แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 573


    ครั้งที่ ๕๗๓


    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่เป็นการประจักษ์แจ้งว่า สภาพธรรมเป็นอดีตจริง เป็นปัจจุบันจริง เป็นอนาคตจริง ในขณะที่ปัญญากำลังประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ เมื่อสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันอยู่ ก็ประจักษ์แจ้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ของสภาพธรรมนั้นๆ

    ท่านจะเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร บางท่านอยากจะเป็นชาตินี้ ตั้งความหวังไว้เลยว่า ขอเป็นพระโสดาบันชาตินี้ ไม่ได้ ไม่สำเร็จด้วยการขอ หรือว่าด้วยฤทธิ์ ท่านไม่สามารถจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าในชาตินี้ได้เพราะความต้องการ หรือเพราะความหวัง หรือตามอำนาจของฤทธิ์ที่จะบันดาลให้ ไม่สามารถจะเป็นไปได้เลย มีหนทางเดียวเท่านั้นจริงๆ คือ อบรมความรู้ให้เกิดขึ้นจนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ

    ผู้ที่เคยตั้งความหวัง หรืออธิษฐานคือความตั้งใจมั่นคง ที่จะขัดเกลากิเลส ดับกิเลสจนถึงความเป็นพระอริยเจ้า เป็นกัปๆ ได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายพระองค์มาก่อน ก็ได้อบรมเจริญปัญญาอย่างที่ท่านเองกำลังเจริญปัญญาอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ผลข้างหน้าจะมาถึงเมื่อไรแล้วแต่เหตุ แต่ข้อสำคัญ คือ ให้เข้าใจถูกต้องในข้อปฏิบัติ ที่จะให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ข้อสำคัญที่สุด ขอให้เข้าใจถูกในหนทางข้อปฏิบัติ และอบรมข้อปฏิบัติที่ถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุผล ตามสมควรแก่เหตุเมื่อไร ผลก็บังเกิดขึ้นเมื่อนั้น แต่ถ้าผลคือปัญญาไม่เกิด ไม่มีหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วยประการอื่น และท่านเองจะเป็นผู้ที่รู้ชัดในปัญญาของท่านเองว่า เกิดมากน้อยแค่ไหน เกิดบ้างหรือเปล่า เจริญขึ้นบ้างไหม และเจริญขึ้นแค่ไหนในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่ง

    ชาติก่อนไม่ต้องคิด เพราะว่าผ่านไปแล้ว แต่ชาตินี้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้พิจารณาธรรม ได้ใคร่ครวญธรรม ได้รู้ว่าเหตุอย่างไรถูกที่จะนำมาซึ่งผล คือการเกิดปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นการเกื้อกูลของการที่เคยได้รับฟัง ได้พิจารณาในเหตุผลที่ถูกต้อง และเป็นปัจจัยให้มั่นคงยิ่งขึ้นในข้อปฏิบัติที่ถูก เป็นผู้ที่จะยิงไม่พลาด คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ชัด

    แต่ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่เมื่อไรเหตุสมควรแก่ผล เมื่อนั้นปัญญาก็จะคมกล้าที่จะประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละทางได้ แยกขาดจากกันได้จริงๆ และขณะนั้นปัญญานั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวท่านที่เข้าไปรู้ เข้าไปดู เข้าไปจ้อง เข้าไปคอย แม้ปัญญาที่กำลังประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญานั้นก็ปรากฏโดยความเป็นอนัตตาด้วย เมื่อเหตุสมควรแก่ผล ปัญญาก็เกิดขึ้นรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาแต่ละขั้น ก็เป็นปัญญาแต่ละขั้นจริงๆ

    ปัญญาที่กำลังเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็ก ทีละน้อย นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่งซึ่งไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ปัญญาขั้นนั้นต้องเป็นปัญญาขั้นสมบูรณ์ ขั้นที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ซึ่งเกิดจากการอบรมปัญญาตั้งแต่ขั้นของการฟังและพิจารณาให้ถูกต้องว่า ปัญญาจะรู้ในอะไร และจะอบรมให้เกิดขึ้นได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร

    มีใครรอคอยปัญญาบ้างไหม ถ้ารอคอย หวังคอยโดยไม่เจริญเหตุให้ถูกต้อง ไม่มีทางที่ปัญญาขั้นที่สมบูรณ์นั้นจะเกิดได้ แต่ถ้าอบรมเจริญเหตุไปเรื่อยๆ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นบ้างเรื่อยๆ วันหนึ่งก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้แน่นอน

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างกัน ๒ ประเภท คือ เป็นสภาพรู้ เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ จึงชื่อว่านามธรรม แต่อย่าติดที่ชื่อ คือ อย่าเพียงแต่บอกได้ว่า เห็นเป็นนามธรรม หรือเห็นเป็นนาม ได้ยินเป็นนาม นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของเห็น หรือว่าลักษณะของได้ยิน เป็นแต่เพียงการรู้ การเข้าใจว่า การเห็น การได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่รู้ในอารมณ์ที่ปรากฏ

    การที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ในขณะที่เห็น ก็คือระลึกได้ รู้ว่าขณะที่เห็นเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่กำลังเห็นนี่เป็นการรู้สภาพสิ่งที่ปรากฏทางตา ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะชิน

    ความจริงแล้ว ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะทั้งนั้นที่ปรากฏ แต่เพราะว่า ไม่เคยระลึกถึงลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่มีปรากฏจริงๆ ก็เลยทำให้ไม่ชินที่จะรู้ว่า ลักษณะสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน ทุกท่านชินกับการเห็นใช่ไหม ไม่มีใครที่ไม่ทราบว่าเห็นเป็นอย่างไร ชินกับการเห็นจริงๆ แต่ไม่เคยระลึกรู้ว่า ที่เห็นนี้ไม่ใช่ตัวตน เพียงชินกับการเห็น แต่ไม่ชินกับการที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ทางหูก็เหมือนกัน ชินกับการได้ยิน ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าได้ยินเป็นอย่างไร เวลาได้ยินเกิดขึ้น ก็รู้ว่ากำลังได้ยิน ไม่ใช่ไม่ได้ยิน แต่ว่าไม่ชินกับการที่จะระลึกรู้ในสภาพที่แท้จริงว่า ที่ได้ยินนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้เสียงที่กำลังปรากฏแล้วก็หมดไป เป็นการอบรมเจริญปัญญาพร้อมสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อให้ชินในสภาพที่แท้จริงของธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าใครจะเจริญวิปัสสนาโดยไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติเป็นธรรมดา นั่นไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา เพราะว่าวิปัสสนาต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ชัด รู้จริงในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวัน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ว่าจะต้องระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเนืองๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงขั้นคิด ขั้นฟัง และขั้นเข้าใจเท่านั้น

    สำหรับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิต เป็นต้นว่า จิตที่ปราศจากโลภะ คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดที่ระลึกรู้จิตที่เป็น วีตราคะ คือ ระลึกรู้จิตที่ปราศจากโลภะซึ่งเป็นกุศลจิตได้ ในขณะที่จิตปราศจากโลภะ ย่อมเป็นไปในการให้ทานบ้าง เป็นไปในการรักษาศีลบ้าง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ในขณะที่ให้นี้ ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่ให้ จะรู้ได้ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่เป็นโลภะ ซึ่งมีความพอใจ ติดข้อง อยากได้ ปรารถนาในสิ่งที่ปรากฏ แต่วีตราคะจิตเป็นกุศลจิตที่สละออก สามารถที่จะบริจาคเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นได้

    โดยมากทุกท่านก็มีการให้กันอยู่เป็นประจำ แต่ว่าสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของการให้ในขณะนั้นบ่อยๆ จึงไม่ทราบว่า การให้แต่ละครั้ง สภาพของจิตที่ให้นั้นต่างกันอย่างไร

