ปกิณณกธรรม ตอนที่ 249


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๙

    สนทนาธรรม ที่ วัดธาตุทอง

    เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เวลานี้จำเป็นธรรม โกรธเป็นธรรมหรือเปล่า ตอนนี้ไม่ลังเลเลย รสหวานๆ เค็มๆ เปรี้ยวๆ เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น ตอนนี้ง่ายแล้วใช่ไหม อะไรอีก ลองบอกมา ตอนนี้ไม่ถาม แต่ให้บอกว่าอะไรเป็นธรรมอีก นึกไม่ออก กลิ่นเป็นธรรมไหม เป็น เจ็บล่ะ เสียใจ ดีใจ เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ที่ตัวมีอะไร ที่ตัวตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ มีอะไรบ้างที่ตัว

    ผู้ฟัง หมายถึง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือ

    ท่านอาจารย์ มีอะไรล่ะ เมื่อกี้นี้พูดมาหมดเลย แข็งๆ กลิ่นบ้างอะไรบ้าง พวกนี้ รสบ้าง เพราะฉะนั้น ที่ตัวมีอะไร

    ผู้ฟัง นึกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ มีแต่ธรรมทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ข้างนอกตัวก็ธรรมอีก เจอแต่ธรรม ซึ่งบางคนเขาไปหาธรรม ไปตั้งไกล ขึ้นเขาลงห้วย เหนือ ใต้ ไปหาธรรม แต่ถ้ารู้ว่าธรรมคืออะไรต้องไปหาไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ พ้นธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ได้หรือ

    ผู้ฟัง พิจารณาจากตัวเราว่าเรา

    ท่านอาจารย์ พ้นได้อย่างไร เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม คิดก็เป็นธรรม ดีใจก็เป็นธรรม สุขก็เป็นธรรม แล้วจะพ้นธรรมได้อย่างไร เมื่อไรพ้นธรรม คิดก็เป็นธรรม จะพ้นธรรมได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อตัวเราดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราเลย มีแต่ธรรม ข้อสำคัญที่สุดคือว่า ถ้ารู้จริงๆ ว่า ไม่มีเรา เราไม่มี มีธรรม ตา แข็ง อ่อน เย็น ร้อนทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเป็นธรรมหมด แม้แต่สุขทุกข์ คิด ได้ยิน พวกนี้ก็เป็นธรรมหมด แล้วมีอะไรอีกนอกจากนี้ หาไปสิว่ามีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าศึกษาธรรม คือศึกษาธรรมทั้งหมดนี่แหละ จนกว่าจะเข้าใจในความเป็นธรรม เห็นไหม เพียงเข้าใจในความเป็นธรรมให้มั่นคง ก็คือต้องพิจารณา ต้องเป็นปัญญา แล้วก็ไม่ใช่เพียงขั้นคิด ต้องประจักษ์แจ้งจริงๆ ในธรรมที่กำลังเกิดดับทีละอย่าง เมื่อนั้นจะไม่มีเรา มีแต่ธรรมจริงๆ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้ จึงได้ทรงแสดงอย่างนี้ ถ้าไม่ตรัสรู้อย่างนี้ แสดงอย่างนี้ไม่ได้เลย มีใคร นักวิทยาศาสตร์คนไหน ที่จะแสดงว่า ขณะนี้ทุกอย่างเกิดดับทั้งนั้นเลย อย่างรวดเร็วที่สุด แข็งกับเห็น อะไรดับเร็วกว่ากัน

