แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 546


    ครั้งที่ ๕๔๖


    สุ. แต่คำอธิบายใน มโนรถปุรณี อรรถกถา กล่าวว่า ได้แก่ ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นเฉพาะดอกไม้ที่ร้อยแล้ว หรือดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้

    คามิกะ บุปผะ เป็นดอกไม้ จะวางไว้พะเนินเทินทึกก็ได้ แต่มาลา ต้อง กรองเป็นระเบียบ เป็นมาลัย นี่ผมพูดตามศัพท์

    สุ. ถ้ารักษาอุโบสถศีลแล้ว ทัดดอกไม้ได้ไหม ทัดดอกไม้ดอกเดียว ไม่ใช่พวงมาลัย หรือจะติดกระเป๋าเสื้อก็ได้ตามใจชอบ

    คามิกะ ถ้าจะไปเลี่ยงอย่างนั้น ก็ดูจะไม่เหมาะ

    สุ. เพราะฉะนั้น จะตบแต่งด้วยดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ไม่สมควร สำหรับผู้ที่รักษาอุโบสถศีล และอรรถกถาก็แก้ว่า ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง

    . ทาปาก เขียนคิ้ว ใส่น้ำมันใส่ผม เข้าข่ายด้วยไหม

    สุ. แน่นอนที่สุด เป็นการประดับตกแต่ง

    . การดูการเล่นที่เป็นข้าศึก ผมก็เข้าใจว่า เป็นการดูหนัง ดูละครทั่วๆ ไป แต่การดูหนังพุทธประวัติ เช่น เรื่ององคุลีมาล หนังประเภทนี้จะเป็นข้าศึกหรือไม่

    สุ. ใครจะทราบ ต้องการจะดูด้วยความพอใจ เพลิดเพลิน อยากดู มีกิเลสที่จะดู มีความปรารถนาที่จะดู หรือว่าไม่ได้สนใจที่จะดู เพราะรู้ว่าถ้าดูก็เป็นเรื่องของความเพลิดเพลิน

    ผู้ฟัง ผมว่าแล้วแต่เจตนารมณ์ ใน อรรถกถาของ มงคลทีปนี ท่านว่าไว้อย่างนี้ เพลงที่ประกอบด้วยธรรม ฟังได้ แต่ธรรมนำไปร้องเป็นเพลง ไม่น่าฟัง ท่านว่าอย่างนี้ ยกตัวอย่างว่า เพลงดาวลูกไก่ ๗ ก็ธรรม ฟังได้ คือ เพลงที่ประกอบด้วยธรรมฟังได้ แต่พระร้องรำทำเพลง แทนที่จะสวดทำนองสรภัญญะ นำไปร้องแบบลูกทุ่งบ้าง ลูกกรุงบ้าง อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ควร

    และที่พูดเรื่องการดูละคร ดูลิเก เช่น เรื่องของพระคุลีมาล ก็แล้วแต่เรื่อง อย่างท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านก็ไปดูมหรสพ แต่วันหนึ่งท่านเกิดธรรมสังเวช ข้อสำคัญอยู่ที่เรื่องที่เราดู ดูเรื่องพระองคุลีมาลย์ เรื่องพระพุทธประวัติ ก็น่าจะได้ แต่ไปดูล๊อตเตอรี่ เห็นจะไม่ได้

    สุ. แต่ขณะนั้นท่านยังไม่ได้อุปสมบท

    ผู้ฟัง ยังครับ แต่เมื่อไปดูแล้ว เกิดธรรมสังเวช ถึงได้ไปหาโมกขธรรม

    สุ. แต่ผู้ที่อุปสมบทแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไปดูไปฟัง เพื่อให้เกิดความสังเวช เพราะฉะนั้น ต้องแยกกันระหว่างบุคคลผู้เป็นบรรพชิต กับฆราวาส ถ้าเป็นบรรพชิตไม่ได้แน่นอน

