แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 555


    ครั้งที่ ๕๕๕


    ถ. ตามหลักวิทยาศาสตร์สาขาใหญ่ๆ ที่เป็นสสารและพลังงาน สสารเป็นการรวมกัน หรือว่าจะเป็นธาตุ ๔ ก็ได้ สิ่งที่ออกมาของสสาร เขาเรียกว่า พลังงาน พลังงานที่ออกมาจากสสารนั้น เป็นรูปหรือเป็นนาม

    สุ. นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ พลังงานไม่ใช่สภาพรู้ ต้องเป็นรูปธรรม และถ้าจะถามว่าเป็นรูปอะไร อย่างน้อยที่สุด ต้องมีรูปรวมกัน ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ในกลาปที่เล็กที่สุด

    รูปใดๆ ก็ตาม จะต้องมีรูปรวมกันอย่างน้อย ๘ รูป จะเรียกว่าพลังงาน หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่จะต้องมีรูปที่เกิดรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา

    ถ้าไม่มีความอ่อน ความแข็ง ไม่มีความเย็น ความร้อน จะเป็นพลังงานได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ และที่ใดที่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จะต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในแต่ละทาง คือ สีปรากฏทางตา กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น โอชาสามารถรู้ได้ทางใจ

    ถ. เกี่ยวกับพลังงานที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความพร้อมของธาตุทั้ง ๔ หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนความคิด อย่างในการเพ่งกสิณนั้น ใช้กำลังทางจิต หรือการใช้สมาธิ ในลักษณะอย่างนั้น เราจะเรียกว่า พลังงานหรือไม่

    สุ. ต้องแยกสภาพธรรมออกเป็น ๒ ส่วน สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรมโดยเด็ดขาดแน่นอน จิตเป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น จิตซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ไม่มีสีสันวัณณะ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่โผฏฐัพพะใดๆ เลย เป็นแต่เพียงอาการรู้หรือธาตุรู้เท่านั้น จะไม่มีรูปชนิดหนึ่งชนิดใดปะปนอยู่ในความเป็นธาตุรู้นั้นเลย

    ถ. กลางวันเราไปเห็นรูปต่างๆ เราก็เก็บสะสมเอาไว้ในใจ ตกกลางคืนเราก็ฝันถึงรูปที่เราเคยเห็น เคยได้พบมา ลักษณะอย่างนี้ การที่เราเก็บภาพเหล่านั้นเพราะความคิดหรือด้วยพลังทางจิต จะถือว่าเป็นรูป หรือเป็นนาม

    สุ. เป็นการสืบต่อกันของจิต จากกลางวันไปสู่กลางคืน เพราะฉะนั้น ก็มีการทรงจำ จดจำ สืบต่อกันไปเรื่อยๆ ปรากฏออกมาเป็นความฝันต่างๆ

    ถ. ความฝันนี้ คือ สัญญา หรือเวทนา

    สุ. ไม่มีสภาพธรรมชนิดใดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเดียว ในขณะที่เกิดจะต้องมีสภาพธรรมหลายอย่างเกิดร่วมด้วย เช่น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง จะต้องมีเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏหรือในสิ่งซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต จะต้องมีสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จำในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นด้วย ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีเจตสิก ๗ ดวง แต่เวลาที่ฝันมีมากกว่านั้น

    ถ. อาจารย์เคยพูดบ่อยๆ ว่า เวลาเห็นอะไร หรือมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตา สติก็ระลึกว่า นั่นเป็นสภาพรู้ทางตา เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตาเท่านั้น คือ เป็นสภาพที่ปรากฏรู้ได้ทางตาเท่านั้น คำว่า เท่านั้น แต่บางครั้งอาจารย์ก็สอนว่า แต่สีนั้นก็ปรากฏให้รู้ทางใจอีกด้วย คำว่า เท่านั้น ก็ไม่ใช่เท่านั้น