    ผู้ฟัง ดับเท่ากัน

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นความคิด บางคนอาจจะคิดว่าดับเท่ากัน บางคนอาจจะคิดว่าเห็นดับเร็วกว่า บางคนอาจจะคิดว่าแข็งดับเร็วกว่า คือเรื่องของความคิด ไม่มีหลัก ต่างคนต่างคิด แต่การตรัสรู้ธรรม เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้ ลองคิดถึงว่า แข็งก็ยังปรากฏ ยังหยาบพอที่จะกระทบสัมผัสได้ แต่เห็นเป็นสภาพของนามธรรม เป็นธาตุรู้ที่เห็น เหมือนอย่างกำลังแข็ง แข็งเป็นรูป แต่สภาพที่กำลังรู้ว่าแข็ง รู้ลักษณะที่แข็ง แข็งจึงปรากฏว่าแข็ง เมื่อมีการกระทบแล้วรู้ลักษณะที่แข็ง แข็งจึงปรากฏ การตรัสรู้ และทรงแสดง ทรงแสดงว่านามธรรมดับเร็วกว่ารูปธรรม เพราะว่าเป็นสภาพที่ละเอียดกว่า ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย คือเราได้ยินคำว่ารูปธรรม ในภาษาไทยแล้วก็ใช้ผิด อย่างตอนนี้อะไรๆ ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ถ้าพูดถึงโครงการหรืองาน หรืออะไรสักอย่างที่คิดกันแล้วยังไม่เป็นรูปร่าง จะใช้คำว่าไม่เป็นรูปธรรม แต่รูปธรรมจริงๆ ในทางพระพุทธศาสนา หมายความว่าสภาพสิ่งที่มีจริงนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่ใช่สภาพรู้ ลักษณะของสิ่งที่มีจริง จะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตามแต่ แต่ถ้าลักษณะนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม

    ธรรมคำเดียว ทุกอย่างที่เป็นธรรม ก็ยังต้องแยกออก เป็นลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง และยังแยกหลากหลายไปอีก แต่ประเภทใหญ่ๆ ๒ อย่างก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดธาตุชนิดนี้ขึ้น ธาตุชนิดนี้ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเกิดมาโดยไม่รู้ ไม่เห็น ไม่คิด ไม่นึก ไม่อะไรไม่ได้เลย นี่คือสภาพของนามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้

    ถึงแม้ว่าธาตุรู้จะมีอยู่ทุกวัน เราก็ไม่เคยรู้ในความจริงว่า ความรู้ต่างๆ ความรู้สึก การคิดเห็นต่างๆ ว่า พวกนี้เป็นธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องรู้

    เพราะฉะนั้น ก็มี ๒ อย่าง นามธรรมกับรูปธรรม รูปธรรมไม่รู้อะไรเลย แต่นามธรรมต้องรู้ทุกครั้งที่เกิดขึ้น จะเกิดแล้วไม่รู้อะไรไม่ได้เลย อย่างได้ยินเป็นนามธรรมที่รู้เสียง หรือได้ยินเสียง เสียงเป็นรูป แต่สภาพที่ได้ยินมีจริงๆ สภาพนั้นเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังได้ยิน ก็ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น มีแต่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรู้เมื่อเกิดแล้วขณะนั้น เพราะมีเสียงกระทบ ก็ทำให้รู้เสียง หรือการได้ยินเกิดขึ้น เป็นนามธรรมกับรูปธรรมตลอด

    ถ้าศึกษาธรรมก็รู้ว่า ธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ธรรมเป็นอย่างนี้หรือเปล่า มีจริงๆ เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมได้เลย แต่เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือตรัสรู้ความจริงของธรรม เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า ทรงแสดงธรรม คือทรงแสดงความจริงของธรรม ให้คนอื่นได้เข้าใจถูกได้รู้ตาม จนกระทั่งสามารถที่จะดับความไม่รู้ เป็นผู้ที่สามารถที่จะละอกุศลทั้งหลายได้ อกุศลทั้งหลายเกิดจากความไม่รู้