    . การเห็น การดู การได้ฟัง อะไรเหล่านี้เป็นบาป หรือเป็นบุญ

    สุ. หมายถึง จักขุวิญญาณโดยเฉพาะ หรือหมายความถึง จิตที่เกิดหลังจากที่เห็นแล้ว

    . การดู เป็นจักขุวิญญาณ

    สุ. จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศล หรืออกุศล

    . เป็นอเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็ไม่เห็นมีบาปมีบุญอะไร ฉะนั้น การดู ถ้าดูแล้ว ก็คงไม่มีบุญมีบาปอะไร

    สุ. แล้วแต่ผู้ดูเป็นใคร ถ้าเป็นพระอรหันต์ ก็มีแต่วิบากจิตและกิริยาจิต แต่ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีทั้งกิริยาจิต วิบากจิต กุศลจิต และอกุศลจิต

    . การบูชาพระ ประดับด้วยดอกไม้ของหอม จะเป็นบุญหรือเป็นบาป

    สุ. สำหรับใคร

    . ก็ที่เราบูชาพระกันอยู่

    สุ. จิตของผู้ที่บูชาเป็นกุศลจิต แต่จิตที่ติดและเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ ในดอกไม้ ในของหอม นั่นเป็นอกุศลจิต

    . ผู้บูชาไม่ติดหรอก ถ้าติดแล้วคงไม่บูชา ถ้าติดคงเก็บไว้

    สุ. แล้วแต่ เวลาที่บูชา

    . แต่จิตของพระที่รับจะเป็นอย่างไร

    สุ. แล้วแต่ท่านอีกเหมือนกัน ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่มีกุศลจิต อกุศลจิต ท่านก็มีแต่วิบากจิตกับกิริยาจิต แต่ถ้าท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านก็มีทั้งวิบากจิต กิริยาจิต กุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยว่าจิตประเภทไหนจะเกิด

    . ผู้ที่ฟังนี่ ฟังด้วยอเหตุกจิตหรืออย่างไร

    สุ. มีทั้งวิบากจิต กิริยาจิต กุศลจิต อกุศลจิต แล้วแต่ขณะใดจะเป็นกุศล ขณะใดจะเป็นอกุศล

    . การที่จะให้ไม่ล่วงศีลข้อนี้ ผมรู้สึกว่าจะยาก สมมติว่า เราเข้าโบสถ์รับศีลอุโบสถ พอออกจากโบสถ์ ก็ได้ยินเสียงดนตรีที่เขาประโคมงานศพอยู่ข้างโบสถ์นั่นเอง ทำอย่างไรจะไม่ให้ล่วงศีลข้อนี้ได้

    สุ. การได้ยิน ไม่ห้าม แต่การที่จะไปดู ไม่ควร

    . ดูไม่ควร แต่ได้ยินไม่ห้าม ใครจะห้ามการได้ยินได้

    สุ. ได้ยิน แต่อย่าไปดู

    . อย่าพอใจ เราฟังแล้วคิดว่าไม่เพราะได้ไหม เพลงนี้เพราะ เพลงนี้ไม่เพราะ ถ้าจะรู้อย่างนี้จะเป็นอย่างไร

    สุ. รู้ว่าเพราะ ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่อย่าไปฟังต่อ อย่าไปดูต่อ อย่ามีเจตนาที่จะไปดู หรือไปฟัง ได้ยินเป็นเรื่องของได้ยิน หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แต่ไม่ไปดู และไม่ไปฟัง ถ้าเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีล

    . การเห็นของพระอรหันต์ กับการเห็นของปุถุชน เหมือนกันไหม

    สุ. การเห็นเหมือนกัน เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นรูปารมณ์เท่านั้น แต่การเห็นของพระอรหันต์ไม่มีอนุสัยกิเลส

    . พระอรหันต์เห็นพระพุทธรูปกับปุถุชนเห็น เห็นเหมือนกัน คือ จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์เหมือนกัน

