แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 557


    ครั้งที่ ๕๕๗


    มีจดหมายของท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงการสะสม และความเข้าใจธรรมของแต่ละท่าน

    ๑๒/๕ หมู่ ๑๕ ต.บางแก้ว อ.บางพลี

    จังหวัดสมุทรปราการ

    วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

    กระผมได้ฟังการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์มาปีกว่าแล้ว มีความซาบซึ้งและปลื้มปีติในคำบรรยายของท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการคิดนึก เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ การเห็นเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางตาเท่านั้น (สี) การได้ยินเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางหูเท่านั้น (เสียง) การรู้กลิ่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางจมูกเท่านั้น (กลิ่น) การรู้รสก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้ได้รู้ได้เฉพาะทางลิ้นเท่านั้น (รส) การรู้สัมผัสเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางกายเท่านั้น (เย็นร้อน อ่อนแข็ง เคร่งตึงไหว) การนึกคิด ดีใจ เสียใจ โลภ โกรธ วิตก ฯลฯ เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเฉพาะที่จิตเท่านั้น สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง ไหว และการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่

    ในชีวิตที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้ฟังสัจธรรมจากท่านอาจารย์ กระผมได้อ่านหนังสือธรรมต่างๆ ที่เขียนขึ้นจากท่านผู้รู้ ผู้เข้าใจของผู้ศึกษาธรรม ที่ตีความในพระไตรปิฎกตามความรู้ความเข้าใจของแต่ละท่าน ตัวอย่างเช่น สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ท่านตีความว่า สังขารร่างกายทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากคนแก่แล้วก็ตาย สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เพราะสังขารร่างกายมีการเจ็บป่วยไข้ โรคภัยเบียดเบียนอยู่เสมอ เป็นความทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่มีตัวตน

    คือ สรุปจากความเปลี่ยนแปลงทางโลกวัตถุต่างๆ และความไม่คงที่ของสิ่งทั้งหลายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เพราะหาตัวตนที่แน่นอน คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ กระผมได้อ่าน และคิดตามที่ท่านเหล่านั้นเขียน ก็เห็นจริง

    ชีวิตช่างน่าเป็นทุกข์เสียจริง กระผมจะต้องตาย ทุกคนจะต้องตาย ต่างกันแต่ว่า ช้าหรือเร็วเท่านั้น ทำอย่างไรหนอจึงจะพ้นทุกข์ได้ ความพ้นทุกข์มี ท่านได้เขียนบอกไว้ว่า ถ้าละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ความทุกข์ไม่มี พร้อมทั้งบอกวิธีที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยวิธีปฏิบัติต่างๆ กัน มีการท่องบ่นบริกรรม กระทำการดุจโยคีผู้หนีโลกแห่งกามทั้งปวง ดูช่างน่าเลื่อมใส ดังที่ได้ปรากฏตามสถานสำนักต่างๆ แต่ท่านเหล่านั้นจะพบสัจธรรมล่วงพ้นทุกข์ได้หรือ เพราะในพุทธประวัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ควรแก่การบูชาของสัตว์โลกทั้งปวง ก็ได้เคยปฏิบัติเช่นนี้มาแล้วอย่างยิ่งยวด มั่นคงในการกระทำทุกรกิริยาจนแทบสิ้นพระชนม์ แต่หาประจักษ์แจ้งในสัจธรรมไม่

    กระผมมีความสนใจในธรรม และปรารภความพ้นทุกข์เช่นท่านทั้งหลาย ที่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นออกจากกองทุกข์เหมือนกัน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสได้ไปสำนักปฏิบัติธรรมในสำนักหนึ่งสำนักใดเลย และไม่มีความรู้ความเข้าใจในธรรมอันสุขุมลึกซึ้งเพียงพอที่จะไปสนทนาไต่ถามท่านผู้ใดได้ และไม่ทราบว่า ท่านเจ้าของสำนักใดมีความรู้ความเข้าใจในธรรมอย่างแท้จริงถูกต้อง ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ตรัสสั่งสอน

    ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงต้องพึ่งตนเอง ตั้งตนเป็นอาจารย์ของตนเอง แต่ธรรมข้อใดเล่าที่ควรศึกษาและปฏิบัติ ปัญหาต่างๆ มีมากมายเพราะความไม่รู้ จิตใจมีแต่ความฟุ้งซ่าน คิดนึก ตรึกไปในข้อธรรมต่างๆ เท่าที่ได้อ่านได้ฟังมา แต่ก็หาได้พบ สัจธรรมไม่ มีแต่ความคิดนึก ความหวาดกลัวการเวียนตายเวียนเกิด และเห็นโทษของกาม เป็นไปในลักษณะของเนกขัมมะ คือ คิดอยากออกจากกาม แต่ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงไม่สามารถปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้

    บัดนี้ กระผมพบหนทางการปฏิบัติธรรมเพื่อความถูกต้องแห่งธรรมแล้ว คือ การเจริญสติปัฏฐาน มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามที่ท่านอาจารย์บรรยาย แต่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องมาจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย ดังนั้นเพื่อความไม่ผิดพลาดและกล่าวตู่คำบรรยายของท่านอาจารย์ กระผมจึงขอเรียนถึงความเข้าใจของกระผมในการเจริญสติปัฏฐาน ที่ท่านอาจารย์บรรยายให้ทราบด้วย

    การเห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางตาเท่านั้น การได้ยิน เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางหูเท่านั้น การรู้กลิ่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางจมูกเท่านั้น การรู้รสเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางลิ้นเท่านั้น การรู้สัมผัสเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางกายเท่านั้น การคิดนึก ดีใจ เสียใจ โลภ โกรธ หลง ริษยา และอื่นๆ เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเฉพาะจิตเท่านั้น

    สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง ไหว และคิดนึกเรื่องราว ต่างๆ เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ ประโยคเหล่านี้ ถ้าฟังอย่างผิวเผิน มิได้ใคร่ครวญพิจารณาตาม ทุกท่านที่ได้ฟังต่างก็คิดว่าเข้าใจและไม่น่าแปลกใจอย่างไร เพราะคิดว่าเป็นของธรรมดา ไม่ต้องบอกทุกคนก็รู้ เพราะคิดว่ารู้แล้วนี่แหละ ทำให้ฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์ไม่เข้าใจ ข้ามสิ่งที่ควรสนใจและควรพิจารณาที่สุดไปอย่างน่าเสียดาย หารู้ไม่ว่าเป็นสัจธรรมที่ควรรู้ และควรปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง

    สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจ และเจริญสติ ย่อมปรารถนาที่จะฟังสัจธรรมที่ผู้ฟังที่ไม่เข้าใจคิดว่าเป็นของธรรมดานี้ นับร้อย นับพัน นับหมื่นครั้ง โดยมิเบื่อหน่าย เพราะยังความเห็นถูกและความมีสติให้มากขึ้นด้วย แต่สติก็คือสติ ปัญญาก็คือปัญญา ความละเอียดลึกซึ้งของความเข้าใจ และแจ้งประจักษ์ในสภาพธรรมจึงมากน้อยต่างกันตามแต่ปัญญาของแต่ละท่าน แต่ความรู้ความเข้าใจในการฟังเหมือนกัน คือรู้ว่า การเห็น รู้ได้เฉพาะทางตาเท่านั้น ไม่ใช่การคิดนึก แต่ทันทีที่เห็นและรู้ว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นคนนั้นคนนี้ทันที ก็เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากของนามธรรมและรูปธรรม จากการสะสมความไม่รู้ ก็มีความเห็นผิดมาเป็นเวลาช้านาน จนสลักติดตรึงแนบสนิทในจิตสันดาน ย่อมต้องยึดโยงนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นกัน

    สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง ไหว และการคิดนึกเป็น สัจธรรม เป็นธรรมชาติที่มีจริง เพราะสิ่งเหล่านี้มีปรากฏอยู่ตลอดเวลา พิสูจน์ได้ทุกเวลา แต่เพราะความไม่รู้ทำให้หลงยินดีพอใจในสี เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ตราบใดที่ความไม่รู้ยังมีอยู่ คือ ในขณะที่หลงลืมสติ สติไม่เกิด ความมีตัวตนก็ยังมีอยู่ โลกธรรม ๘ ก็ยังครอบงำได้ ยังทำให้มีอภิชฌาและโทมนัสอยู่ สำหรับผู้ที่รู้และเข้าใจในสัมมาสติ ย่อมเจริญสติ เมื่อสติเกิด เริ่มเข้าใจในความจริงของธรรมชาติแต่ละชนิด ซึ่งทำกิจการงานต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจในธรรมบรรยายของท่านอาจารย์แล้ว ย่อมเจริญสติ ละความประพฤติปฏิบัติที่ผิด ปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม เพื่อความก้าวล่วงพ้นไปจากทุกข์ทั้งหมด

    ข้อความทั้งหมดนี้ คือ ความเข้าใจของกระผม ที่ได้จากฟังการบรรยายของท่านอาจารย์ หากความเข้าใจของกระผมผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ขอท่านอาจารย์ได้โปรดกรุณาตักเตือนสั่งสอนด้วย ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ไว้ในโอกาสนี้ด้วยขอรับ

    สุดท้ายนี้ กระผมขอตั้งจิตอธิษฐานด้วยความสำนึกในพระคุณ ขอสัจธรรมอันสงบประณีตและสูงสุด จงบังเกิดแก่ท่านอาจารย์ตลอดกาลเทอญ

    ด้วยความเคารพอย่างสูง ผู้ฟังธรรมบรรยายด้วยความเคารพ

    สุ. ท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นประการใดบ้างหรือเปล่า จากจดหมายฉบับนี้

    ผู้ฟัง ๒ ฉบับ ตรงกันข้ามเลย จดหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นจริงว่า อัธยาศัยของแต่ละคนสั่งสมมาไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ทั้งสองบุคคลก็ได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์เหมือนกัน อาจจะฟังพร้อมกันก็ได้ เพราะการออกอากาศทางวิทยุ ใครๆ ก็ฟังได้ แต่หลังจากฟังแล้ว ความคิดเห็นมีต่างๆ กัน ทำให้เห็นว่า ปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดง เป็นความจริงทั้งนั้น

    ผมก็ขออนุโมทนาท่านเจ้าของจดหมายฉบับนี้ ที่ท่านได้เห็นโทษของกามและของสังสารวัฏฏ์ ที่จะพยายามไปสู่เนกขัมมะ อีกประการหนึ่ง ท่านเจ้าของจดหมายสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของสติกับปัญญา เป็นความรู้ของท่านเจ้าของจดหมาย เป็นผู้ที่มีความรู้ และก็รู้จักตัวเองว่า ความรู้ของเขาแค่ไหน

    สำหรับผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่รู้จักตัวเอง ทั้งที่ท่านเข้าใจว่า ท่านใกล้พระอริยบุคคลแล้ว แต่ถ้าผู้ที่ไม่รู้จักตัวเอง การกระทำอะไรลงไป ก็ไม่รู้ว่าทำอะไรลงไป เพราะฉะนั้น จดหมาย ๒ ฉบับนี้ต่างกันมาก ตรงกันข้ามเลย เป็นผู้ฟังเหมือนกัน แต่ความคิดความเห็นต่างกัน

    สุ. ขอตอบจดหมายของอีกท่านหนึ่ง ท่านเขียนมามีข้อความว่า

    วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๘

    เรียน ท่านท่านอาจารย์ที่เคารพ

    ผมขอเรียนถามปัญหาบางประการที่ยังเข้าใจไม่ชัดเจน ขอความกรุณาให้ความสว่างด้วย ปัญหามีว่า