    เราคงจะได้กราบไหว้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าบางคนอาจจะกราบพระพุทธรูป เพราะว่าไม่รู้ว่า พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แล้วรูปเป็นแต่เพียงเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระคุณ เพราะฉะนั้น แม้แต่พระพุทธรูปหรือการกราบไหว้ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เราก็กราบไหว้สิ่งที่เราคิดว่าหรือเชื่อว่า เป็นพระพุทธรูป แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงสิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงพระคุณ เพราะถ้าไม่รู้จักพระคุณ พระพุทธเจ้าจะมีความหมายไหม ชื่อเท่านั้นเอง เรียกเท่านั้นเอง แต่คุณความดีอยู่ที่ไหน

    คุณความดีต้องทั้งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่ตรัสรู้ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะปรินิพพานไปแล้ว ธรรมก็ยังคงเป็นธรรม คำสอนอันตรธานหมดไปแล้ว ธรรมก็ยังคงเป็นธรรม แต่ไม่มีใครรู้ความจริงของธรรม จนกว่าจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต่อไปตรัสรู้แล้วทรงแสดง เมื่อนั้นคนที่สะสมบุญมาแล้วมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง พิจารณาไตร่ตรอง อบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งได้ ประจักษ์แจ้งคือขณะนี้ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมซึ่งปรากฏในลักษณะของความเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม กับสภาพซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้ ซึ่งเป็นรูปธรรม ยากไหม

    ผู้ฟัง ยากนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กล่าวว่ายาก ขณะนั้นกำลังสรรเสริญพระปัญญาคุณ ถ้าง่ายไม่ต้องทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ทุกครั้งที่กล่าวว่ายาก คือเพราะเห็นพระปัญญาคุณ และสรรเสริญพระปัญญาคุณ ได้ยินได้ฟังธรรม บางคนก็คิดว่า รู้ธรรมแล้ว แต่พอฟังจริงๆ ต้องรู้เลยว่า ตั้งต้นจากศูนย์ คือไม่รู้ เราเคยเพียงอ่านหนังสือบางเล่ม แล้วเราก็คิด เพราะว่า ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราคิดทั้งนั้นเลย คิดว่าพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ให้เราทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่พอศึกษาแล้วถึงจะทราบได้จริงๆ ว่า พระไตรปิฎกทั้งหมด ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาที่จะให้คนรุ่นเราเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะว่าถ้าเป็นรุ่นในกาลสมบัติ สมัยที่ตรัสรู้ มีท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวก พวกนี้ท่านอบรมปัญญามา เพียงแค่พูดอย่างนี้ ท่านเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมทันที สามารถจะละความไม่รู้ ความสงสัย ประจักษ์ความจริงที่จะกำลังเกิดดับได้ทันที แต่ว่าถ้าเป็นสมัยนี้ต้องศึกษามาก ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด รอบครอบที่จะไม่เข้าใจผิด

    ผู้ฟัง ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความจริงอยู่แล้วในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมหมดเลย ทั้งความรู้ และความไม่รู้ แล้วทำไมต้องศึกษาด้วย เพราะทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ แล้วก่อนฟัง รู้หรือเปล่าว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ นี่คือศึกษา

    ผู้ฟัง ไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ นี่ไงละ เพราะฉะนั้น จึงศึกษา ศึกษาแล้วก็รู้ว่าเป็นธรรม ฟังคือศึกษา จะใช้คำว่าฟัง จะใช้คำว่าเรียน จะใช้คำว่าอะไรก็ได้ที่เข้าใจ หมายความว่ามีสิกขา หรือศึกษา มีการฟังจึงได้เข้าใจ ถ้าไม่มีการฟัง แม้จะบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไม่รู้ แล้วพอบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็ยังเป็นเรานั่นแหละ ต่อให้ได้ยินว่าเป็นธรรม ก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้น การศึกษาแค่นี้พอไหม ที่จะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา ที่ถามบอกว่า เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมแล้ว ทำไมยังต้องศึกษาต่อไป เพราะว่ารู้แค่นี้ก็ยังเป็นเรา