    ในเรื่องของการวิรัติทุจริต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะที่วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือว่าศีลของพระภิกษุก็ตาม

    นอกจากนั้นแล้ว การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตละเอียดยิ่งขึ้นในขณะที่ปราศจากโลภะ ปราศจากราคะ ในขณะที่เป็นสภาพของจิตที่เป็นไปในศีล คือ อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ๑ เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ๑

    โดยขั้นของการฟัง เข้าใจได้ว่า ขณะนั้นจิตจะต้องเป็นกุศล จะต้องปราศจากโลภะ จึงจะอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมได้ หรือว่าจึงจะสงเคราะห์ต่อผู้ที่ควรสงเคราะห์ได้ เพราะเหตุใด เพราะว่าตามธรรมดาทุกท่านต้องมีการติด มีความพอใจ มีความสำคัญในตนเองอยู่ทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะคิดถึงใครก็ตาม ไม่ลืมที่จะคิดถึงตัวเอง ไม่ลืมที่จะนึกถึงความสำคัญของตัวเอง นั่นเป็นลักษณะสภาพของจิตที่ประกอบด้วยมานะ ความถือตัว ความสำคัญในตนเอง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้นปราศจากโลภะ หรือการคิดถึงความสำคัญของตนเอง เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต และแต่ละท่านก็สะสมมาไม่เหมือนกัน ทุกท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะพิสูจน์ได้ว่า สภาพจิตของแต่ละคนต่างกันไป แม้แต่สภาพจิตใจของท่านเองก็ต่างกันไปด้วยในวันหนึ่ง หรือว่าในเหตุการณ์หนึ่ง เคยแสดงความอ่อนน้อมต่อบุคคลอื่นหรือเปล่า เคยบ่อยๆ และระลึกรู้สภาพธรรมของจิตใจในขณะที่แสดงความอ่อนน้อมหรือเปล่า

    จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต บางครั้งก็อ่อนน้อมน้อยกว่าที่ควรจะอ่อนน้อม เคยรู้สึกอย่างนี้ไหม เวลาที่แสดงความนอบน้อมเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ ควรนอบน้อม บางครั้งแสดงน้อยไป ควรจะมากกว่านั้น แต่อกุศลจิตก็ทำให้ในขณะนั้นเป็นการอ่อนน้อมไม่เท่าที่ควรจะอ่อนน้อม ชีวิตปกติประจำวัน เคยรู้สึกอย่างนี้ไหมในขณะที่แสดงความอ่อนน้อม อาจจะไม่เคยระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตละเอียดขึ้น ก็จะรู้สึกตัวว่า ขณะที่แสดงความอ่อนน้อมเป็นความอ่อนน้อมแค่ไหน มากหรือน้อย น้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือเปล่า สภาพของจิตตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร สติเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง จึงจะขัดเกลากิเลสทั้งหลายซึ่งมีมากให้ลดน้อย ให้เบาบางลงได้ เพราะว่าในขณะที่มีความอ่อนน้อมจริงๆ เป็นกุศลจิต ซึ่งความอ่อนน้อมในวันหนึ่งๆ มากหรือน้อย แต่ละท่านย่อมต่างกัน คนที่สะสมกุศลมามากรู้ว่าการอ่อนน้อมเป็นกุศลจิต ก็มีการระลึกได้ที่จะมีความอ่อนโยน มีความอ่อนน้อมต่อบุคคลอื่นมากกว่าผู้ที่ไม่เคยรู้ว่าขณะใดที่ไม่อ่อนน้อม ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    นี่เป็นชีวิตของแต่ละท่าน ที่จะต้องระลึกรู้สภาพของจิตให้ละเอียดขึ้น และ วันหนึ่งๆ มีไหมที่ท่านจะไม่คิดถึงคนอื่น ทันทีที่เห็นนี่คิดแล้ว เขาเป็นใคร มีการเปรียบเทียบ มีการคิดที่จะแสดงกิริยาวาจาต่อบุคคลนั้นว่า จะแสดงอย่างไรกับคนนั้น ทันทีที่เห็น ทันทีที่ได้ยิน ก็มีการคิดต่อไปทันทีว่า คนนั้นเป็นใคร เขาเป็นใคร มีหน้าที่อะไร สำคัญอย่างไร ขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าจิตใจประเภทใดจะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้กระทำกายวาจาอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ท่านรู้ว่า การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมเป็นกุศล และที่ท่านจะมีความอ่อนน้อมซึ่งเป็นกุศลเพิ่มขึ้นต่อบุคคลอื่น ก็เพราะท่านรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น ความที่เคยคิดเปรียบเทียบว่า เขาเป็นใคร ชื่ออะไร มีหน้าที่อะไร มีการงานอะไร ก็จะค่อยๆ ลดลง และก็แทนที่จะระลึกอย่างนั้น ก็ระลึกถึงสภาพของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ใคร เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งต่างกันไปตามกรรมและเหตุปัจจัยในชาติหนึ่ง เพราะเหตุว่าทุกนามทุกรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม ก็ย่อมจะต้องประสบกับทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข วนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีใครไม่พบความเปลี่ยนแปลงในชีวิต แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย ไม่ใช่มีแต่ลาภ เสื่อมลาภก็มี ไม่ใช่มีแต่ยศ เสื่อมยศก็มี ไม่ใช่มีแต่สุข ทุกข์ก็มี ไม่ใช่มีแต่สรรเสริญ นินทาก็มี เพียงแต่ว่าจะแรงมากหรือน้อย จะรวดเร็วหรือค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

