แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 558


    ครั้งที่ ๕๕๘


    สุ. เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ถึงอรรถว่า ทรงมุ่งหมายที่จะให้เข้าใจพยัญชนะที่ทรงแสดงอย่างไร ไม่ใช่เพียงคำพูดเท่านั้น แต่ทรงชี้ให้เห็นถึงขณะที่หลงลืมสติ และถือเอานิมิตอนุพยัญชนะในสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความเห็นถูก

    ความเห็นถูกทางตาจะค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น ด้วยการเข้าใจขั้นการฟังว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เคยยึดถือทางตาทันทีที่เห็นว่า เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเพียงสภาพของจริงซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เพียงเห็นเท่านั้นเอง

    เห็น คือ การรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนการที่จำนิมิตอนุพยัญชนะของสิ่งที่ปรากฏ และรู้ในความหมายของสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นบุคคลชื่อนั้น เป็นวัตถุสิ่งนั้น ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่เห็น ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นรู้ชัด สามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งต่างกัน และเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก

    สำหรับทางหูก็เช่นเดียวกัน ดูเสมือนว่า ทันทีที่ได้ยินก็เข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยิน แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริง สภาพที่ได้ยินเสียงไม่รู้ความหมายด้วย สภาพที่ได้ยินเสียงเพียงได้ยินเสียงที่ปรากฏเท่านั้น เสียงที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้เสียง เสียงที่ปรากฏจะไม่ปรากฏเลย ถ้าไม่มีสภาพนามธรรมที่กำลังรู้เสียงนั้น เพราะฉะนั้น สภาพรู้ ไม่ใช่เสียง เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งรู้ในเสียงที่ปรากฏ หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพที่เพียงรู้เสียงแล้วก็ดับไปไม่ได้เลย หาความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ในเสียงที่เพียงปรากฏแล้วก็ดับไปไม่ได้เลย

    แต่เมื่อสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของได้ยินว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่รู้เสียง ไม่ระลึกรู้ลักษณะของเสียงซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ก็ถือในนิมิตอนุพยัญชนะของเสียงที่ปรากฏว่า เป็นเสียงหนึ่งเสียงใดด้วยความเป็นตัวตน เช่น เป็นเสียงระฆัง เป็นเสียงนก เป็นเสียงรถยนต์

    ความจริงเสียงเกิดดับเร็วมาก แต่ที่ยังจำติดต่อมารู้ว่าเป็นเสียงรถยนต์ เพราะว่ามีการได้ยินหลายขณะ มากพอที่จะให้จดจำได้ว่าเป็นเสียงรถยนต์ ถ้าเพียงเสียงเดียว นิดเดียว ไม่สืบต่อปรากฏให้จดจำได้ว่าเป็นลักษณะของเสียงรถยนต์แล้ว จะไม่รู้ความหมายว่าเป็นเสียงรถยนต์ แต่เพราะว่าเสียงนั้นสืบต่อจนกระทั่งความจำสามารถที่จะถือในนิมิตอนุพยัญชนะนั้นได้ว่า เป็นเสียงของรถยนต์

    เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาให้ดับกิเลส ต้องด้วยปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ และเมื่อนั้นก็จะเข้าใจในอรรถที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยพยัญชนะว่า ไม่ถือในนิมิตและอนุพยัญชนะในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    การคิดนึกมีจริง มีใครบ้างไหมที่ไม่คิด และการคิดนึกนี้มากเหลือเกิน และยึดถือสภาพที่คิดนึกนี้ยิ่งกว่าสภาพอื่นว่าเป็นเรา เพราะว่าเสียงก็ดับไป รูปที่ปรากฏทางตาก็หมดไป หรือว่าไม่ปรากฏในขณะที่หลับตา แต่ความคิดนึกซึ่งจดจำทุกอย่างที่ได้เห็นไว้ ทุกอย่างที่ได้ยินไว้ ทุกอย่างที่ได้กลิ่นไว้ ทุกอย่างที่รู้รสไว้ ทุกอย่างที่กระทบสัมผัส ไม่ลืม และก็ผูกต่อเป็นเรื่องราวต่างๆ ขึ้น เสียงเมื่อสักครู่ดับไปแล้ว ความจำผูกต่อเป็นเรื่องราวต่างๆ ไว้ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเสียงของคนนั้นกำลังพูดอย่างนั้น เรื่องนั้น เป็นเราที่ได้ยิน และมีความรู้สึกหวั่นไหวไปตามเสียงที่ได้ยินนั้น ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องรู้ทั่วจริงๆ ถ้ารู้ไม่ทั่ว จะไม่ทราบเลยว่า ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลมากเพียงไร แต่ด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ท่านรู้ว่า ปัญญาเกิดบ้างหรือยัง ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็ไม่เกิด แต่ว่าอบรมเจริญอย่างไรจึงจะค่อยๆ เป็นปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ ละความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะว่าโดยมากพอพูดถึงปัญญา ดูเสมือนทุกท่านเข้าใจว่า ปัญญาคืออะไร แต่ตราบใดที่ปัญญาขั้นนั้นๆ ยังไม่เกิดกับท่าน ท่านจะไม่เข้าใจอรรถของความหมายของปัญญาเลย

    ปัญญาขั้นการฟัง พิจารณาสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจในเหตุผลมีแล้วแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นก็เข้าใจความหมายอรรถของปัญญาที่รู้ที่เข้าใจในเหตุผลของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีการสังเกต สำเหนียก ที่จะแยกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า ลักษณะใดเป็นสภาพรู้ ลักษณะใดเป็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีการอบรมเจริญอย่างนี้ ปัญญาที่สามารถประจักษ์ความแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม โดยไม่มีสภาพธรรมอื่นปะปนเลย ย่อมไม่ประจักษ์กับท่าน ต่อเมื่อใดอบรมเจริญไป ปัญญาขั้นนั้นมีเหตุปัจจัยสมควรที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น ท่านผู้นั้นก็หมดความสงสัยในลักษณะของปัญญา ซึ่งสามารถจะแทงตลอดรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แยกขาดลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกจากกันได้ ไม่มีความสงสัยเลย และปัญญาจะต้องเจริญขึ้นเป็นขั้นๆ จนถึงปัญญาของพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และ พระอรหันต์

    เมื่อใดปัญญาขั้นใดเกิดกับผู้ใด ผู้นั้นก็ประจักษ์ชัดในอรรถของลักษณะของปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ต้องอาศัยการอบรมเสียก่อน เมื่อเหตุสมควรแก่ปัญญาขั้นใดจะเกิดขึ้น ปัญญาขั้นนั้นจึงเกิดขึ้น

    แต่ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด คิดว่าเข้าใจลักษณะของปัญญาหมดแล้ว บางท่านพูดถึงโลกุตตรปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาของพระอรหันต์บ้าง พระอนาคามีบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระโสดาบันบ้าง พูดง่ายมาก แต่ไม่ประจักษ์ในลักษณะของปัญญาซึ่งเป็นสภาพที่มีจริงแต่ยังไม่เกิด เพราะว่าเหตุไม่สมควรแก่ผล ต่อเมื่อใดเหตุสมควรแก่ผล ปัญญาขั้นนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้น

    ข้อ. ๒ ท่านถามว่า กระผมได้อ่านพุทธพจน์ที่ว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน

    และอีกพุทธพจน์หนึ่ง ผู้ที่มีความไม่ประมาท เมื่อมีฌานติดต่อกันไปทุกขณะจิต มีการก้าวหน้าอย่างมั่นคงอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้มีปัญญา ย่อมได้สัมผัสกับนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะที่สูงสุด เป็นภาวะซึ่งปราศจากเครื่องผูกมัดทุกอย่าง

    กระผมไม่เข้าใจคำว่า ฌาน ในที่นี้หมายถึงอะไร

    ฟังสำนวนแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่พุทธพจน์โดยตรง ที่ว่า ผู้ที่มีความไม่ประมาท เมื่อมีฌานติดต่อกันไปทุกขณะจิต มีการก้าวหน้าอย่างมั่นคงอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้มีปัญญา ย่อมได้สัมผัสกับนิพพานซึ่งเป็นภาวะที่สูงสุด เป็นภาวะซึ่งปราศจากเครื่องผูกมัดทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้อ้างถึงที่มาด้วย

    และสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่เข้าใจอรรถของพยัญชนะที่ว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน

    นี่เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมซึ่งมีจริง แต่ว่าปรากฏประจักษ์แล้วกับผู้ใด เพราะคำว่า ฌาน มีความหมายหลายอย่าง แล้วแต่ว่าข้อความนั้นปรากฏในส่วนใดของพระไตรปิฎก

    องค์ฌาน คือ สภาพธรรมที่เป็นเครื่องประกอบในการเผากิเลส ที่เป็นสมถภาวนา ได้แก่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุข คือ เวทนาเจตสิก เอกัคคตา คือ เอกัคคตาเจตสิก

    นี่เป็นสภาพธรรม ถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้วจะทราบได้ว่า ขณะใดจิตประกอบด้วยองค์ฌาน ขณะใดไม่ประกอบ

    ในจิตทั้งหมด ๘๙ ดวง สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ดวง คือ จิตซึ่งเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น ที่ไม่ประกอบด้วยองค์ของฌาน คือ ไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก

    จิตที่ไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก คือ ทวิปัญจวิญญาณ ได้แก่

    จิตเห็น จักขุวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

    โสตวิญญาณ ๒ ดวง โดยนัยเดียวกัน

    ฆานวิญญาณ ๒ ดวง โดยนัยเดียวกัน

    ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง โดยนัยเดียวกัน

    กายวิญญาณ ๒ ดวง โดยนัยเดียวกัน

    จิต ๑๐ ดวงนี้ ไม่ประกอบด้วยองค์ของฌาน เพราะฉะนั้น เพียงขั้นฟังจากที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง และคิดว่า ฌานเป็นเรื่องของรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นการเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเพียงเท่านั้นจะสงสัยว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ก็เลยคิดว่า จะต้องไปเจริญฌานเสียก่อน แต่ฌาน คือ การเผา ความเพียรที่จะเผากิเลส ซึ่งมี ๒ อย่าง สมถภาวนาอย่างหนึ่ง วิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง

    ถ้าสมถภาวนาก็เป็น อารัมมณูปนิชฌาน คือ การให้จิตจดจ่ออยู่ที่อารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบระงับจากกิเลส จนกระทั่งเป็นสมาธิมั่นคงยิ่งขึ้นถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

    ส่วนความหมายของฌานอีกนัยหนึ่ง คือ ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือ เผาความไม่รู้ทีละเล็กละน้อย จนกว่าจะละการยึดถือนามธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ในขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ จะเห็นได้ว่าต่างกัน ถ้าใครคิดว่ายังเหมือนกัน หมายความว่า ปัญญาไม่ได้เกิดกับผู้นั้น ไม่รู้ว่าขณะที่หลงลืมสตินั้นอย่างไร และขณะที่มีสตินั้นอย่างไร

    ขณะที่มีสติ คือ ระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นฌานหรือเปล่า เป็นการเผาความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด อะไรจะเผาความไม่รู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิด มรรคมีองค์ ๘ อย่างน้อยที่สุดจะต้องมี ๕ องค์ คือ

    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิกซึ่งเป็นองค์ฌาน เป็นการตรึกหรือจรดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ พร้อมสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติที่กำลังระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เวลานี้สภาพธรรมมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม ทางตาก็ไม่ได้ขาดนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่เห็น ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ถ้าสติไม่ระลึกตรงลักษณะของนามธรรมจริงๆ จะแยกขาดลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรมไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า กำลังเห็นนี้ รูปธรรมที่ปรากฏนั้นอย่างหนึ่ง และสภาพรู้ที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้นั้นอีกอย่างหนึ่ง ต้องเป็นสติที่ระลึกตรงลักษณะ และวิตกเจตสิกก็จรดตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้อง คือ ถ้าจรดที่ลักษณะของนามธรรม ก็รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ถ้าจรดในลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมสติซึ่งเป็นสัมมาสติ ในขณะนั้นก็เป็นการระลึกรู้และจรดในลักษณะของรูปธรรม ไม่ใช่เอานามธรรมเป็นรูปธรรม หรือเอารูปธรรมเป็นนามธรรม

    การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดจริงๆ จึงจะประจักษ์สภาพธรรมแต่ละอย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน และไม่สับสน

    ในขณะที่สติเกิด มีสัมมาทิฏฐิ มีวิริยเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ เป็นสัมมาวายาโม ๓ องค์แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะขาดเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิอีก ๑ ที่เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์เดียวในขณะนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องอรรถของฌาน ซึ่งเป็นการเจริญอบรมการเผากิเลส ละความไม่รู้ให้หมดไป ดังนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ รู้ความต่างกันของขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ จึงรู้ในอรรถที่ว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน เพราะเหตุว่าวิตกเจตสิกก็ดี เป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ องค์หนึ่ง

    ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน ไม่ใช่คิดเองว่า ฟังมานานแล้ว กำลังจะบรรลุนิพพานแล้ว โดยที่สติไม่เกิด ปัญญาโดยลำดับขั้นก็ไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่มีสติ นั่นเป็นความเข้าใจหรือตีความธรรมเอง แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียด คือ โดยการปฏิบัติธรรมด้วย เมื่อศึกษาเรื่องของสติปัฏฐานก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ก็จะหมดความสงสัยในพระพุทธพจน์ หรือในพยัญชนะที่ว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน

    เวลาที่ปัญญาคมกล้าขึ้น ความสงบจะเพิ่มขึ้นตามด้วยไหม เป็นของแน่นอนที่สุด แต่ความสงบที่เกิดร่วมกับปัญญาในขณะนั้น ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นความสงบ ใช้คำว่า ฌาน ได้ เกิดร่วมกับปัญญา รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปัญญาคมกล้า องค์อื่นของมรรคก็จะต้องเพิ่มความคมกล้าขึ้น แม้แต่ลักษณะของฌาน ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏด้วย แต่ว่าสมาธินั้นไม่ได้มีอารมณ์เช่นสมถภาวนา คือ ไม่รู้ในรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าการเจริญสมถภาวนา จุดประสงค์เพื่อไม่รู้ในสิ่งที่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน ในสิ่งที่ปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่รู้ในนามธรรม ในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเลย เพราะว่ามีจุดประสงค์เพียงให้จิตสงบระงับ ด้วยการจดจ้องในอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ลักษณะของฌานที่ประกอบด้วยปัญญา หรือปัญญาที่ประกอบด้วยฌาน ก็เป็นสภาพของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเจริญขึ้น มีความไม่ประมาท ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นนามธรรมประเภทใด รูปธรรมประเภทใด

    และที่ว่า เมื่อมีฌานติดต่อกันไปทุกขณะจิต ความหมายก็แล้วแต่ว่า ท่านเข้าใจอย่างไรในคำว่า ทุกขณะจิต

    ถ้าพูดถึงเอกัคคตาเจตสิกแล้ว เกิดกับจิตทุกดวง เอกัคคตาเจตสิกก็เป็นองค์ของฌานด้วย แต่วิตกเจตสิกซึ่งเป็นองค์ของฌานนั้น ไม่ได้เกิดกับทุกขณะจิต

    นี่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยละเอียด แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาย่อมเจริญขึ้นที่จะรู้ในอรรถของพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรมว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ มีลักษณะอย่างนั้นๆ จริงๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเชื่อเท่านั้น

    ข้อ. ๓ ถามว่า ขอท่านอาจารย์ช่วยขยายความพุทธพจน์นี้ด้วย ภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ละได้ทั้งบุญและบาป ซึ่งเป็นผู้ที่มีสติอยู่เสมอ

    ผู้ที่ละได้ทั้งบุญและบาปมีคนเดียว คือ พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีสติอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีบุญและบาปแล้ว ก็ย่อมจะไม่เป็นภัยแก่บุคคลใดทั้งสิ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๕๕๑ – ๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564