    ผู้ฟัง ในเมื่อสังคมทุกสังคมในโลกนี้ มีการศึกษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงระดับปริญญาเอกเลย ไม่มีใครไม่มีสถาบันใดสอนเรื่องที่มาฟังอาจารย์ตรงนี้ สรุปได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นธรรมทั้งหมดแล้ว เป็นสิ่งที่น่า จะศึกษาหรือสมควรจะศึกษา หรือว่าจะต้องศึกษา

    ท่านอาจารย์ อนัตตาคืออะไร บังคับใครได้ไหม วันนี้ฟังกันนี่ ใครจะศึกษาบ้าง บังคับคนอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เฉพาะตน หมายความว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วใครคิดจะศึกษา นั่นคือสะสมความเห็นที่ว่าแค่นี้ไม่พอ เราเป็นพุทธศาสนิกชน เพียงแต่รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แค่นี้ไม่พอ ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ๆ ละบุคคล จะศึกษามาก จะศึกษาน้อย จะศึกษาช้า จะศึกษาเร็ว จะศึกษานาน จะศึกษาแล้วก็ทิ้งไป จะศึกษาแล้วก็กลับมาศึกษาอีก ก็ตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ในโลกนี้ก็มีตั้งหลายศาสนาเลย หลายๆ คนก็มีความคิดมีความเชื่อ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ทุกๆ ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีทั้งหมด ก็หนีไม่พ้นธรรม แล้วทำไมแต่ละศาสนาสอนไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ คุณแม๊คเป็นคนดีไม่ได้ลักขโมยอะไรใคร ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ชอบเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็รู้อะไรอีก แค่ดีพอไหม หรือว่าต้องมีความรู้ถูกต้องด้วย แค่ดีใครก็ดีได้ ดีตั้งแต่เกิดจนตายก็มีมากมาย แต่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม จะเป็นคนดีแค่ไหน จะเป็นคนดีแบบไหน คือ เกิดมาแค่ดี หรือว่าแค่ดีก็ยังไม่พอ ต้องมีความรู้ความเข้าใจถูก โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม แล้วเป็นชาวพุทธ จริงๆ แล้วเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ไม่รู้ตัว เพราะเหตุว่าเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม ซึ่งประเทศอื่น ยากที่จะได้ยินได้ฟัง ต้องเดินทางมาตั้งไกลที่จะมาฟังธรรม แต่ของเรามีธรรมที่จะได้ยินได้ฟัง เช้า สาย บ่าย เย็น แต่เราไม่ได้เห็นคุณค่าว่า เพียงแค่เป็นคนดีไม่พอ หรือพอ เวลาที่รู้ธรรมถูกต้อง เป็นคนดีด้วยหรือเปล่า เป็นความดีด้วยหรือเปล่า เพิ่มความดีอีกได้ ไม่ใช่เพียงแค่ดีโดยไม่รู้ แต่ดีโดยรู้ โดยเข้าใจธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ธรรมชาติของมนุษย์ ต้องการสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ ถ้ามีโอกาส สมควรไหมที่จะต้องศึกษา หลายๆ ศาสนา

    ท่านอาจารย์ ศาสนาอะไรที่สอนเรื่องความจริงเดี๋ยวนี้ ที่มีจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ศาสนาอื่นผมไม่เคยศึกษาเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรามีชีวิตยาวหรือสั้น เกิดมาก็ไม่รู้จะจากโลกนี้ไปเมื่อไร สิ่งที่สำคัญที่สุดมีประโยชน์ที่สุดคืออะไร

    ผู้ฟัง การรู้จักความจริง

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่รู้จักว่าอะไรคือสิ่งที่ น่าจะศึกษาก็ศึกษา หมดปัญหาว่าทำไมยังต้องศึกษา ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ศึกษาวันเดียวพอไหม วันนี้วันเดียวพอไหม