    เพราะฉะนั้น ทุกคนเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งต่างกันไปตามกรรมและตามเหตุปัจจัย ถ้าระลึกรู้ลักษณะสภาพของธรรมซึ่งเคยเห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น จิตใจจะอ่อนโยนขึ้นไหม ถ้าระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นเหตุให้กระทำกาย วาจาอย่างไรต่อคนอื่น ก็ย่อมจะมีเมตตา มีความอ่อนโยน และมีความอ่อนน้อมต่อบุคคลอื่น ซึ่งขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากโลภะ เป็นวีตราคจิต เมื่อปราศจากราคะ คือ โลภะ ก็ปราศจากมานะ ความถือตน ความสำคัญในตนซึ่งเคยมีมากก็จะน้อยลงด้วย แต่ผู้ที่จะดับมานะได้เป็นสมุจเฉท จะต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ แต่ไม่ต้องรอไม่ต้องคอยให้ถึงเวลานั้น เพราะว่ากิเลสทั้งหลายที่มีมาก ก็จะต้องค่อยๆ ละคลายขัดเกลาให้เบาบางลดน้อยลง ด้วยปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง

    เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะที่วิรัติทุจริตเป็นศีลเท่านั้น แต่ว่าการกระทำทางกายทางวาจาทั้งหมด ซึ่งเป็นไปในเรื่องของศีล เช่น อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมก็ดี เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ก็ดี ในขณะที่จิตเป็นกุศลอย่างนั้นเกิดขึ้น เป็นเหตุให้กายวาจาเป็นไปในการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม หรือสงเคราะห์ต่อผู้ที่ควรสงเคราะห์ ซึ่งเป็นไปในเรื่องของศีล สติก็ควรที่จะระลึกรู้ เพื่อที่จะได้ทราบชัดในสภาพของกุศลจิตในขณะนั้น และไม่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในขณะนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ และเป็นเรื่องที่ข้ามไม่ได้ เว้นไม่ได้ ที่จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงแล้วจะหมดกิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะเห็นได้จริงๆ ว่า อกุศลมีมากหรือมีน้อย และกุศลมีมากหรือมีน้อย เมื่อปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น และอกุศลธรรมก็เบาบางลง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564