แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 569


    ครั้งที่ ๕๖๙


    ข้อความใน วัชชีปุตตสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทนี้พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุ ก็ท่านสามารถจะศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ หรือ ฯ

    ภิกษุวัชชีบุตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถจะศึกษาได้ในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัส.

    ดูกร ภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ เมื่อใด ท่านจักศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิปัญญาสิกขาก็ดี เมื่อนั้น เมื่อท่านนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิปัญญาสิกขาอยู่ก็ดี จักละราคะ โทสะ โมหะเสียได้ เพราะละราคะ โทสะ โมหะเสียได้ ท่านนั้นจักไม่กระทำกรรมเป็นอกุศล จักไม่เสพกรรมที่เป็นบาป

    ครั้นสมัยต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาแล้ว ทั้งอธิศีลสิกขา ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้ง อธิปัญญาสิกขา เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี ศึกษา อธิปัญญาสิกขาก็ดี ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว เพราะละราคะ โทสะ โมหะเสียได้ เธอมิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป ฯ

    จะเห็นได้ว่า เรื่องของสิกขาบทสำหรับพระภิกษุที่เป็นปาติโมกข์มีมากทีเดียว สำหรับพระภิกษุ ท่านจะต้องรักษาสิกขาบทถึง ๒๒๗ ข้อ ซึ่งภิกษุวัชชีบุตรเห็นว่า สิกขาบทเหล่านั้นมากทีเดียว ท่านไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้นได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านไม่อาจที่จะศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้นได้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งท่านรักษาได้ และในขณะที่ท่านศึกษา อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้นเอง ก็เป็นการอบรมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในที่สุดก็ละราคะ โทสะ โมหะได้ มิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป

    นี่เป็นกิจโดยตรงของผู้ที่เป็นบรรพชิต เพื่อจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ และในขณะที่ท่านศึกษาอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขานั้นเอง ก็ย่อมเกื้อกูลให้ท่านสามารถที่จะศึกษาสิกขาบทของบรรพชิตได้ โดยที่ไม่ได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป

    เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ได้กล่าวถึงแล้วมาก ไม่ว่าท่านจะเป็นเพศฆราวาสหรือว่าเพศบรรพชิตก็ตาม ขณะใดที่มีการวิรัติทุจริต ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะใดที่ล่วงสิกขาบท คือ ไม่สามารถที่จะวิรัติทุจริตกรรมได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่มีกำลังเกิดขึ้น จึงได้กระทำการล่วงทุจริตกรรมไป

    ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เกสกัมพลสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ บัณฑิตกล่าวว่า เลวกว่าผ้าที่ช่างหูกทอแล้วทุกชนิด ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ในฤดูหนาวก็เย็น ในฤดูร้อนก็ร้อน สีน่าเกลียด กลิ่นเหม็น สัมผัสไม่สบาย แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาทะของเจ้าลัทธิชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล บัณฑิตกล่าวว่า เลวกว่าวาทะของสมณะทุกพวก เจ้าลัทธิชื่อว่ามักขลิ เป็นโมฆบุรุษ มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มีแล้วในอดีตกาล ก็เป็นผู้ตรัสกรรม ตรัสกิริยา และตรัสความเพียร ถึงพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตกาล ก็จักเป็นผู้ตรัสกรรม ตรัสกิริยา ตรัสความเพียร ถึงพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี แม้เราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็กล่าวกรรม กล่าวกิริยา กล่าวความเพียร แม้เราก็ถูกโมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิคัดค้านว่า กรรมไม่มี กิริยาไม่มี ความเพียรไม่มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงวางไซดักปลาไว้ที่ปากอ่าวเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นเหมือนไซดักมนุษย์ เกิดขึ้นในโลกแล้ว เพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความฉิบหาย เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของความเห็นผิดและข้อปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพื่อให้ปัญญารู้ธรรมที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ผู้ใดก็ตามซึ่งมีความเห็นผิดก็จะเข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อน คือ เห็นว่ากรรมไม่ใช่กรรม ไม่ได้นำมาซึ่งผลต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นความเห็นผิดยังทำให้มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติผิด ซึ่งไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา คือ ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิดแล้ว ก็มีข้อปฏิบัติผิด ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเลย

    ถ. ผมสงสัยว่า ทำไมมักขลิจะต้องติดตามพระผู้มีพระภาคทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต ทั้งในปัจจุบัน เท่าที่ผมฟังอาจารย์อธิบายมา คล้ายๆ กับว่า บุคคลใดก็แล้วแต่ ถ้ามีความเห็นผิดในมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นมักขลิ

    สุ. ไม่ใช่ นี่เป็นเจ้าลัทธิคนหนึ่ง ซึ่งมีความเห็นผิดว่า กรรมไม่มี คัดค้านคำสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ซึ่งสอนตรงกับพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ และตรงกับพระผู้มีพระภาคในอนาคตที่จะตรัสรู้ด้วย

    ถ. หมายความว่า มักขลินี้จะต้องมาเกิดพร้อมกับสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกครั้งไปหรือ

    สุ. ไม่จำเป็น มักขลิคัดค้านพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงแสดง ก็เท่ากับคัดค้านสัจธรรมที่พระผู้มีพระภาคองค์ก่อนๆ ที่ได้ทรงแสดงเช่นเดียวกับ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ และเช่นเดียวกับสัจธรรมที่พระผู้มีพระภาคในอนาคตจะตรัสรู้ด้วย

    สำหรับเรื่องของการปฏิบัติผิด ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอะลุ่มอล่วย หรือกล่าวว่าข้อปฏิบัติผิดเป็นข้อปฏิบัติถูก เพราะว่าสิ่งใด ถูกก็ถูก สิ่งใดผิดก็ผิด แต่จะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีผู้ที่คัดค้านพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงต่อพระพักตร์ เช่น ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภรัณฑุสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท เสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้ทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครกบิลพัสดุ์โดยลำดับแล้ว ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะว่า

    ไปเถิด มหานามะ ท่านจงรู้สถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ ที่อาตมาควรอยู่สักคืนหนึ่งวันนี้

    เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ รับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ เที่ยวไปจนทั่ว ก็มิได้เห็นสถานที่พักในพระนครกบิลพัสดุ์ซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่สักคืนหนึ่ง

    ลำดับนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครกบิลพัสดุ์ไม่มีสถานที่พักซึ่งพระผู้มีพระภาคควรจะประทับสักคืนหนึ่งวันนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนี้เป็นเพื่อนสพรหมจารีเก่าแก่ของพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับอยู่ ณ อาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตรนั้น สักคืนหนึ่งในวันนี้เถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ไปเถิด มหานามะ ท่านจงปูลาดเครื่องลาดเถิด

    เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วทรงปูลาดเครื่องลาด ทรงตั้งน้ำไว้เพื่อจะล้างพระบาท แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ลาดเครื่องลาดเสร็จแล้ว ได้ตั้งน้ำไว้เพื่อชำระพระยุคลบาทแล้ว บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของภรัณฑุดาบสกาลามโคตร แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ทรงล้างพระบาททั้งสอง ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงดำริว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย ต่อวันพรุ่งนี้ เราจึงจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณ แล้วเสด็จหลีกไป

    ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

    ดูกร มหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ศาสดาพวกหนึ่งในโลกนี้ บัญญัติการกำหนดรู้กาม ไม่บัญญัติการกำหนดรู้รูป ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กาม และบัญญัติการกำหนดรู้รูป แต่ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กามด้วย บัญญัติการกำหนดรู้รูปด้วย บัญญัติการกำหนดรู้เวทนาด้วย

    ดูกร มหานามะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกร มหานามะ คติของศาสดา ๓ จำพวกนี้ เป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นต่างๆ กัน

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า

    ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน

    เมื่อภรัณฑุดาบสกาลามโคตรกล่าวเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า

    ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน

    แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรก็ได้กล่าวกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า

