แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 587


    ครั้งที่ ๕๘๗


    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อบุตรเจ็บไข้ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงเจ็บไข้ บุตรของเราอย่าเจ็บไข้ ก็หรือว่า เมื่อมารดาเจ็บไข้ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงเจ็บไข้ มารดาของเราอย่าเจ็บไข้ เมื่อบุตรกำลังจะตาย มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงตาย บุตรของเราอย่าได้ตาย ก็หรือว่า เมื่อมารดากำลังจะตาย บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวังดังนี้ว่า เราจงตาย มารดาของเราอย่าได้ตาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้แล เป็นอมาตาปุตติกภัย ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงสมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้ และอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้ มีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงสมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้ และอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้เป็นไฉน คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ... สัมมาสมาธิ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มรรคาปฏิปทาซึ่งเป็นไปเพื่อละ เพื่อก้าวล่วงสมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง และอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างนี้แล

    มีหนทางที่จะละภัยทั้งหลายโดยเด็ดขาดได้ หนทางนั้น คือ มรรคมีองค์ ๘ คือ การเจริญสติปัฏฐาน หนทางเดียว

    เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ทั่ว และจะเห็นจริงๆ ว่า ภัยแท้ๆ นั้นคืออะไร ไม่ใช่เพียงไฟไหม้ น้ำท่วม หรือว่าบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายกำเริบ บ้านแตกสาแหรกขาด แต่ภัยจริงๆ นั้นมีอยู่ทุกขณะ พรากตัวท่านจากบุคคลอื่นให้เป็นแต่ละบุคคลตามเหตุตามปัจจัย น่ากลัวกว่าไหม ไม่เป็นไปตามใจหวัง ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นความจริงในชีวิตประจำวันอย่างไร ก็ทรงจบพระธรรมเทศนาลงด้วยการอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘

    ชีวิตประจำวันอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะเกื้อกูลท่านผู้ฟังให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เสวิสูตร ข้อ ๔๖๕ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ ๑. บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๒. บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่ ๓. บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ มีอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา (ไม่ใช่เฉพาะโดยศีล แต่เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา) บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเช่นเดียวกับตนโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการสนทนาปรารภศีล จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยศีลด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย การสนทนาปรารภสมาธิ จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยสมาธิด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย การสนทนาปรารภปัญญาจักมีแก่เราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยปัญญาด้วย การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งโดยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเห็นปานนี้ จักต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอาการเช่นนี้ จักบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ จักบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์สมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรสักการะเคารพ แล้วเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

    ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้สุคตพระศาสดาตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ดังนี้ ฯ

    จบสูตรที่ ๖

    นี่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ศีลที่ยังไม่บริบูรณ์ ก็จะได้บริบูรณ์ขึ้น สมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์ ก็จะได้บริบูรณ์ขึ้น ปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ ก็จะได้บริบูรณ์ขึ้น จุดประสงค์เพื่อที่จะให้บริบูรณ์ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งในการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ครบบริบูรณ์ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

    สำหรับเรื่องของบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่เลว เสมอกัน หรือว่าสูงกว่า ข้อความใน สัทธัมมปัชโชติกา ภาค ๒ อรรถกถาขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ขัคควิสาณสุตตนิทเทส ข้อ ๗๔๘ อธิบายความหมายของข้อความที่ว่า

    พึงละสหายชั่ว ผู้ไม่เห็นประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันไม่เสมอ ไม่ควรเสพคนผู้ขวนขวายและคนประมาทด้วยตนเอง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

    ข้อความใน สัทธัมมปัชโชติกา ภาค ๒ มีว่า

    บุคคลที่ชื่อว่า คนบาป เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิอันชั่ว คือ เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด บุคคลที่ชื่อว่า ไม่เห็นประโยชน์ของคนอื่น ก็เพราะอรรถว่า แสดงสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ให้แก่บุคคลแม้เหล่าอื่น และได้ชื่อว่า ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันไม่สม่ำเสมอ มีกายทุจริต เป็นต้น

