แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 579


    ครั้งที่ ๕๗๙


    เพราะฉะนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง การบริโภคปัจจัย การซ่องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันเหลวไหลออกจากปากภาชนะไม่ขาดสาย ฉะนั้น

    บัดนี้ ท่านเหล่านั้นสิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว มักเจริญฌานเป็นอันมาก ประกอบแล้วด้วยฌานใหญ่ เป็นพระเถระผู้คงที่ พากันนิพพานไปเสียหมดแล้ว บัดนี้ ท่านเช่นนั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที

    ท่านที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จะเหลือมาก หรือว่าจะเหลือน้อย ตามความเป็นจริงแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงที่เกิดอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องรอ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะความสิ้นไปแห่งกุศลธรรมและปัญญา คำสั่งสอนของพระชินสีห์ อันประกอบแล้วด้วยอาการอันประเสริฐทุกอย่าง จะสิ้นไปในเวลาที่ควรจะทำให้ธรรมทั้งหลายอันลามกและกิเลสทั้งหลายสงบไป ภิกษุเหล่าใดปรารถนาความเพียรเพื่อความสงัด ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้มีพระสัทธรรมที่เหลือเป็นข้อปฏิบัติ กิเลสเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้น ย่อมครอบงำคนพาลเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่นกับพวกคนพาล เหมือนปีศาจเข้าสิงคนทำให้เป็นบ้าเพ้อคลั่งอยู่ ฉะนั้น

    จริงไหม เคยสังเกตไหม เวลาที่กิเลสเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้น ย่อมครอบงำคนพาลเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่นกับพวกคนพาลเหมือนปีศาจเข้าสิงคนทำให้เป็นบ้า เวลาปกติธรรมดาที่กิเลสครอบงำไม่ได้ก็อย่างหนึ่ง แต่เวลาที่กิเลสครอบงำมากๆ และปรากฏอาการออกมาให้เห็นภายนอก เหมือนปีศาจเข้าสิงไหม เมื่อครู่นี้ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น กิริยาวาจาก็เรียบร้อยละมุนละไม แต่พอลุแก่อำนาจของกิเลสเข้า ไม่ผิดกับปีศาจเข้าสิง ทั้งกาย ทั้งวาจา ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป

    ข้อความต่อไป

    นรชนเหล่านั้น ถูกกิเลสครอบงำ ท่องเที่ยวไปมาในสงสารเพราะกิเลสนั้นๆ ยึดถือในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เพราะกิเลสเป็นเหตุ พากันละทิ้งพระสัทธรรมเสีย ทำการทะเลาะซึ่งกันและกัน ยึดถือตามความเห็นของตน สำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ นรชนทั้งหลายที่ละทิ้งทรัพย์สมบัติ บุตรและภรรยา ออกบวชแล้ว พากันทำกรรมที่ไม่ควรทำ แม้เพราะเหตุแห่งภักษาหารเพียงทัพพีเดียว

    ภิกษุทั้งหลาย ฉันภัตตาหารเต็มอิ่มแล้ว ถึงเวลานอนก็นอนหงาย ตื่นแล้วก็กล่าวแต่ถ้อยคำที่พระศาสดาทรงติเตียน ภิกษุผู้มีจิตไม่สงบในภายใน พากันเรียน ทำแต่ศิลปะที่ไม่ควรทำ มีการประดับร่มเป็นต้น ย่อมไม่หวังประโยชน์ในทางบำเพ็ญสมณธรรมเสียเลย ภิกษุทั้งหลายผู้มุ่งแต่สิ่งของดีๆ ให้มาก จึงนำเอาดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุรณเจิมบ้าง น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตบ้าง ผลมะม่วงบ้าง ผลมะขามป้อมบ้าง ไปให้แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย

    ภิกษุทั้งหลายพากันประกอบเภสัชเหมือนพวกหมอรักษาโรค ทำกิจน้อยใหญ่อย่างคฤหัสถ์ ตบแต่งร่างกายเหมือนหญิงแพศยา ประพฤติตนเหมือนกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ บริโภคอามิสด้วยอุบายเป็นอันมาก คือ ทำให้คนหลงเชื่อ หลอกลวง เป็นพยานโกงตามโรงศาล ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ อย่างนักเลง ภิกษุเหล่านั้น บริโภคอามิสด้วยการพูดเลียบเคียงเป็นอันมาก เที่ยวแส่หาปัจจัยโดยใช้อุบายต่างๆ ล่อลวงโดยปริยายเพียงเล็กน้อย รวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมากเพราะเหตุแห่งอาชีพ ย่อมยังบริษัทให้บำเรอตนเพราะเหตุแห่งการงาน แต่มิให้บำรุงโดยธรรม เที่ยวแสดงธรรมตามถิ่นต่างๆ เพราะเหตุแห่งลาภ มิใช่เพราะมุ่งประโยชน์ ภิกษุเหล่านั้น ทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภสงฆ์ เป็นผู้เหินห่างจากอริยสงฆ์ เลี้ยงชีวิตด้วยการอาศัยลาภของผู้อื่น ไม่มีหิริ ไม่ละอาย