    ดูกร มหานามะ ท่านจงกราบทูลว่า เป็นอย่างเดียวกัน

    แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า

    ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน

    แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกร มหานามะ ท่านจงกล่าวว่า เป็นต่างๆ กัน

    ครั้งนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้คิดว่า เราถูกพระสมณโคดมรุกรานเอาแล้วต่อหน้าเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ผู้มีศักดิ์ใหญ่ถึงสามครั้ง ผิฉะนั้น เราพึงหลีกไปเสียจากนครกบิลพัสดุ์

    ลำดับนั้นแล ภรัณฑุดาบสกาลามโคตรได้หลีกไปแล้วจากนครกบิลพัสดุ์ เขาได้หลีกไปแล้วเหมือนอย่างนั้นทีเดียว มิได้กลับมาอีกเลย ฯ

    นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในครั้งโน้น ซึ่งเหตุการณ์แต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่พ้นจากเรื่องของความเห็นถูก ความเห็นผิด หรือว่าอกุศลธรรมประการต่างๆ ซึ่งแต่ละท่านได้สะสมมา และทำให้มีการปรากฏขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน หรือว่าในลักษณะเดียวกัน หรือว่าต่างกันไปก็ได้ตามการสะสม และพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงศาสดา ๓ จำพวก ซึ่งมีปรากฏในโลก

    พวกหนึ่งบัญญัติการกำหนดรู้กาม ไม่บัญญัติการกำหนดรู้รูป ไม่บัญญัติการกำหนดรู้เวทนา

    มีไหมอย่างนี้ ที่ว่าไม่ต้องรู้ก็ได้ รู้เฉพาะบางส่วน รู้เฉพาะลักษณะของนามธรรมบางประเภท รูปธรรมบางประเภท หรือบางท่านก็กล่าวว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดรู้ลักษณะของเวทนา กำหนดรู้เพียงลักษณะของสภาพธรรมบางอย่างซึ่งท่านเข้าใจว่า สามารถจะทำให้รู้อริยสัจธรรมได้ แต่ขอให้ท่านได้ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้าเป็นไปในลักษณะนั้นแล้ว สามารถที่จะละกิเลสในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือว่ากำลังมีการรู้เรื่อง รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏและก็เกิดความยินดีบ้างความยินร้ายบ้าง ได้ไหม ถ้าไม่รู้จนทั่วจริงๆ ถ้าเพียงแต่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบางอย่าง บางประการเท่านั้น

    สำหรับท่านที่มีความเข้าใจว่า ท่านจะต้องสงบเสียก่อน จึงจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ท่านเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ท่านไปสู่สถานที่ที่สงบ เจริญความสงบมาก เป็นผู้ที่สงบ แต่เวลาที่ท่านกลับมามีชีวิตปกติธรรมดา มีการเห็นสิ่งที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ความสงบอยู่ที่ไหน มีได้ไหม นี่คือการอบรมแม้ความสงบ ซึ่งท่านเข้าใจว่า ท่านได้อบรมความสงบมาแล้ว เป็นผู้ที่ได้เจริญความสงบมามาก แต่ครั้นมาประสบพบกับชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งจะต้องมีการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง ความสงบมีได้ไหม

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญความสงบมาแล้ว ท่านสงบได้ แต่เพราะว่าแม้ในการที่จะอบรมเจริญความสงบ ก็กระทำไปโดยไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดว่า การที่จะอบรมความสงบจากกิเลส คือ จากความยินดียินร้ายนั้นจะต้องอบรมอย่างไร และก็เป็นชีวิตปกติประจำวันด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดอย่างนี้ เมื่อกลับมามีชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งจะต้องกระทบกับอิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง ปรากฏว่า ความสงบไม่มี

    จะมีประโยชน์อะไร การที่ไปสงบอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความยินดียินร้าย สงบเพราะสถานที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความยินดียินร้าย แต่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดว่า การสงบอย่างแท้จริงได้นั้น จะต้องกระทำการอบรมจิตให้สงบอย่างไรเป็นลำดับขั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมาเผชิญกับชีวิตประจำวัน ท่านก็ไม่สามารถที่จะสงบได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๕๖๑ – ๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564