    ผู้ฟัง หลักสูตรรัฐบาลต้องเรียนกัน ๓ ปี การศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนาจะเริ่มต้นตรงไหนก่อน เรื่องอะไรก่อน หรือว่าจะศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน เลยทีเดียว เพราะว่าอาจารย์แสดงเรื่องสติปัฏฐานมาตลอดเลย

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เข้าใจอะไรแค่ไหน เอาเราเข้าใจจริงๆ ยังไม่ต้องไปคิดถึงข้างหน้า คิดถึงตรงนี้เดี๋ยวนี้ว่า เราเข้าใจอะไร หรือยังไม่ได้เข้าใจอะไรมากพอ เดี๋ยวได้ยินชื่อ ปฏิจจสมุปบาท เราจะศึกษาปฏิจจสมุปบาทดีไหม พอได้ยินปัจจัย เราศึกษาปัจจัยดีไหม พอได้ยินอริยสัจ ๔ เราจะศึกษาอริยสัจ ๔ ดีไหม ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นั่นชื่อ แต่ตัวธรรม คือเดี๋ยวนี้ หนีไม่พ้นเลยทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ายังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ก็ฟังเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม ๒ เรื่องให้เข้าใจละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะว่าไม่ใช่เราจะปฏิบัติ หรือว่าจะมีปัญญา แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูกซึ่งอบรมให้มากขึ้นๆ ๆ เพราะว่าเราตั้งต้นด้วยคำว่า อนัตตา กับ ธรรม ไม่มีในศาสนาอื่น ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลยสักอย่างเดียว เป็นอนัตตา เริ่มต้นตรงนี้

    ถ้าเริ่มต้นตรงนี้แล้วเข้าใจความจริงอย่างนี้ ก็มีแต่สภาพที่มีจริงๆ แล้วมีการเข้าใจถูกต้องว่า ความรู้ ความเข้าใจแค่นี้ไม่พอ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นความเห็นถูกซึ่งจะฟังเพิ่มขึ้น จะพิจารณาเพิ่มขึ้น จะศึกษาเพิ่มขึ้น จนเป็นความเข้าใจ เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องไปกังวลชื่อ ว่าจะต้องศึกษาอะไรก่อน ศึกษาสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ รูปธรรมกับนามธรรมคล่องแคล่วดีแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ เคยได้ยินคำว่า ปรมัตถธรรม ไหม

    ผู้ฟัง เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เคยได้ยินคำว่า อภิธรรม ไหม

    ผู้ฟัง เคยได้ยิน

    ส. ที่มีพระไตรปิฎก ไตร คือ ๓ ปิฎก คือ รวบรวมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๓ หมวด ๓ ตระกร้า หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ได้ ก็เพราะเหตุว่าคำสอนของพระองค์มีหลายนัย แต่เมื่อประมวลแล้วเป็น ๓ คือ เป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ทั้งหมดเป็นคำสอน แต่ก็คือธรรมทั้งหมด แม้แต่วินัยก็เป็นธรรมด้วย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกที่ทรงแสดงไว้ หรือแม้แต่คนอื่นก็มีที่ไปเฝ้าที่พระวิหารเชตวัน ทรงแสดงว่าอดีตชาติเคยเป็นใคร ทำอะไรมาก่อน เพราะฉะนั้น การเกิดมีจริง ไม่ใช่มีชาติเดียว เมื่อมีหลายๆ ชาติ ก็ทรงแสดงชาติต่างๆ หรือพระชาติต่างๆ ด้วย ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ชาติไหนก็จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ชาติก่อนก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสุข มีทุกข์ มีเรื่องราว ต่างๆ เพราะว่าถ้าเราไม่เห็นโทษของการที่เราต้องเกิด แล้วก็เห็น ได้ยิน ไปทุกชาติๆ สุข ทุกข์ แต่ละชาติก็เหมือนกันอย่างนี้เมื่อไรจะจบ ไม่มีวันจบเลย ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงหนทางที่จะออกจากสิ่งซึ่งไม่เหลืออะไรเลย อย่างเราเกิดมาชาติหนึ่ง เราก็ต้องจากโลกนี้ไป ก่อนจากทุกขณะ ทุกสิ่งมีความสำคัญมาก รูปก็สำคัญมาก เสียงก็สำคัญมาก กลิ่น รสสำคัญมาก ตัวเราสำคัญมาก บุตร หลานวงศาคณาญาติสำคัญมาก สำคัญ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่เหลือเลยสักขณะจิต