    สำหรับการไม่คบนั้น มีข้อความอธิบายว่า

    การไม่คบนั้น ได้แก่ ไม่พึงเข้าไปหาด้วยตนเอง สยํ น เสเวยฺย

    ได้แก่ ไม่พึงเข้าไปหาแม้ด้วยจิต สามํ น เสเวยฺย

    การที่จะไม่คบ หมายถึง ไม่พึงเข้าไปหาด้วยตนเอง และไม่พึงเข้าไปหาแม้ด้วยจิต บางคนยังไม่ไป แต่อยากจะไปใช่ไหม ได้ยินข่าวเล่าลือก็อยากจะไปดู อยากจะไปหา อยากจะไปเข้าใกล้ อยากจะไปคบด้วย แต่ถ้าพูดถึงบุคคลซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เพราะว่าประกอบด้วยทิฏฐิอันชั่ว มีความเห็นผิด แสดงสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ให้แก่บุคคลแม้เหล่าอื่น และได้ชื่อว่า ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันไม่สม่ำเสมอ มีกายทุจริต เป็นต้น ซึ่งการไม่คบนั้น ได้แก่ ไม่พึงเข้าไปหาด้วยตนเอง สยํ น เสเวยฺย ไม่พึงเข้าไปหาแม้ด้วยจิต สามํ น เสเวยฺย ไม่ควรแม้แต่คิดที่จะอยากคบกับคนที่มีความเห็นผิด ใจ จริงๆ อยากคบไหม หรือก็สนใจเหมือนกัน อยากจะได้ยินได้ฟังบ้าง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า น เสเวยฺย ได้แก่ ไม่พึงคบ

    บทว่า น นิเสเวยฺย ได้แก่ ไม่พึงเข้าไปแม้สู่ที่ใกล้

    บทว่า น สํเสเวยฺย ได้แก่ พึงอยู่เสียให้ไกล

    บทว่า น ปฏิเสเวยฺย ได้แก่ พึงก้าวกลับเสีย

    ข้อความละเอียดมากที่แสดงให้เห็นว่า การไม่ควรคบนี้ ควรจะเป็นอย่างไร ในบทว่า น เสเวยฺย ได้แก่ ไม่พึงคบ น นิเสเวยฺย ได้แก่ ไม่พึงเข้าไปแม้สู่ที่ใกล้ เข้าไปใกล้ๆ ก็น่ากลัว ถูกเรียกร้องชักชวนแน่นอนที่สุด ถ้าท่านเข้าไปใกล้สถานที่ที่มีความเห็นผิด ผลก็คือ ท่านจะถูกชักชวนชักจูงไปในทางที่ผิด ไปสู่ความเห็นที่ผิด ไปสู่ข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะฉะนั้น การไม่คบ คือ น สํเสเวยฺย ได้แก่ พึงอยู่เสียให้ไกล น ปฏิเสเวยฺย ได้แก่ พึงก้าวกลับเสีย ถ้าเข้าไปใกล้เมื่อไร ก็ก้าวกลับเสีย ให้ระลึกได้ที่จะก้าวกลับเสีย ถอยออกมาห่างๆ อย่าเข้าไปใกล้ เพราะถ้าเข้าไปใกล้จะทำให้ได้รับการชักชวน ชักจูงไปสู่ความเห็นผิด และข้อปฏิบัติผิดต่างๆ

    ถ. ในพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น ผมเห็นว่าถูกต้อง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ที่มีศีลดี สมาธิดี ปัญญาดีนั้น ควรจะคบ ก็เห็นด้วย แต่ผู้ที่ศีลไม่ดี สมาธิไม่ดี ปัญญาไม่ดี แต่ว่าปริยัติท่านดี อย่างนี้ควรคบ หรือไม่ควรคบ

    สุ. ถ้าทราบว่าปริยัติดี ก็คบเรื่องปริยัติ เรื่องใดไม่ดี ก็อย่าคบในเรื่องที่ไม่ดี

    ถ. คนเราเมื่อคบกันแล้ว ที่ว่าจะคบเฉพาะปริยัติ ไม่พูดถึงศีล สมาธิ ปัญญานั้น รู้สึกว่าจะยากหน่อย

    สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ตัวว่ายากอย่างนี้ ก็เลือกเอาประโยชน์ว่า อย่างไหนจะได้ประโยชน์ เพราะเห็นโทษเห็นภัยในการที่จะเข้าใกล้ เป็นของที่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าการปฏิบัติผิด แต่ปริยัติถูก ผู้ที่มีปริยัติดีแล้วยังปฏิบัติผิดได้ จะมีความเห็นผิดแรงกล้าสักแค่ไหนที่จะยึดมั่นในข้อปฏิบัติผิดของตนว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะเป็นผู้ที่ทั้งรู้ปริยัติ แต่ก็ยังปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ก็เลือกเอาที่เป็นประโยชน์

    คามิกะ ที่คุณพูดเมื่อสักครู่นี้ว่า รู้ปริยัติดี แต่ปฏิบัติผิด ตามความเห็นของผม ถ้ารู้ปริยัติดี รู้อรรถธรรมของปริยัติ ในเนื้อหาปริยัติดีแล้ว ต้องปฏิบัติถูก คนรู้ไม่จริง หรือแปลไม่ดี จึงปฏิบัติผิด ถ้ารู้ปริยัติดี แปลดี เข้าใจซึ้งดีตามไวยากรณ์ หรือตามตัวหนังสือแล้ว ปฏิบัติไม่ผิด ถ้ารู้ปริยัติจริงๆ แล้ว ปฏิบัติไม่ผิด

    สุ. หมายความว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่ศึกษาปริยัติ แต่ไม่รู้ปริยัติจริงๆ หรือ

    คามิกะ เรียนปริยัติ ต้องรู้ปริยัติ ปริยัติ หมายความว่าอะไร ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ ถ้าได้รู้ถึงหลักเกณฑ์ของปริยัติดีแล้ว ไม่ผิดที่จะนำมาปฏิบัติ ผู้ที่รู้ไม่จริง หรือรู้งูๆ ปลาๆ จะผิด ถ้ารู้จริงย่อมไม่ผิด

    ถ. ปริยัติและปฏิบัติเป็นคนละเรื่อง คนละอัน คือ การปฏิบัตินั้นรู้ความจริง แต่ปริยัตินั้นรู้ชื่อ เวลานี้ผมคุยกับใครต่อใครมามาก คำว่า สติ ทุกวันนี้ เข้าใจกันว่า สติในชีวิตประจำวันนี้ มีสติตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ เขาว่ากันอย่างนี้ คนที่ตื่นอยู่จะต้องมีสติ ในปริยัติ ในพระอภิธัมมัตถสังคหะกล่าวไว้ว่า สติเป็นโสภณธรรม เกิดกับกุศลจิตเท่านั้น และวันหนึ่งๆ ลองคิดดู เราจะไม่มีอกุศลจิตหรือ ในเมื่อเรายังเป็นปุถุชนอยู่ เพราะฉะนั้น คำว่า สติ เป็นปริยัติ เป็นชื่อ ใครๆ ก็รู้จัก ใครๆ ก็พูดได้ ปริยัติที่ว่าเรียนๆ มาแล้ว แต่ที่จะรู้จริงนั้น เป็นไปไม่ได้

    คามิกะ ด้วยความรู้ของผมที่มีมา ก็พอจะพูดได้ บางคนสอบได้ถึง ม. ๕ บางทีรู้ไม่จริง ไปลอกเขามาบ้าง ไปจำเขามาบ้าง เหมือนกันกับคนที่เรียน ๙ ประโยค เพราะฉะนั้น ปริยัติซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องรู้จริง ถ้าเราเข้าใจดี ก็ไม่ผิด เข้าใจดี แปลออกมาถูกต้อง แต่ที่รู้ไม่จริง อรรถกาอธิบายก็ไม่เข้าใจ อย่างคำว่า สติ หมายความว่าอะไร สติ คนไทยนำมาใช้ อย่างว่าสลบไป พอฟื้นขึ้นมาก็ว่า ได้สติ ความจริงก็สติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สติที่มาจากศัพท์ว่า สรณะ ที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น

