แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 593


    ครั้งที่ ๕๙๓


    , ที่ว่าภิกษุผู้เป็นศัตรู ไม่ควรไหว้ และในอรรถกถาบอกว่า ถ้าไหว้แล้วอาจจะถูกเตะ ผมยังสงสัยอยู่ ศัตรูมาไหว้ อาจจะคืนดีได้ ก็ควรจะไหว้

    สุ. ถ้าคืนดี ก็ดี แต่ว่ากำลังโกรธๆ อารมณ์อย่างนั้นใครจะทราบว่า จะได้รับอะไรเป็นของตอบแทน

    , การเป็นศัตรูผ่านมานานแล้ว มาพบหน้ากัน ตอนหลังไหว้ก็ได้นี่

    สุ. ถ้าดีกันได้ ก็เหมาะควร แต่ถ้ายังไม่ดี ก็ไม่ทราบว่า ศัตรูนั้นจะเป็นศัตรูที่ร้ายสักแค่ไหน ไม่มีใครทราบใจของศัตรูได้ ก็ปลอดภัยไว้ก่อน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ

    ๑. ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้เวลาดื่มยาคู

    ๒. ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ในโรงภัตร

    ๓. ภิกษุผู้เป็นศัตรู อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ข้อความในอรรถกถา มีอธิบายว่า ถ้าไหว้ผู้เป็นศัตรู อาจจะถูกผู้นั้นประหารเอาด้วยเท้าก็ได้

    ๔. ภิกษุผู้กำลังคิดเรื่องอื่น อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๕. ภิกษุกำลังเปลือยกาย อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล

    ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ

    ๑. ภิกษุกำลังเคี้ยว อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๒. ภิกษุกำลังฉัน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๓. ภิกษุกำลังถ่ายอุจจาระ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๔. ภิกษุกำลังถ่ายปัสสาวะ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๕. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตร อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ดูกร อุบาลี ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล

    ข้อความอธิบายว่า

    ภิกษุถูกยกวัตรด้วยอุกเขปนียกรรมแม้ทั้ง ๓ อย่าง คือ การลงโทษยกเสียจากหมู่ หรือว่าห้ามร่วมกินร่วมนอน ห้ามร่วมทำสังฆกรรม แต่สำหรับบุคคล ๔ จำพวกอันสงฆ์ลงโทษด้วยตัชชนียกรรม คือ ตำหนิโทษ เป็นต้น ควรไหว้ แม้อุโบสถ ปวารณา ย่อมได้กับบุคคลเหล่านั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ

    ๑. ภิกษุผู้อุปสมบททีหลัง อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้

    ๒. อนุปสัมบัน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๓. ภิกษุมีสังวาสต่างกัน มีพรรษาแก่กว่า เป็นอธรรมวาที อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๔. สตรี อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๕. บัณเฑาะก์ อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล

    ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ แม้อื่นอีก ๕ ๕ อะไรบ้าง คือ

    ๑. ภิกษุอยู่ปริวาส อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๒. ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๓. ภิกษุผู้ควรมานัต อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๔. ภิกษุประพฤติมานัต อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ๕. ภิกษุผู้ควรอัพภาน อันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้

    ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายไม่ควรไหว้ ๕ นี้แล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลควรไหว้

    ข้อ ๑๒๒๖

    ท่านพระอุบาลีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ภิกษุ อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้ มีเท่าไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุทั้งหลายควรไหว้นี้ มี ๕ คือ

    ๑. ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน อันภิกษุผู้อุปสมบททีหลังควรไหว้

    ๒. ภิกษุผู้มีสังวาสต่างกัน มีพรรษาแก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้

    ๓. พระอาจารย์ อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้

    ๔. พระอุปัชฌาย์ อันภิกษุทั้งหลายควรไหว้

    ๕. พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันประชา ทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทพดามนุษย์ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ควรไหว้

    ดูกร อุบาลี บุคคลอันภิกษุควรไหว้ ๕ นี้แล.

    สำหรับธรรมของภิกษุอ่อนกว่าที่ควรปฏิบัติต่อภิกษุแก่กว่า ซึ่งเป็นการเคารพ ซึ่งแล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ดีทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสของท่านได้

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๑๒๒๗

    ท่านพระอุบาลีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    พระพุทธเจ้าข้า อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไหว้เท้าของภิกษุผู้แก่กว่า พึงตั้งธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วไหว้เท้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วไหว้เท้า ธรรม ๕ อะไรบ้าง

    ดูกร อุบาลี อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า

    ๑. พึงห่มผ้าเฉวียงบ่า

    ๒. ประคองอัญชลี

    ๓. นวดเท้าด้วยฝ่ามือทั้งสอง

    ๔. มีความรัก

    ๕. มีความเคารพ แล้วไหว้เท้า

    ดูกร อุบาลี อันภิกษุผู้อ่อนกว่า เมื่อไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า พึงเข้าไปตั้งธรรม ๕ นี้ไว้ในตน แล้วไหว้เท้า

    การขัดเกลากิเลสในพระธรรมวินัยมีมาก ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้ผู้ที่ต้องการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สมควร เช่น การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม เป็นต้น

    สำหรับเรื่องของพระธรรมวินัย จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้สำหรับพระภิกษุเพื่อจะได้ปฏิบัติในที่ต่างๆ กัน

    ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๒๖๔ สำหรับบุคคลที่ไม่ควรไหว้ มี ๑๐ จำพวก คือ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ อันภิกษุไม่ควรไหว้ คือ

    อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ๑

    ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน ๑

    ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที ๑

    ไม่ควรไหว้มาตุคาม ๑

    ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ ๑

    ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ๑

    ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม ๑

    ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต ๑

    ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต ๑

    ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน ๑

    บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล อันภิกษุไม่ควรไหว้ ฯ

    บุคคลไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก ก็ได้แก่ บุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๕ จำพวก ๒ พวกนั่นเอง รวมกันเป็น ๑๐ จำพวก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลที่ควรไหว้ ๓ จำพวก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ ภิกษุควรไหว้ คือ

    ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทก่อน ๑

    ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที ๑

    ควรไหว้ตถาคตผู้อรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

    บุคคล ๓ จำพวกนี้แล ภิกษุควรไหว้ ฯ

    ที่ว่าควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่เป็นธรรมวาที และไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงถือการเคารพในธรรม ต้องเป็นไปตามธรรมจริงๆ คือ ถึงแม้จะเป็นผู้ที่แก่กว่า แต่ว่าเป็นอธรรมวาที ก็ไม่สมควรแก่การที่จะไหว้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่แก่กว่า ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่รวมวัดเดียวกัน เป็นนานาสังวาส แต่เป็นธรรมวาที ก็ควรที่จะไหว้

    สำหรับเรื่องของการกราบไหว้ การแสดงความเคารพกัน ก็มีปัญหาเหมือนกันว่า ใครควรจะไหว้ใครในพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ในชีวิตของคฤหัสถ์ ก็จะต้องมีผู้ที่ควรไหว้ เพราะฉะนั้น เรื่องใครควรไหว้ใคร แม้ในพระธรรมวินัยก็ได้ทรงแสดงไว้

    ขอกล่าวถึงการแสดงความเคารพของพระภิกษุณีต่อพระภิกษุ ซึ่งเคยมีปัญหาตั้งแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีได้รับพุทธานุญาตให้อุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว ท่านก็คิดที่จะทูลขอพรกับพระผู้มีพระภาค ซึ่งมีข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๒๑

    ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า

    ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอพรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่

    คือ พระมหาปชาบดีโคตมีท่านคิดว่า ในระหว่างพระภิกษุและพระภิกษุณีควรที่จะกราบไหว้ผู้ที่แก่กว่า โดยไม่ถือเพศว่า เป็นภิกษุหรือภิกษุณี

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะขอพรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ข้อที่ตถาคตจะอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคามนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ที่มีธรรมอันกล่าวไม่ดีแล้วเหล่านี้ ยังไม่กระทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม ก็ไฉนเล่า ตถาคตจักอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

    . สตรีก็มีปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เหมือนกัน ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ยอมให้สตรีมีฐานะเท่าเทียมกับบุรุษ

    สุ. ข้อความในพระวินัย ที่พระมหาปชาบดีโคตมีคิดที่จะทูลขอพรกับพระผู้มีพระภาคนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านคิดเพียงการที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณีตามลำดับ ผู้แก่ คือ พระมหาปชาบดีโคตมีคิดถึงแต่เพียงวัย แต่พระผู้มีพระภาคทรงคิดถึงการเคารพในธรรม เพราะว่าเมื่อเข้ามาสู่พระธรรมวินัยแล้ว สิ่งที่ควรเคารพที่สุด คือ เคารพในธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีวัยแก่ ถ้าอุปสมบทภายหลัง ก็ต้องกราบไหว้ผู้ที่มีวัยอ่อนกว่าแต่ว่าอุปสมบทก่อน

    และการที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคามนั้น ก็เพราะว่าพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิตนั้น มีพระภิกษุเป็นหัวหน้า มีพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประมุข และพระอัครสาวกซึ่งเป็นพระภิกษุ เช่น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้ทรงคุณธรรมถึงความเป็นพระอัครสาวก จะให้ท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ กราบไหว้ ลุกรับ อัญชลีกรรม คือ ประนมมือ สามีจิกรรม คือ การกระทำที่ควรทุกอย่าง แก่มาตุคาม หรือว่าแก่ภิกษุณีนั้น ย่อมจะเป็นการลักลั่นในธรรม เพราะว่าท่านเป็นพระอัครสาวก

    เพราะฉะนั้น เพื่อความเป็นระเบียบ เพื่อควรแก่ความเหมาะสม และไม่มีการลักลั่น ก็ควรที่จะให้ภิกษุณีทั้งหลายไหว้พระภิกษุ และสำหรับพระภิกษุนั้น ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไหว้มาตุคาม

    สำหรับคฤหัสถ์ ก็คงจะมีปัญหาหรือข้อสงสัยว่า ผู้ชายจะไหว้ผู้หญิงได้หรือไม่ แต่นี่เป็นเรื่องของบรรพชิตที่ว่า ภิกษุณีจะต้องกราบไหว้ ลุกรับ กระทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่พระภิกษุ

    . ที่อาจารย์ว่าก็ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องพระวินัย คือ วินัย ระเบียบต่างๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคท่านไม่วางไว้ ก็จะลักลั่น ถึงวางไว้ก็ยังมีผู้ละเมิด ส่วนฆราวาสเราก็ควรจะถือแนวพระวินัยเป็นหลัก เรื่องไหว้นี่ ที่จริงพระผู้มีพระภาคท่านไม่ได้ห้าม ไม่ได้สั่ง แต่ท่านตรัสว่า ควร อย่างศัตรูยังไม่ควรไปไหว้ เดี๋ยวจะถูกเตะ คือ ท่านระวังไว้ให้

    สุ. น่าจะเห็นพระมหากรุณาคุณที่ทรงป้องกันไว้ก่อน โดยทรงเตือนว่า บุคคลใดบ้างเป็นผู้ที่ไม่ควรจะไหว้ ซึ่งสำหรับคฤหัสถ์ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการที่จะไม่ให้ผู้ชายไหว้ผู้หญิง สำหรับเพศบรรพชิตเท่านั้น ซึ่งเมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว จะต้องกราบไหว้ กระทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่พระภิกษุ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๙๑ – ๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564