แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 564


    ครั้งที่ ๕๖๔


    ถ. สมมติว่าเราเห็นสีแดง เราก็รู้ว่าเป็นสีแดง สีเขียวก็รู้ว่าสีเขียว เรียกว่ารู้ไหม

    สุ. ถึงไม่ระลึก ก็เห็นเป็นสีแดง สีเขียวเป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่า ที่กำลังเห็น ที่ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนนี้ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ในโลกนี้เลย โลกนี้จะปรากฏได้ไหม แต่ที่โลกปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ โลกปรากฏทางหูเป็นเสียงต่างๆ ก็เพราะมีสภาพรู้ มีธรรมชาติหรือธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้ในสิ่งที่มีที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ และไม่ใช่เราด้วย ไม่มีความเป็นตัวตนในลักษณะของสภาพเห็นเลย เพราะว่าสภาพนั้นเพียงเห็นสี หรือรู้สีเท่านั้นเอง

    ถ. ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานหรือที่เห็นสีเขียว เรารู้ว่าเขียว ไม่เป็นสติหรือ

    สุ. ยังเป็นสติปัฏฐานไม่ได้ เป็นแต่เพียงการเห็นธรรมดา เพราะวันหนึ่งเห็นและรู้ว่าเห็นอะไร แต่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะที่เห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง และเป็นสภาพรู้ทางตา ไม่ใช่รู้อื่น สภาพเห็นรู้เสียงไม่ได้ รู้ได้แต่เฉพาะสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือของจริงของสภาพเห็น

    ถ. ตอนที่เราเจริญสติ เราเห็นสีแดง เราไม่ได้เจริญอย่างนี้หรือ

    สุ. ปกติเวลาเห็นสีแดง เราต้องนึกว่า เห็นสีแดงหรือเปล่า ตามธรรมดา

    ถ. เราไม่ได้เจริญอย่างนั้นหรือ

    สุ. ไม่ไม่ได้เจริญอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่ปกติ เพราะว่าปกติเวลาเห็นสีแดง ไม่ได้นึกในใจ หรือพูดว่าเห็นสีแดง

    ถ. แต่รู้เอง

    สุ. เป็นการเห็น การเห็น คือ การรู้สีที่ปรากฏ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่า ในขณะที่รู้สีที่ปรากฏนั้น เป็นแต่เพียงอาการรู้สี เป็นแต่เพียงสภาพรู้สี เป็นแต่เพียงธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งธาตุรู้มีหลายอย่าง ธาตุรู้กลิ่น รู้เฉพาะกลิ่น รู้อื่นไม่ได้ ในขณะที่กลิ่นปรากฏ ถ้าไม่มีธาตุรู้กลิ่น กลิ่นจะปรากฏไม่ได้ จะเอาตามารู้กลิ่นไม่ได้ จะเอาได้ยินมารู้กลิ่นไม่ได้ จะเอาเห็นมารู้กลิ่นไม่ได้ เพราะเหตุว่าการเห็นเป็นธาตุรู้สี การได้ยินเป็นธาตุ เป็นสภาพรู้เสียง เพราะฉะนั้น สภาพรู้กลิ่น เป็นลักษณะของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งรู้อื่นไม่ได้เช่นเดียวกัน สภาพรู้กลิ่น รู้ได้เฉพาะกลิ่นเท่านั้นในขณะนั้น

    ถ. ถ้าอย่างนั้น เราจะเจริญสติ เราจะรู้อย่างไร

    สุ. เข้าใจให้ถูกก่อนว่า จะต้องรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังเห็นมีสติ คือ รู้เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ที่เห็นนี้ รู้ว่าเป็นสภาพรู้

    ถ. อย่างผมเห็นอาจารย์ ผมก็รู้ว่าผมเห็นอาจารย์

    สุ. ไม่ใช่ผมเห็นอาจารย์ เป็นสภาพรู้ทางตา

    ถ. ไม่เข้าใจ

    สุ. กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ใช่หรือไม่ใช่ วันนี้คิดแค่นี้ก่อน กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ใช่หรือไม่ใช่ จะใช่หรือไม่ใช่ จะต้องระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ไม่เห็นแล้วไปนั่งนึก วิธีที่จะพิสูจน์ คือ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นสภาพรู้ ใช่หรือไม่ใช่ เป็นสภาพรู้ทางตาใช่ไหม เพราะว่าไม่ใช่รู้เสียง ไม่ใช่รู้กลิ่น

    ถ. เจริญสุข คุณโยม ตามรู้ตามเห็นนี่ เรารู้เห็นเอง หรือใครให้เรารู้ ใครให้เราเห็น

    สุ. ไม่มีตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่มีหน้าที่แต่ละอย่าง

    ถ. เช่นว่า เห็นปัจจัย ๒ บาทอย่างนี้ ไม่มีตัว ไม่มีตนหรือ

    สุ. ไม่มีเจ้าค่ะ

    ถ. เจริญสุข อาตมารู้สึกว่าได้คำตอบเป็นที่พอใจ

    สุ. ค่อยๆ คิดไป ค่อยๆ ระลึกได้ในขณะที่เห็นนี้ เวลานี้ทุกท่านที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานให้ปัญญาคมกล้าจะไม่รู้ในลักษณะของธาตุรู้ แม้ว่ากำลังเห็น ทุกคนเห็น เป็นสภาพรู้ทางตา แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจะไม่รู้เลยว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุรู้หรืออาการรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งธาตุรู้ทางตานั้นรู้อื่นไม่ได้ จะต้องรู้แต่สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง นี่เป็นทางตาที่จะพิสูจน์ คือ ระลึกในขณะที่กำลังเห็นว่าจริงหรือไม่จริง ในขณะนี้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งจริงหรือไม่จริงๆ ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ จนกว่าจะหมดสงสัย

