แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 541


    ครั้งที่ ๕๔๑


    ข้อความต่อไป ใน พระวินัยปิฎก ปริวาร คาถาสังคณิกะ ข้อ ๑๐๑๘

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    สิกขาบทที่บัญญัติไว้ ณ พระนครเวสาลีมี ๑๐ สิกขาบท ณ พระนครราชคฤห์มี ๒๑ สิกขาบท ณ พระนครสาวัตถี รวมทั้งหมดมี ๒๙๔ สิกขาบท ณ พระนครอาฬวี มี ๖ สิกขาบท ณ พระนครโกสัมพีมี ๘ สิกขาบท ณ สักกชนบทมี ๘ สิกขาบท ณ ภัคคชนบทมี ๓ สิกขาบท

    ขอกล่าวถึงเฉพาะสิกขาบทที่ได้บัญญัติไว้ในนครโกสัมพี ซึ่งมีข้อความว่า

    สิกขาบทเหล่าใดบัญญัติไว้ในพระนครโกสัมพี ท่านจงฟังสิกขาบทเหล่านั้น ดังจะกล่าวต่อไป สิกขาบทว่าด้วยให้ทำวิหารใหญ่ ๑ สิกขาบทว่าด้วยภิกษุว่ายากสอนยาก ๑ สิกขาบทว่าด้วยแกล้งพูดคำอื่นกลบเกลื่อน ๑ สิกขาบทว่าด้วยกรอบประตู ๑ สิกขาบทว่าด้วยดื่มสุราเมรัย ๑ สิกขาบทว่าด้วยไม่เอื้อเฟื้อ ๑ สิกขาบทว่าด้วยว่ากล่าวโดยชอบธรรม ๑ รวมเป็น ๘ สิกขาบท ทั้งดื่มน้ำนม

    นี่เป็นข้อความที่แปลในพระไตรปิฎกภาษาไทย ซึ่งพยัญชนะที่ใช้ในภาษาบาลี สำหรับข้อความนี้ ที่ว่า รวมเป็น ๘ สิกขาบททั้งดื่มน้ำนมนั้น ไม่ได้ใช้คำว่า ขีรํ แต่ใช้คำว่า ปโยปาเนน ซึ่งขอยกสิกขาบทข้อนี้ขึ้นมากล่าวถึง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้ทราบข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ ณ พระนครโกสัมพี

    เรื่องของปโยปานํ คือ อาหารที่ปรุงด้วยน้ำนม ใน มหาวิภังค์ วรรคที่ ๖ สุรุสุรุวรรค สิกขาบทที่ ๑ ข้อ ๘๕๑ มีข้อความว่า

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งปรุงปานะน้ำนมถวายพระสงฆ์

    ซึ่งในภาษาบาลีมีข้อความว่า ปโยปานํ ปฏิยตฺตํ คือ ปานะน้ำนมที่ตกแต่งแล้ว หรือปรุงแล้ว

    ภิกษุทั้งหลายซดน้ำนมดังซูดๆ ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นนักฟ้อนรำกล่าวขึ้นอย่างนี้ว่า ชะรอยพระสงฆ์ทั้งหลายนี้อันความเย็นรบกวนแล้ว

    บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุจึงได้พูดปรารภพระสงฆ์เล่นเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    ทรงสอบถาม

    พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า

    ดูกร ภิกษุ ข่าวว่า เธอได้พูดปรารภพระสงฆ์เล่น จริงหรือ

    ภิกษุรูปนั้นทูลรับว่า

    จริง พระพุทธเจ้าข้า

    ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกร โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้พูดปรารภสงฆ์เล่นเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

    ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายไม่พึงพูดปรารภพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เล่น รูปใดฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ

    ครั้นทรงติเตียนภิกษุนั้นโดยอเนกปริยายแล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ...

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

    พระบัญญัติ

    ข้อ ๑๙๖. ๕๑.

    ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงดังซูดๆ .

    สิกขาบทวิภังค์

    อันภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันดังซูดๆ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉันอาหารทำเสียงดังซูดๆ ต้องอาบัติทุกกฏ

    สำหรับบุคคลที่ไม่อาบัติ คือ อนาปัตติวาร มีข้อความว่า

    อนาปัตติวาร

    ไม่แกล้ง ๑ เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑ อาพาธ ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล

    ผู้ฟัง ความจริงบาลีใน เสขิยวรรค มีว่า ภิกษุพึงกระทำไว้ในใจว่า ไม่ควรฉันดังสุรุๆ เขาเลยแปล สุรุๆ ว่า ซูดๆ ความจริงศัพท์เดิมคือ สุรุๆ ซึ่งคำว่า ซูดๆ นี้ เห็นจะหมายความถึงกินพวกต้มจืด หรืออะไรที่เป็นน้ำๆ กินดังซูดๆ ไม่ใช่กินของแข็ง ของแข็งดังซูดๆ ไม่ได้ ต้องเป็นน้ำ

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะชินกับคำว่า ซู๊ดๆ แต่จะทำกิริยาอาการอย่างไรก็ตามแต่ จะซู๊ดๆ หรือ ซูดๆ หรือสุรุๆ เป็นภาษาบาลี ก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่า เป็นอาจาระที่ไม่เหมาะสม ไม่ควร ในการฉันอาหาร

    สำหรับเรื่องของการบริโภคอาหารของภิกษุ ก็เป็นไปตามกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทราบ

    ใน ทุติยสมันตปาทาสิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ขุททกกัณฑ์วรรณนา สันนิธิการกสิกขาบทที่ ๘ ซึ่งสันนิธิกิริยานั้น หมายถึง ความทำการสะสม เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันการสะสมอันไม่ใช่กิจของสมณะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติกาลของการที่จะบริโภค ฉัน หรือเก็บอาหารไว้ มีข้อความว่า

    ยาวกาลิก ได้แก่ ขาทนียะ ของควรเคี้ยว โภชนียะ ของควรบริโภค ซึ่งภิกษุพึงฉันได้ชั่วเวลา คือ เที่ยงวัน หมายความว่า หลังจากนั้นแล้วฉันไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะทราบว่า อะไรเป็นขาทนียะ โภชนียะ ซึ่งเป็นยาวกาลิก คือ พึงฉันได้ชั่วเวลาเพียงเที่ยงวันเท่านั้น หลังจากเที่ยงวันแล้วฉันไม่ได้

    ยามกาลิก ได้แก่ ปานะ ๘ อย่าง กับพวกอนุโลมปานะ เรียกว่า ยามกาลิก ด้วยอรรถว่า มีเวลาเป็นครั้งคราว เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงฉันได้ตลอดชั่วยาม คือ ปัจฉิมยามแห่งราตรี

    หมายความว่า ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ หลังจากเที่ยงแล้ว จะฉันขาทนียะ โภชนียะไม่ได้ เพราะว่าขาทนียะ โภชนียะเป็นยาวกาลิก ซึ่งมีกำหนดให้ฉันได้ในเที่ยงวัน ส่วนน้ำปานะ หรืออนุโลมปานะ เป็นยามกาลิก คือ เป็นของที่ภิกษุพึงฉันได้ตลอดชั่วยาม คือ ปัจฉิมยามแห่งราตรี ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง

    ถ้าใครประเคนน้ำปานะ ก็สามารถฉันได้จนถึงปัจฉิมยามแห่งราตรี ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี คือ ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ไม่ชื่อว่าเป็นการสะสม ไม่ชื่อว่าเป็นการเก็บของไว้ด้วยอำนาจของอภิชฌาหรือความโลภ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทรงอนุญาตไว้ว่า สามารถที่จะฉันได้ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง

    สัตตาหกาลิก ได้แก่ เภสัช ๕ อย่าง ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เรียกว่า สัตตาหกาลิก ด้วยอรรถว่า มีเวลา ๗ วัน เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงเก็บไว้ได้ถึง ๗ วัน แต่ต้องฉันเมื่อมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุก็เป็นอาบัติ

    สำหรับ ยาวชีวิก ได้แก่ กาลิกที่เหลือ แม้ทั้งหมด เว้นน้ำเสีย เรียกว่า ยาวชีวิก เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงรักษาไว้ฉันได้ตลอดชีวิตเมื่อมีเหตุ ได้แก่ ของที่เป็นยาประเภทอื่นซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่เก็บไว้เพื่อการบริโภค แต่จุดประสงค์ที่เก็บไว้นั้น เพื่อเป็นยาที่จะใช้บริโภคเมื่อมีเหตุจำเป็น จึงเป็นยาวชีวิก สามารถที่จะเก็บไว้ได้ตลอดชีวิต แต่จะเอามาบริโภคเป็นอาหารไม่ได้ ต้องเก็บไว้สำหรับเป็นยาเท่านั้น ถ้าเก็บไว้เพื่อเป็นยา ก็เป็นยาวชีวิก

    ฉะนั้น ทั้งหมดโดยประเภทก็มี

    ยาวกาลิก ได้แก่ ขาทนียะ โภชนียะ ซึ่งฉันได้ชั่วเวลา คือ เที่ยงวัน

    ยามกาลิก ฉันได้ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี คือ ตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง

    สัตตาหกาลิก ได้แก่ เภสัช ๕ เป็นของที่ภิกษุเก็บไว้ได้ถึง ๗ วัน แต่ถ้าหลัง ๗ วันแล้ว ก็เป็นอาบัติ

    ยาวชีวิก ได้แก่ ของที่เก็บไว้เพื่อเป็นยา ไม่ใช่เพื่อเป็นอาหาร สามารถที่จะเก็บรักษาไว้ได้ตลอดชีวิตเมื่อมีเหตุ

    มหาวิภังค์ทุติยภาค โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗ ข้อ ๕๑๑ อนาปัตติวาร มีข้อความว่า

    ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เมื่อมีเหตุสมควร ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.

    โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗ จบ

    ยังมีความละเอียดอีกมากทีเดียว แม้แต่ในเรื่องการรับไว้ เช่น ถ้าบริโภคในเวลาวิกาล ที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงอนุญาต เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่เป็นอาบัติ ทุกกฏ ถ้ารับไว้เพื่อเป็นอาหาร

    ในขณะที่มีใครเอาไปถวาย รับไว้ด้วยความตั้งใจที่จะบริโภคเป็นอาหาร ในขณะที่รับไว้เป็นอาบัติทุกกฏ และเป็นอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืนด้วย

    ยังมีความละเอียดอีกมากในเรื่องของการบริโภคอาหาร

    . น้ำผึ้งกับน้ำอ้อยถือเป็นเภสัช อนุญาตให้ฉันในเวลาวิกาลได้ใช่ไหม

    สุ. ได้ เมื่อมีเหตุ

    . น้ำมะม่วงคั้น ถือเป็นเภสัชหรือเปล่า

    สุ. ไม่ใช่เภสัช แต่เป็นน้ำปานะ เภสัชมี ๕ เท่านั้น อนุญาตให้ฉันชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ตลอดชั่วยาม หมายความถึงปัจฉิมยามแห่งราตรี เช่นเดียวกับน้ำปานะอื่นๆ

    . น้ำส้มคั้นด้วยไหม

    สุ. น้ำผลไม้ทั้งหมด เว้นที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต

    . น้ำมะพร้าวทรงอนุญาตหรือเปล่า พระคุณเจ้าบางรูปท่านบอกว่า น้ำผลไม้ ผลใหญ่ๆ ไม่ได้

    สุ. ต้องเป็นไปตามพระวินัย คือ ทรงอนุญาตอย่างไรก็บริโภคอย่างนั้น ที่ไม่ทรงอนุญาตไว้ ก็ไม่บริโภคดีกว่า