    นี่คือสิ่งที่คนมองไม่เห็น จะเห็นต่อเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วว่า ไม่สามารถที่จะเอาอะไรไปได้ แต่ว่าตามความจริงทุกขณะว่างเปล่า เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่การสืบต่อกับความไม่รู้ ทำให้เรายึดมั่นว่ายังมีเรา แล้วก็มีของเรา แต่ถ้าเริ่มมีปัญญาแล้ว จะรู้ว่าเมื่อไรจะจบ กับความคิดซึ่งมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ไม่ได้อย่างใจทั้งนั้นเลย ไม่มีใครซึ่งเกิดมาแล้วไม่มีทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์ประการใดๆ ทั้งสิ้น แม้เพียงหิวก็ทุกข์แล้ว

    ผู้ฟัง กรณีที่มีงานฌาปนกิจศพในลักษณะนี้ ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ สมควรที่จะพิจารณาธรรมในลักษณะไหน

    ท่านอาจารย์ ทุกโอกาส ไม่จำเป็นต้องเฉพาะที่นี่ หรือที่นั่นเลย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีทั่วไปหมดเลย

    ผู้ฟัง ทุกๆ คนคงจะผ่านความทุกข์ ความพลัดพราก แล้วในเมื่อเราได้พบความทุกข์ ความพลัดพราก ท่านอาจารย์จะให้คำแนะนำว่า ควรจะพิจาณา

    ท่านอาจารย์ พิจารณาสภาพธรรมจนกว่าจะไม่มีเรา ถ้าสามารถจะทำให้ใครไม่ร้องไห้ ไม่เป็นทุกข์ได้ จะเป็นไปได้อย่างไร ใครฟัง ใครร้องไห้ เพราะอะไร แล้วจะให้เขาพิจารณาอย่างไร ทุกคนเวลานี้กำลังคิดเองทั้งนั้นเลย บอกไปให้คนอื่นคิด เขาจะคิดอย่างที่เราบอกได้ไหม เขาคิดเองจากการฟัง แม้แต่ใจของแต่ละคนจะคิดก็คิดเองจากสัญญา จากความจำ จากสังขารขันธ์ปรุงแต่ง จากสติ จากศรัทธา จากหิริ จากโอตตัปปะ อะไรทั้งหมดที่ฟังแล้วค่อยๆ ปรุงแต่งจนกระทั่งค่อยๆ เป็นความคิดของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะบอกให้เขาคิดอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ธรรมในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ต้องศึกษาเพื่อเข้าใจธรรม แล้วในเมื่อได้พบเหตุการณ์เสียใจบ้าง พลัดพรากบ้าง จากการที่ได้ศึกษาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สามารถที่จะระลึกถึงธรรมได้มากขึ้น ก็อาจจะทำให้ไม่เสียใจมากกว่าที่ควรจะเป็น