    อย่างคำว่า มานะ ที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่ ภาษาไทย เท่าที่ฟังมา เช่น หนูอุตส่าห์มานะเล่าเรียน นั่นหมายถึงความพยายาม แต่มานะที่เป็นศัพท์ในบาลี มานะแปลว่า ความถือตัว ทะนงตัว หรือความอวดดี เราเอามาใช้ไม่ถูก อย่างที่ว่า มีสติ เป็นสติที่ใช้ในภาษาไทย แต่ไม่ใช่ในปริยัติ

    สติ ในปริยัติเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่ว่าสักครู่ผมก็ยังยืนยัน ถ้ารู้ปริยัติดีแล้ว ปฏิบัติไม่ผิด เพราะการปฏิบัติต้องมาจากปริยัติ พระพุทธเจ้าท่านสอนเป็นปริยัติ ถูกนำมาแปล อธิบาย และปฏิบัติ ถ้าเรารู้ปริยัติได้ดี ก็ปฏิบัติไม่ผิด ไม่มีปัญหา ขอยืนยัน

    ถ. ที่ว่ารู้จริงๆ รู้จริงจากปริยัติอย่างเดียว หรือรู้จริงจากการปฏิบัติด้วย ถ้ารู้จริงทั้งปริยัติและปฏิบัติ อย่างนั้นจึงจะแน่นอนที่สุด ไม่ผิดแน่ อีกเรื่องหนึ่ง ที่ว่าคนที่ฟื้นขึ้นมานั้นมีสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ผมขอเรียนถามว่า ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานแล้ว เป็นสติอะไร

    คามิกะ สติ คือ ความรู้สึกตัวขึ้นมา แปลว่า รู้สึกสำนึกตัวขึ้นมา ฟื้นขึ้นมาได้สติ เขาพูดกันเป็นภาษาชาวบ้าน แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องมี ๔ อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ นำมาใช้กันเป็นภาษาไทย แต่ไม่เข้าใจรูปศัพท์ ก็เรียกกันผิดๆ ถูกๆ แต่เมื่อเรียกแล้ว ก็แล้วไป

    เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่ารู้ปริยัติดี ก็หมายความว่า รู้อรรถรสอรรถธรรมของปริยัติดี เมื่อรู้ดีแล้ว แปลออกมาจากปริยัติ นำมาปฏิบัติ ก็ต้องถูกต้อง ถ้ารู้ปริยัติไม่ดี ก็แปลผิดๆ ถูกๆ และนำมาใช้กัน อย่างที่ว่า สุญญาคารคโต วา อรัญญคโต วา รู้ปริยัติไม่จริง ท่านหมายความว่า ตัวปัจจัยตัวนั้นเป็น past tense หรืออดีตกาล

    พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อยู่ในป่าแล้วก็ดี หรืออยู่เรือนว่างแล้วก็ดี อยู่ใต้โคนไม้แล้วก็ดี ทำได้ สติปัฏฐานนี้ แต่บางคนมาแปลเสียอย่างนี้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าสอนให้เรียนกัมมัฏฐานแล้ว ก็ให้ไปสู่ป่า ให้ไปสู่เรือนว่าง ให้ไปสู่โคนไม้ อย่างนี้เรียกว่า รู้ปริยัติไม่ดี ไปแปลศัพท์ผิด จึงเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติก็ผิด

    ความจริงศัพท์เขาเป็นอดีตกาล หรือ past tense พระที่อยู่ในป่าแล้วก็ดี อยู่เรือนว่างแล้วก็ดี อยู่โคนไม้แล้วก็ดี ก็ปฏิบัติได้ สติปัฏฐาน แต่ท่านที่ใหญ่ๆ โตๆ มาแปลว่า เมื่อเรียนสติปัฏฐานแล้ว ต้องไปสู่ป่า ท่านไม่ได้นึกถึงตัวปัจจัยซึ่งเป็นอดีตกาล ท่านแปลเพราะไม่รู้หลักไวยากรณ์ หรือไม่รู้ปริยัติดี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๕๘๑ – ๕๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564