    จริงอย่างนั้น ภิกษุบางพวกไม่ประพฤติตามสัทธรรมเสียเลย เป็นเพียงคนโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น ปรารถนาแต่การสรรเสริญถ่ายเดียว มุ่งหวังแต่ลาภและสักการะ เมื่อธรรมเป็นเครื่องทำลายมีประการต่างๆ เป็นไปอยู่อย่างนี้ การบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ หรือการตามรักษาธรรมที่ได้บรรลุแล้ว ไม่ใช่ทำได้ง่าย เหมือนเมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่

    มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้าน เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น พระโยคีเมื่อตามระลึกถึงวิปัสสนาที่ปรารภมาแล้วในกาลก่อน ไม่ทอดทิ้งวัตรสำหรับภาวนาวิธีเหล่านั้นเสีย ถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้ายภายหลัง แต่ก็พึงบรรลุอมตบทได้ พระปาราสริยเถระผู้เป็นสมณะมีอินทรีย์อันอบรมแล้ว เป็นพราหมณ์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว ครั้นกล่าววิธีปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ปรินิพพานในสาลวัน

    อย่าลืมข้อความที่ว่า ถึงเวลานี้จะเป็นเวลาสุดท้ายภายหลัง แต่ก็พึงบรรลุ อมตบทได้ ถ้าเป็นผู้ที่เหมือน มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้าน เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉะนั้น

    ถ. ขออาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้าน เหมือนกับบุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้าตั้งสติเที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม หมายความว่าอย่างไร

    สุ. ถ้าไม่ใส่รองเท้า ก็ต้องระวังใช่ไหม ระวังที่จะเจ็บเท้าเพราะเหยียบหนาม ฉันใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ต้องเจ็บ เพราะความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้กิเลสทั้งหลาย อกุศลธรรมทั้งหลาย เจริญงอกงามขึ้นจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ โดยไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพที่แท้จริงของธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ขณะนี้หนามเต็ม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็เหมือนเหยียบย่ำหนาม เพราะเหตุว่ามีอกุศลธรรมเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นโทษเป็นภัย หนาม คือ โทษภัยของกิเลสอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องระวังอย่างดี โดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ. ขอให้อาจารย์อธิบายคำว่า ระวัง กับคำว่า รู้สึกตัว หรือ สัมปชัญญะ หรือคำว่า สังวร ต่างกันอย่างไร

    สุ. ถ้าสติไม่เกิด เอาอะไรระวัง ระวังอย่างไร

    ถ. การระวัง บางครั้งก็ไม่ได้มีสติ เช่น เราจะเดินข้ามสะพานลื่นๆ ขณะที่ระวังไม่ให้ตกน้ำ ขณะนั้นก็ไม่ต้องมีสติ ก็ระวังได้ เดินข้ามไปโดยไม่ตกน้ำ

    สุ. นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระวังพลาดพลั้งทางกาย ไม่ให้เกิดการเจ็บกายขึ้น

    ถ. ขอความกรุณาให้อาจารย์อธิบายองค์ธรรมว่า ต่างกันอย่างไร

    สุ. ถึงแม้จะระวังอย่างนั้นแล้ว ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังระวังอย่างนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ละกิเลสหรือการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติในวันหนึ่งๆ การระวังรักษากายก็มีเป็นปกติ หนาวไป ร้อนไป จะระวังอย่างไร อาหารก็ต้องระวัง ทุกอย่างเป็นเรื่องที่จะต้องระวัง เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปโดยไม่เจ็บไข้ แต่ว่าในขณะที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นตัวตนที่ระวัง แต่ที่จะละกิเลสได้ ไม่ว่าในขณะที่กำลังระวัง หรือเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก หรืออะไรก็ตาม สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันในขณะนั้น เพื่อจะได้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ โดยเฉพาะจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สภาพของจิตซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วสลับซับซ้อนตามเหตุตามปัจจัย เดี๋ยวเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง และในวันหนึ่งๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ก็จะไม่ทราบว่า อกุศลนี้มาก แต่ถ้าสติระลึก อกุศลก็จะปรากฏให้รู้ว่า ยังมีอกุศลอะไรอยู่อีก ที่นอกจากโลภะ ความติด ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    โลภะ ความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมีอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่เกิดไม่รู้หรอกว่าเป็นความพอใจแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นความต้องการแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางหู เป็นความเพลิดเพลินแล้วในกลิ่นที่ปรากฏ ในรสที่ปรากฏ ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏ ในเรื่องต่างๆ ที่คิดนึก เพลิดเพลินไป มีความพอใจที่จะคิดจึงได้คิดอย่างนั้นๆ เพลิดเพลินไปในเรื่องที่คิดอย่างนั้นๆ ด้วย

    นี่เป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ และถ้าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมละเอียดขึ้น ก็จะยิ่งเห็นลักษณะจิตของตัวเองละเอียดมากขึ้น แม้แต่ในเรื่องที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ความสำคัญในตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่เคยระลึกเลยว่ามีบ่อยๆ จะต้องมีการพบปะเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ และทันทีที่เห็น นี่ใคร เรา เขา สำคัญในตนบ้างหรือเปล่า เรา เกิดขึ้นแล้วรวดเร็วมาก