    ท่านอาจารย์ อ่านพระสูตรบทเดียวกัน ความเข้าใจของคนเท่ากันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเอาอะไรมาพูดที่นี่ ขึ้นอยู่กับผู้ฟังหรือเปล่าว่า บทนี้ตอนนี้จะช่วยใครได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องแล้วแต่ แต่อย่างไรๆ ก็ตามก็ต้องมีความเห็นความเข้าใจธรรมโดยไม่ต้องไปคิดว่า เราเอามาใช้ประโยชน์ตรงนั้นตรงนี้ ถ้าอย่างนั้นก็ยังมีเราที่ต้องการประโยชน์จากธรรม เรียนธรรมเหมือนกับเรียนอะไรๆ ที่วิเศษ พิเศษสุดที่จะทำให้เราได้ประโยชน์ นั่นก็ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง ไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม คือ ศึกษาสิ่งที่เราไม่รู้ และไม่สามารถจะรู้ด้วยตัวเอง และมีใครที่จะช่วยให้เรารู้ได้ มีผู้เดียวคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะรู้ได้จากพระธรรมที่ทรงแสดง การศึกษาธรรม เพราะรู้ว่าตัวเองไม่รู้ และจะรู้ได้จากใคร คือศึกษาธรรมจากผู้นั้น คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่เพื่อศึกษาแล้วเราจะเอาไปใช้อย่างนั้น เอามาเป็นประโยชน์อย่างนี้ หรือไม่ให้ร้องไห้ ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นคือศึกษาด้วยความหวัง ด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง เคยพบกับความเสียใจ เมื่อได้พบกับการพลัดพราก เมื่อคุณพ่อเสีย คุณแม่เสีย ก็เสียใจ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็คือศึกษาธรรมแล้ว ฟังท่านอาจารย์มาหลายปีแล้ว ก็ยังเสียใจ อันนี้ก็แสดงว่า ความคิดในการศึกษาธรรมนั้นยังไม่ตรงหรือยังไม่ถูก หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแบบที่ว่าคือศึกษา เพื่อที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ ใช่ไหม ดิฉันเอง ตอนที่คุณพ่อเสีย ดิฉันก็ร้องไห้ ทำไมถึงจะต้องไปคิดว่า แล้วเราจะทำอย่างไร เราถึงจะ เอาบทไหนขึ้นมาพลิกอ่าน หรือจะมาคิดถึงอะไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ธรรม คือเมื่อไรที่มีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา อนัตตา คือ ไม่มีเราไม่มีตัวตนเลย ถ้าเกิดเสียใจ มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เสียใจเกิด ห้ามเสียใจไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าจะห้ามความเสียใจ แต่ว่าในเมื่อเสียใจขึ้นมา ร้องไห้ โทมนัส หมายความว่าการศึกษาธรรมที่ศึกษามา แม้จะหลายปีนั้นก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ตรง ใครไม่ร้องให้

    ผู้ฟัง พระอนาคามี

    ท่านอาจารย์ นั่นน่ะสิ พออย่างนี้ตอบได้ แต่พอถึงเวลา ทำอย่างไรเราจะไม่ร้องไห้ จะมาได้อย่างไร ในเมื่อเป็นพระอนาคามีหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นก็ไม่ต้องพูดถึงแล้ว

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรม บางคนอาจคิดว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าประเสริฐยิ่ง แต่ว่าตัวเองก็จะไม่พิจารณา เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีปัญญาพอ ไม่ทราบท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

    ผู้ฟัง คิดว่าตัวเองไม่มีปัญญาพอ

    ท่านอาจารย์ ทำไม

    ผู้ฟัง คิดว่า ธรรมเกิดจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงให้เราเข้าใจ ต้องมีการตั้งตน ไม่ใช่ไม่มีการตั้งต้น อยู่ดีๆ กระโดดไปตรัสรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องตั้งต้น ตั้งต้นจากไม่รู้เลย ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ สะสม

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่คิดว่า ตัวเองรู้อย่างอื่นมากกว่า คิดว่าพระธรรมลึกซึ้ง จะเริ่มต้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไง เดี๋ยวนี้ก็ฟัง ไม่เข้าใจก็ถาม ก็คุยกัน ก็สนทนากันให้เข้าใจขึ้น เป็นธรรมดา เป็นธรรมดาจริงๆ ทำไมจะไปคิดถึงตรัสรู้ ไปคิดถึงอะไร อะไรอย่างนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 97
    22 มี.ค. 2567