แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 542


    ครั้งที่ ๕๔๒


    เรื่องของการสงสัยในพระวินัยบัญญัติ และการปฏิบัติผิดพลาดในพระวินัยบัญญัติ ไม่ใช่เพิ่งจะมีในสมัยนี้ แต่ว่ามีมาตั้งแต่ครั้งที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงปรินิพพานไปแล้ว ในการสังคายนาครั้งที่ ๒ มีข้อที่เป็นมูลเหตุที่จะให้พระเถระในครั้งนั้นกระทำสังคายนา

    ข้อความใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ สัตตสติกขันธกะ เรื่องพระวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ข้อ ๖๓๐ มีว่า

    ก็โดยสมัยนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานล่วงได้ ๑๐๐ ปี พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการในเมืองเวสาลี ว่าดังนี้

    ๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงฉัน ควร เขนง คือ เขาสัตว์

    ๒. ฉันอาหารในเวลาบ่ายล่วงสององคุลี ควร

    ๓. เข้าบ้านฉันอาหารเป็นอนติริตตะ ควร

    ๔. อาวาสมีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างๆ กัน ควร

    ๕. เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุมาไม่พร้อมกันทำก่อนได้ ภิกษุมาทีหลังจึงบอกขออนุมัติ ควร

    ๖. การประพฤติตามอย่างที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ประพฤติมาแล้ว ควร

    ๗. ฉันนมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ควร

    ๘. ดื่มสุราอ่อน ควร

    ๙. ใช้ผ้านิสีทนะไม่มีชาย ควร

    ๑๐. รับทองและเงิน ควร ฯ

    นี่คือการประพฤติปฏิบัติในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานล่วงได้ ๑๐๐ ปี ซึ่งจะเป็นเหตุให้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

    ข้อความต่อไป

    เรื่องพระยสกากัณฑกบุตร

    ข้อ ๖๓๑

    สมัยนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรเที่ยวจาริกในวัชชีชนบท ถึงพระนครเวสาลี ข่าวว่า ท่านพระยสกากัณฑกบุตรพักอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตพระนคร เวสาลีนั้น ฯ

    ข้อ ๖๓๒

    สมัยนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ถึงวันอุโบสถ เอาถาดทองสัมฤทธิ์ตักน้ำเต็มตั้งไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ กล่าวแนะนำอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีที่มาประชุมกันอย่างนี้ว่า

    ท่านทั้งหลาย จงถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ได้ กึ่งกหาปณะก็ได้ บาทหนึ่งก็ได้ มาสกหนึ่งก็ได้ สงฆ์จักมีกรณียะด้วยบริขาร

    เมื่อพระวัชชีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระยสกากัณฑกบุตร จึงกล่าวกะอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า

    ท่านทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ตาม กึ่งกหาปณะก็ตาม บาทหนึ่งก็ตาม มาสกหนึ่งก็ตาม ทองและเงินไม่ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน

    อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลี แม้อันท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังขืนถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งบ้าง กึ่งกหาปณะบ้าง บาทหนึ่งบ้าง มาสกหนึ่งบ้าง

    ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีได้จัดส่วนแบ่งเงินนั้นตามจำนวนภิกษุแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า

    ท่านพระยส เงินจำนวนนี้เป็นส่วนของท่าน

    ท่านพระยสกล่าวว่า

    ท่านทั้งหลาย ฉันไม่มีส่วนเงิน ฉันไม่ยินดีเงิน ฯ

    ข้อ ๖๓๓

    ครั้งนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีกล่าวว่า

    ท่านทั้งหลาย พระยสกากัณฑกบุตรนี้ ด่า บริภาษอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธา เลื่อมใส ทำให้เขาไม่เลื่อมใส เอาละ พวกเราจะลงปฏิสารณียกรรมแก่ท่าน แล้วได้ลงปฏิสารณียกรรมแก่พระยสกากัณฑกบุตรนั้น