    สุ. เท่านั้น คือ เป็นแต่เพียงสี หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนในสีนั้นไม่ได้ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา และปรากฏต่อทางใจ เพราะเวลาที่ปรากฏต่อทางใจ จริงๆ จะปรากฏแต่ปรมัตถธรรม คือ ลักษณะของสีเท่านั้น ในมโนทวารวิถีจิตแรกที่เกิดต่อจากทางตา ยังไม่มีการที่จะจดจำลักษณะอาการที่ปรากฏว่า เป็นคน หรือเป็นโต๊ะ หรือเป็นเก้าอี้ หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นของจริงที่ปัญญาน่าจะเกิดขึ้นรู้แจ้งแทงตลอดจริงๆ เพื่อจะละความเคลือบแคลง ความสงสัย ความไม่รู้ ความที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่เกิดประชุมรวมกันสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จนปรากฏเป็นสิ่งที่ให้เห็นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนต่างๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง แต่เมื่อสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ประชุมรวมกันดูเสมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกิดดับ และปรากฏเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งต่างๆ ด้วย

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง ซึ่งเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๒๙๓/๑ ซอยรามบุตรี กรุงเทพมหานคร

    วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่นับถือเป็นอย่างยิ่งเสมอมา

    ในเรื่องสถานที่ปฏิบัติธรรม ผมขอเรียนปรารภเล็กน้อย ตามโคตมเถรคาถา พระไตรปิฎกฉบับ ๒๕๐๐ เล่ม ๔๑ ข้อ ๓๗๖ หน้า ๕๐๗ บรรทัดที่ ๙ และ ๑๐ ท่านพระโคตมเถระกล่าวว่า เสนาสนะป่าอันสงัด ปราศจากเสียงอึกทึก อันมุนีพึง คบหา นี้เป็นของสมควรแก่สมณะ

    ผมเคยอยู่ในป่ามาระยะหนึ่ง เพราะกัลยาณมิตรของผมอยู่ ณ ที่นั้น ขอถามว่าในกรณีที่อยู่ไกลป่า โคนไม้ เรือนว่าง คือ ทำงานที่กรุงเทพ ก็พยายามใช้โอกาสปฏิบัติธรรมในมุมที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้ อย่างนี้ถูกต้องตามความหมายที่ท่านอาจารย์อธิบายไหมขอรับ

    ขอได้รับความนับถืออย่างยิ่ง

    จากผม

    สุ. เรื่องของความเห็น ข้อสำคัญที่สุด คือ การปรับความเห็นผิดให้เป็นความเห็นถูก เพื่อที่จะได้เจริญอบรมความเห็นถูกให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จดหมายส่วนมาก ถ้าเป็นเรื่องของสถานที่ ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านผู้ฟังยังไม่ได้พิจารณาถึงปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม ไม่ใช่อบรมความไม่รู้ หรือว่าไม่ใช่อบรมการเลือกรู้บางอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่การรู้ทั่ว และถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีหนทางที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่าไม่เกิดความรู้ ที่จะละความไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    สำหรับท่านผู้ฟังท่านนี้ ท่านเคยอยู่ในป่ามาระยะหนึ่งเพราะกัลยาณมิตรของท่านอยู่ ณ ที่นั้น ก็แสดงให้เห็นความต่างกันที่ว่า ตัวท่านกับผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรของท่าน สะสมมาต่างกัน ถ้ากัลยาณมิตรของท่านสะสมมาที่จะอยู่ป่า แต่ตัวท่านทำงานที่กรุงเทพ อยู่ไกลป่า โคนไม้ เรือนว่าง แต่ท่านก็พยายามใช้โอกาสปฏิบัติธรรมในมุมที่เหมาะสมที่สุด

    นี่เป็นการจำกัดอารมณ์ที่จะให้ปัญญารู้ คือ ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะให้รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งพิสูจน์ได้ ถ้าท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ณ สถานที่หนึ่งสถานที่ใดได้ ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นสภาพธรรมอย่างไร