    สุ. แต่ปุถุชนมีอนุสัยกิเลสในจักขุวิญญาณ ซึ่งเมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว จิตต่อไปก็ยังคงมีอนุสัยกิเลส เมื่อได้เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นโลภะโทสะ หรือเป็นกุศลอกุศลประการใดก็เกิดขึ้นได้ เพราะว่ายังมีอนุสัยกิเลสเป็นเชื้อเป็นปัจจัยที่จะเกิดขึ้น

    . ผมอ่านพระสูตรหลายพระสูตร มีข้อความว่า ให้ฉลาดในธาตุ ในขันธ์ ในอายตนะ ถ้าเรางดจริง ไม่แชเชือนไปดูหนังดูละคร เราก็คงเป็นผู้ฉลาดจริงได้ ถ้าเราจะตะแคงข้าง ดูทางนี้ไม่ได้ ก็หาทางเลี่ยงดูให้ได้ ผมคิดว่า คงไม่เป็นไปตามที่ทรงสอนให้ฉลาดในธาตุ ในขันธ์ ในอายตนะ อะไรอย่างนี้จะใช่ไหม ถ้าแอบไปดูนั่นนิด นี่หน่อย คงผิดความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคใช่ไหม

    สุ. แอบไปดูโน่นนิด แอบไปดูนั่นหน่อย คือ มหรสพใช่ไหม หรือการฟ้อนรำ หรืออะไร

    . คือ เข้าข้างตัวเอง แม้ไม่ควร ก็ไปตีความตามตัวอักษรเข้าข้างตัวเองอีก เพื่อขอดูให้ได้ อะไรอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ จะทำให้ตัวเราไม่ฉลาดในธาตุ ในขันธ์ ในอายตนะโดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น

    ส. ท่านผู้ฟังหมายความว่า ควรที่จะได้อบรม เจริญ หรือว่ารักษาอุโบสถศีลประกอบด้วย เพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่ฉลาดในขันธ์ ในธาตุ ในอายตนะ ใช่ไหม หมายถึงอย่างนั้น ไม่ควรจะแอบไปดูโน่นนิดดูนี่หน่อย หรือแอบดูโน่นบ้างดูนี่บ้าง ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ที่ไม่ฉลาดต่อขันธ์ ต่อธาตุ ต่ออายตนะ ถ้ากระทำอย่างนั้น ใช่ไหม

    . แพ้ตัวเอง ถ้ากระทำอย่างนั้น

    สุ. ใครไม่ดู พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วใน สังขิตตสูตร พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้เว้นจากการดู การฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ทัดทรง ตบแต่งด้วยเครื่องประดับ ของหอม เครื่องลูบไล้

    ตามความจริง คือ พระอรหันต์ท่านเป็นผู้ที่ฉลาดแล้วในขันธ์ ธาตุ อายตนะ จนถึงขั้นที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ จะฝืนใจกระทำอย่างพระอรหันต์ เป็นไปได้ไหม ตามความเป็นจริง ยากใช่ไหม อาจจะเป็นผู้ที่มีศรัทธา รักษาอุโบสถศีลได้ในวันอุโบสถ หรือยิ่งกว่านั้น เป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร นั่นแล้วแต่ศรัทธา ซึ่งเป็นอนัตตา บังคับบัญชาให้ทุกคนเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แล้วแต่ว่าบุคคลใดสะสมเหตุปัจจัยที่จะกระทำอย่างนั้นได้ก็กระทำได้ แต่ทุกท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเริ่มเป็นผู้ที่ฉลาดขึ้นในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ฉลาดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย และความฉลาดหรือปัญญานั้นเองจะดับความไม่รู้ ความเห็นผิดที่ยึดถือขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญความฉลาดนั้นให้ยิ่งขึ้นจนถึงขั้นของพระอรหันต์แล้ว ก็ย่อมดับกิเลสได้ทั้งหมด แต่ว่าผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชา เปลี่ยนแปลงความเป็นผู้มีกิเลสให้เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส หรือเสมือนผู้ที่ไม่มีกิเลสได้