    ถ้าสติเกิด จะรู้จริงๆ ว่า จิตใจของท่านยังเต็มไปด้วยนอกจากโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ยังมีความสำคัญตน มีมานะ มีการเปรียบเทียบ มีการเห็นเป็นเรา เป็นเขา เป็นใคร อยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงช่องว่างต่างๆ ระหว่างบุคคลต่างๆ จะเห็นได้ว่า เป็นเพราะอกุศลธรรมทั้งสิ้น ถ้าขัดเกลาอกุศลธรรมออกไปได้เท่าไร ก็จะลดช่องว่างระหว่างบุคคลมากขึ้นเท่านั้น เพราะเหตุว่าประจักษ์ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น เสมอกันหมด ใครจะมีอกุศลมากสักเท่าไร ก็ไม่ใช่เขา เป็นเพียงอกุศลธรรมเท่านั้นที่สะสมมามาก จนกระทั่งปรากฏออกมาทางกาย ทางวาจาอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากเท่าไร ความเป็นเรา เขา ใคร ก็จะลดน้อยลง เพราะเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเสมอกันทั้งหมด และก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กันด้วย ฉะนั้น การที่จะคิดถึงบุคคลอื่น การที่จะแสดงกาย วาจาต่อบุคคลอื่น ก็ย่อมเป็นไปด้วยเมตตา ด้วยกุศล ขัดเกลาอกุศลให้เบาบางลงไป แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็จะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วที่เคยเป็นเรา เป็นเขา เป็นใคร ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นต่างๆ กันไป ตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง

    ถ. ผมขอถามคำว่า ระวัง กับ สังวร จะเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร

    สุ. สังวร หมายถึง สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมด้วยสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปยืนสำรวม ทำสำรวม เดินสำรวม แต่ใจไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น

    ถ. เหมือนกันไหมกับคำว่า ระวัง ระวังทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สุ. จะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นสติที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า หรือว่าเป็นตัวตนที่กำลังระวังจะไม่หกล้ม หรือกำลังระวังที่จะข้ามสะพาน หรืออะไรอย่างนั้น สติเท่านั้นที่ระลึกรู้ และจะรู้ได้ว่าในขณะนั้นเป็นอะไร เป็นตัวตน เป็นเรา หรือว่าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. การสังวรที่จะไม่ทำอกุศลธรรมทั้งหลาย ทุกครั้งจะต้องอาศัยสัมปชัญญะหรือเปล่า

    สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจึงชื่อว่า สัมปชัญญะ ไม่ใช่ไปคิดถึงเมื่อวานนี้ทำอะไรไปบ้าง นั่นไม่ใช่สัมปชัญญะ

    ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่สัมปชัญญะ

    ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเจริญความรู้ขึ้นด้วย อย่าลืมเรื่องเจริญความรู้ขึ้นด้วย จะรู้มากหรือรู้น้อยไม่สำคัญ ขอให้เป็นความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในหมวดของวีตราคจิต คือ จิตซึ่งปราศจากราคะ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของกุศลจิต จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากโลภะหรือราคะ และในขณะนั้นก็ปราศจากความเห็นผิดที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น

    นอกจากนั้น สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตก็ยังมีมานะ ความสำคัญตน การยกตน หรือว่าการถือตน ซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตด้วย ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความยินดีพอใจนี้ นอกจากจะพอใจ ปรารถนา ต้องการเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกามราคะ หรือว่าเป็นโลภะในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว ความเห็นผิดประการต่างๆ ยังเกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้ แต่ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นหนทางที่จะละคลายความเห็นผิดเพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏออกไปทีละเล็กทีละน้อย

    สำหรับโลภมูลจิตนั้น นอกจากจะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยได้แล้ว สภาพอกุศลธรรมซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตอีกประการหนึ่ง คือ มานะ เป็นสภาพที่สำคัญตน ถือตน ซึ่งมีอยู่ทุกคนใช่ไหม แต่ไม่รู้ มีกิเลสมากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ เดี๋ยวนั่น เดี๋ยวนี่ แต่ว่าไม่รู้ แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ลักษณะของกิเลสซึ่งสะสมมาเพิ่มขึ้น แม้มานะ หรือความสำคัญตนที่มีอยู่เป็นปกติ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กิเลสมีหลายประเภท บางประเภท เช่น ความเห็นผิด ละได้ด้วยโสตาปัตติมรรคจิต คือ เมื่อผู้นั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล แล้ว ก็ดับความเห็นผิดที่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย แต่แม้กระนั้น ความยินดีพอใจซึ่งเป็นกามราคะในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ยังมีได้ ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท และมานะ ความสำคัญตน ความยกตน ความถือตน ก็ยังมีได้ เพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ว่าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วก็จริง

    พระโสดาบันบุคคลนั้น เป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นมานะ ก็เห็นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ และสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และแม้จะไม่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล สภาพธรรมเหล่านั้นก็ยังคงมีปัจจัยเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสภาพธรรมเหล่านั้นยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๕๗๑ – ๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 42
    28 ธ.ค. 2564