    ข้อ. ๑ คำว่า ถือในนิมิตอนุพยัญชนะ หมายความถึงอะไร

    ข้อ. ๒ ผมได้อ่านพุทธพจน์ที่ว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน

    และอีกพุทธพจน์หนึ่ง ผู้ที่มีความไม่ประมาท เมื่อมีฌานติดต่อกันไปทุกขณะจิต มีความก้าวหน้าอย่างมั่นคงอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้มีปัญญา ย่อมได้สัมผัสกับนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะที่สูงสุด เป็นภาวะซึ่งปราศจากเครื่องผูกมัดทุกอย่าง

    ไม่เข้าใจคำว่า ฌาน ในที่นี้หมายถึงอะไร

    ข้อ. ๓ ขอท่านอาจารย์ช่วยขยายความพุทธพจน์นี้ด้วย ภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ละได้ทั้งบุญและบาป ซึ่งเป็นผู้ที่มีสติอยู่เสมอ

    ขอความเกื้อกูลในธรรมจากท่านอาจารย์เท่านี้ก่อน ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

    สุดท้าย ขออัญเชิญพุทธดำรัสอันประเสริฐเป็นคำอวยพรแด่ท่านอาจารย์ และทุกท่านที่เกื้อกูลในธรรม

    ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายปรารถนาซึ่งผลใดๆ ผลนั้นๆ ทุกอย่างย่อมได้ด้วยบุญที่สะสมเอาไว้

    ด้วยความเคารพอย่างสูง

    ผู้ฟังธรรมบรรยายด้วยความเคารพ

    สุ. ข้อ. ๑ ที่ท่านถามว่า ถือในนิมิตอนุพยัญชนะ หมายความถึงอะไร

    ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจสภาพธรรมชัดเจน เพราะว่าการถือในนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ใช่เป็นเพียงคำ เมื่อสติเกิดขึ้นจึงจะรู้ว่า การไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะนั้นมีในขณะใด เวลาที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน เห็นอะไร เห็นคน เห็นวัตถุสิ่งของต่างๆ นั่นเป็นการถือโดยนิมิตและอนุพยัญชนะ

    นิมิต หมายความถึง ถือในรูปร่างลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างทางตา แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะที่มีการเห็น ถ้าไม่มีการเห็น สีสันวัณณะ รูปพรรณสัณฐานต่างๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ทันทีที่ลืมตาขึ้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ขาดการระลึกรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงเห็นในนิมิต ยึดถือในนิมิตที่ปรากฏว่า เป็นคนบ้าง เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ บ้าง นี่คือ การถือเอาความหมาย นิมิตของสิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ส่วนอนุพยัญชนะ ก็เป็นการยึดถือในส่วนละเอียดของวัตถุนั้น เห็นกระเป๋า สีอะไร รูปร่างเป็นอย่างไร หูกระเป๋าเป็นอย่างไร ที่เปิดปิดเป็นอย่างไร นั่นคือ อนุพยัญชนะ ส่วนละเอียดของสิ่งซึ่งถือเอาว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะให้เป็นปัญญา ที่ประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ขอให้ระลึกได้ รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ในขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตา เพราะมีการเห็น หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาไม่ได้ หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมที่เพียงรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็น ไม่ได้ เพียงเห็นเท่านั้น นั่นคือ การไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ย่อมถือโดยนิมิตอนุพยัญชนะอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เข้าใจว่า เห็นคน เห็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือ การถือนิมิตในสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นวัตถุ เป็นบุคคลต่างๆ ถ้ามีการถือในอนุพยัญชนะ คือ ส่วนปลีกย่อยของคนหรือวัตถุ เช่น ผม แขน คิ้ว ตา จมูก ปาก กลีบดอกไม้ลักษณะ ต่างๆ สีต่างๆ รูปพรรณสัณฐานต่างๆ นั่นคือ การถือในอนุพยัญชนะของนิมิตในสิ่งที่ปรากฏทางตา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๕๕๑ – ๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564