    ปฏิสารณียกรรม คือ การลงโทษให้ภิกษุขอขมาคฤหัสถ์

    เป็นเรื่องละเอียดที่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะทำสังคายนาได้จริงๆ นี้ จะมีพระภิกษุ ๒ ฝ่าย ซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายต่างมีความคิดเห็นและการประพฤติปฏิบัติที่ต่างกัน และก็เห็นว่าฝ่ายตนถูก หรือเข้าใจว่าถูก ซึ่งกว่าที่จะทำสังคายนาได้ ต้องผ่านอุปสรรคมากทีเดียว

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรซึ่งไม่รับเงินและทอง ก็ถูกพวกพระวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ลงโทษให้ไปขอขมาพวกคฤหัสถ์ โดยอ้างว่า ท่านด่าบริภาษอุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้เขาไม่เลื่อมใส เพราะว่าไม่รับเงินและทองของเขา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรได้กล่าวกะพวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีว่า

    ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สงฆ์พึงให้พระอนุทูตแก่ภิกษุผู้ถูกลงปฏิสารณียกรรม ขอพวกเธอจงให้พระอนุทูตแก่ฉัน

    จึงพวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ได้สมมติภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นอนุทูตแก่ท่านพระยสกากัณฑกบุตร

    คือ ให้ไปด้วย ให้รู้เห็นเป็นพยานด้วย

    ต่อมา ท่านพระยสกากัณฑกบุตร พร้อมด้วยพระอนุทูตพากันเข้าไปสู่ พระนครเวสาลี แล้วชี้แจงแก่อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า

    อาตมาผู้กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรมว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัยว่าเป็นวินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษท่านอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส ฯ

    เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์พระอาทิตย์ ๔ อย่าง

    ข้อ ๖๓๔

    พระยสกากัณฑกบุตรกล่าวต่อไปว่า

    ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้ จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ๑. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ หมอก จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง

    ๒. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ น้ำค้าง จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง

    ๓. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ ละอองควัน จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง

    ๔. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ อสุรินทราหู จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ฉันใด

    ได้ยินชื่อ อสุรินทราหู อาจจะข้องใจนิดหนึ่ง แต่ถ้าคิดถึงเทวดาใหญ่เท่านั้นเองก็คงจะหายสงสัยไปได้ เพราะว่าแม้แต่หมอก แม้แต่น้ำค้าง แม้แต่ละอองควัน ยังทำให้พระจันทร์พระอาทิตย์เศร้าหมองได้ ก็ทำไมเทวดาใหญ่ๆ จะทำไม่ได้

    ข้อความต่อไป

    เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ ๔ อย่าง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้ จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุรา ดื่มเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

    ๒. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุนธรรม นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่ ๒ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

    ๓. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณ-พราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

    ๔. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจากมิจฉาชีพ นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่ ๔ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณ-พราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ฉันนั้น ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดาได้ตรัสประพันธ์คาถามีเนื้อความ ว่าดังนี้

    ข้อ ๖๓๕

    สมณพราหมณ์เศร้าหมองเพราะราคะและโทสะ เป็นคนอันอวิชชาหุ้มห่อ เพลิดเพลินรูปที่น่ารัก เป็นคนไม่รู้ พวกหนึ่งดื่มสุราเมรัย พวกหนึ่งเสพเมถุน พวกหนึ่งยินดีเงินและทอง พวกหนึ่งเป็นอยู่โดยมิจฉาชีพ เครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสว่า เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์ มีกิเลสธุลีดุจมฤค ถูกความมืดรัดรึง เป็นทาสตัณหา พร้อมด้วยกิเลส เครื่องนำไปสู่ภพ ย่อมเพิ่มพูนสถาน ทิ้งซากศพให้มาก ย่อมถือเอาภพใหม่ต่อไป ฯ

    ข้อ ๖๓๖

    ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรมว่า เป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัยว่าเป็นวินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส ฯ

    นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น และจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ไหม ถ้าอุบาสกอุบาสิกาท่านใด มีความเห็นตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ และยกขึ้นกล่าว คนอื่นจะหาว่า ด่า บริภาษไหม

    ในครั้งโน้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรท่านถูกกล่าวหาว่าอย่างนี้ เพราะว่าท่านประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แต่ผู้ไม่รู้ หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วย กล่าวหาว่า ท่านด่าบริภาษอุบาสกอุบาสิกาผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส

    ด้วยเหตุนี้ ท่านพระยสกากัณฑกบุตรจึงได้กล่าวอ้างพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ที่ได้ตรัสไว้ในเรื่องของความเศร้าหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เพื่อที่จะให้ชาวบ้านนั้นได้เห็นว่า สิ่งใดไม่เป็นธรรม และสิ่งใดเป็นธรรม

    ท่านกล่าวต่อไปว่า

    เรื่องนายบ้านชื่อมณีจูฬกะ

    ข้อ ๖๓๗

    ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชบริษัทภายในราชสำนัก ได้ยกถ้อยคำนี้ขึ้นสนทนาในระหว่างว่า ทองและเงินย่อมควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมรับทองและเงิน

    ก็คราวนั้น นายบ้านชื่อมณีจูฬกะนั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย เขาได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า

    นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน

    นายบ้านชื่อมณีจูฬกะสามารถชี้แจงให้บริษัทนั้นเข้าใจ ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    พระพุทธเจ้าข้า ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชบริษัทภายในราชสำนัก ได้ยกถ้อยคำนี้ขึ้นสนทนาในระหว่างว่า ทองและเงินย่อมควรแก่พระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมรับทองและเงิน เมื่อชนทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้พูดกะบริษัทนั้นว่า นาย พวกท่านอย่าได้พูดเช่นนี้ ... ข้าพระพุทธเจ้าสามารถชี้แจงให้บริษัทนั้นเข้าใจได้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูป ผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เอาละ นายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียน

    ดูกร นายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรโดยแท้ สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไรๆ ว่า สมณะพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวว่า

    ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรมว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัยว่าเป็นวินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส

    เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

    ท่านพระยสกากัณฑกบุตรได้กล่าวต่อไปว่า

    ข้อ ๖๓๘

    ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงปรารภท่านพระอุปนันทศากยบุตร ทรงห้ามทองและเงิน และทรงบัญญัติสิกขาบทในพระนครราชคฤห์นั้นแล

    ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรมว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัยว่าเป็นวินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส

    เมื่อท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาสกอุบาสิกาชาวเมือง เวสาลีได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า

    ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุพวกนี้ทั้งหมดไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่เชื้อสายพระศากยบุตร

    ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตรจงอยู่ในเมืองเวสาลี พวกข้าพเจ้าจักทำการขวนขวายเพื่อจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตร

    ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรได้ชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีเข้าใจแล้ว ได้ไปอารามพร้อมกับพระอนุทูต ฯ

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องฟันฝ่าอุปสรรค กว่าที่จะได้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ เพราะว่าเมื่อท่านกลับไปกับพระอนุทูตแล้ว พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีก็ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ปรากฏว่า อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีเข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัย และเห็นว่าพระยสกากัณฑกบุตรเท่านั้นที่เป็น พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะฉะนั้น พวกพระวัชชีบุตรจะทำอย่างไร เป็นพวกใหญ่ด้วย และเป็นชาวเมืองเวสาลีด้วย

    . เรื่องจับเงินจับทอง ในพระไตรปิฎกท่านกล่าวไว้ว่า ไม่ยินดีเงินและทอง คือ ขณะที่ยินดี กับขณะที่จับแล้วไม่ยินดี ผมอยากจะทราบข้อเท็จจริงว่า ขณะที่ยินดีกับจับแล้วไม่ได้ยินดี เป็นอย่างไรกันแน่

    สุ. เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ถ้าท่านพระอานนท์จับเครื่องประดับของวิสาขามิคารมารดาแล้วเก็บไว้ให้ ท่านไม่ได้ยินดีในของๆ วิสาขามิคารมารดา นั่นเป็นจิตที่ไม่ยินดีของท่านพระอานนท์ แต่ว่าแต่ละบุคคลก็ต่างกันไป แล้วแต่ว่า ใครจับแล้วยินดี ผู้นั้นก็รู้ว่าตนเองยินดี หรือว่าผู้ใดจับแล้วไม่ยินดี ผู้นั้นก็รู้ว่าตนเองไม่ได้ยินดี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๕๔๑ – ๕๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564