    ถ้าท่านเลือกมุมที่เหมาะสมที่สุดและคิดว่า จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น แต่ขณะอื่น ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ทำไมไม่อบรมให้สติเกิดขึ้น ให้ปัญญาสำเหนียก สังเกต ที่จะเป็นการเจริญปัญญาจริงๆ ที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะถ้าเป็นปัญญาแล้ว รู้จริงๆ ไม่ใช่รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง หรือว่ารู้เฉพาะบางนาม รู้เฉพาะบางรูป

    ชีวิตประจำวันของแต่ละคนตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าท่านจะระลึกรู้บ้าง ก็จะเห็นได้ว่า เต็มไปด้วยความหวั่นไหวด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะมากน้อยต่างกัน ยังมีสภาพความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นแน่นอนที่สุด จึงทำให้จิตหวั่นไหวไปด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง

    ลองคิดถึงวันนี้ ผ่านไปแล้วก็จริง ลองย้อนคิดไปว่า เกิดโลภะมากๆ บ้างหรือเปล่า เกิดโทสะมากๆ บ้างหรือเปล่า เป็นความเดือดร้อนของจิตซึ่งไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเลยบ้างหรือเปล่า และบางท่านก็ปรารถนาเหลือเกินที่จะให้สติเกิดในขณะนั้น ในขณะที่กำลังโกรธมากๆ บางท่านอยากจะให้สติช่วยเกิดขึ้นระลึกรู้ เพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือสภาพธรรมซึ่งกำลังโกรธมากๆ ในขณะนั้นว่าเป็นตัวตน แต่ถึงแม้จะปรารถนาสักเท่าไร ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติไม่เกิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติอาจจะเกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เดือดร้อน เป็นโทสมูลจิต เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้างแรงสักเพียงไร สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ หรือว่าจิตใจจะหวั่นไหวไปด้วยความยินดี พอใจ เพลิดเพลินสักเท่าไรก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นเอง สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    ลองคิดดูว่า จะดีไหม ถ้าสติเกิดได้แม้ในขณะนั้นๆ ที่จิตกำลังเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ความริษยาบ้าง ความตระหนี่บ้าง ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดที่ผ่านไปแล้วในวันนี้ ถ้าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้นๆ จะดีหรือไม่ดี จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ จะต้องมีแน่ ไม่ว่าจะเป็นสติขั้นใดก็ตาม เพราะว่าสำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมจะรู้ได้ว่า บางครั้งสติเกิด วิรัติทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง แต่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นเพียงแต่สติที่วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่วิรัติในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นวิรัติทุจริตในขณะนั้นแล้วก็ดับไป

    แต่ถ้ารู้ว่า แม้ขณะนั้นๆ ที่วิรัติจากทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และก็รู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ รูปธรรมจริงๆ ตรงลักษณะของรูปธรรมนั้นๆ ตรงลักษณะของนามธรรมนั้นๆ ไม่ปะปนกัน ในขณะนั้นก็เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม และรู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่นามธรรม

    เพราะฉะนั้น สติย่อมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นตามควรว่า ขณะนั้นจะเป็นสติที่วิรัติกายทุจริต วจีทุจริต หรือว่าเป็นสติปัฏฐานด้วย มีประโยชน์ไหม การอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตาม ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้ได้ และเป็นการละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่าเป็นตัวตน

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงย่อมไม่เกื้อกูล ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะว่าท่านอาจจะศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมากเหลือเกิน รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นจิตอย่างไร เป็นเจตสิกอย่างไร เป็นรูปอย่างไร มีลักษณะต่างกันอย่างไรโดยการศึกษา แต่สภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ตรงกับที่ได้ศึกษามาแล้วทั้งหมด ถ้าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เพียงการศึกษา แต่สามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดด้วย