    . กำหนดตามนาฬิกา หรือพระอาทิตย์

    สุ. สมัยก่อนไม่มีนาฬิกา ต้องใช้พระอาทิตย์ แต่ภายหลังเมื่อมีเครื่องมือที่จะกำหนดได้ คือ นาฬิกา ก็ดูนาฬิกาได้

    . พวกน้ำตาล เกลือ ที่ยังไม่ได้ละลายน้ำ ถือว่าเป็นของขบเคี้ยวไหม

    สุ. แล้วแต่ว่าจะเป็นอาหารหรือเปล่า จุดประสงค์เพื่อจะเป็นอาหารหรือไม่

    ท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงให้เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล แม้แต่ในเรื่องของเภสัช คือ ยารักษาโรคสำหรับภิกษุอาพาธ ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในครั้งแรกทรงอนุญาตให้บริโภคเพียงในกาลเท่านั้น คือ ภายในเที่ยง ไม่ให้บริโภคหลังเที่ยง เน้นให้เห็นถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้บริโภคในเวลาวิกาล แม้ในเรื่องของเภสัช แต่ภายหลังก็ได้ทรงอนุญาตการบริโภคเภสัช ๕ นอกกาลด้วย ตามความจำเป็น

    นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังทรงอนุญาตเภสัชอื่น นอกจากเภสัช ๕ ด้วย เช่น มูลเภสัช รากไม้ที่เป็นเภสัช เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู เหล่านี้เป็นต้น ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยว ควรบริโภค คือ ไม่ใช่นำมาบริโภคเป็นอาหาร เพราะฉะนั้น พวกมูลเภสัช รากไม้ที่เป็นเภสัชเหล่านี้ เป็นยาวชีวิก ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้ตลอดชีวิต เพราะว่าไม่ใช่เป็นการสะสมที่จะนำมาบริโภคเป็นอาหาร เมื่อรับประเคนแล้ว ก็เก็บไว้ได้ตลอดชีวิต และต่อเมื่อมีเหตุจึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการขัดเกลา ไม่ให้มีการสะสม ไม่ให้มีความปรารถนาติดข้องในของบริโภคต่างๆ แม้ที่เป็นเภสัช

    ใน มหาวรรค เภสัชชขันธกะ

    ข้อ ๒๙ ทรงอนุญาตกสาวเภสัช คือ น้ำฝาดที่เป็นเภสัช ซึ่งก็ได้แก่น้ำฝาดสะเดา เป็นต้น

    ข้อ ๓๐ ทรงอนุญาตปัณณเภสัช ใบไม้ที่เป็นเภสัช เช่น ใบสะเดา

    ข้อ ๓๑ ทรงอนุญาตผลเภสัช ได้แก่ ผลสมอ มะขามป้อม เป็นต้น

    ข้อ ๓๒ ทรงอนุญาตชตุเภสัช ได้แก่ ยางไม้ ต้นหิงคุ กำยาน

    ข้อ ๓๓ ทรงอนุญาตโลณเภสัช เกลือที่เป็นเภสัช คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง ก็หรือโลณเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค

    คามิกะ คำว่า โลณะ แปลว่า เกลือเท่านั้น

    สุ. ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเภสัชที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ประเภทใดเป็นเภสัช ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์แก่การเคี้ยว การบริโภค ก็เก็บไว้ได้ตลอดชีวิต เป็นยาวชีวิก

    . น้ำอัดลมเป็นน้ำปานะหรือเปล่า พวกน้ำหวาน

    สุ. ได้ค่ะ

    . เป๊บซี โคล่า

    สุ. ไม่ใช่น้ำผักดอง ไม่ใช่ประเภทโภชนะ ใช้ได้

    . แล้วน้ำอ้อย

    สุ. น้ำอ้อยก็ได้ ทรงอนุญาตไว้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564