    พระอรหันต์ ท่านเป็นผู้เว้นจากการดูการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคม การทัดทรง การตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ต่างๆ เป็นอุปนิสัยของท่าน แต่ว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ อาจจะไม่ดู แต่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วหรือยัง ตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมปัญญาให้เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท การไม่ดูของทั้ง ๒ บุคคลนี้ ก็ยังต่างกัน

    การไม่ดูของท่านพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เป็นเพราะท่านไม่มีกิเลส ท่านดับกิเลสหมดสิ้นจึงไม่ดู แต่ว่าสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ดู แต่กิเลสยังไม่ดับ ปัญญายังไม่เกิด ความฉลาดในขันธ์ ในอายตนะ ในธาตุยังไม่มี เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ จึงต้องอบรมเจริญความฉลาด หรือความเป็นผู้มีปัญญาในขันธ์ ในอายตนะ ในธาตุให้เกิดขึ้นเสียก่อน และดับกิเลสจนถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะเหมือนกับคุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลายได้

    แต่ไม่ใช่เหมือนเพียงเฉพาะการไม่ดูเท่านั้น ก็จะเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ขึ้นอยู่กับอัธยาศัย ถ้าท่านสะสมอุปนิสัยที่จะขัดเกลา โดยการรักษาอุโบสถศีลก็ดี หรือว่าโดยการอุปสมบทก็ดี นั่นเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้ท่านได้ขัดเกลากิเลสของท่านให้เบาบางละคลายยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องอบรมปัญญาจนกระทั่งจะรู้ธรรมตามความเป็นจริง จึงจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    . ในศีลข้อที่ ๗ นั้น การดูเป็นข้าศึก แต่การฟังทำไมไม่ห้าม เช่น การดูหนัง เกิดความเพลิดเพลิน ยินดี ติดใจได้ แต่ถ้าจะไปฟังเพลง ฟังดนตรี ก็ทำให้เกิดความยินดี ติดใจ โลภะ โทสะก็เกิดได้ แต่ทำไมไม่ห้าม

    สุ. ห้ามด้วย การขับร้องด้วย

    . ขับร้องเป็นขับร้อง แต่ไปฟัง คนละคน

    สุ. การฟ้อน การขับ การประโคม ด้วยอำนาจการฟ้อนเอง หรือยังบุคคลอื่นให้ฟ้อน เป็นต้น โดยที่สุดการดูการฟ้อน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งการฟ้อน มีการฟ้อนของนกยูง เป็นต้น ละเอียดไปทุกอย่างหมด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเพลิดเพลิน

    . ฟังดูแล้ว คล้ายๆ กับว่า คนที่ไปฟังจะไม่เข้าในพยัญชนะนี้

    สุ. เข้าด้วย ฟ้อนเอง ให้ผู้อื่นฟ้อน หรือดูฟ้อน ร้องเอง ให้ผู้อื่นร้อง หรือฟังร้อง ก็เหมือนกัน

    ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะการประพฤติที่ไม่สมควรแก่สมณะ อันมีท่านพระภิกษุฉัพพัคคีย์เป็นมูลเหตุ ในเรื่องที่เกี่ยวกับ อุโบสถศีล องค์ที่ ๗ ข้อ ๑๙ มีข้อความว่า

    สมัยต่อมา ที่พระนครราชคฤห์ มีงานมหรสพบนยอดเขา พระฉัพพัคคีย์ได้ไปเที่ยวดูงานมหรสพ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

    ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้ไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง และการประโคมดนตรี เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

    ภิกษุทั้งหลาย ... กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปดูการฟ้อนรำ การขับร้อง หรือการประโคมดนตรี รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564