เช่น มูลเภสัช รากไม้ที่เป็นเภสัช เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู เหล่านี้เป็นต้น ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ควรบริโภค คือ ไม่ใช่นำมาบริโภคเป็นอาหาร เพราะฉะนั้น พวกมูลเภสัช รากไม้ที่เป็นเภสัชเหล่านี้ เป็นยาวชีวิก ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้ตลอดชีวิต เพราะว่าไม่ใช่เป็นการสะสมที่จะนำมาบริโภคเป็นอาหาร เมื่อรับประเคนแล้ว ก็เก็บไว้ได้ตลอดชีวิต และต่อเมื่อมีเหตุจึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการขัดเกลา ไม่ให้มีการสะสม ไม่ให้มีความปรารถนาติดข้องในของบริโภคต่าง ๆ แม้ที่เป็นเภสัช


หมายเลข  410
เปิด  841
ปรับปรุง  10 พ.ย. 2566