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าลักษณะของปัญญานั้นไม่สงสัย ลักษณะของปัญญานั้นรู้ชัด ลักษณะของปัญญานั้นประจักษ์แจ้งแทงตลอด กิจของปัญญานั้น คือ ส่องลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า สภาพนั้นเป็นอย่างไร แต่ก่อนที่ปัญญาจะคมกล้าอย่างนั้น ก็ยังมีความไม่รู้ในสภาพธรรมที่เห็นอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วย และยังมีความสงสัยว่า สภาพรู้ ธาตุรู้นั้นคืออย่างไร

    สภาพรู้ ธาตุรู้นั้น ไม่ใช่สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา แต่เป็นสภาพที่รู้ในสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา ปัญญาจะต้องรู้อย่างนี้ นี่เป็นทางตา

    ทางหูจะพิสูจน์ธรรมได้ว่าเป็นความจริง ก็ต่อเมื่อกำลังได้ยินสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้จริงไหม ถ้าไม่รู้ เสียงจะปรากฏได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ที่เสียงปรากฏได้ เพราะว่ามีสภาพที่รู้เสียง เสียงจึงได้ปรากฏ เวลาที่ได้ยินที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้จริงไหม ก็คือ กำลังได้ยินและระลึกรู้ในธาตุรู้เสียงที่กำลังได้ยินเสียงทางหู

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดความสงสัย

    เป็นการถูกต้องที่รู้ว่า ยังมีความสงสัยอยู่ ยังมีความไม่รู้อยู่ ซึ่งความสงสัย และความไม่รู้นี้จะหมดไปได้ก็ต่อเมื่อความรู้เกิดเพิ่มขึ้น จนกระทั่งความสงสัยหมดไป แต่ถ้าความรู้ไม่เกิด ความสงสัยไม่หมด ความไม่รู้ก็ไม่หมด เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    ถ้ายังสงสัย ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็ฟังต่อไปอีก ค่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ

    อุโบสถศีลองค์ที่ ๘ จบแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับอุโบสถศีลทั้งหมดก็จบลง

    จะขอกล่าวถึงศีล ๑๐ ซึ่งปกติเป็นศีลหรือสิกขาของสามเณร แต่ว่าดังที่ท่านผู้ฟังได้ทราบแล้วว่า สำหรับคฤหัสถ์บางท่านผู้ทรงคุณธรรมสูง ก็สามารถที่จะรักษาศีล ๑๐ ได้ด้วยคุณธรรมของท่าน แต่ถ้าด้วยการบรรพชาแล้ว เป็นวินัยบัญญัติซึ่งผู้ที่บรรพชาเป็นสามเณรจะต้องศึกษาโดยตรง

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ สิกขาบทของสามเณร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น สามเณรทั้งหลายได้มีความดำริว่า สิกขาบทของพวกเรามีเท่าไรหนอแล และพวกเราจะต้องศึกษาในอะไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นั้น คือ

    ๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป ปาณาติปาตา เวรมณี

    ๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้ อทินนาทานา เวรมณี

    ๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ อพรหมจริยา เวรมณี

    ๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ มุสาวาทา เวรมณี

    ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี

    ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล วิกาลโภชนา เวรมณี

    ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนา เวรมณี

    ๘. เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี

    ๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่ อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี

    ๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน ชาตรูปรชตปฏิคคหณา เวรมณี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ นี้ แก่สามเณรทั้งหลาย และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาในสิกขาบท ๑๐ นี้

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความต่างกันระหว่างคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็มีการรักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีลเป็นประจำได้ แต่สำหรับเพศของบรรพชิตที่ต่างกันจริงๆ อย่างศีล ๘ กับศีล ๑๐ นั้น คือองค์ที่ ๑๐ เว้นจากการรับทองและเงิน ที่ทำให้ต่างกันเป็นเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า สำหรับประการที่ต่างกันที่สำคัญคือ เว้นจากการรับทองและเงินซึ่งจะทำให้ฐานะของบุคคลนั้นเปลี่ยนจากเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต ก็คงจะต้องมีความสำคัญ เพราะว่าผู้ที่ยังไม่สามารถจะตัดขาด สละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ย่อมมีการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามความพอใจ ซึ่งจะต้องอาศัยเงินและทองเป็นปัจจัยในการที่จะแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสามารถที่จะสละชีวิตของคฤหัสถ์ไปสู่ชีวิตของบรรพชิต ย่อมจะต้องไม่ยินดีในการรับเงินและทองด้วย เพราะว่าเมื่อต้องการที่จะสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ต้องสละการที่จะรับเงินและทองซึ่งเป็นปัจจัยที่จะให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย

    สำหรับมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ภิกษุรับหรือว่ายินดีเงินและทอง ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๓ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร ข้อ ๑๐๕ มีข้อความว่า

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึงแบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า

    จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจักซื้อของอื่นถวายท่าน

    ครั้นแล้วเวลาเช้า ท่านอุปนันทศากยบุตรนุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระ อุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบเรียนว่า

    ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่งจากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ

    ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า

    เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เราแล้วหรือ

    บุรุษนั้นกราบเรียนว่า

    ขอรับ ผมบริจาคแล้ว

    ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า

    เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา

    บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรในทันใดนั้นเอง แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้รับรูปิยะเหมือนพวกเรา

    ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า

    ดูกร อุปนันทะ ข่าวว่าเธอรับรูปิยะจริงหรือ

    ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า

    จริง พระพุทธเจ้าข้า

    ทรงติเตียน

    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

    ดูกร โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

    ทรงบัญญัติสิกขาบท

    พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน และตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

    พระบัญญัติ

    อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๕๖๑ – ๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564