    และถ้าท่านเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม ท่านจะเห็นได้ว่า ในพระไตรปิฎกทั้งหมดจะไม่มีข้อความว่า ให้เว้น หรือให้เลือกเจริญสติปัฏฐานเฉพาะในบางสถานที่ ที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมที่สุด ในเมื่อชีวิตจริงๆ ของท่านยังมีนามรูปซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมาซึ่งไม่เคยระลึกรู้ เมื่อไม่เคยระลึกรู้ จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ หนทางเดียวที่จะละได้ คือ ความรู้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ พิสูจน์ธรรมได้ ท่านจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ท่านจะอยู่ที่มุมสงบของท่าน หรือว่าท่านจะกำลังนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงานอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม ข้อพิสูจน์ก็คือ ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ สติเกิดได้ไหม เพราะตราบใดที่ท่านยังอยู่ในสถานที่อื่นและท่านไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็มีความไม่รู้เต็มไปหมด ทั้งทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อให้เกิดปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่ความไม่รู้ อย่าลืม ความไม่รู้ไม่มีประโยชน์เลย และความรู้ก็เป็นความรู้จริงๆ ซึ่งเกิดได้ รู้ได้ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น ย่อมแล้วแต่ท่านผู้ฟัง เมื่อท่านฟังแล้ว ใคร่ครวญ พิจารณาในเหตุในผล ท่านจะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ก็ควรพิสูจน์ธรรมที่ท่านได้ศึกษาซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า เพื่อให้ปัญญารู้ ไม่ใช่เพื่อให้ ไม่รู้ ถ้าเพื่อไม่รู้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องศึกษา ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติธรรมเลย แต่ถ้าเพื่อความรู้ จะต้องศึกษาในเหตุในผลว่า ปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม

    ถ้าอบรมเจริญบ่อยๆ เนืองๆ ถ้าปัญญารู้ได้ ก็ควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่เลือก เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จะดับกิเลสไม่ได้เลย

    สำหรับเรื่องของความเห็น ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถึงแม้ว่าจะได้พูดถึงการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และได้กล่าวถึงข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่แม้กระนั้น บางท่านก็ยังไม่เห็นประโยชน์

    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านนี้อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งท่านเขียนมาก่อนฉบับนี้ เพื่อที่จะได้ทราบว่า การปฏิบัติธรรม หรือการฟังธรรมของแต่ละท่าน แตกต่างกันไปตามความคิดเห็น

    ๒๙๓/๑ ซอยรามบุตรี ถนนจักรพงศ์

    กรุงเทพมหานคร

    วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพและนับถือเป็นอย่างยิ่งเสมอมา

    ก็ได้โทรศัพท์ถามเรื่องวิตกวิจาร ซึ่งได้กรุณาอธิบายว่า เป็นปกิณณกเจตสิกในปริจเฉทที่ ๒ ผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ทีแรกเข้าใจว่า มีคำอธิบายใน พระสุตตันตปิฎกหลงเหลืออยู่ จึงลองถามมา

    สุ. เวลาที่ท่านผู้ฟังถาม ดิฉันไม่เคยรู้จักท่านผู้ฟังมาก่อน เพราะฉะนั้น ก็มักจะพูดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏโดยง่ายๆ ที่ท่านสามารถจะเข้าใจได้ และพระไตรปิฎกก็เป็นเรื่องที่สุขุมลึกซึ้งมาก สำหรับผู้ที่ได้ศึกษามามากแล้วจริงๆ จึงจะเข้าใจได้ ซึ่งการศึกษานั้น ก็ต้องเป็นไปตามลำดับด้วย

    สำหรับท่านผู้ฟังที่ยังไม่ได้ศึกษาปรมัตถธรรมเลย ที่จะอ่านพระอภิธรรมปิฎกให้เข้าใจชัดเจนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านสามารถเข้าใจ อภิธัมมัตถสังคหะก่อน ซึ่งแยกเป็นปริจเฉทต่างๆ ก็จะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้น เมื่อท่านเข้าใจแล้ว ท่านศึกษาต่อไปเองในพระอภิธรรมปิฎกก็ย่อมเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ก็ได้เรียนตอบไปตามที่เข้าใจว่า ท่านคงจะสนใจที่จะได้ทราบความหมายในเบื้องต้นของวิตกวิจาร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๕๕๑ – ๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564